http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-02

กูรูใหญ่ วิพากษ์ค่าแรงฯ, เทียบฟอร์มไล่ไม่ทัน, 'งอม'แค่เขย่าก็ร่วง?

.

กูรูใหญ่ วิพากษ์ค่าแรง เงินเดือน จำนำข้าว ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำได้จริงหรือ ?
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 22:30:00 น.


รับชมข่าว VDO
www.youtube.com/watch?v=PWQJPyLa1nU&feature=player_embedded



"มติชนออนไลน์" รายงานการสัมมนาคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา และคณะอนุ

กรรมาธิการนโยบายการเงิน การคลังและงบประมาณ เรื่อง "วิเคราะห์และศึกษาผลกระทบนโยบายประชานิยม ค่าแรงและเงินเดือนของนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ทำได้จริงหรือ?" โดยมี โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายศุภชัย เจียรวนนท์, ศ.ดร. ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์, รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และรศ.ดร.ภาณุพงษ์ นิธิประภา เป็นผู้ร่วมสัมมนา โดยการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้น ณ โรงแรมสยามซิตี้

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ประเทศต่างๆทั่วโลกที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม ล้วนมีปัญหาที่สำคัญคล้ายๆกันคือในเรื่องการกระจายรายได้ สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบอันหนึ่ง การกระจายรายได้ที่ไม่ดีส่งผลให้เกิดการผิดสมดุลย์ คนที่เป็นผู้มีรายได้น้อยขาดโอกาสที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีตามสมควรแก่สถานะ และประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในภาวะเช่นนั้น

"หรืออย่างในประเทศจีน ซึ่งปัญหาการกระจายรายได้ได้สร้างทั้งความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างในเรื่องโอกาสทางการศึกษา ทางสังคม และอาจลุกลามไปถึงความแตกต่างที่เป็นปัญหาทางการเมือง"

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น "เราจำเป็นต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยทั้งส่วนที่เป็นคนเมืองและส่วนที่เป็นเกษตรกรให้มีรายได้ดีขึ้น แนวทางที่รัฐบาลกำลังเดินทางไปในตอนนี้เป็น การดำเนินนโยบายเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะนำประเทศไปสู่ "สมดุลย์ใหม่" "

โดยสำหรับนายจ้างนั้น "ถ้าเขาจะต้องจ่าย 300 บาทให้กับคนที่เขาเคยจ่ายให้ 215 บาท เขาจะคิดว่าเขาจะทำงานกับคนเหล่านั้นอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า การพัฒนาให้เกิดทักษะฝีมือแรงงานต้องเกิดด้วยกันทางนายจ้างและลูกจ้าง"

"กระบวนการเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น สำหรับรัฐบาลในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้จ้าง "ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ลูกจ้างชั่วคราวไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนในประเทศนี้ที่เคยได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 300 บาท ท่านจะได้รับในอัตราใหม่ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่ว่าจะจบมาด้วยเกรดเท่าใดก็ตาม ท่านจะได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่"

"ดังนั้นคำถามที่ว่า "2 สูง" ที่ว่าอะไรสูงก่อนนั้น ผมขอกล่าวว่ารัฐบาลพร้อมที่จะให้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานต่างในอนาคตๆเมื่อจะต้องขยายอัตรารับบุคลากรจากภาครัฐก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง แล้วคนเหล่านั้นก็ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ "เช้าชามเย็นชาม" เหมือนที่เคยได้ไม่กี่พันแล้วได้เป็นหมื่นห้า ซึ่งที่จริงแล้วนั้น บริษัทเอกชนบางส่วนนั้นพร้อมที่จะจ่ายสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้ามองในมุมนักธุรกิจ ต่อให้พร้อมยังไงถ้าไม่จำเป็นท่านก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องไม่จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ ณ วันนี้ท่านมีเหตุผลแล้ว"


เหตุผลข้อแรกคือภาครัฐจะเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าว เหตุผลข้อที่สองคือ ลูกจ้างของท่านมีความคาดหวัง เหตุผลข้อที่สามก็คือว่า ท่านมีภารกิจที่จะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะเกิดความคุ้มค่าทั้งกับทั้งผู้จ้างและลูกจ้าง ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นจะมีความเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่

เมื่อพูดถึงความกังวลในเรื่องปัญหาการตกงาน นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการตกงานย่อมต้องมีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรที่ไม่พัฒนาตนเอง ที่เคยได้เงินเดือนไม่กี่พันและยังอยากจะทำงานในระดับประสิทธิภาพนั้นอยู่เช่นเดิม นายจ้างก็คงจะเชิญออก แต่ถ้าเขาตระหนักว่าหากตนทำงานอย่างดีอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว บริษัทก็พร้อมที่จะจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น

"วันนั้นท่านไม่เคยมีความจำเป็นเพราะท่านใช้แรงงานราคาถูกได้ วันนี้ท่านมีความจำเป็นเพราะหากท่านไม่เพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานเหล่านั้น บริษัทที่มีความพร้อมมากกว่าก็จะดูดเอาบุคลากรที่มีคุณภาพกว่าไปจากท่าน"


หรือหากธุรกิจที่ไม่สามารถสู้กับราคาค่าจ้างที่สูงขึ้นได้นั้น นายกิตติรัตน์กล่าว่วา "ท่านเหล่านั้นอาจต้องยอมรับความจริงว่าธุรกิจที่ท่านกำลังทำอยู่นั้นไม่อาจแข่งขันได้ หรือท่านอาจต้องเตรียมตัวเบนเข็มธุรกิจออกไปจากธุรกิจที่ท่านกำลังทำอยู่ก็ได้"

"ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 215 บาท แต่มีบางแห่งที่แรงงานได้รับค่าจ้างวันละ 300-400 บาท ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เพราะว่าธุรกิจหล่านั้นเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับการที่จะสามารถจ่ายค่าแรงสูงได้ หรือทักษะฝีมือแรงงานเหล่านั้นมีประสิทธิภาพพอที่ผู้จ้างจะยินดีจ่ายให้"

ดังนั้น เราคงต้องทบทวนดูว่า ธุรกิจเหล่านั้นเหมาะสมกับประเทศไทยอยู่หรือเปล่า กับภาวะที่นายจ้างและลูกจ้าง เมื่อนายจ้างสามารถจ้างได้ในอัตรา 100-200 กว่าบาท แรงจูงใจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เพราะว่าถ้าท่านต้องการประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมากท่านก็จะเพิ่มจำนวนแรงงาน วันนี้ ภาวะเปลี่ยนไป ท่านต้องจ่ายอัตราตอบแทนบุคลากรในอัตราที่สูง แล้วอาจจะกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายมาก

"ถูกหรือแพง ท่านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมาก คุ้ม-ไม่คุ้มต่างหากที่ท่านให้ความสำคัญ" นายกิตติรัตน์กล่าวด้วยมุมมองของนักธุรกิจ "ถูก แต่ไม่คุ้ม ผมว่านักธุรกิจเขาไม่ชอบ แพง แต่คุ้ม อันนี้ต่างหากที่นักธุรกิจเขาชอบ"


"เช่นเดียวกัน สำหรับแรงงาน หากแรงงานมีความรู้สึกว่าตนทำงานเต็มที่ แล้วนายจ้างก็ตอบแทนเขามาก แนวโน้มของการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานก็จะเพิ่มขึ้น" ซึ่งนายกิตติรัตน์กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นความพยายามในการเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของประเทศและดึงประเทศไปสู่ "ประสิทธิภาพใหม่"

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ยังกล่าวด้วยว่า ในตอนนี้รัฐบาลกำลังหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และภาคที่เกี่่ยวข้องอื่นๆ สนับสนุนให้ธุรกิจพิจารณาว่า หากจะต้องมีการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรใดๆที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน รัฐบาลจะสนับสนุน การทำอย่างนั้นจะทำให้มีการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว และยังสามารถทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆนั้นได้มีภาวะที่ทุเลาเบาบางลง

"รัฐบาลได้คำนวณมาอย่างระมัดระวังแล้วว่า 300 บาทนั้นเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับก้าวแรก และก้าวแรกนั้นหมายถึงการเริ่มต้นของแรงงานที่มีประสิทธิภาพ" นายกิตติรัตน์กล่าว



ด้าน ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้นจากประสิทธิภาพแรงงานนั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงมากจากการที่รัฐบาลนำเงินมาให้ นี่เป็นเรื่องที่น่าวิตก และเราจำเป็นที่จะต้องจับตาดูในเรื่องนี้ต่อไป

"ถ้ามองตัวอย่างในประเทศจีนหรืออินเดีย ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเนื้องาน ในขณะที่ไทยเรา ถ้าค่าแรงขึ้นเร็วด้วยอย่างอื่น ไม่ได้เร็วเพราะเนื้องาน คำถามก็คือ ในระยะยาวแล้วจะทำอย่างไรให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของคนไทยนั้นไปได้นานเพียงพอ"

ดร.ตีรณกล่าวถึงผลกระทบของการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลว่า ผลกระทบนั้นย่อมจะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมปรับตัวง่าย ในขณะที่บางอุตสาหกรรมปรับตัวยาก เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือมากๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ค่อยได้อยู่แล้ว รวมทั้งภาคการผลิตที่มีการแข่งขันสูง ไม่มีอำนาจผูกขาด

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีอำนาจผูกขาดนั้นสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ไม่ยาก ซึ่งโครงสร้างแบบนี้เป็นการบ้านต่อไปที่รัฐบาลจะต้องนำไปคิด

"รัฐบาลต้องอ่านสถานการณ์ภาพใหญ่ให้ออก ว่าปัญหานั้นอยู่ที่ค่าแรงของเราต่ำไป หรือว่าอุตสาหกรรมของเราไม่มีกำไร แข่งขันไม่ได้หรือเปล่า ค่าแรงจึงยังขึ้นไม่ได้" ดร.ตีรณกล่าว



นายภาณุพงษ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราทุกคนเห็นด้วยในเรืองการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่ยากไร้ ถ้าเราไปดูตัวเลขของรายได้ ค่าเช่า ดอกเบี้ย และค่าจ้างแล้วจะพบว่า ค่าจ้างนั้นลดลงโดยตลอด ทว่า การจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนั้น เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในท้ายที่สุดแล้วการที่จะแข่งกันได้นั้นต้องแข่งกันที่ประสิทธิภาพการผลิต

"ทางราชการเป็นผู้นำ และให้เอกชนเป็นผู้ตามนั้นเป็นเรื่องที่ดีกว่าการไปบังคับ เพราะในบางภาคการผลิตนั้นเขาไม่พร้อม ถ้าเราไปบังคับให้เขาจ่ายค่าจ้าง 300 บาทนั้นอาจจะมีปัญหา ส่วนในเรื่องแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้น ผมคิดว่าเราควรจะต้องคำนึงถึงว่า มันมีวิถีทางอื่นหรือเปล่าที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายโดยใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า" นายภาณุพงษ์กล่าว



ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการรายใหญ่ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะดีได้ ต้องเริ่มต้นจากฐานของเกษตรกร ซึ่งประเทศไทยจะเน้นในเรื่องของ "ข้าว" เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นแรงงานเกษตรกรรม

ทั้งนี้ควรกระจายรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสม การกระจายรายได้ให้ถึงรากหญ้านั้นจะสามารถสะท้อนต้นทุนให้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ เกษตรกร "ปลูกข้าว" มีรายได้ต่ำเกินไป

"จริงๆแล้วชาวเกษตรกรควรมีรายได้อย่างน้อย 5,800 บาทขึ้นไป ทั้งนี้หากจะมีการเพิ่มรายได้ขึ้นต้องเพิ่มเป็น 50% จากรายได้เดิม ชาวเกษตรกรถึงจะอยู่ได้และยังทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น" ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น กล่าว

"อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรที่ส่งออกในตอนนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 21% ของการส่งออก ซึ่งจำนวนสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และไม่ส่งผลประโยชน์ต่อชาวเกษตรกร ในส่วนของค่า GDP โตขึ้นในอัตราเฉลี่ย 6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อโตขึ้น 2.3% และที่เห็นได้ชัดก็คือ ค่าแรงขั้นต่ำโตขึ้นเพียง 1.8% สิ่งเหล่านี้จะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของเศรฐกิจไทย เพราะในเรื่องของรายได้ขั้นต่ำไม่มีการพัฒนาขึ้นจากเดิมเลย จากนี้ไปควรจะพัฒนาเรื่องนี้ให้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีตามมาเป็นลำดับ"

นายศุภชัยกล่าวว่า ศักยภาพของประเทศไทยจะดีได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับบุคลากรว่าต้องมีคุณภาพ และชุมชนท้องถิ่นต้องมีความเข้มแข็ง รวมไปถึงความสามารถในการหาเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนในเรื่อง "มุมมองค่าแรงและเงินเดือน" นั้นควรจะคำนวนดูให้ดี เพราะอัตราแรงงานนั้นควรจะเพิ่มอย่างน้อย 20-25% ต่อปี จะส่งผลให้การปรับฐานในครั้งนี้ทำให้องค์กรมีประสิทธิผลมากขึ้นเพราะมีการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น "อำนาจการซื้อของประเทศก็จะสูงขึ้น และที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ ธุรกิจท้องที่ และสิ่งสำคัญคือ ต้องมีการอัพเกรดประสิทธิภาพของ SME ในประเทศของเราควบคู่ไปด้วย" นายศุภชัยกล่าว



รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบในเรื่องของราคาและการส่งออกข้าวว่า ผู้ส่งออกจะมีการตัดราคากันเอง นี่คือความเชื่อของฝ่ายราชการ ส่วนในเรื่องของการจำนำมันกระทบมาจากปี 49 หากราคาข้าวส่งออกสูงขึ้นถึง 10% เป็นที่แน่นอนว่าราคาข้าวในประเทศก็จะสูงขึ้นถึง 6% ทั้งนี้การขายข้าวให้ผู้ส่งออกรายเดียวเกิดความล้มเหลว ซึ่งในส่วนของนโยบายให้ผู้ส่งออกขายของในราคาต่ำและต้องประกาศราคาขายให้กับกระทรวงพานิชย์อย่างชัดเจน

ส่วนในเรื่องของผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ โครงการรับจำนำในอดีตได้เกิดค่าใช้จ่ายแฝง และมีข้าวค้างสต๊อกเกือบ 5 ล้านตันเป็นจำนวนมากหรือที่เรียกกันว่าภาระปลายเปิด อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเจ็ดพันหกร้อยล้านบาท

ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ได้ตกถึงชาวเกษตรกรเลย นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังต้องขายข้าวให้ผู้ส่งออกในราคาที่ขาดทุน ซึ่งในปี 48-49 นั้น รัฐบาลขายข้าวได้ทั้งหมด 5 ล้านกว่าตัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นสามหมื่นสี่พันล้านบาท ซึ่งรัฐขาดทุนไปกว่าสองหมื่นกว่าล้าน

ทั้งนี้ในเรื่องของการรับจำนำ ถ้าไม่มีการรับจำนำ โรงสีจำนวนมากอาจจะต้องล้มละลาย โดยสรุปคือ โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงนั้นสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพราะผู้ซื้อในต่างประเทศจะไม่ยอมซื้อข้าวที่มีคุณภาพต่ำในราคาที่สูง และที่สำคัญ "หากคู่
แข่งของเราในตอนนี้ มีข้าวที่คุณภาพสูงแต่ขายข้าวราคาต่ำ นี่แหละคือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนการออกแบบโครงการอย่างไรเพื่อจะลดความเสียหาย นั้นต้องมีการยกระดับข้าวให้สูงขึ้นทุกปี และทำสต๊อกเพิ่มมากขึ้นอีก " ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าว

"อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถยกระดับราคาส่งออกได้มาก เพราะมีคู่แข่ง ซึ่งอาจจะทำให้ศูนย์เสียราคาตลาดให้กับคู่แข่งได้"

ดร.นิพนธ์ชี้แนะว่า ให้ระวังในเรื่องของนโยบาย การขายข้าวรวมศูนย์จะทำให้เกิดปัญหาหลายประการมาก เช่น ใครจะเป็นคนตัดสินใจ และจะขายข้าวราคาเท่าไหร่ ขายเมื่อไหร่ จะเก็บสต๊อกเท่าไร ซึ่งเป็นคำถามที่จัดขึ้นมาโดยรัฐทั้งหมด เพราะฉะนั้น "เวลาที่ทำนโยบายเรื่องนี้ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก ผมเกรงว่า ถ้าไม่ระมัดระวังแล้วจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้แข่งกับเอกชน อย่างไรก็ตาม

ผมเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำและเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน" ดร.นิพนธ์กล่าว



++

เทียบฟอร์มไล่ไม่ทัน
โดย ทีมข่าวการเมือง
ในไทยรัฐออนไลน์ 2 กันยายน 2554, 05:00 น.


เปรียบได้เห็นภาพเลยก็แล้วกัน ตามรายงานผลการวิจัยที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลงทุนจ้างบริษัทเอกชนทำการศึกษาถึงสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ผูกปีพ่ายแพ้ให้พรรคเพื่อไทย โดยเปรียบเทียบทั้งตัวผู้นำพรรค ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กับทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

1. เชื่องช้า ไม่กล้าตัดสินใจ 2. บริหารงานไม่เป็น 3. ไม่ติดดิน ไม่ใกล้ชิดประชาชน

ผลวิจัยเชิงวิชาการที่มาจากพื้นฐานข้อมูลทางสถิติ ไม่ได้นึกเองเออเอง ได้ข้อสรุปออกมาแบบนี้ ก็อยู่ที่จะทำใจยอมรับความจริงกันได้หรือไม่

ที่แน่ๆ ตามปรากฏการณ์ ณ วันนี้ พลพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังยึดติดอยู่กับสไตล์เดิมๆ

วนอยู่กับมุกเก่าๆ ย่ำอยู่กับที่ ประเภทถึงคิวประชุมสภาที ก็ยั่ว “ตีกิน” กันที ตามฟอร์ม ก็อย่างที่นายธวัชชัย อนามพงษ์ ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายเป็นเชิงแสดงความห่วงใยรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่

1. อย่าปล่อยให้ใครรังแก “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2. อย่านิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ 3. ให้นายกฯยิ่งลักษณ์พูดกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายที่เห็นตรงข้ามทางการเมือง

เรื่องเดิมๆที่พูดกันซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วก็ได้เรื่องสมความตั้งใจ เมื่อนายจตุพรลุกขึ้นสวนทันควัน แฉกลับคนของพรรคประชาธิปัตย์จ้างนักศึกษาโข่งมาป่วนสถานการณ์ “การสร้างความเท็จและใช้วิธีสกปรกนั้นไม่ใช่พวกผม ไปดูพวกท่านสิ ที่มายิงกบาลพวกผม อย่างนี้ไปใส่ผ้าถุงดีกว่า”

เหน็บมา เจอด่ากลับ ตั้งหน้าตั้งตาเถียงกันควันออกหู ไม่มีใครยอมใคร

เป็นภาพชินตา ค้างคาต่อเนื่องมาจากคิวแถลงนโยบายรัฐบาล ที่คนพรรคประชาธิปัตย์งัด “ลูกยั่ว” ด้วยการเขี่ย “ปมด้อย” ของพรรคเพื่อไทย เหน็บกันเรื่องความจงรักภักดี ขณะที่นายณัฐวุฒิและนายจตุพรลุกขึ้นสวนหมัด ฟัดกันจนสภาล่ม

ในอารมณ์เข้าทางเกมเขี้ยวของพลพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้สอนมวยพรรคเพื่อไทย

เอาเป็นว่า ฉากซ้ำๆบทเดิมๆมันบ่งบอกทิศทางการดำเนินไปของสภา ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน คงไม่มีอะไรสร้างสรรค์มากไปกว่าการชวนทะเลาะ ตีรวน ดิสเครดิต

ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ให้คนดูตื่นตาตื่นใจ

ที่สำคัญก็คือ “พฤติกรรมพอกัน” ตามรูปการณ์มันจึงไม่ขัดความรู้สึกของสังคมส่วนใหญ่ที่พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้มอบหน้าที่ให้ “สารวัตรเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็น “ตัวชน” รับหน้าที่ในการปะทะคารม ด้วยเกมสภากับเซียนยี่ห้อประชาธิปัตย์

จำกัดวงแค่สงครามน้ำลายในสภา ไม่ได้มีน้ำหนักต่อเชิงบริหาร

ก็อย่างที่รู้สึกได้ เหมือนอยู่ในภาวะ “ไร้น้ำหนัก” กับยุทธศาสตร์จิกตีรายวันที่คนพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้ากัดติดรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” พาลไปกระทบชิ่งพี่ชายคืออดีตนายกฯทักษิณ

ด่ากันจนชินหูชาวบ้าน บางทีก็น่ารำคาญด้วยซ้ำ

ตามอาการชิว ชิว ไม่ต้องออกแรงมากมาย นายกฯยิ่งลักษณ์ ก็ยังออกแรงแค่เขียนข้อความผ่านสื่อเฟซบุ๊ก “Yingluck Shinawatra” อ้อนขอโอกาสกันรายวัน ล่าสุดก็ยืนยัน “การทำงานของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ปูเน้นการทำงานเป็นทีม ต้องมีข้อมูล support ตอบโจทย์นโยบาย ที่สำคัญ พี่น้องประชาชนและประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ ส่วนการคัดเลือกบุคคลเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ ภาพรวม ปูไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยก แต่ต้องการให้ทุกคนได้มีโอกาสทำงานค่ะ”

ไม่ต้องเร่งเครื่องให้เหนื่อยก่อนเวลา

เพราะเทียบกันตามฟอร์ม วัดกันโดยยี่ห้อ มาตรฐาน และราคา

เฟอร์รารี่เครื่องคูโบต้า” ก็ยังแรงกว่า “ซีวิค เครื่องอีแต๋น”.



++

'งอม'แค่เขย่าก็ร่วง ?
โดย ทีมข่าวการเมือง
ในไทยรัฐออนไลน์ 30 สิงหาคม 2554, 05:00 น.


กระแสข่าวลือที่คืบเข้าใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกขณะ

มุมหนึ่งก็ว่ากันตามปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงไปถึงจังหวะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย แฉ “บ่อนวิ่ง” กลางสภา ในช่วงแถลงนโยบายรัฐบาล เล่นเอาตำรวจก้นร้อนกันไปทั้งนครบาล ตามรูปเกมที่ฝ่ายต้านอำนาจ “นายใหญ่” ตั้งแง่เอะใจ

เป็นการ “เขี่ยลูก” ให้เข้าทางรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปฏิบัติการเด้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พ้นทางปืน

ทางหนึ่งจับสัญญาณน้ำเสียงกระแทกกระทั้นของนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่พูดถึงกรณีที่สื่อประโคมข่าวว่า อาจจะมีการปลด พล.ต.อ.วิเชียร และแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ขึ้นมาทำหน้าที่แทน เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนคาดเดากันไปเอง กระแสข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นมาจากการตีโพยตีพาย และความกังวลใจของ ผบ.ตร.เท่านั้น ในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยังไม่เคยมีใครพูด หรือเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าวเลย

เย้ย เยาะ บ่งบอกอารมณ์ “หมั่นไส้” เป็นนัย

ล่าสุดพัฒนาการไปถึงคิวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ บอกปัดคำถามนักข่าวกรณีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามามีส่วนในการโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร เปิดทางให้พี่ชายคือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเสียบแทน

เรื่องของเรื่อง แค่ปฏิเสธ คุณหญิงพจมานเลิกยุ่งเกี่ยวการเมืองไปแล้ว แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเก้าอี้ ผบ.ตร.

บอกแค่ว่า ยังไม่คิดโยกย้ายตำแหน่งใดๆในตอนนี้ ขอทำงานเร่งด่วนก่อน

แต่ที่ร้อนมาเลย กับสัญญาณคลื่นความถี่สูงจาก “สารวัตรเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พูดกันแบบโต้งๆ

ผบ.ตร.ในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูง จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้


ตาม “โพยส่วนตัว” ที่เปิดออกมา ปัญหาสำคัญที่สุดคือมี 4 นายพลตำรวจ “แอบอ้าง” รับผลประโยชน์จากบ่อนแห่งนี้ ที่เดิมเล่นกันที่อาบอบนวดแห่งหนึ่ง ตั้งได้ประมาณ 100 โต๊ะ โดยเสียค่าเช่า 8 ชั่วโมง 8 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นโต๊ะใหญ่ ชั่วโมงละ 1.5 แสนบาท 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง ทำกันมาอย่างนี้ปีเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อบายมุขแพร่หลายมากที่สุด และแบ่งเงินกันได้ครบถ้วน

โชว์ข้อมูลแน่นๆ สำทับน้ำหนักตามที่ “สารวัตรเหลิม” อ้างว่า ตามเก็บข้อมูลมาตลอด 1 ปี

รู้ทันหมด ตำรวจไม่ต้องมาหลอก อย่ามาดราม่า อย่ามาเล่นลิเก ยืนยันว่า บ่อนการพนันขนาดใหญ่ที่เปิดกลางเมืองหลวงนั้น ระดับผู้บังคับการและผู้กำกับไม่สามารถเปิดได้

ส่งซิกเป็นนัย ภายใน 3 วัน จะเชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และตัวแทนกรมการปกครองมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาปรับปรุงบุคลากรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับการทำงาน

สรุปตามอารมณ์นี้ “เด้งแน่”

อาศัยชนวน “บ่อน” เป็นหัวเชื้อ ตามยุทธศาสตร์บ่มกระแส “สุกงอม” แค่เขย่าก็ร่วง

แต่จะโละกันง่ายขนาดนั้นเลยหรือไม่ เพราะในจังหวะที่ช่างพอดิบพอดีกับสถานการณ์ ล่าสุดเมื่อเที่ยงวันที่ 29 สิงหาคม พล.ต.อ.วิเชียร พร้อมคณะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ได้นำแจกันดอกกุหลาบสีชมพู เดินทางเข้าอวยพร “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 91 ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์

ก่อนออกมาบอกปัดกระแสข่าวกรณีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตภริยา ส่งตัวแทนมาเกลี้ยกล่อมให้ลาออกจากตำแหน่ง ไม่เป็นความจริง ไม่มีคำสั่ง หรือสายตรงมาจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด

ยืนยันเสียงแข็ง ไม่คิดลาออก เพราะตั้งแต่เล็กจนโต จนมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. การจะคิดตัดสินใจทำอะไรต้องอยู่บนพื้นฐานของประเทศชาติของประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์

และช็อตไฮไลต์ พล.ต.อ.วิเชียร ระบุเองเลยว่า พล.อ.เปรม รู้สึกดีใจที่ได้ตนเองมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับกระแสตอบรับที่ดีในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน

โหน “สี่เสา” วัดใจเหมือนกัน.


+ + + +

"หมอตุลย์"นำเครือข่ายประท้วงเด้ง"วิเชียร"พ้นผบ.ตร.ชี้การเมืองแทรก เข้าข่ายขัดรธน. ผิดกม.ตำรวจ
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314951983&grpid=00&catid=&subcatid=

"มาร์ค"ปลุกขรก.ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อรักษาระบบ ปมเด้งเลขาสมช. เปิดทางเพรียวพันธ์
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314947204&grpid=00&catid=&subcatid=

สวนดุสิตโพล เผย ปชช.เชื่อโยกย้าย"วิเชียร"เรื่องการเมือง74.7% เชื่อจะมีบิ๊กโดนเด้งอีก !
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314957007&grpid=01&catid=01&subcatid=0100

อารมณ์ตำรวจ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314965268&grpid=&catid=02&subcatid=0207


++

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ตร.กับสัจธรรม ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน "อำนาจ"เปลี่ยนมือ เมื่อมาด้วยการเมือง ก็ต้องไปด้วยการเมือง ?
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 14:00:35 น.


เมื่อมาด้วยการเมือง ก็ต้องไปด้วยการเมือง

เป็นเรื่องปกติ เป็นสัจธรรมทางการเมืองทุกยุคสมัย

เพราะไม่ว่าใคร พรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาล ข้าราชการที่จะมาเป็น "มือไม้" ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้งานเดินหน้า

จึงมักมีคำพูดที่หลุดออกจากปากนักการเมืองอยู่เสมอเมื่อจะมีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสำคัญๆ ว่า "เพื่อความเหมาะสม"

ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือรัฐบาลเผด็จการทหารก็ตามที

จึงไม่น่าแปลกใจที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. จะออกอาการไม่น้อย หากดูจากคำพูด กับการต้องลุกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ พล.ต.อ.วิเชียร ใช้คำพูดที่เสียดแทง แยบคาย และสะท้อนความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้นในจิตใจได้เป็นอย่างดี

เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. แทบจะไม่มีคำพูดเหล่านี้ออกจากปากเลย

"..ผมอยากวอนทุกฝ่าย อย่าพยายามทำลายองค์กรตำรวจ ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นสถาบันหลักในการผดุงความยุติธรรม ให้ขาดความน่าเชื่อถือ ขณะนี้ มีความพยายามที่จะทำให้องค์กรตำรวจบอบช้ำ เพื่อบีบให้ผมลาออกจากตำแหน่ง "

"..ขอให้ใช้อำนาจอย่างมีคุณธรรม เพราะจะทำให้อยู่ในหน้าที่ได้อย่างยั่งยืน แต่หากใช้อำนาจอย่างไม่มีคุณธรรม ก็จะอยู่ในหน้าที่ได้ไม่นาน."

แม้จะเป็นคำพูดที่แยบคาย และสะท้อนความเป็นจริง

แต่ทั้งหมดคือการรับสภาพ

และเข้าใจว่านี่คือ วิถีทางการเมือง

ต้องยอมรับว่าการเข้ามานั่งในตำแหน่งเจ้ากรมปทุมวันของ พล.ต.อ.วิเชียร เมื่อเดือนกันยายน 2553 ก็มาเพราะการเมือง ในสมัยรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

ที่เวลานั้นต้องการเขี่ย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ให้พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร.

เหตุเพราะ พล.อ.พัชรวาท "แข็งข้อ" และดูจะไม่สวามิภักดิ์

ทันทีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เดินทางไปราชการในภาคใต้ "อภิสิทธิ์" ก็ตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร ขณะนั้นมีตำแหน่งที่ปรึกษาสบ 10 นั่งรักษาราชการแทน

ช่วงนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนัก นี่คือการ "บีบ" แบบไม่ใช่สุภาพบุรุษ

เพราะทำกันแบบ "ลับหลัง"

ความจริงเรื่องแบบนี้เกิดทุกยุค ทุกสมัย ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน

หากจำได้ หลังปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ข้าราชการคนแรกที่โดนเชือดคือ "ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์" อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ถูกให้ออกจากราชการ ทั้งที่เหลืออายุราชการอีกหลายปี ในข้อหาช่วยเหลือ เอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว ที่ไม่ยอมเสียภาษีจากการขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์

ต่อมา สมัยรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช" ก็มีการย้าย "สุนัย มโนมัยอุดม" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปช่วยราชการในตำแหน่งรักษาการเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) แบบ "นอกฤดูกาล"

เป็นที่รู้กันว่าการที่ "สุนัย" ถูกย้ายแบบฟ้าผ่า เพราะเป็นคนกุมสำนวนคดีสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวถูกกล่าวหาอยู่หลายคดี

สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากการโยกย้ายนายตำรวจที่ทำงาน "เข้าขา" ให้มาอยู่ใกล้ตัวแล้ว เพื่อประโยชน์ทางการเมืองแล้ว

ในกระทรวงหมาดไทย ที่พรรคภูมิใจไทยครองอำนาจ ทั้งตำรวจและข้าราชการปกครองถูกโยกย้ายด้วยเหตุผล "เพื่อความเหมาะสม" กัน

แบบไม่เคารพอาวุโส ไม่สนความสามารถ วิสัยทัศน์ เป็นจำนวนมาก

เอาแค่เป็นพรรคพวก เพื่อนพ้อง น้องพี่ ที่ยอมทำทุกอย่างที่สั่งได้ก็พอ

เพราะฉะนั้น การโยกย้าย พล.ต.อ.วิเชียร คงไม่ต้องมองอะไรที่ลึกไปกว่า "ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน..อำนาจเปลี่ยนมือ"

หากแต่กรณี พล.ต.อ.วิเชียร ดันเกิดเรื่องบ่อน เรื่องยา เรื่องตู้ม้า เข้ามาเป็นเหตุผลประกอบ

จึงเป็นแรงส่งที่ทำให้ต้องตกเก้าอี้ ผบ.ตร. แบบที่สังคมไม่วิจารณ์มากนัก


.