http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-05-10

สิงคโปร์ และ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา-ในฝัน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
สิงคโปร์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 31


เมื่อผมเป็นเด็ก สิงคโปร์ไม่เคยมีความหมายอะไรเลยนอกจากลอดช่อง เพราะเป็นลอดช่องที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยกินกันมา คือทำด้วยแป้งมันสำปะหลัง แทนที่จะเป็นแป้งข้าวเจ้า ตอนนั้นเรายังไม่มีโรงงานทำแป้งมันสำปะหลัง จึงต้องนำเข้าผ่านสิงคโปร์ และเรียกว่าแป้งสิงคโปร์ (ผมไม่ทราบว่าสิงคโปร์ทำเอง หรือแค่เป็นท่าเรือส่งผ่าน)

นี่เป็นสิงคโปร์ในโลกทรรศน์ของคนทั่วไปในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่จริงแล้ว สิงคโปร์หรือ "เมืองใหม่" มีความสำคัญแก่เจ้าสัวในเมืองไทยมาตั้งแต่อังกฤษเริ่มสร้างเมือง เพราะเป็นสถานีส่งออกและนำเข้าสินค้าหลายอย่างของกรุงเทพฯ

ยิ่งกว่านั้นเมื่อถึงยุคแร่ดีบุกและยางพารา สิงคโปร์คือผู้กำหนดราคาของสินค้าสำคัญสองอย่างนี้ในภาคใต้ของไทย เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของสินค้าสองอย่างนั้นในเอเชีย

เป็นเรื่องการค้าการขาย ซึ่งกระทบต่อคนจำนวนไม่น้อยก็จริง แต่ไม่มีความประทับใจอะไรเป็นพิเศษ สิงคโปร์ไม่ใช่แหล่งที่ "เจริญ" ที่สุด ไม่ใช่ศูนย์กลางของวัฒนธรรมฝรั่งหรือแม้แต่จีน แม้แต่เศรษฐีภาคใต้ก็ส่งลูกไปเรียนหนังสือที่ปีนังมากกว่าสิงคโปร์


จนกระทั่งเมื่อพรรคกิจประชาชนขึ้นมามีอำนาจ และเปลี่ยนสิงคโปร์ให้กลายเป็นสิงคโปร์อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้

สิงคโปร์จึงเป็นประเทศเอเชียประเทศเดียวที่สร้างความประทับใจทางการเมืองแก่ชนชั้นนำไทยที่สุด และมักกลายเป็นแบบอย่างสำหรับคำตอบทางการเมืองให้แก่ชนชั้นนำไทยมานาน



ผมคิดว่าเมื่อศตวรรษที่แล้ว ชนชั้นนำไทยไม่เคยประทับใจสิงคโปร์ทางการเมืองเท่านี้ เพราะสิงคโปร์ผ่าไปมีรัฐธรรมนูญในสมัยที่เรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสิงคโปร์ถูกหวาดระแวงจากมหาอำนาจผิวขาวซึ่งชนชั้นนำไทยมีความสนิทสนมมากกว่า

เมื่อชนชั้นสูงประทับใจ ก็ขยายมาถึงคนชั้นกลาง กลายเป็นอุดมคติของการบริหารบ้านเมือง และ "การเมืองที่ปลอดการเมือง" นั้นเราควรเอาเป็นแบบอย่าง

บางคนคิดว่า เพราะสิงคโปร์รวยและนับวันก็ยิ่งรวยมากขึ้น จนกระทั่งกำลังกลายเป็นคนรวยสุดของเอเชีย เมื่อเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชากร ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็คงใช่ แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคนไทยบูชาเงิน เพราะยังมีประเทศรวยๆ อีกมากที่เราไม่ประทับใจขนาดนี้ เช่น บรูไน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และหนึ่งในสี่ของคนจีน คนไทยก็อยากให้ประเทศมีรายได้มากๆ อย่างประเทศเหล่านี้แน่ แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบทางการเมืองของไทย

ความรวยของสิงคโปร์ ในทัศนะของคนไทย เป็นเครื่องหมายของความสำเร็จทางการเมืองที่สงบเรียบร้อย แต่ความรวยของเกาหลี, ญี่ปุ่น, บรูไน ฯลฯ มีปัจจัยมาจากอย่างอื่นอีกมาก ไม่ใช่การเมืองอย่างเดียว เพราะสิงคโปร์ไม่มีอะไรเป็นทรัพยากรของตนเอง นอกจากการเมืองและการบริหาร

ผมลองย้อนกลับไปดูความเห็นของชนชั้นนำไทยที่มีต่อสิงคโปร์ในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา เพื่อจะดูว่าเขาประทับใจการเมืองสิงคโปร์ตรงไหนบ้าง และพบว่าสิ่งที่เขาพูดเกี่ยวกับสิงคโปร์นั้น แก่นแท้จริงๆ แล้วคือความใฝ่ฝันทางการเมืองที่เขามีต่อประเทศไทยต่างหาก ความใฝ่ฝันเหล่านี้มีอยู่แล้วในหมู่ชนชั้นนำไทย ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีสิงคโปร์ก็ตาม สิงคโปร์เป็นแค่ "เมืองนิมิต" สำหรับพูดถึงความใฝ่ฝันนั้นเท่านั้น

ผมขอสรุปความใฝ่ฝันทางการเมืองของชนชั้นนำไทย ผ่านการพูดถึงสิงคโปร์อย่างยกย่องดังนี้



ประการแรก คือการบริหารงานของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อกันว่าไม่มีคอร์รัปชั่น และด้วยเหตุดังนั้น จึงสามารถ "พัฒนา" ประเทศไปได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็ว ไม่ว่าจะดูด้านการศึกษา, การมีงานทำ, รายได้ และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น, ฯลฯ

ยิ่งกว่านั้น เชื่อกันว่าผู้นำสิงคโปร์มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าการบริหารงานไปวันๆ เช่น ในขณะที่ยังมีกฎหมายห้ามประชาชนฉี่ในลิฟต์อยู่นั้น ผู้นำก็มีวิสัยทัศน์ว่า สิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมในแถบนี้ มีการสร้างโรงละครและโรงแสดงคอนเสิร์ตชั้นดี จ้างคณะละครและวงดนตรีดังๆ จากต่างประเทศมาแสดง ด้วยความหวังว่าพืชพื้นเมืองจะงอกขึ้นจากการเตรียมดินที่ดีอย่างนี้ (แต่บัดนี้ก็กว่าสิบปีแล้ว ดูจะยังไม่มีอะไรงอกขึ้น)


แม้ผลสำเร็จมองไม่เห็น หรือยังมองไม่เห็น แต่ไม่เป็นไร รู้จักฝันไกลๆ แล้วลงมือทำเพื่อสร้างความฝันให้เป็นจริงก็ยังดี วิสัยทัศน์อื่นที่ออกดอกออกผลแล้วก็มี เช่น ใฝ่ฝันจะเห็นสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินในเอเชีย เทียบได้หรือเกินหน้าฮ่องกง บัดนี้สิงคโปร์ก็เป็นขึ้นมาจริงๆ แล้ว แม้ยังไม่เทียบเท่าฮ่องกง แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสิงคโปร์ยอมให้คนโกงทั้งโลกมาเปิดบัญชีในธนาคาร โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อและปิดเป็นความลับได้ (อย่างที่สวิตเซอร์แลนด์เคยทำ แต่ก็ถูกบีบให้เลิกไปแล้ว)

บางคนถึงกับเรียกการบริหารงานของรัฐบาลสิงคโปร์ว่าเป็น "ธรรมาภิบาล" ซึ่งเป็นการใช้คำอย่างบิดเบือนความหมาย เพราะ "ธรรมาภิบาล" ไม่ได้เล็งที่ผลเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งที่กระบวนการบริหาร ซึ่งจะต้องโปร่งใส และเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

แต่กระบวนการเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่สนใจ อย่างเดียวกับที่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่สนใจ อุดมคติของชนชั้นนำไทยคือการบริหารที่ปราศจากการเมือง นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พูดเสมอว่าท่านต้องการบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ใส่ใจกับการบริหารการเมือง นายกฯ ชวลิต ยงใจยุทธ พร่ำพูดแต่รัฐบาลแห่งชาติมานมนาน นั้นคือรัฐบาลที่สามารถบริหารบ้านเมืองได้โดยไม่มีการเมือง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่า เมืองไทยไม่เคยมีการเมืองมาก่อนจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายกฯ พระราชทาน, ปิดเทอม, เว้นวรรค, ฯลฯ ก็อีหรอบเดียวกัน

จุดยืนทางการเมืองอย่างนี้ เกือบไม่ต่างอะไรกับที่ชาวบ้านบอกว่าผู้บริหารสาธารณะโกงก็ได้ แต่ขอให้มีผลงานเป็นใช้ได้ ชาวบ้านใช้คำพูดตรงไปตรงมาว่า "โกง" เท่านั้น ที่จริงแล้ว "โกง" กับห้ามตรวจสอบก็เป็นเรื่องเดียวกันในทางปฏิบัติ ต่างกันเพียงว่า "โกง" มีความหมายทางลบเชิงศีลธรรมแบบไทย ในขณะที่ "ห้ามตรวจสอบ" ไม่ถูกศีลธรรมไทยปรามไว้

เราไม่มีทางรู้หรอกว่า วิสัยทัศน์ทั้งหลายของรัฐบาลสิงคโปร์นั้น ให้ประโยชน์แก่ใครอย่างไม่เป็นธรรมบ้าง สื่อและฝ่ายค้านที่เผยแพร่ความไม่ชอบมาพากลของผู้นำรัฐบาล ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นล้าน และแพ้คดีเสมอ (เช่น กรณีการจองคอนโดฯ หรูที่รัฐสร้างขึ้นในราคาถูกของผู้นำหลายคน) เพราะภายใต้บรรยากาศของ "รัฐบาลแห่งชาติ" แบบนั้น ย่อมปลอดจาก "การเมือง" อย่างแน่นอน

สิงคโปร์จึงน่าประทับใจแก่ชนชั้นนำไทยเป็นพิเศษ



ประการต่อมา อุดมคติของการบริหารรัฐกิจที่ชนชั้นนำไทยยกย่องไว้เหนืออื่นใด คือการบริหารแบบที่เรียกว่าบรรษัทนิยม (corporatism) กล่าวคือ เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ที่มีคนจำนวนหนึ่งรับหน้าที่วางแผนให้กลุ่มโดยรวมหรือบริษัทก้าวหน้า เอาชนะคู่แข่ง และครอบครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงสุด ส่วนคนอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ โดยไม่ต้องมาถามถึงสิทธิเสมอภาค หรือถามว่าใครเป็นคนกำหนดว่าแต่ละคนจะพึงทำหน้าที่อะไร อีกทั้งแต่ละหน้าที่ก็ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน ทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ, การเมือง (อำนาจ) และวัฒนธรรม (เกียรติยศ) ด้วย

ผู้ใหญ่ไทยจะเน้นย้ำให้ทุกคนทำหน้าที่ แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ถ้ามัวแต่สไตรก์เรียกร้องโน่นนี่ แล้วบริษัทจะก้าวหน้าได้อย่างไร บริษัทก้าวหน้า ทุกคนก็จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเอง

สิงคโปร์นั้นตรงตามอุดมคติของการบริหารแบบบรรษัทนิยมทีเดียว แต่ชนชั้นนำไทยกลับไม่ค่อยสนใจตัวเลขการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรายได้ของคนที่ต้องทำหน้าที่ระดับล่างๆ อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การบริหารแบบบรรษัทนิยมของสิงคโปร์ดำเนินมาได้อย่างราบรื่น

ในขณะที่ตัวเลขการกระจายรายได้ของไทยมีแต่จะเลวลงตลอดมา


ความนิยมชมชอบการบริหารแบบบรรษัทนิยมของชนชั้นนำไทยนั้นมาจากไหน?

ผมอยากเดาว่า คงมาทั้งสองทางคือแนวการพัฒนาแบบสภาพัฒน์ ซึ่งเอามาจากธนาคารโลกในช่วงทศวรรษ 1960 นั่นคือการพัฒนาจะทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นข้างบนค่อยๆ หยดลงมาข้างล่างโดยอัตโนมัติ การพัฒนาจึงอาจทำได้โดยปลอด "การเมือง"

อีกทางหนึ่งคงมาจากการสร้างชีวิตในหมู่บ้านชนบทที่เป็นอุดมคติขึ้น ซึ่งคงเริ่มสร้างกันมาแต่สมัย ร.5 หรือ ร.6 นั่นคือชีวิตที่ประสานสอดคล้องกันในชุมชน ที่แทบจะไม่มีความขัดแย้งใดๆ เลย ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนไปจนเกิดความมั่นคงในชุมชนขึ้น โดยไม่มี "การเมือง" เข้ามาแทรกในความสัมพันธ์ มีแต่ขนบประเพณีและภูมิปัญญาอันดีงาม

การขจัดการเมืองออกไปจากการบริหารรัฐกิจในเมืองไทยจึงแบ่งได้เป็นสองกระแส หนึ่งคือบรรษัทนิยมซึ่งจะมีผู้บริหารที่เข้มแข็ง เพราะการเมืองแทรกเข้ามาได้น้อย (เช่นในรัฐธรรมนูญ 2540) หรือแทรกเข้ามาไม่ได้เลย เช่น นายกฯ พระราชทาน หรือ "ปิดเทอม"

อีกกระแสหนึ่งคือชุมชนนิยม ทุกคนหันไปอยู่ (หรือสร้าง) ชุมชนของตนขึ้น ชุมชนกลายเป็นเกราะกำบังการรุกล้ำของทั้งทุนและรัฐได้อย่างสมบูรณ์ กระแสนี้ไม่ได้เอามาจากสิงคโปร์ แต่ก็ขจัด "การเมือง" ออกไปจากการบริหารรัฐกิจได้เลยเหมือนกัน

สรุปก็คือ สิงคโปร์เป็นคำตอบทางการเมืองให้แก่ชนชั้นนำไทย เพราะภาพของสิงคโปร์ตามความเข้าใจของเขาก็คือ รัฐที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยปล่อยให้มีการเมืองเพียงรูปแบบที่ไร้ความหมาย หรือไม่มีเลย เรามีการเมืองแบบไม่มีการเมืองอย่างเขาเมื่อไหร่ เราก็จะไปโลด !



++

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา-ในฝัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 21:30:59 น.


เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาท่านหนึ่ง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าผู้ตรวจการฯ จะหยิบเรื่อง GT 200 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขึ้นมาตรวจสอบ ผมออกจะแปลกใจว่ามีใครร้องเรียนเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการฯ หรือ (ม.16 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการฯ 2542) ถึงกระนั้นผมก็ออกจะดีใจ เพราะผู้ตรวจการฯ จะได้ศึกษาลงไปถึงกระบวนการจัดซื้อของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย ว่าหละหลวมอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร ยังนึกยกย่องท่านผู้ตรวจการฯ อยู่เลยว่า ท่านกินเหล็กกินไหลมาดี จึงกล้าเล่นกับของร้อนอย่างนี้

แต่ต่อมาท่านผู้ตรวจการฯ ก็ออกมาบอกว่าได้ยกเลิกที่จะตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว


ผมออกจะกระอักกระอ่วนกับสถาบัน "ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา" ไทยมานานแล้ว แต่ก็ไม่ขยันพอจะศึกษาจนกระทั่งครั้งนี้ จึงได้ลงมือศึกษาเรื่องของออมบุดส์เมนดู และคิดว่ามีอะไรที่สำคัญแต่ขาดหายไปในการตั้งออมบุดสเมนของรัฐสภาทั้งโลกเลย ทีเดียว

ก่อนอื่นผมจะขออธิบายความกระอักกระอ่วนของผมก่อน

ผมคิดว่ารัฐสภาทั้งหลาย โดยเฉพาะรัฐสภาไทยนั้นขาดสมรรถภาพที่จะมองเห็นภาพรวมของปัญหา ไม่พักต้องพูดถึงทางออก เพราะรัฐสภาเพียงแต่พิจารณากฎหมายเป็นเรื่องๆ ไป ถึงจะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างร่างกฎหมายที่พิจารณาอยู่กับกฎหมายอื่น ก็เห็นเฉพาะความสัมพันธ์ในทางนิติบัญญัติเท่านั้น (เช่นใน พ.ร.บ.โน้นใช้คำนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ก็ควรจะใช้คำเดียวกัน หรือร่างนี้ไปขัดกับ พ.ร.บ.นั้น อะไรทำนองนี้) แต่ไม่ค่อยได้สนใจว่า เมื่อเอาผลโดยรวมของการบังคับใช้กฎหมายฉบับต่างๆ แล้ว จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นในสังคม หรือแก่คนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มองไม่เห็นผลกระทบของกฎหมายในเชิงโครงสร้าง รวมทั้งมองไม่เห็นผลกระทบเชิงโครงสร้างของมาตรการบริหารด้วย

ที่มองไม่เห็นนี้ ไม่ใช่เพราะ ส.ส.และ ส.ว.ไร้สติปัญญา แต่เพราะหน้าที่การงานของท่านเหล่านั้น ดึงให้สนใจประเด็นที่แยกส่วนเป็นเรื่องๆ ไป เช่นการร้องทุกข์ของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเอง หรือยุทธวิธีการต่อสู้ของพรรค หรือเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจจากสื่อและสังคม


ด้วยเหตุดังนั้น ในประเทศที่ต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนในแทบทุกด้านอย่างประเทศไทย ปัจจุบัน รัฐสภาจึงไม่มีบทบาทอะไรในการผลักดันการปฏิรูป เพราะหน้าที่การงานทำให้ไม่อาจมีวิสัยทัศน์จะมองเห็นได้ กลายเป็นหัวเรื่องที่คนอื่นใช้สนทนาแลกเปลี่ยนกันในห้องสัมมนาบ้าง ในท้องถนนบ้าง เท่านั้น

ผมอยากเห็นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทำหน้าที่ตรงนี้ คือป้อนวิสัยทัศน์ให้แก่รัฐสภา โดยศึกษาจากกรณีจริงที่เกิดขึ้น ทั้งจากที่มีผู้ร้องเรียนและไม่มีผู้ร้องเรียน แน่นอนว่าผู้ตรวจการฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงไม่ควรมีอำนาจในทางนิติบัญญัติอย่างใดเลย แต่ผู้ตรวจการสามารถให้ความลึกของปัญหาในภาพกว้าง เพื่อทำให้การออกกฎหมายก็ตาม การตรวจสอบการบริหารก็ตาม ไม่ใช่การปะผุเป็นเรื่องๆ ไป แต่เป็นการเข้าไปจัดการปัญหาระดับพื้นฐานได้มากกว่า

ครั้นผมไปอ่านตัว พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแล้ว ก็พบว่าหน่วยงานนี้เป็นคนละเรื่องกับที่ผมคิดอยากให้เป็นเลยทีเดียว แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นการย้ายสำนักงานคณะกรรมการร้องทุกข์จากสำนักนายกฯ มาไว้ที่รัฐสภาเท่านั้น เพราะจุดมุ่งหมายก็คือรับเรื่องร้องทุกข์ที่เกิดจากการบริหารของรัฐ แล้วรายงานให้รัฐสภาทราบประจำปี ตามอำนาจของรัฐสภาในการตรวจสอบการบริหารของรัฐ แม้ว่าความทุกข์ที่ร้องเรียนขึ้นมาอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเจ้า หน้าที่ แต่เกิดจากกรอบโครงทางกฎหมายและการบริหารที่ผิดพลาด ผู้ตรวจการฯ ก็ได้แต่ระงับเรื่องสอบสวน และชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทำถูกตามหน้าที่แล้ว เป็นอันจบอยู่แค่นั้น

อันที่จริงแล้ว เรื่องร้องทุกข์ทำนองนี้ ประชาชนน่าจะร้องทุกข์กับ ส.ส.ของตนเองได้ อย่างที่ ส.ส.อังกฤษมีหน้าที่วิ่งเต้นทั้งในและนอกสภาให้แก้ไขปัญหาของประชาชนในเขต ของตน และในความเป็นจริงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาอังกฤษ (Parliamentary Commissioner for Administration) ก็ได้รับเรื่องร้องทุกข์ไม่สู้จะมากนัก


ผมควรกล่าวด้วยว่า ออมบุดสเมนของอังกฤษนั้นถูกวิจารณ์มาก ว่าผู้ที่ได้รับเลือกล้วนมาจากระบบราชการ โดยเฉพาะออมบุดสเมนของราชการท้องถิ่น ดังนั้น จึงมักจะซูเอี๋ยกับฝ่ายบริหาร หรือมิฉะนั้นก็มองไม่เห็นปัญหาอะไรได้กว้างไปกว่าการทุจริตคิดมิชอบของข้าราชการเป็นรายๆ ไป มองไม่เห็นข้อบกพร่องของระบบ แม้ยังไม่มีคำวิจารณ์ในเรื่องนี้ในประเทศไทย แต่ที่มาของออมบุดสเมนไทยก็ไม่ต่างจากอังกฤษ เพราะ ม.10 ของ พ.ร.บ.กำหนดว่า ผู้ได้รับเลือกต้อง "...มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ..."

ผู้ตรวจการฯ ของไทยทุกคนตั้งแต่มีมาจนถึงปัจจุบัน จึงล้วนเป็นข้าราชการบำนาญทั้งสิ้น


ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่งจาก พ.ร.บ.ไทยว่า ผู้ตรวจการฯ นั้นตั้งขึ้นเพื่อปัดเป่าทุกข์ของประชาชนในฐานะปัจเจกเท่านั้น ม.20 กำหนดว่าผู้ร้องเรียนต้องระบุชื่อและที่อยู่ของตน รวมทั้งเหตุและพยานหลักฐานอย่างพร้อมมูล และหากทุกข์นั้นได้รับการบำบัดแล้ว ก็เป็นอันจบเรื่อง ทุกข์จึงเป็นทุกข์ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดแก่คนจำนวนมาก

ออมบุดสเมนของอีกหลายประเทศทั่วโลก จะรับการร้องเรียนหรือเข้าไปตรวจสอบปัญหาที่เรียกว่า generic problems คือไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าเป็นคดีในศาลก็คือคดีที่อเมริกันเรียกว่า class action คือเกิดขึ้นแก่คนหมู่มาก ปัญหาที่เกิดแก่คนหมู่มากย่อมหมายถึงอะไรที่บกพร่องมากกว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และต้องการการแก้ไขระดับรัฐสภา คืออาจแก้กฎหมายหรือผลักดันให้รัฐแก้ระเบียบบางอย่างที่ทำความเดือดร้อนแก่คนทั่วไป

ออมบุดสเมนนั้นเกิดขึ้นในสวีเดนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนก็จริง แต่เมื่อสถาบันนี้ขยายไปใช้กันในหลายประเทศทั้งโลก ก็มีพัฒนาการต่อมามากทีเดียว โดยเฉพาะออมบุดสเมนขององค์กร (คือไม่ใช่ของรัฐ และไม่ใช่ของรัฐสภา) ทั้งองค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน


หากต้องการจะเน้นบทบาทด้านปัดเป่าทุกข์อันเกิดจากการบริหารงานของรัฐ ก็น่าจะทำเหมือนในอีกหลายประเทศทั่วโลก คือมีออมบุดสเมนหรือผู้ตรวจการประจำกรมกองที่ทำงานกระทบถึงประชาชนมาก โดยเฉพาะกรมกองที่ต้องใช้อำนาจวินิจฉัยมาก เช่น ตำรวจ, สรรพากร, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, สสส. และ สกว. และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ในขณะที่ออมบุดสเมนขององค์กรภาครัฐเหล่านี้ มีหน้าที่ต้องส่งรายงานให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้วย

เพื่อจะทำให้ผู้ตรวจการฯ รัฐสภามีข้อมูลมากขึ้น และ(อาจ)มองเห็นอะไรที่กว้างกว่าทุกข์ของปัจเจก



แต่พัฒนาการที่น่าสนใจกว่าคือ ออมบุดสเมนภาคเอกชน เพราะเป็นเรื่องสิทธิของผู้บริโภค หลายครั้งด้วยกันความเดือดร้อนของเขามองไม่เห็นหน้าตาของผู้เดือดร้อน เพราะเขาอาจเปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการของคนอื่นแทนที่จะร้องทุกข์ ฉะนั้นการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาของออมบุดสเมนภาคเอกชน จึงมีประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองด้วย เพราะมีโอกาสแก้ไขความบกพร่องก่อนที่จะเจ๊ง (และทำอย่างนี้แหละครับที่อาจเรียกได้ว่าคือ CSR ของจริง ไม่ใช่งานแจกผ้าห่มเพื่อประชาสัมพันธ์) ดังนั้น ปัญหาที่ออมบุดสเมนภาคเอกชนเข้าไปศึกษาจึงมักมีลักษณะเป็นปัญหาทั่วไป (generic problems) ที่เกิดแก่ผู้บริโภคของตน มากกว่าการรับเรื่องร้องทุกข์เป็นรายๆ ไป

หนังสือพิมพ์ดังๆ หลายฉบับในโลกนี้ตั้งออมบุดสเมนของตนเอง เพื่อทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ "สินค้า" ของตัว ชี้ให้เห็นว่าอ่อนตรงไหน แข็งตรงไหน และควรจะแก้ไขอย่างไร จึงจะทำให้หนังสือพิมพ์ของตัวมีคุณภาพสูงขึ้น

นี่แหละครับที่ผมอยากเห็น คือออมบุดสเมนของรัฐสภา ทำหน้าที่ซึ่งจะทำให้สภามีคุณภาพสูงขึ้น คือมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ชัด ไม่ใช่ชัดแต่ตัวปัญหา แต่เห็นความเชื่อมโยงของมิติต่างๆ ทั้งในทางสังคม, การเมือง, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และประเพณีการบริหารสาธารณกิจต่างๆ ตลอดจนศึกษาหาทางแก้ที่เป็นไปได้ด้วย

คืออยากเห็นออมบุดสเมนไทยก้าวไปไกลกว่าออมบุดสเมนของประเทศอื่นทั้งโลก


.