.
ฟื้น "เหมืองฝาย" ปัดฝุ่น "กฎหมายมังรายศาสตร์" (1)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 76
ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ในทุกๆ รอบ 30 หรือ 40 ปีนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยแต่ไหนแต่ไรมาพอจะรับได้ ด้วยเข้าใจวิถีชีวิตของคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตลุ่มน้ำ ย่อมรับรู้รอบโคจรของธรรมชาติเป็นอย่างดี
หรือหากน้ำจะท่วมทุกปี ปีละนิดละหน่อย ในระยะเวลาวันสองวันแล้วลดก็ไม่แปลกอะไรนัก
แต่สังเกตว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดเหตุน้ำท่วมขังสูงถึงหลังคาบ้านแต่ละคราวนานร่วมเดือน ไม่เพียงแต่ที่ราบลุ่มภาคกลางเท่านั้น
แต่เหตุการณ์นี้กลับเกิดขึ้นในเขตพื้นที่สูงหลายจังหวัดแถบเชียงใหม่ ลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ.2548 รวมทั้งปีนี้เป็นไปได้อย่างไรกันที่น้ำจากหุบเขาสูงเมืองเหนือ ไม่มีทางไหลระบายลงไปสู่ที่ลุ่มต่ำ
ฝ่ายรัฐบาลโทษว่าเป็นเพราะ "เหมืองฝาย" โบราณเก่าคร่ำล้าสมัยไม่ทันยุคเทคโนแครตหลายแห่ง ที่ตั้งขวางกั้นลำน้ำปิงนั่นเอง จำต้องทุบทิ้งแล้วเปลี่ยนมาเป็นประตูระบายน้ำสมัยใหม่แทน
ส่วนชาวบ้านย้อนกลับว่า เป็นเพราะรัฐบาลมั่วสร้างเขื่อนเลอะเทอะ แถมยังละเลยผู้บุกรุกพื้นที่สองฟากแม่น้ำปิงมานานกว่า 30 ปี ปล่อยให้สร้างท่าเรือ-โรงแรมหรู สนองนโยบายด้านท่องเที่ยว ทำให้ทางไหลของแม่ปิงคับแคบตื้นเขิน
วิวาทะเรื่องจะเอา "ประตูระบายน้ำ 800 ล้าน" หรือจะทวง "เหมืองฝายภูมิปัญญาดั้งเดิม" กลับคืนสู่ชุมชน พลันดังกระหึ่มขึ้นท่ามกลางกลุ่มนักอนุรักษ์ท้องถิ่นตลอดห้วง 7 ปีที่ผ่านมา
เหมืองฝาย มรดกหริภุญไชย
ตกทอดแก่ชาวไทล้านนา
"เหมืองฝาย" มีมาช้านานกว่า 1,400 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อเกิดอาณาจักรหริภุญไชย เมื่อชุมชนเปลี่ยนวิถีชีวิตเลิกทำพืชไร่ที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปมา ระบบเหมืองฝายจึงเริ่มมีขึ้นเพื่อใช้ในการทำนาข้าวและพืชสวน โดยชาวเม็ง-ชาวลัวะพื้นถิ่นยุคหริภุญไชยเป็นผู้บุกเบิกคิดค้น
หัวใจของเหมืองฝายคือการกระจายและแบ่งปันน้ำใช้อย่างเท่าเทียมไม่เลือกรวยจน ตั้งแต่ลำน้ำสายใหญ่ผันมาสู่ลำเหมืองย่อยๆ จนสุดปลายหมู่บ้าน
ที่ใดมีเหมืองฝาย ฤดูแล้งน้ำจะไม่แล้ง และฤดูฝนน้ำจะไม่ท่วม เพราะเมืองฝายเปรียบเสมือนท่อระบายน้ำที่ช่วยลำเลียงให้สายน้ำได้กระจายสู่พื้นที่ลุ่ม ไม่ไหลเชี่ยวกรากทะลักทลาย แต่จะค่อยๆ เลาะเลี้ยวเข้าสู่ลำเหมืองเล็กๆ ที่ต่อเข้าพื้นที่เกษตร หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
เหมืองฝายในประวัติศาสตร์มีขึ้นเมื่อไหร่
ศิลาจารึกสมัยหริภุญไชยหลัก ลพ.2 ของพระญาสวาธิสิทธิ เขียนเมื่อ พ.ศ.1600 เศษ พบที่วัดจามเทวี จ.ลำพูน มีการกล่าวถึงกษัตริย์นามว่า "ตชุ" โปรดให้สร้างสถานที่สรงน้ำสำหรับพระสงฆ์ จำนวน 25 แห่ง ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งสร้างพนัง 125 พนัง
เมื่อวิเคราะห์ข้อความตอนนี้แล้ว สันนิษฐานว่าสถานที่สรงน้ำดังกล่าวคงอยู่หลังวัดจามเทวีออกไปทางทิศตะวันตก (เลยโรงพยาบาลลำพูนปัจจุบัน) ราว 200 เมตร เนื่องจากได้พบลำเหมืองกว้างประมาณ 20 เมตร ชักน้ำมาจากลำน้ำปิง ผ่านหลังวัดจามเทวีไปออกแม่น้ำปิงที่บ้านสบทา
ซึ่งลำเหมืองเส้นนี้มีสภาพเก่าแก่มาก และน่าจะเป็นต้นแบบให้แก่ลำเหมืองทั่วล้านนาในยุคต่อๆ มา
เรื่องราวเกี่ยวกับ "เหมืองฝาย" ปรากฏชัดยิ่งขึ้นในฉากอวสานของอาณาจักรหริภุญไชย กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ "พระญาญีบา" (ยี่บา) ผู้ถูกขุนนางนามว่า "อ้ายฟ้า" แห่งหิรัญนครเงินยาง (เชียงราย) ของพระญามังราย หลอกทำลายเมืองลำพูนด้วยสนับสนุนอุบายการสร้าง "เหมืองฝาย"
อ้ายฟ้าอาสาตัวมาสืบราชการลับในฐานะ "จารบุรุษ" ณ ราชสำนักหริภุญไชย พระญาญีบาหลงกล มอบตำแหน่งสำคัญให้ในระดับเสนาบดีหรือสมุหกลาโหม หากเทียบกับยุคนี้คงต้องเป็นทั้ง "องคมนตรี" ควบ "นายกรัฐมนตรี" แบบทูอินวัน เพราะสามารถสั่งให้พระญาญีบา "ซ้ายหันขวาหัน" ได้ดั่งใจประสงค์
แผนทำลายอาณาจักรหริภุญไชยอารยธรรมแม่อันรุ่งโรจน์ คงมิใช่เรื่องง่ายที่อ้ายฟ้าจักพิชิตให้สำเร็จในเร็ววัน อ้ายฟ้าแอบวาดฝันไว้อย่างแยบยล หริภุญไชยจักถึงแก่อวสานกาลได้เพียงสถานเดียว นั่นคือต้องยุยงให้ไพร่ฟ้าชิงชังกษัตริย์!
วิเทโศบายของอ้ายฟ้าตลอดระยะเวลา 7 ปี คือการบังคับกะเกณฑ์แรงงานไพร่มาสู่แรงงานทาส ด้วยอภิมหาโปรเจ็กต์ โดยอ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นโครงการพระราชดำริ
บาดแผลร้าวลึกที่ยังเห็นร่องรอยอยู่ตราบจนทุกวันนี้ คือเหมืองฝายที่ขุดด้วยมือ อ้ายฟ้าออกคำสั่งให้ชายฉกรรจ์กว่าหมื่นชีวิตเดินหน้าขุดสร้าง "เหมืองฝาย" ด้วยระยะทางยาวเหยียด เริ่มจากใจกลางเมืองลำพูน เลาะเลียบแม่น้ำปิงเก่า สู่แม่น้ำกวงฟากตะวันออก เข้าเขตสารภี สันกำแพง ดอยสะเก็ด สันทราย แม่ริม และจบลงที่แม่แตง
ปัจจุบันเรายังคงเรียกลำเหมืองตลอดเส้นทางนี้ว่า "เหมืองแข็ง" หรือเหมืองมรณะ เหตุเพราะไพร่หริภุญไชยต้องเดินเท้าจากลำพูนเลาะเลียบเชิงดอยหลายร้อยลูกที่เต็มไปด้วยหินแข็งคม สมัยนั้นไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีช่วยทุ่นแรง มีแต่จอบเสียมกับขวานสกัดหินเท่านั้น
แรงงานทาสต้องตะลอนๆ ขุดเหมืองจนมือไม้ถลอกปอกเปิก เกิดอดอยากข้าวปลาอาหาร ถึงแก่ล้มตายด้วยทุกขเวทนา
ขุดเหมืองฝายแห่งนี้เสร็จ ยังมิทันได้ผ่อนพัก ต้องถูกเกณฑ์ไปขุดที่อื่นต่อ ดังที่ตำนานพรรณนาว่า
"เมื่อถึงฤดูร้อน ขุดดินออกเป็นประกายไฟ อ้ายฟ้าปล่อยให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายมาขุดให้เป็นเหมือง ไปต่อเอาแม่น้ำปิงเหนือสบแม่แตง ผ่านวันออกล่องมายาวหมื่นเจ็ดพันวา (17,000 วา ประมาณ 15 กิโลเมตร) คนทั้งหลายมาขุดเหมืองอันนั้น ร้อนไหม้ลำบากมากนัก มาโอดครวญอ้ายฟ้า อ้ายฟ้าว่าสูอย่าคราง แล้วให้ขุดต่อตลอดจบสิ้นฤดูร้อน"
การก้มหน้าก้มตาขุดเหมืองฝายอย่างไม่บันยะบันยังตลอดช่วงคิมหันตฤดูต่อเนื่องกัน 7 ปี ส่งผลให้ไพร่ฟ้าหน้าดำพากันเกลียดชังและสาปแช่งกษัตริย์ญีบาเหลือสุดจะทนไหว เข้าทางตามแผนการที่ - "วัสสการพราหมณ์แห่งลุ่มแม่น้ำกก" วางไว้สมประสงค์ เมื่อสถานการณ์สุกงอมเต็มที่แล้ว อ้ายฟ้าจึงส่งข่าวแจ้งไปยังพระญามังรายให้กรีธาทัพมาย่ำยีลำพูนผู้อ่อนโรย
แทนที่ชาวหริภุญไชยจะลุกฮือขึ้นต่อสู้ ช่วยพระญาญีบาออกรบเพื่อป้องกันพระนคร กลับนิ่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ซ้ำแถมไพร่พลไม่น้อยยังเอาใจออกห่าง กลับไปยืนอยู่ฝ่ายอริอีก
น่าสนใจยิ่งนัก ที่แรงงานไพร่หริภุญไชย ไม่ไยดีกับคำว่า "กู้ชาติ" หรือ "สู้เพื่อพ่อเมืองของแผ่นดิน" กลับคิดอยู่แต่เพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะสิ้นสุดสภาพของการเป็นแรงงานทาสในการขุดเหมืองฝาย!
ในแง่หนึ่ง เหมืองฝายที่ชาวล้านนาได้รับมรดกตกทอดมาจากชาวหริภุญไชยนั้น ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์นานหลายศตวรรษ
แต่พึงควรสำเหนียกไว้ด้วยว่า กว่าจะได้เหมืองฝายเหล่านี้มา มันคือสัญลักษณ์ของหยาดเลือด หยดน้ำตา และความตาย สมควรแล้วล่ะหรือที่จะรื้อทำลายมันลงด้วยความมักง่าย ?
++
ฟื้น "เหมืองฝาย" ปัดฝุ่น "กฎหมายมังรายศาสตร์" (จบ)
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 76
ศักดิ์สิทธิ์แห่งเหมืองฝาย ในกฎหมายมังรายศาสตร์
หลังจากได้หริภุญไชยไว้ในอำนาจแล้ว พระญามังรายประทับอยู่เพียงแค่ 2 ปี จึงยกให้อ้ายฟ้าปกครอง ด้วยเห็นว่าหริภุญไชยเบียดแน่นไปด้วยวัดวาอารามไม่สามารถขยายได้ เหมาะแก่การเป็นเมืองพุทธศาสนามากกว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง
พระญามังรายได้ย้ายไปสร้างเมืองใหม่แห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน ตรงบริเวณที่แม่น้ำปิงกับกวงไหลมาบรรจบกัน
ปัจจุบันคือแถวสบปิงหลิ่งห้า ใกล้วัดศรีบุญยืน แถวเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน มีชื่อว่า เมืองชะแว่ หรือ "แจ้เจียงกุ๋ม"
เมืองนี้ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นเมืองที่ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจนวัวควายหมูไก่ล้มตาย พระญามังรายอยู่ได้เพียงสามปี จำต้องย้ายมาสร้างเวียงกุมกามแทน
เวียงกุมกามนั้นตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม พื้นดินอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำปิงไหลผ่าน พระญามังรายได้ให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน "แล้วไขน้ำแม่ระมิงค์เข้าใส่ "
ทรงประทับอยู่ที่เวียงกุมกามได้เพียง 5 ปี ปรากฏว่าในฤดูฝนเกิดน้ำท่วมเมืองอีก ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เวียงกุมกามจึงไม่เหมาะจะเป็นเมืองหลวงถาวร จึงทรงแสวงหาสถานที่ที่มีชัยภูมิอันควรแก่การตั้งเมืองใหม่ เพื่อจะให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรล้านนาที่มั่นคงแทน นั่นคือเมืองเชียงใหม่
จากการที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติน้ำท่วมครั้งแล้วครั้งเล่าของพระญามังราย น่าจะเป็นสาเหตุหลักให้ทรงหันมาสนพระทัยในระบบเหมืองฝาย ภูมิปัญญาดั้งเดิมของอาณาจักรหริภุญไชย ว่าเหตุไรเมืองที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเช่นลำพูนจึงไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมเมือง
พระญามังรายทรงสร้างตลาดและสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่เวียงกุมกาม พร้อมเร่งสร้างเหมืองฝายหลายแห่งเพื่อทดน้ำไปใช้ในการเกษตร
ฝายโบราณเหล่านี้ที่ยังคงหลงเหลือมาจวบปัจจุบันและทำท่าว่าจะถูกภาครัฐรื้อทิ้ง โดยอ้างว่าเป็นต้นตอของการทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
นอกจากนี้ ยังทรงสร้างทำนบกั้นน้ำขนาดใหญ่ยาวถึง 30 กิโลเมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วมเวียงกุมกาม จะว่าไปแล้ว เห็นสมควรที่พระญามังรายควรได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้บุกเบิกการทำ "ชลประทาน" ครั้งแรกของประเทศไทย
เมื่อพระญามังรายขยายราชอาณาจักรล้านนาไปยังเขตพื้นที่ตอนในหุบเขาระหว่างโขง-สาละวิน ทรงควบคุมเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ โปรดให้แว่นแคว้นแดนดินใต้ปกครองดำเนินการขุดเหมืองฝายด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถจัดการน้ำได้ดี
พร้อมๆ กับระบบจัดการคนไปในตัว บนแผ่นดินที่เน้นวัฒนธรรมเกษตรกรรม
เหตุที่กล่าวว่าระบบเหมืองฝายมีส่วนใช้เป็นกลไกในการควบคุมปกครองกำลังคนนั้น เห็นได้จากข้อความใน "กฎหมายมังรายศาสตร์" ซึ่งพระญามังรายทรงตราไว้ว่า เหมืองฝายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ต้องร่วมกันดูแล จัดการแบ่งปันน้ำ โดยเคารพกันตามระบบอาวุโส ผู้ดูแลสูงสุดเรียกกันว่า "แก่ฝาย" รองลงมาเรียก "แก่เหมือง" คนเหล่านี้ต้องจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมให้แก่ทุกครัวเรือน
เหมืองฝายอยู่ได้ด้วยระบบการพึ่งพาอาศัยกันอย่างแท้จริง นับแต่การเริ่มสร้างฝาย ชายฉกรรจ์หลายร้อยคนต้องขนไม้ไผ่จำนวนนับหมื่นเล่มพร้อมกองฟาง ดำลงไปในน้ำที่ลึกจนถึงก้นบึ้งเพื่อตอกหลักใต้น้ำให้เรียงกันเป็นตับ เรียกว่า "หลักฝาย"
หลังจากที่ได้หลักฝายแล้ว ก็จะช่วยกันขนก้อนหินมาโยนทิ้งลงตามแนวหลักฝายนั้นเพื่อให้กระแสน้ำที่หลากหลั่งอย่างรุนแรงเกิดการชะลอตัวลง เพื่อจะได้จ่ายน้ำไปยังลำเหมืองสองฟากฝั่ง
เมื่อสร้างฝายเสร็จ ก็ต้องช่วยกันรักษาซ่อมแซมฝาย แบ่งปันน้ำกันใช้ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเหมืองตลอดปลายเหมือง ตามที่กฎหมายมังรายศาสตร์ได้ระบุไว้ว่า
"มาตรา 1 ควรจัดให้ไพร่มีเวลาผลัดเปลี่ยนกันมาทำงานหลวง 10 วัน กลับไปสร้างเหมืองฝาย ไร่นาสวนเรือกที่ดิน 10 วัน จัดเช่นนี้ถูกตามทำนองคลองธรรมแต่โบราณแล"
สรุปแล้วในแต่ละเดือน ไพร่จะมีอิสระหยุดพักทำไร่ทำสวนของตัวเองอยู่ 10 วัน
กฎหมายมังรายศาสตร์ยังมีการกล่าวถึงคลองเมือง 9 ประการที่ห้ามกระทำ ถือเป็นโทษสถานหนัก ให้ประหารชีวิต หนึ่งในเก้านั้นมีโทษ
"ผู้ใดถมเหมือง ทำลายฝาย ให้ฆ่ามันทิ้งเสีย เพราะมันทำลายอู่ข้าวอู่น้ำของบ้านเมือง"
น้ำท่วมกลางเมือง
เหมืองฝายไม่ใช่ต้นเหตุ
การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก ได้ข้อสรุปจากหลายเวทีเสวนาว่าอันที่จริงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย ก็เพียงแค่ภาครัฐหันมาเคารพสิทธิและภูมิปัญญาของคนในอดีต เอาลำเหมืองคืนกลับมาให้ชาวไร่ชาวนา เลิกถลุงงบกับเขื่อนยักษ์หรือพนังกั้นริมตลิ่ง แต่ควรหันมาฟื้นฟูเหมืองฝายโบราณที่ถูกทอดทิ้งนั้นแทน
ทุกวันนี้เราประสบปัญหาฤดูแล้งขาดน้ำ และฤดูฝนน้ำท่วมขังภายในชั่วพริบตา เหตุเพราะถนนที่สร้างขึ้นใหม่สูงลิบลิ่วนั่น ได้กลายมาเป็นเขื่อนกั้นน้ำตัดทางไหลของลำเหมืองเสียเอง
ปัญหาเรื่องรัฐจะรื้อ "เหมืองฝาย" ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระญามังราย แล้วสร้างประตูระบายน้ำในลักษณะ Mega Project แทนที่นั้น ถกเถียงกันอย่างยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนานก่อนมีการรัฐประหารปี 2549 ซึ่งรัฐบาลขิงแก่ที่แต่งตั้งโดย คมช. ได้ใช้วิวาทะนี้มาเป็นหนึ่งในข้ออ้างว่า
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างความล้มเหลวของรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำการละเมิดสิทธิชุมชน ด้วยการเห็นแก่ผลประโยชน์ด้านการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ ภายใต้โครงการฝันหวานที่หวังจะเชื่อมเส้นทางล่องแม่ปิงจากเชียงใหม่ไปขึ้นท่าเรือที่เวียงกุมกาม ทว่า ไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้น ก็เพราะมีเหมืองฝายเป็นอุปสรรคขัดขวาง
นำไปสู่สงครามขั้นแตกหักระหว่าง NGO สายอนุรักษ์ท้องถิ่นที่ประกาศไม่ญาติดีกับทักษิณ ตั้งแต่บัดนั้น น่าแปลกใจยิ่งที่คนมีอุดมการณ์หลายองค์กรไม่สนใจและมองข้ามปัญหาการเมืองเรื่องรัฐประหารโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าเป็นการขาดความชอบธรรมของอีกฝ่ายเช่นกัน
ปี พ.ศ.2554 น้ำยังคงท่วมเชียงใหม่ ลำพูน ตลอดจนภาคเหนือ อีสาน กลาง ในหลายๆ พื้นที่ รัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นเสมือนเงาของพรรคไทยรักไทย จะไม่ลองหันมาจับเข่าคุยกันกับ NGO ผู้คัดค้านการถลุงงบฯ มหาศาลที่รัฐจะสร้างประตูระบายน้ำคอนกรีตขวางลำน้ำปิงสักหน่อยบ้างหรือ บางทีคนที่ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นศัตรูที่ถาวรนั้นอาจหันมากลายเป็นแนวร่วมพิทักษ์ชุมชนที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
ไหนๆ นายกฯ คนใหม่ก็เป็นชาวล้านนา จึงไม่ควรลืมภาษิตบทหนึ่งที่กล่าวว่า "มีนาจั่งมีเหมือง มีเมืองจั่งมีต๊าว"
ลองหันมามอง "เหมืองฝาย" ...ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านที่มีระบบจัดการน้ำ และจัดการคน สืบต่อกันมานับพันกว่าปี จนมีกฎหมายรองรับ และกฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกนั่นคือ "กฎหมายมังรายศาสตร์"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย