.
ปูติดเครื่อง ลุยงาน-อยู่ยาว
ในข่าวสดรายวัน วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7598 หน้า 3
การที่รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เริ่มต้นด้วยการหลงเดินวนเวียนอยู่กับทักษิณ ทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนไปไม่น้อย
ไม่ว่ากรณีการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหรือการจุดประเด็นรื้อฟื้นคดีที่ดินรัชดาฯ ขึ้นมาเรียกร้องให้ศาลฎีกาฯ เปิดการพิจารณาใหม่
ที่กว่าจะเคลียร์กับกระแสสังคมได้ก็เล่นเอาเหนื่อย
ยังดีที่ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณตอบกลับมาในทางบวกจากการเดินหน้าลุยแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่กินเวลายาวนานเป็นเดือนๆ กลืนชีวิตชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่แล้วเกือบร้อยชีวิต
ไม่นับรวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย เรือกสวนไร่นานับหมื่นนับแสนไร่ ที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้าไปเยียวยาช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด
ในการประชุมครม.ที่ผ่านมา นายกฯ สั่งกระจายงานให้รัฐมนตรีแต่ละคนลงพื้นที่ ติดตามแผนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยแบบประกบติดรายจังหวัด
แล้วก็เป็นปรากฏการณ์สร้างสีสัน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ออกโทรทัศน์นั่งรับโทรศัพท์คู่กับดาราแพนเค้ก ในงานรวมพลังไทย ช่วยภัยน้ำท่วม
จบรายการ 2 ชั่วโมงเศษ รวบรวมยอดเงินบริจาคได้ 363 ล้านบาท ข่าวแจ้งว่านักธุรกิจระดับหัวแถวของประเทศ หลายคนแย่งกันควักกระเป๋า เป็นตัวเลขตั้งแต่ 20-30 ไปจนถึง 40 ล้านบาท
ถึงจะเป็นสีสันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าภาคเอกชนและนักธุรกิจพร้อมร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือนำพาประเทศออกจากวิกฤตความทุกข์ยาก
เพียงแต่รัฐบาลต้องแสดงความพร้อมเป็นฝ่ายเดินนำให้เห็นเสียก่อน
กับอีกเรื่องการโหมนโยบายปราบยาเสพติด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานเปิดประชุมปฏิบัติการ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด
ยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ดึงหน่วยงานองค์กรภาครัฐทุกระดับเข้าร่วมแก้ปัญหา
หากทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือลดระดับความรุนแรงปัญหาลงให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 1 ปี ก็เชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลได้คะแนนมาตุนไว้เป็นกอบเป็นกำ
เพียงแต่ผลงานที่ออกมาต้องไม่ระห่ำซ้ำรอยการทำสงครามปราบยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ในเวลา 3 เดือนทำให้ปริมาณยาเสพติด ผู้ผลิต และผู้ค้าลดจำนวนลงทันตาเห็น แต่ก็ตามมาด้วยการตาย 2,000 ศพที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการฆ่าตัดตอนหรือไม่ เป็นอีกบาดแผลหนึ่งที่ติดตัวทักษิณมาจนถึงตอนนี้ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามพร้อมที่จะสะกิดแผลนี้ขึ้นมาตลอดเวลา
นอกจากนี้ การออกเดินสายเยือนผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เริ่มที่ประเทศบรูไน ตามด้วยอินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว นอกจากการแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติหลังเข้ารับตำแหน่ง
ยังถือว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ สอบผ่านบทบาทเวทีเจรจาระดับภูมิภาค โดยเฉพาะคิวเยือนกัมพูชา จับเข่าหารือกับนายกฯ ฮุนเซน ไม้เบื่อไม้เมากับประชาธิปัตย์
เป้าหมายอันดับแรกคือการลุยสางปัญหาค้างเก่าที่รัฐบาลชุดเก่าขยันก่อไว้ รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แปรสนามรบตามแนวชายแดนกลับคืนเป็นสนามการค้า
แต่ที่อยู่ในความสนใจของสังคมมากที่สุด คือการเจรจาช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด กับ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ
เหยื่อเกมการเมืองระหว่างประเทศในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ถูกขังลืมอยู่ในคุกเขมร
ถึงจะไม่สามารถช่วยออกมาได้ทันทีแต่ก็มีแนวโน้มในทางบวก เมื่อนายกฯ ฮุนเซน รับปากจะช่วยลดโทษจำคุก วีระ-ราตรี ให้ลงมาอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอพระราชทานอภัยโทษได้
เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการร่วมกันตบหน้าพรรคประชาธิปัตย์ฉาดใหญ่
เท่าที่ดูจากสถานการณ์ยังคงเหลือการโยกย้ายข้าราชการที่ยังไม่ลงตัว
แต่ดูจากกรณีการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ตอนแรกมีบางฝ่ายพยายามปลุกกระแสข้าราชการประจำ ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้าน
แต่เนื่องจากรัฐบาลเพื่อไทยผลัดเปลี่ยนเข้ามาในช่วงถึงฤดูการโยกย้ายเดือนกันยายน การสลับสับเปลี่ยนดึงคนในสายของตัวเองเข้ามาทำงานแทนคนของรัฐบาลชุดเก่า หวังผลให้การผลักดันนโยบายต่างๆ เดินหน้าราบรื่น จึงเป็นเรื่องอยู่ในขอบเขตที่ข้าราชการทั่วไปทำใจยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงไว้เสมอคือ ต้องไม่ใช้อำนาจโยกย้ายตามอำเภอใจ ทำให้ภาพออกมาในลักษณะของการล้างบางหรือแก้แค้น มากกว่าเหตุผลเพื่อความเหมาะสมในเรื่องงาน ถ้าทำได้ก็จะไม่เกิดแรงกระเพื่อม ขยายวงรุนแรงออกไป
โดยเฉพาะการโยกย้ายภายในกองทัพ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษหากต้องการยื่นมือเข้าไปแตะต้อง โผรายชื่อที่ผู้นำแต่ละเหล่าทัพเสนอขึ้นมา
ล่าสุดมีข่าวหลุดออกมาทางสื่อบ้างแล้วถึงความไม่ลงตัวในบางจุด ที่ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายการเมือง และฝ่ายการเมืองกับบิ๊กกองทัพ อาจต้องเปิดเจรจากันรอบใหม่
ส่วนจะส่งผลให้ระยะเวลาการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องยืดยาวออกไปหรือไม่ ไม่มีใครให้คำตอบได้
หรือถ้าหากยืดยาวออกไปจริงจะมีผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลชุดนี้ที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่แล้ว เกิดเป็นความอึมครึมระลอกใหม่หรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาได้เช่นกัน
ด้วยความที่รัฐบาลชุดนี้มีข้อได้เปรียบคือมาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเสียงสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกราะป้องกันแข็งแกร่ง
การทำอะไรไม่บุ่มบ่าม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพะเน้าพะนอกองทัพเหมือนรัฐบาลที่ถือกำเนิดในค่ายทหารเคยทำ
อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าหากรัฐบาลข้ามด่านโผโยกย้ายกองทัพไปได้ การจัดแถวข้าราชการลงตัว บวกกับนโยบายด้านต่างๆ ที่จะเริ่มผลิดอกออกผลในช่วงเดือนมกราคม 2555
ถึงตอนนั้นใครก็คิดโค่นรัฐบาลได้ลำบาก
++
ความจำสั้น
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
เห็น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาสรุปเรื่องนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้วรู้เลยว่า "มือใหม่" จริงๆ
พล.อ.อ.สุกำพล สรุปว่าถ้าคุยกับ "บีทีเอส" และ "บีเอ็มซีแอล" แล้วไม่สามารถทำได้ก็ต้องจบ
"จบอย่างมีเหตุผล ประชาชนคงเข้าใจ"
เป็นการให้สัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมาแบบ "ทหาร"
แต่ "นักการเมืองรุ่นเก๋า" ฟังแล้วหัวเราะ
เพราะถ้าเป็น "นักการเมืองรุ่นเก๋า" เขาจะใช้กลยุทธ์ "รำวง"
วนไปวนมา ตั้งคณะกรรมการศึกษา เตะถ่วงไปเรื่อยๆ
ด้วยสมมติฐานว่า "คนไทยลืมง่าย"
จำโครงการเช่ารถเมล์ของ ขสมก.ได้ไหมครับ
กระทรวงคมนาคมของ "ภูมิใจไทย" พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ทั้งกดดันทั้งกระทบเท้าขู่
แต่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ใช้กลยุทธ์ "รำวง"
เห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกต
ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ชุดล่าสุดมี "ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
จำได้ว่า "ไตรรงค์" ปลอบรัฐมนตรีของ "ภูมิใจไทย" ว่า "ผมทำงานไม่ช้า"
แต่เชื่อไหมว่าโครงการนี้ใช้เวลา "รำวง" ไปเรื่อยๆ จนหมดอายุรัฐบาล "อภิสิทธิ์"
เป็นกลยุทธ์การเมืองภายใต้ความเชื่อว่า "คนไทยลืมง่าย "
ข่าวเก่าผ่านไป ข่าวใหม่เข้ามา
ไม่มีใครมาจดจำหรอกว่าเคยสัญญาว่าอย่างไร
เคยพูดอะไร
หรือเคยทำอะไรไว้ในอดีต
ที่ชัดเจนที่สุด คือ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาถล่มรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม, การแจกเงินช่วยน้ำท่วมล่าช้า, การไล่จับ "ทักษิณ", ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเจรจากับกัมพูชา ฯลฯ
คนจำนวนไม่น้อยตะลึงในความกล้าหาญของ "ประชาธิปัตย์"
เพราะทุกเรื่องรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ทำมาแล้วทั้งสิ้น
แค่เดือนเศษ เขาคิดว่าคนไทยลืมแล้ว
เรื่องโยกย้ายข้าราชการ แค่กรณี "วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์" อธิบดีกรมการปกครองเรื่องเดียวก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนแล้ว
ย้ายเพราะไม่ยอมร่วมทุจริต และไม่ยอมให้เอาปืนไปยิงประชาชน
เรื่องตำรวจยิ่งแล้วใหญ่ แค่ตำแหน่ง "ผบ.ตร." ยังยืดยาวเป็นมหากาพย์เลย
เรื่องแจกเงินช่วยน้ำท่วมล่าช้า คนนครศรีธรรมราชรู้ดี เพราะเคยประท้วงรัฐบาล "อภิสิทธิ์" จ่ายเงินช่วยเหลือล่าช้า
น้ำท่วมซ้ำครั้งที่ 2 เงินช่วยเหลือครั้งแรกยังไม่ได้เลย
หรือเรื่องไล่จับ "ทักษิณ" ที่รัฐบาล "อภิสิทธิ์" บอกคนไทยทั้งประเทศว่าตำรวจสากลขึ้นบัญชีแล้ว จะจับตัวได้แล้ว พูดแบบนี้มา 2 ปีกว่า
สุดท้ายคนของกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งออกมายอมรับว่า "ไม่จริง"
พลิกดูข่าวการให้สัมภาษณ์ของ "กษิต-ชวนันท์" ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วมาอ่านข่าววันนี้
งงจริงๆ ว่าทำไมกล้าพูด
หรือล่าสุดเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ในการเจรจากับกัมพูชา
"ฮุน เซน" เล่นการเมืองเพื่อช่วย "เพื่อไทย" แน่นอน
แต่มี "ความจริง" บางอย่างซ่อนอยู่ที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน
เราไม่เคยรู้เลยว่ามีการเจรจาเรื่องบ่อน้ำมันในทะลแบบ "ไม่เป็นทางการ" กับกัมพูชามาถึง 3 ครั้ง
การเมืองวันนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าการทำงานของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"
มีหลายเรื่องที่สมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์
แต่เราต้องดูคนที่วิจารณ์เหมือนกัน
อย่าให้เขาดูถูกคนไทยว่าเป็น "ปลาทอง"
ความจำสั้นแค่ 4 วินาที
+++
ต้องไม่ลับ
โดย มันฯ มือเสือ คอลัมน์ เหล็กใน
ในข่าวสดรายวัน วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7597 หน้า 6
มีความพยายามหยิบยกเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาตีรวนในจังหวะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเยือนกัมพูชาเป็นทางการ
เนื่องจากเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่นายกฯ ฮุนเซน เชื้อเชิญพ.ต.ท.ทักษิณ มาเยือนกัมพูชาระหว่าง 16-24 ก.ย. เพื่อร่วมประชุมอนาคตเศรษฐกิจเอเชีย ที่กรุงพนมเปญ
ข่าวแจ้งว่าผู้นำและอดีตผู้นำ 2 ประเทศมีนัดออกรอบตีกอล์ฟวันที่ 18 ก.ย.
สำหรับฟุตบอลกระชับมิตร วันที่ 24 ก.ย. ระหว่างแกนนำนปช.กับส.ส.และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชา ที่สนามกีฬาโอลิมปิกพนมเปญนั้น
ไม่ยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะไปร่วมชมการแข่งขัน พร้อมถือโอกาสพบปะสังสรรค์กับกองเชียร์และนักเตะคนเสื้อแดงด้วยหรือไม่
นายกฯ ฮุนเซน อ้างว่าการเดินทางมาของพ.ต.ท. ทักษิณ ได้กำหนดโปรแกรมล่วงหน้าก่อนรู้ว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะมาเยือนวันที่ 15 ก.ย.
สรุปคือเป็นการช่วยหักล้างข้อกล่าวหาที่ว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีแผนมาพบปะกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ผู้เป็นพี่ชาย
ซึ่งต่อมาไม่นานข้อกล่าวหานี้ก็ได้รับการพิสูจน์ว่า ไม่จริง
เนื่องจากในวันที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปเยือนกัมพูชา ตั้งแต่ออกจากสนามบินบน.6 ช่วงบ่าย กระทั่งเดินทางกลับช่วงค่ำวันเดียวกัน
นายกฯ หญิงของไทยก็ตกอยู่ในสายตาสื่อมวลชนไทย-กัมพูชา และสื่อนานาประเทศตลอดทุกฝีก้าว
การเจรจาหัวข้อราชการต่างๆ กับผู้นำกัมพูชา ก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อ มวลชนให้ประชาชนคนไทยรับรู้พร้อมกัน
ไม่ว่าผลการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเปิดศักราชทำมาค้าขายร่วมกัน การแก้ปัญหาข้อพิพาทตามแนวชายแดน
และกรณี "วีระ-ราตรี" ซึ่งจะได้รับการลดโทษเพื่อเร่งให้เข้าหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาความระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเปิดเผยในทุกกรณี
ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ต้องไม่ใช่การเจรจาลับโดยเด็ดขาด
เว้นเสียแต่เป็นการเจรจาที่มีผลประโยชน์อย่างอื่นแอบแฝง แล้วพอโดนคู่เจรจาตลบหลังแฉตรงๆ ถึงได้รีบแก้ตัว เอาเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติมาบังหน้า
แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว
++++
ไล่จับเงาตัวเอง..ให้ได้
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
อย่าว่าแต่ญาติพี่น้องคนตายเลย ขนาดเอกอัครราชทูตอิตาลีและเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ยังเข้าสอบถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯด้านความมั่นคง ถึงความคืบหน้าเหตุการณ์ 91 ศพ เมื่อปี 2553 ว่าในฐานะรัฐบาลใหม่จะดำเนินการกับคดีนี้เช่นไร
ไม่เพียงคนไทยเราเองเท่านั้น คนทั่วโลกเขาก็ไม่ลืม
กรณีอิตาลีนั้นแน่นอนว่า เขาต้องทวงถาม เพราะนายฟาบิโอ โปเลงกี้ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี คือหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ส่วนอังกฤษนั้น คงเพราะในสายตาของประเทศประชาธิปไตย ถือเป็นเหตุการณ์ใช้อำนาจรัฐที่ร้ายแรงมาก
แล้วที่เตรียมรับไว้ได้เลยคือ ตัวแทนของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องติดตามทวงถามหาตัวคนฆ่า นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ เหยื่อกระสุนสไนเปอร์ที่แยกคอกวัว เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553
เพราะก่อนหน้านี้ตัวแทนของรัฐบาลและสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ตามจี้คดีนี้หลายต่อหลายหน
ขนาดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ยังเคยบินมายืนไว้อาลัยที่แยกคอกวัวด้วยตัวเองมาแล้ว
แต่รัฐบาลไทยในช่วงก่อนหน้านี้ คือยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยตอบคำถามเขาได้
และยังเป็นรัฐบาลในช่วงเกิดเหตุด้วย
ตอบไม่ได้และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ
สิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างอย่างเดียวมาโดยตลอดก็คือ นักรบชุดดำ
ถ้านับจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 อันเป็นวันสุดท้ายของการนองเลือด จากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีอำนาจอยู่อีก 1 ปีเต็มๆ
หากนักรบชุดดำที่รัฐบาลอ้างอิงนั้นมีจริง
คงต้องใช้สรรพกำลังทั้งหมด ใช้อำนาจทุกชนิด ทั้งตำรวจ ทหาร ดีเอสไอ สมช. สขช. แม้แต่กองกำลังเทศกิจของ กทม.ก็อาจต้องเอาออกมาใช้
ต้องพลิกแผ่นดินตามหาตัวนักรบชุดดำมาได้แล้ว
เพราะนักรบชุดดำนั้น หากมีจริง ถือเป็นตัวการสร้างเรื่องใส่ร้ายรัฐบาลอย่างรุนแรงที่สุด
มีแต่ต้องเอาตัวมาให้ได้ เอามายืนยันให้ได้ว่ารัฐบาลไม่เคยทำให้ประชาชนตาย
แต่นี่มีแต่การอ้างลอยๆ เราไม่เคยเห็นการทุ่มเทของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการไล่ล่านักรบชุดดำมาเลย
มองอย่างนี้แล้วใครจะยังเชื่อว่ามีนักรบชุดดำอยู่อีกหรือ
ท่าทีของตัวแทนรัฐบาลหลายๆ ชาติ ที่เขาเห็นเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วทั่วโลก ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่มีใครเชื่อ
ต่อไปนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯด้านความมั่นคง ซึ่งทูต 2 ชาติยังเข้าไปหา ด้วยหวังว่าจะสืบสวนคลี่คลายคดีนี้ให้ได้เสียที
มีสำนวนไทยโบราณที่ว่า "ไล่จับเงาตัวเอง" เปรียบเหมือนทำเรื่องที่ไม่มีทางสำเร็จ ไม่มีทางเป็นไปได้
แต่บังเอิญรัฐบาลเพื่อไทย มีฝ่ายค้านประกาศตัวเป็นรัฐบาลเงา ตั้ง ครม.เงา มีตำแหน่งแห่งหนเป็นเรื่องเป็นราว
หรือว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นรัฐบาลเพื่อไทยไล่จับบางคนที่เป็นเงา
เงาที่มีมือเปื้อนเลือด
อาจเป็นการ "ไล่จับเงา" ที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกก็ได้
+++++
' ด่า ' รัฐบาล
โดย ปราปต์ บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.
รัฐบาลเพื่อไทยของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง
คือ "ด่า" ได้
เพราะมีที่มาจากการเลือกตั้ง
"ประชาชน" ที่ทั้ง "เลือก" และ "ไม่เลือก" เพื่อไทย จึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ได้เต็มที่
ผิดกับช่วงตั้งไข่ของ "รัฐบาลสุรยุทธ์" หรือ "รัฐบาลอภิสิทธิ์"
ที่ "ด่า" ได้ไม่เต็มปากเต็มคำมากนัก กระทั่งไม่กล้า "ด่า"
เพราะมิได้มีที่มาจาก "ประชาชน"
เราสามารถ "ด่า" รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
"ด่า" เรื่องอะไร นโยบายอะไร
ก็ "ด่า" ได้ทั้งนั้น
เนื่องจากตามหลักการ รัฐบาลชุดนี้มีภาระรับผิดชอบสูงสุดต่อประชาชนอยู่แล้ว
แต่จะ "ด่า" อย่างไรนี่สิ ที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคิดจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก
ที่คงเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาล
จากจุดยืนว่า นโยบายดังกล่าวจะเพิ่มปัญหาการจราจรติดขัดและสร้างปัญหามลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อม (ตามประสาคนรักษ์โลก)
ตรรกะการ "ด่า" จะไม่บิดเบี้ยวเลย หาก "ผู้ด่า" ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวอยู่ในครอบครอง
แต่ถ้าตัวเองมีรถขับ จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรและมลพิษ
แล้วไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นที่อยากจะมีรถส่วนตัวใช้บ้าง (เพื่อรองรับภาระในชีวิตของเขาที่อาจเหมือนหรือต่างกับเรา)
และด่ารัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย
"ผู้ด่า" ก็เหมือนกำลัง "ด่า" ตัวเองอยู่
หรือเรื่องประเด็นการโยกย้ายข้าราชการล็อตใหญ่
ส่วนหนึ่งคงมิอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับหน้าที่ในช่วงฤดูกาลการเกษียณอายุพอดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับการโยก "คนของตัวเอง" มารับตำแหน่งสำคัญ
แล้วย้าย "คน (ของคน) อื่น" พ้นจากตำแหน่งหลักนั้น
เราคงนำกรอบคิดเรื่อง "ความเป็นธรรม" มาด่ารัฐบาลในประเด็นดังกล่าวได้ลำบากเสียหน่อย
เนื่องจากรัฐบาลชุดไหนๆ ต่างก็ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด
ดังนั้น "ความเป็นธรรม" จึงอาจไม่มีความหมายมากเท่ากับ "ประสิทธิภาพในการทำงาน" เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อ "ประชาชน"
ขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ว่า "ฝ่ายการเมือง" เข้าแทรกแซง "ระบบราชการ" ก็ดูมีปัญหาอยู่มิใช่น้อย
เพราะรัฐไทยปัจจุบันเป็น "รัฐประชาธิปไตย" ไม่ใช่ "รัฐราชการ"
ผู้ทำหน้าที่หลักในการปกครองประเทศ จึงต้องเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงสามารถโยกย้ายปรับเปลี่ยน "ข้าราชการ"
ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะถูกรัฐบาลใช้สอยไปในการบริหารจัดการประเทศได้
หากทุกอย่างดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ "ประชาชน"
ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์และข้าราชการในเครือข่ายจะต้องพิสูจน์ฝีมือกันต่อไป
ส่วนเรา ในฐานะ "ประชาชน" เจ้าของประเทศ ก็คงต้องตาม "ดู" ตาม "ด่า" ตามตรวจสอบกันอย่างไม่ลดละ
+ + + +
จุดยืนเพื่อไทย-นปช. จุดยืนอุกฤษ มงคลนาวิน โดย จำลอง ดอกปิก
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316252791&grpid=&catid=02&subcatid=0207
วัดกระแสรัฐบาลตั้ง"กก.นิติธรรม" คอลัมน์ รายงานพิเศษ
www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakUyTURrMU5BPT0=§ionid=
ปชป.หยัน 'ทักษิณ-นพดล' สมควรที่ได้เหรียญกัมพูชา
http://www.thairath.co.th/content/pol/202553
ยิ่งลักษณ์ พร้อมสู้เพื่อกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
http://www.thairath.co.th/content/pol/202275
"นพดล" ไล่ ปชป.หุบปากหยุดใส่ร้าย "แม้ว" เพิ่มวงเงินท้าเป็น 100 ล.หาหลักฐานมีผลประโยชน์ด้านน้ำมัน
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316331090&grpid=00&catid=&subcatid=
ครบ 5 ปีรัฐประหาร เอแบคโพลล์ ชี้คนไทย 93.2%หัวใจประชาธิปไตย แก้ปัญหาน้ำท่วม"ปู"คะแนนเท่ากับ"มาร์ค"
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316312281&grpid=01&catid=&subcatid=
"ยิ่งลักษณ์"ควงรองนายกฯโชว์กินข้าวแกงโรงอาหารทำเนียบฯ โต้หม่ำมื้อละสองแสนบาท
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316419653&grpid=00&catid=01&subcatid=0100
'สวย' สนาม - 'หมู' สนาม โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316414157&grpid=&catid=02&subcatid=0207
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย