http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-03

กระทรวงไอซีที และ เมื่อ "วัฒนธรรมไทย" ต้องเผชิญกับนม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
กระทรวงไอซีที
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 09:00:00 น.


ในระยะแรกที่มีอินเตอร์เน็ต มีคนมองเห็นศักยภาพของมันมากมาย ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านออนไลน์พัฒนาไปไกลขึ้นเท่าไร ศักยภาพเหล่านั้นก็ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเท่านั้น และมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพเหล่านั้นทบทวีคูณขึ้นอยู่ตลอดมา

สรุปศักยภาพของอินเตอร์เน็ตเท่าที่ผมมองเห็นจนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่สามด้าน 1.คือการเปิดตลาดใหม่ให้แก่สินค้าและบริการ 2.เปิดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในแนวใหม่ 3.เปิดพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ ทั้งสามอย่างนี้อาจเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมและบุคคลได้ไพศาล แต่เอาไปใช้ในทางที่เป็นโทษของสังคมก็ได้ไพศาลเหมือนกัน ไม่ต่างจากตลาด, โรงเรียน, และพื้นที่การเมืองแบบเก่า ซึ่งใช้ไปในทางเป็นประโยชน์ก็ได้ โทษก็ได้

ยิ่งไปกว่านี้ ควรเข้าใจด้วยว่าแม้ศักยภาพที่ถูกนำไปใช้ในทางเป็นประโยชน์ ก็หาใช่ว่าจะมีประโยชน์แต่ด้านเดียว อาจมีโทษแฝงอยู่ด้วยก็ได้ ดังเช่นในด้านการเรียนรู้ อินเตอร์เน็ตป้อนข้อมูลให้ผู้ใช้จนท่วมหัว และมักจะท่วมมิดเสียจนไม่ได้ใช้หัวไปในทางคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เอา "ความรู้" ออกมาจากข้อมูล รายงานของนักเรียนนักศึกษาจึงมักเป็นเพียงการก๊อบปี้ข้อความจากเว็บไซต์ต่างๆ มาตัดแปะ โดยผู้รายงานไม่ต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลเหล่านั้นให้ถ่องแท้

ประโยชน์และโทษของทุกอย่างในโลกนี้ก็ล้วนซ้อนทับกันอยู่อย่างนี้แหละ

แต่เพราะมันมีโทษแฝงอยู่ ก็ไม่เป็นเหตุให้เราขัดขวางกีดกันการใช้สิ่งนั้น จนทำให้สังคมและบุคคลขาดประโยชน์ไป เช่น ในตลาดย่อมมีพ่อค้าหน้าเลือดที่เอาเปรียบผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่นั่นไม่ใช่เหตุให้เราปิดตลาดทิ้งเสีย (อย่างที่เขมรแดงทำในกัมพูชา) เราต้องปล่อยให้สังคมได้ใช้สิ่งนั้นต่อไปเพื่อได้ประโยชน์จากศักยภาพของสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ แล้วจัดการกับการใช้ในทางให้โทษด้วยแนวทางที่ฉลาด เช่น มีกฎหมายที่ฉลาดซึ่งทำให้การใช้อย่างเป็นโทษไม่มีทางได้กำไร มีการประชาสัมพันธ์ที่ฉลาดเพื่อป้องกันไม่ให้ใครตกเป็นเหยื่อ ฯลฯ เป็นต้น

ผมไม่ทราบความคิดของผู้สร้างกระทรวงไอซีทีว่าสร้างขึ้นมาทำไม แต่ผลงานของกระทรวงนี้สืบมาจนวันนี้ ส่อให้เห็นว่าความเข้าใจเป้าหมายของกระทรวงนี้ ไม่ใช่เพื่อพัฒนาหนทางใช้ประโยชน์ศักยภาพของอินเตอร์เน็ต (หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือการสื่อสารบนพื้นที่ไซเบอร์อื่นๆ) ไปให้เต็มที่และเหมาะกับสังคมไทยดังที่กล่าวข้างต้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า การพัฒนาแนวทางใช้ประโยชน์นี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำเองไปหมด ตรงกันข้ามกระทรวงอาจประสาน, ผลักดัน, ชักจูง หน่วยงานอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชนให้ร่วมในการพัฒนาด้วย เช่น มหาวิทยาลัย, ศูนย์คอมพิวเตอร์, บริษัทห้างร้าน, และเนคเทค เป็นต้น อันที่จริงหน้าที่ของกระทรวงทุกกระทรวง คือ พัฒนางานตามเป้าหมายจากทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคมทั้งหมด ไม่ใช่จากทรัพยากรของกระทรวงเท่านั้น ผมทราบว่ากระทรวงไทยไม่เคยทำอย่างนี้

แต่กระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงใหม่ ก็น่าจะบริหารจัดการแบบใหม่ให้ต่างจากกระทรวงโบราณทั้งหลายด้วย


นับตั้งแต่ก่อตั้ง..กระทรวงนี้ไม่เคยสนใจการทำงานด้านที่จะพัฒนาศักยภาพของประดิษฐกรรมแห่งยุคสมัยนี้เลย อาจทำบ้างด้านเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ด้วยการประสานเอกชนให้ผลิตโน้ตบุ๊กราคาถูกสำหรับนักเรียน แต่โครงการนี้ก็ไปไม่ถึงไหน ซ้ำยังไม่ใส่ใจกับลักษณะสำคัญของโน้ตบุ๊กทางการศึกษาซึ่งประสบความสำเร็จในสหรัฐ นั่นคือความสามารถที่จะเชื่อมต่อกันได้ในกลุ่ม ทำให้การเรียนกลายเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างครู, นักเรียน และเพื่อนๆ ในที่สุดแล้วจนถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารบนพื้นที่ไซเบอร์ของไทยล้าหลังไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสามจีซึ่งยังไม่เกิดจริง ไปจนถึงบรอดแบนด์ซึ่งบรอดไม่จริง รวมทั้งความสะดวกในการเชื่อมต่อ หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม

ในแง่ตลาดใหม่ อินเตอร์เน็ตเปิดพื้นที่ตลาดให้คนเล็กคนน้อย ที่ไม่เคยเข้าถึงตลาดได้เพราะไม่มีกำลัง ได้เข้าถึงตลาดได้กว้างขวาง โดยมีต้นทุนต่ำมากๆ บริษัทใหญ่ๆ สามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องกินที่สต๊อคสินค้าซึ่งราคาแพง แต่ในขณะเดียวกันตลาดไซเบอร์ก็มีอุปสรรคใหม่ๆ ที่ต้องขจัดหรือป้องกัน นับตั้งแต่สินค้าและบริการที่วางขายในลักษณะต้มตุ๋น คนจำนวนมากไม่กล้าเสี่ยงซื้อสินค้าหรือบริการในตลาดนี้ เพราะไม่อยากเอาเบอร์บัตรเครดิตของตนลงไปกลางตลาดใหญ่อย่างนี้ กลัวจะถูกมือมืดเจาะเข้าไปใช้เงินของตัวเอง ครั้นจะส่งเงินไปก่อน ก็ไม่แน่ใจว่าผู้ขายมีตัวตนจริงๆ หรือไม่ ชาวบ้านที่อยากหากินสุจริต ไม่รู้วิธีที่จะเจาะตลาดต่างประเทศ เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์

อุปสรรคเหล่านี้สามารถแก้ไขหรืออย่างน้อยก็บรรเทาได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้น ในขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทียังสามารถประสานความร่วมมือกับธนาคารผ่านกระทรวงการคลัง กระทรวงพานิชย์ กระทรวงอื่นๆ รวมทั้งตำรวจ เพื่อทำให้ตลาดนี้เป็นตลาดที่ปลอดภัยสำหรับการซื้อการขายได้อีกมาก แต่ตลาดอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเคยเละเทะมาอย่างไรในหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ยังเละเทะอยู่เหมือนเดิม ผู้บริโภครับความเสี่ยงเอาเอง


ด้านการศึกษาและการเรียนรู้อินเตอร์เน็ตจะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ดี จำต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยอีกหลายอย่าง รวมทั้งการผลักดันให้มีการลงทุนนำข้อมูลความรู้ (ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศ)ใส่ลงไปในอินเตอร์เน็ตให้มากกว่านี้อีกมาก ต้องมีซอฟต์แวร์และคนซึ่งชำนาญในการเสนอความรู้ในสื่อแบบใหม่ (ถ้าเปิดซีดีรอมแล้ว เหมือนกับอ่านหนังสือ จะยั่วให้เด็กหาความรู้จากคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร) ถามว่ากระทรวงไอซีทีทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้บ้าง คำตอบคือไม่ได้ทำอะไรเลย

แม้แต่ความพยายามจะดิ้นให้หลุดจากการครอบงำของบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ ก็ยังสิ้นความพยายามไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่โปรแกรมประเภท open source พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในโลก สมัยหนึ่งเนคเทคเคยพยายามพัฒนาโปรแกรมเวิร์ด อันเป็นโปรแกรมที่เราเสียเงินซื้อมากที่สุด โดยพัฒนาจาก open source (โปรแกรมปลาดาว) แต่ก็เงียบหายไปเป็นสิบปีแล้ว

ในขณะที่บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์รักษาการครอบงำของตนด้วยการให้ทุนทั้งแก่หน่วยงานประเภทนี้และมหาวิทยาลัย ในที่สุดทั้งปัจจุบันและอนาคตของซอฟต์แวร์ไทยจึงถูกขังลืมอยู่ในคุกของบริษัทยักษ์แห่งนี้ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น


พื้นที่ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องหลักที่กระทรวงไอซีทีให้ความสนใจที่สุด แต่ก็เป็นความสนใจด้านลบมากกว่าด้านบวก (ตามเคย) นั่นคือจะกำกับควบคุมพื้นที่ใหม่ทางการเมืองนี้ ซึ่งเปิดรับคนแปลกหน้าเข้ามาจำนวนมาก ให้สยบยอมต่อโครงสร้างอำนาจตามประเพณีต่อไปได้อย่างไร

ผมอยากเตือนท่านผู้อ่านด้วยว่า เมื่ออินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟูขึ้นในโลก มีคนคิดถึงศักยภาพของพื้นที่ใหม่ทางการเมืองนี้ไว้หลายอย่าง แต่ละอย่างล้วนพลิกโฉมหน้าบทบาททางการเมืองของผู้คนอย่างมโหฬารทั้งสิ้น เช่น ก่อนหน้าที่จะมีโปรแกรมประเภท "เครือข่ายสังคม" ที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน ก็มีผู้มองเห็นแล้วว่า อินเตอร์เน็ตจะเปิดพื้นที่ของเครือข่ายแบบใหม่ขึ้น ไม่ใช่เครือข่ายเฉยๆ ด้วย แต่เป็นเครือข่ายที่ปริ่มๆ อยู่กับการจัดตั้ง ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจะเผยแพร่ได้กว้างขวาง หากพลเมืองสามารถบีบบังคับให้รัฐเผยข้อมูลออกมาได้มาก อำนาจการกำกับควบคุมรัฐของพลเมืองก็ย่อมต้องมากขึ้นด้วย ในโลกอินเตอร์เน็ตยากที่ใครจะซ่อนตัวอยู่ในเงามืดได้อีก

จนถึงที่สุด แม้แต่การปกครองด้วยประชาธิปไตยทางตรง ก็สามารถทำได้ในทางเทคนิคจริงเป็นครั้งแรก ไม่ใช่เฉพาะในหน่วยการเมืองเล็กๆ ระดับตำบลหมู่บ้านเท่านั้น แต่อาจทำในหน่วยการเมืองระดับใหญ่กว่านั้นได้อีกมาก

แต่ทั้งหมดนี้ไม่เคยได้รับความใส่ใจจากกระทรวงไอซีที เขาหวั่นวิตกแต่ว่าของดีๆ อย่างอินเตอร์เน็ตจะถูกนำไปใช้ในทางเสียหาย (แก่ใครและอะไร... ไม่ทราบได้) ฉะนั้น จึงต้องเข้าไปบังคับควบคุมจนกระทั่งจะทำอะไรดีๆ กับอินเตอร์เน็ตได้ยากขึ้นทุกที


ใน พ.ศ.2550 อาศัยอำนาจรัฐประหาร รัฐบาลขณะนั้นก็ออกกฎหมายคอมพิวเตอร์มาใช้บังคับ เป็นกฎหมายที่พยายามปิดพื้นที่ทางการเมืองในอินเตอร์เน็ตลง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาเรียนรู้ หรือสร้างความปลอดภัยให้แก่ตลาดใหม่ในอินเตอร์เน็ต กฎหมายนี้ล้มเหลวในแง่ที่ไม่สามารถปิดพื้นที่ทางการเมืองลงได้อย่างที่หวัง ในขณะเดียวกันก็ถูกโจมตีจากนักวิชาการและภาคประชาชนอย่างหนัก จนกระทั่งรัฐบาลต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ออกมาแทน

กระทรวงไอซีทีรีบยัดเยียดร่างกฎหมายใหม่ของตนเพื่อให้ผ่าน ครม. โดยภาคประชาชนไม่เคยมีส่วนรู้เห็นเลย อย่าพูดถึงมีส่วนร่วม ร่างกฎหมายใหม่นี้ยิ่งมีข้อบกพร่องมากกว่าเดิม และไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องเดิมแต่อย่างไร (เช่นการเอาผิดด้านเนื้อหา ซึ่งก็มีกฎหมายอาญาอื่นครอบคลุมอยู่แล้ว) และหวังจะปิดพื้นที่การเมืองลงให้สนิทกว่าเดิม จึงมีบทลงโทษมั่วไปหมด เช่นการสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รัฐวินิจฉัยว่าเป็นความเสียหาย ก็จะเป็นความผิด (ลือกันว่าทำตามแรงชักจูงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่) โดยไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความเสียหาย การครอบครองซอฟต์แวร์ที่อาจเอาไปใช้ทำความผิดได้ก็ถือเป็นความผิด ทั้งๆ ที่ผู้ครอบครองยังไม่ได้ใช้ไปในทางละเมิดแก่ผู้ใด (ด้วยมาตรฐานอย่างนี้ การครอบครองโปรแกรมเวิร์ดธรรมดาก็น่าจะมีความผิด เพราะอาจเอาไปใช้เขียนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ แม้ว่าผู้ครอบครองใช้สำหรับเขียนจดหมายรักเท่านั้น)


นี่เป็นท่าทีแบบเขมรแดงโดยแท้

กล่าวคือล้มเลิกทุกอย่างที่อาจเอาไปใช้ในทาง "ไม่ดี" (ตามทรรศนะของรัฐ) ให้หมด ส่วนสิ่งดีๆ ที่อาจใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องมือได้ ก็ไม่ต้องทำ ไหนๆ ก็จะกลับลงไปเป็นชาวนาซึ่งไม่เรียกร้องอะไรจากรัฐกันหมดอยู่แล้ว

ด้วยวิธีคิดแบบเขมรแดงเช่นนี้ ผมคิดว่าเรายุบเลิกกระทรวงไอซีทีดีกว่าไหม กระทรวงนี้เอาไปใช้ในทางที่เป็นคุณก็ได้มาก แต่เอาไปใช้ในทางเป็นโทษก็ได้มากเหมือนกัน ไหนๆ ก็ถูกใช้ในทางเป็นโทษตลอดมาตั้งแต่ตั้งกระทรวงอยู่แล้ว จะมีไว้ต่อไปทำไม?



++

เมื่อ "วัฒนธรรมไทย" ต้องเผชิญกับนม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


รายการคมชัดลึกของเนชั่นแชนเนลวันหนึ่ง สนทนากันเรื่องเด็กเปิดนมที่สีลม ระหว่างคู่สนทนาสองคน หนึ่งเป็นเด็กมัธยมจะชื่อเรียงเสียงไรก็ลืมไปแล้ว อีกคนหนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงวัฒนธรรม แล้วผมก็ลืมชื่อเสียงเรียงนามอีกเหมือนกัน

ทั้งคู่เป็นผู้หญิง สะท้อนว่าผู้จัดลืมไปว่า นมเด็กในสายตาของผู้หญิงและผู้ชายนั้นต่างกัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงอาจให้ความหมายในเชิงสังคมต่างกันด้วย แม้กระนั้นความเห็นระหว่างผู้หญิงสองคนที่ร่วมวงสนทนากันนั้น ก็ต่างกันมาก

ฝ่ายเด็กมัธยมประกาศเลยว่า เธอไม่ต้องการจะ "พิพากษา" คนอื่น เพราะพฤติกรรมของคนย่อมเกิดในเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนและแตกต่างกัน เราจึงไม่สามารถ "พิพากษา" ใครจากพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว (ผมใช้คำนี้ให้ตรงกับชื่อนวนิยายของคุณชาติ กอบจิตติ ด้วยความเชื่อว่าเธอคงได้อ่านแล้ว และเข้าถึงได้ดีกว่าผู้ใหญ่อีกมาก) แต่เฉพาะตัวพฤติกรรมโดดๆ นั้น เธอไม่เห็นชอบด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังแสดงความห่วงใยเด็กเปิดนมที่สีลมว่า ป่านนี้เธอคงเจ็บปวดกับการกระทำเพียงชั่วแล่นนั้น และจะประคองตัวให้รอดพ้นจากคำประณามนานาไปได้หรือไม่ อย่างไร และอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไรต่อไป

แม่เจ้าประคุณเอ๋ย จะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร มีครูบาอาจารย์เป็นใครไม่ทราบได้ แต่ช่างสอนลูกสอนหลานมาดีเหลือเกิน ฟังแล้วก็อดเป็นห่วงน้องมัธยมคนนี้ไม่ได้ว่า ฉลาดต่อชีวิตในวัยเพียงเท่านี้ได้ถึงขนาดนี้ หนูเห็นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมืองไทยไม่ได้เสียแล้วล่ะ

ส่วนคุณผู้หญิงคู่สนทนา ก็มีความเห็นไปในทางที่เป็นวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมแหละครับ เพราะเธอคงจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว



อันที่จริงในสังคมไทยโบราณนั้น ส่วนหนึ่งของสงกรานต์เป็นอีกช่วงหนึ่งที่สังคมไทยเปิดให้มีการล่วงละเมิดในทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการก้าวข้ามข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานภาพของบุคคล หญิง-ชาย, พระ-ชาวบ้าน, ผู้ใหญ่-ผู้น้อย, รวย-จน, ฯลฯ เพราะในช่วงหนึ่งของประเพณีสงกรานต์นั้น ทุกคนอาจถูกล่วงละเมิดได้อย่างเท่าเทียมกัน

เขาละเมิดกันยิ่งกว่าเปิดนมอีกครับ

ในบางท้องที่ถึงขนาดผู้หญิงจับพระมัดไว้แล้วขู่จะถกสบงขึ้น หากไม่จ่ายเงินให้พวกเธอๆ เอาไปซื้อเหล้ากิน

ในทุกวันนี้การสาดน้ำโดยไม่ถามโคตรเหง้าเหล่าตระกูลกันก่อน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สืบทอดประเพณีเดิมมา ผมเชื่อว่าที่นักท่องเที่ยวสนุกกับการเล่นสาดน้ำ ไม่ใช่เพราะได้ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น แต่เพราะได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งความเสมอภาคเชิงพิธีกรรมต่างหาก

ผมคิดว่าสังคมไทยปัจจุบันนั้นเก่งมาก ที่ทำให้พื้นที่เชิงพิธีกรรมนี้ไม่มีความหมายของความเสมอภาคเหลืออยู่เลย โดยการกำหนดให้เป็นพื้นที่เฉพาะ และเปิดให้อำนาจของผู้ใหญ่แทรกเข้ามากำกับ เช่น ห้ามขายและดื่มเหล้า ห้ามเล่นแป้ง ห้ามจับนม และห้ามโป๊

ความจริงแล้วจะห้ามได้จริงหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก แต่การมีอยู่ของอำนาจ "ผู้ใหญ่" ในการกำกับพื้นที่นั้นต่างหากที่สำคัญกว่า



ผมฟังข่าวเรื่องเด็กเปิดนมมาหลายวันด้วยความงุนงง เพราะเรื่องมันใหญ่ขึ้นทุกวัน จนเกินกว่านมผู้หญิงคนไหนในเมืองไทยจะบรรจุลงไปได้หมด

แต่ก็ยังมีช่องโหว่นะครับ วันหนึ่งเพื่อนผู้ชายมากระซิบข้างหูว่า เขาเข้าไปดูเว็บไซต์ที่มีคลิปเด็กเปิดนมไม่ทัน เพราะถูกราชการสั่งปิดไปหมดแล้ว เสียดายที่ไม่ได้เห็นนมเด็กสาวมาหลายปีแล้ว

ผมหัวเราะก๊ากเลย เพราะนี่เป็นปฏิกิริยาปกติธรรมดาของผู้ชายไทยที่ผมคุ้นเคยทีเดียว คือเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็สนุกกับมันไปตามสภาพที่เป็นจริง แน่นอนว่าไม่อยากให้ลูกหลานทำอย่างนั้น แต่เรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น มีแง่มุมที่จะขำขันและ "ทะลึ่ง" ได้ตามแบบผู้ชายไทย ซึ่งมักจะมีมิติหนึ่งของกามารมณ์แทรกอยู่ด้วยเสมอ

มิติทางกามารมณ์นี่แหละครับที่เป็นช่องโหว่ ทั้งในสื่อทั่วไปและในอินเตอร์เน็ต ไม่เห็นมีใครพูดเรื่องนี้เลย แม้แต่ขนาดหรือรูปทรงของนม ก็ไม่มีใครพูดถึง อาจเป็นเพราะว่าจะพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะได้ ก็ต้องปฏิบัติต่อนมในฐานะ "ปัญหาสังคม" เพียงอย่างเดียว หากอยากจะพูดความจริงอีกด้านหนึ่งคืออารมณ์ความรู้สึกทางเพศ ก็ต้องกระซิบ


ผมเดาเหตุผลที่เป็นอย่างนี้ว่ามีอยู่สองอย่าง

อย่างแรกก็คือ นมผู้หญิงเป็นสิ่งที่คนไทยปัจจุบันคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปในยุคโบราณหรอกครับ เอาแต่ยุคปัจจุบันที่เรามีชีวิตอยู่นี่แหละ เราทุกคนต่างคุ้นตากับนมผู้หญิง (แม้ไม่ทั้งเต้า) ในโฆษณา, ในเสื้อคอลึกที่ผู้คนสวมใส่, และในภาพโป๊ดาษดื่น

แม้ยังกระตุ้นความรู้สึกทางเพศอยู่ แต่ก็เหมือนอากาศร้อน-หนาว ฉะนั้นหากใครจะบอกว่าเปิดนมคือการยั่วยุอารมณ์ทางเพศรุนแรงผิดปกติ ก็ดูจะดัดจริตเกินไป เพราะถ้าอย่างนั้นก็แทบจะมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยไม่ได้เอาเลย

อย่างที่สอง นั้นน่าสนใจกว่า เราจำกัดความหมายของนมผู้หญิงให้เหลือแต่มิติทางสังคม ที่เรียกว่า "วัฒนธรรมไทย" นั่นแหละครับ โดยปฏิเสธหรือไม่สนใจกับอีกมิติหนึ่ง คือความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในใจของผู้ชาย หรือความจริงที่นมผู้หญิงถูกเปิดเผยกันอะร้าอร่ามทั่วไปในเมืองไทย ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย

ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เรียกกันว่า "วัฒนธรรมไทย" ซึ่งเราถูกยุยงให้รักษาไว้เพื่อสืบไปถึงลูกถึงหลาน คืออะไรกันแน่?

ผมสรุปว่า สิ่งนั้นต้องไม่ใช่ "วัฒนธรรม" ในความหมายถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริงในหมู่คนไทยปัจจุบัน รวมถึงโลกทรรศน์และค่านิยมที่แฝงอยู่เบื้องหลังทั้งหมด แต่ "วัฒนธรรมไทย" เป็นเพียงประดิษฐกรรมที่วางมาตรฐานของอุดมคติ พูดง่ายๆ ก็คือ "วัฒนธรรมไทย" เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ปั้นแต่งให้ตรงตามอุดมคติ แล้วยัดเยียดให้คนทั่วไปเชื่อว่า "วัฒนธรรมไทย" มีอยู่จริง หากมีปรากฏการณ์ใดที่ขัดต่อ "วัฒนธรรมไทย" ก็ต้องถือว่าเป็นความเบี่ยงเบน, ความเสื่อมโทรม, หรือแม้แต่เป็นอาชญากรรม (ดังกรณีเปิดนมที่สีลมก็มีการแจ้งความแล้ว รวมทั้งข้อวิจารณ์ว่า "เจ้าหน้าที่" ไม่คอยดูแล เพราะมี "เจ้าหน้าที่" น้อยเกินไปกว่าจะเฝ้านมได้ทุกเต้า)



ผมมีข้อสังเกตจากข้อสรุปข้างต้นด้วยว่า

1."วัฒนธรรมไทย" ตามอุดมคตินั้น ไม่ใช่มาตรฐานลอยๆ ที่วางไว้ให้คนปฏิบัติตามเฉยๆ แต่มีอำนาจแฝงอยู่ นับแต่อำนาจในเชิงสังคมไปจนถึงอำนาจทางกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนจึงอาจถูกลงโทษได้ มาตรฐานนี้ตายตัวเหมือนกฎหมาย จึงละเลยต่อเงื่อนไขและบริบท วางอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ของผู้คน ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างการอภิปรายของเด็กมัธยม และคุณผู้หญิงจากกระทรวงวัฒนธรรม

2.ถามว่าอุดมคติที่วางแนวของมาตรฐาน "วัฒนธรรมไทย" นั้น เป็นอุดมคติของใคร? คำตอบคือไม่ใช่ของคนไทยทั่วไป ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา เช่นการโชว์นมครึ่งเต้าซึ่ง "วัฒนธรรมไทย" ก็ไม่ยอมรับอยู่นั่นเอง อุดมคตินี้จึงเป็นของชนชั้นนำ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป (อย่างจริงใจหรือหน้าไหว้หลังหลอกก็ตาม) แต่คนกลุ่มนี้คือผู้คุมสื่อและกลไกของกฎหมายไว้ในมือ และอาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่อาจเป็นอันตรายต่อ "วัฒนธรรมไทย" ได้

3.ดังนั้นเมื่อวิเคราะห์เนื้อหาของ "วัฒนธรรมไทย" จึงไม่แปลกที่จะพบว่าเนื้อหาคือการกล่อมเกลาไปจนถึงบังคับให้ยอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียม ยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ หัวใจสำคัญของเนื้อหา "วัฒนธรรมไทย" คือการรู้จักที่ต่ำที่สูง และความวิเศษเลิศลอยที่เป็นอกาลิโกของแบบแผนทางวัฒนธรรมชนชั้นสูง

การประกวดมารยาทของเด็กนักเรียน คือประกวดการใช้ภาษากายเพื่อยอมรับความไม่เท่าเทียมระหว่าง "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย"

ภาษาสุภาพของไทยคือการเปลี่ยนภาษาให้เหมาะกับสถานภาพโดยเปรียบเทียบระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ซึ่งละเอียดซับซ้อนอย่างยิ่ง

โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครในโลก หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "จิตวิญญาณ" ความเป็นไทยไปโน่นเลย

การเปิดนมในที่สาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่ผมเข้าใจ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน "วัฒนธรรมไทย" แม้เป็นการขัดขืนเชิงพิธีกรรมดังที่กล่าวข้างต้น ก็ต้องถือว่าเป็นพิธีกรรมที่อาจพัฒนาไปสู่การล่วงละเมิด "วัฒนธรรมไทย" หนักข้อขึ้น จนในที่สุดก็อาจกระเทือนโครงสร้างอำนาจที่ "วัฒนธรรมไทย" จรรโลงไว้ จนพังสลายไปได้

4.เพราะ "วัฒนธรรมไทย" เป็นสมบัติของชนชั้นนำที่ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของตนเอง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทย "วัฒนธรรมไทย" จึงมีความอ่อนแออย่างยิ่ง สั่นสะเทือนไปจนแทบจะถึงรากด้วยแรงปะทะของนมสี่เต้าเท่านั้น


จะมีหรือไม่มี "ไพร่" มาชุมนุมกันที่ราชประสงค์ก็ตาม แต่ "วัฒนธรรมไทย" กำลังถูกท้าทายหนักขึ้นตลอดมา ทั้งโดยคนที่ตั้งใจและคนที่ไม่ได้ตั้งใจ สไนปเปอร์อย่างเดียวหยุดการท้าทายนี้ไม่ได้

.