.
จะรีบไปไหน
โดย ฐากูร บุนปาน คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
ใครที่เป็นแฟนหนังการ์ตูนน่ารักๆ และมีประโยชน์อย่างอิ๊กคิวซัง ก็ต้องจำวรรคทองติดปากของเณรน้อยเจ้าปัญญารายนี้ได้ 2 ประโยค
คือ "ใช้หมองหน่อย" กับ "จะรีบไปไหน"
หวังว่าคนส่วนใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้จะเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องที่ว่า และจำวรรคทองทั้งสองนี้ได้
เผื่อจะตั้งสติ ตั้งลำ ไม่โอนเอนโงนเงนไปมาเวลาที่ปัญหาโถมใส่เข้ามาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพราะลำพังทั้งงานหลัก งานเฉพาะหน้าก็ประเดประดังกันเข้ามาให้ทำกันแทบไม่หวาดไม่ไหว
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างจัดการกับค่าครองชีพ รับจำนำข้าว ขึ้นค่าแรง-เงินเดือน ไปจนถึงป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
กระทั่งเรื่องใหญ่ค้างคาอย่างการสะสางคดี 91 ศพ
นี่ยังไม่นับเรื่องเฉพาะหน้าล่าสุดที่ทะลักเข้าใส่ทุกวัน อย่างทุกข์ของประชาชนจากน้ำท่วม
แต่สงสัยบ้างไหม ว่าทำไมงานหรือการจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ถึงมีพื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในจอโทรทัศน์น้อยกว่าประเด็นการเมืองทั้งหลาย
อย่าเผลอโทษว่าสื่อจัดให้
ไม่มีไฟที่ไหนจะมีควัน
ตั้งแต่เรื่องโยกย้ายข้าราชการ ที่ควรจะเป็นประเด็นด้านบริหาร ก็ยังพูดกันไปมาจนกระทั่งกลายเป็นปัญหาการเมืองจนได้
และโดยเฉพาะเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดตายของรัฐบาลในเวลาเดียวกัน
เดี๋ยวก็มีเรื่องฎีกา เดี๋ยวก็มีเรื่องรื้อคดี ยังไม่นับเรื่องบินโฉบเฉี่ยวไปมาที่นู่นที่นี่ อาจจะพบหรือไม่พบกับคนนั้นคนนี้
อุตส่าห์ชูจุดขายและประกาศจุดแข็งเรื่องการบริหาร ยังไม่ทันทำผลงานพิสูจน์อย่างที่หาเสียงไว้
แต่มาสนุกสนานอยู่กับประเด็นเรื่องการเมือง ที่เป็นความถนัดของฝ่ายที่เขาไม่ชอบหน้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ไม่รู้ว่าจงใจจะให้เป็นแบบนี้เพราะคิดผลได้เสียออกมาล่วงหน้าแล้วว่าคุ้ม
หรืออ่อนหัด เพราะจัดทัพยังไม่เสร็จเสียที เนื่องจากหลายๆ รัฐมนตรีวิญญาณยังไม่เข้าที่ ต่างคนต่างเล่นตามถนัด กระจุยกระจายไปคนละทิศละทาง
จนกระทั่งจัดลำดับไม่ถูกว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง
พอรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเซซัง ตั้งตัวไม่ติด มนุษย์พันธุ์ที่จมูกไวที่สุดอย่างข้าราชการมีหรือจะไม่รู้สึก
รัฐบาลไหนที่ราชการไม่เต็มร้อยด้วย-เหนื่อยทั้งนั้น
อยากจะมีมือไม้ทำงานถวายหัวให้ ไม่ใช่ได้มาด้วยบังคับหรืออามิส
แค่ทำให้เขาเชื่อว่า 4 ปีอยู่ครบ ก็แทบจะวิ่งมาล้อมหน้าล้อมหลังแล้ว
แต่จะทำอย่างนี้ได้ สงสัยต้องไปเชิญอิ๊กคิวมาเข้าทรง นั่งสมาธิตัวตรง เอานิ้ววนๆ ตรงขมับ
แล้วก็ท่องคาถา
ใช้หมองหน่อย-ใช้หมองหน่อย
เขาให้เป็นรัฐบาลตั้ง 4 ปี ผ่าไปส่งลูกเข้าเท้าฝ่ายตรงข้ามที่ง้างรอ และประกาศเอาไว้ว่า 6 เดือนก็งอมหลุดจากขั้ว
จะรีบไปไหน-จะรีบไปไหน
++
จะรีบไปไหน
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:45:00 น.
ไปๆ มาๆ ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดลำดับภารกิจอย่างไร?
สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์เคยตอกย้ำเมื่อสมัยหาเสียงเลือกตั้ง และรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหมาดๆ คือ แก้ไขปากท้องชาวบ้าน
นั่งฟังนักข่าวเฝ้าสัมภาษณ์คุณยิ่งลักษณ์กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยว คุณยิ่งลักษณ์ก็ตอกย้ำเหมือนเดิม
แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน!
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา กลับไม่เป็นไปตามที่คุณยิ่งลักษณ์พูด
ทุกวันนี้เห็นแต่คุณยิ่งลักษณ์ไล่ตามน้ำ
ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน รับทูตานุทูต และเดินทางไปต่างประเทศ
ส่วนข่าวคราวแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน...เงียบหาย
หลังจากที่รัฐบาลประกาศลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เสร็จแล้วทุกอย่างก็เงียบหาย
ข่าวคราวที่ปรากฏกลับกลายเป็นเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย และการเสนอนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เนื้องานการแต่งตั้งโยกย้ายก็มีเครือญาติกับเครือข่ายมาเกี่ยวโยง
เลยต้องรีบๆ ออกมาทวงถามรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์แต่เนิ่นๆ ว่า ไหนบอกว่าเริ่มต้นทำงานที่การแก้ไขปากท้องให้ชาวบ้าน
ทำไปทำมา ทำไมกลายเป็นเรื่องพรรคพวกเพื่อนพ้องกันทั้งนั้น
คุณยิ่งลักษณ์คงต้องกลับไปคุยกับพี่ชาย แล้วก็กลับมาคุยกับรองนายกรัฐมนตรีแต่ละคนเพื่อตั้งลำกันใหม่
เข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มีพัฒนาการจากพรรคพลังประชาชน หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบ
ตอนสมัยที่คุณทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ ตั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
คุณทักษิณรับหน้าที่ทั้งบริหารการเมืองและบริหารราชการแผ่นดิน
พอคุณทักษิณติดกับตัวเอง เปิดช่องโหว่ แล้วเจอการเมืองเล่นงานหนัก และจบท้ายที่การปฏิวัติรัฐประหาร
พรรคไทยรักไทยถูกยุบ มือบริหารของพรรคถูกสั่งห้ามเล่นการเมือง
แต่ความศรัทธาของประชาชนยังอยู่ ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง คุณสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
คุณสมัครเก่งฉกาจทางด้านการเมือง ประเภทยืนซดกันในสภาเป็นวันๆ ก็ทำได้
แต่งานบริหารก็ติดขัด ขาดมือบริหาร
พอคุณสมัครต้องพ้นจากการเมือง คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลพรรคพลังประชาชนขาดทั้งมือบริหารการเมืองขาดทั้งมือบริหารราชการแผ่นดิน
แล้วพรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบ!
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม การแต่งตั้งคณะรัฐบาลมีเวลาเตรียมการ
คุณยิ่งลักษณ์ถูกวางตัวเป็นแม่ย่านางให้เคารพบูชา เป็นผู้ประสานงานระหว่างพี่ชายในต่างประเทศ
ส่วนงานบริหารงานการเมือง งานบริหารงานแผ่นดิน แบ่งๆ กันไปตามหน้าที่ของรองนายกรัฐมนตรี
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รับไปเต็มๆ เรื่องการเมือง
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ดูด้านงานบริหาร
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รับเรื่องเศรษฐกิจไป
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดูแลความมั่นคง
ดูโครงสร้างการจัดกำลัง มองขุมพลังทางการเมืองแล้วก็เข้าท่า ถือว่ารัดกุมพอสมควร
แต่พอเริ่มต้นปฏิบัติจริง ปรากฏว่าคุณเฉลิมฉายเดี่ยวลุยงานเต็มกำลัง
แถลงนโยบายต่อรัฐสภา คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องตอบคำถาม เพราะคุณเฉลิมฉายเดี่ยวลุยแทน
งานนอกสภา คุณเฉลิมแอ่นอกรับงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินเครื่องเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เปลี่ยนตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเสนอหนทางรื้อฟื้นคดีของคุณทักษิณ เทียบเคียงกับคดีนั้นคดีนี้
บทบาทคุณเฉลิมโดดเด่น งานการเมืองเร่งจังหวะการเดินไปไกล ทิ้งห่างงานบริหารราชการแผ่นดิน และงานตามนโยบาย
กลายเป็นว่า งานแรกของรัฐบาลไม่ใช่แก้ปัญหาปากท้องประชาชน
หากแต่เป็นการแก้ไขปัญหาให้คนกันเอง
อย่างนี้ก็เข้าทางฝ่ายค้านสิครับ!
+++
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร: มนต์เสน่ห์ที่หายไป
โดย Siam Intelligence Unit (ที่มา www.siamintelligence.com/the-lost-of-yinglucks-charm/)
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554
นับถึงวันนี้ก็หนึ่งเดือนเต็มพอดี
การทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยในหนึ่งเดือนแรก คงหาวลีไหนมาบรรยายได้ไม่ดีเท่ากับ "กลับสู่ความเป็นจริง"
มหัศจรรย์ "49 วันทำได้จริง" ในช่วงหาเสียง ที่สามารถพลิกโฉมคุณยิ่งลักษณ์จาก Nobody มาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว
สิ่งที่เราเห็นในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาสู่ "การเมืองที่แท้จริง" (realpolitik) ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง หรือการแก้ปัญหายากๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างวิกฤตน้ำท่วมรอบใหม่
และการหายไปอย่างสิ้นเชิงของ "มนต์เสน่ห์" ของคุณยิ่งลักษณ์ที่สร้างขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการ "เดี่ยวไมโครโฟน" ของคุณเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และการให้สัมภาษณ์สื่อแบบหลบฉากซ้ำๆ ซากๆ ของคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น "ต้องดูภาพรวม" "ขอเวลาทำงาน" "ว่ากันไปตามผลงาน" "ให้โอกาสทุกคนเท่ากัน"
สภาพการณ์เหล่านี้กำลังจะกลายเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงคุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลเพื่อไทยโดยตรง เพราะสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ "ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย" ต้องการจะเห็น
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง วาทะเด็ดอันหนึ่งของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ลอยข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกล ก็คือ "คุณยิ่งลักษณ์เป็นโคลนนิ่งของผม"
ประโยคนี้เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยรุมถล่มปูพรมตามหน้าสื่ออย่างหนัก ด้วยวาทกรรมว่า "เลือกยิ่งลักษณ์ได้ทักษิณ"
ในทางกลับกัน มันก็ช่วยให้ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย กลุ่มที่ยังนิยมคุณทักษิณอยู่ ก็เลือกคุณยิ่งลักษณ์แบบไม่ลังเล ด้วยเหตุผลว่า "เลือกยิ่งลักษณ์ได้ (สไตล์การทำงานแบบ) ทักษิณ" นั่นเอง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนแรกกลับไม่เป็นเช่นนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงจุดอ่อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีความเป็นเอกภาพ และคุณยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ได้แสดง "ภาวะความเป็นผู้นำ" (leadership) แบบทักษิณให้เห็น
ในด้านหนึ่งเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณยิ่งลักษณ์ เพราะ "เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" ไม่ใช่ของที่จะไขว่คว้ามาได้ง่ายๆ บางคนบ่มเพาะตัวเองมาชั่วชีวิตก็ไม่อาจได้มาครอบครอง แต่คุณยิ่งลักษณ์ที่ไม่มีพื้นเพทางการเมืองเลย กลับต้องมารับภาระนี้แบบไม่คาดฝัน การเตรียมพร้อมคงไม่มากเท่ากับ "นักการเมืองอาชีพ" ที่เตรียมตัวเป็นนายกฯ มาตั้งแต่เด็ก
พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์ด้านการสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์ตามที่ถนัด เสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน ช่วยดันคุณยิ่งลักษณ์ให้เป็นนายกหญิงคนแรกของประเทศได้อย่างมหัศจรรย์ในช่วงการเลือกตั้ง ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะคนที่กาเลือกพรรคเพื่อไทย "คาดหวัง" ในตัวคุณยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมาก
แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจ เกมของอำนาจในโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย เปลี่ยนไปจากเกมหาเสียงที่พรรคเพื่อไทยเอาชนะมาได้อย่างสิ้นเชิง
คุณยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับความท้าทายโหดๆ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยุทธศาสตร์สร้างภาพ-ประชาสัมพันธ์ที่พรรคเพื่อไทยถนัด ก็ใช้ไม่ได้เลยในเกมใหม่เกมนี้
หนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราสามารถพูดได้เต็มปากว่า คุณยิ่งลักษณ์ล้มเหลวในการบริหารจัดการ "ความคาดหวัง" ของคนไทย และถ้าปล่อยทิ้งไว้ ย่อมมีแต่ผลเสีย
สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยต้องปรับกลยุทธ์โดยด่วน ก็คือ "ภาพลักษณ์และการบริหารจัดการข่าวสาร" ของรัฐบาล
ตัวคุณยิ่งลักษณ์เองต้องออกมาแสดงภาวะความเป็นผู้นำให้มากขึ้น กล้าที่จะฟันธง เป็นผู้นำให้สังคมเห็นว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาล มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงต้องตัดสินใจเช่นนี้ มีเหตุผลอะไรสนับสนุน ทำแบบนี้แล้วประเทศจะได้อะไร
การออกมาแสดงภาวะผู้นำ ไม่ได้แปลว่าต้องออกมาพูดกับสื่อทุกวัน หรือกล่าวปาฐกถาต่อที่สาธารณะบ่อยๆ แต่แปลว่าการออกมาแต่ละครั้งควรมีความหมาย จับต้องได้ และแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ
ส่วนคณะรัฐมนตรีเองก็ต้องปรับยุทธศาสตร์การออกสื่อให้ชัดเจน มีทีมงานกลางคอยแจกงาน ควบคุมภาพลักษณ์ให้ไปในโทนเดียวกัน มอบหมายภาระงานให้ทีมโฆษกของรัฐบาลมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐมนตรีบางคนมีบทเด่นแต่เพียงคนเดียว หรือรัฐมนตรีแต่ละคนต่างให้สัมภาษณ์ไปคนละทาง
คุณยิ่งลักษณ์ไม่ควรกลัวเสียงวิจารณ์จากฝ่ายตรงข้าม ในการออกมาแสดงบทบาทความเป็นผู้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ก็มีเหตุให้วิจารณ์ได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเสียความเชื่อมั่น ทำลายความคาดหวังของฐานเสียงตัวเองที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย เมื่อนั้น รัฐบาลเพื่อไทยก็คงจะอยู่ต่อไปลำบาก
++++
หมากตาสุดท้าย
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
มี 2 วรรคทองของ "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" เจ้าสัวสหพัฒน์ ที่ผมชอบมาก
วรรคทองแรก
"ชีวิตของคนเราจะสำเร็จหรือไม่ต้องดูหมากตาสุดท้าย"
คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า "บุณยสิทธิ์" ประสบความสำเร็จแล้วเพราะมีธุรกิจมากมาย อาณาจักรสหพัฒน์ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
แต่ "บุณยสิทธิ์" คิดว่าแม้เขาจะอายุ 73 ปีแล้ว แต่เขาถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ
"จนกว่าจะวางหมากตาสุดท้าย"
เขายกตัวอย่างนักธุรกิจบางคนรุ่งเรืองและร่ำรวยตอนอายุ 40 ปี แต่ตอนตายธุรกิจกลับไม่เหลือเลย
แบบนี้ถือว่าวาง "หมากตาสุดท้าย" ผิดพลาด
ครับ ไม่ใช่เพียงแต่ "นักธุรกิจ" เท่านั้น
"คนดี" ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
สะสม "ความดี" และได้รับแต่คำชื่นชมมาชั่วชีวิต
แต่วาง "หมาก" ผิดไปตัวเดียว
ระเนระนาดเลยครับ
จนถึงวันนี้ยังงงๆ และก่งก๊งอยู่เลย
ไม่รู้ว่าก่อนถึง "หมากตาสุดท้าย" เขาจะแก้เกมได้หรือไม่
เพราะ "หมากตาสุดท้าย" คือ "ภาพจำ" ของคนเรา
จะให้คนรุ่นหลัง "จำ" ว่าเราเป็นอย่างไร
"หมากตาสุดท้าย" สำคัญที่สุด
อีกประโยคหนึ่งของ "บุณยสิทธิ์"
เมื่อมีคนถามว่าทำไมเขาจึงใช้ชีวิตอย่างสมถะมาก รวมทั้งบริษัทในเครือสหพัฒน์ก็ไม่หวือหวา สำนักงานก็เรียบง่าย
"บุณยสิทธิ์" ตอบด้วยการถามกลับว่า "คุณเคยเห็นคนปีนเขาไหม"
ตอนที่ขึ้นเขา ทุกคนต้องก้มตัวเพื่อรักษาสมดุล
แต่ตอนลงเขา ทุกคนจะยืดตัว
"ถ้าคนไหนยืดมาก แสดงว่าเขากำลังลงจากยอดเขาแล้ว"
อ่านวรรคทองนี้แล้วนึกถึง "นักการเมือง"
ลำพังแค่นักการเมืองฝ่ายค้านที่เปรียบเหมือนกับคนที่กำลังจากยอดเขา
การยืดตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่า "ฉันยังแน่" ไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะวิญญาณ "รัฐบาล" ยังไม่ออกจากร่าง
การยืดตัวจึงเป็นท่าทีปกติของคนที่เพิ่งเดินลงจากยอดเขาแห่ง "อำนาจ"
แต่ที่น่าแปลกก็คือฝ่ายรัฐบาล
ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคน
เพิ่งขึ้นสู่ "อำนาจ" แท้ๆ
ภาพที่ทุกคนเห็นคือการเดินขึ้นยอดเขา
แต่สังเกตไหมครับว่าการวางตัวและการให้สัมภาษณ์ของเขาเหมือนกับคนที่เดินลงจากยอดเขา
ทะนงตนและวางอำนาจ
ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
คำสัมภาษณ์แต่ละประโยคเหมือนกับวิญญาน "ฝ่ายค้าน" ยังไม่ออกจากร่าง
กลายเป็น "ฟาร์มเพาะศัตรู" โดยไม่จำเป็น
ถ้ารัฐมนตรีแต่ละคนคือ "หมาก" ของรัฐบาล
การวางหมากผิด 1 ตัว
บางทีอาจนำไปสู่การแพ้ทั้งกระดานก็ได้
+ + + +
ทำอะไรอยู่ โดย สรกล อดุลยานนท์ วันเสาร์ที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315043279&grpid=&catid=02&subcatid=0207
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย