http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-16

สลากภัต สลากย้อมฯ, "มิดะ"ฯ โดย เพ็ญสุภา และ เพลงของจรัล โดย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

.

สลากภัต สลากย้อม หลอมวิญญาณ์แม่ญิงยอง
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 76


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายท่านสอบถามดิฉันอยู่เนืองๆ ว่าไฉนงานบุญวันสารทของลำพูนจึงใช้ชื่อพิสดารว่า "สลากภัต สลากย้อม" ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วล้านนาใช้คำว่าประเพณี "ตานก๋วยสลาก" กันอย่างกว้างขวาง

"สลากย้อม" คืออะไร เหมือนหรือต่างกับสลากภัตในมิติไหนไหม ใครเป็นคนต้นคิด ดำรงอยู่ สูญหาย และหวนคืนมาได้อย่างไร

การปรากฏอยู่แค่เพียงในลำพูนจังหวัดเดียว มันซ่อนนัยยะอันใดถึงเบื้องหลังถ้อยวลีนั้น?



แม่ญิง-ยอง-แต่งหย้อง-สลากย้อม

ศัพท์แสงสี่คำข้างบนนี้ มีความจำเป็นต้องแปล "ไท" ให้เป็น "ไทย"

เริ่มตั้งแต่ "แม่ญิง" แน่นอนว่าหมายถึงผู้หญิง แปลกใจล่ะสิที่คนเหนือไม่นิยมใส่ตัว "ห" ซ้ำเวลาอ่านต้องเน้นเสียง "นาสิก" แบบขึ้นจมูกหน่อยๆ

ถัดมาคือ "ยอง" ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของลำพูน เป็นชาติพันธุ์ไทลื้อที่ถูกกวาดต้อนแบบเทครัวจากเมืองยองในพม่าใกล้เขตเชียงตุง เข้ามาตั้งรกรากในลำพูนเมื่อ 200 กว่าปีก่อน

มาเจอคำว่า "หย้อง" เข้าไปอีก อย่าคิดว่าเป็น "โทโทษ" ของคำว่า "ย่อง" ไม่ใช่ ย่องแย่ง หรือย่องเบา ทว่าละม้าย "ยกย่อง" การแต่งหย้องก็คือ การพิถีพิถันประจงประดิษฐ์อย่างวิจิตรประณีต

คำสุดท้ายนั้นสำคัญยิ่ง ทำไมต้องเอาสลากไป "ย้อม" ก็เพราะคนสมัยก่อนเงินทองหายาก เวลาเสื้อผ้าเก่าจะทำให้ดูใหม่ ก็ต้องใช้วิธีการย้อมให้ดูสวยงามขึ้น

เมื่อนำคำ "สี่ยอ" นี้มาอยู่ด้วยกัน แม่ญิง ยอง แต่งหย้อง และสลากย้อม ย่อมสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของงานประเพณีสลากภัตแห่งเมืองลำพูน ว่างานนี้มีโจทย์ตัวตั้งว่าด้วยเรื่องของผู้หญิง ชาวยอง ความมานะพยายาม และความงามทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำไปเพื่อสิ่งใด เกี่ยวข้องอะไรไหมกับงานบุญเดือนสิบของชาวไทยสี่ภาค



หนึ่งประเพณี สี่ภูมิภาค หลากสรรพนาม

จะว่าไปแล้วงานสลากย้อม ก็คือรูปแบบหนึ่งของเทศกาลวันสารทไทยนั่นเอง มีจุดเป้าหมายอยู่ที่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ "เปรต-สัมภเวสี" จะต่างกันก็ที่รายละเอียดปลีกย่อย ว่าภาคไหนให้ความสำคัญแก่สิ่งใดมากกว่า จึงตั้งชื่อเรียกตามจุดเน้นนั้นๆ

อีสานเรียก "งานบุญข้าวสาก" โฟกัสไปที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวหอมถั่วงาใหม่หมาดแล้วนำมากวนเป็นข้าวทิพย์หรือกระยาสารทถวายพระไตรรัตน์ พร้อมแจกจ่ายคนร่วมงาน

ปักษ์ใต้เรียก "ประเพณีชิงเปรต" ยิงตรงเป้าชี้เปรี้ยงถึงวัตถุประสงค์ของการทำบุญให้ชัดๆ ไปเลย ว่างานนี้ตั้งใจทำบุญให้คนตาย ที่ยังเร่ร่อนล่องลอยอยู่ตามภพภูมิต่างๆ

ทางเหนือเรียก "กิ๋นก๋วยสลาก" หรือ "ตานก๋วยสลาก" ก๋วยเป็นตะกร้าสานที่ใส่เครื่องไทยทาน ฟังดูก็รู้ว่าภาคนี้เน้นที่การตกแต่ง "ต้นสลากสูงใหญ่" โดยสมมติว่าเท่ากับความสูงของเปรต เมื่อมารับบุญในโลกมนุษย์จะได้ไม่ต้องย่อตัวมาก

ไม่มีเทศกาลใดอีกแล้วที่จะมีชื่อเรียกที่รุ่มรวยหลากหลายมากเท่ากับชื่อเรียกงานบุญเดือนสิบ ที่ยกตัวอย่างของแต่ละภูมิภาคมานี้ก็เป็นแค่คร่าวๆ เท่านั้น หลายจังหวัดยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แยกย่อยอีกมากมาย



ขอเปิดพื้นที่แด่อิตถีเพศ

จากความเชื่อที่บ่มเพาะกันมานานในสังคมอุษาคเนย์ว่า "เพศหญิงนั้นบวชเรียนไม่ได้ โอกาสที่จะบรรลุธรรมนั้นก็ยากยิ่ง!"

ประโยคจี้จุดแทงใจดำนี้เองที่ทำให้แม่ญิงยองลำพูนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ ไหนๆ บุรุษก็เป็นเจ้าของ "พื้นที่ทางธรรมะ" แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วทุกตารางนิ้วของพระพุทธศาสนา

หากจะขอแบ่งปันสักเวทีหนึ่งในรอบปี คืองานเทศกาลวันสารทมาให้แม่ญิงดำเนินการเองในฐานะเจ้าภาพหรือเรียกให้ชัดๆ ว่าขอรับบทเป็น "นางเอก" บ้าง ไม่ใช่นางรอง หรือตัวประกอบผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่ทราบว่าคุณผู้ชายทั้งหลายจะมีอะไรขัดข้องไหม?

ปรากฏว่าผู้ชายยองก็ใจป้ำพอสมควร พ่อแม่ของหญิงสาววัยรุ่นต่างสนับสนุนกุลธิดาด้วยความยินดียิ่ง หากแต่ต้องพึงสังวรไว้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่งานสนุกสนานเฮฮาแค่เอาสิ่งของกระจุกระจิกมาประดับผูกติดบนต้นไม้เหมือนเด็กเล่นขายของ หรือแค่แต่งตัวงามเฉิดมาเดินกรีดกราย ยกสังฆทานประเคนพระสงฆ์หน้าฉากเท่านั้นนะ

หากนางต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ทั้งชีวิตจากการขายหอมกระเทียมลำไย เพราะงานนี้ต้องใช้งบประมาณสูง นับแต่การเตรียมต้นสลากเครื่องไทยทานทั้งหมดด้วยตัวเอง ไหนจะข้าวปลาอาหารอีกหลายมื้อที่ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อคนทั้งหมู่บ้าน

ยิ่งสาวบ้านใดเกิดใจใหญ่อยากแข่งขันให้ใครๆ เห็นว่าเธอมีวิริยะอุตสาหะสูงมากกว่าสาวบ้านอื่น เธอก็ต้องยิ่งเดินสายบอกบุญสิบนิ้ววันทา ขอชาวบ้านให้ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือเพิ่มความอลังการของต้นสลาก ก็เท่ากับเป็นความเหนื่อยยกกำลังสอง แต่จะเป็นไรไปเล่า พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาปู่ย่าตายายคงเต็มใจช่วยอยู่หรอก เพื่อศักดิ์ศรีของแม่ญิงยองบ้านเฮา

นี่คือเวทีที่จะพลิกชีวิตพวกเธอ เพราะแม่ญิงทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพได้แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ห้ามผูกขาด ปีต่อๆ ไปต้องหมุนเวียนให้ลูกสาวครอบครัวอื่นได้แสดงบทบาทนี้บ้าง ฉะนั้นเมื่ออาสามาเป็นเจ้าภาพปีใดแล้วต้องทุ่มเทเต็มที่ หากพลาดแล้วพลาดเลย จะหมู่หรือจ่าก็ต้องยอมรับ



นั่นต้นอะไรสูงเหยียดเสียดฟ้า
ราวภูผาแห่งความรัก

จุดเริ่มต้นของ "สลากย้อม" กำเนิดในย่านสวนลำไยรายรอบแม่น้ำปิงเก่า-ปิงห่าง แถวตำบลริมปิง ประตูป่า อุโมงค์ เหมืองง่า ของอำเภอเมืองลำพูน เหตุเพราะดินแดนแถบนี้ได้รับฉายาว่าเป็นแหล่งดินดำน้ำชุ่มผลไม้ดกชุก สาวๆ ย่านนี้ถูกยกย่องให้เป็น "แม่เลี้ยง" หรือ "เศรษฐินีลำไย" และเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ บ้านอื่น

ไหนๆ ก็เนื้อหอมอยู่แล้ว แต่หากจะขอเป็น "สวยเลือกได้" อีกระดับหนึ่งด้วยจะได้ไหม เพื่อปิดโอกาสมิให้หนุ่มบ้านๆ ติดไพ่ไก่ชน ที่จู่ๆ คิดจะมาสู่ขอเธอด้วยหวังจะตกถังข้าวสาร ต้องใคร่ครวญให้มากกว่าเดิม

ว่าคุณมีองค์ประกอบสี่ตามหลักธรรมของคฤหัสถ์ว่าด้วยความเหมาะสมของคนที่จะเป็น "เนื้อคู่" กันนั้นหรือเปล่า

1. ทาน ต้องเสมอกัน คุณลองแหงนดูต้นสลากของฉันสักนิดว่ามันสูงแค่ไหน นั่นยังน้อยกว่าแรงทานที่ฉันจะต้องเร่งทำในชาตินี้

2. ศีล ต้องเสมอกัน สิ่งของปัจจัยที่ฉันนำมาทำบุญ เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของสาวชาวสวนผู้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยไปลักไปโกงใครแบบทุศีล

และฉันมิใช่ผู้หญิงเสเพลที่ติดน้ำเมาบ้าหวยแย่งผัวชาวบ้าน เพราะหากฉันไม่มีศีลมีสัตย์ ฉันก็คงไม่สามารถเก็บออมเงินนั้นมาเป็นเจ้าภาพงานบุญใหญ่นี้ได้

3. ปัญญา ต้องเสมอกัน กว่าฉันจะประดิดประดอยออกแบบต้นสลากย้อมให้น่ามอง แสดงว่าขี้หมูขี้หมาฉันก็ต้องเป็นนักวางแผนตัวฉกาจพอควร แม้ฉันจะไม่ได้เรียนหนังสือสูง และไม่มีโอกาสบวชเป็นพระแบบพวกคุณ

4. จาคะ ต้องเสมอกัน คุณใจใหญ่เท่าฉันไหมเล่า ฉันทุ่มเทอุทิศชีวิตทั้งชีวิตที่เกิดมาเป็นลูกผู้หญิงก็เพื่องานนี้ และหากใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันต่อไป เกิดคุณงกไม่ยอมบริจาคเอื้อเฟื้อปัจจัยแก่คนมาขอเรี่ยไรบุญ จะอยู่กับคนใจคอกว้างขวางอย่างฉันได้ล่ะหรือ

หากองค์ประกอบคุณไม่คบสี่ข้อ ต่อให้รวยให้หล่อให้ล่ำแค่ไหน ก็อย่าหมายมาร่วมชาติกันเลย เพราะขืนร่วมเตียงไปเดี๋ยวก็ต้องหักโครม

อ้อ! ทำบุญมาเกือบตาย แท้ก็มีวัตถุประสงค์แค่เสาะหาคู่ครองที่ถูกสเป็กเท่านั้นรึ ?

หามิได้ การเป็นเจ้าภาพจัดงานสลากย้อมของแม่ญิงยองนั้น นัยยะของนางรจนาแอบส่งสัญญาณเสี่ยงมาลัยเลือกชายหนุ่มที่คู่ควรสมฐานะสมศักดิ์ศรีนั้นเป็นแค่ผลพลอยได้ ทว่าการขอเปิดพื้นที่ให้สตรีเพศได้ทุ่มทำบุญใหญ่สักครั้งในชีวิต สำหรับบันไดก้าวแรกเปิดประตูสู่นิพพานนั้นยังคงเป็นเหตุผลหลัก

แต่ก็ไม่ควรลืมว่า การเลือกคู่ครองในชีวิตของแม่ญิงคนหนึ่งนั้น ย่อมถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานบุญ เพราะหากเลือกคนผิดก็เท่ากับปิดหนทางบุญไปทั้งชาตินี้และชาติไหนๆ



สลากย้อมหายไป
ลมหายใจอันรวยริน

ปี 2510 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพงทั่วประเทศ ต่อให้เป็นถึงเศรษฐินีลำไยต่างก็ได้รับผลกระทบเรื่องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกันถ้วนหน้า วิกฤตภัยแล้งปีนั้น ส่งผลให้คนยองลำพูนจำนวนไม่น้อยต้องอพยพดิ้นรนออกไปเสาะแสวงหาที่ดินทำกินใหม่แถบเมืองฝาง เชียงแสน และพะเยา

ประเพณี "สลากย้อม" ที่เคยคึกคักเสมือนสีสันแห่งเดือนกันยาพลอยปิดฉากลงสนิทตั้งแต่บัดนั้นตามไปด้วย ลบเลือนหายไปนานกว่าสามทศวรรษ เพิ่งได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้งเมื่อหลัดๆ นี้เอง

ภายใต้ชื่อ "สลากภัต - สลากย้อม" ที่สร้างความงงงวยแม้แต่ท่ามกลางหมู่คนล้านนาเอง ว่างานนี้โผล่มาจากไหน Fake หรือเปล่า น้อยคนนักที่จะรู้ว่าประเพณีดังกล่าวถูกตัดตอนขาดหายไปอยู่ช่วงหนึ่ง

เมื่อราวหกปีก่อน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนพยายามฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่ก็ทำไปแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณไปลงที่ "วัด" มิใช่ชุมชน วัดต่างๆ จึงมอบหมายให้พระหนุ่มเณรน้อยแข่งขันกันประดิษฐ์ต้นสลากคล้ายลิเกสูงใหญ่ลิบลิ่วแหงนคอตั้งบ่า ชนิดที่ว่าสามารถเรียกกินเนสส์บุ๊กมาบันทึกสถิติได้เลย

ผิดทั้งวัตถุประสงค์ เพี้ยนทั้งปรัชญาดั้งเดิม เพราะไม่ใช่การเปิดพื้นที่ให้อิตถีเพศผู้ไม่มีโอกาสบวชเรียน

แต่แล้วก็มีคำถามตามมาว่า บริบทของผู้หญิงสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อน ยังจะมีสาววัยรุ่นอนงค์ไหนอาสามาเป็นเจ้าภาพงานสลากย้อมนี้อยู่อีกล่ะหรือ ในเมื่อแม่ญิงได้เรียนหนังสือสูงขึ้น และมีสถานะทัดเทียมชายแล้ว

ยิ่งการหาคู่ชีวิตของสาวๆ สมัยนี้ก็ง่ายแสนง่ายและเปิดเผย ไม่ต้องไปพึ่งพากุศโลบายการแอบประกาศตัวตนผ่านพิธีกรรมว่าฉันเป็นกุลสตรีหรือเบญจกัลยาณีผู้เพียบพร้อมผ่านงานสลากย้อมนั้นอีกแล้ว

มาสู่คำถามที่ว่า แล้วเราจะปล่อยให้คำว่า "สลากย้อม" ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงศรัทธาของแม่ญิง ถูกนำไปเรียกใช้แบบผิดบริบท ต่อไปเรื่อยๆ เลยตามเลยเช่นนั้นหรือ

มีประโยชน์อันใดเล่า กับความสูงใหญ่ฉูดฉาดบาดตา เปลือกนอกที่ไร้แก่นสาร ถ้าเช่นนั้นเห็นสมควรให้เมืองลำพูนกลับไปใช้ชื่อ "สลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก" เหมือนจังหวัดอื่นๆ ใช่ไหม

เปล่าเลย คงชื่อสลากย้อมไว้นั่นแหละ แต่ต้องปรับวิธีคิดและเปลี่ยนตัวเจ้าภาพใหม่ วัดควรทำหน้าที่รอสอยสลากจากขบวนแห่ที่ขับเคลื่อนมาจากแต่ละหมู่บ้าน มิใช่มานั่งทำต้นสลากกันเสียเอง ข้อสำคัญต้องขอทวงคืนพื้นที่แก่สตรีชาวยอง ให้รับเป็นเจ้าภาพที่จะทำต้นสลากย้อมนั่น

เอาเถิด สอง-สามปีที่ผ่านมานี้ ค่อยๆ เห็นนิมิตหมายของความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆ บ้างแล้ว โดยทางจังหวัดขอแรงให้หัวหน้าส่วนราชการสตรีทุกหน่วยงานรับเป็นเจ้าภาพต้นสลากย้อม

เราได้แต่หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่ จะมีแม่ญิงยองที่มีจิตสำนึก คิดจะอนุรักษ์สืบสานประเพณีนี้ลุกขึ้นมาปวารณาตัวประกาศตนเป็นเจ้าภาพด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในลักษณะจัดตั้งหรือกะเกณฑ์บังคับ นานเพียงใดอีกกี่ปีเรายังคงเฝ้ารอ



++

"มิดะ" ในจินตนาการ กับนิทาน "ลานสาวกอด" คืนศักดิ์ศรีแด่สตรีชาวอาข่า
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1621 หน้า 75


จรัล มโนเพ็ชร 10 ปีที่จากไป
ฤๅวิญญาณยังร่ำไห้กับบทเพลง "มิดะ"

วันที่ 3 กันยายน 2554 ครบรอบ 10 ปีแห่งการจากไปของศิลปินเพลงล้านนา "จรัล มโนเพ็ชร" โดยคู่ชีวิต "อันยา โพธิวัฒน์" ได้จัดงาน "กึ๊ดเติงหา" (คิดถึงอาลัยหา) ที่ร้าน "สายหมอกและดอกไม้" จ.เชียงใหม่ ไฮไลต์อยู่ที่การเปิดประเด็นเสวนา "ภารกิจปิดฝังมิดะ"

ในฐานะที่เพลงมิดะมีอายุเกือบ 30 ปี ควรเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีหรือมิใช่ ที่กาลเวลาผันผ่านนานเนิ่น แม้ศิลปินผู้รังสรรค์จะล่วงลับ หากแต่บทเพลงยังคงอมตะ ท้าทายยุคสมัย แล้วไฉนจึงต้องมี "ภารกิจปิดฝังมิดะ" ด้วยเล่า

สังคมไทยจะมีสักกี่คนที่รู้ข้อเท็จจริงว่า ยิ่งเพลงมิดะนี้กระหึ่มก้องมากขึ้นเพียงไร ความเจ็บช้ำน้ำใจของหญิงสาวชาว "อาข่า" ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความร้าวระบมมากขึ้นเพียงนั้น

และเชื่อว่าดวงวิญญาณของ จรัล มโนเพ็ชร คงย่อมรับรู้ได้

มีอะไรผิดปกติในเพลง "มิดะ" ล่ะหรือ แม่ญิงสอนกามโลกีย์ให้ชายไม่ประสีประสา มีอยู่จริงในวัฒนธรรมอาข่า หรือเป็นเพียงแค่นิทานขายฝัน



หนังสือ "30 ชาติในเชียงราย"
จุดประกายขายฝันลานสาวกอด

ก่อนหน้าเพลงมิดะ เคยมีทั้งภาพยนตร์เรื่อง "แก้วกลางดง" และ "ลานสาวกอด" เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูท่องเพลงที่ว่า "ไปกอดสาวกันที่ลานสาวกอด" ขับร้องโดย พนม นพพร ซึ่งต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวยุคบุกเบิกนาม "บุญช่วย ศรีสวัสดิ์"

ไม่ต่างจาก จรัล มโนเพ็ชร

บุญช่วยเป็นชาวเชียงรายเกิดปี 2460 เขารักนิสัยการแรมรอนนอนแคมป์ สืบค้นปูมหลังของชนชาติไทยเผ่าต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ข้ามโขดเขินเดินทางไกลถึงสิบสองปันนาในจีน สิบสองจุไทในเวียดนาม ไทอาหมในอินเดีย

หลังจากชีพจรลงเท้าหลายพันไมล์จนตกผลึก บุญช่วยประเดิมงานเขียนเรื่องเร้นลับเร้าใจ "30 ชาติในเชียงราย" ตีพิมพ์เมื่อปี 2492 เป็นงานเขียนสารคดีแนวชาติพันธุ์วรรณาเล่มแรกๆ ในสยามประเทศ

บุญช่วยจึงเป็นผู้จุดประกายเรื่อง "มิดะ" หญิงงามที่เป็นหมันและเป็นหม้าย คอยทำหน้าที่ "เบิกพรหมจารี" ให้แก่หนุ่มเอ๊าะๆ โดยไม่คิดค่าจ้าง และไม่ถือว่าผิดศีลข้อกาเม

ผลพวงของหนังสือเล่มนั้น ตามติดด้วยเพลงมิดะซึ่งดังระเบิดเถิดเทิงก็คือ ปฏิกิริยาเชิงลบจากสายตาคนภายนอกที่มีต่อวัฒนธรรมชาว "อาข่า" หรือที่บุญช่วยและเพลงมิดะเรียกว่า "อีก้อ"

หนุ่มๆ กำดัดหลายคนบุกถึงถิ่นดอยสูง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เพียงเพื่อค้นหา "มิดะ" ให้ทำหน้าที่ช่วย "ขึ้นครู" ปลดเปลื้องกามารมณ์ โดยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าที่นี่เป็นสังคมฟรีเซ็กซ์

ถ้าเช่นนั้น บุญช่วยไปเอาข้อมูลนี้จากไหนมาเขียนเป็นตุเป็นตะ ข้อสำคัญหนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องจากแวดวงวรรณกรรม ให้เป็นหนังสือคลาสสิคที่คนไทยต้องอ่าน "หนึ่งในร้อย" เล่มอีกด้วย



คือ "มิดะ" ในจินตนาการ
กับนิทาน "ลานสาวกอด"

ในยุคที่บุญช่วยต้องดั้นด้นไปสืบค้นข้อมูลบนดอยสูงนั้น เขาปุเลงปุเลงไปตัวคนเดียวแบบไม่มีล่าม จะว่าไปแล้ว การสื่อสารกันคนละภาษา น่าจะเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งยวดในการทำงานของนักเขียนสารคดีรุ่นเก๋า

หนังสือที่จะใช้อ้างอิงแต่ละเล่มก็ช่างจำกัดจำเขี่ยเหลือทน เพราะเขาเป็นคนพื้นราบรายแรกๆ ที่อาจหาญชาญชัยบุกเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับคนหลากเชื้อชาติหลายภาษามากถึง 30 ชนเผ่า ข้อมูลบางส่วนนั้นเขาต้องอาศัยการแปลมาจากหนังสือของนักมานุษยวิทยาชาวตะวันตก

งานเขียนของบุญช่วยจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงแบบงานวิจัยเชิงวิชาการเต็มร้อย แต่มันน่าจะมีคุณค่าฐานะ "สารคดีเรื่องเล่า" ที่ช่วยเปิดโลกแห่งการรับรู้เรื่องชนกลุ่มน้อยในสยามให้แก่ผู้สนใจพอเป็นปฐมบท

ทว่า ณ วันนี้ เยาวชนชาวอาข่ามีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงขึ้น หลายคนจบปริญญาเอกปริญญาโท พรมแดนที่เคยขีดเส้นแบ่งให้พวกเขาต้องกลายเป็นตัวประหลาด ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ถูกคนพื้นราบกระแหนะกระแหนว่า "อีก้อกินเนื้อหมา" หรือ "นี่ไงมิดะมั่วเซ็กซ์"

ย่อมต้องได้รับการทบทวนข้อบิดเบือนนั้นอย่างเป็นกระบวนการ

สตรีอาข่าวันนี้จักไม่ยอมจำนนต่อภาพนางบาปเหมือนดังอดีตอีกต่อไป



ไม่มี "มิดะ"
ไม่มี "กะลาล่าเซอ"
ไม่มี "ลานสาวกอด"

บางคนย้อนถามว่า ช่วงที่เพลง "มิดะ" ดังใหม่ๆ ทำไมจึงไม่มีชาวอาข่าหรือนักสิทธิมนุษยชนหน้าไหนลุกขึ้นมาประท้วง ไยจึงปล่อยให้บทเพลงนี้มีอิทธิพลต่อการรับรู้ในสังคมไทยอยู่นาน

คำตอบก็คือ เพราะชาวอาข่ายุคสามสิบปีก่อน มีข้อจำกัดในการฟังภาษาไทย เมื่อมีคนมาสอบถามว่าที่นั่นมี "มิดะ" จริงหรือ ก็พยักพเยิดหน้า เนื่องจากฟังคล้ายๆ กับคำว่า "หมี่ดะ" ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ที่ไม่รู้ว่า "มิดะ" ในมุมมองของคนนอกนั้นหมายถึงอะไร

ในภาษาอาข่าไม่มี "มิดะ" มีแต่คำว่า "หมี่ดะ" หมายถึง "หญิงสาวในวัยพร้อมจะมีครอบครัว" คือชาวอาข่าแบ่งชื่อเรียกผู้หญิงตามช่วงวัยทั้ง 4

ทารกแรกเกิดถึง 12 ขวบ เรียกว่า "อะบู้ยะ" โตเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 13-17 ปี เรียกว่า "หมี่เดอเดอจ๊อง" โดยกำหนดให้ใส่หมวกลักษณะหนึ่ง ครั้นอายุ 18-24 ปี เรียกว่า "หมี่ดะ" คือพร้อมที่จะแต่งงาน ต้องใส่เครื่องประดับเต็มยศมีขนไก่ หลังจากอายุ 24 ปีขึ้นไป เรียกว่า "หมี่เด๊ะ" คือเป็นแม่เหย้าแม่เรือนแล้ว

ไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่เบื้องหลังคำว่า "หมี่ดะ" ก็เป็นแค่หญิงสาวในวัยหนึ่ง

ส่วน "กะลาล่าเซอ" ที่บุญช่วยให้คำจำกัดความว่าหมายถึง "ลานสาวกอด" หรือ "ลานรักลานสวรค์" จนเรามองเห็นภาพหญิงสาวนั่งชิงช้าเย้ายวนรอให้ชายหนุ่มมาเล้าโลม หากชายหนุ่มเลือกกอดหญิงสาวคนใดแล้วฝ่ายหญิงมีใจปฏิพัทธ์ก็จะกอดตอบ เป็นอันว่าต่างคนต่างเจอเนื้อคู่ที่ถูกใจ แต่หากกอดแล้วถูกหญิงสาวผลักไส ก็แสดงว่าหล่อนไม่เล่นด้วย เมื่อหน้าแตกก็ต้องไปไล่กอดสาวคนใหม่อีก

นั่นคือภาพ "ลานสาวกอด" ที่บุญช่วยพรรณนาไว้ แต่แท้จริงแล้วไม่มี "กะลาล่าเซอ" ไม่มี "ลานสาวกอด" ในบริบททางวัฒนธรรมของอาข่า

ภาษาอาข่ามีแต่คำว่า "กะล้าหละเฉ่อ" โดยแยกเป็นสองคำ "กะล้า" คือคำเรียกคนฝรั่งหรือคนแขกแปลกหน้า ทำนองแขกกุลา ส่วน "หละเฉ่อ" คือ "ชิงช้า" ซึ่งชาวอาข่าตั้งชิงช้าสูงไว้ที่ลานกว้างลานนี้เรียกว่า "แดข่อง" หรือ "แตห่อง" เพื่อรองรับประเพณีโล้ชิงช้า มีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นพิธีเฉลิมฉลองความอุดมสมบูรณ์ของผลิตผลพืชไร่ แต่ยามที่ไม่มีพิธีใดๆ คนทั่วไปก็สามารถมานั่งเล่นชิงช้านั้นได้ และชิงช้านี้มักเป็นที่นิยมของหญิงสาววัย "หมี่ดะ" ที่ชอบมาพบปะพูดคุยกัน

เพราะฉะนั้น กะล้าหละเฉ่อ หากแปลตรงตัวจึงหมายถึง ชิงช้าฝรั่ง ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเหมือนชิงช้าสวรรค์ ชิงช้าหมุน เพื่อความบันเทิงสนุกสนาน ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับลานวัฒนธรรมและประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าเลย

การพบปะกันที่ลานกว้างนั้น เป็นไปในลักษณะคล้ายลานวัฒนธรรม ลานที่ทุกคนมารวมตัวกัน คราวที่ต้องทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวงวัฏ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ฝังศพ แต่งงาน หรือใช้เป็นลานเล่านิทานภาษิต แม่สอนลูก ปู่สอนหลาน

ไม่ใช่ลานสำหรับกอดสาว หรือลานของหญิงหม้ายเจ้าเสน่ห์มาสาธยายชั้นเชิงกามรสแบบประเจิดประเจ้อ!



ระหว่างศิวิไลซ์ กับป่าเถื่อน
คำประกาศจากเจ้าของวัฒนธรรม

นักมานุษยวิทยารุ่นใหม่หลายคนยังคงคลางแคลงใจ จึงตั้งสมมติฐานว่า หากแม้น "มิดะ" หรือ "กะลาล่าเซอ" มีอยู่จริงในสังคมชาวอาข่า ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องเสียหาย หรือสะท้อนภาพความป่าเถื่อนแต่อย่างใดไม่

ในมุมกลับกัน สังคมใดก็ตามที่มีการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ลองถูกลองผิด เรียนรู้จักกันด้วยตัวเองก่อนแต่งงาน อาจมีการถูกเนื้อต้องตัวสัมผัสรัดกอดกันบ้าง ก็ย่อมน่าจะศิวิไลซ์กว่าสังคมที่ลูกสาวต้องยอมจำนนต่อการที่บุพการีเลือกคู่ครองให้ในลักษณะคลุมถุงชน

หรือหากสังคมนั้น มีแม่หญิงงามเมืองในทำนอง "มิดะ" เกจิโลกีย์คอยชี้แนะเรื่องเพศสัมพันธ์เชิงลึกให้แก่หนุ่มวัยใสแบบเปิดเผยจริง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องหยาบโลนน่าอาย แสดงว่าสังคมนั้นมีพื้นฐานเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะทำความเข้าใจเพศตรงข้ามในระดับสูง เป็นความศิวิไลซ์คล้ายกับสังคมยุคกรีกโรมันโบราณทีเดียว

แต่ขอประทานโทษ ชาวอาข่าหาได้ยินดีกับคำยกย่องในมิติที่เห็นว่าพวกเขาเป็นสังคมที่เปิดกว้างเสรีภาพทางเพศ ตามแนวคิดแบบปรัชญาตะวันตกไม่

พวกเขายังคงยืนยันว่าในประวัติศาสตร์มนุษยชาติของชาวอาข่าที่สืบทอดกันมานานกว่า 33 ชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องอาข่าที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินผืนใด ทั้งในประเทศไทย จีน ลาว พม่า เนปาล หรือไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ชาวอาข่าไม่เคยมีเรื่องมิดะอยู่จริง และมิใช่ว่าเคยมีอยู่จริงในยุคที่บุญช่วยไปเก็บข้อมูลเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน แต่แล้วแอบยกเลิกไปเพราะความหวั่นไหวอับอายต่อคำครหานินทาของคนชาติพันธุ์อื่น แล้วเพิ่งมาออกตัวแก้เก้อ

ในเมื่อมันไม่เคยมีอยู่จริง ก็ต้องยืนกรานประกาศให้เสียงดังก้องโลก ว่าโปรดหยุดทำร้าย "หมี่ดะ" หญิงสาวพรหมจรรย์ผู้บริสุทธิ์ ด้วยภาพลักษณ์ของ "มิดะ"

ฉะนั้น เมื่อเราอ่านหนังสือเรื่อง "30 ชาติในเชียงราย" ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ แล้วพบเรื่องราวของ "มิดะ" โปรดพึงทำใจไว้ว่าเรากำลังอ่านนิทาน หรือยามที่เราได้สดับเพลง "มิดะ" อันแสนพริ้งพราย ก็ขอให้คิดเสียว่าเรากำลังเสพงานคีตศิลป์ชิ้นเยี่ยม ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

คงไม่ต้องถึงกับปฏิบัติการไล่ล่า "ภารกิจปิดฝังมิดะ" ตามเก็บกวาดล้างเทปซีดีเพลงมาเผาทำลาย หรือจะต้องขอถอนรายชื่อหนังสือ "30 ชาติในเชียงราย" ออกจากหนังสือหนึ่งในร้อยเล่มที่คนไทยต้องอ่านหรอก

มองมุมกลับ ทั้ง บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และ จรัญ มโนเพ็ชร ทั้งสองคือผู้จุดสะกิดสะเกาบาดแผลให้นักมานุษยวิทยาต้องลุกขึ้นมาเต้นผาง ทบทวนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านชาติพันธุ์วรรณา ที่เราเคยทระนงตนว่า "ชาวเรารู้จักชาวเขา" แล้วเป็นอย่างดี ว่าคำพูดนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มากน้อยเพียงไหน

เชื่อว่าคงไม่ใช่เผ่าอาข่าเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ถูกกระทำ

นี่ยังไม่รวมถึงความคิดของชนชั้นกลางชาวกรุงที่ภักดีต่อสถาบันและพรรคอนุรักษ์ขวาตกขอบ ที่ดาหน้ากันออกมาประณามคนบ้านนอกคอกตื้อแถบภาคเหนือภาคอีสานว่าเป็นลาว โง่จนเจ็บ ถูกหลอกซื้อเสียงช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ช่องว่างระหว่างอคติ นิทาน กับข้อเท็จจริง ที่ผู้ดีในสังคมไทยฝากบาดแผลร้าวลึกไว้กับคนชายขอบทุกชาติพันธุ์ ถูกหมักหมมมานานหลายศตวรรษ ถึงเวลาที่ควรคลี่คลายปมปัญหาอย่างเป็นองคาพยพแล้วหรือยัง โดยใช้กรณี "มิดะ" "กะลาล่าเซอ" เป็นภารกิจนำร่องอย่างด่วนๆ



++

เพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ทุกเพลงเล่นได้หมด ยกเว้นเพลง มิดะ
โดย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1621 หน้า 76


หมายเหตุ : เป็นบทความที่ตัดตอน-คัดย่อมาจากบทความขนาดยาว 4 หน้า ที่ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว เขียนขึ้น


ช่วงที่ผมยังเล่นดนตรี

อยู่ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ ถนนวงแหวน 700 ปี หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ของ คุณอันยา โพธิวัฒน์ คนข้างเคียงของจรัล มโนเพ็ชร หลังจากคุณจรัลได้เสียชีวิตไปสักปีหรือสองปี

มีอยู่คืนหนึ่ง ขณะผมกำลังนั่งรอเวลาขึ้นเวที ก็มีคนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ชายล้วนๆ ประมาณ 5-6 คน เข้ามานั่งดื่มในร้าน แล้วเรียกผมไปนั่งคุยด้วย และบอกแก่ผมว่า ถ้าผมเล่นเพลงของคุณจรัล ผมไม่ควรเล่นเพลง มิดะ ถ้าขืนเล่นเพลงนี้จะมีคนเอาเรื่อง เพราะเพลงนี้ทำให้คนอาข่าเขาเสียหาย แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเสียหายอย่างไร

ผมก็เลยงงๆ และรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคาม... จึงบอกเขาไปว่า ถ้าพวกคุณจะห้าม ไม่ให้ผมเล่นมิดะ พวกคุณก็ต้องไปห้ามนักดนตรีทั้งเชียงใหม่หรือทั้งประเทศมิให้เล่นเพลงนี้ด้วย

เพราะเพลงนี้ของคุณจรัลเป็นเพลงหนึ่งที่โด่งดังรู้จักกันทั้งประเทศ



ผมเข้าใจว่า ทำไมพี่น้องชาวอาข่าจึงขุ่นเคืองเพลง มิดะ ของคุณจรัล และผมก็เห็นด้วยกับการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้ของพี่น้องชาวอาข่า

ถ้าหากเพลงนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของพี่น้องชาวอาข่าเสียหายดังกล่าว - เป็นความจริง โดยเฉพาะสิทธิสตรีที่ควรปกป้องเป็นอย่างยิ่งในบ้านเมืองนี้ ซึ่งมักจะมีการทำร้ายเด็กและผู้หญิงอย่างรุนแรง

ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพี่น้องชาวอาข่า จะถูกมองจากคนภายนอกบางกลุ่มและนักวิชาการบางสำนักในอีกมุมมองหนึ่งว่า เป็นการปฏิเสธวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมของตัวเองที่เคยมีอยู่จริง แต่เป็นเรื่องที่ทำให้คนอาข่ารุ่นหลังที่ถูกวัฒนธรรมส่วนกลางรุกรานเข้าไปครอบงำและชี้นำ - เขาอับอาย จึงลุกขึ้นมาลบล้างเรื่องนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่ตัวเอง...เพื่อปรับตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมส่วนกลางที่ถือกันว่าเป็น อารยะ จริงหรือไม่ ผมคิดว่า...เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด ที่จำเป็นต้องขุดคุ้ยขึ้นมาถกเถียงหักล้างกันในเวลานี้ เพราะทั้ง คุณจรัล มโนเพ็ชร และ คุณบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ คนเขียน "30 ชาติในเชียงราย" ที่คงจะอธิบายเรื่องนี้ได้กระจ่างกว่าใครๆ ต่างก็เสียชีวิตไปนานแล้วด้วยกันทั้งคู่...

ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้...ที่แลดูเป็นการใช้อำนาจในเชิงคุกคามข่มขู่ของพี่น้องชาวอาข่า เช่น คนในชมรมอาข่าในประเทศไทย ที่ประกาศออกมาว่า

"จากนี้ไปถ้าใครพูดหรือทำให้เสื่อมเสียจะดำเนินการตามกฎหมาย" และเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมแบนเพลง มิดะ ของ จรัล มโนเพ็ชร แล้วยังสำทับอีกว่า ถ้ารัฐบาลไทยช่วยไม่ได้ ก็จะร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ

หรือที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือเรื่องที่เป็นข่าวจากโฮงเอียนสืบสานล้านนา ที่ทำให้ผู้จัดงานถึงกับปิดป้ายไว้หลังเวทีแก่นักดนตรีว่า "เพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ทุกเพลงเล่นได้หมด ยกเว้นเพลง มิดะ ห้ามเล่น" แถมในเว็บไซต์ที่ลงเรื่องราวของพี่น้องชาวอาข่ากรณีนี้ ก็ยังมีคนที่ผมเข้าใจว่าเป็นคนอาข่าโพสต์เข้าไปต่อว่า ครูเบล สะบัดชัย ที่เป็นคนหนึ่งที่เล่นเพลงมิดะในงานนั้นอย่างหยาบคาย ทั้งๆ ที่เขาก็ออกมาขอโทษกันแล้วอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเว็บมูลนิธิจรัล เขาก็ขึ้นเว็บขอให้หยุดเล่นเพลงนี้แล้ว

ผมเป็นห่วงวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้แบบนี้ของพี่น้องชาวอาข่า ถึงแม้ว่ามันจะทำให้พี่น้องชาวอาข่าได้รับชัยชนะ ด้วยอำนาจของกฎหมายและตุลาการในวันหนึ่งข้างหน้า...



แต่ในทางสังคม ที่เป็นเรื่องของความรู้สึกทางจริยธรรมของผู้คน ท่านอาจจะสูญเสียมิตรภาพจากสังคมของคนล้านนา...แบบเรียกคืนไม่ได้

เพราะถึงแม้เป้าหมายการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพี่น้องชาวอาข่าจะเป็นเรื่องที่ดี เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

แต่วิธีการไปสู่เป้าหมาย...กลับมีทีท่าว่าจะสร้างความบาดหมางและศัตรูไปตลอดระยะทาง...

นี่...คือเรื่องที่สำคัญและใหญ่โตยิ่งกว่าเรื่อง มิดะ มีจริงหรือไม่จริง!



.