http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-12

บทความด้านนโบายเศรษฐกิจ ก.ย.2554

.

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ "หวังว่า ธปท.จะฉลาดขึ้นไม่ทำอย่างเดิม"
โดย วีรพงษ์ รามางกูร คอลัมน์ คนเดินตรอก
ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12-14 กันยายน 2554


ข่าวความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังเรื่องหนึ่ง ก็คือ รัฐบาลมีนโยบายจะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือรัฐบาลแปลเป็นภาษาฝรั่งว่า Sovereign Wealth Fund เป็นอย่างไรรัฐมนตรีคลังยังไม่ได้บอกให้ทราบ แต่ก็คงต้องแก้กฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.เงินตรา ออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนดังกล่าวให้เป็นนิติบุคคลต่างหากจาก ธปท.

เรื่องอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นั้น เขียนให้ผู้ว่าการฯเป็นอิสระอย่างสุดโต่ง ไม่มีการคานอำนาจระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเลย

ดังนั้น เรื่องนโยบายการเงิน การบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เรื่องการกำกับสถาบันการเงิน รัฐมนตรีคลังไม่สามารถจะรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ เพราะไม่ได้กำกับ ธปท. ขณะเดียวกันผู้ว่าการ ธปท.ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย ทั้ง ๆ ที่ธปท.เคยทำความเสียหายให้กับประเทศชาติยับเยินมานับครั้งไม่ถ้วน ครั้งสุดท้ายเคยออกกฎ ธปท.บังคับให้ผู้นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาตั้งสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ วันเดียวหุ้นตกไป 100 กว่าจุด วันรุ่งขึ้นตกต่ออีก 60 จุด ผู้ว่าการฯสบายดี ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

งานที่เป็นหน้าที่ของ ธปท.เอง ได้แก่ นโยบายการเงิน และงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง อันได้แก่ การบริหารทุนสำรองเงินตราและการออกบัตรหรือออกธนบัตร การกำกับสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ก็เหลือแต่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนบริษัทเงินทุนและเครดิตฟองซิเอร์ได้เลิกหมดแล้ว แต่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุให้เป็นงานในความรับผิดชอบของธปท.

เคยเล่าว่าทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศและทองคำนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของฝ่ายออกบัตรทุนสำรอง ส่วนนี้เรียกว่า "ทุนสำรองเงินตรา" เป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ธนบัตรของเราเป็นของรัฐบาลไทย ไม่ใช่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทุนสำรองเงินตรานี้มีทองคำและเงินตราต่างประเทศของกองทุนผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัวอยู่ด้วย ผู้ว่าการ ธปท. กับรัฐมนตรีคลังเคยสมคบกันจะรวมบัญชีทุนสำรองเงินตรากับทุนสำรองทั่วไปของส่วนนี้เป็นของ ธปท. แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะลูกศิษย์หลวงตาออกมาคัดค้าน

ในส่วนทุนสำรองเงินตรานั้น รัฐบาลไม่ควรแตะต้อง เพราะจะไว้ใจ ธปท. ไม่ได้ ใครจะไว้ใจก็ช่าง แต่ผมไม่ไว้ใจ ธปท.ทำทุนสำรองพินาศหลายครั้งแล้ว


ก็เหลือทุนสำรองทั่วไปที่ ธปท.ซื้อเข้ามาจากตลาด เพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเรื่อยมาตั้งแต่หลังเกิด "ต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 เพื่อไม่ให้เงินบาทผันผวน ธปท.จึงซื้อดอลลาร์เป็นระยะ ๆ และบัดนี้ทุนสำรองทั่วไปในบัญชีของฝ่ายกิจการธนาคารมีมากเกินความจำเป็นที่จะใช้แทรกแซงตลาด ส่วนใหญ่เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ผลตอบแทนน้อย

ในการทำหน้าที่สำคัญ 3 อย่าง อันได้แก่ การกำหนดนโยบายการเงิน การบริหารทรัพย์สินของชาติ และการกำกับสถาบันการเงิน ย่อมทำให้เกิดปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า "conflict of interest" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายการเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าและออก ซึ่งมีผลโดยตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนต่อกำไรขาดทุนของทุนสำรองระหว่างประเทศ ต่อผลประกอบการหรือกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ ถ้า ธปท.กำหนด ดอกเบี้ยบาทให้สูงกว่าดอกเบี้ยดอลลาร์ธนาคารพาณิชย์ก็กำไร เพราะสามารถกู้ดอลลาร์แตกเป็นเงินบาทให้กู้

ขณะเดียวกันนโยบายการเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ย่อมกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน การบริโภค ถ้าดอกเบี้ยสูง อัตราการลงทุน ก็จะต่ำ การใช้จ่ายเพื่อบริโภคก็ต่ำ


อำนาจหน้าที่ทั้ง 3 อย่างย่อมมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เช่น การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้แข็งแรงก็มีแนวโน้มที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อผลประกอบการของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินจะได้แข็งแรง ส่วนนโยบายการเงิน จุดมุ่งหมายก็เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ถ้ากำหนดนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ การบริหารทุนสำรองก็อาจจะขาดทุน หากจะให้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีกำไร ก็ต้องทำตรงกันข้าม

ตกลง ธปท.สถาบันเดียวทำหน้าที่ 3 อย่างย่อมต้องมีจุดมุ่งหมายและเป้าหมายที่ขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา

เป็นต้นว่าต้องการช่วยธนาคารพาณิชย์ให้มีผลประกอบการดีมั่นคง ก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินบาทให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ให้มาก ๆ ธนาคารจะได้ไปกู้เงินดอลลาร์อัตรา ดอกเบี้ยถูก ๆ มาแตกเป็นบาทให้กู้ดอกเบี้ยแพง ๆ แล้ว ธปท.ก็ปล่อยให้ดอลลาร์อ่อนลงแล้วเงินบาทแข็ง ๆ เวลาหนี้ธนาคารพาณิชย์ครบกำหนดบาทแข็งขึ้น หนี้ที่เป็นเงินดอลลาร์ถูกลง ตกลงธนาคารพาณิชย์ก็ได้กำไรสองต่อ คือส่วนต่างของดอกเบี้ยระหว่างดอลลาร์กับบาท และตอนใช้หนี้ดอลลาร์ถูกลง เอาเงินบาทน้อยลงไปซื้อดอลลาร์ใช้หนี้ แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็แถลงว่าที่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อ ทั้ง ๆ ที่ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือปราบเงินเฟ้อสำหรับประเทศไทย ลึก ๆ อาจจะมีเจตนาช่วยธนาคารพาณิชย์ก็ได้

หน้าที่ทั้ง 3 อย่างที่ว่า ทำให้เกิดการขัดกันสำหรับนโยบาย ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ เช่น ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนก็อ้างว่าเพราะต้องการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

ในโลกสมัยใหม่เขาจึงแยกหน้าที่ให้การกำกับสถาบันการเงินอยู่กับสถาบันหนึ่ง การบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนที่เกินความจำเป็นอยู่กับอีกสถาบันหนึ่ง การกำหนดนโยบายการเงินอยู่กับอีกสถาบันหนึ่ง แต่ละสถาบันมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และเครื่องมือเป็นอิสระแก่กัน เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ง่ายต่อการตรวจสอบแต่ละสถาบันที่ต้องรับผิดชอบ



เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนอาจจะออกพันธบัตรเงินดอลลาร์ให้ ธปท. เป็นผู้รับประกันการขาย หรือ underwriter ถ้าขายไม่หมด ธปท.ก็ต้องรับซื้อไว้เอง เพราะพันธบัตรรัฐบาลไทยขณะนี้น่าจะมั่นคงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันและยุโรปหลายประเทศ

ที่ ธปท.เป็นห่วงว่ากองทุนจะนำเงินตราต่างประเทศที่ขายพันธบัตรรัฐบาลไปทำขาดทุนนั้นไม่ควรจะห่วง ที่น่าจะห่วงคือถ้าอยู่กับ ธปท. นั่นแหละจะทำขาดทุน ขาดทุนแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบ

ถ้ากองทุนมั่งคั่งแห่งชาติขาดทุน ประชาชนก็เห็น สื่อมวลชนรู้ รัฐสภาสามารถตรวจสอบได้ รัฐมนตรีคลังกับคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบอธิบายต่อรัฐสภาและประชาชนได้

ในระยะเริ่มต้นลูกค้าสำคัญของกองทุนก็คือรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ก็ควรมากู้จากกองทุนไปชำระคืนเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศหรือกู้มาลงทุนในโครงการใหม่ แทนที่จะไปกู้เงินจากประเทศผู้ส่งออก

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขยันทำงานคงมีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ก็อย่ากู้จากผู้ขายของ ให้มากู้จากกองทุนความมั่งคั่งฯนี้แทน

เอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐบาลในส่วนที่ต้องชำระการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ แทนที่จะไปกู้เงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ไปกู้ต่อมาจากธนาคารต่างประเทศอีกที ก็มากู้จากกองทุนนี้ ดอกเบี้ยก็อย่าคิดแพงกว่าแต่ก็คงสูงกว่าการที่ ธปท.ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน เพราะรัฐบาลอเมริกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพียง 0.0 ถึง 0.25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ในกรณีรัฐวิสาหกิจกู้ไปชำระหนี้ก็ไม่น่ามีอะไรเสี่ยง การให้รัฐวิสาหกิจกู้ไปลงทุนตามนโยบายก็ไม่น่าเสี่ยง หรือการให้รัฐบาลกู้เพื่อการลงทุนสร้างถนนหนทาง ก็ไม่น่าจะมีความเสี่ยงมากไปกว่าการถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน เพราะไม่รู้วันไหนรัฐสภาอเมริกันไม่อนุมัติเพิ่มเพดานเงินกู้ให้รัฐบาลอเมริกัน วันนั้นพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันก็คงจะเป็นเศษกระดาษไป รัฐวิสาหกิจไทย และรัฐบาลไทยไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นนั้น

ฐานะทางการเงินของรัฐบาลไทยก็มั่นคงกว่าของอเมริกันและอังกฤษมาก ยอดหนี้ภาครัฐของเรามีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ในส่วนนี้เป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯที่บริหารโดย ธปท.เสียครึ่งหนึ่ง ถ้าเอาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯของ ธปท.คืนให้กับ ธปท. ยอดหนี้ภาครัฐก็จะเหลือนิดเดียว

สำหรับเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ความเสี่ยงอาจจะมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะมีความเสี่ยงมากไปกว่าการถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันหรืออังกฤษ

โครงการที่เอกชนไปก่อสร้างก็ดีผลิตสินค้าหรือบริการให้รัฐบาลไทย หรือรัฐวิสาหกิจไทยก็ดีก็อาจจะกู้จากกองทุนนี้

ประเทศเพื่อนบ้านที่มีผู้รับเหมาเป็นบริษัทไทยและต้องการกู้เงินดอลลาร์ก็อาจจะกู้ได้ โดยผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยธนาคารฯมายืมจากกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติไปปล่อยต่อก็ได้


ส่วนที่ ธปท.เกรงว่าประเทศเรามีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาแล้ว วันดีคืนดีอาจจะไหลออกไปพร้อมกันหมด สถานการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ธปท.เบาปัญญาทำผิดอย่างมหันต์ในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ที่เอาทุนสำรองไปต่อสู้กับกองทุนตรึงมูลค่า

หวังว่า ธปท.จะฉลาดขึ้นไม่ทำอย่างเดิม ถ้าไม่ทำอย่างเดิมก็ไม่ต้องไปห่วงว่าวันดีคืนดีเงินทุนจะไหลออกทำให้ไม่มีเงินตราต่างประเทศไว้ใช้สอยเลย

รอฟังเหตุผล ธปท.ว่าจะค้านอย่างไร



++

เปิดใจ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" เพื่อไทยต้องเหยียบคันเร่ง"
ในประชาชาติ ออนไลน์ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:25:45 น.


ปมขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาล และประเด็นความขัดแย้งก็เริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ผู้บริหารของ ธปท.ออกมาให้ข่าวว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียง ซึ่งอาจส่งผลทำให้งบประมาณปี 2555 ขาดดุลเกินกว่า 3.5 แสนล้านบาท และถ้ารัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ธปท.ก็จำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาระดับของเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เสมือนเป็นการลองของ

ทันทีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้เชิญ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เข้ามาปรึกษาหารือ ปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมกับฝากการบ้าน 4 ข้อให้ ธปท.กลับไปคิดแล้วนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ภายใน 1 เดือนข้างหน้า จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ปะทะเดือดระหว่างคลังกับ ธปท. ทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์และเฟซบุ๊ก เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWF) และการปรับปรุงกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย จนทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเบรกว่า เรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงนำประเด็นความขัดแย้งทั้งหมดไปสอบถามขุนคลัง ตั้งแต่เรื่องของการปรับปรุงกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย นายธีระชัยตอบว่า มันไม่ค่อยจะเมกเซนส์เท่าไหร่

หากอีกฝ่ายหนึ่งเหยียบคันเร่ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คอยดึงเบรกมือ กล่าวคือ รัฐบาลจัดงบฯเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกฝั่งหนึ่งคอยขึ้นดอกเบี้ย เท่ากับสิ่งที่ทำไปสลายหมด

และล่าสุดทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็เพิ่งจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปเป็น 3.5% ต่อปี หลังจากนั้นผมก็ได้ขอให้ ธปท.มาอธิบาย ทาง ธปท.ส่ง ดร.อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท.มาชี้แจงให้กับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีผมนั่งฟังอยู่ด้วย จึงถาม ธปท.ว่าจะให้ผมช่วยขยับกรอบเงินเฟ้อกรอบบนไหม ธปท.บอกว่าต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงจากต่างประเทศ ผมจึงจับสัญญาณอะไรบางอย่างได้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้ว น่าจะเป็น การปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของปีนี้ งั้นผมจึงขอให้ไปดูกรอบล่างให้หน่อย กรอบเงินมันกว้างเกินไป ซึ่งผมก็จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมเดือน ธ.ค.นี้

ส่วนแนวความคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ตอนนี้ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เป้าหมายหลักที่ฝากให้ ธปท. กลับไปช่วยคิด คือ เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา

รัฐบาลต้องจัดงบประมาณไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับ FIDF ปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จัดงบฯจ่ายไปแล้ว 6.7 แสนล้านบาท ไม่เสียดายหรือ? เอาเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศได้ตั้งเยอะ ผมจึงชวน ธปท.เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหามากกว่า พูดจริง ๆ นะผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับผู้ว่าการ ธปท.

เรื่องแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯนั้น เป็นแค่มาตรการหนึ่งที่จะทำให้ ธปท.มีผลประกอบการดีขึ้น เมื่อมีกำไรก็สามารถนำเงินชำระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมันมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยสูง พอมีเงินไหลเข้าก็ต้องออกพันธบัตรไปดูดซับสภาพคล่องในต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เกิดผลขาดทุนในหลายด้าน จนส่วนของทุนตอนนี้ติดลบกว่า 4 แสนล้านบาท

ต่อคำถามที่ว่า เมื่อไรรัฐบาลจะเข้าไปรับผิดชอบหนี้ดังกล่าว นายธีระชัยตอบว่า ธปท.คงไม่มาหรอก เพราะถ้ามาให้คลังรับผิดชอบ ผมก็จะต้องตั้งเงื่อนไขอะไรเยอะแยะ แบงก์ขาดทุน หรือส่วนของติดลบเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่ ธปท.ยังไปทำโน่นได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

จนกว่าจะติดลบถึงขนาดที่ไม่มีใครค้าขายด้วย ทำสวอป ทำโน่นทำนี่ก็ติดไปหมด เมื่อถึงจุดนั้นรัฐบาลคงต้องเข้าไปช่วย เพื่อให้ ธปท.เดินหน้าต่อไปได้

"ผมยังมีอีกหลายหมาก แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอให้ถึงเดือนหน้าก่อนถึงจะรู้ว่าผมจะทำอย่างไร"

ส่วนเรื่องนโยบายอื่น ๆ ที่พรรคได้หาเสียงไว้ ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 ท่านรับไปดำเนินการ ส่วนตัวผมจะดูภาพรวมของเศรษฐกิจ และเตรียมหารายได้ภาษีตัวใหม่ ๆ มาชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีน้ำมันและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่คิดไว้จะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและจะเสริมด้วยการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม พวกคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะต้องเดินหน้าทำนโยบายหาเสียงให้เกิดผลเป็น รูปธรรมโดยเร็ว ตอนนี้ต้องขอเข้าไปลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก่อน



+++

โครงการ “ประกันราคาข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง (viroj@tdri.or.th) ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:40:49 น.


ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากถ้อยแถลงที่เราได้ยินได้ฟังจากรัฐบาลในขณะนี้ ปี 2554 ก็จะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นประเทศไทยนำโครงการประกันราคาข้าวมาใช้ หลังจากที่หลายฝ่ายเคยเรียกร้องให้มีโครงการนี้มาหลายครั้งหลายคราในช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เปล่าครับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้แถลงนโยบายว่าจะทำโครงการประกันราคาข้าว แต่ประกาศว่าจะรับจำนำข้าวเปลือกในราคาตันละ 15,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแทบจะฟันธงได้เลยว่าการจำนำทั้งหมดจะกลายเป็นการขายขาดที่ปราศจากการไถ่ถอน เพราะราคาข้าวเปลือกที่ตั้งเอา 15,000 บาทนี้เป็นราคาที่สูงกว่าราคาข้าวเปลือกที่เคยมีมาในอดีต (ก่อนเลือกตั้งหนนี้ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ประมาณ 10,200 บาท หรือแม้กระทั่งเมื่อต้นปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเกิดความแตกตื่นเรื่องวิกฤตพืชอาหารจนราคาข้าวสารขึ้นไปถึงสองหมื่นกว่าบาทนั้น ราคาข้าวเปลือกก็ยังขึ้นไปไม่ถึง 15,000 บาท!)


ข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการ "จำนำข้าว" ครั้งนี้ กับโครงการ “จำนำ” "แทรกแซง" หรือ "พยุงราคา” ในอดีตก็คือ รัฐบาลนี้ประกาศว่าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่ชาวนาเอามาจำนำ ซึ่งเมื่อประกอบกับราคาจำนำที่ตั้งไว้สูงเป็นประวัติการณ์แล้ว

นี่จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โดยเนื้อแท้แล้ว รัฐบาลกำลังจะทำโครงการ "ประกันราคาข้าว" ให้กับชาวนาทุกคน ซึ่งต่างกับในอดีตที่รัฐบาลมัก "แทรกแซง" หรือ "พยุง" ราคาข้าวโดยรับซื้อหรือรับจำนำข้าวเพียงบางส่วนในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักตกอยู่ที่คนที่จัดสรรโควต้าหรือโรงสีที่ได้โควต้า เพราะโรงสีที่ได้โควต้าสามารถกดราคาข้าวโดยตีชนิดของข้าวต่ำกว่าความเป็นจริง และ/หรือ หักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในอัตราที่สูงเกินจริง เพราะโรงสีรู้ดีว่าถึงหักเกินจริงไปบ้าง ชาวนาที่ยังได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อยก็มักจะยอมขายหรือจำนำให้กับตนมากกว่าที่จะขนไปขายโรงสีอื่นในราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าราคาที่ตนตีให้

ในแง่นี้ นโยบาย “ประกันราคา” ที่ชาวนาทุกคนมีสิทธิ์จำนำข้าวทุกเมล็ดน่าจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของชาวนา เพราะถ้าโรงสีใดตุกติก ชาวนาก็สามารถไปจำนำที่โรงสีอื่นในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง (ซึ่งควรต้องมีจำนวนมากพอถ้าจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด)

นโยบายนี้จึงน่าจะช่วยให้ชาวนาได้รับราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่รัฐบาลประกาศมากกว่าโครงการจำนำข้าวในอดีต



แต่ถึงแม้ว่าการประกันราคาข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดจะเอื้อให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ (คล้ายกับโครงการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่นำโครงการที่เสนอโดยทีดีอาร์ไอไปใช้และตั้งชื่อใหม่ว่าเป็นโครงการ “ประกันรายได้” ซึ่งก็ไม่จริงตามชื่อเช่นกัน เพราะถ้าข้าวของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเกิดเสียหายหมดเพราะฝนแล้ง เขาก็จะเหลือรายได้แค่เงินชดเชยประมาณไร่ละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้นเอง) แต่น่าเสียดายที่โครงการที่ฟังดูดีอย่างโครงการประกันราคาข้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาตร์กลับมีโอกาสสร้างปัญหาใหญ่หลายประการ

ประการแรก โครงการนี้จะทำให้ข้าวเกือบทุกเมล็ดวิ่งเข้ามาสู่โครงการจำนำของรัฐบาล เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีชาวนาไม่น้อยที่ปลูกข้าวแล้วเก็บไว้กินเอง (โดยมักเอาข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีใกล้บ้าน) แต่ในไม่ช้า ชาวนาเหล่านี้จะพบว่าพวกเขาจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการเอาข้าวไปขาย (“จำนำ” กับรัฐบาล) ในราคาสูง แล้วเอาเงินมาซื้อข้าวสารกินแทน (ยกเว้นกรณีที่รัฐบาลจะทำให้ข้าวสารมีราคาแพงตามไปด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงทีหลัง) เมื่อเป็นเช่นนี้ ปริมาณข้าวที่ออกมาเข้าโครงการจำนำก็จะสูงกว่าข้าวที่เข้าสู่ตลาดในปัจจุบัน

และจะทำให้รัฐบาลกลายมาเป็นผู้ผูกขาดซื้อข้าวรายเดียวของประเทศโดยไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อรัฐบาลกลายมาเป็นเจ้าของข้าวจำนวนมหาศาล รัฐบาลก็มีทางเลือกสองทางคือ (1) พยายามขายข้าวทั้งหมดออกไปในราคาตลาดโลก (ซึ่งก็คงจะขาดทุนเป็นจำนวนมาก เพราะต้องขายข้าวจำนวนมากในราคาถูกกว่าที่ซื้อมา) (2) กักเก็บสต๊อกข้าวเอาไว้มากๆ ซึ่งถ้าทำให้ตลาดเชื่อได้ว่ารัฐบาลจะเก็บข้าวนี้เอาไว้เป็นเวลานาน ราคาตลาดก็อาจจะสูงขึ้นในช่วงต้นๆ แต่เมื่อไหร่ที่ก็ตามรัฐบาลปล่อยสต๊อกนี้ออกมา ราคาข้าวก็จะตกลง หรือถ้าไม่ปล่อยออกมาภายใน 1-2 ปี ข้าวก็จะเสื่อมคุณภาพ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียในกรณีนี้ ตั้งแต่ปีที่ 2-3 เป็นต้นไป รัฐบาลก็จะต้องปล่อยสต๊อกข้าวเก่าออกมาทุกๆ ปี ในกรณีนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถนำข้าวรุ่นใหม่ไปเก็บเป็นสต๊อกทดแทนของที่ปล่อยออกมาได้ แต่การเก็บสต๊อกก็จะไม่ช่วยยกระดับราคาอีกต่อไป เว้นแต่รัฐบาลจะใช้วิธีเพิ่มปริมาณสต๊อกใหม่ไปเรื่อยๆ

ประการที่สอง ถ้ารัฐบาลดำเนินโครงการนี้ไปเรื่อยๆ ชาวนาทั้งรายเก่าและรายใหม่ก็จะหันมาปลูกข้าวกันมากขึ้น (ทุกวันนี้ เรามีจำนวนชาวนาลดลง แต่ผลผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นแทบทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยโดยเฉลี่ยบริโภคข้าวน้อยลง ถ้าต่อไปเรามีจำนวนชาวนาเพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำให้ผลผลิตและส่งออกเพิ่มเร็วขึ้นกว่านี้) ซึ่งนอกจากปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วจะหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐแล้ว ยังเพิ่มแรงกดดันให้ราคาตลาดลดลงด้วย แต่ถ้ารัฐบาลต้องการลดภาระนี้โดยให้ชาวนาลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวลง ก็อาจต้องใช้วิธีการแบบสหรัฐฯ หรือยุโรป ที่จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแทน แต่เงินชดเชยนี้ก็ต้องมากพอที่จะจูงใจไม่ให้ปลูกข้าวในช่วงที่รัฐบาลตั้งราคาข้าวไว้สูงๆ ด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลแทบทุกรัฐบาลมักจะเชื่อว่าการที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่จะทำให้เราสามารถใช้อำนาจทางการตลาดที่มีอยู่บ้างมากำหนดราคาส่งออกให้สูงขึ้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว แม้กระทั่งในตลาดผูกขาดที่มีผู้ขายเพียงรายเดียวหรือน้อยรายนั้น การใช้อำนาจการผูกขาดในการตั้งราคาให้สูงขึ้นนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ขายลดปริมาณสินค้าที่ขายลงเท่านั้น (ซึ่งเป็นวิธีที่ OPEC ทำเพื่อขึ้นราคาน้ำมันในอดีต) ในทางกลับกัน ถ้าผู้ผลิตมีเป้าหมายที่จะขายสินค้าที่ผลิตให้หมดในขณะที่ตนมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น

ทางเลือกเดียวของผู้ขายคือลดราคาลง ซึ่งถ้ารัฐบาลทำเช่นนั้น ก็หมายความว่ารัฐบาลต้องขาดทุนจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวของโลก ที่ผ่านมา เราพบว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยแพงขึ้น เราก็มักจะสูญเสียตลาดส่งออกให้กับประเทศคู่แข่ง (ตัวอย่างเช่น ในปี 2535/36 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลดำเนินโครงการแทรกแซงอย่างมาก และประสบปัญหาการขาดทุนมากเช่นกัน) สำหรับความพยายามในการกำหนดราคาร่วมกับประเทศผู้ส่งออกข้าว 5 ประเทศในอดีตนั้น การศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่าไม่ได้บรรลุเป็นข้อตกลงที่มีผลในทางปฏิบัติจริงแต่อย่างใด

หลายท่านอาจถามว่าทำไมนโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงได้รับความสนใจและการวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นพิเศษ คำตอบส่วนหนึ่งคงมาจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความเชื่อมโยงกับที่พรรคไทยรักไทยเคยสร้างมาตรฐานทางการเมืองใหม่มาก่อนในการนำนโยบายที่หาเสียงมาดำเนินการจริง และในการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมานี้ พรรคการเมืองใหญ่ 3-4 พรรคแรกได้แข่งกันเสนอนโยบายซึ่งมีลักษณะของการอุดหนุนกลุ่มต่างๆ มากขึ้นอย่างชัดเจน (พรรคภูมิใจไทยเสนอโครงการประกันราคาข้าวเปลือกตันละ 20,000 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์สัญญาว่าจะ “เพิ่มเงินกำไรในการประกันรายได้เกษตร” ) การที่นโยบาย “จำนำข้าว” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเนื้อแท้ที่กลายมาเป็นโครงการประกันราคาที่แตกต่างไปจากนโยบายจำนำข้าวในอดีตก็เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงความดุเดือดในการแข่งขันในการเสนอนโยบายได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ หลายท่านที่คุ้นเคยกับการที่เกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้ดีและขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่สูงอาจสงสัยว่าประเทศเหล่านั้นสามารถอุดหนุนเกษตรกรโดยไม่มีปัญหาแบบเราหรือ คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ ประเทศที่มีราคาสินค้าเกษตรสูงมักเป็นประเทศที่ไม่ได้พึ่งการส่งออกสินค้าเหล่านั้น และในขณะเดียวกันก็มักจำกัดโควต้าหรือกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านั้นด้วย การที่ประเทศเหล่านี้ตัดการเชื่อมต่อสินค้าเกษตรกับตลาดโลกทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นถูกกำหนดด้วยความต้องการและกำลังซื้อในประเทศซึ่งประชากรมักจะมีกำลังซื้อที่สูงอยู่แล้ว

แต่สำหรับประเทศที่ยังคงมุ่งขยายการผลิตด้านการเกษตรเช่นประเทศไทยนั้น ราคาสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกส่วนใหญ่จะขึ้นกับตลาดโลกค่อนข้างมาก การตัดการเชื่อมต่อกับตลาดโลกมีแต่จะทำให้ราคาภายในประเทศต่ำลง (ไม่เช่นนั้นจะมีของเหลือที่ขายไม่ออกในประเทศ) ในทางกลับกัน การพยายามดึงให้ราคาสินค้าภายในประเทศสูงกว่าตลาดโลกนั้นทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติที่สินค้าเหล่านี้มักจะมีราคาต่ำกว่าราคาส่งออก เมื่อใดก็ตามที่เราฝืนดึงราคาในประเทศขึ้นมาเหนือราคาส่งออกได้ ก็มักจะจูงใจให้มีการผลิตมากขึ้น แต่ก็มักจะมีปัญหาการส่งออกตามมาด้วย (เพราะสินค้าที่ผลิตเพิ่มมักมีต้นทุนสูงกว่าราคาตลาดโลก) และอาจต้องแก้ปัญหาผลผลิตล้นเกินด้วยการอุดหนุนส่งออก (ซึ่งวิธีนี้เท่ากับการนำภาษีของประชาชนไทยไปจ้างผู้บริโภคในต่างประเทศให้ซื้อสินค้าของเราเพิ่ม)

ดังนั้น ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับโครงการหนึ่งโครงการใดของพรรคหนึ่งใด แต่เป็นปัญหาที่จะเกิดจากโครงการที่พยายามบิดเบือนตลาดทุกโครงการ ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมางบที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กับโครงการ “ประกันรายได้” ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากพอสมควรถ้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลและทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะ “เพิ่มเงินกำไรในการประกันรายได้เกษตร”

การที่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน (รวมทั้ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ) มีความห่วงใยโครงการจำนำ/ประกันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากกว่า นอกจากจะเป็นเพราะปัญหาในอดีตของโครงการนี้ในยุคที่มีการจัดสรรโควต้าแล้ว ก็คงเป็นเพราะคาดกันว่าจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่า เนื่องจากมีการพยายามเพิ่มราคาข้าวเปลือกถึงเกือบร้อยละ 50


แต่ถ้ารัฐบาลนี้หันมาปฏิรูปโครงการจำนำหรือประกันราคาข้าวทุกเมล็ดมาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยชาวนาบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดราคาจำนำหรือราคารับซื้อที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก (ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศจะตั้งราคาจำนำไว้ที่ร้อยละ 70-80 ของราคาเป้าหมาย—ซึ่งอิงแนวโน้มราคาในระยะยาว—เท่านั้น เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพในปีที่ราคาตลาดตกต่ำเป็นพิเศษ) นโยบายจำนำหรือประกันราคาข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลนี้ ก็จะกลายเป็นนโยบายใหม่ที่ชาวนาและเกษตรกรอื่นๆ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงในปีที่ราคาตกต่ำกว่าปกติได้



++++

อลเวงนโยบายรัฐบาลปู 1 หาเสียงแบบ "คิดไม่สุด"
คอลัมน์ เศรษฐกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1621 หน้า 89 หน้า 22


จากการให้สัมภาษณ์ของ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า กำลังหารือกับ ธอส. ที่จะออกโครงการซื้อบ้านหลังแรก ด้วยการได้รับสิทธิดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีโอกาสได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด เพราะในนโยบายหาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่มีเรื่องดอกเบี้ย 0% มีเพียงการจะให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนบาท

สร้างความสับสนให้กับคนฟังและประชาชนที่กำลังตั้งตาคอยรับนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง!!

มาแน่ใจยิ่งขึ้นเมื่อได้รับการยืนยันจาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่รับผิดชอบในนโยบายดังกล่าวว่า โครงการบ้านหลังแรกนั้น จะเป็นการเพิ่มสิทธิลดหย่อน ซึ่งรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากการซื้อบ้านหลังแรกได้ไม่เกิน 3 แสนบาท จากเดิมที่เป็นให้สิทธิลดหย่อน เพียงภาระดอกเบี้ยในการผ่อนชำระบ้านเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่ใช่การคิดอัตราคงที่ 0% เป็นเวลา 5 ปี เพราะมีปัญหาต่องบประมาณที่จะบรรจุเข้าไปในงบประมาณ 2555

และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถนำเสนอต่อในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เพราะยังทำงานในรายละเอียดเรื่องระยะเวลาและวงเงินของโครงการ



นั่นอาจจะเป็น 1 ในนโยบายที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะนำมาเล่นแร่แปรธาตุกับประชาชน ด้วยการเลี่ยงบาลีหรือเบี่ยงเบนไปจากที่เคยพูดไว้ช่วงหาเสียง เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากหลายๆ มาตรการที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็น "การยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ที่ประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำในวันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย 1 กรกฎาคม 2554 แต่พอโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ก็ออกมายอมรับว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทยอาจสั้นเกินไป จนเกิดความสับสน ความจริงไม่ใช่การยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่จะเป็นการยกเลิกการส่งเงินเข้ากองทุน เฉพาะน้ำมันเบนซิน 95, 91 และดีเซล ชั่วคราวจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

นำมาซึ่งมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ลดเก็บเงินเข้ากองทุนราคาน้ำมันในส่วนของเบนซิน 91 เบนซิน 95 และดีเซล ส่งผลให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศในวันถัดมาราคาลดลงทันที และยังทำให้กองทุนขาดรายได้เดือนละเกือบ 7 พันล้านบาท พร้อมๆ กับทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ราคาขยับมาใกล้เคียงกัน โดยห่างกันไม่กี่สตางค์ จนคนเมินแก๊สโซฮอล์ แห่ไปเติมน้ำมันเบนซินแทนจนเกลี้ยงปั๊มภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะเป็นการสวนทางนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนที่รัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ใหญ่ของรัฐบาลหลายคนยอมรับว่า ผลของมาตรการดังกล่าวเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เหตุเพราะเพียงแค่ 3 วันหลังออกมาตรการ ยอดขายแก๊สโซฮอล์ลดลงถึง 25% ขณะที่ยอดใช้น้ำมันเบนซินกลับพุ่งขึ้นถึง 50% ส่งผลให้กระทรวงพลังงานต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ลิตรละ 1 บาท เพื่อให้ราคาห่างกันมากพอที่จะจูงใจคนให้หันมาเติมแก๊สโซฮอล์

ราคาน้ำมันที่บิดเบือนกลไกตลาดยังส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลด้วย เพราะเดิมกรมสรรพสามิตเคยเสนอที่จะกลับมาให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลที่ 5.30 บาทต่อลิตรแลกกับการงดเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วย แถมยังขยายเวลาการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่อัตรา 0.005 บาทต่อลิตรออกไปอีก อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้สอดรับกับมาตรการอุ้มน้ำมันอื่นๆ ด้วย

ทำให้จากเดิมที่คาดว่า การจัดเก็บรายได้ปี 2555 จะถึง 2.05 ล้านล้านบาท เพื่อให้สามารถรักษาการขาดดุลไว้ที่ 3.5 แสนล้านบาทตามที่รัฐบาลก่อนได้อนุมัติไว้ กลับเป็นต้องหันมาปรับรายได้ลงเหลือเพียง 1.96 ล้านล้านบาท ตามภาษีน้ำมันดีเซลที่หายไปเกือบ 1 แสนล้านบาท ขณะที่รายจ่ายยังปูดขึ้นอีก 1.1 แสนล้านบาท

ที่สุดเลยต้องยอมกลืนคำพูดให้ขาดดุลเพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท



ยังไม่นับรวมกับคำมั่นสัญญาหลักที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะใจประชาชนมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศทันที เพราะจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป แถมยังมีการเล่นคำด้วยการบอกว่า เป็นเพียงสีสันของการหาเสียง และไม่ได้หมายถึง ค่าจ้าง แต่รวมถึง รายได้ขั้นต่ำ ซึ่งสามารถจะนับรวมรายได้อื่นๆ เข้าด้วย แถมล่าสุดแว่วๆ มาว่า จะนำร่องเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น หาใช่ทั่วประเทศตามสัญญาไม่

รวมถึงการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ซึ่งสุดท้ายที่สรุปออกมาจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2555 ก็เป็นรายได้ขั้นต่ำ หาใช่เงินเดือนขั้นต่ำไม่ เพราะเป็นเพียงการจ่ายเป็นเงินช่วยค่าครองชีพ ซึ่งปัจจุบันข้าราชการบรรจุใหม่จะได้รับเงินเดือน 9,140 บาทต่อเดือน รวมกับค่าครองชีพอีก 1,500 บาท รวมเป็นรายได้ 10,640 บาทต่อเดือน รัฐบาลก็จะเพิ่มให้อีกคนละ 4,360 บาท

ส่วนข้าราชการปริญญาโทได้รับเงินเดือน 12,600 บาท หากรวมกับรายได้อื่นๆ แล้วไม่เกิน 15,000 บาทก็จะปรับให้ถึง 15,000 บาทเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและให้สอดรับกับมาตรการค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ก็ต้องปรับผู้ที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีด้วย โดยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนจะเพิ่มให้เป็น 9,000 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เกิน 9,000 บาทที่ขณะนี้ได้รับค่าครองชีพที่ 1,500 บาท

แต่มีกำหนดเพดานเงินขั้นสูงไว้ไม่เกิน 11,700 บาทต่อเดือน จะขยายเพดานเป็น 12,285 บาทต่อเดือน



ที่ชวนปวดหัวมากสุดและยากต่อการปฏิบัติ ก็คือ นโยบายการคืนภาษีรถยนต์คันแรก เพราะในหลักการของภาษีสรรพสามิตมีไว้เพื่อสกัดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย ทำลายสุขภาพ ภาษีสรรพสามิตจึงบังคับใช้กับสินค้าไม่กี่รายการ เช่น เหล้า บุหรี่ รถยนต์ น้ำมัน และจะเป็นการคิดจากผู้ประกอบการจากราคาหน้าโรงงาน ภาษีสรรพสามิตจึงไม่สามารถจะคืนให้กับผู้บริโภคได้

วิธีปฏิบัติจึงยากว่า จะเป็นการคืนภาษีให้กับใคร หากเป็นลดภาษี ณ ราคาหน้าโรงงาน เพื่อส่งผลให้ราคารถยนต์ลดลง ก็จะเกิดการรั่วไหลง่ายมาก ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า รถยนต์ที่ออกจากโรงงานนั้น คันไหนที่จะเป็นการซื้อขายภายใต้กติกาคันแรก และเมื่อซื้อไปแล้วจะมีการขายเปลี่ยนมือด้วยวิธีการโอนลอยอย่างที่นิยมทำกันนั้น ก็จะไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ วิธีที่พอจะตรวจสอบได้ ก็คือ หันมาให้สิทธิลดหย่อนจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่นั่นหมายถึงราคารถยนต์ที่ซื้อขายยังคงเดิม และคนที่จะได้สิทธิประโยชน์ คือ คนที่อยู่ในระบบฐานภาษี ซึ่งก็ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยตามที่รัฐบาลต้องการ หากไม่ได้อยู่ระบบภาษีหรือแม้จะอยู่แต่สิทธิลดหย่อนเพียงพอแล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว

จึงไม่แปลกที่จนบัดนี้ ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนของมาตรการ รวมถึงรถยนต์ที่จะเข้าข่ายมูลค่ารถยนต์ที่จะกำหนด เพราะแว่วว่า ในแง่ของผู้ผลิตรถยนต์เองก็วิ่งเต้นกันอย่างหนักเพื่อให้ได้เข้าร่วมโครงการเช่นกัน

ยังไม่รวมนโยบายพักหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี ที่เมื่อออกมาก็เป็นเพียงการพักหนี้เกษตรกรที่เป็นหนี้เสียไปแล้ว ขณะที่ลูกหนี้ที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ก็ก้มหน้าใช้หนี้ต่อไป

จึงน่าติดตามว่า นโยบายที่เคยประกาศไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ให้กับนักเรียน การเพิ่มบริการอินเตอร์เน็ต ไว-ไฟ ฟรีให้กับประชาชนได้ใช้ในที่สาธารณะ การจัดสรรงบประมาณหมู่บ้านและชุมชนไปบริหารเอง หมู่บ้านเล็กให้ 3 แสนบาท ขนาดกลาง 4 แสนบาท ขนาดใหญ่ 5 แสนบาท การสร้างรถไฟฟ้าให้ครบทั้ง 10 สายแต่ละสายเก็บในราคา 20 บาทจะยังเป็นจริงอยู่หรือไม่

ทุกเรื่องยังมึนๆ รอความชัดเจนทั้งสิ้น !!


. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

บทสำรวจความคิดเห็นนักวิชาการของไทย

นักเศรษฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยตั้ง"กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ"ชี้ศก.โลกผันผวน การเมือง-ราชการไทยมีปัญหา!
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315799988&grpid=01&catid=&subcatid=


.