.
ความคลุมเครือ-ที่มาของอำนาจนอกระบบ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
คําอภิปรายของฝ่ายค้านและตอบโต้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอะไรสองอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทย ว่าได้เดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใด โดยเฉพาะการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์, ความจงรักภักดี และ ม.112 ในกฎหมายอาญา
ผู้ฟังหลายคนคงรู้สึกผิดหวังเหมือนผม ที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะเล่นเกมการเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดังเดิม ด้วยการประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตน และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวน ม.112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหา หรือในแง่ของการปฏิบัติ
ยิ่งไปกว่านั้น รองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง และ รมต.ไอซีที ยังแสดงบทบาทไม่ต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่จะบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น
ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปราบศัตรูทางการเมืองอย่างเมามันอย่างไร
(ถ้าเมามันเท่ากันเช่นนี้ ยังมีน้ำหน้าจะไปปลดคนโน้นคนนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลได้ใช้กฎหมายอย่างเมามันได้อย่างไร)
แต่อะไรกับอะไร ที่ต่อสู้กันอยู่ในสภาในวันแถลงนโยบาย?
ผมพยายามหาวิธีอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายวัน และคิดว่าอธิบายได้ แต่เพิ่งมาอ่านพบบทความของ นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ลงในเว็บไซต์นิวมัณฑละ ตรงกับความคิดของผมพอดี แต่อธิบายได้กระจ่างชัดกว่า จึงขอนำมาสรุปดังนี้ (จมูกของหลายคนคงย่นเมื่อได้ยินชื่อนี้ แต่เราตัดสินอะไรกันที่เนื้อหาไม่ดีกว่าที่ผู้พูดหรอกหรือครับ)
เขายกทฤษฎีของนักวิชาการเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Ernst Fraenkel ซึ่งศึกษาเยอรมันภายใต้นาซี ออกมาเป็นทฤษฎีที่อาจเอาไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย
เขาเสนอว่ารัฐนั้นมีสามประเภทอย่างกว้างๆ
ประเภทหนึ่งคือนิติรัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย
อีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่สุดโต่งอีกข้างหนึ่งคือรัฐอภิสิทธิ์ อันหมายถึงรัฐที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งถืออภิสิทธิ์บางอย่าง และการบริหารจัดการบ้านเมืองย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้
รัฐประเภทที่สามคือรัฐซ้อน อันได้แก่รัฐเช่นประเทศไทย
กล่าวคือมีสถาบัน, องค์กร และการจัดการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ แต่ในการบริหารจัดการจริง ก็ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนนั่นเอง
ที่รัฐเหล่านี้ต้องมีระเบียบแบบแผนระดับหนึ่งก็เพราะระเบียบแบบแผนเอื้อต่อทุนนิยม จำเป็นต้องมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลางพอจะตัดสินกรณีพิพาททางธุรกิจหรือหนี้สินได้ แต่ในเรื่องอำนาจทางการเมือง กลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็ยังหวงไว้ตามเดิม แต่ก็หวงไว้ภายใต้ความคลุมเครือในรูปแบบของนิติรัฐ ไม่ได้ประกาศออกมาโจ้งๆ ออกไปว่า กฎหมายเป็นรองความประสงค์ของฉัน
ฉะนั้น ถ้าอธิบายตามทฤษฎีของนาย Ernst Fraenkel อะไรที่ต่อสู้กันในสภาวันนั้น ที่จริงคือการต่อสู้ระหว่างนิติรัฐ และรัฐอภิสิทธิ์นั่นเอง
นิติรัฐของไทยกำลังผลักดันตัวเองไปสู่กฎระเบียบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเหลือความคลุมเครือของอำนาจน้อยลง ในขณะที่รัฐอภิสิทธิ์พยายามจะรักษาส่วนที่ไม่เสรีและไม่ประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือ เพื่อจรรโลงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มต่อไป
และด้วยเหตุดังนั้น จึงกดดันให้รัฐบาลใหม่ต้องยอมรับว่า จะไม่เข้าไปสถาปนาความชัดเจนในความคลุมเครือที่จำเป็นต้องดำรงอยู่
และอย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ รัฐบาลพรรค พท.ก็พร้อมจะรักษาความคลุมเครือนั้นไว้ดังเดิม ผมยังพยายามจะมองในแง่ดีว่า เพราะพรรค พท.คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประคองตัวให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงด้วยอำนาจของรัฐอภิสิทธิ์
แต่นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะสถานการณ์ของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรค พท.มีแต้มต่อหลายอย่างที่ควรกล้าเดิมพันมากกว่าขออยู่ในตำแหน่งนานๆ เพียงเท่านั้น ถึงอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็กลับมาอีก
ผลการเลือกตั้งที่ พท.ชนะอย่างท่วมท้นทำให้เห็นว่า การต่อสู้ของนิติรัฐได้เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว หลังจากได้อยู่ในท้องถนนมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการต่อสู้ในท้องถนนอีกเลย หากรัฐอภิสิทธิ์พยายามสถาปนารัฐบาลของตนเองขึ้นใหม่ (โดยการรัฐประหาร, คำพิพากษา, หรือการจัดรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม) การต่อสู้ในท้องถนนก็อาจกลับมาอีก
นอกจากนี้รัฐอภิสิทธิ์ยังอาจหนุนให้เครือข่ายของตนใช้ท้องถนนเพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐประชาธิปไตยในสภาได้ หากสถานการณ์อำนวย แต่แนวหน้าของการต่อสู้ของนิติรัฐได้เคลื่อนเข้ามาอยู่ในสภาแล้ว
ดังนั้น หากรัฐบาล พท.ไม่ยอมรุกคืบหน้าในการขยายพื้นที่ของนิติรัฐ ทุกอย่างจะชะงักงันอยู่อย่างเก่า และพรรค พท.ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ชะงักงันที่พื้นที่นิติรัฐมีอยู่นิดเดียว ในขณะที่พื้นที่ของรัฐอภิสิทธิ์มีในความคลุมเครืออยู่อย่างกว้างขวาง พรรค พท.ก็จะถูกเขี่ยกระเด็นไปได้ง่ายๆ
การต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายพื้นที่ของนิติรัฐในสภาจึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงของพรรค พท.เองด้วย ซ้ำ จะเป็นความมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าพยายามจรรโลงความคลุมเครือให้ดำรงอยู่เพื่อการยอมรับของรัฐอภิสิทธิ์เสียอีก
ส.ส.ของ พท.แต่ละคนจะมีพันธกรณีกับประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดไม่ทราบได้ แต่พรรค พท.เองจะอยู่รอดได้ก็อยู่ที่พื้นที่นิติรัฐหรือประชาธิปไตยต้องขยายกว้างขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลพท.จะล้มก็ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น
พรรค พท.จึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงคือความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั่นเอง เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ตามรัฐธรรมนูญ) คนที่ไม่จงรักภักดีคือคนที่ละเมิดอธิปไตยของปวงชนชาวไทย
ในส่วน ม.112 นั้น พรรค พท.ต้องกล้าพูดความจริงว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาแน่นอน ไม่ในเนื้อหาก็ในการบังคับใช้ หรือทั้งสองอย่าง จากการที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงปีละไม่ถึง 10 ราย กลายเป็นมีผู้ต้องหานับร้อยในทุกปี
การสร้างภาพความจงรักภักดีอย่างสูงสุดแก่ตนเอง ดังที่นักการเมืองได้ทำสืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พรรค พท.จะไม่ทำตามเป็นอันขาด การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบัน ต้องทำด้วยสติปัญญาและคำนึงถึงความละเอียดอ่อน
ฉะนั้น หากจะยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ต่อไป กฎหมายนั้นต้องชัดเจนว่า กระทำการอย่างใดจึงจะถือว่าละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่และผู้ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนักรัฐประหารและนักการเมือง ต่างช่วยกันทำความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯตลอดมา และส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้คือการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือ จะหยุดการทำร้ายสถาบันฯ ต่อไปได้ ก็ต้องทบทวนมาตรา 112 เพื่อทำให้ทุกฝ่าย ไม่สามารถเที่ยวทำร้ายศัตรูของตน โดยใช้มาตรานี้เป็นเกราะกำบังตนอีกต่อไป
การประกาศว่าจะทบทวน ม.112 จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้าม การขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้เสียอีก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้น ย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆ ทั้งสิ้น
และเพราะพรรค พท.มองการณ์ไกลกว่า พรรค พท.จึงจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการทบทวน ม.112 ทั้งๆ ที่พรรค พท.น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า การทบทวนจะก่อให้เกิดศัตรูมากขึ้น แต่ต้องแยกแยะศัตรูเหล่านี้ให้ดี ส่วนที่จริงใจเพราะเกรงว่าสถาบันฯจะไม่ได้รับการปกป้อง พรรค พท.ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลเพื่อให้เขากลับมาสนับสนุนได้
แต่ส่วนที่ไม่จริงใจ และใช้การปกป้องสถาบันฯเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อหาอำนาจทางการเมือง สู้กับ "มัน" สิครับ
++
ปฏิรูปอักขรวิธีไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 29
ใครเป็นคนคิดอักษรไทยขึ้นก็ตาม แต่อักขรวิธีไทยซึ่งคงจะเริ่มมีมาในประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เป็นอย่างช้า นับเป็นการปฏิรูปอักขรวิธีที่สุดโต่งและล้ำหน้าในภูมิภาคอุษาคเนย์ทีเดียว เพราะคงเป็นอักขรวิธีแรกในภูมิภาคแถบนี้ ที่เลิกเปลี่ยนรูปพยัญชนะเมื่อเป็นอักษรนำ, เป็นตัวสะกดและตัวตาม พยัญชนะหนึ่งๆ จะทำหน้าที่อะไรในอักขรวิธีก็ยังคงรูปเหมือนเดิมทุกอย่าง
ความรู้ของผมไม่พอที่จะบอกได้ว่า อักขรวิธีใหม่แบบนี้คิดขึ้นเอง หรือเอาแบบอย่างจากอักขรวิธีของใคร แต่เห็นได้ชัดว่า อักขรวิธีไทยนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อเขียนภาษา "พื้นเมือง" โดยแท้ ไม่ได้ตั้งใจเอาไว้เขียนภาษาศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเลย เพราะภาษาศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดถือในภูมิภาคนี้ ล้วนต้องการรูปตัวสะกดและตัวตามที่แตกต่างกัน เพื่อไม่ให้สับสนว่าตัวตามเป็นพยัญชนะต้นของอีกคำหนึ่ง (ปัจจุบันเราเอาจุดข้างล่างไปลงไว้ที่ตัวสะกด พยัญชนะที่ตามตัวที่มีจุดจึงต้องเป็นตัวตาม)
เกิดอะไรขึ้นในทางสังคมในช่วงนั้น จึงทำให้ต้องการอักขรวิธีแบบใหม่ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เชื่อว่าถ้าทราบขึ้นมา ก็จะเป็นคำอธิบายที่ดีกว่าอัจฉริยภาพของบุคคลในสุญญากาศ
แม้เป็นการปฏิรูปอักขรวิธี แต่ก็มีความงุ่มง่ามอยู่ไม่น้อยเหมือนอักขรวิธีของภาษาที่ใช้อักษรในสมัยโบราณทั้งหลาย อีกทั้งความงุ่มง่ามหลายอย่างก็ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
เช่น รูปสระในอักขรวิธีไทยนั้น ไม่มีหลักอะไร เอาไปวางไว้เกะกะตามที่ต่างๆ ข้างหลังพยัญชนะบ้าง ข้างบนบ้าง ข้างล่างบ้าง ข้างหน้าบ้าง ล้อมไว้บ้าง ต้องจำกันไปแต่ละสระว่าต้องวางไว้ตรงไหน อักษรอริยกะที่ ร.4 ทรงคิดขึ้นก็ตาม หรืออักขรวิธีใหม่ที่ ร.6 เสนอก็ตาม คือ ปฏิรูปอักขรวิธีให้ง่ายขึ้น โดยเอาสระไปไว้หลังพยัญชนะทั้งหมด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีใครทำตาม
เช่น เสียงภาษาไทยได้เปลี่ยนไปจากสมัยโบราณ รูปพยัญชนะที่แตกต่างกันเพื่อออกเสียงต่างกัน ในปัจจุบันไม่ได้มีความต่างเหลืออยู่อีก
เช่นเสียง ถ. กับเสียง ท. เสียง ผ. กับเสียง พ. เป็นต้น นักภาษาศาสตร์บอกว่า สมัยโบราณมีคุณภาพของเสียงที่ต่างกัน ไม่ใช่เพียงแค่เป็นอักษรสูงกับอักษรต่ำเท่านั้น ซ้ำยังเอาไปรับเอาพยัญชนะภาษาแขกมาไว้ในอักขรวิธีไทย ซึ่งคนไทยไม่ได้ออกเสียงต่างจากพยัญชนะไทยเลย เช่น วรรค ฏ. ใหญ่ทั้งวรรค ศ. และ ษ. เป็นต้น
การปฏิรูปอักขรวิธีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มุ่งจะแก้เพื่อทำให้ตัวเขียนภาษาไทยง่ายขึ้น แต่วิธีการของท่านล้มเหลวมาแต่ต้น เพราะใช้อำนาจเป็นเครื่องมืออย่างที่ผู้นำไทยนิยมกัน ฉะนั้น เมื่อจอมพล ป. หมดอำนาจ อักขรวิธีแบบเดิมก็กลับมาใหม่ในทันที
เช่น การเขียนคำติดกันหมด จนคนที่ไม่คล่องภาษาไทยแยกไม่ออก แม้แต่ที่คล่องแล้ว บางทีก็แยกผิด เช่น ตาก-ลม กับ ตา-กลม ซีก-วง-เดือน กับ ซี-กวง-เดือน เป็นต้น
อันที่จริงไม่มีอักขรวิธีของภาษาอะไรในโลกที่ไม่มีความงุ่มง่ามติดมาเลย และด้วยเหตุดังนั้น การปฏิรูปอักขรวิธีจึงเกิดขึ้นในทุกภาษา
ภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ใช้อักษรตัวใหญ่กับคำนามทุกคำ ไม่ว่าจะขึ้นประโยคหรือไม่ แต่ภาษาอังกฤษปัจจุบันก็เลิกไปแล้ว (แต่ยังติดอยู่ในอักขรวิธีเยอรมัน) ภาษาดัตช์ไม่แต่เพียงปฏิรูปอักขรวิธีให้เขียนง่ายขึ้นเท่านั้น ลามไปถึงไวยากรณ์ด้วย เช่น เลิกแยกเพศของคำนามออกเป็นสาม (เหมือนเยอรมัน) แต่ลดลงมาให้เหลือเพียงสองเท่านั้น (เหมือนฝรั่งเศส-และคงทราบนะครับว่า เพศของคำไปกำหนดรูปของกริยาและคุณศัพท์ด้วย ลดเพศของคำนามก็ทำให้ยุ่งชิบเป๋งน้อยลงหน่อย)
กรณีในเอเชียที่เรารู้กันดีคือการปฏิรูปอักษรจีนของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เหลือเส้นในแต่ละคำน้อยลง ก่อนหน้านั้นเวียดนามเลิกใช้อักษรจีนไปเลย และหันมาใช้อักษรละตินบวกเครื่องหมายเสียง สำหรับเขียนภาษาเวียดนาม ประสบความสำเร็จเสียจนกระทั่ง คนเวียดนามปัจจุบันอ่านเอกสารโบราณไม่ออกแล้ว เช่นเดียวกับภาษามลายู (ซึ่งจะกลายเป็นภาษาอินโดนีเซียและภาษาบรูไนด้วย) เลิกใช้อักษรอาหรับ แล้วหันมาใช้อักษรละตินแทน
มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปอักขรวิธีอยู่สองสามอย่างที่ผมอยากชี้เอาไว้
ประการแรกก็คือ สังคมเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ต้องการการอ่านเขียนมากขึ้น จะเป็นด้วยการสื่อสารคมนาคมเปลี่ยนไป หรือจะเป็นด้วยการศึกษาสมัยใหม่ ต้องการความสามารถในการอ่านเขียนมากขึ้นก็ตาม
ประการต่อมา สืบเนื่องจากที่กล่าวมาแล้ว แนวโน้มของการปฏิรูปอักขรวิธีของภาษาต่างๆ คือทำให้ง่ายขึ้น หรืองุ่มง่ามน้อยลง
ประการที่สาม การพิมพ์ทำให้จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานกลางที่ตายตัวในอักขรวิธี และทำให้ต้องปรับเปลี่ยนอักขรวิธีเพื่อเอื้อต่อการพิมพ์และการเสพงานเขียนที่อยู่ในรูปตัวพิมพ์ (เช่นภาษาไทยเลิกเครื่องหมายโบราณไปเกือบหมด)
ประการต่อมา การพิมพ์ไม่แต่เพียงทำให้อักขรวิธีมีมาตรฐานตายตัวเท่านั้น ยังทำให้อักขรวิธีมาตรฐานนั้นรองรับภาษาที่ใช้ในสังคมได้แคบลง คือรองรับได้แต่สำเนียงภาษาที่การพิมพ์เลือกเอามาใช้เท่านั้น เช่นในภาษาไทยก็คือภาษาสำเนียงภาคกลาง จะเอาอักขรวิธีนี้ไปใช้กับเสียงในภาษาใต้หรืออีสานหรือเหนือไม่ได้ เพราะมีเสียงไม่ตรงและไม่ครบ คำว่าสวม (กอด) ในภาษาเหนือออกเสียงว่า "ซวาม" เมื่อไม่ได้เขียนด้วยตัวเมือง แต่เขียนด้วยอักขรวิธีไทย ก็กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์ ซึ่งก็ไม่ตรงทีเดียวนัก พยัญชนะภาคกลางเขียนเสียงควบกล้ำ "มร" (เช่น มหรับ) ของภาคใต้ไม่ได้
อย่าว่าแต่อื่นไกลเลย แม้แต่วรรณยุกต์ของสุพรรณ อักขรวิธีไทยก็มีไม่ครบ
การปฏิรูปอักขรวิธีซึ่งกำลังเกิดใต้จมูกเราเวลานี้ แต่เราไม่ค่อยรู้สึก เพราะเป็นการปฏิรูปของประชาชน, โดยประชาชนและเพื่อประชาชนโดยแท้ ไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยว ได้แก่ การปฏิรูปอักขรวิธีในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีการอ่าน-เขียน มาสู่หน้าจอโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์
ที่เราคุ้นเคยคือการใช้เลข 4 แทนคำที่มีเสียง for ต่างๆ เลข 2 แทนคำที่มีเสียง to ต่างๆ หรือใช้พยัญชนะตัวเดียวโดยไม่ต้องมีสระ เพราะมีเสียงสระในตัวอยู่แล้ว เช่น b4 อ่านว่า before ทั้งนี้ รวมถึงเครื่องหมายแสดงอารมณ์ต่างๆ (emotion) ด้วย
อักขรวิธีแบบนี้แพร่ขยายไปยังการเขียนภาษาอังกฤษในประเทศอื่นๆ และยังแพร่มาสู่ภาษาที่ไม่ใช่อังกฤษ ซึ่งรวมภาษาไทยด้วย
โดยสรุปก็คือ อักขรวิธีของภาษาต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจปฏิรูปหรือไม่ก็ตาม และมักเปลี่ยนไปหาความง่ายมากกว่าความยากหรือความงุ่มง่าม
อาจยกเว้นภาษาไทยนะครับ เพราะการปฏิรูปอักขรวิธีครั้งใหญ่ของเราที่เกิดขึ้นหลังการพิมพ์นั้น กระทำโดยนักปราชญ์ ซึ่งมุ่งจะแสดงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแม่ภาษาคือบาลีและสันสกฤต และแสดงระเบียบภาษาที่แน่นอนตายตัว ตามความเข้าใจของท่านเหล่านั้นว่าเป็นลักษณะสำคัญที่ขาดไม่ได้ของอารยภาษา
ฉะนั้น จึงเกิดระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมากมายในภาษาไทย อีกทั้งเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะเข้าใจได้ ก็ต้องมีความรู้บาลี-สันสกฤตและเขมรในระดับหนึ่งด้วย เพราะท่านต้องการให้สะกดคำไทยเพื่อแสดงให้เห็นรากเหง้าของคำนั้นด้วย
กฎเกณฑ์ของอักขรวิธีที่สร้างขึ้นหลังการพิมพ์ในระยะแรก ง่ายกว่านั้นมาก เพราะท่านไม่สนใจว่าคำที่มาจากบาลีต้องสะกดให้เป็นบาลี หรือสันสกฤตต้องสะกดให้เป็นสันสกฤต ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามี ส. ถึงสามตัว คือ ศ, ษ, และ ส. ท่านก็วางหลักง่ายๆ เลยว่า ส. สำหรับสะกดเป็นพยัญชนะต้น ศ. สำหรับเป็นตัวสะกด และ ษ. สำหรับใช้ในที่การันต์
จบ เรียนง่าย อ่านง่าย
แต่หลังจากสมัย จอมพล ป. แล้ว ก็ไม่มีใครพยายามจะปฏิรูปอักขรวิธีไทยอีกเลย มีแต่ความพยายามของนักปราชญ์รุ่นหลังที่จะทำให้อักขรวิธีไทยซับซ้อนขึ้นไปอีก แต่ก็ตามแนวที่ท่านแต่ก่อนได้วางเอาไว้
ข้อเสนอปฏิรูปอักขรวิธีไทยอันสุดท้ายที่ผมได้ยิน เป็นของฝรั่งครับ
กล่าวคือ เขียนภาษาไทยโดยแยกคำออกเป็นคำๆ ขั้นด้วยวรรค เหมือนภาษาฝรั่ง ซึ่งทำให้จำเป็นต้องนำเอาเครื่องหมายวรรคตอนฝรั่งมาใช้เต็มที่ด้วย
เขาทดลองโดยการให้คนที่รู้สองภาษา (ไทยและอังกฤษ) อ่านภาษาไทยแบบเว้นวรรคทุกคำนี้ พบว่าอ่านได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ทั้งไม่กระทบต่อความหมายด้วย แต่พอทดลองเขียนภาษาอังกฤษโดยไม่มีการเว้นคำบ้าง ปรากฏว่าอ่านช้าลงมาก แสดงว่าไม่ได้ถ่ายทักษะการเขียนติดกันไปสู่อักขรวิธีอังกฤษ
การทดลองการเคลื่อนที่ของลูกตาในการอ่านภาษาไทยเว้นวรรค ก็พบว่าไม่สู้จะต่างกันนัก สรุปก็คือไม่มีความต่างของการเคลื่อนที่ของลูกตาในการอ่านภาษาไทยไม่เว้นวรรคกับภาษาไทยเว้นวรรค
แม้แต่แน่ชัดว่า อักขรวิธีที่เว้นคำทำให้อ่านได้เร็วขึ้น ก็ยังมีปัญหาว่า คุ้มหรือไม่ที่จะไปเปลี่ยนอักขรวิธีไทย เพราะต้องลงทุนหลายอย่าง
ในแง่เศรษฐกิจจะคุ้มหรือไม่กับการเปลี่ยนแบบเรียนทั้งหมด รวมไปถึงหนังสือดีๆ ที่พิมพ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดก็ใช้เพลทเก่าไม่ได้เลย แถมยังต้องมานั่งคิดกันให้ดีๆ ด้วยว่า แค่ไหนเป็น "คำ" สมบูรณ์ เช่น ต้น-ตระกูล-ไทย หรือ ต้นตระกูล-ไทย หนังสือ-พิมพ์ หรือหนังสือพิมพ์ จะคุ้มกับความเคยชินของผู้คนหรือไม่ ที่จะต้องงงกับหนังสือเก่าที่เก็บไว้ทั้งหมดในวันหนึ่งข้างหน้า
แต่คิดปฏิรูปก็ยังดีกว่าไม่คิดนะครับ โดยเฉพาะคิดแล้วไม่ไปเปลี่ยนอักขรวิธีด้วยอำนาจ ไม่มีอันตรายอะไรหรอกครับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย