.
การเลือกตั้ง คือการปฏิรูปการเมือง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
การเลือกตั้งในประเทศไทยที่กำลังจะมาถึงนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย แต่การเลือกตั้งจะไม่นำมาซึ่งความสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ฉะนั้นจึงไม่เป็นหลักประกันว่าจะนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย และไม่มีการเลือกตั้งที่ไหนในโลกที่จะนำมาซึ่งความสุจริตของผู้บริหาร หรือนำมาซึ่งการปฏิรูปการเมือง (เพราะการปฏิรูปเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่เรื่องที่นักปราชญ์จะมานั่งประชุมกันแล้วกำหนดให้คนอื่นปฏิรูปการเมือง)
แต่การเลือกตั้งมีความสำคัญต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้อย่างยิ่ง
เพราะการเลือกตั้งจะนำมาซึ่ง "สิทธิธรรม" และ "อาญาสิทธิ์" ขอประทานโทษที่ต้องขยายความเป็นภาษาอังกฤษว่า legitimacy และ authority อันเป็นสองอย่างที่ถูกทำให้คลอนคลายไปในเมืองไทย นับตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 และมลายหายสูญไปโดยสิ้นเชิงโดยรัฐประหารครั้งนั้น
สิทธิธรรม ไม่ใช่ความถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นความเห็นชอบของผู้คนว่าอำนาจที่มีและใช้อยู่นั้น เป็นอำนาจที่ต้องยอมรับ แม้จะเห็นว่าได้ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ผิด แต่ก็ยังยอมรับอำนาจนั้น
คนที่เห็นว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ย่อมหาหนทางที่ชอบธรรมต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปในทางที่ผิด หากคนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ คือมีคนเชื่อถือหรือเห็นด้วยมากๆ สิทธิธรรมของผู้ปกครองซึ่งแม้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เริ่มสั่นคลอน เพราะผู้คนไม่ได้เห็นว่าใช้อำนาจไปในทางที่ผิดอย่างเดียว แต่เริ่มเห็นว่าอำนาจที่มีอยู่ก็ไม่น่ายอมรับด้วย
ผู้ที่ต่อต้านทักษิณ ในปลายสมัยพรรค ทรท. ประสบความสำเร็จ ไม่แต่เพียงทำให้คนจำนวนมากเห็นด้วยว่า ทักษิณใช้อำนาจไปในทางที่ผิด แต่ยังทำให้เห็นว่า แม้แต่สิทธิธรรมของทักษิณในฐานะนายกฯ ก็ไม่น่ายอมรับด้วย จึงพากันสนับสนุนการตีความ ม.7 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ไปในทางที่จะขจัดทักษิณออกไป
อำนาจที่วางอยู่บนรากฐานของสิทธิธรรม ทำให้เกิดอาญาสิทธิ์ คืออำนาจซึ่งใครๆ ก็ยอมรับ อาจจะออกมาในรูปของกฎหมาย, ประเพณี, ความเคารพนับถือต่อบุคคลหรือสถาบัน, อำนาจดิบ หากผู้คนยอมรับว่าอำนาจดิบเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาทางการเมือง ฯลฯ อาญาสิทธิ์หรืออำนาจอันเป็นที่ยอมรับนั้นเป็นอำนาจใหญ่มาก ไม่ค่อยมีใครกล้าสู้ เพราะเท่ากับสู้กับสังคมทั้งหมด ไม่ใช่สู้กับเจ้าหน้าที่เป็นคนๆ ไป
ทั้งสิทธิธรรมและอาญาสิทธิ์ล้วนดิ้นได้ทั้งคู่ แต่ไม่ได้ดิ้นด้วยความกะล่อนอย่างเดียวกับที่เราคุ้นเคยกับนักการเมืองนะครับ แต่ดิ้นได้ตามความเปลี่ยนแปลงในสังคม สมัยหนึ่ง ตำแหน่งหรือสถาบันใดเคยเห็นว่ามีสิทธิธรรม แต่อีกสมัยหนึ่ง ก็ไม่เห็นว่ามีเสียแล้ว
เมื่อสิทธิธรรมดิ้นได้ อาญาสิทธิ์ก็ดิ้นได้ หลังการรัฐประหาร 2549 มีคนจำนวนมากอย่างเหลือล้นในสังคมไทย ไม่ได้ยอมรับว่ากองทัพมีสิทธิธรรมใดๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง แม้ว่ากองทัพยังมีอำนาจดิบเท่าเดิม ถ้าผู้นำกองทัพไม่เข้าใจ กลับไปคิดว่าตัวมีอาญาสิทธิ์ที่จะมาก้าวก่ายทางการเมืองมากเท่าไร ก็ยิ่งทำลายกองทัพเองมากขึ้นเท่านั้น ทำลาย ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าใครเขาจะไปยึดเอารถถังกลับคืนมา แต่หมายความว่า แม้แต่การใช้อำนาจอันมีกฎหมายรองรับของกองทัพในเรื่องอื่นๆ เช่น ไปรบกับปัจจามิตร ก็ยังมีคนสงสัยว่ากำลังหาประโยชน์ใส่ตนหรือเปล่า
ถ้าอาญาสิทธิ์ของอะไรก็ตาม ดิ้นหายไปหมด ในที่สุดก็เหลือแต่อำนาจดิบ ไม่มีสังคมใดๆ แม้แต่สังคมของมนุษย์ถ้ำ ที่อาจบริหารจัดการได้ด้วยอำนาจดิบล้วนๆ
ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดให้เห็นในเมืองไทยตั้งแต่ช่วง 2549 จนถึงทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่าสิทธิธรรมและอาญาสิทธิ์ในสังคมไทยของทุกกลไกได้มลายหรือหมดพลังลงแล้ว ยากจะสถาปนาสิทธิธรรมให้กลับคืนมาง่ายๆ โดยหันกลับไปใช้อาญาสิทธิ์อย่างเข้มงวดกวดขัน เช่นบังคับใช้กฎหมาย, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ปิดเว็บไซต์, ปิดสื่อ, ใช้ ม.112 ฯลฯ ก็ไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด เพราะอาญาสิทธิ์ต้องตั้งอยู่บนสิทธิธรรม เมื่อคนจำนวนมากไม่เห็นว่าผู้ใช้อำนาจมีสิทธิธรรม สิ่งที่เคยเชื่อว่าเป็นอาญาสิทธิ์ก็ไม่เป็นอาญาสิทธิ์อีกต่อไป เป็นได้แค่อำนาจเถื่อนที่มีตัวอักษรรองรับไว้ในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
หนทางเดียวที่จะนำภาวะปรกติ (ปรกติเฉยๆ นะครับ ไม่ใช่ปรกติสุข) กลับคืนมาสู่สังคมไทยได้ คือ สร้างสิทธิธรรมปฐมภูมิขึ้นก่อน และแม้ไม่มีความหวังใดๆ ให้แก่การเลือกตั้งมากนัก แต่ก็มีฉันทามติค่อนข้างชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องจัดให้มีเลือกตั้งใหญ่ การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งรัฐบาลซึ่งอาจไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่เป็นรัฐบาลที่มีสิทธิธรรมอย่างชัดเจน เพราะได้รับการสนับสนุนด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้ง
อย่างน้อยสถาบันแรกที่มีสิทธิธรรมอันยากจะปฏิเสธคือ รัฐบาล ได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าหากต้องการจะหลุดพ้นจากสภาวะ "อปรกติ" ที่เผชิญอยู่ ก็เป็นภาระของสังคมไทยที่จะต่อต้านหรือสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ด้วยสิทธิเสรีภาพอันมีกฎหมายรองรับต่างๆ สิทธิเสรีภาพเหล่านี้
เป็นอาญาสิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย และต้องทวงกลับคืนมา อย่ายอมให้ถูกทำหมันไปอีก เพราะปราศจากสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ สิทธิธรรมของรัฐบาลเองก็จะคลอนคลายลงด้วย
จากจุดเริ่มต้นแห่งสิทธิธรรมเช่นนี้ สังคมมีช่องทางที่จะร่วมกันสถาปนาอาญาสิทธิ์ขึ้นในสังคมไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ต้องเตือนว่าสิทธิธรรม และอาญาสิทธิ์ที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ อาจไม่เหมือนเดิมไปหมดทุกอย่างก็ได้ คงต้องมีการต่อสู้กันโดยครรลองของระบอบประชาธิปไตย อาจจะอย่างเข้มข้นในบางกรณี ระหว่างกลุ่มคน, สถาบัน, องค์กร ที่เคยได้เปรียบในระบอบสิทธิธรรม และอาญาสิทธิ์แบบเดิม กับกลุ่มคนที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบอบสิทธิธรรม และอาญาสิทธิ์เสียใหม่ แต่ไม่เป็นไร ในที่สุดก็ต้องลงตัวที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วเราก็จะกลับไปสู่ความปรกติได้ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีความขัดแย้งกัน เพียงแต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการยอมรับสิทธิธรรมและอาญาสิทธิ์ร่วมกันเท่านั้น
หลังจากเก้าสิบกว่าชีวิต และการบาดเจ็บอีกกว่าสองพัน (หลายรายในนั้นถูกหมายให้ตายแล้ว แต่เพราะยิงไม่แม่น หรือดวงดี หรืออะไรก็แล้วแต่) เราก็ได้มาถึงจุดที่เป็นทางออกของสังคมร่วมกัน นั่นคือการเลือกตั้งใหญ่ ในความมืดมนหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกในช่วงนี้ ใครก็ตามที่พยายามขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะคิดสั้น, เพราะหวงอำนาจ, เพราะกลัวพวกกูแพ้, เพราะเกลียดมึง, หรือเพราะเหตุใดก็ตาม กำลังทำลายประเทศให้ย่อยยับหนักลงไปอีก
แม้กระนั้น ผมก็ไม่ปฏิเสธว่าพลังที่จะขัดขวางการเลือกตั้ง หรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งยังมีอยู่ และเครื่องมือสำคัญคือกองทัพ ซึ่งอาจลุกขึ้นยึดอำนาจก่อนการเลือกตั้งด้วยหน้ามืดหรือหลังการเลือกตั้งด้วยมืดหน้าก็ได้ บังเอิญได้เห็น บ.ก.ลายจุด ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารที่หน้าธนาคาร เชิญชวนให้ประชาชนแต่งชุดดำถอนเงินจากธนาคาร หากเกิดรัฐประหารขึ้น
ด้วยความเคารพต่อท่าน บ.ก.ลายจุด ผมเกรงว่าทำแค่นี้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพราะผู้ถือบัญชีธนาคารรายย่อยๆ อย่างพวกเรา ถึงมีมากแต่ถอนมาแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน (แม้มีมูลค่าไม่ถึง 50,000 บาทต่อบัญชีก็ตาม) ผมจึงอยากเรียน เสนอมาตรการเพิ่มเติมในการต่อต้านรัฐประหาร แต่เป็นข้อเสนอที่ปลอดจากการถูกจับหรือติดคุก (ตามรสนิยมส่วนตัวของผม) ด้วยนะครับ
จุดมุ่งหมายคือ ทำให้ความไร้ระเบียบปรากฏอย่างชัดเจนจนกระทั่ง สิ่งที่คณะรัฐประหารพยายามสถาปนาให้เป็นอาญาสิทธิ์กลายเป็นอำนาจดิบอย่างชัดเจน ฉะนั้นควรทำเพิ่มเติมดังนี้
1.รัฐประหารวันไหน ก็ขอลาป่วยทันที ลูกก็ลาป่วยด้วย ไม่ต้องไปโรงเรียน คณะรัฐประหารอาจสั่งหยุดงานในวันรุ่งขึ้นเพราะกลัวสับสน ก็ยิ่งดี เพื่อจะได้สามารถทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารได้โดยไม่เสียวันลา
2.คนมีรถยนต์เอารถออกมาในถนน พาลูกเมียไปขับรถเล่น เตรียมข้าวกล่องและน้ำไปด้วย ขับชมกรุงหรือชมเมืองไปเรื่อยๆ เพื่อให้รถติดชนิดจลาจลไปเลย คนไม่มีรถก็ควรขึ้นรถเมล์ บอกกระเป๋าที่มาเก็บเงินว่าไม่มีตังค์จ่าย ขอลงป้ายหน้า แล้วก็ขึ้นคันใหม่ไปเรื่อยๆ
หากเบื่อการขับรถหรือขึ้น-ลงรถเมล์ ก็ไปเที่ยวตามแหล่งที่นักท่องเที่ยวชอบไป นับตั้งแต่วัดแจ้ง, พระพรหมเอราวัณ, พารากอน, อะไรก็ได้ ให้มันแน่นขนัดจนแทบเดินไม่ได้
รถก็ยิ่งติดมากขึ้น และสับสนวุ่นวายจนกระทั่ง ธุรกิจของคนที่เฉยๆ กับการรัฐประหารหรือสนับสนุนการรัฐประหารดำเนินไปแทบไม่ได้
3.โทรศัพท์ร้องเรียนกองอำนวยการของคณะรัฐประหารทุกเรื่อง นับตั้งแต่แขกที่มาขอพักที่บ้านไม่ยอมกลับสักที ไปจนถึงเพื่อนบ้านตดเหม็น หรือถามคำถามโง่ๆ เช่น แล้วจะยังมีการเลือกตั้งอีกไหมเนี่ย, ทหารจะเปลี่ยนเครื่องแบบให้สวยกว่าเก่าไหม ฯลฯ ได้ทั้งนั้น
4.อันนี้เสี่ยงหน่อยนะครับ แอบติดป้ายประณามการรัฐประหารมากที่สุดเท่าที่ตัวเองจะปลอดภัย ส่งข้อความผ่านลูกโป่งสวรรค์ก็ได้ ส่งเอสเอ็มเอสก็ได้ แต่ต้องทำให้จับผู้ส่งไม่ได้ด้วย กระดานข่าวออนไลน์นั่นก็เหมาะ วางใบปลิวในห้องน้ำ ส่งจดหมายลูกโซ่ ถ้าใจกล้ากว่านี้ ก็เอาป้ายไปแอบแปะไว้ที่ก้นนายทหารที่ถูกรุมล้อมสัมภาษณ์
5.บอยคอตสินค้าเจ้าที่เชียร์รัฐประหาร โดยเฉพาะสินค้าที่ขายได้เพราะความเคยชิน ไม่ใช่เพราะมีคุณภาพดีกว่าคู่แข่ง เช่น บะหมี่สำเร็จรูป หนังสือพิมพ์, โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ อย่าซื้อ, อย่าดู, ใครให้โฆษณาแก่สื่อเหล่านี้ก็ขู่ว่าจะบอยคอตตามไปด้วย
ผมอยากเรียนเสนอ บ.ก.ลายจุดว่า คิดต่อไปเถอะครับ มีอะไรดีๆ ที่ประชาชนธรรมดาก็มีอำนาจดิบที่สามารถต่อต้านการใช้อำนาจดิบของกองทัพได้เยอะแยะกว่านี้อีก เพื่อแสดงให้เขาเห็นตั้งแต่วันแรกว่า มึงได้ทำให้บ้านเมืองเละเทะอย่างไร เพราะความบ้าอำนาจของมึง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย