http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-28

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (1)(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


งานวิจัยของ อาจารย์อภิชาติ สถิตนิรามัย ชี้ให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่คนจน เพราะ รายได้เฉลี่ยของพวกเขานั้น ห่างไกลจากเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ขีดไว้ให้ไกลโขทีเดียว และโดยอาชีพแล้ว อาจกล่าวได้ว่าจำนวนมากของพวกเขาเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อย" แม้แต่ทำเกษตร (เช่นปลูกบัว) ก็เป็นการทำเกษตรแบบ "ผู้ประกอบการ" ที่นำพืชผลของตนเข้าสู่ตลาดโดยตรง

หลังจากงานศึกษาของอาจารย์อภิชาติแล้ว มีโครงการศึกษาคนเสื้อแดงของนักวิชาการเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ใช่การศึกษาเฉพาะด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากมีประเด็นครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ผมได้อาศัยข้อมูลความเห็นของงานศึกษาเหล่านี้ บวกกับที่ผมได้ประสบมาเองเพื่อคุยกับท่านผู้อ่านในที่นี้

ผมเชื่อว่า หากมีการศึกษาคนเสื้อเหลืองทางวิชาการให้มากขึ้น ก็จะได้ข้อมูลอีกหลายอย่างที่คาดไม่ถึง และต้องมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้อย่างไม่ต้องสงสัย

งานศึกษาของหลายท่าน ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงนั้นข้ามชนชั้น หมาย ความว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคนจนร่วมอยู่ในขบวนการคนเสื้อแดง และมีคนรวยขนาดมั่งคั่งผสมปนเปอยู่ในขบวนการจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

การจัดองค์กรของคนเสื้อแดงนั้นมีประสิทธิภาพมาก แต่ประสิทธิภาพในโลกนี้ไม่เคยอยู่ลอยๆ ย่อมหมายถึงทำอะไรบางอย่างได้ดี ไม่ใช่ทำได้ดีทุกอย่าง และประสิทธิภาพที่คนเสื้อแดงทำได้ดีคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล, การชุมนุมทางการเมือง, และท้ายสุดคือ การจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง ส่วนการประกบติดตามตรวจสอบและกำกับรัฐบาลที่ตัวเลือกมากับมือในระยะยาว จะทำได้หรือไม่ ยังน่าสงสัยอยู่

สิ่งที่ผมต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ประสิทธิภาพทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงนั้นอาจมีจำกัด ไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปใช้ในการเป็นประชาชนของระบอบประชาธิปไตยได้ทุกเรื่อง นี่เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนนะครับ ต้องจับตาดูกันต่อไป เมื่อเปรียบเทียบกับคนเสื้อเหลือง ศักยภาพในด้านถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลสมัยทักษิณเสื่อมลง จนกลายเป็นอันธพาลของประชาธิปไตยในเวลาอันรวดเร็ว ขบวนการประชาชนที่ไหนๆ ในโลกก็ล้วนแต่งอกได้ทั้งนั้น จะงอกไปทางไหนก็ได้ทั้งนั้นด้วย

เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถูกหลอกให้เชื่อว่า ขบวนการของคนเสื้อแดงสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ก็เพราะการจัดตั้งก็ตามทุนทรัพย์ก็ตาม เป้าหมายในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ตาม ล้วนมาจากนักการเมือง ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศ

ข้อนี้จะจริงเท็จอย่างไรขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังพูดถึงระดับแกนนำของขบวนการ หรือพูดถึงระดับมวลชนที่ร่วมเคลื่อนไหวงานศึกษาทุกชิ้นต่างชี้ให้เห็นว่า ในระดับมวลชนฐานราก การจัดองค์กรกระทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดเฉพาะกิจเมื่อจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แม้เป็นการจัดองค์กรอย่างหลวมๆ แต่ประสิทธิภาพของขบวนการคนเสื้อแดงมาจากตรงนี้ ไม่ใช่การอุดหนุนชี้นำของนักการเมืองแต่อย่างใด

และในส่วนนี้แหละที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ


ในระดับล่างสุด และในชุมชนที่ความสัมพันธ์ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับชนบท การจัดองค์กรเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนในชุมชน แหล่งกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็น อาจเป็นร้านชำ, บ้านเรือนของผู้นำตามธรรมชาติ, หรือสถานประกอบการของกลุ่มแม่บ้าน (เป็นต้น) ส่วนในชุมชนที่มีลักษณะเป็นเมืองมากขึ้น สื่อสมัยใหม่ เช่น วิทยุชุมชน, นิตยสารของคนเสื้อแดง, และการนัดพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ย่อมมีความสำคัญกว่า

คนเสื้อแดงที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองคนหนึ่ง ถึงกับกล่าวว่า เขาแทบไม่รู้จักใครที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงเป็นส่วนตัวเลย ถึงตัวเขาเองจะ "ตาสว่าง" แล้ว แต่ก็ต้องระวังไม่พูดถึงความสว่างที่เขาได้ประจักษ์กับใคร เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือเป็นสายลอบเข้ามาปะปน ซึ่งเขาเชื่อว่าต้องมีแน่

เรื่อง "ตาสว่าง" นี้น่าสนใจนะครับ นักการเมือง (ทุกพรรค) และข้าราชการระดับสูง ดูเหมือนจะเชื่อว่า อาการ "ตาสว่าง" เกิดขึ้นจาก มีใครบนเวทีประท้วง ส่องแสงสว่างลงมาสู่ผู้ร่วมชุมนุม จึงเกิดอาการนี้กันขึ้นอย่างแพร่หลาย ฉะนั้นจะหยุดอาการนี้ได้ ก็โดยจับกุมคุมขังคนที่ส่องแสงสว่างบนเวที (ทุกประเภท) แสงสว่างก็จะไม่สาดส่องมาให้ใครได้ "ตาสว่าง" กันอีก

แต่ผมได้คุยกับคนเสื้อแดงที่ "ตาสว่าง" หลายคน ซึ่งไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับเขาเลย เพราะไม่สามารถสละเวลาหาเลี้ยงชีพไปร่วมชุมนุมได้ ต่างให้การตรงกันว่า อาการ "ตาสว่าง" ของเขานั้น เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ส่วนหนึ่งก็ได้ข้อมูล (ซึ่งที่จริงคือข้อสรุป) จากคนเสื้อแดงด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากข้อมูลที่เขาได้รับผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทีวีในกำกับของรัฐนั่นแหละ ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า อาการ "ตาสว่าง" นี้เกิดขึ้นจากคำพูดหรือข้อเขียนของใคร

ผมสรุป (ซึ่งแปลว่าเดา) เอาเองว่า อาการ "ตาสว่าง" ของคนไทยจำนวนมากในเวลานี้ เกิดขึ้นจากการขยับจุดยืน ก็ข้อมูลเก่า วลีเก่า, ความเปรียบเก่า, และการรณรงค์แบบเก่านั่นแหละครับ เพียงแต่ผู้ชมไม่ได้ยืนชมจากจุดยืนเดิมแล้ว ภาพที่ตาเห็นจึงไม่เหมือนเก่าอีกต่อไป และไม่เหมือนกับเจตนารมณ์ที่ผู้รณรงค์อยากให้เห็นด้วย เกิดอาการที่เรียกว่า "ตาสว่าง" ขึ้น

หากข้อสรุป (ซึ่งแปลว่าเดา) ของผมเป็นจริง ก็ให้น่าสงสัยว่า การจับกุมคุมขังคนส่องแสงก็ตามการรณรงค์ด้วยวิธีเดิมๆ ก็ตาม จะดับแสงลงได้อย่างไร คนที่ถูกจับกุมคุมขังเคยถูกมองว่าเป็น คนน่ารังเกียจไม่น่าคบ

บัดนี้ อาการ "ตาสว่าง" กลับทำให้เห็นเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี

ยิ่งจับกุมคุมขังมาก ก็ยิ่ง "ตาสว่าง" มากขึ้น เพราะไม่ได้มองการจับกุมคุมขังจากจุดยืนอันเก่าแล้วนี่ครับ

เช่นเดียวกับการปั๊มการรณรงค์ ยิ่งปั๊มมากก็อาจยิ่ง "ตาสว่าง" เพราะไม่ได้มองการรณรงค์จากจุดยืนอันเก่าแล้วนี่ครับ



ชุมชนคนเสื้อแดงเหล่านี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกับแกนนำระดับจังหวัดมากน้อยเพียงไร น่าประหลาดที่ว่า ไม่มีความสัมพันธ์เชิงองค์กรระหว่างกัน แกนนำระดับจังหวัดมักมีหรือเข้าถึงสื่อสมัยใหม่โดยเฉพาะวิทยุชุมชน, นิตยสารของตัวเอง หรือสื่อไซเบอร์ สัญญาณการเคลื่อนไหวมักมาจากวิทยุชุมชน แต่แกนนำระดับจังหวัดก็ไม่ได้สั่งการอะไร ลงมาถึงชุมชนคนเสื้อแดงระดับล่าง ชุมชนหรือบุคคลต้องตัดสินใจเองว่าจะร่วมการเคลื่อนไหวหรือไม่

ในจังหวัดภาคเหนือแห่งหนึ่ง วิทยุเสื้อแดงในท้องถิ่นจะส่งกระจายเสียงเพลง "มีงานเข้า" เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีเรื่องต้องขอแรงกับคนเสื้อแดงอีกแล้ว ใครที่คิดว่าตัวจะช่วยอะไรได้ก็ต่างพากันไปช่วย เช่นบางคนสั่งข้าวมันไก่หลายร้อยห่อขนไปส่งให้ที่สถานีวิทยุ บางคนขนน้ำ บางคนแวะไปบริจาคเงิน และอีกจำนวนหนึ่งสวมเสื้อแดงไปร่วมชุมนุม

เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดงขึ้น ในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

การจัดองค์กรเป็นไปอย่างหลวมมากๆ ในระดับชุมชนก็หลวม ในระดับจังหวัดก็หลวม และในระดับชาติก็คงจะหลวมเหมือนกัน ทั้งนี้ ผมหมายถึงในบรรดาเหล่ามวลชนคนเสื้อแดงนะครับ ส่วนในระดับแกนนำจะเป็นอย่างไรอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะระหว่างแกนนำส่วนกลาง กับแกนนำระดับจังหวัด แต่ผมก็ควรย้ำไว้ด้วยว่า แม้ในระหว่างแกนนำส่วนกลางและส่วนจังหวัด ความสัมพันธ์เชื่อมโยงก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะองค์กร (ชัดเจนนัก) อีกทั้งไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบสายบังคับบัญชา แต่จะมีการแบ่งทรัพยากรจากส่วนกลางลงมาช่วยงานของแกนนำระดับจังหวัดหรือไม่ ผมไม่ทราบ

อันที่จริงเรื่องของ financing หรือการอุดหนุนด้านการเงินของแกนนำระดับจังหวัด ก็เป็นเรื่องน่าศึกษา (แม้ทำได้ยาก) แต่ผมสงสัยว่า มีรูปแบบในแต่ละจังหวัดต่างกัน

โดยสรุป ขบวนการคนเสื้อแดงมีการจัดองค์กรแบบแนวนอน ค่อนข้างหลวม ยิ่งลงมาถึงระดับล่างๆ ยิ่งหลวมมากขึ้น

ความหลวมนี้เป็นทั้งพลังและความอ่อนแอของขบวนการคนเสื้อแดง เป็นพลังก็เพราะรวมคนได้มาก เพราะไม่มีข้อผูกมัดอะไรมากนัก ไม่ใช่ไม่ผูกมัดบุคคลอย่างเดียวนะครับ แต่ไม่ผูกมัดรูปแบบการเคลื่อนไหว, ไม่ผูกมัดประเด็น, ไม่ผูกมัดเป้าหมายของการเคลื่อนไหว, อาจปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไปตามสถานการณ์ได้คล่อง

หนึ่งในพลังที่ขบวนการคนเสื้อแดงแสดงออกคือมิติทางวัฒนธรรม ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาชนที่ได้สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ไม่น้อยไปกว่าขบวนการนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 2510 เพลง, บทกวี, การปรับวัฒนธรรมพื้นบ้านมาใช้ในบริบทใหม่, และศัพท์แสงสำนวนในภาษา ถูกประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจำนวนมาก

ความหลวมและไม่ผูกมัดเช่นนี้ ทำให้พรรคการเมือง, นักการเมือง, หรือสถาบันทางการเมือง จะนำพลังของขบวนการคนเสื้อแดงไปหาประโยชน์ทางการเมืองได้ยาก เพราะจะใช้ประโยชน์ทางการเมืองได้ องค์กรเหล่านั้นย่อมต้องการความผูกมัดในระดับหนึ่ง เช่นนโยบาย 300 บาท, แจกแท็บเล็ต, รับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด, ฯลฯ เป็นนโยบายการเมืองที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่การจัดองค์กรของขบวนการคนเสื้อแดงไม่อยู่ในลักษณะที่จะสนับสนุนอะไรที่ผูกมัดขนาดนี้ได้

ฉะนั้น นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่คิดว่า ตัวจะได้ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นฐานเสียงตลอดไป ก็ควรคิดใหม่ให้ดี ถึงสามารถรักษาขบวนการไว้ได้ส่วนหนึ่ง ก็อาจเป็นส่วนที่ไม่เป็นพลังอย่างเดิมอีกแล้วก็ได้

ผมจะพูดถึงความหลวมด้านการจัดองค์กรซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของขบวนการ ในครั้งหน้า



++

ขบวนการคนเสื้อแดงกับสังคม-การเมืองไทย (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ในทางตรงกันข้าม ความหลวมก็ทำให้เกิดความอ่อนแอด้วยเช่นกัน

ที่เห็นได้ชัดๆ ก็เช่น เมื่อไม่สามารถผูกมัดกับอะไรที่เป็นรายละเอียดได้มากกว่าหลักการ คนเสื้อแดงจึงหาพันธมิตรเพิ่มได้ยาก เช่นหากชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของคุณทักษิณ นโยบายนี้ถูกบ่อนเซาะทำลายลงนับตั้งแต่รัฐบาลสุรยุทธ์จนถึงประชาธิปัตย์ แต่ขบวนการคนเสื้อแดงไม่เคยสนใจที่จะลุกขึ้นมาขัดขวาง และบีบบังคับให้พัฒนาประสิทธิภาพของหลักสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้คนอีกจำนวนมากหันมาสนับสนุนขบวนการ รวมทั้งอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางในเมืองด้วย

ดังนั้น ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของประชาชนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเหมืองโปแตซ, สมัชชาคนจน, ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, แรงงาน, ชาวนาไร้ที่ดิน, ฯลฯ

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ระดับแกนนำเคยคิดถึงเรื่องนี้หรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าแกนนำเห็นควรจะเข้าไปเชื่อมต่อเพื่อสร้างพลังของขบวนการคนเสื้อแดงให้เพิ่มขึ้นไปอีก ในทางปฏิบัติก็คงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย เพราะการจัดองค์กรที่หลวมขนาดนี้ จึงยากที่จะผลักดันอะไรที่ "กระชับ" ได้ขนาดนั้น

เช่นผมไม่รู้ว่า ในระดับแกนนำในภาคอีสานเหนือ มีใครบ้างที่เคยสนับสนุนให้ทำเหมืองโปแตซที่อุดร ฉะนั้นขืนสุ่มสี่สุ่มห้าไปเชื่อมต่อกับขบวนการต่อต้าน ก็อาจทำให้เกิดความแตกแยกในระดับแกนนำได้

เสื้อแดงหลายคนที่ผมได้พูดคุยด้วย จึงบอกว่า เมื่อไรที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริง (ตามความเข้าใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน) เขาก็พร้อมจะกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป (คือเลิกสวมเสื้อแดง)

ที่ผมพูดนี้ หมายถึงขบวนการคนเสื้อแดงระดับที่ข้ามท้องถิ่นนะครับ ในส่วนระดับท้องถิ่น งานศึกษาบางชิ้นก็ชี้ให้เห็นว่ามีการเชื่อมต่อหรือถึงกับผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหวที่มีในท้องถิ่นอยู่แล้วบ้างเหมือนกัน

แต่น่าสังเกตว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อแกนนำในท้องถิ่นของขบวนการคนเสื้อแดง กับแกนนำของความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอื่นๆ คือคนเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัว ไม่ใช่วิถีทางเชิงนโยบายของ "องค์กร"

ประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบในทางตรงกันข้าม คือไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อะไรกันเลยก็แยะ


ความหลวมอีกอย่างของขบวนการคนเสื้อแดงที่เห็นได้ชัดคือ ด้านอุดมการณ์

ขบวนการเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 และในระยะแรกเป้าหมายคือต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ใช่ต่อต้านกลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารเพียงอย่างเดียว แต่ต่อต้านกลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารด้วย จะว่าไปนี่ก็เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย การต่อต้านรัฐประหารนั้นไม่ใช่ของใหม่ คนชั้นกลางในเมืองก็เคยต่อต้านมาแล้ว แต่ความพยายามจะทำความเข้าใจว่า รัฐประหารไม่ได้ทำโดยทหารแต่เพียงลำพัง มีการหนุนหลัง

ฉะนั้นการต่อต้านรัฐประหารจึงรวมไปถึงการต่อต้านและพยายามกำกับกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย

จะว่าความคิดเช่นนี้ริเริ่มโดยนักวิชาการทั้งไทยและเทศในส่วนกลาง และชนชั้นกลางที่เป็นแกนนำเสื้อแดงก่อนก็ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าอยู่ที่ว่า เหตุใดมวลชนคนเสื้อแดงในระดับล่างจึงรับความคิดทางการเมืองอันสลับซับซ้อนนี้ได้อย่างรวดเร็วพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

ผมคิดว่าคำตอบก็คือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในเมืองไทยมาเป็นทศวรรษก่อนหน้า ทำให้คนไทยแม้ในระดับล่างต้องการคำอธิบายทางการเมืองที่สลับซับซ้อนขึ้นกว่าความดี-ชั่วของบุคคล

เมื่อเปรียบเทียบกับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปซึ่งเคยลุกขึ้นสู้คณะรัฐประหารมาแล้ว คนชั้นกลางมักติดอยู่กับความดี-ชั่วของบุคคลที่ยึดอำนาจ เคยต้อนรับกลุ่มรัฐประหาร แล้วต่อมาก็ต่อต้าน เพราะพบว่าบุคคลเหล่านั้นไม่น่าไว้วางใจ ทั้งนี้ เพราะคนชั้นกลางยอมรับให้การรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง เหมือนการเลือกตั้งหรือการปรับ ครม.

อาจเป็นเพราะความละเอียดซับซ้อนของคำอธิบายการรัฐประหาร ที่ทำให้การต่อต้านการรัฐประหารแตกเหล่าแตกกอออกไปมากอย่างรวดเร็ว

ในด้านหนึ่งก็ทำให้ขบวนการคนเสื้อแดงรู้เท่าทันอำนาจเถื่อนทั้งหลาย เช่นการตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงในสภาโดยไม่ต้องสนใจว่า กองทัพได้เข้ามาจัดการอยู่เบื้องหลัง อย่างที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นความชอบธรรมของตนนั้น ไร้ความหมาย

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจพัฒนาไปสู่อุดมการณ์อื่นๆ เช่น "แดงสยาม" หรือ กลุ่มติดอาวุธ หรือ รัฐประหารซ้อน ฯลฯ


โดยสรุป อุดมการณ์ของขบวนการคนเสื้อแดงคือเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" แต่นั่นแปลว่าอะไร ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่ม แค่ยุบสภาแล้วเลือกตั้งกันใหม่ พอไหม จำนวนหนึ่งก็ว่าพอ อีกจำนวนหนึ่งว่าไม่พอ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

หรือยิ่งกว่านั้น ทำให้กฎหมายและมาตรการทางกฎหมายทั้งหมดที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นเป็นหมันลงทั้งหมดด้วย และอาจต้องทำอะไรอื่นๆ อีกมาก

ในท่ามกลางอุดมการณ์ร่วมที่มีนัยยะความหมายต่างกันมากมายเช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่ขบวนการเสื้อแดงจะใช้ "ทักษิณ" เป็นสัญลักษณ์ร่วมเสมอมา ผมคิดว่า "ทักษิณ" เป็นม่านที่อำพรางความหลากหลายของอุดมการณ์ และแม้แต่ม่านนี้เองก็มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างมาก นับตั้งแต่เอา "ทักษิณ" กลับมาเป็นนายกฯ จนถึงทวงความยุติธรรมกลับมาให้ "ทักษิณ" แต่วาง"ทักษิณ" ไว้ ห่างๆ ดีกว่า

หากไม่มีม่าน "ทักษิณ" จะรวมอุดมการณ์ที่ต่างกัน (อย่างน้อยในเชิงดีกรี) อย่างมากเช่นนี้ได้อย่างไร นอกจากต้องทำการ "รุทิ้ง" (purge) แกนนำจำนวนหนึ่ง แต่ขบวนการคนเสื้อแดงไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ พลังของขบวนการมาจากอุดมการณ์ที่ไม่แข็งตัวเกินไป

ตรงกันข้ามกับศัตรูของขบวนการเสื้อแดงคิด ผมกลับคิดว่าหากทักษิณพ้นภาวะเนรเทศเมื่อไร ขบวนการเสื้อแดงน่าจะอ่อนกำลังลงอย่างมาก เพราะม่านที่อำพรางความแตกต่างทางอุดมการณ์ของขบวนการคนเสื้อแดงจะหมดไป



ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ขบวนการคนเสื้อแดงจะเป็นพลังทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรต่อไปในอนาคต

ผมอยากเดาคำตอบดังต่อไปนี้

1/ ขบวนการคนเสื้อแดงน่าจะเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งต่อไป แต่จะเป็นของพรรค พท.ไปอีกนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขซึ่งอาจเกิดขึ้นข้างหน้า ตราบเท่าที่พรรคคู่แข่งสำคัญของ พท.ยังเป็น ปชป.ตราบนั้นขบวนการคนเสื้อแดงก็จะเป็นฐานเสียงให้พรรค พท.ตลอดไป

นี่ผมพูดในฐานะผู้ลงคะแนนให้พรรค พท.นะครับ จึงรู้สึกดีถึงความอึดอัดของตัวเองว่า รู้ทั้งรู้ว่าเมื่อ พท.ชนะเลือกตั้ง รัฐบาลของ พท.ก็จะประกอบด้วยคุณเฉลิม, คุณอนุดิษฐ์, คุณยงยุทธ ฯลฯ ซึ่งพร้อมจะหาทางเกี้ยเซี้ยกับอำนาจนอกระบบ มากกว่าผลักดันไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพให้แก่ระบอบประชาธิปไตย

แต่จะให้ตัวเองอำมหิตถึงกับลงคะแนนให้ ปชป.นั้น ก็ทำไม่ลง และคงทำไม่ลงตลอดไป ตราบเท่าที่แกนนำของ ปชป.ยังเป็นคนกลุ่มนี้

แต่เงื่อนไขอาจจะเปลี่ยนหลังเดือนพฤษภาคมปีหน้า เพราะคนบ้านเลขที่ 111 จะกลับเข้าสู่วงการเมืองหลายคน พรรค พท.จึงไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป และหาก พท.มีพรรคคู่แข่งที่ไม่ใช่ ปชป. ถึงขบวนการคนเสื้อแดงยังเป็นฐานเสียงให้แก่พรรคการเมืองอยู่ ผมเดาว่าจะไม่เป็นฐานที่แข็งแกร่งเท่าปัจจุบัน เพราะคงแยกย้ายกันไปเป็นฐานเสียงให้ต่างพรรคกัน


2/ ขบวนการคนเสื้อแดงจะเป็นพลังหลักที่ใหญ่สุดในสังคมในการต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ ผมใช้คำว่า "ทุกรูปแบบ" เพราะไม่ต้องการให้หมายถึงการลากรถถังมายึดเมืองเพียงอย่างเดียว คำพิพากษาของศาลการเมืองต่างๆ ก็ตาม, คำชี้ขาดขององค์กรอิสระซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นก็ตาม, ตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม, ฯลฯ ก็อาจเป็นเหตุให้ขบวนการคนเสื้อแดงออกมาต่อต้านได้

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ หลังจากการเคลื่อนไหวสืบเนื่องกันมาหลายปี ขบวนการคนเสื้อแดงปฏิเสธ (หรืออย่างน้อยก็ระแวงสงสัย) ความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งเคยใช้ในการเมืองไทยมาอย่างได้ผลทั้งหมด แล้วสถาปนาความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นใหม่ อันเป็นความชอบธรรมที่ต้องมาจากหลักการประชาธิปไตย (ประชาชนเป็นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง)

ฉะนั้นการกระทำของอำนาจใดๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงขาดความชอบธรรมในสายตาของขบวนการคนเสื้อแดงไปโดยปริยาย

เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับฐานคิด เราจะใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, หมิ่นศาล, หมิ่นกองทัพ, หมิ่นศาสนา, หมิ่นความมั่นคง ฯลฯ เพื่อหยุดยั้งมิให้เกิดการต่อต้านหรือระแวงสงสัย "ระบอบความชอบธรรมทางการเมือง" ตามประเพณีทั้งระบอบได้หรือ?


3/ แต่ดังที่ผมได้พูดไปแล้ว พลังทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงจะนำไปใช้เพื่อหนุนทางเลือกเชิงนโยบายได้ยาก

คำว่าได้ยากก็คือทำได้เหมือนกันแต่ยาก โดยเฉพาะพรรค พท.คงทำไม่ได้เลย ยกตัวอย่างนะครับ ตามที่ท่านรองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งที่จะ "ปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ" ของประเทศ คือสร้างกำลังซื้อภายในให้สูงขึ้น และทำให้สัดส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกลดลง การขึ้นรายได้ของแรงงานเป็น 300 บาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้

จะให้พลังทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงช่วยหนุนทางเลือกเชิงนโยบายเช่นนี้ได้ พรรค พท.จะต้องทำอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง แต่พรรค พท.ไม่มีศักยภาพจะทำได้หรอกครับ (ซึ่งผมขออนุญาตไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะจะกินเนื้อที่มากเกินไป)


4/ ขบวนการคนเสื้อแดง ประกอบด้วยประชาชนจำนวนมากกว่าที่การเคลื่อนไหวในการเมืองครั้งใดในเมืองไทยเคยมีมาก่อน ผมเดาว่าอาจจะมากกว่า พท.ด้วย อย่ามองแต่ผู้มาร่วมชุมนุม กว่าจะมาเป็นจำนวนมากเท่านี้ได้ ก็เพราะพลังของคนที่ไม่ได้มาข้างหลังอีกมากกว่านั้นหลายเท่า

ฉะนั้น ไม่ว่าขบวนการคนเสื้อแดงจะลงเอยอย่างไรในอนาคต มีคนไม่รู้จะกี่ล้านคนได้เข้ามาร่วมประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และได้เรียนรู้อะไรในทางการเมืองซึ่งไม่อาจเรียนรู้ได้จากกระบวนการการศึกษาตามปกติ เกิดความสำนึกรู้ตนเองที่ทำให้เขา (และลูกหลานของเขา) ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป นี่เป็นมรดกที่ประเทศไทยไม่มีวันจะหวนคืนไปเหมือนเก่าได้อีก อย่างน้อยก็ในทางการเมือง

หากบุคคลในองค์กรทางการเมืองทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่สำเหนียกรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดี เราคงจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสียได้ยาก


.