.
รัฐบาลที่ไม่รู้จักปกป้องตนเอง จะต้องถูกโค่นล้มอีกครั้ง
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1621 หน้า 20
ถ้าจะมองว่าการชิงอำนาจรัฐเป็นเรื่องปกติ การจ้องล้มรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จากฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่โอกาสที่จะล้มนั้น ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
มีผู้กล่าวว่า พวกที่จ้องจะล้ม ไม่ต้องการรอจนถึงเดือนธันวาคม พอวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 หลังจากเลือกตั้งเพียงวันเดียว พวกเขาก็คิดแผนนี้กันแล้ว ผู้อ่านคงจะจำได้ว่าช่วงนั้นมีกระแสข่าวที่พูดกันไปทำนองว่า ยิ่งลักษณ์อาจตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้งถึง 265 เสียง จนกระทั่งมีทูตจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าพบอย่างไม่ขาดสาย
แต่มีบางกระแสข่าวแจ้งว่า ที่จริงแล้ว ความคิดโค่นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีมาก่อนหน้านั้นอีก เป็นแผนที่ไม่ต้องการให้ยิ่งลักษณ์มีโอกาสเกิดเป็นนายกฯ หญิง
แผนแรก...
เลื่อนการเลือกตั้ง ไม่ยอมให้ศัตรูเกิด
ข่าววงในแจ้งว่าเรื่องนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหาร และก็ไม่ใช่การทำแท้งก่อนคลอด แต่เป็นแผนเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ต้องแล้วแต่สถานการณ์ ว่าจะฉวยโอกาสเข้ายึดกุมอำนาจได้หรือไม่ แผนนี้เป็นแผนที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถูกกำหนดขึ้นเพราะรู้สึกตกใจว่าฝ่ายตรงข้ามจะชนะเลือกตั้งและชิงอำนาจรัฐไปได้
คงจำกันได้ว่าตลอดช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2554 ความนิยมของนางสาวยิ่งลักษณ์จากพรรคเพื่อไทย ทำให้ทุกคนคาดการณ์ว่าพรรคเพื่อไทยมีสิทธิชนะเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน มีโอกาสจะได้คะแนนประมาณครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด
กลุ่มสายเหยี่ยวของฝ่ายตรงข้ามประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้แน่นอน และพวกเขาจะต้องลำบากแน่ จึงเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง
แต่อีกสายหนึ่งคิดในแง่ดีว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง และเมื่อใช้แผนลับที่เตรียมไว้พวกเขาก็จะสามารถพลิกเกมกลับมาเป็นฝ่ายชนะโดยรวม ส.ส.หลายพรรคได้เกินครึ่ง
ในขณะที่การคาดคะเนทางการเมืองยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน การพิพาทกรณีชายแดนไทย-กัมพูชา ก็บานปลายออกไป มีการปะทะด้วยกำลังอาวุธครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองก็ยังดำเนินต่อไปโดยไม่สนใจว่าจะมีคนมากหรือคนน้อย
สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง มีการเคลื่อนกำลังทหารและอาวุธหนักไปที่ชายแดน ถ้ามีการปะทะหนักเกิดขึ้น การประกาศเลื่อนการเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นตามแผน
แต่แผนนี้ก็ถูกยกเลิกในนาทีสุดท้าย การตัดสินใจที่เปลี่ยนไปสู่การเลือกตั้งแบบปกติก็ด้วยเหตุผลดังนี้
1. มีการประเมินสถานะของพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ว่าแม้จะแพ้พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ที่ 1 แต่เมื่อนำจำนวน ส.ส ไปรวมกับ ส.ส. ของภูมิใจไทยซึ่งอาจจะได้ 60-70 คน ก็จะทำให้ชนะพรรคเพื่อไทยเล็กน้อยและกลุ่มอำนาจเก่ามีวิธีที่จะทำให้พรรคอื่นๆ เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ให้เพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว
วิธีนี้จะได้มีรัฐบาลที่มีภาพสวยที่สุด เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ การประท้วงของฝ่ายตรงข้ามก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
การดำเนินการตามเป้าหมายนี้ยังมีแผนใต้ดินตั้งแต่วิธีกาบัตร การเลือกตั้งล่วงหน้า การใช้กระสุนแข่งกับกระแสในทุกพื้นที่ คาดว่าถ้าใช้เทคนิคทุกอย่าง จะสามารถเปลี่ยนให้หลายเขตที่มีโอกาสแพ้กลับมาเป็นชนะด้วยคะแนนไม่มากนัก ปชป. มั่นใจและคิดว่าควรเลือกตั้งเหมือนเดิม เพราะการเลือกตั้งเลื่อนออกไป ก็ไม่ใช่ว่าจะพลิกจากฝ่ายแพ้มาเป็นฝ่ายชนะได้ อาจจะยิ่งแพ้มากขึ้นไปอีก
2. ในเดือนธันวาคม ปี 2553 ทูตสหรัฐคนใหม่ คือ คุณคริสตี้ เคนเนย์ ถูกย้ายจากฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในประเทศไทย และในเดือนมกราคมปี 2554 เธอให้คำแนะนำว่าประเทศไทยสามารถหาทางออกอย่างเป็นอารยะได้
การวิเคราะห์ของมหาอำนาจเกี่ยวกับความขัดแย้งในประเทศไทยได้กำหนดทางออกไว้แล้วว่าจะต้องเป็นแบบประชาธิปไตยที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตามนโยบายของอมริกา
แม้จะเกรงใจรัฐบาลอย่างไร แต่ผลประโยชน์ต่างๆ ในประเทศไทยของหลายชาติ ทำให้พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เพราะประเทศไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทวีปเอเชีย เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหาร, ผลิตผลการเกษตรขนาดใหญ่ของโลก
พวกเขาประเมินว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย จะทำให้เกิดการต่อต้าน ที่อาจจะหนักกว่าเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 เพราะอารมณ์ร่วมของคนทั้งประเทศจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้งไม่ใช่มีเฉพาะแต่คนเสื้อแดงเหมือนปี 2553
ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่เป็นการขัดขวางการเลือกตั้งก็จะมีคนออกมาประท้วงจำนวนมากและอาจเกิดความรุนแรงลุกลามขยายตัวจนไม่รู้จะลงเอยอย่างไร ไม่รู้ว่าจะสงบได้เหมือนปี 2553 หรือไม่
ด้วยเหตุผลทั้ง 2 ข้อ แผนการเลื่อนการเลือกตั้งของพวกหัวโบราณจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การคลอดเป็นไปตามกำหนดทันทีที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จึงเหมือนทารกน้อยน่ารักลืมตาดูโลก และก็ถูกประคบประหงมโดยทูตจากหลายประเทศทันที ทั้งประเทศเล็ก และมหาอำนาจ ส่งตัวแทนเข้าพบนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์แทบทุกวัน เป็นการยืนยันรับรองฐานะการเกิดก่อน กกต. ของไทย จะรับรองเสียอีก
ในที่สุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีเสียงสนับสนุน 300 จาก 500 เสียง ก็ปรากฏโฉมออกมา แม้จะดูไม่แข็งแรงนัก แต่ประชาชนก็ยังชื่นชม ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องหาโอกาสผลักให้ล้มทันทีที่ทำได้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ได้พยายามร้องขอโอกาสในการทำงาน ตามนโยบาย ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย
มีผู้วิจารณ์ว่า ในสถานการณ์อย่างนี้จะต้องเข้าใจถึงเกมของอำนาจ จะต้องแบ่งน้ำหนักการทำงานให้ถูกต้อง เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เล่นเกมตามระบอบประชาธิปไตยธรรมดา
สถานการณ์วันนี้
ฝ่ายค้านจะเป็นผู้โค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่
คําตอบคือ วันนี้ ปชป. และภูมิใจไทย ไม่มีศักยภาพพอ ปชป. ยังคงตามหาเงาของตนเองอยู่ พวกเขาบอกว่าจะตั้งรัฐบาลเงาเพื่อตรวจสอบรัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่ถึงวันนี้แล้ว เงาของตนเองก็ยังหาไม่พบ
พวกเขาตั้งข้อสงสัยว่าความผิดพลาดอะไรทำให้พวกเขาพ่ายแพ้อย่างยับเยิน แล้วก็พากันสำรวจและได้ข้อสรุปต่างๆ ว่า ข้าราชการไม่เอา ปชป. เพราะมีปัญหาเรื่องความยุติธรรม ทำให้ข้าราชการไม่ให้ความเคารพ พวกตำรวจก็ไม่ให้ความสนับสนุน ข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ก็ไม่สนับสนุน
มีการเสนอให้ปรับปรุงภาพลักษณ์ นโยบาย และการบริหาร เสนอให้ตั้ง ส.ส. เงาในจังหวัดที่ไม่มี ส.ส. ฯลฯ
หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่าเราต้องไม่หมกมุ่นกับสถานการณ์ที่ผ่านไปแล้ว อย่ามองแต่เรื่องแพ้การเลือกตั้ง แต่จะต้องมองว่าจะชนะการเลือกตั้งอย่างไร ไม่ว่าจะสี่ปีหรือหกเดือน
แต่ที่ซ่อนอยู่ในเงาของ ปชป. และต้องหาให้เจอ ไม่ใช่การทำอย่างไรให้ชนะเลือกตั้งในครั้งต่อไป จุดมุ่งหมายของ ปชป. เป็นอย่างนี้มาตลอดคือ เพื่อชนะเลือกตั้ง ไม่ว่ากี่สิบปีก็เป็นอย่างนี้ แบบนี้ต่อให้หาอีก 4 ปี 8 ปี ก็ไม่เจอ เพราะสิ่งที่ซ่อนอยู่คือปัญหาของประชาชน
เป้าหมายของ ปชป. ควรจะเปลี่ยนจากการชนะเลือกตั้งเป็น ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาของประชาชนได้ ถ้าทำได้เมื่อไร ประชาชนก็จะเลือก ปชป. มาเป็นผู้บริหาร
แต่จะว่าไปแล้วประชาชนมีสายตายาวไกล พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธพรรค ปชป. เพียงแต่เลือกมาให้เป็นฝ่ายค้าน เพราะเห็นศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่งพรรคอื่นไม่มี แต่ศักยภาพของ ปชป. วันนี้ จึงยังไม่ใช่ตัวหลักที่จะโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ แต่ทำหน้าที่เพียงตัวประกอบที่คอยรบกวนขัดขวาง ในระหว่างเส้นทางเดินเท่านั้น
กลุ่มที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ยังคงเป็นกลุ่มอำนาจเก่า
วันนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มคนซึ่งยังมีอำนาจอยู่ แม้จะแพ้เลือกตั้ง แต่ไม่ยอมแพ้ทางการเมือง นี่คือเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องมียุทธศาสตร์ในการก้าวเดินอย่างถูกต้อง มิฉะนั้นจะถูกโค่นลงมาอีกด้วยวิธีเก่าๆ
เมื่อประชาชนมอบอำนาจอธิปไตยให้กับรัฐบาลชุดนี้โดยผ่านการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่จะต้องมีหน้าที่บริหารประเทศ รักษาความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงสมควรที่จะใช้อำนาจเพื่อบริหารและป้องกันอย่างถูกต้อง
มีเหตุผลหลายประการที่ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำในตำแหน่งสำคัญๆ
1. สภาพการเมืองที่ผ่านมา การล้มรัฐบาลประชาธิปไตยถึง 3 ครั้งในช่วงปี 2549 ถึงปี 2551 ล้วนแล้วแต่ใช้อำนาจนอกระบบผ่านการปฏิบัติการของข้าราชการและกลุ่มการเมืองที่กระหายอำนาจทั้งสิ้น มิได้ใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย
ให้ดูตัวอย่างของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผลงานดีเท่าไรก็ตาม ก็ยังถูกทำรัฐประหารจนหลุดออกจากตำแหน่ง
อดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และ นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เคยให้โอกาสทำงาน ปิดล้อมสภา ปิดล้อมสนามบิน จนหลุดจากอำนาจไปเพราะตุลาการภิวัตน์
2. ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวจนเกิดความรุนแรงถึงขั้นที่รัฐบาลใช้กองกำลังติดอาวุธสังหารประชาชนกลางเมืองไปเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ผู้เกี่ยวข้องมีทั้งทหารและพลเรือน
3. มีการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมต่างๆ ทั้งกับข้าราชการและประชาชนกลุ่มต่างๆ
4. มีการฉีกรัฐธรรมนูญและใช้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งให้อำนาจกับพวกเผด็จการ
ทั้งสี่ข้อ เป็นเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลใหม่ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง, แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย, ปรับเปลี่ยนกำลังคนซึ่งรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต
ถ้าคนที่ร่วมในการรัฐประหาร คนที่ร่วมในการปรามปรามประชาชนยังถือปืนและคุมกำลังทหารอยู่ และคนที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้อง มีอำนาจแต่งตั้ง คัดเลือกคน ชี้ถูกชี้ผิด จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดการรัฐประหาร, เกิดการฆ่ากันกลางเมืองอีก
รัฐบาลที่ดี
ต้องรู้จักใช้อำนาจปกป้องประชาธิปไตย
และปกป้องตนเอง
การใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ จึงถือเป็นการกระทำขั้นแรกที่เหมาะสมไม่เกินเลย เพราะในทุกหน่วยงาน ทั้งในทหารและพลเรือน ก็สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติ มียศที่ใกล้เคียงกันเข้ามาทำงานแทนได้ การทำแบบนี้จะเปิดโอกาสให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยสะดวกและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
มีคำวิจารณ์ของผู้รู้เกี่ยวกับการโยกย้าย ดังนี้... เมื่อเทียบกรณีการรัฐประหาร ปี 2549 การสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตในปี 2553 กับเรื่องการย้าย ผบ.ตร. เพราะปัญหาบ่อนกลางกรุง เรื่องการย้าย ผบ.ตร. เป็นเรื่องเล็กนิดเดียว แม้เห็นด้วยที่จะย้าย ผบ.ตร. แต่ไม่ควรให้ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง การย้ายแบบนี้แสดงว่าพรรคเพื่อไทยประมาทเกินไป
ส่วนเรื่องการย้ายทหาร ถ้าเป็นไปตามโผที่ออกมา มีคนวิจารณ์ว่าแม้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก็จะทำได้แบบนี้แหละ ไม่ต้องไปเสียแรง เสียเลือด เลือกตั้งใหม่
กองทัพบก, กองทัพอากาศ, บก.สูงสุด ไม่มีการปรับดุลกำลังใหม่ ทุกตำแหน่งไหลไปตามสายอำนาจเก่า กองทัพเรือ อาจมีการเปลี่ยนเล็กน้อย ที่จริงจัดแบบนี้ไม่ต้องเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ ส่วนตำแหน่งปลัดกลาโหม คงสั่งทหารได้ไม่เกิน 1 หมู่
ถ้าจะอ้างเหตุผลว่าเพื่อการปรองดอง มีคนคาดว่า การไม่ย้ายนี่แหละจะนำไปสู่เรื่องวุ่นวายในอนาคต เพราะฝ่ายผู้เสียชีวิตจะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล และเมื่อถึงเวลานั้นจะกล้าโยกย้ายนอกฤดูหรือไม่ แรงกดดันจะกดไปทับทั้งรัฐบาลและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทหารและพลเรือน เมื่อความขัดแย้งขยายตัว ความคิดเห็นในหมู่คนถืออาวุธไม่มีการถ่วงดุลให้ยับยั้งชั่งใจ ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีกและอาจจะแรงขึ้นกว่าเดิม แต่ใครจะเป็นคนออกไปสู้ตายละ
การจัดกำลังทหารและข้าราชการซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันเป็นการวางกำลังของกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งกว่าจะทำได้ต้องใช้การรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ตุลาการภิวัตน์ ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร เมื่อได้อำนาจรัฐมา พวกเขาจึงสามารถทำได้โดยไม่เกรงใจใครทั้งสิ้น เหมือนจะถามว่า "จะทำแบบนี้...มีอะไรรึเปล่า?"
ถึงวันนี้ข่าวโผการโยกย้ายที่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้พวกเขาหัวเราะอย่างมีความสุข ครั้งนี้ไม่ต้องลงทุนลงแรง แค่ทำฮึดฮัดเล็กน้อย รัฐบาลก็ยอมแล้ว
นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง ครม. จนถึงข้าราชการประจำ ถ้ารัฐบาลใหม่จะนับว่าเป็นการปรองดอง ก็ต้องเรียกว่าเป็นการปรองดองของผู้แพ้...
เสียดายคะแนน 16 ล้านเสียง ที่กำลังจะถูกดอง นับแต่นี้ไปประชาชนต้องช่วยตัวเองแล้ว
วันนี้เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้จนชนะและมอบอำนาจมาให้รัฐบาลใหม่แล้ว ก็ต้องกล้าจัดการระบบต่างๆ ให้ยุติธรรมขึ้นมาบ้าง ถ้าไม่กล้าใช้อำนาจนั้นเลยแม้แต่ป้องกันตนเอง ใครจะไปปกป้องได้ตลอดเวลา อำนาจอาวุธและอำนาจกฎหมายที่ยังอยู่ในมือคนอื่นตั้งแต่ปี 2550 ถึง ปัจจุบัน อาจจะถูกหันกลับมาใช้เล่นงานรัฐบาลอีกหน ถ้าถูกรัฐประหารอีกครั้ง อย่ามาร้องให้ชาวบ้านช่วยก็แล้วกัน
(18 กันยายน ได้ข่าวว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารในโอกาสครบรอบ 5 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขออนุญาตรัฐบาลที่ถูกรัฐประหารหรือยัง เขาอาจจะไม่ให้ชุมนุมก็ได้นะ)
++
บทความปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )
ผลการเลือกตั้งและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้อนาคตพรรคการเมืองใหม่และเก่า
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1568 หน้า 20
สภา กทม. อยู่มาจนครบวาระสี่ปีอีกครั้ง ผลงานพอไปได้ เรื่องวุ่นวายน้อยกว่ารัฐสภาและรัฐบาลมาก อาจเป็นเพราะว่า กทม. เป็นเขตปกครองพิเศษที่มีการเลือกตั้งแบบแยกอำนาจเด็ดขาด ประชาชนเลือกผู้บริหารโดยตรงคือผู้ว่าฯ กทม. และก็ยังมีสิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปในสภา กทม. คือ ส.ก.
ถ้าประชาชนไทยมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีโดยตรงก็อาจแก้ปัญหาหลายเรื่องได้ แต่ไม่มีใครกล้าเสนอการแก้รัฐธรรมนูญในแนวทางนี้ กลัวจะถูกหาว่าเสนอ "แนวทางประธานาธิบดี" แม้จะมีคนเลี่ยงโดยวิธีเสนอให้เลือกเป็นทีม คือทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ แต่ก็มีคนค้านอีกว่ายาก เขามีเหตุผลว่า "พวก ส.ส. ไม่ยอมหรอก ขืนทำยังงั้น ส.ส. ก็ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีน่ะสิ"
29 สิงหาคม 2553 การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) มีผู้มาใช้สิทธิ์พอๆ กับครั้งก่อน คือเดือนกรกฎาคม 2549 ประมาณ 41.9% ครั้งนี้ 41.1%
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ประชาธิปัตย์ก็ได้ ส.ก. มากที่สุดเหมือนเดิม เพื่อไทยได้ ส.ก. ลดลงเล็กน้อย พรรคการเมืองใหม่ไม่ได้ ส.ก. เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว
ทุกพรรคไม่ต้องไปโทษดินฟ้าอากาศหรือจำนวนประชาชนที่มาใช้สิทธิ ว่าทำให้มีผลต่อคะแนนเสียง เพราะคราวที่แล้วก็เลือกตั้งในฤดูฝนเหมือนกัน การตัดสินใจของผู้มาลงคะแนนและไม่ลงคะแนน มาจากปัจจัยสามอย่าง
1. พฤติกรรมของพรรคการเมือง ที่ลงสมัครแข่งขันในช่วงเวลาที่ผ่านมา
2. ความนิยมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของผู้มาลงคะแนน
3. คุณสมบัติและผลงานของผู้สมัคร
คะแนนจากพฤติกรรมของพรรค คิดว่าไม่มีพรรคไหนได้เพิ่มขึ้น ปชป. ลดลงเพราะเหตุการณ์การแก้ไขการชุมนุมในเดือนมีนา-พฤษภา
แต่ที่หนักที่สุดคือเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นสารพัดโครงการและการแต่งตั้งข้าราชการในหลายหน่วยงาน
พรรคเพื่อไทยคะแนนน่าจะลดลงจากการเข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์เดือนมีนา-พฤษภา
พรรคการเมืองใหม่ ความนิยมลดลงเนื่องจากผู้บริหารพรรคคือกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งมีความนิยมลดลงหลังจากบุกยึดสนามบิน
คะแนนจากความนิยมเชิงอุดมการณ์ ภาษาการเมืองเรียกว่าขาประจำของพรรค ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทั้งสามพรรคใน กทม.
ประชาธิปัตย์ พรรคสีฟ้า มีสมาชิกพรรค และมวลชนจัดตั้งซึ่งเป็นหัวคะแนนวางรากฐานเก่าแก่มาหลายสิบปี ในงานนี้กระแสยังใช้ได้ ขาประจำก็จะออกมาแสดงตัวสนับสนุนมากพอสมควร
เพื่อไทย พรรคสีแดง ได้ขาประจำจากกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้นิยมอดีตนายกทักษิณ
พรรคการเมืองใหม่ พรรคสีเหลือง ได้ฐานเสียงจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้นิยมในพลตรีจำลองกับคุณสนธิอดีตหัวหน้าพรรคขาประจำทั้งสามพรรคจะออกมาลงคะแนน โดยที่ไม่สนใจต่อชื่อผู้สมัครมากนัก
คะแนนจากคุณสมบัติและผลงานของผู้สมัคร ประชาชนกลางๆ ทั่วไปนิยมเลือก ส.ก. และ ส.ข. แบบคนที่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ตนเองได้
ปชป. ได้เปรียบมากกว่า เพราะมี ส.ก. เก่าอยู่เยอะ มีงบพัฒนาลด แลก แจก แถม สนับสนุนการทำงานของ ส.ก. ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. และยังเป็นรัฐบาลด้วย การช่วยเหลือชาวบ้านทำได้คล่องกว่า ส.ก. มีผลงานให้ชาวบ้านเห็นมากพอสมควรตลอดเวลาสี่ปี ล่าสุดที่ใช้ได้ผลมากที่สุดคือเบี้ยผู้สูงอายุ
พรรคเพื่อไทย มี ส.ก. เก่าอยู่บ้าง พอมีผลงานแต่ยังสู้ ปชป. ไม่ได้
พรรคการเมืองใหม่เสียเปรียบมาก เพราะยังไม่มีผลงานใดๆ ให้ชาวบ้านเห็น
ผู้สมัครทั้งสามพรรคอาจเป็นตัวเลือกที่จำกัด และเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วนปัจจัยเรื่องนโยบายและอื่นๆ มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เพียงเล็กน้อย เมื่อรวมปัจจัยทั้งสาม คะแนนที่ออกมาก็เป็นไปตามธรรมชาติ ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ก. 45 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยได้ 15 ที่นั่ง พรรคการเมืองใหม่ไม่ได้เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว
แต่ถ้ารวมคะแนนจาก ส.ก. ทุกคนแล้วจะพบว่า มีคนลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ประมาณ 770,000 คน ลงให้เพื่อไทย 600,000 คน ลงให้พรรคการเมืองใหม่ 110,000 คน ผู้ที่ไม่ต้องการลงให้พรรคใดเลยมีถึง 105,000 คน ถ้าเห็นคะแนนแล้วก็จะพบว่า ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย คะแนนไม่ได้ห่างกันเยอะ และพรรคการเมืองใหม่ก็ยังมีคนในกรุงเทพ ฯลงคะแนนให้นับแสนคน
ถ้าวิเคราะห์ปัจจัยได้เปรียบของ ปชป. ซึ่งกุมอำนาจรัฐ คุมสื่อ คุมข้าราชการ มี ส.ก. และ ส.ข. เดิมอยู่มากมาย สามารถเอาชนะได้เพียงแค่นี้ อีกหนึ่งปีข้างหน้าถ้ามีเลือกตั้งใหญ่แล้วมีคนมาลงคะแนนเสียงถึง 60% จะเกิดอะไรขึ้นเพราะคนกทม.เปลี่ยนเร็วและเปลี่ยนแรง ถ้ามีข่าวดีๆ ออกมาคะแนนคงจะพุ่งสูงขึ้น แต่ถ้ามีข่าวเรื่องการโกงออกมาทุกวันแบบปัจจุบันนี้ ถึงเวลานั้นต้องตัวใครตัวมัน
จากผลการเลือกตั้งคิดว่าทุกพรรคยังใช้เส้นทางนี้ได้ไม่มีปัญหา พรรคการเมืองใหม่ท่าทางมีกำลังใจดี ยังสามารถแถลงว่าตัวเองได้รับชัยชนะพอสมควร ดังนั้น อย่าไปเชื่อถ้ามีคนบอกว่า กลับไปเคลื่อนไหวบนถนนดีกว่า คนพวกนั้นเป็นผู้ไม่หวังดี การเคลื่อนไหวบนถนนคือ การซื้อที่ดินที่ไม่มีโฉนด อาจถูกจับข้อหาบุกรุก แกนนำของพรรคอายุมากแล้ว มีประสบการณ์เฉลียวฉลาดพอที่จะคิดเองทำเอง อย่าไปเป็นโล่เป็นหอกให้คนอื่นอยู่เลย
ผู้เขียนเชื่อว่ามีพลตรีจำลองซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มีคุณสนธิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณา มีเสนาธิการเก่งๆ อยู่จำนวนมาก ทั้งหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันก็เป็นผู้กว้างขวางในวงการสหภาพแรงงาน ถ้ามีการเลือกตั้งใหญ่คงจะมีตัวแทนในสภาได้ เพราะในขอบเขตทั่วประเทศก็มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองสนับสนุนพอสมควร
ผู้สันทัดกรณีคิดว่าทั่วประเทศน่าจะได้เกินกว่า 5 คน
"ทราบแล้วเปลี่ยน"
เส้นทางเดินของทุกพรรค ตามแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข่าวจากประธานคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ดร.สมบัติ) แจ้งว่ามีแนวทางที่ได้คุย ปรึกษากันแล้ว การแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นแบบเขตเล็ก ONE MAN ONE VOTE แบบนี้พรรคเล็กพอสู้พรรคใหญ่ได้ น่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ทุกพรรค เพราะเป็นแบบสากล
จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะเพิ่มจาก 100 คน เป็น 125 คน (ลดจำนวนคน ส.ส. เขตเหลือ 375 คน) กำหนดเขตเลือกตั้งเป็นทั้งประเทศ ไม่ใช่ระดับภาค มีเหตุผลว่าเพื่อให้ได้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าไปช่วยงาน
ส.ว. ยังใช้วิธีเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง แต่งตั้งจำนวนหนึ่ง โดยจะเพิ่มกรรมการสรรหาจาก 7 คน มาเป็นประมาณ 40 คน โดยเพิ่มกรรมการจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามา ดูแล้วกรรมการคงจะมีโอกาสเลือกพรรคการเมืองใหม่มากพอสมควร แต่คงต้องไปแบ่งกับ ปชป. และภูมิใจไทย
ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องกลัว ไปสมัคร ส.ว. แบบเลือกตั้งก็พอสู้ได้
เรื่องยุบพรรคก็จะมีการเปลี่ยนแปลง กรรมการแก้ไขเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เพราะยุบใหม่ก็ตั้งใหม่ได้ พรรคไม่ได้ทำผิดอะไรจึงควรลงโทษเฉพาะผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดให้หนัก เช่น ผู้สมัครทำผิดตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กรรมการทำผิดตัดสิทธิ์ 10 ปี หัวหน้าพรรคทำผิดตัดสิทธิ์ 15 ปี เป็นต้น
เหล่านี้เป็นแนวทางบางส่วนที่รอสรุปกันในอีกไม่กี่วันนี้
แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจไม่ได้แก้ไขจนถึงรากของปัญหา เพียงแค่ให้เกิดการเลือกตั้งที่พอรับกันได้ ถือว่าเป็นบันไดของการปรองดองขั้นหนึ่ง อย่างที่ประธานพูดนั่นแหละ "ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย" ระวังอย่าไปแก้แล้วถอยหลังไปสู่แนวเผด็จการก็แล้วกัน เวลานี้มีทางเลือกไม่มากนัก รัฐบาลคงจะปกครองไป แก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนครบอายุสภา คิดในทางที่ดีก็แล้วกันว่า
พรรคการเมืองใหม่ยังมีเวลาสร้างตัว สร้างพรรค ขยายสาขา
พรรคภูมิใจไทยยังมีเวลาดัดแปลงพันธุกรรม ส.ส. ตั้งข้าราชการ เก็บเกี่ยวความเหนื่อยยากที่ได้ลงแรงไป
ประชาธิปัตย์ยังมีเวลาสร้างผลงานและชื่อเสียง แต่ผลจะออกมาดีหรือเสียไม่รู้
เพื่อไทย ยังมีเวลากลับไปหาหัวหน้าพรรคตัวจริง ปรับองค์กร หาผู้สมัครใหม่แทนคนเก่าที่ทรยศและจากไป
พรรคอื่นๆ ยังมีเวลาใช้งบประมาณและลงไปเตรียมการหาเสียง
ประชาชน องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการและสื่อทุกแขนงต้องใช้เวลาช่วงนี้เสนอแนะสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อช่วยกำหนดเส้นทาง ให้มีการพัฒนาทางการเมืองได้อย่างเหมาะสม
อย่านิ่งดูดาย
การนิ่งดูดายต่อปัญหาต่างๆ ได้ส่งผลร้ายต่อพวกเราทุกคนแล้วในวันนี้ ไม่ว่าจะสนใจการเมืองหรือไม่ ใส่เสื้อสีอะไร ทุกคนกำลังได้รับผลกรรมร่วมกัน จากปัญหาการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม การคอร์รัปชั่น สิ่งเหล่านี้กำลังขยายตัวไปอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
วันนี้ประชาชนทั้งประเทศจะต้องพบกับปัญหาใหญ่คือ มีหนี้เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินของรัฐบาล ไม่รู้ว่าจะใช้หมดสิ้นเมื่อใด จะได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป ที่ทำให้กำลังซื้อและค่าเงินของประเทศเหล่านั้นลดลง โอกาสได้เห็นค่าเงิน 30 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ คงไม่นานเกินรอ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อภาคส่งออกของไทย ขณะนี้รัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีใด
ขณะที่เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชนชั้นนำห่วงแต่ปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง ประเทศที่เจริญแล้วมีแผนล่วงหน้าเป็นสิบปี
ไม่กี่วันนี้ผู้แทนการค้าไทยไปเยือนญี่ปุ่น พบว่าญี่ปุ่นประกาศแผนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการเข้าร่วมทุนกับภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ ซึ่งเน้นประเทศเอเชีย 9 ประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฯลฯ ยกเว้นประเทศไทย
ถึงเขาจะแจ้งอย่างสุภาพต่อผู้แทนการค้าไทยว่า "เขาลงทุนในไทยมากแล้ว" แต่ก็ต้องเข้าใจว่าวันนี้สถานการณ์การเมืองประเทศเราเปรียบเหมือนปัญหาของสถาบันการศึกษาสองแห่ง ที่มีชื่อเสียงทางช่างมาหลายสิบปี ผลิตช่างฝีมือดีมาจำนวนมาก แต่ปัจจุบันมีเรื่องชกต่อย ตีกันและยิงกัน จนแทบจะต้องปิดสถาบัน ถามว่ามีใครอยากจะส่งลูกไปเรียนที่นั่น
วันนี้ประชาชนหวังว่า ระบบประชาธิปไตยจะถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น นักการเมือง ข้าราชการประจำทั้งพลเรือนและทหารจะปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานสากล ประชาชนไม่ต้องการเห็นการคดโกงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถเมล์ รถเกราะหรือปลากระป๋อง หวังว่าจะพบเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในทุกสถาบัน หวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเข้ามาแก้ไขปัญหาและตักเตือนให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าทุกคนนิ่งเฉย ปล่อยให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นทุกวันก็เหมือนกับว่า ทุกคนรู้เห็นเป็นใจร่วมกันกระทำความเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับแผ่นดิน
อนาคตของพรรคการเมืองใหม่และเก่า ขึ้นอยู่กับทางเดินที่ทอดยาวไปสู่รัฐสภาซึ่งวันนี้ยังเปิดอยู่ ยังเห็นแสงสว่าง เพราะความรุนแรงและสงครามไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้ถูกต้องยุติธรรม เส้นทางสู่รัฐสภานี้ก็อาจพังทลายลงได้ ถึงเวลานั้นรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งก็ไม่มีประโยชน์อีกแล้ว ไม่เพียงอนาคตของพรรคการเมือง แต่อนาคตของชาติก็จะกลายเป็นอนาคตที่มืดมิดลงอย่างรวดเร็ว
+++
สงครามสื่อฯ...แนวรบแรกของการต้านเผด็จการ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1569 หน้า 20
เหตุการณ์ที่ระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงเข้าใส่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่ใช่สงครามสื่อฯ และไม่ใช่แนวรบทางการทหาร แต่เป็นระเบิดการเมืองที่มีปฏิบัติการต่อจากเพาเวอร์ คิงส์ ซอยรางน้ำ
มีผู้สันนิษฐานว่าไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน แต่น่าจะเป็นพวกที่ผิดหวังจากตำแหน่ง...
ปรากฎการณ์ของสงครามสื่อฯ เกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งในหน้ากระดาษ หน้าจอ หรือทางวิทยุ สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบัน
สงครามสื่อฯ ปรากฏชัดเจนตอนที่เอเอสทีวี (จอเหลือง) แพร่กระจายไปทั่วประเทศ จากวันนั้นความขัดแย้งและความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันก็ขยายไปยัง น.ส.พ. รายวัน, รายสัปดาห์, วิทยุ, วิทยุชุมชน โทรทัศน์จอแดงก็เกิดขึ้นมาต่อสู้กับจอเหลือง
ความเห็นที่แตกต่างปรากฎในโทรทัศน์ธรรมดาบ้าง แต่ที่ต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงคือในอินเตอร์เน็ตที่มีสารพัดเว็บหลายช่องทาง สื่อสารผ่านเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ และที่ง่ายที่สุดคือผ่านโทรศัพท์มือถือ ความคิดจากสมองถูกถ่ายทอดจากปลายนิ้ว นิ้วที่ไม่ได้เหนี่ยวไกปืน แต่ได้ยิงข้อมูลข่าวสาร ความเห็นออกไปด้วยความเร็วยิ่งกว่ากระสุนทุกชนิดในโลก ไปไกลจนถึงต่างประเทศ กระจายกว้างและรุนแรงกว่าระเบิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แม้อีกฝ่ายหนึ่งจะใช้อำนาจเผด็จการปิดกั้นก็ไม่อาจทำได้
ย้อนหลังไปหลายปีก่อน กลุ่มคนที่จะมีพลังต่อกรกับอำนาจเผด็จการได้ โดยการใช้สื่อฯ เป็นอาวุธมีไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพทางด้านนี้คือนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ถูกจับไปขังคุกกันเยอะแยะ แต่ปัจจุบันโลกและเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก คนอ่านคนดูสามารถทำหน้าที่รายงานข่าวและแสดงความคิดเห็นได้ แถมยังปกปิดตัวเองได้ด้วย
วันนี้จึงมีนักรบนิรนามที่เข้าร่วมแนวรบนี้จำนวนมาก
วันนี้ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นได้ลงสนามสู้ศึก เข้าร่วมการต่อสู้ในแนวรบนี้ไปแล้วโดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งแรกที่ต้องยึดไว้เป็นหลักการคือ ต้องรู้จักใช้การต่อสู้ทางสื่อฯ ไปยับยั้งความรุนแรง ไม่ใช่ไปเพิ่มความรุนแรง ต้องพยายามผลักดันความขัดแย้งทางการเมืองไปปะทะกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยกำลัง
คนดูฟุตบอลต้องการดูเกมการแข่งขันที่อยู่ในกรอบกติกา กรรมการต้องยุติธรรม แม้ในเกมจะมีการตุกติกกันบ้างก็อยู่ในขอบเขต ไม่มีใครอยากดูฟุตบอลที่ตอนท้ายเปลี่ยนเป็นมวยไทย
สงครามสื่อฯ ในยุคนี้เป็นสงครามที่กำหนดแนวรบไม่ได้ ไม่มีแนวหน้าไม่มีแนวหลัง ไม่มีกำหนดเวลาและสถานที่ สามารถนำพาผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมด้วย ใช้ความคิด คำพูดและข้อความของผู้คนเป็นอาวุธที่สู้กันผ่านปากหรือปลายนิ้วก็แล้วแต่ถนัด
สถานการณ์หลังการรัฐประหาร กันยายน 2549 การคืบคลานเข้ายึดอำนาจรัฐของกลุ่มเผด็จการ (ไม่ใช้คำว่าเผด็จการทหารเพราะเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ที่ต่างกันหลายกลุ่ม) ได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนจนกระทั่งสำเร็จ
เมื่อรัฐบาลเผด็จการซ่อนรูปปรากฏขึ้น การสำแดงอำนาจเผด็จการยังไม่ปรากฏให้เห็นชัดนัก แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาผู้คนก็รู้กันทั้งแผ่นดิน ว่าคนกลุ่มนี้พยายามรวบอำนาจมาไว้เป็นของตัวเองให้นานที่สุด
เหตุการณ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนมาปรากฏให้เห็นในการปราบประชาชน เมื่อเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนอีกแล้ว และอย่าหวังว่าจะได้คืนไปง่ายๆ
จากนั้นความพยายามควบคุมข่าวสารและบิดเบือนข่าวสารก็มีมากขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาอำนาจรัฐ ข่าวสารและข้อมูลเหมือนกระสุนที่ผ่านเข้าหูเข้าตาทุกวัน ถ้าไม่ระวังให้ดี ผู้ชมผู้ฟังจะคล้อยตามและถูกหลอกได้ง่าย เพราะปัจจุบันมีการเสนอข้อมูลเพียงบางด้านเท่านั้น การวิเคราะห์และสรุปก็เอียงไปตามทัศนะหรือจุดประสงค์ของผู้เขียนหรือผู้ทำรายการ
วิธีแก้ไขที่จะทำให้เรารู้ความจริงก็คือ ต้องรับข่าวจากหลายด้านวิเคราะห์จากหลายมุม แม้บางครั้งอาจไม่ได้ข้อสรุปในทันทีทันใด แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งความจริงก็จะปรากฏ
ตามหลักการของการรักษาอำนาจรัฐ ผู้ปกครองต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะชักจูงและทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับตนเอง สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าใครมาปกครองก็ต้องทำอย่างนี้ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเอาเอง และนำมาวิเคราะห์ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
ถ้าเชื่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปหมดทุกเรื่องก็จะกลายเป็นเพียงคนโง่ที่ถูกเขาหลอกไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น
เพราะฝ่ายที่หลอกลวงจะเปลี่ยนเรื่องหลอกได้ทุกวัน แต่ชีวิตของชาวบ้านคือชีวิตจริงไม่ใช่ละครหลังข่าว เขาต้องการข้อมูลจริงมาใช้ในการตัดสินใจ
ถ้าเสียงจากรัฐบาลบอกว่า "ไม่ลดค่าเงินบาทแน่นอน" ประสานเสียงกันทั้ง 3 รัฐมนตรีและ 4 องค์กร อีกสองวันจะพบว่า รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาทเฉยเลย
หรือผู้นำกองทัพบอกว่า "ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว" และแทบทั้งกองทัพก็ประสานเสียงยืนยันว่าไม่ทำแน่นอน ไม่ถึงห้าวันก็จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น
แน่นอนเช่นกัน ข่าวที่ยืนยันรับรองหรือกล่าวหาผู้อื่นดังผ่านสื่อตลอดเวลา ไม่มีการซื้อเสียง, ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง, โครงการนี้สุจริตไม่มีคดโกง, G.T.200 ใช้ได้ผลดีไม่มีปัญหา, ส.ส. ย้ายพรรคเพราะอุดมการณ์วันนี้ไม่ตรงกัน ฯลฯ จะเห็นว่า บางเรื่องก็หลอกประชาชนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนประชาชนพอมีประสบการณ์ แต่บางเรื่องก็ซับซ้อน บางครั้งแม้นักข่าวยังรู้ไม่เท่าทัน หลายเรื่องมีผลต่อธุรกิจหรือชีวิตของประชาชนโดยตรง บางเรื่องก็กระทบโดยอ้อม บางเรื่องมีผลต่อสถานการณ์การเมือง
เมื่อสะสมมากขึ้นก็มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศในภายหลัง
การไหลวนของข้อมูลข่าวสารยุคปัจจุบัน
ผู้ที่สนใจการเมืองและติดตามข่าวสารหลายคน ชอบนำข้อมูลที่ได้รับจากสื่อไปบอกเล่าให้ผู้อื่นฟังเป็นทอดๆ จึงควรติดตามข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน มิฉะนั้นแล้ว ตัวท่านเองจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือให้คนอื่นเขาหลอกใช้งาน
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสสัมผัสกับคนกลุ่มหนึ่ง เป็นพ่อค้าประมาณสิบกว่าคน แม้ไม่ใช่พ่อค้าใหญ่แต่ก็มียอดขายรวมกันเกินกว่าพันล้านต่อปี เสียภาษีมากพอสมควร ในหนึ่งเดือนพวกเขาจะมีการพบปะเปียร์แชร์กันสองครั้ง สาระที่พูดคุยกันในวงแชร์ล้วนแต่เป็นเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจ
ดูท่าทางพวกเขามีข้อมูลเยอะพอสมควร จึงถามว่าพวกเขาได้รับข้อมูลข่าวสารทางไหนบ้าง
แทบทุกคนดูข่าวจากทีวีทุกช่องรวมทั้งยูบีซี บางคนดูข่าวจากเว็บไซต์ต่างๆ และรับชมอินเตอร์เน็ตทีวี, ทีวีดาวเทียมหลายช่อง ไม่มีใครเล่นเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ ส่วนหนังสือพิมพ์พวกเขาจะอ่านมติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก หลายคนอ่านมติชนรายสัปดาห์
ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวซื้อหนังสือของเสื้อแดงและเสื้อเหลืองมาอ่าน อ้างว่าเอียงเกินไป ดูการรับข่าวสารของพวกเขาแล้วก็นับว่าทั่วด้านพอสมควร การวิเคราะห์ของพวกเขาก็คือการสนทนาในหมู่เพื่อนฝูงและในที่ทำงาน
เมื่อเห็นว่าหลายคนเป็นผู้สูงอายุจึงสงสัยว่าทำไมเขาใช้คอมพิวเตอร์ได้ดี
"เมื่อก่อนผมไม่เป็นเลย ตอนหลังเห็นว่าข่าวที่ได้รับมันเป็นข่าวด้านเดียว ก็เลยอยากรู้ว่าเขาดูข่าวในเว็บกันได้ยังไง พวกลูกหลานก็มาปรับคอมพิวเตอร์ผมให้เหมือนกับโทรทัศน์ เขาฝึกให้ผมเปิดเครื่องให้ได้ แล้วก็ตั้งโปรแกรมเว็บต่างๆ เรียงไว้ให้ดูตามที่ต้องการประมาณสิบเว็บ ไม่ยากเลยครับ มันก็เหมือนเวลาผมไปเมืองจีน ผมพูดจีนกลางไม่ได้ผมก็ชี้เอา ในเครื่องคอมมีลูกศรให้ชี้ ผมก็ชี้แล้วคลิกทีเดียวก็ได้ดูแล้ว ตอนนี้ดูได้มากขึ้น เพราะหลายเว็บเขามีลิงค์ให้เราไปดูรายการอื่นได้ เราก็เลยมีช่องดูเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ลูกหลานตั้งเอาไว้ให้ มี
เรื่องที่เราไม่รู้เยอะแยะ ที่จริงซ่อนอยู่ที่ปลายนิ้วเรา ผมชอบดู voice tv. ของหม่อมปลื้ม แกกล้าพูดๆ ได้ตรงดี มีข้อมูลและเหตุผลที่น่ารับฟัง "
ตัวอย่างที่ยกมาคงทำให้ผู้อ่านเห็นกระบวนการไหลวนของข่าวสารที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในทุกช่วงเวลา เริ่มจากความคิดของคนผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไปสู่คนและกระจายจากนิ้วต่อนิ้ว จากปากต่อปากไปเรื่อยๆ และชี้ให้เห็นการปรับตัวของผู้รับข่าวสาร ผู้ที่ยังล้าหลังอยู่ควรปรับตัวให้ทันยุคสมัย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย
ภาระหน้าที่
วันนี้สถานการณ์ที่เป็นจริงคืออำนาจเผด็จการพยายามขยายฐานองค์กรและบุคคล โดยอาศัยกฎหมายและปฏิบัติการหลายอย่าง แต่ก็ถูกต้านทานโดยนักรบสื่อสารฯ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น พวกที่เป็นมืออาชีพค่อนข้างเก่ง รู้ภาระหน้าที่และวิธีการสู้รบ รู้กฎเกณฑ์แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่ทำอาชีพอื่น แต่เป็นนักรบไซเบอร์ที่สู้รบอย่างขยันขันแข็ง หลายคนแม้ขณะสู้รบอยู่ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองได้เข้าสู่สงครามแล้ว เข้าไปอยู่ในแนวรบแรกที่ใช้ต่อต้านเผด็จการ
นักรบที่ใช้สื่อฯ เป็นอาวุธทุกท่านต้องสำนึกเสมอว่า การต่อสู้ครั้งนี้เดิมพันด้วยอนาคตของประเทศชาติ วันนี้คู่ต่อสู้มีชั้นเชิงแพรวพราว ขยายอำนาจออกไปครอบคลุมองค์กรเกือบทั้งหมด ทำให้นักรบส่วนใหญ่ต้องปิดบังตัวเองไว้ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง
พวกท่านยังมีภาระหน้าที่ในการเปิดโปงแผนการ เล่ห์เหลี่ยม พฤติกรรมที่ชั่วร้าย ความคดโกงและความโหดร้ายให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ทุกท่านจึงต้องแสวงหาข้อมูลให้รอบด้าน วิเคราะห์ให้ได้หลายแง่มุม ส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลออกไปให้กว้างไกลที่สุด
งานนี้ต้องใช้พลังความสามารถ เทคโนโลยีและเวลาของท่านให้คุ้มค่า ปลายนิ้วที่ใช้ยิงต้องยิงให้แม่นที่สุด ได้ผลที่สุด อาวุธที่ยิงออกไปคือข้อมูลและเหตุผล สิ่งนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจข้อเท็จจริง เข้าข้างเราและต่อต้านอำนาจเผด็จการมากขึ้นไปเรื่อยๆ คำด่าคำหยาบอาจจะสะใจ แต่ไม่มีน้ำหนักเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ฝ่ายเรา ภาพ, ข่าวและข้อความที่มีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่เราควรยิง (ส่ง) ให้กระจายไปมากที่สุด มีตัวอย่างการรบของมืออาชีพที่ส่งผ่านรายการอินเตอร์เน็ตทีวี เช่น VOICE TV.
TV. เป็นทีวีผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเต็มรูปแบบ จากการติดตามชมมาสามเดือนเต็มแล้ว เห็นว่าดีอย่างที่มีคนพูดถึง ข้อดีของอินเตอร์เน็ตทีวีคือดูย้อนหลังได้ กลับบ้านช้ากลับบ้านเร็วก็ดูได้ สามารถดึงข้อมูลจากรายการมาค้นคว้าได้
แต่ที่น่าเสียใจก็คือจำนวนผู้ชมยังมีน้อย เมื่อเทียบกับคุณภาพ ผู้เขียนคิดว่าคอการเมืองน่าจะติดตามอยู่สองสามรายการ คือรายการข่าวและการเจาะข่าวซึ่งอาจจะมีแง่มุมที่ต่างกับช่องอื่น รายการที่สองคือ The daily dose ซึ่งมีตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์เวลาประมาณสองทุ่ม ผู้ดำเนินรายการคือ ม.ล.ณัฐกรณ์ เทวกุล หรือหม่อมปลื้ม
รายการนี้ให้ความรู้มีแง่มุมดีที่สำคัญคือกล้าวิจารณ์ตรงๆ ว่ากันไปตามเหตุตามผล ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงนายก รัฐบาลหรือ ศอฉ. หม่อมปลื้มพูดเหมือนนั่งวิจารณ์กันอยู่ในร้านกาแฟ ไม่เกรงอกเกรงใจแต่ก็ไม่หยาบคาย ถ้าดูรายการ The daily dose อย่างเดียวจะเข้าใจว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตลอดสามเดือนเห็นการพัฒนาของหม่อมปลื้มว่าสามารถทำรายการได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คมขึ้นกว่าเดิม ลึกขึ้นกว่าเดิม ได้แต่ภาวนาว่าขอให้อยู่ได้นานๆ เข้าใจว่ารายการคงผลิตก่อนลงเว็บหนึ่งถึงสองชั่วโมง คงมีเวลาตรวจสอบ
อย่าเผลอเปิดช่องให้ฝ่ายที่ไม่พอใจโจมตีก็แล้วกัน
ใน voice t.v. ยังมีอีกรายการหนึ่งคือ The commentator สองทุ่มวันเสาร์อาทิตย์ รายการนี้ คุณสุรนันท์ เวชชาชีวะ ลูกพี่ลูกน้องนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินรายการ ถ้าดูรายการนี้แล้วจะรู้สึกว่าเวชชาชีวะมีสองด้าน สุรนันท์เป็นด้านตรงข้ามของอภิสิทธิ์
รายการนี้เน้นเนื้อหาการเมืองเหมือนกัน ลีลาของคุณสุรนันท์นิ่มกว่าหม่อมปลื้ม แต่ก็มีหมัดหนักปล่อยออกไปเป็นช่วงๆ ดูคุณสุรนันท์มาสามเดือนพอสรุปได้ว่า คุณสุรนันท์คงจะเป็นคนเดินนำคนในตระกูลเวชชาชีวะเดินไปตามท้องถนนได้โดยไม่ต้องมีกองกำลังคุ้มกัน
ที่จริง voice t.v. มีรายการต่างๆ เยอะ คล้ายๆ โทรทัศน์บวกแม็กกาซีน เพียงแต่ผู้เขียนเป็นขาการเมืองก็เลยไม่สามารถวิจารณ์รายการอื่นได้ แต่คุณย่าที่บ้านซึ่งอายุเจ็บสิบกว่ากลับชอบดูรายการเจาะข่าวตื้นของ ihear t.v. (ซึ่งน่าจะเหมาะกับวัยรุ่นมากกว่า)
อุปสรรคที่ต้องพบเจอ
ในเมื่อเราต่อสู้กับอำนาจเผด็จการก็ต้องมีอุปสรรคขวากหนามเป็นธรรมดา อาจจะพบกับการข่มขู่ หรือการบีบบังคับด้วยวิธีต่างๆ เช่น การปิดเว็บ การรบกวนทางเทคนิค ปิดกั้นไม่ให้เข้าไปค้นหาหรือทำให้ยากลำบาก ฯลฯ
ไม่กี่วันมานี้พันเอกสรรเสริญ โฆษก ศอฉ. ได้กล่าวถึงหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า "ศอฉ. ได้ติดตามพฤติกรรมมาโดยตลอด และจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับสิ่งพิมพ์ดังกล่าว ถ้ามีความจำเป็นจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดเช่นการปิดหนังสือพิมพ์"
แต่เรื่องนี้ขอเตือนศอฉ.ว่าอย่าบ้าจี้ตามโฆษก รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลปิดหนังสือพิมพ์ได้ง่ายๆ หรอก อย่าแส่หาเรื่องกับ น.ส.พ. ดีกว่า แค่ วิกเตอร์ บูต เรื่องเดียวก็แย่แล้ว ถ้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวแต่เรื่องโกง โกง โกงทุกวันคิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร
คิดจะปิดหนังสือพิมพ์เพราะเขาเปิดโปงคอรัปชั่นก็ยิ่งโง่เข้าไปใหญ่
แนวรบหลักแนวแรกต้องดำรงอยู่ต่อไป
สําหรับการต่อต้านกับอำนาจเผด็จการ แนวรบบนสื่อยังเป็นแนวรบหลักโดยเฉพาะในช่วงแรกที่การต่อสู้เริ่มต้นขึ้น เพราะต่างฝ่ายก็ต้องช่วงชิงการสนับสนุนของมวลชน
แนวรบนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตไม่มีหยดเลือดสาดกระเซ็นแต่มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฎ ถ้าทำได้ดีก็จะเป็นตัวหยุดยั้งความรุนแรง แม้การต่อสู้จะต้องใช้เวลายาวนาน ก็ต้องเชื่อมั่นว่า ฝ่ายธรรมะย่อมชนะอธรรม ต้องเตือนตัวเองเสมอว่าภาระหน้าที่ในวันนี้คือการกระตุ้นเตือนประชาชน ให้ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจเผด็จการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้อำนาจนี้ขยายตัวและเติบใหญ่ขึ้น
เราไม่ต้องการเห็นประเทศไทยย้อนกลับเป็นเผด็จการแบบพม่า ซึ่งประชาชนต้องอยู่อย่างยากไร้ ด้อยคุณภาพชีวิต ไร้สิทธิเสรีภาพ
วันนี้เรามีนักรบที่ท่องอยู่บนคลื่นข่าวสารจำนวนมาก มีตัวอักษรและข้อมูลต่างๆ เป็นอาวุธ คนหนุ่มคนสาวที่ห้าวหาญจำนวนหนึ่งเพิ่งลงสู่สนามรบได้ไม่นาน แต่ก็มีบางคนที่สู้รบในแนวรบนี้มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ยืนหยัดสู้มาตั้งแต่ยุคปากกา, พิมพ์ดีด, จนถึงคอมพิวเตอร์ชูธงสู้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย