.
เผด็จการทางรัฐสภา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.
รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเสียงในสภาอย่างท่วมท้น จึงง่ายมากที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
ยิ่งดำเนินนโยบายที่ชนชั้นนำไม่ชอบ ก็จะยิ่งถูกกล่าวหาเช่นนี้ได้มากขึ้น เพราะเผด็จการทางรัฐสภานั้นเป็นแนวคิดที่ชนชั้นนำประดิษฐ์ขึ้นโดยแท้
เมื่อ รสช.ทำรัฐประหารใน พ.ศ.2534 ข้ออ้างหนึ่งที่ยึดอำนาจและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ซึ่งนับเป็นตลกที่ขื่นขันอยู่พอสมควร เพราะแปลว่าเผด็จการนั้นน่ารังเกียจเพราะเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ส่วนเผด็จการทางอื่นหาได้น่ารังเกียจแต่อย่างใด ความคิดพิลึกพิลั่นนี้ยังอยู่กับชนชั้นนำไทยสืบมาถึงปัจจุบัน
เผด็จการทางรัฐสภามีได้จริงไหมในโลกนี้ เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราคงต้องนิยามให้ชัดก่อนว่าเผด็จการทางรัฐสภาหมายถึงสภาวะอะไร
ผมคิดว่าหมายถึงสภาวะที่เสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจการบริหารจัดการสาธารณะทั้งหมด (โดยผ่านฝ่ายบริหารซึ่งคุมเสียงข้างมาก หรือผ่านตัวรัฐสภาซึ่งออกกฎหมายบังคับให้ฝ่ายบริหารต้องทำตาม) ทั้งนี้ โดยไม่มีอำนาจอื่นใดเข้ามาขัดขวางทัดทานได้
ผมออกจะสงสัยว่าหากนิยามตามนี้ เผด็จการทางรัฐสภาไม่น่าเคยมีอยู่จริงเลย แม้แต่รัฐสภาและโซเวียตภายใต้ฮิตเลอร์, สตาลิน หรือท่านประธานเหมา อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ต้องห้ำหั่นศัตรูทางการเมืองของตนตลอดสมัยที่ตนมีอำนาจ แสดงว่าพลังที่จะทัดทานต่อต้านมีอยู่ เพียงแต่ประสบความล้มเหลวเท่านั้น
สนช.ในสมัยเผด็จการ คมช.เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้สมาชิกล้วนถูกเลือกมาโดยเผด็จการ คมช.ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่สามารถออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปได้ทุกอย่าง ตามที่ คมช.ต้องการ มีกฎหมายหลายฉบับถูกแก้หรือบรรเทาการเผด็จอำนาจลงไปบ้าง
เพราะมีการต่อต้านคัดค้านจากสื่อและองค์กรประชาชน (แม้กระนั้นที่ออกมาเป็นกฎหมายและใช้มาถึงปัจจุบัน ก็ล้วนเลวร้ายทั้งสิ้น) เผด็จการทางรัฐสภาที่ไม่มีพลังอื่นคอยทัดทานเอาเลย จึงไม่ได้เกิดขึ้น
น่าประหลาดที่ว่า เสียงข้างมากในสภาของไทยนั้น ถูกทัดทานหรือถึงขนาดต่อต้านเสมอมา แต่มักเป็นการทัดทานต่อต้านที่ไม่ถูกกฎหมาย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย กลุ่มพลังที่สำคัญในการทัดทานต่อต้านได้แก่กองทัพ, ข้าราชการพลเรือน, ม็อบมีเส้น, อำนาจนำทางวัฒนธรรม, สื่อที่ไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างสุจริต ฯลฯ เอาเข้าจริงรัฐสภาไทย หรือรวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หาได้มีอำนาจมากนัก
ปัญหากลับเป็นตรงกันข้าม เผด็จการทางรัฐสภาไม่เคยเป็นปัญหาในเมืองไทย แต่พลังและอำนาจที่คอยทัดทานต่อต้านเสียงข้างมากอย่างผิดกฎหมาย หรืออย่างไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นปัญหา ทิศทางที่ถูกต้องก็คือสร้างพลังและอำนาจในการทัดทานต่อต้านที่ถูกกฎหมายและเป็นประชาธิปไตยขึ้น
รัฐธรรมนูญ 2540 แก้ปัญหาได้ถูกจุด แต่แก้ได้เพียงครึ่งเดียว คือครึ่งที่สร้างองค์กรตรวจสอบที่มาจากวุฒิสภา (ซึ่งสมมุติในรัฐธรรมนูญให้ "ไม่การเมือง") ขึ้นหลายองค์กร นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญลงไปถึง กกต., สตง., จนถึง ป.ป.ช.เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งของการทัดทานเสียงข้างมากในรัฐสภาอย่างถูกกฎหมาย เกิดขึ้นจากสังคมเองมาตั้งแต่ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 40 แล้ว คือการตั้งองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระขึ้น เช่น สกว., สสส., ฯลฯ เป็นต้น และรัฐธรรมนูญก็ได้เสริมเพิ่มเติมเข้าไปเช่น กทช.เป็นต้น
แต่กระบวนการสร้างพลังและอำนาจในการทัดทานตรวจสอบนี้มีอุปสรรคมาก เพราะเป็นอำนาจใหม่ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับพลังและอำนาจเก่าซึ่งเคยทัดทานต่อต้านเสียงข้างมากในรัฐสภามาก่อน จึงทำให้ถูกแทรกแซงจากทั้งฝ่ายการเมืองในระบบ และนอกระบบอย่างหนัก จนกระทั่งส่วนใหญ่ล้มเหลวที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อตรง
ฉะนั้น หากยังต้องการเดินตามวิถีทางสร้างพลังและอำนาจทัดทานอย่างถูกกฎหมายและเป็นประชาธิปไตยต่อไป จึงต้องมาคิดใหม่ให้ดีว่า จะให้อำนาจนั้นยึดโยงอยู่กับประชาชนต่อไปอย่างไร และจะให้อำนาจใหม่นี้ไม่ถูกแทรกแซงได้อย่างไร โดยมีประชาชนหรือสังคมเป็นเกราะกำบังให้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกครึ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้แก้เลยก็คือ จะลดหรือทำลายอำนาจเก่าซึ่งทัดทานเสียงข้างมากในรัฐสภาให้ไม่อาจใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายและไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ขอยกตัวอย่างเช่น แม้บัญญัติให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของชาวไทยที่จะต่อต้านการรัฐประหาร แต่ก็ไม่มีบัญญัติใดๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขการจัดองค์กรของกองทัพ เพื่อทำให้กองทัพต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาอย่างเด็ดขาดของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
สร้างอำนาจใหม่ที่ยังอ่อนแอ โดยไม่คุมอำนาจเก่าที่เข้มแข็ง ทำให้เมื่ออำนาจใหม่ไม่ทำงาน เหล่าปัญญาชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง จึงหันไปหาอำนาจเก่าและยอมรับการแทรกแซงที่ผิดกฎหมายและไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มหัวใจ
นอกจากคนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ยอมรับการรัฐประหาร 2549 อย่างยินดีเท่านั้น หลายคนยังออกมาปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญที่ตนมีส่วนร่วมผลักดันด้วย และลึกลงไปในความคิดของเขาก็คือ ไม่มีทางที่จะสู้กับเผด็จการทางรัฐสภาด้วยวิธีอื่น ถึงเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีทางที่จะยุติเผด็จการทางรัฐสภาได้
ผมอยากเตือนให้ระวังว่า ชัยชนะท่วมท้นของพรรค พท.ในการเลือกตั้ง และการคุมเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา ทำให้สถานการณ์กำลังกลับมาคล้ายปี 2549 อีกแล้ว ทั้งๆ ที่รัฐบาลยังบริหารงานไม่ครบเดือนดี นักวิชาการบางกลุ่มก็เริ่มออกมาโจมตีและตั้งสมญาเช่น "ดีแต่โม้" เป็นต้น
ในส่วนการสร้างองค์กรและพลังอำนาจในการตรวจสอบทัดทานเสียงข้างมากนั้น เป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ไม่กล้าสร้างความเข้มแข็งของสังคมอย่างชัดแจ้งนัก ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้บัญญัติไว้เป็นแค่หลักการ เช่นการทำประชาพิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ หรือการกระจายอำนาจและกระจายงบประมาณลงท้องถิ่น ซึ่งในที่สุดก็ถูกเบี้ยวจนไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ
แท้จริงแล้ว พลังและอำนาจขององค์กรตรวจสอบต่างๆ จะเป็นผลได้จริง ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่มีพลังและอำนาจเป็นของตนเอง มากกว่าการโวยผ่านสื่อ เช่นหาก อปท.มีอำนาจร่วมทางกฎหมาย ในการอนุมัติและตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ย่อมเป็นผลให้โครงการทั้งหลายต้องฟังเสียงประชาชนในพื้นที่มากกว่าข่าวและบทความในสื่อ การทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก หากรัฐบาลกลางไม่ได้มีอำนาจบริหารรวมศูนย์และเด็ดขาดไปทุกเรื่องดังที่เป็นอยู่ ยึดรัฐบาลปั๊บ ก็ยึดประเทศไทยได้หมด
พลังของสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากการรับรองสิทธิเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากการจัดองค์กรด้วยตนเอง เพราะอำนาจเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติการทางสังคม จะปฏิบัติการได้ก็ต้องจัดองค์กร รัฐไทยในปัจจุบันไม่ได้ขัดขวางการจัดองค์กรของสังคมก็จริง แต่พื้นที่ซึ่งเปิดให้แก่การจัดองค์กรถูกจำกัดให้เป็นพื้นที่ซึ่งไม่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐเท่านั้น (อย่างน้อยก็ไม่สัมพันธ์โดยตรง) ทำให้องค์กรทางสังคมปราศจากพลังและอำนาจในการทัดทานเสียงข้างมากในรัฐสภา
สิ่งที่รัฐบาลพรรค พท.ควรเร่งทำก็คือ เปิดพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจรัฐให้แก่องค์กรทางสังคมให้มาก โดยเฉพาะอำนาจในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรง แม้ต้องใช้อำนาจนั้นร่วมกับส่วนกลางก็ตาม แต่ต้องร่วมในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญ ไม่ใช่ร่วมในเชิงพิธีกรรมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภา จะไม่เป็นนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นนโยบายและการดำเนินการที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลและองค์กรทางสังคม ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ โดยวิธีนี้เท่านั้น ที่เสียงข้างมากในรัฐสภาจะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา อันเป็นช่องทางให้ล้มรัฐบาลด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายและไม่เป็นประชาธิปไตย
การเปิดพื้นที่ให้องค์กรทางสังคมเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมือของส่วนกลาง อาจทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมายใดๆ ในบางกรณี แต่อีกหลายกรณี จำเป็นต้องแก้กฎหมาย และถึงที่สุดอาจต้องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งก็ตรงกับนโยบายของพรรคที่จะเริ่มกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
ดังนั้น พรรค พท.จึงควรเป็นแกนนำในการผลักดันให้สังคมยอมรับว่า พลังและอำนาจขององค์กรสังคมต้องมีพื้นที่ในการบริหารจัดการรัฐด้วย แล้วก็เริ่มลงมือทำในพื้นที่ซึ่งทำได้ก่อนโดยไม่ต้องแก้กฎหมาย (เช่นกระทรวงมหาดไทยขอผลประชามติในท้องที่บางเรื่อง เพื่อประกอบการพิจารณา หรือขอความเห็นขององค์กรทางสังคมในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณา)
"โม้" เลยครับ แต่ "โม้" เรื่องดีๆ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยได้จริง
++
ระหว่างอีเขียวกับอีแม็กกี้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1621 หน้า 19
ตลาดเนื้อหมาที่ใหญ่สุดในอุษาคเนย์อยู่ที่เวียดนาม แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าคนเวียดนามเท่านั้นที่กินเนื้อหมา มีคนกลุ่มอื่นที่กินเนื้อหมาอีกหลายเผ่าพันธุ์ในภูมิภาคนี้ เช่น อาข่าหรืออีก้อ เป็นต้น และคงจะมีอีกหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในภาคพื้นทวีปของภูมิภาคนี้
จากประสบการณ์ส่วนตัว คนไทยถือพุทธในภาคเหนือในปัจจุบันก็กินเนื้อหมา ถือเป็นเรื่องสนุกในบรรดาคอเหล้าที่มาพบปะเฮฮากันเหนือกับแกล้มที่ทำจากเนื้อหมา
โปรตีนเป็นสารจำเป็นในการดำรงชีวิต แม้ไม่จำเป็นต้องกินมากเท่ากับการเขมือบของคนปัจจุบัน แต่ก็ขาดไม่ได้ ก่อนจะมีการผลิตโปรตีนป้อนตลาดอย่างเป็นล่ำเป็นสันเช่นในทุกวันนี้ มนุษย์ย่อมเลือกโปรตีนที่พอหาได้ในท้องถิ่น นับตั้งแต่ปลา, กะปอม, ไข่มดแดง, แมลงนานาชนิด, งู, กบ, เขียด, หนู ฯลฯ และหมา
(หรือแม้แต่เนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง---กลายเป็นข้อถกเถียงทางวิชาการในปัจจุบันว่า กินเนื้อมนุษย์ในเชิงพิธีกรรมเท่านั้น หรือมีบางวัฒนธรรมที่กินเอาอิ่มด้วย)
ครั้นเมื่อย่างเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่แล้ว ประเภทของเนื้อสัตว์ที่ใกล้ตัว (เพราะมีขายเกร่อในตลาด และล่าได้ง่ายด้วยธนบัตร) ก็ลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่อย่าง ผู้คนเกิดและเติบโตมากับเนื้อสัตว์เพียงไม่กี่อย่างนั้น จนรู้สึกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประเภทที่ไม่มีขายในตลาด เป็นโปรตีนที่น่าขยะแขยง มีแต่คนป่าเถื่อนเท่านั้นที่ยังกินได้
เหลืออยู่แต่หมานี่แหละครับ ที่ก้ำๆ กึ่งๆ ว่าเป็นโปรตีนของคนป่าเถื่อนจริงหรือไม่ เพราะจีน (ส่วนหนึ่ง) ก็กิน และกินมากจนเป็นตลาดใหญ่ของเนื้อหมา เกาหลีก็กิน และเวียดนามก็กิน
อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยว่า การเลือกประเภทของเนื้อสัตว์ให้มีขายในตลาดนั้น คงจะเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่าวัฒนธรรม
แน่นอนส่วนหนึ่งก็เพราะมีตลาด แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความเป็นไปได้และกำไรในการผลิต เลี้ยงมดแดงเพื่อเอาไข่ ดูเหมือนจะต้นทุนต่ำ เพราะมดหากินเอง แต่ถ้าคิดเริ่มต้นจากซื้อที่ดินปลูกต้นไม้เลี้ยงมดแดง แต่ละรังก็อยู่ต้นเดียวกันไม่ได้ด้วย จะเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะแข่งกับไข่มดแดงตามธรรมชาติที่ชาวบ้านหามาขาย ฉะนั้นจึงสู้เลี้ยงไก่, เลี้ยงหมู, เลี้ยงปลากระชัง, และเลี้ยงงัว-ควายไม่ได้
ผมจึงเชื่อว่า เนื้อนกกระจอกเทศนั้นไม่มีขายในประเทศที่ชาวบ้านสามารถล่านกกระจอกเทศมากินเองได้ มีก็แต่ในประเทศที่ไม่มีนกกระจอกเทศตามธรรมชาติเท่านั้น
กลับมาเรื่องเวียดนามเป็นตลาดเนื้อหมาที่ใหญ่สุดในภูมิภาค ซ้ำน่าจะใหญ่ขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของคนเวียดนามดีขึ้น ย่อมบริโภคโปรตีนที่ถือกันว่าสุดอร่อยเป็นธรรมดา ประเทศใดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่จะป้อนเนื้อหมาให้เวียดนามได้ดีที่สุด?
ก็ประเทศไทยไงครับ
เหตุผลก็เพราะเราเป็นประเทศที่มีหมาจรจัดอยู่สูงที่สุดในภูมิภาคนี้
ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ไม่มีหรือไม่ค่อยมี เพราะมุสลิมรังเกียจน้ำลายหมา จึงไม่เลี้ยงหมา ลาว, กัมพูชา และพม่า มีหมาจรจัดเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งไม่เหมาะที่จะล่าหมาเหล่านี้ไปขาย เพราะเอิกเกริกเกินไป
หมาจรจัดมีมากได้ก็เพราะมีอาหารเหลือทิ้งลงในถังขยะสาธารณะ ในหมู่บ้านไทยสมัยก่อน ไอ้แดงอีเขียวในแต่ละครัวเรือน จะเป็นผู้ขจัดอาหารเหลือเหล่านี้ ซึ่งก็มีไม่มากนัก เพราะส่วนที่เหลือแล้วเก็บได้ ไอ้แดงอีเขียวก็อดกิน ฉะนั้น อาหารส่วนใหญ่จึงมักเป็นน้ำข้าว แล้วก็เที่ยวจับสัตว์กินเอาเอง เช่น หนู, งู และกิ้งก่าหรือนก (ผมออกสงสัยเสมอว่า ที่หมาสวนมักดุ เพราะมันหวงแหล่งอาหารของมัน)
จนกว่าผู้คนจะซื้ออาหารถุงกิน และกินไม่หมดเพราะเขมือบได้ลงเพียงเท่านั้น ผู้คนไม่ได้ทำอาหารเองจึงวนเวียนอาหารเหลือไม่เป็น แต่มีเงินมากพอจะซื้ออาหารมาบริโภคเกินความต้องการ จึงเหลือทิ้งอีกมาก นั่นแหละอาหารจึงถูกนำไปรวมไว้ในถังหรือหลุมขยะสาธารณะ เป็นแหล่งป้อนอาหารแก่สุนัขจรจัดจำนวนมากได้
ดังนั้น หมาจรจัดจึงเป็นสัตว์ธรรมชาติ ไม่มีใครต้องเลี้ยงดู มันโตของมันเอง ต้นทุนของการนำเนื้อหมาจรจัดเข้าสู่ตลาดจึงต่ำมาก เสียแต่ค่าขนส่งเท่านั้น ผมไม่ทราบว่าในเวียดนามมีคนลงทุนตั้งฟาร์มเนื้อหมาอย่างจีนหรือยัง แต่ถึงตั้งขึ้นก็ต้องมีโสหุ้ยสูงกว่าหมาจรจัดจากเพื่อนบ้านแน่นอน
ผมจึงบอกว่า ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคนี้ที่เหมาะจะป้อนเนื้อหมาให้เวียดนามได้เท่าไทย
และด้วยเหตุดังนั้น ข่าวบางกระแสจึงกล่าวว่า เฉพาะที่จับผู้ค้าได้เป็นเพียงส่วนน้อยที่ลักลอบขนข้ามไปถึงลาวโดยจับไม่ได้มีมากกว่านี้อีกมาก
และผมเชื่อว่า แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้า ก็จะจับล็อตใหญ่ๆ อย่างนี้ได้อีก
ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า การค้าเนื้อสุนัขในประเทศไทยไม่ใช่ปัญหาทางวัฒนธรรม ถึงใช่ เราก็ไม่น่าจะมีส่วนในการเข้าไปขัดขวางหรือสนับสนุน หลักการคือเราไม่แย่งโปรตีนจากปากของใคร ไม่ว่าโปรตีนนั้นจะเป็นแมงอีนูนหรือหมาก็ตาม นี่เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจครับ
สินค้าย่อมไหลไปสู่ตลาดที่มีความต้องการ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเหลือเฟือและราคาถูก เพราะแทบไม่เสียต้นทุนการผลิตเลย
ผมไม่ได้ต้องการให้เราหันมาค้าเนื้อหมา เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าบ้านนะครับ แต่ขอให้ชัดว่าเรารู้สึกขัดข้องกับการค้าเนื้อหมาข้ามชาติอย่างไรกันแน่
ไม่อยากเห็นการทารุณสัตว์ใช่ไหม? การทารุณสัตว์ในกรณีนี้มีสองอย่าง แต่ไม่เกี่ยวกับการกินนะครับ ไม่อย่างนั้นกินหมู, งัว, ควาย, ไก่, เป็ด ฯลฯ ก็ทารุณสัตว์เหมือนกัน ทารุณอย่างแรกคือการขนส่งซึ่งทำให้หมาบาดเจ็บมาก (ซึ่งเราควรหันมาดูการขนส่งหมู, ไก่, งัว-ควาย ฯลฯ ในบ้านเราด้วย) ถ้านี่เป็นปัญหา ก็ต้องบังคับเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ตาม ให้จัดการขนส่งที่ไม่ทารุณต่อหมา ซึ่งเท่ากับยอมรับอย่างไม่ต้องอายด้วยว่า ประเทศไทยมีส่วนในการค้าเนื้อสุนัข (ซึ่งฝรั่งไม่ชอบ)
ทารุณอีกอย่างหนึ่งคือการฆ่า ผมไม่ทราบว่าในเวียดนามเขาฆ่ากันอย่างไร วีธีที่เขาแก้การทารุณในการฆ่าสัตว์ก็คือการฆ่าเอง เราจะกล้าตั้งโรงฆ่าหมาและขายเนื้อหมาในรูปชำแหละเสร็จ แล้วแช่แข็งแพ็กไปขายทั่วเอเชียหรือไม่? ผมเดาว่าไม่กล้า และอาจไม่คุ้มทุนในระยะยาวด้วย
ถ้าเราไม่อยากทำทั้งสองอย่าง ก็ต้องกลับมาคิดเรื่องหมาจรจัดของเราเอง ว่าจะลดปริมาณได้อย่างไร ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองนะครับ ในชนบทปัจจุบันก็มีหมาจรจัดอยู่ไม่น้อย
ถ้าเราทำสำเร็จ พลังทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งป้อนสินค้าประเภทนี้ก็จะลดลง เที่ยวไล่จับกว่าจะครบล็อตพอส่งได้ ก็ต้องใช้เวลานาน เปลืองโสหุ้ยค่าเลี้ยงดู
แต่การขจัดหมาจรจัดนั้น หากคิดกันแต่เรื่องเทคนิก (เช่น จับตอน, หาคนรับเลี้ยง, เอาไปขังไว้จนกว่าจะแก่ตาย) ผมเชื่อว่าไม่สามารถลดปริมาณลงได้แน่ ก็ใช้เทคนิคนี้มาหลายสิบปีแล้ว ไม่เห็นจะไปถึงไหนเลย หมาจรจัดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (เหมือนเรือด, เหา และแมลงสาบ) การลดปริมาณด้วยเทคนิกเพียงอย่างเดียวจึงไม่เคยให้ผล
ผมรู้ครับว่า การปรับแก้วิถีชีวิตและการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องยากที่สุด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจึงไม่ควรทำนะครับ
คราวนี้มาถึงเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งถูกสื่อเน้นให้กลายเป็นจุดขายต่อข่าวการค้าเนื้อหมา
สักสัปดาห์กว่าๆ ก่อนจะเขียนบทความนี้ ปรากฏว่ากองทุนสำหรับเลี้ยงหมาซึ่งถูกจับได้ที่นครพนม มีผู้บริจาคทั่วประเทศถึง 17 ล้านบาท แถมยังมีอาหารหมาที่มีผู้บริจาคสำรองไว้อีก 17 ตัน
ยังไม่พูดถึงความห่วงใยที่ผู้คนส่งไปออกทีวีทางเอสเอ็มเอสกันอีกพะเรอเกวียน รวมถึงคนดังที่โหนหมาให้เป็นข่าวอีกหลายคน
ภาพของสังคมไทยที่ออกมา จึงเป็นภาพของคนรักหมา และเมตตาต่อสัตว์ ตามอุดมคติของคนชั้นกลางซึ่งรับทัศนคติของสัตว์เลี้ยงแบบฝรั่งมาเต็มเปาพอดี
แต่เดี๋ยวก่อน จำนวนหนึ่งของหมาที่จะเอาไปแล่ขายเหล่านี้ เป็นหมาที่ได้มาจากเจ้าของซึ่งแลกหมากับถังและชามอ่างพลาสติกนะครับ
เพื่อนของผมคนหนึ่งเคยถามเจ้าของหมาว่า ไม่รักอีเขียวหรืออย่างไร เจ้าของตอบว่าก็รักอยู่ เพราะเลี้ยงมันมาแต่เล็ก แต่อยากได้ถังพลาสติกนี่
ระหว่างแลกไอ้เขียวกับถังพลาสติก และความอาทรอย่างล้นหลามต่อหมาที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตามาก่อนเลย คงเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมจริงอย่างที่เขาว่ากัน แต่ความแตกต่างที่ว่านี้มาจากอะไร ผมคิดว่าความ "ดัดจริต" อย่างเดียวอธิบายไม่ได้
หมาคงเป็นสัตว์เลี้ยงของไทยมานานเหมือนในวัฒนธรรมอื่นๆ (รวมทั้งในวัฒนธรรมที่กินหมาด้วย) แต่หมาที่เป็นสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวไม่เคยมีความเป็นปัจเจกอย่างเด่นชัด สังเกตดูชื่อหมาแบบไทยๆ เถิดครับ คือมีแต่ลักษณะของมันเท่านั้น อีเขียว, ไอ้แดง, ไอ้เหลือง, อีนวล ก็มาจากสีขนของมัน ไอ้มอมมาจากปาก อีเตี้ยมาจากขนาดตัว ฯลฯ
ฉะนั้น เมื่อมันจากไป ก็หาตัวใหม่มาเลี้ยงได้ไม่ยาก ความไม่เป็นปัจเจกทำให้ถูกแทนที่ได้เสมอ
ด้วยอิทธิพลฝรั่ง ทำให้คนชั้นกลางมีสำนึกถึงหมาในฐานะที่เป็นปัจเจกในแต่ละตัว อีแม็กกี้เป็นพันธุ์ลาบราดอร์ ขี้ประจบและใจเย็น ไอ้วินสตันเป็นบ๊อกเซอร์ หน้าไม่รับแขก แต่ที่จริงแล้วใจดี เป็นมิตรง่าย ฯลฯ
"เพื่อนที่ดีสุด" แต่ละตัวย่อมไม่เหมือนกัน อย่างที่เพื่อนซึ่งเป็นคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพื่อนย่อมมีคุณค่า อันแสดงออกได้ด้วยราคาที่ต้องเสียไปในการซื้อ และไม่มีหมาอื่นใดจะมาแทนที่ได้
คนชั้นกลางจึงไม่ได้ผูกพันกับหมา แต่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับอีแม็กกี้และไอ้วินสตัน ซึ่งไม่มีหมาตัวใดในโลกจะแทนที่ได้เลย
ดังนั้น เขาจึงพร้อมจะควักกระเป๋าช่วยหมาที่นครพนม (หรือช่วยบริจาคสถานเลี้ยงหมาจรจัดทั้งของรัฐและเอกชน) แต่ให้ไปรับมาเลี้ยงนั้นเกินไป ให้เงินขอทาน ไม่ได้หมายถึงต้องเป็นเพื่อนกับขอทานนี่ครับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย