http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-19

สภาความมั่นคงแห่งชาติฯ, +สงครามกับความปรองดอง, นิรโทษกรรม..ยาหมดอายุ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

สภาความมั่นคงแห่งชาติ ใช้ปกป้องรัฐบาล...รัฐประหาร หรือ สร้างชาติ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 20


19 กันยายน 2554 นี้จะครบรอบ 5 ปี ของการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 แต่ความวุ่นวายทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่และจะต้องต่อสู้กันไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี

ว่ากันว่าการรัฐประหารครั้งนั้นกำหนดตามฤกษ์ที่คิดว่าทำแล้วจะก้าวหน้าคือวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2549 กำหนดเวลายึดอำนาจเวลา 9.39 ตอนกลางคืน แต่มีการเคลื่อนกำลังตั้งแต่สามทุ่ม พอ 4 ทุ่มรถถังก็ปรากฏอยู่บนถนนหลายสาย

มีผู้วิจารณ์ว่าการรัฐประหารครั้งนั้น ผิดทั้งตามหลักประชาธิปไตยและการกำหนดฤกษ์ยาม เพราะเมื่อก้าวต่อไปอีกหนึ่งก้าว เลขเก้าจะกลายเป็นเลขศูนย์ทันที คือจะมีความสำเร็จเฉพาะช่วงนั้นและเมื่อก้าวต่อไปก็จะพบกับความวิบัติ

ซึ่งดูแล้วจะเป็นจริงเพราะหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี ความวิบัติก็มาเยือน ความเสื่อมเข้ามาแทนที่ แต่ประชาชนไทยต้องมาร่วมรับเคราะห์กรรมด้วย ความวุ่นวายทางการเมืองมีติดต่อกันมาถึง 5 ปี

ผลจากการรัฐประหาร ปี 2549 ยังคงทำให้วันนี้มีข่าวการรื้อฟื้นเรื่องการถวายฎีกาขึ้นมาอีกครั้ง และมีผู้ตั้งคำถามว่า พรรคเพื่อไทยและทักษิณจะเดินแนวทางการเมืองแบบไหน?

อีกข่าวก็เกี่ยวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพราะมีการแต่งตั้งโยกย้ายเลขาธิการ สมช. คุณถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นประเด็นเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่?

คิดว่าถ้าวิเคราะห์บทบาทของ สมช. กับการรัฐประหารและรัฐบาล น่าจะเข้ากับสถานการณ์ช่วงนี้ได้ดีที่สุด



สภาความมั่นคงแห่งชาติ
เป็นสถาบันที่เก่าแก่กว่ารัฐบาลประชาธิปไตย

รัฐบาลในระบบประชาธิปไตยที่ตั้งขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กำลังจะมีอายุครบ 80 ปี ในปี 2555 นี้ แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติมีอายุครบ 100 ปีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 เพราะมีการตั้งองค์กรเกี่ยวกับความมั่นคงของ ประเทศสยาม หลังถูกภัยคุกคามจากชาติตะวันตก ในเดือนธันวาคม 2453 สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ใช้ชื่อว่าสภาป้องกันพระราชอาณาจักร และมาเปลี่ยนเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในปี 2502 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ

สมช. มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนการบริหารงานเป็นรูปแบบ คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2.รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน

3.รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ

4.รมว.กระทรวงการต่างประเทศ "

5.รมว.กระทรวงการคลัง "

6.รมว.กระทรวงมหาดไทย "

7.รมว.กระทรวงคมนาคม "

8.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ "

9.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ

ในทางปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองที่จะมาดูแลงานนี้คือรองนายกฝ่ายความมั่นคง ส่วนคนอื่นก็คงมีงานประจำทำเต็มมือ การปฏิบัติจริงจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ สมช.

ดังนั้น ความมั่นคงและความเป็นความตายของรัฐบาลส่วนหนึ่งจึงตกอยู่ในมือของเลขา สมช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมช. มิได้มีผู้ปฏิบัติการ หรือกองกำลังมากมาย แต่สามารถเรียกใช้ข่าวกรองจากหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ตำรวจสันติบาล และหน่วยข่าวกรองทหาร หรือประสานงานเพื่อขอความสนับสนุนกับหน่วยกำลังอื่นๆ



บทบาทเด่นของ สมช.
และเลขาธิการในอดีต

คนไทยมารู้จักชื่อ สมช. พร้อมกับชื่อเลขาธิการ คุณประสงค์ สุ่นศิริ และด้วยฉายาที่สื่อตั้งให้ว่า CIA เมืองไทย คนทั่วไปก็เลยเข้าใจว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานแบบหนังสายลับ แทบไม่มีใครรู้จักนโยบาย 6 ด้านของ สมช. ในปัจจุบัน

52 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีเลขาธิการจนถึงปัจจุบัน 15 คน คนแรกคือพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ อยู่ในยุครุ่งเรืองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารเผด็จการเต็มรูปแบบ

เลขาธิการคนที่ 5 คือ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งมาดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นมีการปราบขบวนการนักศึกษาอย่างหนัก จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการรัฐประหารรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

จากข่าวการเมืองในช่วงนั้น คิดว่า สมช. คงไม่ได้ช่วยอะไรรัฐบาลเลย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม นายกฯ เสนีย์เพิ่งปรับ ครม. เสร็จ เป็น ครม. ที่มีอายุสั้นที่สุด อยู่ได้เพียงวันเดียวก็ถูกรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ สมช. ก็ยังคงอยู่ เลขาฯ สมช. ก็ยังเป็นคนเดิม ทำงานให้รัฐบาลเผด็จการต่อไปอีกหลายปี ท่ามกลางความขัดแย้งถึงขนาดใช้กำลังอาวุธเข้าต่อสู้กันจนเกิดสงครามกองโจรไปทั่วประเทศ

เลขาธิการ สมช. คนที่ 6 คือ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ไปเรียนงานข่าวกรองจากอเมริกา กลับมาทำงานใน สมช. จนได้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ในปี 2523 ต่อจาก พล.อ.อ.สิทธิ โดยเป็นผู้ดูแลความมั่นคงให้พลเอกเปรมซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

ยุคนั้น สมช. ทำงานเข้ากับนายกฯ ที่มาจากทหารได้ดี ฝีมือการทำงานของคุณประสงค์ เป็นที่เลื่องลือ ได้ฉายาว่าเป็น CIA เมืองไทย มีทหารบางกลุ่มพยายามรัฐประหารพลเอกเปรมหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เขาลาออกมารับตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ พลเอกเปรมในปี 2529

เลขาธิการคนที่ 11 คือ พลเอกวินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่งในปี 2545 สมัยนายกฯ ทักษิณ เข้าอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหารสารภาพว่าได้มีการเตรียมการก่อนหน้าถึง 7 เดือน มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีข่าวการลอบสังหารนายกฯ แต่ในที่สุด ทักษิณก็ถูกรัฐประหารขณะที่เดินทางไปทำงานที่สหประชาชาติ

สมช. ไม่ได้มีบทบาทช่วยทักษิณเลยแม้แต่น้อย

หลังจากคณะรัฐประหารซึ่งมีชื่อว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เข้าควบคุมอำนาจรัฐ จึงได้รู้ว่าพลเอกวินัยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อ คปค. ก็เป็นคนตั้ง งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหักหลัง

จากนั้นมาตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งติดต่อกัน 4-5 ปีก็ถูกเปลี่ยนตามความไว้วางใจของนายกรัฐมนตรีแต่ละยุค และมีอายุงานในตำแหน่งสั้นลง



สมช.ในยุคแห่งความหวาดระแวง

ในปี 2550 เมื่อพลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกก็ตั้ง พลโทศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช. ในปี 2551 เมื่อนายสมัครขึ้นเป็นนายกฯ การเมืองเปลี่ยนขั้ว ก็ตั้ง พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา ขึ้นเป็นเลขาธิการแทน ในปี 2552 หลังจากมีการตุลาการภิวัตน์ สลับขั้วรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เปลี่ยนเลขาฯ สมช. เป็น นายถวิล เปลี่ยนศรี

นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช. คนที่ 15 เติบโตมาด้วยการสนับสนุนของพลเอกวินัย หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาฯ ของ สมช. และเมื่อประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ย้ายพลโทสุรพลออกไปเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ประชาธิปัตย์ไว้ใจคุณถวิลมากกว่า

คนที่เข้าใจธรรมเนียมแห่งอำนาจของ สมช. ดีที่สุดคือคุณถวิลเพราะได้เข้าทำงานมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับ 3 ได้เห็นการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ศึกษาการทำงานของคุณประสงค์ เรียนรู้งานจนมาถึงการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ได้เป็นรองเลขาธิการและเป็นเลขาธิการในยุคที่ คมช. มีอำนาจใน

มีคนบอกว่าคุณถวิลเป็นลูกหม้อของ สมช. อย่างแท้จริง ถ้านับอายุการทำงานคงจะใช่ แต่ถ้าจะดูผลงานว่าได้ทำหน้าที่เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ดีแค่ไหน อันนี้ยังไม่เห็นผลงานเด่นชัดแม้สักครั้งเดียว

มีคนหลายกลุ่มเรียกร้องว่าการโยกย้ายครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองให้คุณถวิลยอมรับ แต่คุณถวิลบอกว่าจะสู้เพราะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การโยกย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรี ในวันนี้ รัฐบาลไม่ควรให้เหตุผลว่า เพื่อความเหมาะสม แต่ควรจะสู้กันในข้อเท็จจริงของการทำงานที่ผ่านมา ถ้ามีความผิด จะต้องถูกปลดออกหรือจะฟ้องร้องดำเนินคดีก็ต้องทำ ถ้าเป็นคนทำงานดีก็สมควรให้อยู่ต่อ

ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2553 ถวิล เปลี่ยนศรี ก็นั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ ของ ศอฉ. ได้รู้เรื่องราวทั้งหมดและต้องร่วมรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

เมื่อฝ่ายตรงข้ามที่ถูกทำรัฐประหารและถูกปราบเกิดชนะเลือกตั้งขึ้นมา จะเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงก็เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ ไม่เพียงเป็นเรื่องความไว้วางใจแต่เพราะคนที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวน ถูกฟ้องรัองดำเนินคดี การถูกย้ายหรือถูกพักราชการชั่วคราวเพื่อรอก่อนการสอบสวน จึงเป็นเรื่องปกติ

มีบางคนคิดว่า คล้ายการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแบบสมยอมกัน



ถึงเวลาต้องยกเครื่อง สมช.
ทั้งระดับกรรมการ และผู้ปฏิบัติ
เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติจริงๆ

ที่ควรจะทำแบบนี้เพราะว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นองค์กรที่จำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศและรัฐบาล การดำรงอยู่ยาวนานถึง 100 ปีเป็นเกียรติภูมิ แต่ในโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ต้องการมืออาชีพที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์ให้กับประชาชน ต้องยืนหยัดหน้าที่และหลักการให้เที่ยงตรง เพราะทุกกลุ่มอำนาจอยากจะใช้ สมช. เป็นเครื่องมือ

ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งนี้ ควรจะถือโอกาสปรับปรุงยกเครื่อง สมช. ให้เป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติไทยจริงๆ ไม่ใช่ของคนบางกลุ่มบางพวก

เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ สมช. จะกลายเป็นองค์กรที่ทุกฝ่ายขาดความไว้วางใจ และจะถูกทำให้ตายไปอย่างช้าๆ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับข้าราชการระดับกลางและระดับล่าง เพราะใน สมช. ยังมีคนดีคนเก่งอีกมาก

วันนี้ประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ก้าวไปสู่สังคมในระดับสากล ถ้าไม่พัฒนาบุคคล และนโยบาย ทั้งองค์กรจะสร้างผลงานอย่างไร? และจะอยู่รอดได้อย่างไร ?

การปรับปรุง พัฒนา สมช. จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งระดมความคิดเพราะปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางการมือง เศรษฐกิจ เปลี่ยนไปมาก และกำลังจะเปลี่ยนอีกอย่างรวดเร็วใน 2-3 ปีนี้ การเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจของอาเชียนและโลก ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดการไหลของแรงงาน การไหลของระดับช่างฝีมือ ระดับมันสมอง การไหลของทรัพยากรและเงิน

ไม่ต้องพูดถึงระบบสื่อสารสมัยใหม่ที่เรายังต้องวิ่งตามและไม่มีปัญญาดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงความขัดแย้งระหว่างคนกับคน แม้แต่ภัยธรรมชาติที่เกิดซ้ำซากและรุนแรงขึ้นก็กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงไปแล้ว สมช. จึงต้องได้รับการพัฒนาเพื่อรับภาระหน้าที่ที่หนักขึ้น โดยการระดมยอดฝีมือเข้ามาให้มากกว่านี้ ควรมีตัวแทนประชาชนจากสภาผู้แทนมาร่วมในคณะกรรมการด้วย

ตามยุทธศาสตร์สมัยใหม่ สมช. ต้องเดินเกมรุก ไม่ใช่นั่งป้องกันอยู่ในบ้าน หรือถูกใช้ประโยชน์เพียงแค่ปกป้องหรือชิงอำนาจกันเอง อย่าให้ต่างชาติมองเราเหมือนไก่ที่จิกตีกันอยู่ในเล้า รอวันเป็นเหยื่อ

ภาระหน้าที่ของ สมช.ยุคใหม่ ควรมีส่วนร่วมในการสร้างชาติ แบบมืออาชีพอย่างแท้จริง


++

บทความปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )

สงครามกับความปรองดอง...อะไรเกิดก่อน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1570 หน้า 20


เสียงระเบิดดังขึ้นอีกแล้ว คราวนี้ดังขึ้นในค่ายทหารจังหวัดเชียงใหม่ มีเสียงปฏิเสธว่าไม่ได้ถูกยิง แต่เป็นการซ้อมตอนกลางคืน ไม่กี่วันต่อมาก็มีการระเบิดที่บ้านพ่อตาคุณเนวิน ไม่รู้ว่ามีใครมาซ้อมรบอยู่แถวนั้น เสียงระเบิดที่ดังขึ้นทำเอาเสียงปรองดองแผ่วลงไป

คงต้องมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ว่าอะไรจะเกิดก่อน ระหว่างสงครามกับความปรองดอง และอะไรจะเกิดขึ้นบนทางเดินสองเส้นนี้

การได้มาซึ่งอำนาจรัฐของกลุ่มผู้กุมอำนาจในยุคปัจจุบัน ต้องลงทุนลงแรงไปอย่างเหนื่อยยากแสนสาหัส ทั้งเคลื่อนไหวมวลชน รัฐประหาร ยุบพรรค เลือกตั้งใหม่ ปลดนายก เดินขบวนยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ยุบพรรคอีกครั้ง บีบบังคับพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล ดึง ส.ส. จากพรรคคู่แข่งมาร่วมรัฐบาล

กว่าจะตั้งรัฐบาลในค่ายทหารได้ ใช้เวลากว่าสองปี สิ้นเปลืองกำลังทรัพย์กำลังคนไปไม่รู้เท่าไหร่ ยอมเสียศักดิ์ศรีขององค์กรและบุคคลไปมากมาย

คนกลุ่มนี้เชื่อใคร ใครเป็นคนยุยง ใครเป็นคนวางแผนและก็เพราะความเชื่ออันนี้แหละ ถึงเวลารักษาอำนาจรัฐก็ต้องยุ่งยากเข้าอีก ถลำลึกไปสั่งฆ่าประชาชน ตายไปร่วมร้อยบาดเจ็บเกือบสองพัน วันนี้ปัญหายังไม่ท่าทีว่าจะสิ้นสุด ทั่วทั้งโลกจับตามอง คนทั้งโลกเห็นภาพและได้ยินเสียง แม้รัฐบาลจะออกข่าวป่าวประกาศแก้ตัวไปทั่วโลกแต่ใครจะให้ความเชื่อถือ

ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจไปก็สู้ทุกวิถีทาง ที่คิดว่าเลือกตั้งใหม่แล้วจะชนะก็เป็นจริงแต่เขาไม่ให้ปกครองถูกตุลาการภิวัฒน์ ยึดอำนาจรัฐไปอีก พอยกขบวนมาเรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อจะให้เลือกตั้งใหม่ก็ถูกฆ่าไปเป็นร้อย (ถึงยุบสภาแล้วชนะเลือกตั้งก็ไม่รู้ว่าจะได้ปกครองอีกหรือเปล่า) ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ผิดหวังกลับไปบางส่วนก็บอกว่าจะไม่ใช้แนวทางสันติแล้ว

ดูเผิน ๆ แล้วทั้งสองฝ่ายไม่น่าปรองดองกันได้



วันนี้หันกลับมาดูสภาพของแต่ละฝ่าย ซึ่งต่างก็เหนื่อยและลำบากด้วยกันทั้งคู่ ควันไฟที่ไหม้ตึกรามบ้านช่องดับไปแล้ว แต่ไฟแค้นยังลุกโชน อาคารใหม่ยังไม่ได้สร้างขึ้นมา

โครงสร้างประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุง คนเสื้อแดงถูกจับขังคุกเป็นร้อย ที่ตายและบาดเจ็บก็ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ คนบาดเจ็บแม้แผลที่กายหายไปแต่แผลที่ใจไม่มีวันหาย เสียงทักษิณแผ่วลงไป พรรคเพื่อไทยก็ยังหาหัวหน้าตัวจริงไม่ได้

ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รับเสียงประณามจากต่างประเทศมาโดยตลอด การโกงกินและคอรัปชั่นเกิดขึ้นมากมายกว่าทุกยุคทุกสมัย เสียงด่าจากประชาชนเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะลงทุนลงแรงไปมากและมีความคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง พวกสายเหยี่ยวของอำนาจรัฐจึงบอกว่าไม่ต้องตกใจ ทำอะไรได้ ทำเลย กวาดล้างพวกทักษิณให้หมด โกยอะไรได้ โกย ไล่ล่าพวกเสื้อแดงให้หมด คง พ.ร.ก. ฉุกเฉินไว้ กดดันไปเรื่อยๆ เราคงจะอยู่ได้อีกนาน

พวกเขาพากันไปสรรเสริญเยินยอนายกฯ อภิสิทธิ์ จนเมื่อไม่กี่วันนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ก็คิดเป็นนายกฯ สมัยที่สอง

พวกนี้พูดไปโดยไม่คิดย้อนกลับว่า ภายหลังยึดอำนาจพวกเขาคุมทุกอย่างไว้หมด ฝ่ายตรงข้ามยังกลับมาชนะการเลือกตั้งได้ แม้ว่าชนะแล้วจะถูกกระหน่ำซ้ำโดยตุลาการภิวัฒน์ ด้วยการยุบพรรค ปลดนายกฯ ตัดสิทธิ์นักการเมืองซึ่งเป็นแกนนำของไทยรักไทยไปสองครั้งเกือบ 150 คน แต่พวกเขาก็ไม่คิดว่าจะเกิดประชาชนเสื้อแดงขึ้นมาเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน

เมื่อพวกนี้เข้ามาทวงอำนาจเพราะไม่ได้เตรียมแผนการตั้งรับไว้ ก็เลยใช้กำลังทหารเข้าปราบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังการปราบประชาชนเสื้อแดงเมื่อ 19 พ.ค. 2553 สถานการณ์ไปไกลเกินกว่าระบอบทักษิณแล้ว เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดสี่ปี คนพวกนี้ไม่หัดจดจำบทเรียน ยังไม่รู้ว่าวันนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์สำคัญ

เหตุการณ์ในวันข้างหน้าถ้ายังใช้ไม้แข็งอีกก็จะเห็นได้ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นคำถามที่ทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจ

การมีระเบิดที่ซอยรางน้ำ, ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและในค่ายทหารจังหวัดเชียงใหม่ ถามว่าเหตุการณ์อย่างนี้ ถ้าไปเกิดที่สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้าจะป้องกันได้หรือไม่ และผลสะเทือนจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากถ้าไม่รีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ

มีบางคนยังปากแข็งบอกว่าไม่กลัว อยากให้ทดลองไปอยู่ที่ อ.รามันหรือ อ.บันนังสตาร์ หรือหลายอำเภอในสามจังหวัดภาคใต้แล้วจะเข้าใจ

แต่ผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่มีในขอบเขตทั่วประเทศจะรุนแรงกว่ามาก ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่



เส้นทางปรองดอง

ในท่ามกลางเสียงระเบิด ยังมีข่าวการปรองดองดังแทรกขึ้นมาอีกครั้ง จับความจากคนที่เกี่ยวข้องพอรู้ว่าเรื่องนี้มีคนนอกผู้หวังดีพยายามมาช่วยไกล่เกลี่ย และก็มีสายตรงจากผู้มีอำนาจติดต่อกันเองอีกทางหนึ่งด้วย แต่จะมีที่มายังไงก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าคู่กรณีคิดยังไงกับเรื่องปรองดอง พร้อมที่เดินบนเส้นทางนี้ร่วมกันหรือไม่

ฝ่ายแรกต้องมีกลุ่มคนเสื้อแดง,พรรคเพื่อไทยและอดีตนายกฯ ทักษิณ อีกฝ่ายก็ต้องมีรัฐบาล, กลุ่มทหารและกลุ่มสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในแต่ละกลุ่มอาจมีข้อเสนอที่เป็นเงื่อนไขของตนเอง เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนปรึกษากัน แต่ที่สำคัญต้องยอมรับที่จะเริ่มต้นและเห็นด้วยว่าแนวทางนี้ดีที่สุด

ความต้องการของแต่ละฝ่ายวันนี้ ทักษิณอยากถอย เสื้อแดงบางส่วนต้องการประชาธิปไตยแบบสันติวิธี เสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าสันติวิธีใช้ไม่ได้ ต้องใช้ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ส.ส. เพื่อไทยอยากเลือกตั้งและต่อสู้แนวทางรัฐสภา ผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันอยากรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด ต้องการให้ประชาชนยอมรับ ต้องการให้ต่างประเทศเชื่อถือ

สถานการณ์ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่จะหันมาปรองดองกัน ปัญหาของฝ่ายต่อต้านก็คือ ทำอย่างไรจะให้กลุ่มมวลชนเสื้อแดงเห็นด้วยกับแนวทางปรองดองนี้

เพราะปัจจุบันคนเสื้อแดงเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งความคิด คุณภาพและปริมาณแม้จะไม่มีรูปแบบการจัดตั้งที่เป็นเอกภาพและเป็นองค์กรเหมือนพรรคการเมือง แต่วันนี้พวกเขามีความคิดเป็นของตนเอง คงไม่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ทั้งทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะต้องอธิบายให้พวกเขายอมรับว่า การปรองดองจะเป็นโอกาสเริ่มต่อสู้ด้วยแนวทางสันติอีกครั้ง นำไปสู่การเลือกตั้งและสามารถได้รับชัยชนะได้ ถ้าไม่สามารถจูงใจคนเสื้อแดงให้สำเร็จได้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศ ต้องการเดินไปสู่อำนาจรัฐบนซากศพของเพื่อนร่วมอุดมการณ์

เพราะขณะนี้คนบางส่วนคิดว่าการติดอาวุธสู้คือสิ่งที่ถูกต้องและจะต้องได้รับชัยชนะ ทั้งยังสามารถแก้แค้นให้กับเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย

ปัญหานี้จึงเป็นโจทก์ข้อใหญ่ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ส่วนการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริงถือว่าไม่ใช่ตัวแปรสำคัญอะไรในการเจรจาปรองดอง



สําหรับฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐถ้ายอมเปิดช่องให้มีการเจรจาปรองดอง ก็ทำได้ไม่ยาก

1. กำหนดให้มีการคุยกันเป็นวาระที่แน่นอน หัวข้อให้เปิดกว้างไว้

2. รัฐควรปล่อยคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังออกมา แต่ถ้าคิดว่าจะฟ้องใครก็ฟ้องไปเลย(แต่ระวังเมื่อขึ้นศาลแล้ว คดีนั้นอาจย้อนกลับมาเล่นงานตัวเองได้)

3. ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

4. สำหรับคนเสื้อแดงอย่าเพิ่งยกเอาเรื่องคนตายร้อยศพ มาบังคับให้รัฐบาลต้องหาตัวคนทำผิดมาลงโทษโดยทันที เพราะถ้าพูดแบบนั้นก็เหมือนคนแกล้งโง่ กี่เหตุการณ์มาแล้วไม่เคยมีใครถูกลงโทษ ถ้าฝ่ายเดิมยังมีอำนาจอยู่ (ทั้ง 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535) ไม่ว่าประเทศไหน การชนะคดีการเมืองอย่างยุติธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออำนาจรัฐถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับฝ่ายอื่น ต้องรู้จักอดทนและทำงานให้หนักขึ้น

เรื่องนี้ต้องสู้ไปเรื่อยๆ ยืดเยื้อก็ไม่เป็นไร คนที่ได้รับผลเสียทางการเมืองถ้าไม่จัดการเรื่องนี้ให้เหมาะสมคือฝ่ายรัฐบาล

5. ข้อเสนอเกี่ยวกับเส้นทางประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การแก้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ ควรกำหนดแบบกว้างๆ ขึ้นมาก่อนก็พอ

6. ข้อเสนอเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ทั้งการเคลื่อนไหวของประชาชน, ของนักการเมืองและของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเสนอได้ ถ้ารายละเอียดยอมรับกันได้ก็ควรรีบดำเนินการ (คนที่เห็นคัดค้านเรื่องนี้ต้องรอไว้ตอนตัวเองมีอำนาจ ก็จัดการตามแบบที่ตัวเองคิดก็แล้วกัน ถ้าชาตินี้ไม่มีอำนาจก็เก็บไว้ในใจก่อน)

การเจรจาและปฏิบัติการเพื่อความปรองดอง ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เหตุการณ์สงบทันที ไม่ได้เปลี่ยนจากโกรธกันมาเป็นกอดกัน (แบบอภิสิทธิ์กับเนวิน) แต่เป็นการทำเพื่อลดความรุนแรงจากจุดที่ปะทะกันอยู่ และสร้างความสมานฉันท์บนจุดที่ร่วมกันได้

การปรองดองคงจะเกิดขึ้นหลายครั้ง ถ้าครั้งที่หนึ่งได้มาเล็กน้อยก็ต่อด้วยครั้งที่สอง สามและสี่ ถ้าเดินแนวทางนี้ร่วมกันไปได้ แม้ความขัดแย้งจะยังดำรงอยู่ แต่ก็จะลดลงไป ประเทศไทยยังสามารถเจริญก้าวหน้าต่อไป ประชาชนอยู่ได้อย่างมีความสุขพอสมควร คล้ายๆ กับประเทศมาเลเซีย ซึ่งความขัดแย้งลึกๆ ไม่ได้หายไปแต่ก็อยู่กันได้และเจริญก้าวหน้าได้

ถ้าไม่เลือกเส้นทางนี้ก็มีให้เลือกอีกเส้นทางหนึ่ง



เส้นทางสู่สงคราม

เส้นทางนี้เดินหาไม่ยาก เล่นงานทักษิณต่อไป บีบพรรคเพื่อไทย ไล่ล่าพวกเสื้อแดง จับขังคุก ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินกดดันไม่ให้ประท้วงด้วยสันติวิธี จะมีผลทำให้ทุกกลุ่มไหลไปรวมกับพวกที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ วิธีนี้รับประกันได้ว่าในเวลาประมาณหนึ่งถึงสองปีจะได้เห็นสงครามแน่นอน

ตอนนี้หลายคนยังไม่รู้ว่าเล่นกับไฟอยู่

สงครามจะเริ่มต้นอย่างไร ปัจจัยของการเกิดสงครามขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง

1. ขนาดของความขัดแย้งซึ่งปัจจุบันขยายกว้างไปสู่มวลชนนับล้านแล้ว ไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองไม่กี่คน

2. เนื้อหาของความขัดแย้งเป็นเรื่องอะไร ในปัจจุบันได้พัฒนาจากการต่อสู้เพื่อตัวบุคคลไปสู่อุดมการณ์ ไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรมและล่าสุดหลังมีการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ความขัดแย้งนี้ก็ซึมลึกเข้าไปอยู่ในจิตใจคน กลายเป็นความโกรธแค้นและต้องการทวงคืน

3. มีทางออกอื่นๆ ในการแก้ปัญหาหรือไม่ ถ้าเคลื่อนไหวทางสภาไม่ได้ เคลื่อนไหวนอกสภาก็ถูกจับ สื่อฯ ถูกปิด มีกฎหมายควบคุมสารพัด สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้ความรุนแรง

4. แนวคิดชี้นำขององค์กรนำแต่ละฝ่าย ถ้าไม่สนใจแนวทางสันติวิธี เชื่อมั่นว่าการใช้กำลังอาวุธจะทำให้ได้รับชัยชนะ ก็จะนำประเทศเข้าสู่สงครามได้ง่ายมาก

5. การปราบด้วยกำลังของรัฐจะเป็นตัวจุดชนวน ถ้าปราบหนักสงครามก็เกิดเร็ว เพราะจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่ยอมแพ้

6. การแสวงหาการสนับสนุนในเรื่องอาวุธและทรัพยากรอื่นๆ ในกรณีนี้คิดว่าทั้งสองฝ่ายสามารถหาได้ไม่ยากนัก

7. ลักษณะนิสัยของประชาชน ถ้าเป็นประเภทฆ่าได้หยามไม่ได้ และเป็นพวกคนสู้คนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก

สงครามจะเริ่มจากจุดเล็กๆ บางทีก็เป็นปะทัดยักษ์ บางทีก็เป็นระเบิด ข่าวลือวันนี้มีแม่บ้านกลุ่มหนึ่งไปฝึกทำระเบิดกันเองจนได้รับบาดเจ็บ ชายฉกรรจ์และเด็กหนุ่มหลายกลุ่มแอบไปฝึกวิทยายุทธพร้อมกับบอกว่า คราวหน้าไม่มามือเปล่าแล้ว

เหตุเกิดครั้งแรกๆ อาจจะมีไม่บ่อยนัก จากนั้นจำนวนจุดที่เกิดเหตุก็จะมากขึ้น บ่อยขึ้น ค่อยๆ ขยายไปแบบสามจังหวัดภาคใต้ เพียงแต่เป้าหมายต่างกัน แต่ไม่ขยายไปแบบสงครามเวียดนาม จะมีลักษณะคล้ายสงครามในกรุงเบรุตประเทศเลบานอนมากกว่า

ในสถานการณ์สู้รบที่ขยายตัวออกไป มีความเป็นไปได้มากที่แต่ละฝ่ายอาจมีกองทัพติดอาวุธถึงหนึ่งแสนคน เพราะแนวชายแดนทุกด้านของไทยไม่สามารถจะควบคุมอะไรได้มากนัก ทุกวันนี้ขอทานต่างด้าวขาขาดก็เข้าออกได้อย่างสะดวก แรงงานพลัดถิ่นเข้ามาได้ทุกวัน สินค้าเถื่อนเข้าออกได้ตลอดเวลา

ดังนั้น การขนอาวุธเข้ามาคงทำได้ไม่ยากนัก ถ้าสงครามยังไม่สามารถรู้แพ้รู้ชนะกันได้ในช่วงสั้น กำลังรบก็จะขยายออกไประดับสงครามจะยกสูงขึ้นไปอีก จะมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนหลายแสน บ้านเมืองแหลกพินาศ



สงครามขยายเข้าเมืองหลวงเมื่อใด ความตายความเดือดร้อนจะแผ่ไปทุกตารางนิ้ว การใช้ชีวิตจะยากลำบากอย่างแสนสาหัส เราจะเห็นรถกระบะติดปืนไร้แรงสะท้อน ซึ่งมีระยะยิงประมาณหนึ่งกิโลเมตรต่อสู้กัน ซึ่งจะสร้างความพินาศให้กับเมืองอย่างรวดเร็ว

ควันไฟแบบที่เคยในเห็นวันที่ 19-21 พ.ค. 2553 จะไม่ใช่ควันจากยางรถยนต์แต่จะเป็นไฟที่เกิดจากการสู้รบจริงๆ

เหตุการณ์ในเดือนพฤษภา 2553 จะเทียบได้ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์ของสงครามที่จะเกิดขึ้นจริง มีหลายคนบอกว่าไม่ว่าจะได้อะไรกลับมา เขาก็ยังคิดว่าการต่อสู้แบบนี้เป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่แพงเกินไป

หลังควันไฟและเสียงปืนสงบ ซึ่งจะนานแค่ไหนไม่รู้แต่คาดว่า ณ.เวลานั้นจะไม่มีพรรคเพื่อไทย ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ องค์กรที่มีชื่อเสียงต่างๆ ก็จะหายไปหมด กลุ่มคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังก็ไม่รู้ว่าจะเหลืออยู่ในประเทศสักกี่คน ใครจะเป็นคนแทรกขึ้นมามีอำนาจหลังม่านควันปืน?

ความสงบหลังสงครามนั้นน่าจะเป็นความสงบชั่วคราว ซึ่งนานแค่ไหนไม่รู้ และจะมีการต่อสู้กันใหม่อีกกี่ครั้ง

เพราะเราปล่อยให้สถานการณ์ความขัดแย้งยกระดับมาตั้งแต่ปี 48-49 วันนี้ถึงทางแยกที่ต้องเลือกเดิน ถ้าเลือกเดินไปบนเส้นทางปรองดอง ทำให้การปรองดองเกิดก่อนมันจะไปช่วยยับยั้งเชื้อสงครามไม่ให้เติบโต ความสำเร็จของการปรองดองจะทำให้โอกาสการเกิดสงครามลดลงไปมาก

แต่ถ้าสงครามเกิดก่อนบาดแผลของสงครามจะลามลึกไปทั่ว ถึงเวลานั้นจะกลับมาปรองดองก็ยากแล้ว.



++

นิรโทษกรรม...ยาหมดอายุ ไม่มีทางรักษาแผลใหญ่ได้
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1572 หน้า 20


สองสัปดาห์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมเป็นกระแสข่าวที่พุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยการจุดพลุของเนวินจากภูมิใจไทย จากนั้น ก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แสดงบทหนุนบทค้านตามมาอย่างมากมาย และมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้เป็นแผนทางการเมืองหรือเป็นความตั้งใจที่จะปรองดองจริงๆ

การนิรโทษกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีต จนเป็นสูตรสำเร็จทำให้บางคนคิดว่าเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง มีรัฐประหาร มีการต่อสู้กันจะใช้สูตรนิรโทษกรรมมาเป็นยารักษาแผลของความขัดแย้งนั้นได้ เช่น การรัฐประหาร 26 มีนาคม 2520 หรือการรัฐประหาร เมษายน 2523

แต่ที่น่าจะยกตัวอย่างมาศึกษากันก็คือกรณี 6 ตุลาคม 2519 เพราะแม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะไม่เหมือนเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด

เหตุการณ์รัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรค ปชป. ถูกโค่นลงโดยทหารและกลุ่มขวาจัด แต่ที่ถูกกวาดล้างจับกุมและถูกสังหาร คือนักศึกษาและขบวนการฝ่ายก้าวหน้า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ถูกจับขังคุกสามพันกว่าคน ภายหลังก็ถูกปล่อยเกือบหมด เหลือไม่ถึงยี่สิบคนที่ถูกคุมขังและดำเนินคดี นักศึกษาหลายพันคนหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อล้มรัฐบาลซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละปี

หนึ่งปีต่อมา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ทำรัฐประหารซ้ำ โค่น นายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นหนึ่งปี ขณะที่การต่อสู้ด้วยอาวุธยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด

และการดำเนินคดี 6 ตุลายังอยู่ในศาลทหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็เสนอกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยความผิดในเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลา ไม่ต้องการให้ไปสืบค้นว่าใครผิดใครถูก ให้ทุกคนลืมเหตุการณ์นั้นแล้วตั้งต้นกันใหม่ ไม่เอาผิดใครทั้งสิ้น ทั้งนักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐ และพวกขวาจัดที่เข้าไปก่อเหตุร้าย

ครั้งนั้น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้แจ้งมายังฝ่ายนักศึกษาว่า ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายจะยอมให้นิรโทษกรรมแต่เขาได้เอาหัวเป็นประกันไว้ และคิดว่าจะเป็นแนวทางปรองดองไปสู่ความสงบได้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ. ในขณะนั้นพอดี น่าจะรู้เรื่องการนิรโทษกรรมในครั้งนั้นได้ดี กฎหมายนิรโทษกรรมนั้นเรียกว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำความผิด เนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2519...พุทธศักราช 2521

แม้เนื้อหาจะยกความผิดให้กับทุกฝ่าย แต่ผู้ชุมนุมและผู้ถูกฆ่าก็คงค้านว่าพวกเขาผิดอะไร ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แท้ๆ มีคนบุกเข้าไปทำทารุณกรรม เข่นฆ่าจับแขวนคอ เผา ซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เวียดนาม (ตามแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปฯ)



มาลองวิเคราะห์ถึงผลของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ผลโดยตรงที่เกิดขึ้นคือนักโทษการเมืองจากกรณี 6 ตุลาถูกปล่อยทันที แต่บาดแผลขนาดใหญ่จากการล้อมสังหารนักศึกษาประชาชนยังไม่สามารถเยียวยาได้ การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงยังคงดำเนินต่อไป จากปี 21 ไปสู่ปี 22 และปี 23

สถานการณ์ขณะนั้น ฝ่ายปฏิวัติติดอาวุธที่อยู่ในเขตป่าเขาแม้ขยายตัวไปมาก แต่ยังไม่มีทางเอาชนะฝ่ายรัฐบาลได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามก็ไม่สามารถขจัดฝ่ายปฏิวัติให้หมดสิ้นไปได้เช่นกัน จังหวะนั้นได้เกิดความขัดแย้งทางความคิดใน พคท. และความขัดแย้งทางการเมืองของจีนกับเวียดนาม รัฐบาลจึงเห็นโอกาสที่จะคลี่คลายสถานการณ์ จึงเสนอนโยบาย 66/23 เพื่อเป็นทางถอยให้กับฝ่ายปฏิวัติให้วางอาวุธและกลับเข้ามาอยู่ในสังคมตามปกติ

ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มแรงกดดันด้วยการเจรจากับจีนและประเทศสังคมนิยมเพื่อนบ้านให้ยุติการสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติ ในบางจุดก็ใช้กำลังเข้ากดดันให้ฝ่ายปฏิวัติลงจากป่าเขา สงครามจึงสงบลงในปี 2525 นับจากวันที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกินเวลาประมาณห้าปี

การต่อสู้ด้วยอาวุธยุติลง แต่ข้อเท็จจริงของการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกกลบฝังไว้ใต้ดิน จนป่านนี้ก็ไม่รู้ว่าใครฆ่า ใครสั่งฆ่า ทำให้ผู้คนคาดเดากันไปต่างๆ นานา คนที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่เบื้องหลังก็ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมและในช่วงหลังนี้ ทั้งฝ่ายถูกฆ่าและฝ่ายเข่นฆ่าบางคนก็กลับมาร่วมงานกัน ด้วยความสมานฉันท์

ถ้าถามว่าการนิรโทษกรรมมีส่วนทำให้ความขัดแย้งสงบลงหรือไม่ คงตอบได้ว่ามีส่วน แต่ต้องมีความจริงใจในการปฏิบัติ วันนั้นคนที่กลับออกมาจากป่าพอวางปืนก็ยังสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกฆ่าถูกขัง ทำให้กระบวนการปรองดองเดินต่อไปได้

วันนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ได้ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ทั้งสองมีประสบการณ์เรื่องการนิรโทษกรรมและแนวทางการปรองดอง ทั้งสองคงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าถ้าใช้กฎหมายนิรโทษกรรมจะได้ผลแค่ไหน ควรทำหรือไม่ ขออย่างเดียว อย่าวิเคราะห์บนพื้นฐานผลประโยชน์ของตัวเอง



ความขัดแย้งในปัจจุบัน

สังคมไทยวันนี้มีบาดแผลที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่มาก แผลก็ติดเชื้อแล้วแถมมีกระดูกบางชิ้นหักไปด้วย

จากที่เคยกล่าวกันว่าความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องของทักษิณกับชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง แต่ภายหลังจากการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 การยุบพรรคในปี 2551 และการสลายการชุมนุม สังหารคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ความขัดแย้งได้ขยายกว้างไปในขอบเขตทั่วประเทศและลึกลงไปในระดับองค์กรจนถึงครอบครัว

วันนี้ถ้าจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็คือพรรคการเมืองที่มีอำนาจในปัจจุบัน+ทหารบางกลุ่ม+ผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังและกลุ่มเสื้อเหลือง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนเสื้อแดง+พรรคฝ่ายค้าน+ทักษิณ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือดตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมคนในกลุ่มต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับ แต่ทันทีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมมาให้ดู เสียงดังคัดค้านก็ดังระงม

ที่ดังที่สุดก็มาจากคนเสื้อแดงซึ่งในกรณีนี้ไม่สนใจว่าทักษิณจะคิดอย่างไร พวกเขาสรุปว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไรไม่ต้องมานิรโทษกรรม ที่ทำไปนั้นเพราะต้องการนิรโทษกรรมให้ ศอฉ. และเจ้าหน้าที่ซึ่งพวกเขาไม่มีวันยอม

พวกเสื้อเหลืองก็บอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะนี่เป็นการหมกเม็ดเพื่อจะใช้ช่วยนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิก็บอกว่าไม่ต้องการ พรรค ปชป. ก็บอกว่ายังไม่เหมาะสม พรรคเพื่อไทยคาดคะเนว่านี่เป็นแผนการเมืองเพื่อหาเสียงและเพื่อสร้างนายกฯ ส.เสือคนใหม่ งานนี้แม้ภูมิใจไทยจะเดินหน้าไปแล้ว แต่เสียงต่อต้านก็ยังดังกระหึ่ม

ในกระแสการปรองดองช่วงหลัง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ประกาศว่าให้รัฐบาลแสดงความจริงใจก่อน การแสดงความจริงใจหมายถึงเลิกไล่ล่ากลุ่มคนเสื้อแดง, ปล่อยนักโทษการเมือง, ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน, ยุบ ศอฉ. แต่อำนาจเหล่านั้นอยู่กับพรรค ปชป. ไม่ได้อยู่กับพรรคภูมิใจไทย

และเหตุการณ์ล่าสุดที่แสดงให้เห็นความไม่จริงใจก็คือ การจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งๆ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการสัมมนาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อทางอินเตอร์เน็ตและการประชุมธรรมาภิบาลของสื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งจัดโดย UN เธอถูกจับที่กรุงเทพฯ แต่ส่งตัวไปขอนแก่นตามหมายจับ ซึ่งออกมานานนับปีแล้ว เป็นความไม่จริงใจที่ทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งกำลังโชว์วิสัยทัศน์อยู่ในที่ประชุม UN แทบจะต้องเอาหัวมุดดินด้วยความอับอาย (กลับมาต้องสั่งปลดคนที่จับเลย) เพราะสื่อทั่วโลกพากันประณามรัฐบาลไทยอย่างทันทีทันใด จากเหตุการณ์นี้ ดูแล้ว เรื่องปรองดองคงต้องรอไปอีกนาน

ถ้ากฎหมายนิรโทษกรรมไม่ได้รับการต้อนรับหรือทำไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเสียใจมาก เพราะการนิรโทษกรรมไม่ใช่ยารักษาโรค เป็นแค่ยาระงับปวดเท่านั้น เมื่อกินเข้าไปก็หวังว่าจะระงับปวดได้ชั่วคราว ถ้าจะรักษาให้หายต้องหาสาเหตุให้เจอและรักษาให้ตรงจุด ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดก็ต้องทำ ถ้าส่วนไหนเป็นเนื้อร้ายเป็นมะเร็งก็ต้องตัดทิ้งไป



19 กันยายน 2553 มีปรากฏการณ์ที่คนเสื้อแดงนับหมื่น มาชุมนุมที่ราชประสงค์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ "สี่ปีรัฐประหาร...สี่เดือนล้อมสังหาร" ทำให้ถนนย่านนั้นกลายเป็นสีแดงไปหมด การชุมนุมวันนั้นไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีระบบเสียง ไม่มีการระดมคนจากต่างจังหวัดเข้ามา

คนพวกนี้มาด้วยใจอย่างเดียว ใจที่บอกว่ายังสู้อยู่ ยังไม่ยอมแพ้

ถ้าวันนี้กฎหมายนิรโทษกรรมไม่สามารถนำมาใช้รักษาแผลได้และรัฐบาลก็ยังหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้ นอกจากการใช้ พรก. ฉุกเฉิน การจับกุมการไล่ล่า ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ปัญหาใหญ่ขณะนี้ คือเรื่องของนักโทษการเมืองที่ติดคุกอยู่อีกหลายร้อยคน โดยไม่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล (จำนวนที่แน่นอนของนักโทษการเมืองขณะนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่ากี่คนแน่ และตัวเลขที่รัฐบาลให้มาเป็นตัวเลขจริงหรือไม่) ทำอย่างไรคนเหล่านี้จึงจะได้ออกมาจากคุกแม้จะมีคดีติดตัวเหมือนคนเสื้อเหลืองก็ไม่เป็นไร

นักโทษเหล่านี้ไม่ได้กลัวการดำเนินคดีในระบบศาลแต่กลัวการถูกนำไปขังไว้เฉยๆ

เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตใกล้ๆ นี้ เพราะจะมีการรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองเหล่านี้ และนี่จะเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลถูกประณามให้อับอายไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

สถานการณ์ล่าสุด นักวิชาการฝ่ายประชาชนที่ถูกปราบและถูกฆ่า ได้ตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อรวบรวมหลักฐานทุกชนิด [ศปช.] ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ในเชิงประวัติศาสตร์และนำไปฟ้องร้องดำเนินคดีได้ในอนาคต ถ้าใช้นโยบาย "สิบปีล้างแค้นก็ไม่สาย" ผู้นำของไทยและผู้เกี่ยวข้องคงจะต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้นำเกาหลีใต้และเขมรแดงเป็นแน่แท้

ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ มีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นเกมของการชิงเหลี่ยมเพื่อให้เกิดการได้เปรียบของนักการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องเสนอสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีกว่าข้อเสนอของคนอื่น วันนี้เนวินเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เสธ.หนั่น ขจรประศาสน์ เดินสายคุยกับทุกฝ่าย นายกรัฐมนตรีจะนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ถ้าเอาแต่คอยฟังคำสั่งคนอื่น ต้องคอยเอาใจคนที่อยู่ข้างหลังและข้างๆ ก็ป่วยการที่จะนั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไป ต้องแสดงฝีมือแสดงอำนาจที่มีอยู่ ณ เวลานี้ยังมีโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้น

เวลาสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรีเหลือน้อยแล้ว อย่าฝันถึงสมัยที่ 2 เลย เวลาที่เหลือนี่แหละต้องสร้างผลงานดีๆ ทิ้งไว้สักอย่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เคยทำมาแล้ว เคยแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองโดยยอมขัดใจบางคนบางกลุ่ม ออกกฎหมายนิรโทษกรรมและปูทางไปสู่ความปรองดอง แม้จะได้ผลช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

วันนี้ข้อเสนอนิรโทษกรรมของเนวินอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับเพราะในรายละเอียดเป็นเหมือนตัวยาที่หมดอายุแล้ว แต่ในฐานะรัฐบาลที่มีอำนาจยังสามารถปรุงยาที่มีคุณภาพสูงเสนอเข้าไปใหม่ได้ สามารถเพิ่มยาขนานอื่นเช่นการปล่อยนักโทษการเมือง การยกเลิก พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ความขัดแย้งในปัจจุบันแผลอาจจะใหญ่มากจนใช้ยาขนานเดียวไม่พอ

ในสถานการณ์อย่างนี้ในฐานะผู้นำต้องคิดแก้ปัญหาและกล้าทำ ลองถามตนเองดูว่า ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมีอะไรเป็นผลงานบ้าง ถามใจตนเองในฐานะนักการเมืองว่า มีความรู้ความเข้าใจระบบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง เราสั่งปราบสั่งขังประชาชนที่คิดไม่เหมือนเราได้อย่างไร? ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร

ต้องรีบหาคำตอบในวันนี้ ถ้าวันนี้ยังตอบไม่ได้อาจต้องหาคำตอบไปตลอดชีวิต


.