.
ปรัชญาคานธี
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เคยให้สัมภาษณ์ว่าปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องการให้แก้ไขโดยด่วนมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัญหาเศรษฐกิจ กับการปรองดอง
ยิ่งนานวัน ผมยิ่งเชื่อว่าจริง
คนไทยอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงกับเรื่องความขัดแย้งในบ้านเมือง
ในเรื่องแรก ทุกพรรคการเมืองก็เสนอแนวทางให้ประชาชนตัดสิน
ชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น
เชื่อใครก็เลือกคนนั้น
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่องการปรองดอง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ นั้น ให้ความสำคัญและเสนอแนวทางแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
"ประชาธิปัตย์" ค่อนข้างให้ความสำคัญน้อย และยังยึดแนวทางการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ไม่มีนิรโทษกรรม
กระบวนการสอบสวนเพื่อหาคนกระทำผิดในเหตุการณ์พฤษภามหาโหดก็ยังเป็นไปอย่างเดิม "คนยิง" ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่คนก่อการร้าย สรุปแล้วว่าเป็น "แกนนำ" คนเสื้อแดง
เขาไม่ได้สรุปบทเรียนเลยว่าถ้าแนวทางดังกล่าวถูกต้องจริง "คนเสื้อแดง" ต้องเท่าเดิมหรือน้อยลง
แต่วันนี้ "คนเสื้อแดง" กลับเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งที่เพิ่งถูกปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว
ทำไม ทำไม ทำไม
ถ้ามีคำถามนี้อยู่ในใจ รับรองได้ว่า "ประชาธิปัตย์" ต้องเสนอแนวทางการปรองดองที่ดีกว่านี้
ไม่ใช่แค่การอ้างกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีคำว่า "ให้อภัย" อยู่เลย
ในขณะที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ ทักษิณ ชินวัตร อยากกลับ เมืองไทย
วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทักษิณ" ไม่ใช่ "คนคนเดียว" หากเป็น "ตัวละคร" ที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งกับการเมืองไทย
แนวคิดเรื่องการย้อนเวลากลับไปก่อน 19 กันยายน 2549 จึงเกิดขึ้น
ถามว่า ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่หรือไม่
ลองถามตัวเองแบบไม่มีเหตุผลเรื่องชอบหรือไม่ชอบใครในใจสิครับ
บรรยากาศแบบไม่มีสีเสื้อคือสิ่งที่คนไทยต้องการมาก
แล้วจะทำอย่างไรที่จะนำสังคมไทยกลับไปสู่จุดนั้น
นึกถึงเวลาที่เพื่อนทะเลาะกันสิครับ
ประโยคหนึ่งที่เรามักใช้กันเป็นประจำคือ เลิกแล้วต่อกัน หรือ เริ่มต้นใหม่
ขนาด ฆ่าล้างแค้นแบบยกตระกูล ประโยคนี้ยังนำมา ใช้เลย
เป็นความจริงที่โลกนี้จะอยู่ได้ต้องมี "กฎหมาย"
แต่โลกนี้ไม่มีวันสงบสุขได้เลยหากไม่รู้จักคำว่า "ให้อภัย"
เพิ่งดูหนัง "คานธี" เมื่อวันก่อน จำได้ประโยคหนึ่งของ มหาตมะ คานธี
"สันติภาพ จะเกิดขึ้นได้จาก ความจริง และการให้อภัย"
ค้นหาความจริงเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน
แล้ว "ให้อภัย"
++
"ความเชื่อ" จาก "ความจริง"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
ทุกครั้งที่ฟังพลพรรคประชาธิปัตย์ท้าทาย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้มา "ดีเบต" กับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ด้วยเหตุผลว่าเป็นหลักการสากลของระบอบประชาธิปไตย
ผมจะนึกถึงตอนที่ปฏิเสธคำท้าทายของพรรคเพื่อไทยว่าจะเปิดทางให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน
ทั้งที่เป็นหลักการสากลในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษรเหมือนกับการดีเบต
นี่คือ เรื่องปกติทางการเมืองที่ทุกพรรคจะเลือกแนวทางที่ "ได้เปรียบ"
ไม่ใช่หลักการที่ "ควรทำ"
เมื่อ "ประชาธิปัตย์" ควรสัญญาว่าจะให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน
"เพื่อไทย" ก็ควรจะให้ "ยิ่งลักษณ์" มาดีเบตกับ "อภิสิทธิ์"
ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นรอง
แต่ถ้า "ยิ่งลักษณ์" มาดีเบตเมื่อไร
แพ้-ชนะไม่รู้ แต่สง่างามครับ
อย่าลืมว่า "อภิสิทธิ์" วันนี้ต่างจาก "อภิสิทธิ์" เมื่อวันที่ยังเป็นฝ่ายค้านและยังไม่ได้บริหารประเทศมา 2 ปีกว่า
วันก่อน เขาพูดอะไร คนก็ยังกังขาว่าทำเป็นหรือเปล่า ทำได้จริงหรือเปล่า
แต่วันนี้ "อภิสิทธิ์" โชว์ฝีมือให้ทุกคนได้เห็นแล้ว
พูดอะไรก็ไม่ต้องจินตนาการอีกต่อไป
เช่น วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายประกันราคาข้าว ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอให้ย้อนกลับไปใช้ระบบจำนำข้าว พร้อมกับเครดิตการ์ดชาวนา
เรื่องแบบนี้ต่อให้พูดเก่งอย่างไร แต่ "ชาวนา" ตัดสินได้ทันทีว่าของใครดีกว่ากัน เพราะทดลองมาแล้ว
หรือเรื่องการรักษาฟรีแบบ "ประชาธิปัตย์" กับ "30 บาทรักษาทุกโรค" ของ "เพื่อไทย"
คนที่เคยใช้บริการมาแล้วเขาก็ตัดสินได้เลย
หรือเรื่องแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตยสร้างสวนสาธารณะของ "อภิสิทธิ์" กับการถมทะเลสร้างเมืองใหม่ของ "ทักษิณ" เป็นเรื่องใหม่ทั้ง 2 เรื่อง
แต่ถามว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า "ใครทำได้จริง"
ผลงานในอดีตของพรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยในปัจจุบัน กับประชาธิปัตย์ใน 2 ปีที่ผ่านมา
คนไทยตัดสินได้เลยว่า "เครดิต" ของใครดีกว่ากัน
ที่สำคัญก็คือ "ประชาธิปัตย์" ที่เคยชี้นิ้วใส่พรรคของ "ทักษิณ" มาตลอดเรื่องการใช้เงิน อำนาจรัฐ และความได้เปรียบที่บริหารประเทศมาก่อน
แต่เลือกตั้งครั้งนี้ "ประชาธิปัตย์" ใช้เหตุผลเดิมไม่ได้แล้ว
เรื่องความร่ำรวย วันนี้ "ประชาธิปัตย์" ไม่ได้เป็นรอง "เพื่อไทย" และดูเหมือนว่าเหนือกว่าด้วย
"อำนาจรัฐ" ก็เป็นของพรรคประชาธิปัตย์
เรื่อง "ผลงาน" ก็ทำมาแล้ว 2 ปีกว่า
"ประชาธิปัตย์" ได้เปรียบทุกด้าน ถ้าจะแพ้ก็ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างอะไรอีก
ในอดีต การเมืองไทยนั้นถือว่า "ความเชื่อ" คือ "ความจริง"
ใครพูดให้เชื่อได้ ความจริงของการลงคะแนนก็เป็นแบบนั้น
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการตัดสินของประชาชนจะมาจาก "ความเชื่อ" แบบใหม่
เป็น "ความเชื่อ" ที่เกิดจากฐานแห่ง "ความจริง" ที่ได้ทดลองแล้ว
แบบเล่นจริง-เจ็บจริง
รวยจริง และจนจริง
++
"ราคา"ของ"สงคราม"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:41 น.
หลายปีที่ผ่านมา เราเสียเงินกว่า 100,000 ล้านบาท ไปสำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
คนไทยด้วยกันเองเสียชีวิตไปหลายพันคน
ปี 2553 ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุ "ม็อบเสื้อแดง" ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รัฐบาลใช้งบประมาณภายใต้คำเพราะๆ ว่า "เพื่อความสงบเรียบร้อย" ไปประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท
กระสุนเป็นแสนนัด และลมหายใจของคนไทยด้วยกันเกือบ 100 คน
ล่าสุด ในเหตุการณ์การปะทะกันที่ชายแดนไทยและกัมพูชา รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพ 1,200 ล้านบาท
มีทหารและชาวบ้านของไทยและกัมพูชาเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
ทุกครั้งที่เกิด "สงคราม" ไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศล้วนแต่นำมาซึ่ง "ความสูญเสีย"
ทั้ง "ชีวิต"
ทั้ง "งบประมาณ" มหาศาล
ที่สำคัญก็คือ "สงคราม" จะบ่มเพาะความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในใจของคู่ขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง หรือระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชา
เพราะทันทีที่เกิด "สงคราม"
สิ่งแรกที่จะถูกสังหารก่อนใครคือ "ความจริง"
เรื่องราวที่ออกจากปากของฝ่ายความมั่นคงกับคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งจึงแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ออกจากปาก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กับ "จตุพร พรหมพันธุ์" ก็เหมือนกับหนังคนละเรื่อง
หรือการพูดถึงเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดน เสียงที่ออกมาจากฝั่งกัมพูชากับฝั่งไทยก็เป็นคนละเรื่องเดียวกัน
ไม่มีใครรู้ว่า "ความจริง" เป็นอย่างไร
แต่ "ความจริง" หนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับก็คือ "ความขัดแย้ง" ได้เกิดขึ้นแล้ว และลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าแปลกก็คือ เมื่อเราสาวหาปมของความขัดแย้งทั้ง 3 กรณี ใครจะไปนึกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากสาเหตุที่ใกล้เคียงกัน
นั่นคือ การไม่เคารพ "กติกา" และ "ความยุติธรรม"
ถ้าเราเคารพกติกาประชาธิปไตย กติกาการเลือกตั้ง
ถ้าเราเคารพกติกาของสังคมโลก ไม่ว่าศาลโลก คณะกรรมการมรดกโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรืออาเซียน
ถ้าเราทำให้คนใต้รู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรม
ปัญหาทั้งหมดก็จะลดระดับทันที
ในโลกแห่งความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไป
ไม่มีทางที่จะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปได้
แต่ไม่ว่า "ความจริง" จะโหดร้ายเพียงใด แต่เราก็มีสิทธิฝัน
ฝันที่จะเห็นเมืองไทยดีขึ้น
มีคนเคยบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ได้
ขอให้เราเปลี่ยนทัศนคติ
ยอมรับ "กติกา" และทำ "ความยุติธรรม" ให้คนยอมรับได้
บางที "ความฝัน" ก็จะกลายเป็น "ความจริง" ขึ้นมา
ปัญหาก็มีอยู่เพียงว่าเรากล้าที่จะฝันหรือไม่
...เท่านั้นเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย