http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-09

19 ก.ย.2549-19 ก.ย.2553: (3,4,5)คิดให้พ้น 4 ปี ก้าวไปสู่อนาคต โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

โพสต์ตอนต่อ 3-4-5 ของบทความปีที่แล้ว

19 ก.ย. 2549-19 ก.ย. 2553 (3) 4 ปีการต่างประเทศไทย (การทูต vs. การทหาร)
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1573 หน้า 36


"โลกจะเดินไปสู่ความก้าวหน้า ไม่ใช่เดินไปสู่ความเป็นปฏิกิริยาอย่างเด็ดขาด
แน่ละ ควรจะเพิ่มความระมัดระวังอย่างเต็มที่
ควรจะคาดคิดไว้ว่า ความเลี้ยวลดคดเคี้ยวชั่วขณะในบางกรณี
หรือกระทั่งความเลี้ยวลดคดเคี้ยวอันหนักหน่วงทางประวัติศาสตร์ยังอาจจะเกิดขึ้นอีก
อิทธิพลซึ่งมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ ที่ไม่ปรารถนาจะให้ประชาชนในประเทศของตน
และประชาชนในประเทศอื่นๆ มีการสามัคคีและก้าวหน้ายังเข้มแข็งอยู่
ถ้าหากผู้ใดมองข้ามสิ่งเหล่านี้ ผู้นั้นก็จะกระทำผิดทางการเมือง "
ประธานเหมาเจ๋อตุง
24 เมษายน ค.ศ.1945


หากพิจารณาเปรียบเทียบในช่วงระยะเวลา 4 ปีหลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการขยายอิทธิพลและแนวความคิดชุด "กระแสขวาจัด" ทั้งในกิจการการทหารและการต่างประเทศของไทย ถ้ากองทัพหลังการยึดอำนาจ 2549 ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสขวาเช่นไร งานด้านการต่างประเทศของไทยก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสขวาเช่นนั้นไม่ได้แตกต่างกัน

จนทำให้เกิดความกังวลในระยะต่อมาว่า ความลงตัวระหว่างกระแสขวาในกองทัพและในการต่างประเทศของไทย จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน จะเป็นไปในทิศทางของ "การทหารนำการเมือง"

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "การทหารนำการทูต" โดยเชื่อว่ามาตรการทางทหารในนโยบายต่างประเทศจะนำมาซึ่งผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐผู้ใช้

ว่าที่จริงทิศทางในลักษณะ "การทหารนำการทูต" ในนโยบายต่างประเทศของไทย เริ่มเห็นได้ชัดเมื่อเกิดการปลุกระดมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2551 แม้ว่าการปลุกระดมของกลุ่มดังกล่าวก่อนปี 2551 นั้น จะเป็นไปในทิศทางของการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังไม่ไปถึงข้อเสนอแบบสุดโต่งมากนัก และในขณะเดียวกันก็ยังไม่มีประเด็นด้านการต่างประเทศที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัด

แม้ในต้นปี 2550 จะเป็นระยะเวลาของการเริ่มขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่ก็ดูเหมือนประเด็นนี้จะยังไม่กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้จะเป็นที่รับรู้ของรัฐบาลก็ตาม

รัฐบาลสมัครดูจะมีความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การเดินทางเยือนพม่า อันเป็นผลจากการให้ความช่วยเหลือของไทยในกรณีที่พม่าต้องประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ในขณะนั้น

และในอีกด้านหนึ่ง การออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่ยอมรับการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารภายในขอบเขตของพื้นที่เหมือนกับพื้นที่ที่รัฐบาลไทยสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลากเส้นกำกับตัวพระวิหารไว้หลังจากคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศในเดือนมิถุนายน 2505 นั้น ได้กลายเป็นโอกาสอย่างดีให้แก่กลุ่มพันธมิตรฯ ฟ้องร้องให้เกิด "การระงับชั่วคราว" ตลอดรวมถึงการฟ้องร้องว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 โดยมีการตีความว่า การออกแถลงการณ์ร่วมถือว่าเป็นเสมือนการทำสนธิสัญญา

ผลก็คือ นำไปสู่การยกเลิกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เพราะถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ! ซึ่งก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศร้าวฉานมากขึ้นในเวลาต่อมา

ในขณะเดียวกัน การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งใช้กรณีปราสาทพระวิหารเป็นการเปิดประเด็น โดยขับเคลื่อนด้วยแนวคิดแบบชาตินิยมสุดขั้ว พร้อมกับการโฆษณาว่า ปราสาทพระวิหารยังคงเป็นของไทย โดยไม่นำพาต่อพัฒนาการในประวัติศาสตร์และคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี 2505

พวกเขาโฆษณาอย่างหนักและโหมกระพือลัทธิชาตินิยม ซึ่งก็ดูจะสอดรับกับบรรดาชนชั้นนำและผู้นำทหารที่ถูกหล่อหลอมให้เชื่อในลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว จนพวกเขาเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และการโหมกระแสอย่างรุนแรงเช่นนี้ จะเป็นโอกาสให้ไทยได้ปราสาทพระวิหารคืนมา และทั้งยังจะเป็นโอกาสของการแสดง "พลังขวาจัด" ให้ประจักษ์ในการเมืองไทย

ซึ่งอาจจะคล้ายกับขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนในปี 2483 ก่อนการเกิดสงครามอินโดจีน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูราวกับว่า บรรดานักชาตินิยมสุดขั้วภายใต้สัญลักษณ์ "กลุ่มเสื้อเหลือง" เหล่านี้ อาจจะคาดหวังด้วยจินตนาการเชิงประวัติศาสตร์ว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะเป็นช่องทางให้แก่กองทัพไทยรุกไปสู่อีกฟากหนึ่งของเส้นเขตแดนอีก เช่น เมื่อครั้งกองทัพไทยในปี 2484 ที่เคยข้างโขงเข้าไปยึดครองดินแดนที่สยามต้องสูญเสียให้แก่ฝรั่งเศสกลับคืนมาด้วยอนุสัญญาโตเกียว 2484

ทิศทางเช่นนี้กลายเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า นโยบายต่างประเทศของไทยโน้มเอียงไปสู่ ความเชื่อในมาตรการทางทหารมากกว่ามาตรการทางการเมือง-การทูต และได้ก่อให้เกิดความหวาดระแวงอย่างมากกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอาจจะนำมาซึ่งการกระทบกระทั่งต่อกันได้ไม่ยากนัก



การเคลื่อนไหวของลัทธิชาตินิยมสุดขั้วเช่นนี้ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเดินอยู่บน "ขอบเหวแห่งสงคราม" จนเกือบจะเกิด "สงครามชายแดน" ไทย-กัมพูชาขึ้นในหลายๆ ครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่ใช่เพียงการใช้กลไกภายในกองทัพเท่านั้น หากแต่ด้วยอิทธิพลของชนชั้นนำ กลไกด้านต่างประเทศของไทยก็เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และการเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังมุ่งไปสู่การ "ด่าทอ" ผู้นำของเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชา ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นลัทธิชาตินิยมสุดขั้วของกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

แล้วในที่สุด กระบวนการล้มรัฐบาลก็เกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด "สลับขั้วการเมือง" โดยการผสมผสานของกระบวนการตุลาการภิวัตน์และเสนาภิวัตน์ รัฐบาลใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยการจัดการของผู้นำทหาร

และน่าสนใจว่า ผู้เข้ามารับผิดชอบงานด้านต่างประเทศมาจากผู้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งก็ยิ่งเท่ากับบ่งบอกถึงทิศทางว่า นโยบายต่างประเทศของไทยก้าวเข้าสู่ "ยุคขวาจัด" อย่างแท้จริง

สัญญาณเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความกังวลให้กับผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศไทยได้ไม่ยากนัก ดังเปรียบเทียบได้จากวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-พม่าในช่วงต้นปี 2544 และ 2545 มาแล้ว และอาการดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นจริงในช่วงปี 2551 และ 2552 จากกรณีปราสาทพระวิหาร และได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่ในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

วิกฤตดังกล่าวยังถูกนำไปผูกโยงกับปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง จากเหตุผลความใกล้ชิดระหว่างผู้นำกัมพูชากับอดีตผู้นำรัฐบาลไทย (กลุ่มอำนาจที่ถูกโค่นจากรัฐประหาร 2549) ทำให้ปัญหาพระวิหารกลายเป็นประเด็นรูปธรรมที่ใช้ในการปลุกระดมได้เป็นอย่างดี

เท่าๆ กับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองตกเป็น "เหยื่อ" ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อโหม "กระแสชาตินิยมสยาม" พร้อมๆ กับการต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่าคู่ขนานกันไป

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศพม่าเองก็ไม่สู้ดีนัก จุดผ่านแดน (ด่าน) ระหว่างประเทศยังคงถูกปิด แม้จะมีความพยายามอธิบายว่า ปัญหาการกระทำดังกล่าวมาจากการเมืองภายในของพม่าเองก็ตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มองไม่เห็นลู่ทางของการเจรจาระหว่างประเทศทั้งสองเท่าใดนักในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะความห่างเหินที่เกิดขึ้นระหว่างผู้นำสองประเทศ

นอกเหนือจากปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน กรณีการจับเครื่องบินขนอาวุธจากเกาหลีเหนือ ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหางานด้านการต่างประเทศของไทยอีกด้านหนึ่งด้วย แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องความมั่นคงมากกว่าเป็นเรื่องการต่างประเทศก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงอย่างไรเสีย ประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานด้านต่างประเทศของไทย

เว้นเสียแต่จะบอกว่าเรื่องนี้ หน่วยงานความมั่นคง "แอบ" เอาไปทำเองหมด โดยไม่ให้กระทรวงการต่างประเทศเข้าไปยุ่ง!

อีกกรณีหนึ่งก็คือการจับบุคคลสัญชาติรัสเซีย วิกเตอร์ บูต (Viktor Bout) ซึ่งก็ดูจะเป็นปัญหาความมั่นคงโดยตรง เพราะเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย (ในฐานะประเทศเจ้าของสัญชาติบุคคล) และสหรัฐอเมริกา (ในฐานะประเทศที่ต้องการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน) และทั้งยังเกี่ยวพันกับทั้งการเมืองภายในและกระบวนการตุลาการภายในของรัฐไทยเอง

ซึ่งก็ทำให้ปัญหานี้กลายเป็นอาการ "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" ของรัฐบาลไทยไปโดยปริยาย โดยเฉพาะบทบาทของบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับผู้นำรัฐบาลไทย

ดังนั้นจึงอาจจะถือได้ว่าเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในงานด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน

สำหรับอีกปัญหาหนึ่งมาจากประเด็น "ตกค้าง" ในความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยเกี่ยวข้องกับเรื่องของการขโมยเพชร และการลอบสังหารบุคคลชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา กลับได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นสู่การเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับสูง

การดำเนินการเช่นนี้ไม่อาจจะพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากการ "ต่างตอบแทน" ในการควบคุมและจัดการกับกลุ่มเสื้อแดงในภาคเหนือ ตลอดรวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้ถูกแต่งตั้งกับคณะรัฐประหาร 2549 จึงทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ถูกสำรองราชการแต่อย่างใด ซึ่งดูจะต่างกับกรณีอื่นๆ ในระบบราชการไทย

แม้ปัญหาจะคลี่คลายจากการตัดสินใจของบุคคลผู้นั้นที่จะถอนตัวจากการรับตำแหน่งในระดับสูงดังกล่าว แต่ก็ยังคงเป็น "ปมปัญหา" ที่ค้างคาใจถึงการดำเนินการของรัฐบาลไทยในกรณีนี้ ซ้ำยังถูกมองได้ว่า รัฐบาลไทยไม่จริงใจในการสะสางปัญหาให้ลุล่วงไปสู่อนาคต

เพื่อที่จะเป็นโอกาสให้ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองได้ฟื้นตัวมากขึ้นจากสภาพที่เป็นอยู่

ผลที่เกิดขึ้นได้สั่นคลอนความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียมากที่สุดนับแต่เมื่อครั้งมีการลดระดับความสัมพันธ์จากเอกอัครราชทูตเหลือเพียงอุปทูตประจำประเทศไทย สภาพเช่นนี้ยังนำไปสู่ความกังวลต่อปัญหาการเดินทางของพี่น้องชาวมุสลิมที่จะไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับองค์กรโอไอซี (OIC) หรือกับปัญหาภาคใต้ในอนาคตได้อีกด้วย



เรื่องราวเหล่านี้เป็นประเด็นหลักๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากจะเปรียบเทียบแล้วอาจจะต้องบอกว่า เครื่องยนต์กลไกด้านต่างประเทศของรัฐนาวาไทยกำลังเกิดอาการ "รวน" อย่างมาก จนแทบไม่อาจขับเคลื่อนประเทศไทยในเวทีสากลได้เท่าใดนัก ประกอบกับการผูกโยงระหว่างการเมืองไทยกับนโยบายต่างประเทศที่ยังคงมุ่งไปสู่การ "จับทักษิณ" เป็นทิศทางหลัก จึงทำให้นโยบายต่างประเทศมีอาการ "ติดกับตัวเอง" ในหลายๆ เรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นเช่นนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองภายในกับงานด้านการต่างประเทศและการทูต ซึ่งจะต้องคิดด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตระหนักว่าอะไรคือผลประโยชน์ของไทยในระยะยาว ที่จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการเสริมสร้างเกียรติภูมิและสถานะของรัฐไทยในเวทีสากล

ปัญหาที่ต้องคิดคำนึงในอนาคตก็คือ งานด้านการต่างประเทศของไทยจะต้องถูกครอบงำด้วยกระแสขวาจัดเช่นนี้ไปอีกนานเท่าใด หรือว่าเราจะยัง "ไล่จับทักษิณ" พร้อมๆ กับทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ภายใต้เข็มมุ่ง "การทหารนำการเมือง" เรื่อยไป จนถึง พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)

เมื่ออาเซียนรวมเป็นหนึ่งเดียว !



+++

19 ก.ย. 2549-19 ก.ย. 2553 (4) คิดให้พ้น 4 ปี ก้าวไปสู่อนาคต
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1574 หน้า 37


"สงครามเริ่มต้นเมื่อเราต้องการ
แต่มันหาได้จบลงเมื่อเราปรารถนาไม่ "
แมคเคียเวลลี
นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี
(ค.ศ.1469-1527)


กล่าวนำ

ในระยะเวลา 4 ปีหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ทั้งเก่าและใหม่ควบคู่กันไป แต่ปัญหาเก่าประการหนึ่งที่ยังคงค้างคาอยู่กับการเมืองไทยนับแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็คือ ปัญหาการปฏิรูปกองทัพไทย และการปฏิรูปเช่นนี้ดำรงอยู่ทั้งในบริบทของการเมืองและการทหาร

แต่ก็คงจะต้องตระหนักถึงความเป็นสัจธรรมของการเมืองไทยว่า การปฏิรูปกองทัพในทางการทหารนั้นว่ายากแล้ว การปฏิรูปกองทัพในทางการเมืองอาจจะยุ่งยากมากกว่า และเราอาจจะต้องยอมรับความเป็นจริงที่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการว่า การปฏิรูปในทางการทหารจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิรูปในทางการเมืองแล้ว มิฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพียงภาพลวงตาและดำรงอยู่อย่างไม่ยั่งยืน หรืออย่างน้อยนักคิดนักทฤษฎีการเมืองไทยจะต้องคิดแบบ "คู่ขนาน" กล่าวคือ จะต้องยอมรับว่า การปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปกองทัพเป็นของคู่กัน และจะแยกพิจารณาเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้

บทเรียนการเมืองไทยในอดีตก็คือ การเห็นแต่ความสำคัญของการปฏิรูปการเมือง แต่ละเลยการปฏิรูปกองทัพ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แม้กองทัพจะถอยตัวออกจากการเมือง (จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) แต่กองทัพก็ไม่ได้ถูกลดทอนความเป็นการเมืองในตัวกองทัพลง (depoliticization) และยังดำรงความเกี่ยวข้องในทางการเมืองไว้ต่อไป จนกลายเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในอนาคต

กุญแจสำคัญของปัญหาเช่นนี้จึงได้แก่ จะต้องสร้างให้ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารเป็นประชาธิปไตยให้ได้ และขณะเดียวกันก็จะต้องทำให้นายทหารในกองทัพเป็นทหารอาชีพให้ได้

บทความต่อไปนี้จึงเป็นการทดลองเสนอแนวคิดคู่ขนาน "ปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูปกองทัพ" โดยจะนำเสนอในกรอบคิดทางทฤษฎีมากกว่าจะเน้นถึงกรณีของไทยหรือของประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นข้อคิดให้เราก้าวข้ามไปสู่อนาคต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องคิดก้าวข้ามวังวนของปัญหาเก่าให้ได้



กรอบทางทฤษฎี

ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของทุกประเทศ ปัญหาประการหนึ่งที่สําคัญที่ต้องการบริหารจัดการให้ได้ก็คือ ประเด็นของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร (civil-military relations) หรืออาจเรียกประเด็นนี้ว่า ปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ แต่หลายประเทศก็ประสบความล้มเหลว และนำไปสู่การกลับคืนของระบอบของทหารในการเมือง

ความสําเร็จในการจัดการปัญหาเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองโดยมีความคาดหวังอย่างง่ายๆ ว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู้ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว (democratic transition) ปัญหาเช่นนี้จะถูกแก้ไขไปเองโดยอัตโนมัติ หรือมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะแก้ไขปัญหาของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารได้ด้วยตนเอง โดยไม่จําเป็นต้องแสวงหายุทธศาสตร์และยุทธวิธีใดๆ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว หรือพิจารณาด้วยความประมาทว่า กองทัพในระยะเวลาเช่นนี้มักจะอ่อนแอในทางการเมือง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกังวลกับปัญหาบทบาทในอนาคต

ความคิดเช่นนี้มีลักษณะ "สุ่มเสี่ยง" อย่างมาก เพราะระบอบการปกครองเดิมก่อนที่จะเกิดระยะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้น มักจะอยู่ในรูปของระบอบอำนาจนิยม (authoritarian regimes) ซึ่งการปกครองของระบอบเช่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม จะมีกองทัพเป็นแกนกลางของอำนาจรัฐ หรือระบอบการปกครองดังกล่าวอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนอย่างมากจากกองทัพ สำหรับกรณีของประเทศกําลังพัฒนาโดยทั่วไป รัฐบาลอำนาจนิยมก็คือรัฐบาลทหารที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีการรัฐประหารนั่นเอง

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ กองทัพซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของระบอบอำนาจนิยม ดังนั้น เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นต้องลดทอนบทบาททางการเมืองของกองทัพลง (depoliticization) เพื่อให้เกิดหลักประกันว่า กองทัพจะไม่กลายเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" อีกในโอกาสข้างหน้า

ในสภาวะเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ในการให้กองทัพถอนตัวออก จากระบบการเมือง เพื่อที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น และ/หรือความเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นประเด็นที่มีความจำเป็นอย่างมาก รัฐบาลพลเรือนในสภาวะเช่นนี้จึงมีความจำเป็นในการกำหนดจังหวะก้าวและทิศทางทางการเมือง อย่างน้อยก็เพื่อให้ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย (democratic breakdown) จนกลายเป็นช่องทางให้กองทัพกลับสู่การมีบทบาทและอำนาจการเมืองอย่างไม่จำกัดอีก

หลายๆ ประเทศไม่ว่าในภูมิภาคละตินอเมริกา ยุโรปใต้ ยุโรปตะวันออก หรือเอเชีย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามากกว่า 2 ทศวรรษแล้ว ได้เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงกระบวนการทางการเมืองที่นำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย บางกรณีเกิดโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเป็นทางผ่าน แต่ในบางกรณีความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบอำนาจนิยมไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและกลับพยายามที่จะคงอำนาจไว้โดยการใช้กองทัพในการปราบปรามทางการเมือง แต่ในที่สุดก็จำยอมต้องสละอำนาจทางการเมืองลง

ไม่ว่าจะมีลักษณะของการเปลี่ยนผ่านอย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันก็คือ ทหารถูกทำให้ต้องถอยออกไปจากการเมือง ดังจะเห็นได้ว่าการถอนตัวของทหารจากการเมือง (military withdrawal from politics) เป็น "ตัวชี้วัด" ที่สําคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (ในทางกลับกันทางทฤษฎีก็คือ การแทรกแซงของทหารในการเมืองเป็นดัชนีหลักของระบอบอํานาจนิยม)

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย (democratic consolidation) การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ จะยิ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก

เพราะจะคิดง่ายๆ ไม่ได้ว่า เมื่อการเมือ งเข้าสู่ช่วงดังกล่าวแล้ว การแทรกแซงของทหารในการเมืองจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือคิดอย่างตายตัวว่า ทหารได้สิ้นสุดการมีอำนาจทางการเมืองแล้วในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องคิดสร้างกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมืองอีกต่อไป

แม้ในภาวะเช่นนี้ยังไม่มีประเทศที่อยู่ในยุคของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยถอยกลับไปสู่ยุคของรัฐบาลทหาร ในอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นเงื่อนไขที่ไม่เอื้อให้ทหารกลับเข้าสู่การยึดอำนาจทางการเมืองเช่นในอดีต ดังจะเห็นได้ว่าโลกาภิวัตน์ได้นําพากระแสการเมืองเสรีนิยมไปสู่ทุกมุมโลก รวมถึงแนวคิดในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ พลเรือน-ทหารให้เป็นประชาธิปไตย เพราะตระหนักว่า การทำให้ระบอบการเมืองแบบเสรีนิยมดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องทำให้กองทัพยอมก้าวเข้าสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยเช่นเดียวกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ

นอกจากนี้ เงื่อนไขทางการทหารภายในประเทศในโลกปัจจุบันก็ไม่ได้เอื้อให้กองทัพมีข้ออ้างที่ชอบธรรมต่อการแทรกแซงการเมืองของประเทศ ระดับของภัยคุกคามในยุคหลังสงครามเย็น หรือยุคหลังจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ภายใน ไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็นปัจจัยที่เอื้อให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเช่นในอดีตได้อีกแต่อย่างใด

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สังคมไม่ได้ต้องการหลักประกันความมั่นคง ด้วยการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในการเมืองของประเทศเช่นในยุคก่อน

หรือกล่าวในอีกมุมหนึ่งก็คือ สังคมไม่มีปัจจัยของ "ความกลัว" เกื้อหนุนให้กองทัพต้องกลับเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ระบบการเมืองจากภัยคุกคามทางทหารของข้าศึก สังคมในโลกหลังสงครามเย็น ดูจะก้าวข้ามจากจุดดังกล่าวไปแล้วในหลายๆ ประเทศ หลักประกันที่สำคัญมาจากการมีเสถียรภาพของระบบการเมืองที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องตัดสินแทนอำนาจปืนต่างหาก

ในภาวะเช่นนี้การทำให้ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นประเด็นที่มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิฉะนั้นแล้ว กองทัพจะถูกปล่อยให้อยู่นอกระบอบการเมืองที่กำลังถูกทําให้เป็นเสรีนิยมมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กองทัพถูกทิ้งไว้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่มี "พิมพ์เขียว" ที่ชัดเจนว่าเราจะกำหนดทิศทางของการพัฒนาทางการเมืองต่อสถาบันทหารอย่างไร

ดังนั้น การพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย จึงจําต้องทําให้ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร เป็นประชาธิปไตยควบคู่กันไปด้วย และการพัฒนาประชาธิปไตยที่ละเลยต่อการทำให้ความสัมพันธ์นี้อยู่ในกรอบของความเป็นประชาธิปไตยด้วยนั้น ก็เท่ากับว่าเรากําลังเปิด "หน้าต่างแห่งโอกาส" ให้ทหารหวนกลับเข้าสู่การแทรกแซงทางการเมืองได้อีก

หรือกล่าวอีกด้านหนึ่งก็คือ การคิดในลักษณะดังกล่าวคือการตกอยู่ใน "ความประมาททางการเมือง"



อนาคต

หากกล่าวโดยสรุปก็คือ การพัฒนาการเมืองที่ปราศจากการพัฒนากองทัพก็คือ การทำลายหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในอนาคตนั่นเอง

กุญแจของความสำเร็จของปัญหาเช่นนี้ก็คือ ด้านหนึ่งจะต้องสร้างให้กองทัพเป็น "ทหาร อาชีพ" (professional soldiers) ให้ได้ และอีกด้านหนึ่งก็คือจะต้องก่อให้เกิดกรอบความคิดในเรื่องของ "การควบคุมโดยพลเรือน" (civilian control) ในระบอบการเมืองแบบการเลือกตั้ง

(ชื่อของแนวคิดเช่นนี้เป็นภาษาในวิชารัฐศาสตร์ และอาจจะทำให้ทหารโดยทั่วไปยอมรับไม่ได้)

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถก่อให้เกิด "การควบคุมโดยพลเรือน" ได้ก็คือ การบอกเป็นนัยไม่แต่เพียงว่า ความสัมพันธ์พลเรือนทหารยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยของรัฐเท่านั้น หากแต่ยังบอกแก่เราในลักษณะของสัญญาณเตือนภัยอีกด้วยว่า โอกาสของการหวนคืนของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ยังคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ตลอดเวลา แม้นจะถูกอธิบายในทางทฤษฎีและปฏิบัติว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยก็ตาม

ยุทธศาสตร์ของกุญแจสองดอกเช่นนี้จึงเป็นภารกิจใหญ่และสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องค้นให้พบ และที่สำคัญก็คือไม่มีสูตรสำเร็จที่จะให้ได้มาซึ่งกุญแจสองดอกนี้ แต่ถ้าหาไม่พบแล้ว โอกาสของการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดความเข้มแข็ง (ในความหมายของประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ) ก็จะยังคงเป็นปัญหาของระบบการเมืองนั้นต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ซึ่งก็คือคำตอบที่บอกแก่เราว่า โอกาสที่ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนย่อมจะเป็นปัญหาในตัวเอง และในขณะเดียวกันก็คือคำตอบในอีกด้านหนึ่งว่า โอกาสที่ทหารจะหวนคืนสู่เวทีการเมือง ยังคงมีความเป็นไปได้อยู่เสมอนั่นเอง !



++

19 ก.ย. 2549-19 ก.ย. 2553 (5) 4 ปีรัฐประหาร (ยังจะถวิลหาอีกหรือ!)
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1575 หน้า 37


"การเมืองก็คือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด
และสงครามก็คือการเมืองที่หลั่งเลือด"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
คำบรรยายในปี ค.ศ. 1938


ชนชั้นนำและผู้นำทหารของไทยมีความเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลาว่า ความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองสามารถแก้ไขด้วยการยึดอำนาจ พวกเขาจึงมีจินตนาการแบบเก่าว่า การยึดอำนาจในความหมายของการ "ล้างไพ่" จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถกลับมาตั้งต้นกันใหม่ได้ และทั้งจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นยุติไปเองโดยปริยาย

เพราะการเมืองหลังการรัฐประหารจะนำมาซึ่งเงื่อนไขและความเป็นไปของการเมืองอีกชุดหนึ่ง หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ พวกเขาเชื่ออย่างมั่นใจว่า การรัฐประหารจะเป็นหนทางของการจัดระเบียบการเมืองใหม่ และจะนำมาซึ่งเสถียรภาพอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้เกิดความสามารถในการควบคุมระบบการเมืองไว้ให้เป็นไปตามทิศทางที่พวกเขาต้องการได้

และที่สำคัญก็คือ ผลของการยึดอำนาจจะไม่เป็นปัจจัยบั่นทอนอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำหรือผู้นำทหารแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม ผลของการรัฐประหารกลับทำให้อำนาจของกลุ่มพลังเหล่านี้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในอดีตพวกเขาสามารถผลักดันการเมืองไทยในทิศทางเช่นนี้ได้โดยไม่ยากนัก เพราะแรงต่อต้านหรือความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอกระบบไม่ได้มีความรุนแรง หรือกลายเป็นปัจจัยที่น่าจะต้องกังวลแต่อย่างใด


แม้จะมีบทเรียนมาแล้ว จากรัฐประหารในกรณี 6 ตุลาคม 2519 อันเป็นการยึดอำนาจเพื่อกวาดล้างขบวนการนิสิตนักศึกษาและกลุ่มการเมืองปีกซ้าย ที่ก่อตั้งขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในที่สุดแล้วชนชั้นนำและผู้นำทหารตัดสินใจ "ล้อมปราบ" และใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาที่บริเวณสนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย เพราะศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมในขณะนั้น ไม่ใช่องค์กรติดอาวุธที่จะสามารถต้านทานการล้อมปราบที่เกิดขึ้นได้

หากแต่รัฐบาลที่ถือกำเนิดขึ้นจากการปราบปรามในกรณีดังกล่าว แม้จะดูเหมือนควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพฯ ได้ แต่ปัญหากลับไปปะทุในชนบท เมื่อประชาชนและนิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมากตัดสินใจเดินทางเข้าสู่ชนบท เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนนำไปสู่แนวโน้มของสงครามกลางเมืองในไทยอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา

แต่ในที่สุด ความท้าทายก็เกิดขึ้นเมื่อปัจจัยภายในและภายนอกต่างก็ไม่ปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยก้าวไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลขวาจัดกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะหลายๆ ฝ่ายตระหนักดีว่า สงครามดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเหมือนเช่นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลปีกขวาในอินโดจีนในปี 2518

ผู้นำทหารบางส่วน กลุ่มพลังทางสังคม ตลอดรวมถึงปัจจัยจากภายนอกบางส่วนต่างก็ร่วมกันผลักดันให้การเมืองไทยถอยกลับสู่ภาวะปกติให้ได้ ดังนั้นในที่สุดแล้ว ผู้นำทหารในส่วนนี้จึงตัดสินใจยุติการเมืองชุดนี้ด้วยการยึดอำนาจในเดือนตุลาคม 2520

ต้องยอมรับว่าผลของรัฐประหารดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้การเมืองถอยออกจาก "นโยบายขวาจัด" และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือดในปี 2519

ซึ่งในกรณีนี้เราอาจจะต้องให้เครดิตกับคนอย่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และกลุ่มทหารบางส่วนที่กล้าตัดสินใจหยุดนโยบายขวาจัดของชนชั้นนำ ก่อนที่ไทยจะกลายเป็นหมากโดมิโนตัวที่ 4 หลังจากการล่มสลายของสามประเทศในอินโดจีน



หลังจากรัฐประหารในปี 2519 และ 2520 แล้ว ความสำเร็จของรัฐประหารก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2534 ด้วยปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยระหว่างผู้นำทหารกับผู้นำรัฐบาลพลเรือน และจบลงด้วยการยึดอำนาจอีกเช่นเคย

ซึ่งก็คล้ายคลึงกับอดีต รัฐประหารที่เกิดขึ้นดูจะสามารถควบคุมระบบการเมืองไทยได้ แต่เมื่อผู้นำทหารพยายามจะควบคุมการเมืองหลังจากการเลือกตั้งแล้ว กลับเป็นว่า พวกเขาต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างมาก

การนำพาประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ยังทำให้เกิดการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งหมด หรือที่กล่าวกันเล่นๆ ว่า "ยกโทษให้ทั้งกับผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่า" พร้อมกันไป แม้จะมีเสียงเรียกร้องว่า ไม่ควรนิรโทษให้แก่บรรดา "นักฆ่า" ก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญในเวลาต่อมาก็คือ การเปิดรับ "พลพรรคจากป่า" ที่เดินทางกลับสู่เมืองพร้อมกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์

ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีส่วนอย่างสำคัญต่อการทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในการเมืองไทยในเวลาต่อมา ไม่ใช่เกิดจากการรัฐประหารที่เข้ามาควบคุมการเมือง

วิกฤตการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อำนาจในการควบคุมระบบการเมืองของกองทัพดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และเมื่อกลุ่มพลังทางสังคมซึ่งมีส่วนประกอบหลักจากชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อ และเอ็นจีโอ ตัดสินใจ "ท้าทาย" ต่ออำนาจของทหารในการเมืองแล้ว การปราบปรามที่เกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 ก็กลับกลายเป็น "ตัวเร่ง" ที่ทำให้กองทัพหมดความชอบธรรมทางการเมืองลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องลดบทบาทลงในเวลาต่อมา

ในปี 2535 ก็เช่นกันที่เสถียรภาพทางการเมืองไม่ได้ถูกสร้างจากการมีอำนาจของทหาร หากแต่ถูกผลิตจากการถอนตัวของทหารออกจากการเมือง อันนำไปสู่ความพยายามที่จะสร้างรากฐานของประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) ที่มีการเลือกตั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและหยั่งรากลึกลงในสังคมไทยให้ได้

และการต่อสู้เพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความพยายามดังกล่าว



จากปรากฏการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ในที่สุดแล้ว รัฐประหารไม่ได้เป็นไปดังความคาดหวัง ไม่ว่าจะของผู้นำทหาร หรือของชนชั้นนำที่เชื่อเอาเองว่า รัฐประหารจะเป็นเครื่องมือของการสร้างเสถียรภาพและยุติความขัดแย้งในการเมืองไทยได้ พวกเขาดูจะไม่ใส่ใจกับความเป็นจริงว่า เสถียรภาพหวนกลับคืนมาจากการตัดสินใจ "เปิดระบบการเมือง" ให้การได้มาซึ่งอำนาจการเมืองถูกตัดสินจากการออกเสียงของประชาชนที่ผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่จากอำนาจของ "ดาบปลายปืน"

เพราะอำนาจรัฐที่มีกระบวนการดังกล่าวรองรับที่แม้จะเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่ก็คาดหวังได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขด้วยระบบรัฐสภาและภายในรัฐสภา เช่น เมื่อรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ฝ่ายบริหารก็จะต้องลาออก หรือถ้ารัฐบาลเริ่มรู้สึกว่าเสียงสนับสนุนตนลดลง ก็อาจจะใช้การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นทางเลือก หรือถ้ามากกว่านั้นก็อาจจะใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการยุบสภา พร้อมกับเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ซึ่งถ้าเราอดทนได้กับกลไกรัฐสภาเช่นนี้แล้ว เสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาวก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด โดยเราอาจจะยอมให้กลไกรัฐสภาเป็นปัจจัยในการจัดการกับปัญหา เพราะในท้ายที่สุด ถ้าทำอะไรไม่ได้เลย ก็ถอยกลับด้วยการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน โดยวิธีเปิดการเลือกตั้งใหม่อีก

กระบวนการทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ เป็นพื้นฐานที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง (ถ้าเราเชื่อว่าความต่อเนื่องทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ) และที่สำคัญก็คือ หากเกิดปัญหาในลักษณะหนึ่งลักษณะใดขึ้น ก็คาดหวังว่ากระบวนการเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงในการแก้ปัญหา ดังที่กล่าวเป็นหลักการว่า ปัญหาการเมือง (หรือรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ก็ตาม) จะต้องแก้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกลไกรัฐสภา หรือโดยอาศัยกรอบของรัฐสภา อันทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อแนวความคิดที่ว่า รัฐสภาเป็นเวทีของการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศ

การกล่าวเช่นนี้มิได้ปฏิเสธต่อสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของการชุมนุมอย่างสงบ เพราะสำหรับรัฐประชาธิปไตยแล้ว สิทธิดังกล่าวจะต้องได้รับการค้ำประกันโดยรัฐ ดังนั้น การยอมรับให้รัฐสภาเป็นเวทีของการแก้ปัญหาทางการเมืองจึงมิได้ปฏิเสธการชุมนุมบนท้องถนน

และแม้จะเกิดความรุนแรงขึ้นในลักษณะใดก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐในการจะควบคุมการชุมนุมดังกล่าวให้ได้

แน่นอนว่าการให้สิทธิเช่นนี้แก่รัฐ ก็มิใช่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐมีเอกสิทธิในการใช้กำลังเข้าจัดการสลายฝูงชน จนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก

ประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องแสวงหาข้อยุติในทางหนึ่งทางใดให้ได้ ดังนั้น ในสังคมที่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว เราจะเห็นได้ถึงกรอบและขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนในการควบคุมฝูงชน (riot control) และไม่ได้ถือว่า การชุมนุมของฝูงชนเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมืองอย่างร้ายแรงจนต้องนำไปสู่การยึดอำนาจแต่ประการใด

ดังจะเห็นได้ว่า ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก แม้จะมีฝูงชนออกมาก่อเหตุจลาจล จนไปถึงขั้นปะทะกับกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็ไม่กลายเป็นเงื่อนไขที่เป็นข้ออ้างให้ผู้นำทหารทำรัฐประหาร



ถ้าพิจารณาปัญหาในมุมมองเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่า รัฐยังคงดำรงสิทธิและหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนเมื่อเกิดการชุมนุมขึ้น แต่ก็มิได้กลายเป็นข้ออ้างให้รัฐมี "สิทธิพิเศษ" ในการใช้กำลังในระบอบประชาธิปไตย และมิได้มีนัยเป็นอย่างอื่นว่า การดำรงสิทธิและหน้าที่ดังกล่าวให้ได้นั้น รัฐสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดเช่นนี้ เป็นประเด็นที่สังคมจะต้องแสวงหาเพื่อกำหนดเป็นกรอบและแนวทางของการบริหารจัดการวิกฤตในอนาคต

กล่าวคือ สังคมประชาธิปไตยจะต้องไม่ปล่อยให้การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในจากการชุมนุมของฝูงชนกลายเป็นข้ออ้างของการยึดอำนาจ

นอกจากนี้ สังคมอาจต้องการองค์กรหรือสถาบันบางส่วนที่จะมีบทบาทในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งภายใน มิใช่จะปล่อยให้ความขัดแย้งที่แม้ด้านหนึ่งจะได้อาศัยกลไกรัฐสภาในการแก้ไขก็ตาม แต่ก็ยังต้องการกลไกในภาคประชาสังคมที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาความขัดแย้งดังกล่าวให้ลดระดับลง เพราะจะต้องยอมรับเป็นหลักการในเบื้องต้นว่าประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ยอมรับต่อการดำรงอยู่ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวทีการเมือง และพยายามใช้กลไกปกติของการเมืองในระบบเปิดเป็นเครื่องมือในการแก้ไข

แน่นอนว่าการดำเนินการด้วยกลไกเช่นนี้อาจจะไม่ทันใจ และอาจจะต้องใช้ระยะเวลา แต่ก็ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นในระบบเปิด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ลักษณะเช่นนี้จะมีส่วนช่วยโดยตรงในการทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่กลายเป็นเรื่องปกปิด หรือซ่อนเร้น และปะทุกลายเป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่และรุนแรง อันจะกลายเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารใช้เป็นประเด็นในการรัฐประหารได้เรื่อยไป

ดังนั้น บทเรียนสี่ปีหลังจากการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย น่าจะทำให้ถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดถึงเรื่องของ "รัฐประหาร" อย่างจริงจัง

หรืออย่างน้อยก็น่าจะต้องถึงเวลาของการชำระทัศนคติเก่าที่ยังคงเชื่อว่า รัฐประหารเป็นของคู่กับการเมืองไทย และเมื่อเราไม่ชอบรัฐบาลใด ก็คอย "ยุ" ให้ทหารเอากำลังออกมาล้มรัฐบาลนั้น

แน่นอนว่า วิธีคิดเช่นนี้ "รวดเร็วและสะใจ" แต่ก็ทำให้รัฐประหารกลายเป็น "ผีร้าย" ที่คอยหลอกหลอนการเมืองไทยไม่หยุด...จนแม้วันนี้ก็ยังคงมีข่าวลือเรื่องรัฐประหารไม่เปลี่ยนแปลง!


.