.
19 ก.ย.2549 เส้นแบ่ง ยุคสมัย การเมืองไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:05:00 น.
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้กลายเป็น "จุดตัด" และ "เส้นแบ่ง" ในทางประวัติศาสตร์ที่ทรงความหมาย
ความโกรธเกรี้ยวต่อ "คณะนิติราษฎร์" คือรูปธรรมซึ่งร้อนแรงยิ่ง
แถลงการณ์แสดงสภาวะ "เน่าเสีย" อันดำรงอยู่ภายในกระบวนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหมือนการเทน้ำเกลือราดลงไปบนแผล
แผลอันเกิดจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
อาการดิ้น ร้องเร่า ด้วยความปวดเจ็บ ไม่ว่าจะมาจากนายทหารแห่ง คมช. ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองเก่าแก่บางพรรค ไม่ว่าจะมาจากปัญญาชน นักวิชาการ
สะท้อนว่าน้ำเกลือที่มาจาก "คณะนิติราษฎร์" ทรงพลานุภาพ
ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ในสายตาของปัญญาชน นักวิชาการ ที่เคยเห็นชอบด้วยกับการรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน มีบทสรุปตรงกันว่าเป็นรัฐประหารที่เสียของ หน่อมแน้ม
แต่ก็ยอมไม่ได้เมื่อได้ยินเสียงวิจารณ์จาก "คณะนิติราษฎร์"
ผลจากกระบวนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจเป็นความเลวร้าย ฉุดรั้งพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย กระนั้น ในความเลวร้ายก็เป็นครูด้านกลับในลักษณะแห่งบทเรียน
นั่นเห็นได้จาก ลักษณะอันเป็นจุดตัดและเส้นแบ่งในทางประวัติศาสตร์
ลักษณะประวัติศาสตร์หนึ่ง อยู่ที่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นเส้นแบ่งอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองเป็นเส้นแบ่งในทางความคิด
นั่นก็คือ แบ่งระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วย กับ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อันเป็นผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อการประเมินคนคนหนึ่งในกาลต่อมา
เหมือนประเมินบทบาทของแต่ละคนในสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516
เหมือนประเมินบทบาทของแต่ละคนในสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519
เหมือนประเมินบทบาทของแต่ละคนในสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535
ความน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ การเลือกข้างแบ่งฝ่ายจากสถานการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นำไปสู่การเลือกข้างแบ่งฝ่ายจากสถานการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
ความสัมพันธ์ของสถานการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ สถานการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 นี้เองที่กำลังกลายเป็นตลกร้ายในทางการเมือง
นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
นำไปสู่การประเมินและสรุปถึงความรุ่งโรจน์และเลวร้ายอันเนื่องจากวาระครบรอบ 5 ปีแห่งสถานการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ปฏิกิริยาต่อแถลงการณ์ "คณะนิติราษฎร์" ไม่ว่าจะมาจากผู้ที่เคยทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะมาจากผู้ที่ร่วมมือและได้รับผลพวงจากกระบวนการรัฐประหาร
ด้านหนึ่ง ปฏิเสธบทบาทและความหมายของ "คณะนิติราษฎร์"
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับต่อบทบาทและความหมายของ "คณะนิติราษฎร์" ที่ดำรงอยู่ในทางความคิด ในทางการเมือง และในทางการจัดตั้ง
เท่ากับการปฏิเสธด้วยว่าการดำรงอยู่ของ "รัฐประหาร" มีผลสะเทือนลึกซึ้ง
ทั้งๆ ที่บทบาทและความหมายของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องเลวร้าย ล้มเหลว แม้กระทั่งในสายตาของผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการปูทาง สร้างเงื่อนไข และเคยชโยโห่ร้องต้อนรับ ขานรับ และเข้าร่วม ก็เห็นด้วย
เห็นด้วยว่าการเลือก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการเลือกที่ผิด
เห็นด้วยว่าการผลักดัน ลงทุนลงแรง สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจัดตั้งในค่ายทหาร เป็นการเลือกที่ผิด
เพราะหากเป็นการเลือกที่ถูก การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 คงไม่แพ้
เพราะหากเป็นการเลือกที่ถูกต้อง เหมาะสม การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 คงไม่แพ้อย่างหมดรูป
ทั้งหมดนี้คือเสียงยืนยันว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ "รัฐประหาร"
ความเห็นต่างในเรื่องรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะยังคงมีอยู่และเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
การศึกษา การทำความเข้าใจต่อเรื่องราวอันเกิดขึ้นก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างสูง
เพราะหากไม่ทำความเข้าใจก็อาจจะทำความผิดซ้ำขึ้นมาอีกเหมือนที่เกิดเมื่อ 5 ปีก่อน
. . . . . . . . . . . . . . .
บทความอันเป็นที่มา
ข้อเสนอทางวิชาการ - 5 ปี-รัฐประหาร 1 ปี-นิติราษฎร์
20 September 2011
รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์ จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้...............................
www.enlightened-jurists.com/blog/44
นิติราษฎร์กับการล้างพิษปฏิวัติ "พวกเราไม่ได้ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแน่นอน"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316753604&grpid=01&catid=&subcatid=
คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนทุกแขนง และบรรดาผู้วิพากษ์ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ทั้งหลายมาซักถาม และแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นทางการ
ในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2554 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้อง LT 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.
www.enlightened-jurists.com/blog/45
++
แถลงการณ์คณะ "นิติราษฎร์" ข้อเสนอแหลมคมทาง "วิชาการ" หรือแค่อาจารย์ "รับงาน" ทักษิณ?
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 13
วันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และครบรอบ 1 ปี ของการรวมตัวในนามคณะ "นิติราษฎร์" โดยนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
นักวิชาการกลุ่มนี้ ซึ่งได้แก่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" "จันทจิรา เอี่ยมมยุรา" "ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล" "ธีระ สุธีวรางกูร" "สาวตรี สุขศรี" "ปิยบุตร แสงกนกกุล" และ "ปูนเทพ ศิรินุพงศ์" ได้แถลงข้อเสนอทางวิชาการจำนวน 4 ประเด็น ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองในระดับสูงมิใช่น้อย
2 ใน 4 ประเด็น คือ ข้อเสนอว่าด้วย "การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112" และข้อเสนอว่าด้วย "กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549"
อย่างไรก็ตาม อีก 2 ประเด็นที่ดูเหมือนจะได้รับปฏิกิริยาตอบสนองอย่างกึกก้อง กลับเป็นข้อเสนอว่าด้วย "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" อันประกอบไปด้วย
1.ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
2.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
3.ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของ คปค. และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คปค. เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
4.ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดย คตส. เป็นอันยุติลง
5.การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ 3 และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ 4 ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้
6.เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
และข้อเสนอว่าด้วย "การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" อันประกอบไปด้วย
1.คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม "หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่"
2.คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการ
ปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง
3.เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ "คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย" แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้
4.คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล
5.หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ
หลังแถลงข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็นออกไป คณะนิติราษฎร์ก็ถูกโจมตีจากหลายฝ่าย รวมทั้งนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" เห็นว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็น 1 ในกระบวนการช่วยเหลือคนเพียงคนเดียว หากปล่อยให้ดำเนินการไป จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง
"ถาวร เสนเนียม" เชื่อว่า พื้นฐานของอาจารย์บางคนในกลุ่มนี้เอื้อ "ระบอบทักษิณ" มาโดยตลอด และการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีรัฐบาลหรือคนของรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง เพื่อช่วยเหลือ "นายใหญ่"
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ออกมาตอบโต้การแสดงท่าทีสนับสนุนให้ล้มผลพวงของรัฐประหารโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ อย่าง "คมคาย?" ว่า บ้านเมืองต้องการ "นิติรัฐ" ไม่ใช่ "นิติราษฎร์"
อย่างไรก็ดี นักวิชาการหลายคนกลับแสดงมุมมองแตกต่างออกไปจากคนของพรรคการเมืองเก่าแก่ ผ่านทางเฟซบุ๊ก อาทิ
"ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" แสดงความเห็นว่า "ขอแสดงความชื่นชม "แถลงการณ์คณะนิติราษฏร์""
"เกษียร เตชะพีระ" แสดงความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ชิ้นนี้ว่า "A great legal initiative worthy of the widest possible support." (ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางกฎหมายอันยิ่งใหญ่ ซึ่งควรค่าแก่การได้รับเสียงสนับสนุนในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ - แปลโดย มติชนสุดสัปดาห์)
ปิดท้ายด้วย "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ที่เห็นว่า "สิ่งที่ข้อเสนอ "โรลล์แบ็ค รัฐประหาร" ของ "นิติราษฎร์" ครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นคือ มี PERFECTLY LEGAL argument (เหตุผลสนับสนุนทางกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้) สำหรับการ "ยกเลิก" หรือ "ย้อนเวลา" การรัฐประหารได้...
"ผมจึงว่า เป็นข้อเสนอที่ "brilliant, exciting, thought-provoking and imaginative" (หลักแหลม, น่าตื่นตาตื่นใจ, กระตุ้นความคิด และสร้างสรรค์ - แปลโดย มติชนสุดสัปดาห์) มากๆ"
+++
3คนยลตามช่อง ลบล้างผลพวง 19กันยา 2549จากข้อเสนอ"คณะนิติราษฎร์"
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ที่โยนขึ้นมาจาก "7 อาจารย์" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ถูกโต้แย้งอย่างรุนแรงจาก "ชนชั้นนำ-ขั้วอำนาจเก่า"
ด้วยเพราะหลักใหญ่ใจความของแถลงการณ์ดังกล่าวอยู่ที่การเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" โดยถือว่าเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
จึงถูกมองเป็นข้อเสนอที่ "สุดโต่ง-สุดขั้ว"
พร้อมถูกจินตนาการไปว่า "ปัญญาชน" กลุ่มนี้ ไปรับงาน-รับลูก-รับใบสั่งจาก "พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก มาหรือไม่อย่างไร ?
"มติชน" จึงรวบรวม "ข้อหักล้าง-ข้อสนับสนุน" จากนักกฎหมาย 3 ฝ่าย ประกอบด้วย "วิรัตน์ กัลยาศิริ" ส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) "พิชิต ชื่นบาน" อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ และ "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถือเป็นเสียงสะท้อนความเห็นต่อการล้างคราบปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ออกจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากคนต่างขั้ว-ต่างสำนัก-ต่างมุมมอง
1.ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆ ที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน-30 กันยายน 2549 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
-ฝ่ายค้าน : ในการดำเนินการต้องเข้าใจว่ารัฐประหาร 2549 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 309 ดังนั้น สภาพกฎหมายจะมาย้อนให้มีผลมิชอบนั้น ทำไม่ได้ในนิติประเพณี ไม่เช่นนั้นปัญหาในบ้านเมืองจะไม่จบไม่สิ้น
- รัฐบาล : เป็นข้อเสนอที่ดีที่ทำให้บ้านเมืองเป็นไปตามหลักนิติธรรม และตามอารยะสากล ไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพราะตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ศาลยุติธรรมดูเหมือนจะยอมรับประกาศ คปค.ตลอดมา คดีที่เกี่ยวข้องกับคณะปฏิวัติเมื่อมีการนำขึ้นสู่ศาล ศาลก็ยอมรับ เช่น การแต่งตั้ง คตส. ซึ่งมีการต่อสู้กันว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คตส.เป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่ถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย แต่ศาลวินิจฉัยว่าประกาศชอบ จึงกลับไปว่าเมื่อไหร่ที่ศาลยุติธรรมจะกลับคำวินิจฉัยเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมต้องไปทบทวน
- นักวิชาการ : เห็นด้วยในหลักการ เพราะจะเป็นการลบล้างผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่อาจมีปัญหาว่าการรองรับกฎหมายที่เกิดจากการรัฐประหารโดยศาลจะมีปัญหาหรือไม่ และศาลจะปรับตัวได้หรือไม่ ส่วนช่องทางที่ที่จะทำได้นั้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยให้มีบทบัญญัติที่ระบุว่ามีกรณีใดบ้างที่สามารถลบล้างได้
2.ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 36 และมาตรา 37 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
- ฝ่ายค้าน : รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้ยกเลิกโดยอัตโนมัติไปแล้ว เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมาบังคับใช้ ถามว่าจะยกเลิกผลตรงส่วนไหน
- รัฐบาล : อย่างที่ผมบอกไปว่าเรื่องทั้งหมดอยู่ที่ศาลยุติธรรม ถ้าต้นน้ำไม่ชอบ ปลายน้ำก็ไม่ชอบ กระบวนการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการยกเว้นโทษ หรือการกระทำใดๆ ถ้าไปยอมรับ หรือนิรโทษให้ ก็เป็นเหมือนไปรับรองการกระทำนั้นๆ
- นักวิชาการ : ถ้าสังคมเห็นร่วมกันในกรณีนี้ จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่อาจมีปัญหากรณีที่นักการเมืองซึ่งได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากกฎหมายที่เกิดขึ้นจากคณะรัฐประหารนั้น จะทำได้เพียงใด ซึ่งเป็นไปได้ในแง่อาจจะมีการเยียวยาผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 27
3.ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย คปค.เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
- ฝ่ายค้าน : ข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวคือ ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องรับโทษ ได้กลับมามีอำนาจใหม่ ได้รับเงินที่ยึดไปคืน ไม่มีเรื่องอื่น แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิดคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเกิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 พิพากษามาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคดี ไม่มีปัญหาสักคดี มามีปัญหาคดีเดียว มันเป็นเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์รัฐ เช่น ศาลฎีกาพิพากษาประหารนาย ก. ต่อมาล้มเลิกคำพิพากษาว่าพิพากษามิชอบ จะเอาชีวิตนาย ก. กลับมาได้หรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้น เท่ากับว่าผู้พิพากษาสั่งฆ่าคนไปแล้ว และต้องติดคุกด้วย อีกทั้งหากทำได้จริง ผู้ที่พ้นจากผลพวงรัฐประหารที่ถูกคำพิพากษาต่างๆ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ บ้านเลขที่ 111, 109 ก็ต้องฟ้องรัฐ เพียงเรียกค่าเสียหายคนละ 1 พันล้านบาท บ้านเมืองจะอยู่ตรงไหน ในวันนั้นมีแต่ลุกเป็นไฟ ระบบนิติรัฐจบทันที
- รัฐบาล : ต้องยอมรับว่าโดยวิธีการของประชาธิปไตยคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักของประเทศว่าจะแก้ไขแบบใด หรือออกกฎหมายใดเพื่อให้เกิดผลตามที่อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายควรฉุกคิด โดยนึกถึงชาติและบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง
- นักวิชาการ : หากให้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่มีผลทางกฎหมาย ผมเห็นว่าจะต้องกำหนดไว้เป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
4.ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดย คตส.เป็นอันยุติลง
- ฝ่ายค้าน : ถ้าจะทำต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพื่อล้มอำนาจรัฐประหาร ซึ่งก็เขียนได้ และผลพวงจากประกาศ คปค. ล้มไปได้จริง แต่คดีที่ยังเหลืออยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลอาจมีผล ถ้าทำอย่างนั้นกับคดีร้ายแรง เช่น คดีทุจริต คดีเผาบ้านเผาเมือง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ
- รัฐบาล : เรื่องนี้ขออย่าเอากรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวตั้ง แต่ขอเอาประเทศมาเป็นตัวตั้ง เราอยากให้ทุกฝ่ายเคารพในหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งนี้ สำหรับคดีที่ผ่านการตัดสินของ คตส.มีหลายเรื่อง อาทิ คดีที่ดินรัชดาฯ คดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซ์ซิมแบงก์ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า) ปล่อยกู้พม่า ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการสอบสวนช่วงหลังจากที่มีการปฏิวัติ การสอบสวนจึงไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบเคียงกับอารยประเทศ ยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา แต่กลับไม่มีรายชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล) ตรงนี้แสดงให้เห็นว่านานาประเทศไม่ยอมรับในส่วนนี้
- นักวิชาการ : ข้อเสนอนี้อาจไม่มีผลในแง่ที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว หากจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อขอให้บรรดาการใดๆ ของ คตส.ที่กระทำหลังการรัฐประหารต้องยุติลง หรือไม่มีผลทางคดี เว้นแต่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รองรับไว้
5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ฝ่ายค้าน : หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีผลต่อการยกเลิกผลพวงรัฐประหาร ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักการร่างกฎหมายต้องเดินหน้า ไม่มีผลย้อนหลัง อะไรที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ถือว่าจบไปแล้ว และยิ่งเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่ายิ่งกว่าคำพิพากษา เพราะกฎหมายเขียนให้ผูกพันทุกองค์กรคือคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่คำพิพากษา ผูกพันแค่โจทก์กับจำเลย
- รัฐบาล : การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแผนการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ซึ่งสมัยเรายังเป็นฝ่ายค้าน ก็มีการนำเสนอแนวคิดให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง ดังนั้น คงจะต้องมีการดำเนินการต่อ
- นักวิชาการ : การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำได้ด้วยการเปิดทางให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทำได้อยู่แล้วในแง่หลักการ เพราะในอดีตก็เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหารแล้ว อย่างรัฐธรรมนูญปี 2534 (ต่อมาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ) ที่ต่อมาจนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น อย่าไปคิดเพียงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น แต่จะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย