.
น้ำผึ้งหมด! อนาคตรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 36
"ของสามสิ่งที่ต้องการที่หลบภัยมากกว่าสิ่งอื่นๆ
ได้แก่ นก ดอกไม้ป่า และนายกรัฐมนตรี "
Stanley Baldwin
อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
(ค.ศ. 1867-1947)
พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าชัยชนะดังกล่าวเป็น "ความเปราะบาง" อย่างยิ่ง
เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า กลุ่มอำนาจเก่าที่แอบอิงอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษนิยม-จารีตนิยม ถูกบังคับโดยปริยายให้ต้องยอมรับผลเช่นนั้น
แต่ถ้าลองถามกันว่า พวกเขายอมรับผลการเลือกตั้งว่าเป็นเครื่องตัดสินทางการเมืองจริงหรือไม่
ก็เห็นได้ว่าการยอมรับผลดังกล่าวเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งพวกเขาดูจะเชื่อมั่นว่า ในระยะเวลาอันใกล้ พวกเขาจะสามารถโค่นล้มรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้การโค่นล้มในอนาคตอาจจะไม่ใช่ด้วยวิธีการรัฐประหาร เพราะดูจะเป็นที่ยอมรับแม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นนำทั้งหลายว่า รัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากอดีต
กล่าวคือ แต่เดิมนั้นรัฐประหารเป็นเครื่องมือเด็ดขาดที่จะใช้หยุดการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ และขณะเดียวกันก็สามารถทำให้พวกเขาสามารถตั้งรัฐบาลที่พึงปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาสามารถใช้การยึดอำนาจเป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในยุคหลังรัฐประหารนั้น เป็นการเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารโดยตรง
ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นแบบแผนปกติที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีต กองทัพจึงกลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของการเมืองไทยไปโดยปริยายควบคู่กับสถาบันของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) นิติบัญญัติ (รัฐสภา) และตุลาการ (ศาล) ดังนั้น แม้โดยหลักการ กองทัพจะเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงของการเมืองไทย กองทัพเป็นองค์กรที่มีสถานะแบบ "รัฐซ้อนรัฐ"
ดังจะพบว่าหลายต่อหลายครั้ง การเมืองไทยถูกตัดสินโดยผู้นำทหารมากกว่าผู้นำพลเรือน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในขอบเขตทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบระหว่างประเทศจากการยุติของสงครามเย็น
รัฐมหาอำนาจหมดความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์ต่อการพึ่งพากองทัพในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ กองทัพเองก็ขาดข้ออ้างในเรื่องของ "ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์" ต่อการแทรกแซงการเมือง
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังเกิดคู่ขนานกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆ กับเกิดการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในบริบททั้งทางการเมืองและสังคม สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้ความรู้สึกที่ต้องการพึ่งกองทัพในฐานะ "ผู้ค้ำประกันความมั่นคง" ในแบบเดิมสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งไม่ได้ยอมรับต่อระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม และถือเอาอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นแรงขับเคลื่อน และประเด็นสำคัญก็คือต้องการให้เกิดการเมืองแบบการเลือกตั้ง มากกว่าจะเป็นในแบบของการแต่งตั้ง (จากคณะรัฐประหารหรือจากองค์กรพิเศษของสังคม)
แม้ในการเมืองไทย ปรากฏการณ์ชุดนี้จะถูกบิดเบือนด้วยความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 แต่ก็จะพบว่า รัฐประหารดังกล่าวกลับไม่มีพลังในการควบคุมระบบการเมืองเหมือนเช่นในอดีต
เครื่องมือของการขับเคลื่อนของบรรดาชนชั้นนำจึงใช้กลไกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยอำนาจของ "ตุลาการภิวัตน์" ตลอดรวมถึงการใช้การขับเคลื่อนผ่านสื่ออนุรักษนิยมกระแสหลัก และบรรดาองค์กรอิสระและเอ็นจีโอ โดยมีเป้าหมายโดยตรงในการสร้างรัฐบาลอนุรักษนิยม-จารีตนิยม และมุ่งทำลายรัฐบาลและขบวนการเมืองใดก็ตามที่มีทิศทางแตกต่างออกไป
และการทำลายเช่นนี้ ไล่เรียงลงมาจนถึงกระทั่งในระดับบุคคลในลักษณะของ "การไล่ล่า" ทั้งในทางสังคมและในทางการเมือง เช่น การ "ล่าแม่มด" ในเว็บไซต์ เป็นต้น
ในกระบวนการสร้างรัฐอนุรักษนิยม-จารีตนิยมหลังรัฐประหาร 2549 เช่นนี้ แม้จะต้องลงทุนอย่างมากด้วยการล้อมปราบและจับกุมผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งดำเนินนโยบายที่สะท้อนถึงการไม่ยอมรับความเป็น "นิติรัฐ" ในรูปแบบต่างๆ จนเกิดปรากฏการณ์ "สองมาตรฐาน" ในทางการเมืองและกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน กระบวนการเช่นนี้ถูกสร้างจาก "ความกลัวผี" โดยถือเอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น "ผี" พร้อมๆ กับการโหมโฆษณาของสื่อกระแสหลักในรูปแบบหลากหลาย และรวมถึงสื่อกระแสรองในกลุ่มเหล่านี้
ความเกลียดชังทักษิณจึงถูกสร้างจนกลายเป็น "วาทกรรมชุดใหญ่" ของการเมืองไทยไปโดยปริยาย
ดังนั้น ปรากฏการณ์ของชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ "ชัยชนะของทักษิณ" อันทำให้บรรดาชนชั้นนำทั้งหลายทำใจยอมรับได้ยากกับผลดังกล่าว
เพราะในด้านหนึ่งไม่ใช่พวกเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่เท่ากับส่งสัญญาณว่ามีประชาชนอีกเป็นเรือนล้านที่ยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย แม้จะผ่านการถูกยุบพรรคและการทำลายทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ แต่กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณกลับยังสามารถดำรงสภาพอยู่ได้
และสิ่งที่น่ากังวลสำหรับบรรดาชนชั้นนำก็คือ กลุ่มนี้กลับขยายตัวเติบใหญ่เป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้กลุ่มนี้ขยายตัวได้มากก็คือ การปราบปรามการชุมนุมของ "คนเสื้อแดง" ที่เกิดขึ้นทั้งในปี 2552 และ 2553
และยังถูกตอกย้ำอย่างมากจากการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม จนแม้กระทั่งวันนี้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงก็ยังถูกคุมขังอย่างไม่เป็นข่าวอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ
กลุ่มชนชั้นนำเองก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยเกิดจากการสนับสนุนหลักของขบวนการคนเสื้อแดง หากปราศจากขบวนการคนเสื้อแดงแล้ว โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้
หรือในอีกด้านหนึ่งถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงแล้ว บางทีการยึดอำนาจครั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย
จนอาจต้องสรุปว่า จริงๆ แล้วชนชั้นนำไม่ได้กลัวพรรคเพื่อไทย แต่พวกเขากลัวการเคลื่อนไหวของขบวนการคนเสื้อแดงต่างหาก
ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะต้องถูกปราบปรามอย่างหนักในปี 2553 แต่การเคลื่อนไหวก็หาได้ยุติลงแต่อย่างใด กลับขยายตัวมากขึ้น
และส่งผลให้พรรคการเมืองของปีกอนุรักษนิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
ดังนั้นในความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเตรียมตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีเวลาสำหรับ "น้ำผึ้งพระจันทร์" แต่อย่างใด แม้ในอดีตจะมีเวลาอย่างน้อยสักระยะหนึ่งให้รัฐบาลใหม่ได้ตั้งตัว หรือเป็นระยะเวลาที่ประชาชนรอให้รัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ในระยะต้น จนเป็นเสมือนเวลาของการ "ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์" ของรัฐบาล
แต่สำหรับรัฐบาลนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีเวลาดังกล่าวเหลืออยู่แต่อย่างใด
ในด้านหนึ่งรัฐบาลเองก็ถูกรบเร้าจากปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ และเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งในพื้นที่ของลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน การให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในทางจิตใจและในทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
ในขณะเดียวกันก็เป็นที่รับรู้กันว่า ในช่วงปลายรัฐบาลที่ผ่านมา ราคาสินค้าต่างๆ ได้ขยับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ตัวอย่างของ "ปัญหาหมูที่ไม่หมู" จึงเป็นเครื่องทดสอบอย่างดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของรัฐบาลปัจจุบัน
ในสภาพเช่นนี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่รอการแก้ไขของรัฐบาลอย่างเร่งด่วนก็คือ ปัญหาการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และปัญหาเศรษฐกิจและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องการการแก้ไขอย่างรวดเร็วเพื่อพิสูจน์ "ฝีมือ" ของรัฐบาลใหม่
พร้อมกันนี้ รัฐบาลก็จะต้องทำให้คำสัญญาต่างๆ ในการเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาเงินเดือนปริญญาตรีใหม่ ตลอดรวมถึงปัญหาอื่นๆ จากการสัญญาในนโยบายหาเสียง
แต่ในการต่อสู้ทางการเมือง อาการ "หมดน้ำผึ้งพระจันทร์" ระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านก็ปรากฏให้เห็นชัดเจน จนถึงขนาดว่าพรรคประชาธิปัตย์เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทยในการแถลงนโยบายในรัฐสภา
หรือการเปิดตัวการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เปลี่ยนเป็น "เสื้อหลากสี" ก็ปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยอาศัยเวทีในสื่อกระแสหลักกับกรณีหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะเข้าประเทศญี่ปุ่น โดยการเปิดประเด็นว่า รัฐบาลใหม่เตรียมที่จะคืนหนังสือเดินทางทางการทูตให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และมุ่งเป้าโจมตีบุคคลที่ถูกมองว่าเป็น "โซ่ข้ออ่อน" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยการโยงเข้ากับการเป็น "ผู้ริเริ่ม" ขอให้คืนหนังสือเดินทางนั้น
และทั้งยังโยงเข้ากับประเด็นเก่าในเรื่องของการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณไปกัมพูชา ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของสัมปทานในทะเล เป็นต้น
แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ก็คือ กรณีการสอบสวนต่อข้อกล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ ได้แก่ มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ เดลินิวส์ และคมชัดลึก โดยมุ่งประเด็นสำคัญไปสู่กรณีมติชน-ข่าวสด ด้วยข้อหาว่า "รับเงิน" จากพรรคเพื่อไทยครั้งละ 20,000 บาท
ซึ่งหากพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว ดูจะคล้ายกับการรับฟ้องจาก "บัตรสนเท่ห์" มากกว่าจากหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริง และก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นไปดังการกล่าวหาที่เกิดขึ้น
แต่องค์คณะผู้สอบสวนก็ดูจงใจจะเอาผิดให้ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็น "จำเลยสังคม" เท่านั้น แต่มติชน-ข่าวสดก็ถูกทำให้ตกที่นั่งเดียวกัน ซึ่งก็คือยุทธศาสตร์ "สื่อทำลายสื่อ" ที่ไม่อยู่ในแนวทางอนุรักษนิยม
เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การ "ไล่ล่าทักษิณ" ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการให้ค่าตอบแทนแก่สื่ออันมีผลต่อการเลือกตั้งแล้ว ก็อาจทำให้พรรคเพื่อไทยถูกฟ้องในกรณี "ยุบพรรค" อีก และอาจนำไปสู่การยุบพรรคครั้งที่ 3 ได้ไม่ยากนัก
ซึ่งถ้าพรรคถูกยุบจริง ก็น่าจะตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มชนชั้นนำที่ไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น และก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองได้อีก
หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นจริง ก็คงจะกลายเป็น "วิกฤตการเมือง" อีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเท่ากับตอบให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ในที่สุดแล้ว ชนชั้นนำก็ไม่ยอมรับต่อผลการเลือกตั้ง พวกเขาจะรับผลก็ต่อเมื่อพรรคปีกอนุรักษนิยมเท่านั้นชนะ !
ดังนั้น เมื่อรัฐประหารเป็นกลไกที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะบทเรียนจากการปฏิวัติประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นตูนิเซีย อียิปต์ หรือลิเบีย ตลอดรวมถึงประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง ล้วนแต่เป็นสัญญาณว่า หากเกิดการยึดอำนาจในไทย โอกาสที่จะทำให้สถานการณ์เดินไปสู่ "ตัวแบบตะวันออกกลาง" ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะตัวแบบล่าสุดจากลิเบียที่แสดงให้เห็นว่า แม้รัฐบาลที่แข็งแกร่งอย่างรัฐบาลกาดาฟี ก็ไม่อาจต้านทานการต่อสู้และการเรียกร้องของประชาชนได้แต่อย่างใด
ในสถานการณ์เช่นนี้ กลไกสำคัญของปีกอนุรักษนิยมน่าจะได้แก่ ขบวนการตุลาการภิวัตน์ ตลอดจนถึงการใช้องค์กรอิสระในการ "ถล่ม" รัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลมี "ช่องโหว่" ให้สามารถดำเนินการได้ ก็อาจจะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลและเปลี่ยนขั้วการเมืองได้อีกในอนาคต
เรื่องราวเช่นนี้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกต่อไป... เวลาที่เหลืออยู่
จึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะดำเนินนโยบายอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะถูกโค่นหรือไม่ก็ตาม!
++
บทความปีที่แล้ว
19 ก.ย.2549-19 ก.ย.2553: 4 ปีแห่งความไร้เสถียรภาพ!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1571 หน้า 37
"ขณะที่เมฆทะมึนปรากฏอยู่บนท้องฟ้า เราก็ชี้ให้เห็นว่า
นั่นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้นเอง
ความมืดมนกำลังจะผ่านพ้นไป แสงอรุณส่องรำไรอยู่ข้างหน้าแล้ว "
ประธานเหมาเจ๋อตุง
สรรนิพนธ์เล่ม 4
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว รัฐประหารก็หวนกลับมาเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย แม้นก่อนหน้านั้น นับตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว เราไม่เคยเชื่อกันเลยว่าสังคมไทยจะต้องพานพบกับการรัฐประหารอีก จนเราเชื่ออย่างมั่นใจว่า สังคมไทยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของทหารกับการเมืองอีก เพราะโอกาสหวนคืนของทหารในการเมืองไทยนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่สิ้นสุดลงแล้ว
หรือหากกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ สังคมไทยในยุคหลังเหตุการณ์ปี 2535 แล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารอีกแต่อย่างใด หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ไม่จำเป็นต้องคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกลุ่มทหารในการเมืองไทย
จะด้วยวิธีคิดเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อย วิธีคิดดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึง "ความประมาท" ที่สังคมการเมืองไทยหลังจากเหตุการณ์ปี 2535 ไม่ได้เตรียมการใดๆ ที่จะทำให้ทหารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการเมืองไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ในอีกด้านหนึ่ง บทเรียนจากความขัดแย้งในปี 2535 ที่ไม่ได้ถูกนำมาสานต่อทางความคิดอย่างจริงจังก็คือ กลไกของการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยควรจะเป็นเช่นไร เพราะถ้าสังคมสามารถสร้างกลไกดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นความคาดหวังว่า ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น กลไกเช่นนี้จะมีส่วนโดยตรงในการลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หรืออย่างน้อยกลไกเช่นนี้ก็ถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยให้แรงกดดันของการเผชิญหน้าทางการเมืองมีช่องทางระบายออกไปได้บ้าง มิใช่ปล่อยให้การเผชิญหน้าขยายตัวออกไปในวงกว้าง และระเบิดออกเป็นความรุนแรงทางการเมืองจนไม่อาจควบคุมได้
ดังนั้น คงไม่ผิดอะไรนักที่จะสรุปว่า สังคมไทยหลังพฤษภาคม 2535 ขาดทั้งกระบวนการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร และขาดยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยต่อกองทัพ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เตรียมองค์กรในการจัดการกับความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าและ/หรือความรุนแรงในสังคมไทย
ผลของความขาดแคลนเช่นนี้ ทำให้ในที่สุดแล้ว ความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าฉงนแต่อย่างใด...ความน่าฉงนอยู่ตรงที่ว่า กลุ่มคนที่เคยมีบทบาทในการคัดค้านรัฐประหารในปี 2534 และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความพยายามในการฟื้นอำนาจของกลุ่มทหารในปี 2535 กลับเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนการรัฐประหารในปี 2549 จนบางคนต่อสู้อย่างสุดจิตสุดใจในการเป็น "ทนายแก้ต่าง" ให้กับรัฐประหารที่เกิดขึ้น
ลักษณะของปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจจะทำให้บางคนคิดง่ายๆ ด้วยการกล่าวโทษทุกอย่างไปที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยโยนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมาจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น
เรื่องราวเช่นนี้ก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลังการรัฐประหารแล้ว "การไล่ล่า" กลุ่มทักษิณ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ ซึ่งก็คงเปรียบเทียบได้กับคำพูดที่อธิบายสิ่งที่ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจหลังกันยายน 2549 ดำเนินการ ว่าเสมือน "การเผาบ้านเพียงเพื่อจับหนูตัวเดียว"
และปัญหาที่แย่ก็คือ บ้านก็ไหม้จนหมด หนูก็จับไม่ได้...ถ้าเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรกันดี !
แต่เรื่องราวเช่นนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่า อิทธิฤทธิ์ของรัฐประหารนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว อาจจะใช้อะไรไม่ได้ผลมากนักเหมือนอย่างเช่นในอดีต เพราะในยุคก่อน เมื่อเกิดการยึดอำนาจแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ อาจจะยุติลงโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการที่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยอมยุติบทบาทของตนเอง แล้วรอให้ระบบการเมืองเปิดใหม่อีกครั้ง พวกเขาจึงหวนกลับสู่เวทีการต่อสู้
หากแต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกลับไม่ถอยหนี กลับไปนั่งรอการเลือกตั้งที่จังหวัดของตนเอง และในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็ไม่ได้เก็บตัวอยู่เฉยๆ เพื่อรอให้การเมืองเปิดได้หวนคืน หากแต่เพียงระยะสั้นๆ หลังจากรัฐประหารสิ้นสุดลงนั้น กลุ่มต่อต้านรัฐประหารก็เปิดเวทีการเคลื่อนไหวทันที
และที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มต่อต้านรัฐประหารขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน แนวร่วมของพวกเขาก็ยิ่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายฐานแนวร่วมในชนบท จนอาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ชนบทวันนี้กลายเป็นฐานที่มั่นของการต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่สถานการณ์ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ชนบทเป็นฐานที่มั่นของ พคท. หากแต่ผลของกระบวนการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 ได้สร้าง "จิตสำนึกใหม่" ให้แก่ผู้คนจำนวนมากในชนบท ที่พวกเขาตระหนักมากขึ้นถึงพลังทางการเมืองของตนเอง
แน่นอนว่าสำหรับคนในเมืองแล้ว บทบาทของคนชนบทถูกตีว่าเป็นการ "ถูกซื้อ" จากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นเพียงการต่อ "ท่อน้ำเลี้ยง" ของฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากท่อดังกล่าวถูกตัดแล้ว การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็จะหยุดลงไปโดยปริยาย
ในมุมมองของคนในเมืองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนชนบทจะเกิด "จิตสำนึกทางการเมือง" ขึ้น ถ้าไม่ใช่เพราะการได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ซึ่งก็ไม่ต่างกับยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ที่การต่อสู้ของคนชนบทถูกมองว่าเป็นเพียงผลของการปลุกระดมจาก พคท. โดยละเลยที่จะมองถึงปัญหาโครงสร้าง และปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรมในชนบท อันทำให้เกิดช่องว่างอย่างมากระหว่างคนในเมืองและคนในชนบท
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐประหารให้ผลตอบแทนอย่างมากกับบรรดาผู้นำทหาร เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยึดอำนาจมีผลโดยตรงต่อการขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทย ทั้งในเชิงสถาบันและเชิงบุคคล ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บทบาทของทหารลดลงอย่างมากในทางการเมือง ซึ่งการขยายบทบาทเช่นนี้ ยังขยายไปถึงการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะก่อนรัฐประหารจะเกิดขึ้นนั้น การจัดซื้ออาวุธของทหารมีความจำกัดอย่างมาก
แม้อาวุธที่จัดซื้อหลายอย่างจะมีปัญหาในระยะต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบจีที-200 เรือเหาะ หรือรถเกราะล้อยาง ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 3 รายการล้วนแต่เป็นปัญหาในปัจจุบันทั้งสิ้น หรือแม้แต่กรณีการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบกริพเพนจากสวีเดน ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน
แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผลจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้ ทำให้การตรวจสอบในเรื่องของการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบอบการเมืองปัจจุบัน หรือกล่าวในบริบทของการบริหารประเทศก็คือ ระบบตรวจสอบทั้งในระดับสังคมหรือในส่วนของรัฐสภากลายเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจซื้ออาวุธของกองทัพจึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการค้ำประกันด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ
ซึ่งเครื่องจีที-200 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ เพราะจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย)
การสูญเสียระบบตรวจสอบที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้องค์กรอิสระต่างๆ กลายเป็น "องค์กรไร้อิสระ" ที่ทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกการเมืองอีกส่วนหนึ่งของกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้ในการแทรกแซงทางการเมือง
แต่ผลประการสำคัญที่กลายเป็นความผิดหวังของนักออกแบบโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือ องค์กรเหล่านี้ถูกทำให้หมดสภาพและหมดความน่าเชื่อถือไปด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความกังวลว่า องค์กรเหล่านี้จะอยู่อย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เว้นเสียแต่พวกเขาเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระยะใกล้หรือระยะไกลก็ตาม
ผลของรัฐประหารที่ไม่สามารถควบคุมและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้นั้น ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องพึ่งพากระบวนการตุลาการในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 4 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินต่างๆ อย่างมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกโดยทั่วไปว่า สถาบันตุลาการถูกทำให้กลายเป็น "สองมาตรฐาน" คำตัดสินในทางกฎหมายถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จนก่อให้เกิดความกังวลกับอนาคตของกระบวนการยุติธรรมไทย
นอกจากนี้ ในระยะ 4 ปีหลังรัฐประหาร เห็นได้ชัดเจนถึงท่าทีของการเมืองของกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง และกลุ่มชนชั้นนำ ที่พวกเขาพร้อมที่จะยอมรับทุกอย่างเพื่อปกป้องการขยายบทบาทของชนชั้นล่าง ที่ในวันนี้ถูกทดแทนด้วยภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของ "คนเสื้อแดง" ด้วยฐานคติที่มองว่าคนในชนบทหรือคนชั้นล่างเหล่านี้ไม่ได้เคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นการ "จัดตั้ง" ของฝ่ายต่อต้านทหาร-ต่อต้านรัฐบาล-ต่อต้านชนชั้นนำ จึงทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกว่า การปราบปรามชนชั้นล่างเป็นความชอบธรรมในตัวเอง
สภาพเช่นนี้ ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นความแนบแน่นของความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลาง ชนชั้นนำ และผู้นำทหาร อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์พลิกทฤษฎีที่ชนชั้นกลางในเมืองของไทยกลับออก "ใบอนุญาตฆ่า" ให้แก่ทหารเพื่อต่อต้านการชุมนุมของชนชั้นล่าง ภายใต้ทัศนคติว่า คนเหล่านั้นกำลังก่อความวุ่นวายในเมืองหลวง!
ผลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็คือ ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการล้อมปราบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเมษายน 2552 เมษายน หรือพฤษภาคม 2553 ก็ตาม จนทำให้ปัญหาการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมในปี 2516 2519 และ 2535 กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำทางการเมืองของสังคมไทย
แน่นอนว่าผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นได้ว่าการบริหารจัดการอนาคตสังคมการเมืองไทยคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป ทฤษฎีของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่เชื่อว่า กองทัพคือกลไกหลักของการควบคุมการเมือง และหากควบคุมไม่ได้ก็ใช้การยึดอำนาจเป็นทางออกนั้น อาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องขบคิดด้วยความมีสติเป็นอย่างยิ่ง
ผลกับกองทัพประการสำคัญจาก 4 ปีที่ผ่านมาก็คือ โอกาสของการสร้างความเป็น "ทหารอาชีพ" ของกองทัพไทย ก็เป็นความยุ่งยากอีก
ประการหนึ่ง เพราะในสถานการณ์ที่กองทัพขยายบทบาททางการเมืองอย่างมากเช่นนี้ กระบวนการสร้างความเป็นทหารอาชีพไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากรัฐประหาร 2549 ก็คือ ความแตกแยกขนาดใหญ่ของสังคมไทย และเป็นความแตกต่างที่ช่องว่างถูกขยายมากขึ้น จนหลายๆ ฝ่ายเกิดความกังวลว่า ปัญหาเช่นนี้ในที่สุดอาจจะต้องลงเอยด้วยความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ในอนาคตหรือไม่
เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบแต่เพียงประการเดียวก็คือ สังคมการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2549 ต้องเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า การสร้างเสถียรภาพในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในอนาคต
แต่ในด้านบวกก็อาจจะต้องยอมรับว่า รัฐประหาร 2549 ได้ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขยายตัวสู่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้อง "ขอบคุณ" ผู้นำทหาร คมช.!
++
19 ก.ย.2549-19 ก.ย.2553 (2) ทหารยังอยู่ยั้งยืนยง!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1572 หน้า 36
พวกเราทุกคนควรต้องเข้าใจสัจธรรมข้อนี้
คือ "อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน "
ประธานเหมาเจ๋อตุง
6 พฤศจิกายน ค.ศ.1938
หากต้องพิจารณาในห้วงระยะเวลา 4 ปี หลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว จะเห็นได้ว่าประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่สังคมไทยในระยะข้างหน้าจะต้องตอบให้ได้ก็คือ เราจะตอบคำถามเรื่องทหารกับการเมืองไทยในอนาคตอย่างไร...เราคงอนุญาตให้ทหารจะดำรงอยู่ในการเมืองไทยไปเรื่อยๆ เช่นนี้อีกหรือไม่
ปัญหาเช่นนี้อาจจะตอบไม่ได้ง่ายนัก เพราะเมื่อพิจารณาจากผลที่เกิดในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทหารน่าจะยังคงอยู่กับการเมืองไทยไปอีกนาน โดยมีพื้นฐานมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่
1.ทัศนคติของสังคม
คงต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านทหาร (Anti-Military) แบบที่หยั่งรากลึกลงไปในสังคม จนผู้คนโดยทั่วไปยอมรับไม่ได้กับการมีอำนาจและบทบาทของทหารในเวทีการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสังคมไทยไม่เคยต้องประสบกับผลร้ายจากปฏิบัติการของทหาร
จนกลายเป็นสังคมที่ต่อต้านทหาร หรือต่อต้านสงคราม เช่น ประเทศที่เคยแพ้สงคราม เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม สังคมไทยกลับมีลักษณะของการยอมรับทหารในการเมืองอยู่พอสมควร ยิ่งในช่วงหลังๆ เราจะเห็นได้ถึงการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบของการปกครองในแบบการเลือกตั้ง ที่ภาพของประชาธิปไตยกลายเป็นภาพของการคอร์รัปชั่น ความไร้ประสิทธิภาพ และความไม่โปร่งใส ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่านักการเมืองในระบอบเลือกตั้งไม่ค่อยได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาชน และยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับทัศนะแบบ "ต่อต้านการเมือง" ที่มองเห็นแต่ผลร้ายของการเมืองแบบการเลือกตั้งแล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้คนโดยทั่วไปมีทัศนคติเชิงลบต่อนักการเมืองอย่างมาก
พร้อมๆ กับการโหมโฆษณาของกองทัพผ่านสื่อที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของทหาร ภาพลักษณ์ของนักการเมืองตกลงเท่าใด ภาพลักษณ์ของผู้นำทหารก็จะดูสูงเด่นและกลายเป็นทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น
การมีทัศนคติลบต่อนักการเมือง และทัศนคติบวกต่อผู้นำทหาร ได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการต่อต้านทหาร และในทางกลับกัน ก็กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการยอมรับบทบาททหารได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นการสร้างความเชื่อเพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่การยึดอำนาจว่า "ผู้นำทหารมีศีลธรรมสูงกว่านักการเมือง" ซึ่งผลจากความเชื่อเช่นนี้ จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับของผู้คนในสังคมไทยต่อบทบาทของทหารไปโดยปริยาย
2.ทหารกับการรักษาความสงบภายใน
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนในสังคมไทยยังคงให้ความสำคัญแก่การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อมีปัจจัยใดเข้ามีผลกระทบที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพแล้ว พวกเขามักจะมองเห็นความจำเป็นที่ "ทหารจะต้องเข้ามาแก้วิกฤต" กล่าวคือ ผู้คนเหล่านี้เชื่อว่า รัฐประหารเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดทอนความไร้เสถียรภาพ และหากแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว รัฐบาลหลังรัฐประหารก็จะสามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพภายใต้การควบคุมระบอบการเมืองของทหาร
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเกิดแรงต่อต้านขึ้นในระบอบการเมืองแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะยอมรับกับการที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองในรูปแบบของ "การรักษาความสงบภายใน" (Internal Order) ซึ่งโดยนัยเช่นนี้ อาจจะกินความมากกว่าการนำเอาทหารออกมาจากกรมกองมาปฏิบัติภารกิจในแบบของตำรวจ แต่มีความหมายไปถึงการใช้ปฏิบัติการทางทหารในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
การใช้ปฏิบัติการเช่นนี้ มีนัยโดยตรงต่อการดำรงไว้ซึ่งบทบาทของทหารในการเมือง และขณะเดียวกัน ในกรณีของประเทศที่เสถียรภาพทางการเมืองมีปัญหาอย่างมากนั้น บทบาทเช่นนี้กลายเป็นการค้ำประกันการดำรงอยู่ของรัฐบาลพลเรือนไปโดยปริยาย
เพราะรัฐบาลพลเรือนมักจะอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาอำนาจของกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลโดยตรงจากการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในที่เกิดขึ้นจากบทบาทของทหาร
บทบาทในการ "ล้อมปราบ" การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี 2552 และปี 2553 เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ที่หลังจากปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลต้องพึ่งพาการค้ำประกันจากผู้นำทหารค่อนข้างมาก
ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดการขยายอำนาจโดยตรง แม้จะไม่ต้องอาศัยรัฐประหารเป็นเครื่องมือ แต่ก็เหมือนกับรัฐประหาร เพราะรัฐบาลต้องพึ่งพาอำนาจของทหารในการดำรงอยู่ และการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญก็ขึ้นอยู่กับผู้นำทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สภาพเช่นนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเกิด "รัฐประหารเงียบ" ไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้ว่า แม้การตั้งรัฐบาลก็เกิดขึ้นในกรมทหาร เป็นต้น
3.การสร้างอำนาจทหารในเชิงสถาบัน
การสร้างอำนาจในเชิงสถาบันของทหารในการเมืองไทยเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหาร 2549 เพราะการสร้างอำนาจเช่นนี้ เป็นการเปิดช่องให้ทหารสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้โดยมีอำนาจทางกฎหมายรองรับ (เราอาจเรียกกระบวนการเช่นนี้ในทางวิชาการว่า "Institutionalization of Military Power") ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือ เป็นความชอบธรรมโดยตรงของผู้นำทหารที่จะนำพากองทัพเข้าสู่เวทีการเมือง เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็กล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
ลักษณะของการสร้างอำนาจเชิงสถาบันของทหารในกรณีนี้เห็นได้ชัดจากบทบาทในพระราชกำหนดฉุกเฉิน หรือในพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน อันเป็นกฎหมายที่รองรับอำนาจของทหารในทางการเมืองโดยตรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็กลายเป็น "กับดัก" ให้แก่กองทัพในเชิงสถาบัน เพราะทำให้กองทัพไม่สามารถถอนตัวออกจากการเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตแล้ว กฎหมายดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยที่บังคับให้กองทัพต้องเข้าสู่เวทีการเมืองไปโดยปริยาย
การจะลดอำนาจในเชิงสถาบันของทหารให้ได้นั้น ในด้านหนึ่งอาจจะทำให้ระบบการเมืองไม่เกิดวิกฤตจนรัฐบาลจำเป็นต้อง "ร้องหาบริการทหาร" เพื่อช่วยในการค้ำจุนสถานะของรัฐบาล หรือในอีกด้านหนึ่งอาจจะต้องหาทางผ่องถ่ายบทบาทบางประการที่อาจจะต้องส่งมอบให้แก่ฝ่ายตำรวจในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน โดยรัฐบาลในอนาคตอาจจะต้องสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมบทบาทของตำรวจในการรักษาความสงบภายในให้มากขึ้น โดยการลดบทบาทในการควบคุมฝูงชนของทหาร เพื่อไม่ให้เกิดสภาพของการใช้กำลังทหารในการสลายฝูงชน อันจะนำไปสู่การที่รัฐบาลจะต้องคอยพึ่งพาการสนับสนุนของทหารในทางการเมืองอย่างไม่สิ้นสุด
ซึ่งแม้จะไม่เป็น "รัฐประหารทางตรง" แต่ก็กลายเป็น "รัฐประหารทางอ้อม" ไปโดยปริยาย
4.การขยายบทบาททางการเมือง
หลังจากความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 แล้ว เห็นได้ชัดเจนถึงการขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทย เราอาจกล่าวได้โดยง่ายว่า หลังความสำเร็จของรัฐประหารทุกครั้งและในทุกประเทศ ผลสืบเนื่องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การขยายอำนาจและบทบาทของกองทัพ เพราะรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำให้กองทัพกลายเป็นผู้กุมอำนาจหลักในทางการเมืองไปโดยปริยาย
ผลสืบเนื่องตามมาก็คือ ถ้าไม่จัดตั้งรัฐบาลทหารโดยตรง ก็อาจจะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนภายใต้ความอุปถัมภ์ของกองทัพขึ้น (อาจจะด้วยต้องการหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากภายนอก) แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในรูปแบบใดก็ตาม รัฐบาลดังกล่าวล้วนมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับอำนาจของทหารในการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากอำนาจของทหารสิ้นสุดลง รัฐบาลเช่นว่านั้นก็อาจจะล้มลงได้ไม่ยากนัก
ดังนั้น ในสภาพเช่นนี้ กองทัพจึงมีสถานะเป็น "ผู้ค้ำประกัน" การคงอยู่ของรัฐบาลหลังรัฐประหาร และที่สำคัญก็คือ อาจจำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจ และเครื่องมือทางทหารในการควบคุมและจัดการทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดการกับกลุ่มต่อต้านหรือกับฝ่ายค้าน ซึ่งสถานะของการเป็นผู้ค้ำประกันทางการเมืองย่อมหลีกไม่พ้นที่จะยิ่งทำให้ผู้นำกองทัพต้องขยายบทบาทของทหารให้มากขึ้นในเวทีสาธารณะ
ฉะนั้น การขยายบทบาทดังกล่าว ย่อมจะกลายเป็นปัญหาภายในกองทัพเอง เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตอันเป็นผลสืบเนื่องจากผลประโยชน์เชิงสถาบันของทหารกับผลประโยชน์เชิงบุคคลของผู้นำทหารอาจจะขัดแย้งกันได้ ซึ่งความขัดแย้งเช่นนี้ อาจจะทำให้นายทหารหลายๆ ส่วน จำเป็นต้องคิดถึงผลประโยชน์ของสถาบันทหารในระยะยาว มากกว่าการนำเอากองทัพเข้าไปผูกพันกับการเมืองเพื่อผลตอบแทนของผู้นำทหารในระยะสั้น
แม้ว่าผู้นำทหารจะสามารถหลีกเลี่ยงการมีบทบาทในทางตรง โดยจะแสดงตนเป็น "ผู้จัดการรัฐบาล" (political manager) แต่ในที่สุดแล้ว ก็อาจจะไม่แตกต่างกัน เพราะการแสดงออกอาจจะกลายเป็น "เรื่องลับ" เช่นการเป็นผู้วิ่งเต้นในการจัดตั้งรัฐบาล หรือการเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลโดยอาศัยอำนาจทางทหารเป็นแรงกดดัน และทำให้รัฐบาลใหม่ก่อกำเนิดขึ้นในค่ายทหาร
ซึ่งผลดังกล่าวก็ทำให้ในที่สุดแล้ว นำไปสู่การขยายบทบาททางการเมืองของทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง
5.ปัญหาเอกภาพภายในกองทัพ
ดังได้กล่าวแล้วว่า ยิ่งขยายบทบาททางการเมืองมากเพียงใด ก็ส่งผลให้เท่ากับการขยายความขัดแย้งภายในมากขึ้นเพียงนั้น แม้ผู้นำกองทัพในทุกยุคโดยเฉพาะนับตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2516 เป็นต้นมา ล้วนแต่อาศัยวิธีการคล้ายคลึงกันในการพึ่งพาคน "รุ่น" ตัวเอง แม้บางครั้งอาจจะเป็น "เหล่า" ตนเองบ้าง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เอกภาพไม่ว่าจะโดยอาศัยกลไกรุ่น หรือความเป็นเหล่า ก็ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงในกรณีนี้ ดังจะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีพลังทางทหารและมีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงแล้ว คงต้องยอมรับบทบาทของ จปร. 5 (ยุค พลเอกสุจินดา คราประยูร) หรือ จปร. 7 (ยุค พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นยุคแห่ง "ความรุ่งโรจน์ของนายทหารระดับกลาง"
กล่าวคือ พวกเขาคุมกำลังรบ มีบทบาททางการเมือง และกำหนดทิศทางนโยบายของกองทัพและของประเทศ
แต่ในที่สุดแล้ว พลังอำนาจดังกล่าวก็ทลายลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเอกภาพที่หวังว่าจะสร้างผ่านระบบรุ่น-เหล่า-กลุ่ม ล้วนแต่นำมาซึ่งความไร้เอกภาพภายในกองทัพ ซึ่งว่าที่จริงก็คือ กองทัพประกอบด้วยกำลังพลเป็นจำนวนมากและหลากหลายนั้น ไม่สามารถปล่อยให้ "คนจำนวนน้อย" บางกลุ่มหรือบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลตอบแทน
ผลที่ตามมาก็คือ ความขัดแย้งภายในนั่นเอง เพียงแต่ความขัดแย้งเช่นนี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบใดก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งในอนาคต
ผลของปัญหา 5 ประการหลักที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 2549 นั้น ทำให้การเมืองไทยในอนาคตยังคงต้องผูกพันกับทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในทำนองเดียวกัน ก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับกองทัพ รัฐบาล และสังคม ต้องขบคิดกันว่า
ในที่สุดแล้ว เราจะอย่างไรกับปัญหาเรื่อง "ทหารกับการเมือง" กันดี หรือจะปล่อยให้ทหารแทรกแซงการเมืองไทยไปเรื่อย !
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย