http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-28

ก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ และ ปฏิรูปตำรวจ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


วันที่ 13 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา กอ.รมน. ร่วมกับกลุ่มสมาชิกสภาประชาชน 4 ภาคจำนวนมาก (บางแหล่งข่าวว่ามีถึง 5,000 คน) ได้ยกกำลังบุกเข้าไปที่ชุมชนบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ขับไล่ประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานที่นั่น ทำร้ายผู้หญิงซึ่งอาสาเป็นด่านหน้าป้องกันการบุกรุกบาดเจ็บไป 9 คน

หนึ่งในนั้นบาดเจ็บสาหัส เพราะถูกกระชากผมจนตกลงจากรถ หัวฟาดถนนสลบไป

นอกจากนี้กลุ่มคนซึ่งมี กอ.รมน.เป็นผู้นำ ยังได้บุกไปเผาสำนักสงฆ์ ทำลายกุฏิพระไป 8 หลัง และเผาโรงครัวของวัดจนวอดวาย รวมทั้งจับพระไป 9 รูป แล้วบังคับให้สึก

ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติการโดยมิชอบ เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับให้อำนาจแก่ กอ.รมน. หรือกลุ่มสภาประชาชน 4 ภาคแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีการอ้างว่าต้องการเข้ามาปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดอำนาจทางกฎหมายขึ้นแก่พวกตนได้ในทางใดทั้งสิ้น


บ้านเก้าบาตรเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนดงใหญ่ ชื่อนี้อาจทำให้บางคนคิดถึงพระประจักษ์ จิตตคุตโต และการใช้กำลังทหารเข้าขับไล่ประชาชนเมื่อ พ.ศ.2534 สมัย รสช. นอกจากเป็นพื้นที่ในดงใหญ่ด้วยกันแล้ว ชะตากรรมของประชาชนในสองกรณีก็คล้ายๆ กัน

นั่นคือในช่วงที่ พคท.ยังปฏิบัติการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธอยู่นั้น ดงใหญ่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่พลพรรคใช้เป็นพื้นที่ลาดตระเวนและขยายฐานมวลชน ใน พ.ศ.2520 สถานการณ์ในดงใหญ่มีความรุนแรงมากขึ้น ฝ่ายทหารสงสัยว่าประชาชนในเขตดงใหญ่ให้เสบียงอาหารแก่ พคท.

ฉะนั้น กอ.รมน.จึงชักชวนให้ชาวบ้านอพยพออกมาเสียจากดงใหญ่ สัญญาว่ารัฐจะแจกที่ดินคนละ 15 ไร่ ตามแนวถนนที่เพิ่งสร้างใหม่คือสาย 348 ด้วยความเข้าใจร่วมกันว่า เมื่อปราบ พคท.ในดงใหญ่ได้เรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็สามารถย้ายกลับไปตั้งภูมิลำเนาในที่ใครที่มันได้ตามเดิม

ชาวบ้านยอมสละพื้นที่ซึ่งตนครอบครองอยู่ในดงใหญ่ครอบครัวละเกือบ 100 ไร่ เพื่อมารับที่ดิน 15 ไร่ ก็ด้วยความเข้าใจดังกล่าวนี้ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของราชการ

แต่เพียงปีเดียวให้หลัง สถานการณ์ในดงใหญ่ก็เริ่มสงบลง กรมป่าไม้กลับนำเอาที่ดินของชาวบ้านไปให้บริษัทเกษตรสวนป่ากิตติเช่า เพื่อปลูกยูคาลิปตัสเป็นเวลา 30 ปี และแน่นอนว่าชาวบ้านถูกห้ามมิให้กลับไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่ของตนอีก

ชาวบ้านทนรอให้สัญญาสัมปทานป่าของนายทุนหมดอายุลงมาถึง 30 ปี ระหว่างนั้นชาวบ้านแอบเข้าไปเลี้ยงสัตว์, ล่าสัตว์ และเก็บของป่าในพื้นที่บ้าง เพราะเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ทำเกษตรไม่เพียงพอ และการออกไปหางานทำนอกภาคเกษตรก็ไม่ทำให้พอกินอยู่นั่นเอง แสดงว่าตลอดเวลาเหล่านั้นชาวบ้านคิดถึงวันที่สัญญาสัมปทานหมดอายุ อันเป็นวันที่พวกเขาจะกลับเข้าไปทำกินในพื้นที่ดิน ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นมรดกของบรรพบุรุษของเขาโดยแท้

สัญญาสัมปทานหมดอายุลงในวันที่ 19 พ.ค. 2552 และสี่วันหลังจากนั้น ชาวบ้านก็อพยพกลับเข้าไปตั้งภูมิลำเนาในถิ่นฐานเดิมของตนใหม่ กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างกรมป่าไม้และชาวบ้าน ซึ่งได้ร่วมมือกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ในการวางระเบียบการใช้ที่ดินและวางมาตรการปกป้องตนเองจากการไล่ที่ของราชการ

อันที่จริงมีกฎหมาย และมติ ค.ร.ม. ที่ให้สิทธิแก่ชาวบ้านซึ่งได้ตั้งภูมิลำเนามาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ กรมป่าไม้ต้องเริ่มกระบวนการนี้ หรือชาวบ้านอาจขออำนาจศาลให้เริ่มกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ฉะนั้นการต่อสู้ของชาวบ้านจึงมีช่องทางที่จะทำได้ทางกระบวนการยุติธรรม ไม่จำเป็นที่ราชการจะต้องใช้กำลังเข้าขับไล่

นอกจากข้ออ้างเรื่องปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติแล้ว กอ.รมน.ยังอ้างอีกว่า ประชาชนในพื้นที่อาจได้รับอันตราย แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าอันตรายดังกล่าวนั้นมาจากอะไร บ้านเก้าบาตรอยู่ห่างชายแดนกัมพูชาไม่ถึง 10 กม.ก็จริง แต่ก็ห่างจากจุดซึ่งเกิดการปะทะกันเมื่อเร็วๆ นี้ถึง 70 กม. ฉะนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

หากเกรงว่าอาจมีการปะทะกันอีก ก็หมายความว่าชาวบ้านชายแดนที่ถูกยิงถล่มเมื่อเร็วๆ นี้ ย่อมไม่อาจกลับบ้านได้อีกเลย


ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เบื้องหลังของเหตุที่เกิดขึ้นนี้มาจากนายทุน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะจำนวนรถปิคอัพที่ขนคนเข้าไปบุกรุกนั้นมีถึง 500 คัน เกินกำลังของหน่วยราชการใดจะมีในครอบครอง นอกจากต้องใช้เงินจ้าง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ที่น่าสังเกตก็คือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ หรือกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายออกหน้าในปฏิบัติการเยี่ยงโจรในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่กรมป่าไม้เป็นผู้กล่าวหาชาวบ้านว่าบุกรุกป่าสงวนอยู่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่กลุ่มสมาชิกสภาประชาชน 4 ภาคเท่านั้นที่บุกเข้าไปก่อการจลาจลแต่ลำพัง มีหน่วยราชการคือ กอ.รมน.เข้าไปร่วมด้วย ทำให้การก่อจลาจลดูเหมือนการปฏิบัติงานของราชการ


กอ.รมน.เข้ามาเกี่ยวได้อย่างไร?

ถ้าไม่ใช่การรับจ้างนายทุนแล้ว ก็มีเหตุผลอยู่อย่างเดียวคือ ความไม่รู้เรื่องของ กอ.รมน.

ปัญหาเรื่องการจัดการป่าของกรมป่าไม้นั้น เป็นที่รู้กันดีมานานแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้แล้ว ยังกีดกันคนเล็กคนน้อยมิให้ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน แต่กลับปล่อยให้ทุนเข้าไปใช้ป่าอย่างไม่ยั่งยืนแทน ในรูปของการทำเหมือง, การเช่าพื้นที่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ, หรือทำธุรกิจท่องเที่ยว

ประชาชนได้ร่วมมือกันผลักดันให้ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการป่ามากว่า 3 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่เดินขบวน, เสนอร่างกฎหมาย, และกดดันรัฐบาลหลายชุด มีงานวิจัยของนักวิชาการหลายชุดที่สนับสนุนจุดยืนของชาวบ้าน กล่าวคือต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่า

มีมติ ค.ร.ม.หลายคณะที่โน้มเอียงไปในทางที่ยอมรับสิทธิของชาวบ้านในการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน จนแม้แต่รัฐบาลชุดสุดท้ายนี้ ก็เสนอการออกโฉนดชุมชน ซึ่งหากจริงใจจะพัฒนาต่อไปก็จะเปิดให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ โดยมีมาตรการควบคุมกำกับให้เป็นไปอย่างยั่งยืน


เรื่องการบริหารจัดการป่าเป็นเรื่องซับซ้อน เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก และทางเลือกในการบริหารจัดการก็มีมากอีกด้วย ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีซึ่งไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หากการจัดการมีแต่ยกเอาทรัพยากรป่าให้ทุนได้ใช้แต่ผู้เดียว คนหลายล้านครอบครัวในป่าจะไม่มีที่ยืน และกระทบต่อความมั่นคงภายในของประเทศอย่างยิ่ง

ไม่ใช่เรื่องเสียเอกราชให้ใคร แต่จะเหลือเอกราชที่ไร้ความหมายแก่คนจำนวนหลายล้านซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นเดียวกับทุน

แน่นอนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในย่อมไม่สนใจจะติดตามความสลับซับซ้อนของทรัพยากรป่า ใครบอกว่ามีประชาชนกระด้างกระเดื่อง เพราะไม่ยอมอพยพออกจากป่า ซึ่งถูกประกาศเป็นป่าสงวนไปแล้ว กอ.รมน.ก็พร้อมจะเข้าไปใช้กำลังจัดการ โดยไม่เคยสืบสาวไปถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง อย่างเดียวกับการใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการป่าดงใหญ่ในโครงการ คจก.เมื่อสมัย รสช.เรืองอำนาจ ทั้งนี้เพราะ กอ.รมน.คือหน่วยงานของทหาร (แม้มีข้าราชการพลเรือนบางส่วนเข้ามาร่วมด้วย)


กอ.รมน.ถูกตั้งขึ้นในสมัยเผด็จการทหาร ภารกิจในขณะนั้นคือการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของ พคท. แต่เมื่อ พคท.สลายตัวไปแล้ว หน่วยงานนี้ก็หาได้ถูกยกเลิกไปไม่ ตรงกันข้ามกลับมีการขยายทั้งกำลังคนและกำลังงบประมาณ เพื่อประกอบภารกิจ "รักษาความมั่นคงภายใน"

รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ชอบ เพราะอาจใช้ประโยชน์ในการปราบปรามศัตรูทางการเมืองของตน ในนามของการรักษาความมั่นคงภายในได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรู้ว่าเป็นแหล่งรายได้ของกำลังพลในกองทัพ จึงไม่อยากไปตอแย ส่วนรัฐบาลพลเรือนซึ่งได้รับความคุ้มครองจากกองทัพ ก็ใช้ กอ.รมน.เหมือนรัฐบาลทหาร

แต่ไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่าอะไรคือ "ความมั่นคงภายใน" อำนาจของหน่วยงานนี้จึงไร้ขีดจำกัด กลายเป็นกองกำลังที่ใครๆ ซึ่งมีอำนาจก็สามารถใช้ประโยชน์ในกิจการของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, นักการเมือง และอาจรวมถึงนายทุน

แน่นอนว่าภารกิจที่คลุมเครือนี้ ย่อมละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกนี้ ที่ปล่อยให้ทหารเป็นผู้ดูแลความมั่นคงภายใน เพราะโดยตัวของมันเองก็มีอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยิ่งในประเทศอย่างไทยซึ่งอำนาจอื่นไม่สามารถตรวจสอบกองทัพได้ การยกความมั่นคงภายในให้อยู่ในความดูแลของกองทัพยิ่งเป็นอันตรายหนักขึ้นไปอีก

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้น เพียงแค่มีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้าน กับหน่วยราชการ (และ/หรือทุน) กอ.รมน.ซึ่งไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง ก็เลือกที่จะเข้าข้างหน่วยราชการในนามของความมั่นคงภายในแล้ว


หากประเทศนี้จะมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยจริงในวันหน้า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องดึงเอา กอ.รมน.ให้มาอยู่กับราชการฝ่ายพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นสำนักนายกฯ หรือกระทรวงมหาดไทยก็ตาม กำลังในการปฏิบัติงานหลักคือตำรวจ หากจำเป็นอาจขอกำลังทหารช่วยเป็นกรณีๆ ไป และต้องปฏิบัติงานได้เฉพาะภายในบังคับบัญชาของตำรวจเท่านั้น เราไม่ควรเสียเงินสร้างกองทัพขึ้นมาบังคับขับไสประชาชนของตนเอง และอำนาจของกองทัพเป็นอำนาจที่ต้องระวังในทุกสังคม

ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน.จะต้องมีผู้รับผิดชอบในสภา นี่เป็นก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการนำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย



++

ปฏิรูปตำรวจ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:00 น.


เพลงมาร์ชตำรวจไทยนั้นเป็นเพลงมาร์ชที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง เร้าใจ, เหี้ยมหาญ, รู้สึกฮึกเหิมในสงครามและสนามรบ

แต่รบกับใครหรือ? คำตอบคือรบกับ "เหล่าร้าย" แม้ว่าเกือบทั้งหมดของ "เหล่าร้าย" คือคนไทย หรือพลเมืองของประเทศเดียวกับตำรวจ


ขึ้นชื่อว่าตำรวจแล้ว ไม่ควรรบกับพลเมืองของตนเองด้วยท่าทีของสงคราม อาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยทั้งหลายคือพลเมือง แม้แต่ผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้ก่อการแยกดินแดน ก็เป็นพลเมือง เป้าหมายของตำรวจคือยุติการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสังคมของพลเมืองเหล่านี้ เปลี่ยนเขาจากผู้ทำร้ายสังคมให้กลายเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม เมื่อกู้เขากลับคืนมาสู่ความเป็นพลเมืองเต็มขั้นแล้ว สังคมก็จะได้ประโยชน์จากเขาอีกมาก รวมทั้งให้ความรู้แก่ตำรวจเองถึงเครือข่ายค้ายาเสพติด หรือเครือข่ายอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ตำรวจทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากตำรวจทำงานด้วยการ "เก็บ" ตำรวจจะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่า อาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยใดที่ควรถูก "เก็บ" ต้องอาศัยมาตรฐานของ "ผู้ใหญ่" ว่าบุคคลประเภทใดควร "เก็บ" หรือ "ตัดตอน"

มาตรฐานนี้มีอันตรายมาก เพราะความเห็นว่าใคร "สมควรตาย" ย่อมมาจากผู้มีอำนาจ แต่ก็มักเปลี่ยนไปตามแต่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ คนที่ท้าทายอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐมักจะถูกถือว่ามีภัยที่สุดและ "สมควรตาย" ก่อน ดังเช่นการสังหารผู้ต้องสงสัยจำนวนมากในสมัยปราบ พคท., อีกจำนวนมากในการชุมนุมเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีนี้, หรือบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นแกนนำของขบวนการก่อการด้วยความรุนแรงในภาคใต้ บางกลุ่มก็ "สมควรตาย" เพียงเพื่อสังเวยความนิยมทางการเมืองแก่นักการเมือง เช่นการฆ่า "ตัดตอน" ผู้ที่ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติด ฯลฯ เป็นต้น

ตำรวจสามารถขยายมาตรฐานดังกล่าวไปได้ตามใจชอบ วัยรุ่นกวนเมืองนัก ก็ "เก็บ" เสียบ้าง รีดคำสารภาพของผู้ต้องหาด้วยการทรมานแล้ว ก็ต้อง "เก็บ" เสียเพื่อป้องกันมิให้เป็นพยาน จนถึงที่สุด แย่งกัน "วิสามัญ" ผู้ต้องหา เพื่อความดีความชอบที่ทำถูกใจ "ผู้ใหญ่" หรือเรียกรับเงินในการทำคดี


ทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมในเมืองไทยกลายเป็นเรื่องตลก ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ไม่น่าเชื่อถือ จนทุกคนคิดว่าย่อมมีช่องโหว่ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถเล็ดลอดออกไปได้เสมอ และนี่คือสถานะของกฎหมายในประเทศไทย

ทั้งๆ ที่มาตรฐานดังกล่าวแปรเปลี่ยนไปตามแต่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เพราะจากมาตรฐานนี้ก็อาจกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ เช่น จาก "ผกค.ซึ่งสมควรตาย" ก็อาจกลายเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ซึ่งควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษจากบ้านเมือง

ที่น่าตระหนกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สังคมไทยโดยรวมกลับยอมรับการ "เก็บ" เช่นนี้ในหลายกรณี คนจำนวนมากไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไรที่ชีวิตคนถูกปลิดลงอย่างง่ายดายเช่นนั้น ต่างยอมรับเสียแล้วว่าข้อสงสัยของตำรวจต่อคนที่ "เก็บ" ไปนั้นถูกต้องแล้วโดยไม่ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป และโทษประหารนั้นเหมาะสมดีแล้วสำหรับมาตรฐาน "สมควรตาย" ที่ผู้มีอำนาจได้วางเอาไว้

การปฏิรูปตำรวจจึงไม่อาจทำโดยรัฐได้ (ซึ่งที่จริงก็ทำในเชิงบริหารมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ตำรวจก็ยังเหมือนเดิม) จำเป็นต้องขับเคลื่อนสังคมให้เป็นหัวหอกของการปฏิรูป สังคมต้องมองเห็นอันตรายของการมีตำรวจอย่างนี้ สังคมต้องเป็นเวทีหลักในการอภิปรายถกเถียงกันเพื่อหาทางออก สังคมคือพลังที่จะผลักดันให้รัฐปฏิรูปตามแนวทางของตน

จนถึงที่สุด แม้แต่จะตั้ง "ตำรวจ" ขึ้นใหม่ทั้งหมด ก็อาจสมควรกระทำ เพราะตำรวจที่เรามีอยู่เวลานี้ ไม่มีสำนึกถึงสังคมหรือชุมชน มีแต่ภารกิจเฉพาะหน้าที่ต้องปฏิบัติให้สำเร็จตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา ส่วนจะมีผลดีหรือผลเสียต่อสังคมอย่างไร ไม่ได้อยู่ในกระบวนการคิดของผู้ปฏิบัติงาน ตำรวจดีก็ไม่ต้องสำนึกถึงสังคมหรือชุมชน ตำรวจเลวยิ่งไม่ต้องมีขึ้นไปอีก

โดยธรรมชาติแล้ว สำนึกถึงสังคมหรือชุมชนย่อมเกิดขึ้นกับตำรวจไทยไม่ได้ ย้อนกลับไปดูประวัติของตำรวจก็จะเห็น


ตำรวจเกิดจากอำนาจรัฐที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัย ซึ่งหมายถึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐรวมศูนย์ จึงสร้างเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นใหม่เรียกว่าตำรวจ (เป็นคำโบราณที่มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง) เพื่อคุมราษฎรให้ใกล้ชิดมากขึ้น แลกเปลี่ยนกับบริการอย่างใหม่ซึ่งไม่เคยมีในชุมชนและสังคมไทยมาก่อน นั่นก็คือรัฐเข้ามาควบคุมและจัดการ "โจรผู้ร้าย" เองโดยตรง นับตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยขึ้นไปถึงการสั่งสมกำลังเพื่อปล้นสะดม

แต่เดิมมา ภาระการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน เป็นหน้าที่ของชุมชนเอง และรัฐไทยโบราณก็ยอมรับอำนาจหน้าที่นี้ของราษฎร หรือแม้แต่บังคับให้ราษฎรต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดในชุมชนของตนเอง (เช่น กฎหมายโจรสามเส้น เป็นต้น) ตำรวจเกิดขึ้นเพื่อควบคุมราษฎรและริบเอาอำนาจหน้าที่นี้มาเป็นของรัฐแต่ฝ่ายเดียว

กองตระเวนซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.4 ถูกส่งไปตระเวนที่สำเพ็งด้วยเครื่องแบบแปลกประหลาด เป็นที่ชวนหัวของราษฎรผู้พบเห็น

ทำไมจึงต้องเป็นสำเพ็ง ก็เพราะสำเพ็งในขณะนั้นเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่สุดของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยราษฎรจีนและเชื้อสายจีน อันไม่ได้สังกัดกรมกองใดของราชการ เป็น "เสรีชน" กลุ่มแรกของสังคมไทยซึ่งน่าระแวงแก่รัฐ เพราะมีจำนวนมาก


ตำรวจจึงเป็นเครื่องมือของรัฐมาแต่แรกเริ่ม และรัฐไทยก็ได้ใช้เครื่องมือนี้ในการควบคุมสังคม ตราความผิดตามความเห็นของรัฐขึ้นเป็นกฎหมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในประเทศตะวันตก อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาอำนาจภายในของรัฐไว้ และตำรวจนับแต่เริ่มแรกก็ใช้อำนาจที่ได้จากรัฐมานี้เพื่อฉ้อฉลหากินในทางทุจริต

เช่นในช่วง พ.ศ.2471 เกิดจับกันได้ขึ้นมาว่า มีการลักพาผู้หญิงเพื่อป้อนซ่องโสเภณีในกรุงเทพฯ โดยหัวหน้าแก๊งคือตำรวจในหน่วยเฉพาะกิจของตำรวจนครบาล (ซึ่งขยายเป็นสันติบาลในเวลาต่อมา) แต่นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ตำรวจทำการเป็นปฏิปักษ์กับสังคม-ชุมชนเสียเอง เพราะบทนำในหนังสือพิมพ์ปีเดียวกันนี้ (กรุงเทพฯ เดลิเมล์) ก็กล่าวแล้วว่า คนไทยมองเห็นตำรวจเป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร

ความเสื่อมเช่นนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างไร เพราะตำรวจมี "นาย" อยู่คนเดียวคือรัฐ อันตั้งอยู่ "ห่างไกล" ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และแง่การบริหาร ตราบใดที่ตำรวจไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่นไม่ท้าทายอำนาจรัฐ หรือแสดงอาการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ถึงตำรวจจะเป็นปฏิปักษ์กับสังคม-ชุมชน "นาย" ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ระวังไม่ให้การกระทำนั้นสร้างความเดือดร้อนแก่รัฐเท่านั้น และบ่อยครั้ง "นาย" ก็ไม่สามารถจับได้ไล่ทัน ยิ่งตำรวจขยายตัว (ทั้งจำนวนคนและอำนาจ) ออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งยากที่ "นาย" จะตามไปกำกับควบคุมได้ทั่วถึง

เปรียบเทียบกับตำรวจในอีกหลายประเทศ ถือกำเนิดขึ้นจากชุมชน-สังคมมาแต่ต้น ชุมชนหรือสังคมสร้างกองกำลังขึ้นป้องกันตนเองจากโจรผู้ร้าย หรือรักษาระเบียบและความสงบในชุมชน และแม้ตำรวจจะเติบโตเป็นกองกำลังใหญ่ขึ้นสักเพียงใด ก็ยังอยู่ในกำกับควบคุมของชุมชน-สังคมโดยทางอ้อมอยู่ตราบนั้น

กองกำลังตำรวจเช่นนั้นต่างหาก ที่จะมีสำนึกถึงสังคมและชุมชนได้


และนี่คือหัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูปตำรวจ เพราะตำรวจไทยรวมศูนย์การบริหารควบคุมมากเกินไป จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร นอกจากต่อ "ศูนย์" และจะชอบหรือไม่ก็ตาม บอกได้เลยว่า "ศูนย์" ของไทยจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ (อย่างน้อยก็อีกหลายปี) ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ตำรวจ (อันที่จริงราชการทั้งระบบ) ฉ้อฉลอำนาจได้มากขึ้น แม้แต่เพื่อรักษาประโยชน์ของ "ศูนย์" เองยังทำไม่ได้ หรือไม่ทำ ดังกรณีในความไม่สงบของภาคใต้เวลานี้ ตำรวจก็ไม่ได้หยุดการฉ้อฉลอำนาจ หรือกรณีของตำรวจมะเขือเทศเมื่อเร็วๆ นี้

การปฏิรูปตำรวจเชิงโครงสร้างจึงอยู่ที่ว่า จะเปิดให้สังคม-ชุมชนเข้ามาบริหารตำรวจเองได้อย่างไร เพียงแต่การเลิกยศตำรวจโดยยังรวมศูนย์ไว้เหมือนเดิม ก็เป็นเพียงการลอกเปลือกฝรั่งตามเคย

หากเกรงว่า ตำรวจที่อยู่ภายใต้การบริหารและการกำกับของท้องถิ่น จะเปิดโอกาสให้ "กลุ่มอิทธิพล" ท้องถิ่น เข้ามายึดกุมกองกำลังนี้ แล้วตำรวจจะกลายเป็นสมุนมาเฟียไปนั้น ก็เป็นข้อหวั่นเกรงที่ฟังขึ้นอยู่ ดังนั้น จึงต้องวางกลไกการคานอำนาจในท้องถิ่นให้ละเอียดซับซ้อน จนกระทั่งว่ายากที่ "กลุ่มอิทธิพล" จะได้อำนาจบริหารและกำกับไปแต่ฝ่ายเดียว เช่นมี "โควต้า" ให้เลือกตั้งจากเจ้าอาวาสในท้องถิ่น, จากครูใหญ่ในท้องถิ่น, จากแพทย์ในท้องถิ่น ฯลฯ เข้าไปร่วมในกรรมการตำรวจซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วย เป็นต้น

กลไกถ่วงดุลอำนาจนี้มีได้หลายวิธี ต้องร่วมกันคิด ไม่จำเป็นว่าต้องให้องค์กรที่มาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้การกำกับของส่วนกลางเสมอไป


ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า การรวมศูนย์อย่างหนัก ก็ทำให้ตำรวจตกอยู่ภายใต้ "กลุ่มอิทธิพล" เหมือนกัน ซ้ำเป็น "กลุ่มอิทธิพล" ระดับชาติ ที่ยากแก่ประชาชนในการควบคุมถ่วงดุลได้ ในขณะที่ "กลุ่มอิทธิพล" ท้องถิ่น เล็กกว่าและอยู่ใกล้ตัวกว่า จึงถ่วงดุลได้ง่ายกว่า

ตำรวจส่วนกลางก็ยังมีความจำเป็น เพื่อจัดการกับคดีที่ข้ามท้องถิ่น และในเชิงบริหารทำให้ไม่ต้องลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้านมากเกินไป แต่หน้าที่หลักของตำรวจส่วนกลางคือการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของตำรวจท้องถิ่น เช่นโรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจต้องเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยตำรวจ เพื่อสอนและพัฒนา "ศาสตร์" ที่เป็นประโยชน์แก่การทำงานของตำรวจ

(แปลว่านอกจากสอนแล้ว ยังต้องทำงานวิจัยด้วย)


.