.
'เชื้อร้าย' ปฏิวัติ 49 บทเรียน ราคาแพง 'ภูมิคุ้มกัน' สังคมไทย
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:00 น.
แถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ที่ประกอบด้วย คณาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังในเมืองไทย ถือเป็นการชี้ให้เห็น "ความเลวร้าย" ของการทำรัฐประหาร
เป็นความเลวร้ายที่ไม่ได้เกิด "ผลกระทบ" เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น
เพราะประชาชน และผู้คนในสังคม ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าดังปรากฏตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
แถลงการณ์เป็นข้อเสนอ 4 ประเด็นประกอบด้วย
1.ให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
2.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
3.กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
และ 4.ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประเด็นที่ 2 และ 3 คงไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นแค่ "ผลพวง" ที่เกิดจากการกระทำของการปฏิวัติรัฐประหาร
ที่น่าสนใจคือ ประเด็นที่ 1 ซึ่งเป็น "ต้นธาร" แห่งความขัดแย้ง สูญเสีย ที่เกิดจากทิฐิ ด้วยความคิดว่า เมื่อมี "อำนาจเหนือกว่า" สามารถที่จะทำอะไรก็ได้
เหตุผลที่ประเด็นดังกล่าวน่าสนใจ เพราะการรัฐประหารครั้งหลังสุด ต้องถือว่าเป็น "บทเรียนราคาแพงที่สุด" ของบุคคลทุกกลุ่มในสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
หนึ่ง กลุ่มทหาร ซึ่งที่สุดก็พบว่า การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 นอกจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐประชาธิปไตยแล้วยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นการ "สนองตัณหาทางการเมือง" ของคนบางกลุ่ม โดยยกทุจริตคอร์รัปชั่น การกระทำที่หมิ่นสถาบัน มาเป็น "ข้ออ้าง" ทั้งที่เหตุผลที่แท้จริงก็แค่การสนองตัณหาตัวเอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่ คณะนิติราษฎร์เสนอว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. ปัจจุบันมานั่งเป็นนักประชาธิปไตยอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม
ทั้งกฎหมายที่กำเนิดขึ้นมาจาก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2549 ที่ร่างโดยคนอยู่ใต้อาณัติของทหาร
รวมถึง คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศ คปค.
โดยเฉพาะคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คปค.
จะเห็นว่า นอกจากบทเรียนดังกล่าวจะทำลายความน่าเชื่อถือของทหารแล้ว ยังลากเอา "บุคคล" ในกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือว่าในแวดวง ต้องมาแปดเปื้อนจากการกระทำที่นอกกฎเกณฑ์ของคำว่า "นิติรัฐ-นิติธรรม" ด้วย
สอง กลุ่มนักการเมือง ที่ในเนื้อสมองไม่มีอะไรมากไปกว่า หากมีโอกาสล้มคู่แข่ง ด้วยการกระทำที่แหกกฎ นอกกฎกติกาประชาธิปไตย ก็ต้องทำ ทั้งที่ปากออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เกลียดต่อต้านรัฐประหารในทุกรูปแบบ
เมื่อสบโอกาสก็สวมบท "นักบุญใจบาป" ขึ้นมาเสวยอำนาจแบบแหกกฎ แหกกติกาประชาธิปไตยในโลกที่เจริญแล้วกระทำกัน
เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของนักการเมืองที่ต้องพึงสำนึกและสำเหนียกว่า การขึ้นมาครองอำนาจโดยการโอบอุ้มจากอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอด
สาม ประชาชน หากมองไปที่เนื้อหาของแถลงการณ์จะพบว่า อาจารย์นิติศาสตร์กลุ่มนี้ ต้องการให้สังคมตระหนักว่า นับจากนี้ไปสังคมจะดีหรือชั่ว คนไทยในสังคมไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน "แก้ไขปัญหา" ด้วยตัวเองตามระบอบประชาธิปไตย
อย่าร้องแรกแหกกระเชอให้ทหารออกมาปฏิวัติ เหมือนเมื่อครั้ง 19 กันยายน 2549 ที่หลังรัฐประหารไม่กี่วันก็มีการออกมามอบดอกไม้ให้ทหารเหมือนเป็นชัยชนะของภาคประชาชน
หารู้ไม่ว่านั่นคือ "เชื้อร้าย" ที่อีกไม่กี่ปีต่อมา ก็กัดเกาะกินสังคมไทยไปจนถึงเนื้อสมอง
ผู้คนในสังคมอย่าหลงการโฆษณาชวนเชื่อจากนักปลุกระดมไม่ว่าจะฝ่ายไหน ใช้สัญชาตญาณ ใช้ใจที่มีเลือดประชาธิปไตยแบบเต็มตัว หาคำตอบให้กับตัวเอง
เพราะท้ายที่สุดแล้ว สังคมจะดีจะชั่วอยู่ที่คนไทยทั้ง 65 ล้านคน
แม้การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 จะเป็นสิ่งเลวร้ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย
แต่วันนี้ การปฏิวัติครั้งนั้น ได้สร้าง "ภูมิคุ้มกัน" ให้กับสังคมแข็งแรงมากขึ้น
++
รวมสเตตัสเฟซบุ๊กรำลึก 5 ปี "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549": เมื่อสังคมไทยไม่ "เหมือนเดิม" อีกต่อไป
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:10:00 น.
หมายเหตุ
1. มติชนออนไลน์เรียบเรียงรายงานข่าวชิ้นนี้ จากสถานะของสมาชิกเฟซบุ๊กชาวไทยหลายท่าน ขออภัยที่มิได้ระบุชื่อ-นามสกุลของท่าน เหล่านั้น มา ณ ที่นี้ เนื่องจากกังวลว่าอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว"
2. ภาพประกอบข่าวนำมาจากช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และเว็บไซต์ประชาไท
"หลังจากหัวค่ำของ 'วันนี้' เมื่อ 5 ปีที่แล้ว -- สังคมไทยไม่ ?เหมือนเดิม? อีกต่อไป.."
"สวัสดี 19 กันยายน 5 ปีแล้วสินะ อยากรู้ว่าคนที่เคยออกไปมอบดอกไม้ให้ทหารในวันนั้น ในวันนี้เขาอยู่ไหนกัน? แล้วรู้สึกผิดกับสิ่งที่ได้ทำไหม? ภาพที่ผมจำติดตาไม่ลืมเลือนที่สุดในเหตุการณ์รัฐประหาร คือ มีคนลงทุนเอาสีสเปรย์ฉีดบนรถตัวเองว่า 'พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย' ตอนนี้เจ้าของรถยังคิดแบบนั้นไหม?"
"ถ้าเรามองว่ารัฐประหารเมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง คำถามคือส่วนของภูเขาที่อยู่ใต้น้ำเป็นยังไงทำไมถึงผลักดันต่อให้เกิดวันนี้"
"ท่ามกลางความอัปลักษณ์ของวันนี้เมื่อ 5 ปีก่อน ยังมีสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกดีคือทำให้เราและคนรอบข้างหลายคนรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น อย่างที่บางส่วนของระบบพยายามยัดเยียดความเชื่อมา"
"ค่ำคืนนั้น เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมอยู่ในบาร์เกย์ที่สีลมซอยสอง นั่งจ้องข่าวรัฐประหารด้วยใจพองโต เราชนะแล้ว เราโค่นทักษิณได้แล้ว แต่ผมยังแทบไม่เชื่อตัวเองเลยว่า วันนี้ ผมกลับมายืนอีกข้างกับห้าปีที่แล้ว ความฉ้อฉลของชนชั้นสูง ความดัดจริตของชนชั้นกลาง การด่วนตัดสิน การเหมารวม การไม่ยี่หระกับชีวิตมนุษย์แต่กลับจะเป็นจะตายกับห้างปิด รถติด การที่ตีขลุมว่าเรียนสูงกว่า มีความรู้กว่า สุภาพและสร้างสรรค์กว่า อาการดังว่าข้างบนมันปนเปผเสผสม จนทำให้ผมตั้งคำถามกับชุดความเชื่อของตัวเอง และคำตอบที่ผมได้มาวันนี้ แม้จะแลกมาด้วยการสูญเสียมิตรภาพไปมากมาย แต่ผมก็ดีใจ ที่ผมได้พบกับประชาชน"
"เมื่อปี 49 ข้าพเจ้าก็คือเสื้อเหลืองและมิเคยได้รู้เลยว่ารัฐประหารมันคือความฉิบหายอย่างไร ไม่น่าแปลกใจที่ข้าพเจ้าจะเดินไปดูรถถัง แม้ว่าในใจลึกๆ จะรู้สึกแปลกๆ ก็ตาม ด้วยหาคำตอบในหลายสิ่งไม่ได้ สิ่งที่ irony (ย้อนแย้ง/ตลกร้าย - มติชนออนไลน์) คือข้าพเจ้าใส่เสื้อสีแดงไปดูรถถัง ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนหัวใจมาใส่เสื้อสีนั้นอย่างสมบูรณ์"
"ดอกไม้พิษย่อมออกมาจากต้นไม้พิษ ดังนั้นการดำรงอยู่ของ รธน.50 เท่ากับเรายังอยู่ภายใต้ ระบอบรัฐประหาร"
"สิ่งที่ฮาที่สุดจากการรัฐประหารคือ ตอนนี้เรามี ส.ส.ชื่อ ?สนธิ บุญยรัตกลิน?"
"ไม่เอาอีกแล้วการประหารรัฐของประชาชน ไม่ลืม 19 กันยา ไม่ลืมเมษา-พฤษภาเลือด 90 กว่าศพที่ตาย ขอลากคอคนสั่งฆ่ามาประชาทัณฑ์ นักโทษการเมืองอีกหลายสิบชีวิตในคุกต้องได้รับความยุติธรรมอย่างมีอารยะ เราจะไม่มีวันหยุดเรียกร้องและเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น! เราจะไม่เบือนหน้า ปิดหู ปิดปาก ปิดตาไม่รับรู้ถึงความป่าเถื่อนเลือดเย็นที่คนไทยกระทำกับคนไทยด้วยกัน!"
"เป็นวันนี้ที่ตื่นจากความฝัน .. หลุดจากภวังค์ที่ประกอบสร้างโดยสิ่งที่เคยคิดและเชื่อ .. เป็นรถถังที่พาเรามาร่วมสุขร่วมโศก เป็นเสียงปืนที่ทำให้เกิดมิตรภาพ -- รำลึก 19 กันยา ขอบคุณ 'จุดเปลี่ยน' ของคนนับล้าน ที่ทำให้เราได้พบกัน"
"วันนี้เมื่อปี 2549 มีบางคนฟังประโยคซ้ำๆ 'โปรดฟังอีกครั้ง' แล้วตื่นเต้นดีใจ ผ่านไปห้าปี คนเหล่านี้ต่างพากันถวิลหาประโยคนี้ซ้ำๆ 'โปรดทำอีกครั้ง' แต่คราวนี้คงไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว"
"ก็แค่ลุงแท็กซี่ที่ไม่รู้แยกแยะ
จึงต้องกลายเป็นแพะก็แค่นั้น
ฉลาดกว่าจึงรู้เท่าทัน
แล้วว่าลุงหุนหันไม่เข้าที
ลุงจ๋าผมขอกราบขมา
ลุงกล้าตายอย่างสมศักดิ์ศรี
ผมสิขลาดเขลาโง่สิ้นดี
ไม่เทียมเท่าชื่อนี้ ลุงนวมทอง"
+++
ข้อเสนอคอป.-7ข้อ"ปรองดอง"
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในข่าวสดรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7597 หน้า 3
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยื่นข้อเสนอแนะของคอป. ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เป็นข้อเสนอของการปฏิบัติ 7 ข้อ เพื่อนำไปสู่แนวทางความปรองดอง มีรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง ข้อเสนอแนะของคอป. ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 กำหนดให้มีคอป. เพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริง และข้อเท็จจริงที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและเหตุการณ์ความรุนแรง ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ถึงสาเหตุของปัญหา
โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันจะนำไปสู่การป้องกันความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต และส่งเสริมการปรองดองของประเทศชาติในระยะยาวต่อไป
ข้อเสนอแนะต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย สรุปได้ดังนี้
1. คอป.มีความยินดีที่รัฐบาลกำหนดให้การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตยเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการอย่างเป็นอิสระของ คอป. อย่างเต็มที่ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้
2. คอป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องนำข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของ คอป. ไปพิจารณา และนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองของประเทศให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ คอป. ได้เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
2.1 คอป.เห็นว่าในระหว่างที่สังคมไทยยังมีความขัดแย้งอยู่นั้น รัฐบาลต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Will) ที่จะยึดถือหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในการบริหารประเทศโดยเคารพกฎหมาย และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง รวมทั้งดำเนินมาตรการเพื่อลดความขัดแย้ง
2.2 ในระหว่างที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ และสังคมไทยเริ่มมีความหวังที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความปรองดอง คอป. ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการกระทำการใดๆ ซึ่งอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงบรรยากาศในการปรองดอง
3. คอป. เห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง
รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้
3.1 เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา และจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่
และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร หรือการดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่
3.2 ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวอันเกิดจากการถูกจำกัดเสรีภาพ
3.3 สมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต
3.4 สมควรที่จะนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้
ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้านที่ถูกต้องและเชื่อถือได้
4. คอป.เห็นว่าการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ โดยรัฐบาลต้องดำเนินการในเรื่องการเยียวยาอย่างรวดเร็วและจริงจัง โดยดำเนินการอย่างน้อยตามแนวทาง ดังนี้
4.1 ต้องใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ติดยึดอยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมาย และแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดำเนินการในกรณีปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้การเยียวยามีผลในการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในอนาคตและสร้างความปรองดองในชาติ
4.2 รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชนและภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
4.3 รัฐบาลควรกำหนดกรอบในการเยียวยาให้กว้างขวาง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์และครอบคลุมถึงความสูญเสียในลักษณะต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ครอบคลุมถึงความสูญเสียในทางเศรษฐกิจและโอกาสของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รัฐบาลต้องตระหนักว่าการดำเนินการเยียวยามีหลายวิธีการต่างๆ กันและประกอบกัน ไม่ใช่เฉพาะการเยียวยาด้วยตัวเงินเท่านั้น
4.4 รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง
5. นอกจากกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงแล้ว การเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมก็เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างความปรองดองในชาติ จึงเห็นควรดำเนินการเยียวยา ดังนี้
5.1 ควรเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้เข้าร่วมชุมนุม และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ
5.2 จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่
5.3 สำหรับจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของจำเลยเหล่านั้นในด้านมนุษยธรรม และหากพ้นโทษแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ
6. คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่งผลกระทบในทางการเมือง จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการ ดังนี้
6.1 รัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางโดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย คือการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในสถานะที่สามารถดำรงพระเกียรติยศได้อย่างสูงสุดเป็นสำคัญ
6.2 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง และต้องยุติการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม
6.3 รัฐบาลต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีความเป็นเอกภาพและดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
6.4 ในการดำเนินการคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพ อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
6.5 รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว
6.6 รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดี ที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า"
7. รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ
และควรสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจร่วมกันของสังคมในการก้าวข้ามความขัดแย้งในสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่
++++
5ปี รัฐประหาร 5 ปี 19 กันยายน 2549 "รุก" ยัน "รับ" ....มติชนออนไลน์
กระทู้ในห้องราชดำเนิน เวบไซท์ พันทิป
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11079660/P11079660.html
ถึงแม้สื่อกระแสหลักยังไม่ให้ความสนใจต่อวาระครบ 5 ปี ของรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มากนัก แต่บรรยากาศในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการ และในหมู่ คนเสื้อแดง คึกคักอย่างยิ่ง
ตรงกันข้าม ไม่มีการเคลื่อนไหวจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการยึดอำนาจ โค่นรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
แม้กระทั่ง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ก็เงียบ
แม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เงียบ
ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้เสพเสวยผลพวงจากการรัฐประหารด้วยตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ยิ่งเงียบ
เงียบเหมือน พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช.
ความจริง ผู้มีบทบาทในการทำรัฐประหารกระทั่งสามารถโค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงได้ภายในชั่วข้ามคืนน่าจะร่วมกันเฉลิมฉลองชัยชนะ ประกาศความสำเร็จ แสดงความยินดีเปิดแชมเปญ
ตรงกันข้าม คนที่ออกมาเคลื่อนไหวกลับเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรัฐประหาร
นี่ย่อมแปลกอย่างประหลาดยิ่ง
ถามว่า "เป้าหมาย" ของสถานการณ์ก่อนและภายหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คืออะไร
ตอบได้ว่า คือ โค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
สรุปตามสำนวนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องว่า คือ โค่นระบอบทักษิณ
กองหน้าในการเคลื่อนไหวนี้คือ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย
แนวร่วม ส่วนหนึ่ง เป็นกลุ่มอำนาจอันเรียกว่า "อำมาตยาธิปไตย"
กลุ่มนี้เป็นทั้งบรรดาคนชั้นสูงซึ่งเคยมีตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งทางราชการในระดับหัวกะทิ บางส่วนมีสถานะทางสังคม บางส่วนเป็น
พรรคการเมืองเก่าแก่ ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชน นักวิชาการ เป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน
บางคนเคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2516
บางคนเคยมีบทบาทอย่างสำคัญในขบวนการฝ่ายซ้าย บางคนเป็นถึงกรรมการบริหารกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ด้วยซ้ำ
เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปูทางสร้างเงื่อนไขได้ควรแก่เวลา กองทัพก็นำกำลังออกมาประกาศยึดอำนาจ
เป็นการยึดอำนาจโดยประสานกับขบวนการตุลาการภิวัฒน์
ผ่านมา 5 ปี อาจสรุปได้ว่าขบวนการ รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 สามารถโค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกจากอำนาจได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง
แต่ยังมิอาจสยบให้ศิโรราบได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
รูปธรรม 1 คือ ชัยชนะที่พรรคพลังประชาชนได้มาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550
แต่ชัยชนะนี้ก็ไม่ยืนยาวเดือนธันวาคม 2551 ก็ถูกโค่นอีก
รูปธรรม 1 คือ ชัยชนะที่พรรคเพื่อไทยได้มาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นชัยชนะที่ถล่มทลายมากยิ่งกว่าที่เคยได้มาในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550
พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
2 ปรากฏการณ์จากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ยืนยันถึงการดำรงอยู่ ของอิทธิพลทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันถึงการดำรงอยู่ของระบอบทักษิณ
เป็นการดำรงอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นผลผลิตจากการรัฐประหาร
เป็นการดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างของ กองทัพซึ่ง ผบ.เหล่าทัพเติบใหญ่มาจากการมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร และการมีส่วนร่วมในการค้ำยันรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
การดำรงอยู่ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการดำรงอยู่บนความไม่แน่นอน
ความไม่แน่นอนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือเงาสะท้อนแห่งอิทธิพลจากการรัฐประหาร
แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีอำนาจทางการเมือง แต่ก็ยังไม่ได้ครองอำนาจเหนือ "กลไกอำนาจรัฐ" อย่างเป็นจริง ทั้ง 2 ฝ่ายจึงอยู่ในลักษณะยัน ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ
วาทกรรม "ปรองดอง" จึงเสมอเป็นเพียง "น้ำยาบ้วนปาก" ในทางการเมือง
จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316229673&grpid=01&catid=&subcatid=
เปิดพันทิปวันนี้ สิ่งแรกคือเจอหลังไมค์ คุณห่านป่า ส่งกระทู้นี้มาให้อ่าน
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11078173/P11078173.html
อ่านกระทู้คุณห่านป่าจบ ก็เลยต้อง ส่งบทความนี้ มาแปะให้เพื่อน ๆ อ่าน
เพื่อให้ช่วยกันย้ำเตือนว่า "ปรองดอง" นั้น เป็นเพียง "น้ำยาบ้วนปาก" จริง ๆ
หากยังมีผู้ที่ยังคิดแบบ คุณห่านป่า อยู่
คุณห่านป่า มีความประสงค์อันใด ในการเขียนกระทู้นั้นขึ้นมา หรือความถูกต้อง ของการบริหารประเทศนั้น จะดี เลว
ถูกผิด นั้น อยู่บนพื้นฐาน การตัดสิน ของคุณห่านป่า มิใช่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งของปชช.
หรือนี่ คิอสิ่งที่สะท้อน กระบวนความคิดของ พธม.
ดังเช่น บทความของ ประพันธ์ คูณมี ในกระทู้นี้
www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P11076276/P11076276.html
ช่วย วิเคราะห์ คุณห่านป่ากันหน่อย คุณเธอ สื่อ อะไรมาบอกเรา
มันยังคงยืนยันจุดยืน ว่า เสื้อแดง ทักษิณ รัฐบาลเพื่อไทย นั้น จะเป็นผู้
เลวทราม ทำลายล้างชาติบ้านเมือง ใช่หรือไม่ ?
จากคุณ : sao..เหลือ..noi [FriendFlock]
เขียนเมื่อ : 17 ก.ย. 54 16:57:25 A:61.90.19.150 X: [แก้ไข]
+++++
เสวนา 5 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. "เผด็จการโปรดฟังอีกครึ่งหนึ่ง"
ในข่าวสด ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:53 น.
เวลา 13.00 น. วันที่ 17 ก.ย. ที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีการจัดงานเสวนา 5 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 หัวข้อ “เผด็จการ โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” จัดขึ้นโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เพื่อรำลึกการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ทำให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยต้องการปลุกสำนึก ตื่นรู้ และป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก ซึ่งบรรยากาศภายในงานนี้มีสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) คนเสื้อแดง และผู้ที่สนใจจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงสังสรรค์ปลุกใจสู้ ก่อนเข้าสู่งานเสวนา
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีเสวนาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกยึดอำนาจรัฐมากที่สุดในโลก โดยถูกปฎิวัติถึง 2 ครั้ง นอกนั้นเป็นการรัฐประหาร โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2452 และ พ.ศ.2549 การทำรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้ประเทศส่งผลให้เกิดความเสียหายมากที่สุด แต่ก็ทำให้รู้ว่าประเทศถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอำมาตย์ และฝ่ายไพร่ บ่งบอกถึงระบอบประชาธิปไตยยังไม่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะยังมีมือที่มองไม่เห็น และอำนาจการถูกเปลี่ยนขั้วเข้าแทรกแซงมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะสามารถรักษาความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้ เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคม ไม่จำเป็นต้องแยกเสมอไป และย้ำว่าต้องรู้จักคำว่า ให้อภัย จึงจะอยู่ร่วมกันได้ ส่วนทหารที่ทำให้เกิดความสูญเสียถึง 91 ศพ ตนเข้าใจว่าเป็นการทำตามนาย แต่ถ้าเห็นใจแก่ผู้สูญเสียและครอบครัว อยากให้ออกมาเพียงพูดยอมรับว่า ต้องทำตามคำสั่งสลายการชุมนุมก็พอ
พ.อ.อภิวันท์ ระบุถึงเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นรัฐบาล ว่า เกิดจาก 1.ความเชื่อมั่นในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แข็งแกร่ง 2.ความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงที่มีความสามัคคี 3.กระแสนายกรัฐมนตรีหญิงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นที่ไว้วางใจต่อประชาชน 4.ความล้มเหลวรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในการบริหารประเทศที่ผ่านมา และ 5.การเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ส.ส.ของพรรค อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลนับจากนี้ 6 เดือน จะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะกลัวการเกิดรัฐประหารรอบใหม่ หากนายกทำงานไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม
พ.อ.อภิวันท์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการรัฐประหาร 24 ครั้ง สำเร็จ 12 ครั้ง และที่ไม่สำเร็จต้องถูกเรียกว่า กบฎ อีก 12 ครั้ง จึงอยากชี้ให้เห็นว่า หากใครคิดจะกระทำรัฐประหารต่อจากนี้ อยากให้ดูตัวอย่างจากลิเบีย เพราะแม้จะต้องมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ในท้ายที่สุด ประชาชนกลับเป็นผู้ชนะตามสิทธิ์ ส่วนผู้ที่วางแผนจะกลายเป็นไม่มีแผ่นดินให้อยู่ นอกจากนี้ หนทางแก้ไขอีกทางหนึ่ง คือการขัดขวางระบบอำมาตย์ที่มีอยู่ในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาเกือบ 100 คน มากว่า 9 ปี ซึ่งจะหมดอำนาจในอีกไม่ช้า และคาดว่าจะเกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) เป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 และเพราะเรื่องนี้จึงอาจถูกนำมาอ้างสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายก่อนการรัฐประหารนั่นเอง
นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยตลอด 5 ปี ของการรัฐประหาร และไม่คิดว่าจะยืดเยื้อ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันนขาดความเข้าใจจากจากภาคนักวิชาการ และนักศึกษา ซึ่งแตกต่างจากในอดีต ที่คนกลุ่มนี้จะเป็นพลังเสียงต่อต้านอำนาจเผด็จการ ทำให้ทุกวันนี้บ้านเมืองกลับยังเต็มไปด้วยความอยุติธรรมอยู่ จึงต้องการเรียกร้องอำนาจที่ควรอยู่ในมือประชาชนกลับคืน เพื่อให้อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สื่อมวลชน ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อการรับรู้ข่าวสาร ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต ส่งผลให้แผนการรัฐประหารในระยะยาว ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น กระทำไม่ประสบผลสำเร็จ
นายพิชิต ระบุว่า เสถียรภาพของรัฐบาลต่อจากนี้ ยังมีความสั่นคลอนเนื่องจากมีกระแสข่าวจะมีการถูกรัฐประหารในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งตนคิดว่าหากเกิดการรัฐประหารคงจะไม่ใช่วิธีการยุบพรรค แต่อาจจะมีการใช้อำนาจกระบวนการตุลการ หรืออำนาจทหาร เข้ายึดอำนาจแทน หากนายกบริหารไม่ได้ดั่งใจคนบางกลุ่มภายใน 6 เดือน แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับในยุคนี้ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่ยอมเห็นเหตุการณ์รัฐประหาร การนองเลือดซ้ำรอยขึ้นอีกในรัฐบาลไทย
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร. ระบุถึงกระแสข่าวการรัฐประหาร ว่า การรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ต้องจัดตั้งประชาชนให้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสื่อมวลชน จึงควรมีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ควรพิจารณาเลือกรับข่าวจากแต่ละสื่อด้วย ไม่ใช่ฟังแต่สื่อที่ตำหนิรัฐบาลอย่างเดียว สื่อมวลชนเองก็ควรเสนอข่าวอย่างถูกต้องและเป็นกลางเช่นกัน จึงอยากแนะรัฐบาลควรหากำหมัดของตัวเองให้เจอ อย่าให้ใครมารังแก โดยเฉพาะกำหมัดเด็ด โดยตนคิดว่า สิ่งนั้นคือต้องมีการข่าวที่ดี กำหมัดที่สอง ต้องกล้าตัดสินใจ ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายให้เกิดความเด็ดขาด อย่าให้มีอำนาจใดสูงกว่ากฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน
นายกันต์ นาคามดี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มองว่า การล้มล้างอำนาจการปกครองในต่างประเทศถือว่ามีความผิดต้องโทษกบฏ ฐานประหารชีวิต แต่การยึดอำนาจในประเทศไทยกลับไม่เคยไม่มีใครต้องโทษประหารชีวิตสักราย ดังนั้น ประชาชน จะต้องชูธงขัดขวางการปฏิวัติทุกรูปแบบ และต้องชูธงด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าเราชูธงเร่งด่วน เราจะได้เสียงความร่วมมือจากคนทั่วประเทศอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา การรัฐประหารในประเทศไทยไม่เคยได้อะไรที่เกิดประโยชน์ ยกเว้นผลเสีย โดยเฉพาะรัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้วางกับดัก ทั้งที่ควรเป็นโมฆะ คือ พ.ร.บ.การรักษความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมถึงการแต่งตั้ง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งมีจำนวน 4-5ฉบับ มีการลงมติไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งเสียด้วยซ้ำ จึงต้องตัดวงจรกฎหมายที่มาด้วยความไม่ถูกต้อง ด้วยการรื้อเรียก พ.ร.บ รื้อฟื้นคดีอาญา 2526 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นำขึ้นมาใช้แก้ไขปัญหาต่างๆที่ค้างคา และสามารถรื้อเรียกคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในศาลอาญา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่การแก้ไขนี้จะต้องมีประเด็นและข้อกฎหมายใหม่ต่างจากที่พิจารณาคดีไว้แล้ว ฉะนั้น การตีเหล็ก จะต้องตียามที่เหล็กร้อน พรรคเพื่อไทยเมื่อชนะการเลือกตั้ง จึงอย่ารีรอ อะไรที่ควรทำต้องรีบทำเรื่อง ประกาศคณะปฏิรูป คณะปฎิวัติ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฯลฯ ทุกฉบับ ต้องยกเลิกให้หมด ส่วนการกบฏ การยึดอำนาจภายหลังการปกครอง 2475 ต้องประกาศเอาโทษให้หมด โดยไม่ต้องใช้ช่องทางแก้รัฐธรรมนูญเลย และเป็นหนทางที่รวดเร็วอีกด้วยทั้งนี้ ควรมีการร่าง พ.ร.บ.พิทักษ์รัฐธรรมนูญอันมีกษัตริย์เป็นประมุขขึ้นมา เพื่อคุ้มครองความเป็นประชาธิปไตยของคนไทยด้วย
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ร่วมเสวนาผ่านเสียงโทรศัพท์จากประเทศกัมพูชาว่า ขอแสดงความชื่นชมในพลังประชาธิปไตยที่มารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อความสูญเสียที่ผ่านมา และย้ำที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยต่อไป ทั้งนี้ ยังแสดงความเสียใจที่ไม่ได้มาร่วมการเสวนา แต่ยืนยันว่า ในวันที่ 18 ก.ย. ตนจะเดินทางมาร่วมชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 5 ปี รัฐประหาร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 15.00-24.00 น. อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิ ยังได้กล่าวถึงการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเพื่อเตรียมตัวต่อการแข่งฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่า ก่อนหน้านี้ตนและคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมสมเด็จฮุนเซ็นซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงยังได้ให้กำลังใจผ่านตนในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ โดยสมเด็จฮุนเซ็น กล่าวว่า ก็เคยต่อสู้และผ่านอุปสรรคเหล่านี้เช่นเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง จึงอยากร่วมให้กำลังใจและสามารถเอาชนะระบอบเผด็จการให้ได้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังงานเสวนาได้มีการจัดกิจกรรมการแสดงศิลปะบทกวี และดนตรีแห่งการต่อสู้ นำโดยนายวัฒน์ วรรลยางกูร นักกวีเพื่อประชาธิปไตย อาเล็ก โชคสัมพฤกษ์ และชายอิสรชน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการออกงานขายหนังสือ ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
+ + + + +
ปิดฉาก 19 ก.ย. โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316611405&grpid=&catid=02&subcatid=0207
เดินหน้า โดย ฐากูร บุนปาน
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316518197&grpid=&catid=02&subcatid=0207
"อุกฤษ"ออกแถลงการณ์ฉบับ 2 ขอยึดหลัก"ยุติธรรม-นิติธรรม-สันติธรรม"ไม่ทรยศ"สถาบัน-ปชช.-วิชาชีพ"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316588713&grpid=00&catid=&subcatid=
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย