.
ย่างก้าวที่ต้องเดินของทักษิณ หาจังหวะรุก...บนเวทีโลก
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 20
โลกยุคใหม่ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก
สมัยก่อนใครก็ตามที่ถูกรัฐประหารแล้วต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จะไม่มีโอกาสกลับมาอีกเลย ถ้ากลับมาก็จะเหลือแต่อัฐิมาให้ลูกหลานทำบุญ
ดังนั้น ผู้นำ รสช. ในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 จึงไม่ยอมลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ การยุติความขัดแย้งในครั้งนั้น จึงจบลงที่ทั้งสองฝ่ายก็ต่างคนต่างอยู่ ส่วนคนที่ตายก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบเหมือนเดิม
แต่ประเทศไทยก็มีการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นอีกระดับหนึ่ง ได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งชื่นชมกันนักหนาว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด และอีก 10 ปีต่อมา ก็ถูกฉีกทิ้งโดยการสนับสนุนของกลุ่มคนที่เคยร่างและเคยเชียร์ว่าดีนักหนานั่นแหละ แต่ความต้องการที่แฝงอยู่เบื้องหลังคือการโค่นล้มนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยึดอำนาจมาเป็นของกลุ่มตนเอง
อีกไม่กี่วันก็จะครบ 5 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เราคงได้เห็นปฏิกิริยาของผู้รักประชาธิปไตยว่าจะชื่นชมหรือต่อต้านมากแค่ไหน แต่วันนี้ทักษิณคนที่ถูกรัฐประหารยังต้องอยู่ต่างประเทศ เป็นทักษิณคนเดิมแต่เข้มแข็งมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ทุกย่างก้าวที่เหยียบลงไป มีเสียงดัง มีความหมายทางการเมือง เป็นข่าวอยู่เสมอ
ผู้คนจึงสงสัยว่า เขากำลังจะทำอะไร?
ย่างก้าวแรกทางการเมืองของทักษิณ
บนเส้นทางเลือกตั้งสู่ประชาธิปไตย
การเข้าสู่การเมืองของทักษิณ เริ่มต้นผ่านพรรคพลังธรรม พัฒนามาเป็นพรรคไทยรักไทยเป็นย่างก้าวแบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแท้ๆ
เขานำการเลือกตั้งในนามพรรคไทยรักไทย 2 ครั้ง ชนะที่ 1 ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกได้ ส.ส. 248 คน เกือบ 50% ของสภา ครั้งที่ 2 ได้ 377 คน เกิน 75% ของสภา ความนิยมที่พรรคได้รับสูงสุดคือ 18.99 ล้านเสียง
อำนาจทางการเมืองที่เคยกระจายอยู่กับหลายกลุ่มในอดีตไม่มีความหมายแล้ว อำนาจในระบบรัฐสภาเกือบทั้งหมดมารวมศูนย์อยู่ที่ไทยรักไทย
ทักษิณกลายเป็นเป้า เพราะเป็นนักการเมืองที่มาเร็ว เก่งและเด่นเกินไป
กลุ่มคนที่เคยมีอำนาจ ยอมรับไม่ได้ที่จะสูญเสียอำนาจไปให้กับกลุ่มนักการเมืองใหม่และกลุ่มทุนใหม่ การคิดโค่นล้มจึงเกิดขึ้นและก็สำเร็จลงด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะโค่นทักษิณได้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไปชนะทักษิณด้วยวิถีทางประชาธิปไตย
การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี 2550 ได้ย้ายอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปให้องค์กรอิสระและศาล ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเวลาต่อมา
ในวันที่ทักษิณถูกรัฐประหาร แม้มีมวลชนที่สนับสนุนอยู่อย่างมหาศาล แต่ก็ไร้การจัดตั้ง ไม่มีองค์กรที่เป็นรูปแบบ จึงไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือ
ขณะเดียวกัน ตัวนายกฯ ทักษิณเองก็ไม่ได้คิดใช้มวลชนต่อสู้อย่างจริงจังกับฝ่ายตรงข้าม แต่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปและเข้าต่อสู้อีกครั้งโดยระบบเลือกตั้งเหมือนเดิม แม้จะถูกยุบพรรคไทยรักไทย เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพลังประชาชน แต่ทักษิณก็ยังย่างก้าวซ้ำรอยเดิม ด้วยความมั่นใจ และก็ชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง
กว่าจะรู้ว่าเดินแนวทางผิด ฝ่ายตรงข้ามก็จู่โจมอีกครั้ง คราวนี้ฝ่ายตรงข้ามใช้การชุมนุมกดดัน แต่เปลี่ยนอาวุธจากการรัฐประหารเป็นตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ สมัคร ปลดนายกฯ สมชาย ยุบพรรคพลังประชาชนซ้ำอีกครั้ง
ถึงตรงนี้ ทั้งทักษิณและประชาชนที่สนับสนุนจึงรู้ว่า การเดินทื่อๆ ไปบนหนทางเลือกตั้งแล้วหวังว่าจะได้ประชาธิปไตยใช้ไม่ได้แล้ว พวกเขามีข้อสรุปดังนี้
1.กลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามระบบ และกลัวการเปลี่ยนแปลง
2.กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไปแล้ว ไม่สามารถกำหนดมาตรฐานได้ เพราะต้องเดินไปตามเป้าหมายทางการเมือง เป็นช่วงๆ แล้วแต่สถานการณ์
3.ฝ่ายตรงข้ามมีด้านที่เหนือกว่าคือกำลังอาวุธและกฎหมาย
4.ยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้ามคือ ไม่ยอมให้ทักษิณอยู่ในประเทศและไม่ยอมหยุดโจมตี ทักษิณจึงต้องถูกตั้งข้อหาให้เป็นผู้ร้าย ต้องถูกยึดทรัพย์ ถ้าไม่หนีไปต่างประเทศ ก็จะต้องติดคุก
ก้าวย่างที่สองของการต่อสู้
หลบหลีกไปพลาง สู้ไปพลาง
หลังจากทักษิณลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศรอบสอง การต่อสู้ดูเหมือนจะจบไปแล้ว กลุ่มอำนาจเก่ายึดอำนาจรัฐโดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร แต่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถยึดทรัพย์สินของทักษิณได้ แล้วตั้งข้อหาค้ำคอทักษิณไว้ไม่ให้กลับประเทศ
รัฐบาลใหม่ที่มีฉายาว่า เทพประทาน ก็ดำเนินการบริหารต่อไปได้
เกมน่าจะจบไปแล้วจริงๆ แต่กลุ่มอำนาจเก่ายังมีการติดตามไล่ล่าไปทั่วโลก ทั้งยังโกหกคำโตว่าทักษิณถูกหมายจับของตำรวจสากล ซึ่งเพิ่งมาเปิดเผยว่า ไม่มีใครออกหมายให้เพราะเขารู้ว่าเป็นคดีการเมือง
คนต่างประเทศเป็นคนเหมือนเรา พวกเขามีของดี 3 อย่าง คือ ตา หู และสมอง รู้ข่าวรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 นั่งดูการปลดนายกฯ สมัครด้วยข้อหาทำกับข้าวออกโทรทัศน์
พวกเขาวิจารณ์ระบบยุติธรรมของเราไปหัวเราะไป แล้วบอกว่าถ้ามีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลไม่ควรใช้ระบบของบ้านเรา ต้องไปฟ้องร้องในประเทศเป็นกลาง
พอเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยลูกซองและสไนเปอร์ เขาก็บอกว่า ทักษิณคิดถูกแล้วที่ไม่กลับมา พวกนี้ไม่ใช่โจรปล้น ประชาธิปไตยธรรมดา ยังเป็นฆาตกรเลือดเย็น ถ้ากล้ายิงคนมือเปล่ากลางเมือง ทักษิณกลับมาไม่รอดแน่
สิ่งที่ คมช. และรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ทำลงไป ในช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านบอกว่า มันมากเกินไป เป็นการแสดงความอยุติธรรมอย่างไม่เกรงต่อสายตาและไม่แยแสกับความรู้สึกของประชาชน กำเนิดของคนเสื้อแดงจึงเริ่มขึ้น
แน่นอนว่าต้องมีการสื่อสารจากทักษิณมาจากระยะไกล
แนวทางการต่อสู้โดยพลังมวลชนซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้องเริ่มขึ้นแล้ว ในทางยุทธศาสตร์เป็นการพลิกกลับมาสู้ทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศ เป็นการต่อสู้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "โทรยุทธ" ซึ่งฝากชัยชนะไว้กับศรัทธาของประชาชน, ระบบสื่อสารและฝีมือ ฝีปากของแกนงาน ในทางยุทธวิธี สถานีดาวเทียม, สถานีสื่อสาร, สถานีวิทยุชุมชน, สถานีโทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ และระบบสื่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ
เมื่อคนเสื้อแดงรวมตัวกันครั้งแรกๆ ฝ่ายตรงข้ามยังละเมอเพ้อพกว่าพวกนี้ถูกจ้างมา แม้ประชาชนจะยกป้ายว่า "ไม่ต้องจ้าง กูมาเอง" ก็ไม่เชื่อ กว่าจะรู้ตัวก็เห็นภาพของประชาชนเสื้อแดงมือเปล่าวิ่งเข้าปะทะเข้าแถวทหารที่ถือปืนในวันที่ 10 เมษายน 2553
การต่อสู้ที่ถึงเลือดและชีวิตในปี 2553 ทำให้กลุ่มเสื้อแดงแข็งแกร่งขึ้น มากขึ้น และได้ร่วมกับพรรคเพื่อไทย กดดันจนมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่และชนะเลือกตั้งในปี 2554
ถึงวันนี้ อย่าฝันว่าทักษิณจะกลับมาเป็นเหยื่อง่ายๆ แต่แรงกดดันที่มีต่อทักษิณในช่วงสองปีที่ผ่านมาโดยการขอความร่วมมือกับต่างประเทศบีบไม่ให้ทักษิณเข้าประเทศต่างๆ ทำให้ขบวนการต่อสู้ต้องปรับใหม่ ปี 2553 เส้นทางการต่อสู้ใหม่จึงถูกกำหนดขึ้น
1.การต่อสู้ในสภา ใช้ ส.ส. พรรคเพื่อไทย
2.การต่อสู้นอกสภาใช้คนเสื้อแดงกับพลังมวลชนที่ต้องการความยุติธรรมสู้กับอำนาจนอกระบบ
3.การต่อสู้ทางสื่อ ใช้ทุกรูปแบบของสื่อทุกชนิด
4.การต่อสู้ในเวทีต่างประเทศ ใช้ตัวของทักษิณ, แนวร่วมคนไทยและคนต่างประเทศ
ในทางยุทธศาสตร์ เส้นทางการต่อสู้ทั้งหมด น่าจะถูกต้องแล้ว และการต่อสู้ก็ยังดำเนินต่อไป อำนาจนอกระบบก็ต้องเจอกับพลังนอกระบบแบบเสื้อแดง จะยุบพรรคก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่พรรคการเมือง จะไปบังคับให้ทำอะไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะเป็นแนวร่วมที่มีลักษณะกว้างขวางมาก
แรงบีบคั้นทางกฎหมายแบบที่จับไปขังฟรีๆ เป็นปีๆ หรือยิงด้วยลูกกระสุนยาง ลูกซอง สไนเปอร์ ล้วนแต่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดคนเสื้อแดงมากขึ้น รวมกันเหนียวแน่นมากขึ้น แค้นมากขึ้น เหมือนไปกระตุ้นยักษ์ตัวเขียวให้โกรธ ถ้าทำอีกครั้งเดียว ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
คำสัญญาว่าจะไม่แก้แค้น เป็นของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ แต่ไม่ใช่ของคนเสื้อแดง ความโกรธและความแค้นจะหายไปก็อยู่ที่คำพูดและการปฏิบัติ ถ้าเป็นแบบที่ว่า "10 บาทก็มากไปสำหรับพวกเผาบ้านเผาเมือง" ฟังแล้วพวกเสื้อแดงบอกว่าเหมือนได้ยาบำรุง กระตุ้นให้ขยันทำงานมากขึ้น
แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ในแต่ละช่วงเวลา ถ้าเกิดขึ้น ใครที่รู้ตัวว่าเป็นเป้าหมาย ต้องรู้จักเอาตัวรอด เอาไว้อารมณ์ดีแล้วค่อยกลับมาคุยกัน ความรู้สึกอยากแก้แค้นของกลุ่มหัวรุนแรงจำนวนมากอาจควบคุมไม่ได้ เมื่อมีคนตายไปแล้วก็ไม่รู้จะเอาชีวิตคืนมาได้อย่างไร เหมือนกับ 91 ศพในปี 2553 แม้วันนี้เลือกตั้งชนะแล้วแต่ก็ไม่ได้ชีวิตคืนมา
การสู้ไปด้วย หลบไปด้วยของทักษิณคงจะสิ้นสุดหลังการเลือกตั้ง 2554 หลังจากนี้ความจริงก็จะถูกเปิดเผย และแรงบีบคั้นจากกลุ่มอำนาจเก่าก็จะไม่มีผลในระดับสากลอีกแล้ว
ย่างก้าวที่สามของทักษิณ
ไม่หลบหลีก
แต่ "หาจังหวะรุก บนเวทีโลก"
สถานการณ์ขณะนี้ ทักษิณเลือกเกมเคลื่อนไหวอยู่เมืองนอกในขณะที่ยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้นำของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศ กลุ่มอำนาจเก่าจำเป็นจะต้องพุ่งเป้าหมายไปที่ยิ่งลักษณ์และทักษิณ แต่ที่ทำได้ในช่วงนี้เป็นแค่การแย็บรบกวน ใช้ประเด็นเล็กประเด็นน้อยตอดไปเรื่อยๆ
ในขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยก็เตรียมขุดคุ้ยเรื่องเก่าๆ ของรัฐบาลเก่าที่ทำพลาดออกมาเปิดโปง ฟ้องร้อง ซึ่งจะเป็นหมัดที่หนักกว่า
ส่วนคนเสื้อแดงก็จะเคลื่อนไหวเพื่อเล่นงานรัฐบาลเก่า และเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของยิ่งลักษณ์ ให้ดำเนินการบางเรื่อง เช่น กรณีคนเสื้อแดงที่ติดคุก ดำเนินคดีกับผู้สังหารประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อเรื่องราวทั้งหลายถูกเปิดโปงมากขึ้น ความลับที่ถูกปิดบังไว้ มีคนกล้านำมาเปิดเผยมากขึ้น สถานภาพทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่าจะเสื่อมลงและอาจต้องถูกดำเนินคดี โฉมหน้าและพฤติกรรมของโจรและฆาตกรจะถูกเปิดโปง
จังหวะเช่นนี้ ความได้เปรียบทางการเมืองของทักษิณจะมีมากกว่า สามารถเคลื่อนไหวไปได้ทั่วโลก สามารถชี้แจงความจริง เปิดเผยความลับ ความผิดของกลุ่มอำนาจเก่าให้โลกได้รู้ได้เห็นมากขึ้น
ทักษิณจะเป็นแขกรับเชิญในอีกหลายประเทศ เช่น จีน อเมริกา อิตาลี และประเทศรอบบ้านของไทย
วันนี้คนที่ต้องเหนื่อยจะไม่ใช่ กษิต แต่จะเป็นหมอนักประท้วงที่จะต้องคอยไปยื่นหนังสือ ตามหน้าสถานทูต และก็จะไม่มีประเทศใด ใส่ใจต่อข้อกล่าวหาที่มีต่อทักษิณ
สิ่งที่บอกเหตุคือคณะนักการทูตได้รับรองสถานะผู้นำของยิ่งลักษณ์ ก่อน กกต. ของไทย ในระบบการเมืองระหว่างประเทศ ไม่มีใครยอมรับอำนาจรัฐที่มีลักษณะเป็นโจรและฆาตกรได้ แต่คนไทยบางส่วนยังไม่เข้าใจ และยังเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง ผู้ก่อการร้าย
การรุกของทักษิณในเวทีโลก เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่ก็ต้องหาจังหวะ และบางครั้งก็ต้องสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสม จึงจะได้ผลเต็มที่
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ทักษิณและคนเสื้อแดง ต่างก็จะมีจังหวะก้าวของตนเองเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เหมาะสม การเสนอให้อยู่นิ่งๆ ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพียงแต่การเคลื่อนไหวต้องทำให้ถูกเรื่อง ถูกเวลา
ในขณะที่บทบาทของ ส.ส. พรรคเพื่อไทยจากนี้ไปจะเป็นแค่หมัดแย็บและหมัดฮุกที่ใช้ตอบโต้กลุ่มอำนาจเก่าและต้องคอยปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่บริหารประเทศให้ได้ผลงานในปีแรก แม้ฝ่ายตรงข้ามอยากจะแยกสลายกลุ่มคนเสื้อแดงออกจากทักษิณและพรรคเพื่อไทยแต่ก็ทำไม่ได้
พรรคเพื่อไทยเอง ก็อยากให้ทหารและกระบวนการยุติธรรม เป็นกลางจริงๆ แต่ก็ยังไม่สามารถใช้อำนาจโยกย้ายได้
วันนี้การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายจึงเหมือนหมากรุกบนกระดานที่ยังยันกันอยู่
เราจึงเห็นการต่อสู้ทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ ทุกเช้าทุกค่ำ มีการด่าว่ากันไปมา เรียกร้องให้ถอดถอนรัฐมนตรีและ ส.ส. จนคนดูข่าวรู้สึกรำคาญ
เป็นการต่อสู้ของเบี้ย เม็ดและโคนที่จะเกิดขึ้นทุกวัน
บทบาทปัจจุบันของทักษิณ
เป็นทั้งคนเดินหมาก
และเป็นตัวหมาก
วันนี้ทักษิณไม่ใช่ขุนบนกระดาน ไม่มีใครต้อนเขาให้จนได้อีกแล้ว เพราะเขาอยู่นอกกระดาน กลายเป็นคนเดินหมาก (แม้บางช่วงเวลาเขาอาจสวมบทตัวหมากรุกลงสนามเอง)
ทักษิณเปลี่ยนขุน 3 ตัวแล้ว กลุ่มอำนาจเก่ายังใช้ขุนตัวที่ 2 เหมือนเดิม ตัวหมากรุกบนกระดานนี้พิเศษกว่าหมากรุกทั่วๆ ไปตรงที่ว่ากลุ่มอำนาจเก่ามีเรือเพิ่มขึ้นหนึ่งลำ มีม้าเพิ่มขึ้นหนึ่งตัว ฝ่ายประชาธิปไตยมีเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 8 ตัว
ช่วงเวลาจากนี้ไป พวกเขาจะต้องพยายามทำให้เบี้ยทั้ง 16 ตัวให้เป็นเบี้ยหงายเพื่อจะใช้ต่อกรกับคู่ต่อสู้
ย่างก้าวของทักษิณจากนี้ไปจึงมีความหมายทุกก้าว เขายังมีเวลาเดินหมากอีกหลายตา แต่อย่าเดินผิดเด็ดขาด วันนี้เพิ่งจะอายุ 60 ต้นๆ มีเวลาทำงานการเมืองถึงอีก 10-15 ปี ยังมีทรัพย์สินที่จะใช้สนับสนุนเป็นเสบียงกรังให้กับการต่อสู้อีกพอสมควร เขาไม่จำเป็นต้องไปสะสมอะไรอีกแล้ว ที่ต้องปกป้องคือศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเอง
ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้มหาเศรษฐีและอดีตนายกฯ อย่างทักษิณจะต้องมาร่วมชะตากรรมและต่อสู้ร่วมกับพวกไพร่เสื้อแดง จำเป็นต้องสู้จนได้ประชาธิปไตย
เพราะถ้าทำไม่สำเร็จทุกคนจะต้องรับผลของการพ่ายแพ้ร่วมกัน
++
สื่อมวลชนและรัฐบาล ต่างมี...จุดยืน...หน้าที่...วิธีการ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 20
จุดยืนและหน้าที่
ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้ทำหน้าที่เปิดเผยความจริงทางการเมือง วิเคราะห์การเมืองทั้งอดีต ปัจจุบัน และคาดคะเนอนาคต แม้มีผิดพลาดบ้าง แต่ก็ถูกโดยส่วนใหญ่
อีกหน้าที่หนึ่ง คือ สนับสนุนแนวทางการเลือกตั้ง เพราะมีจุดยืนอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย คิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองแนวทางรัฐสภาเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศไทย ไม่ได้สนใจว่าแต่ละฝ่ายจะเห็นด้วยหรือไม่
เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกวิตก ว่าหลังการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงตามมาเหมือนเมื่อครั้งรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
ครั้งนั้น มีนักศึกษาถูกล้อมฆ่ากลางกรุง เสียชีวิตไป 40 กว่าคน หลังจากนั้นก็เกิดการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธโต้ตอบกลับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 4,000 คน บาดเจ็บนับหมื่น
แต่การต่อสู้ครั้งนี้ คนเสื้อแดงยอมรับแนวทางสันติได้มากกว่าสมัยก่อน เส้นทางการต่อสู้จึงไหลมาสู่แนวทางรัฐสภา
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ก็บีบบังคับให้กลุ่มอำนาจเก่าไม่มีทางเลือกเช่นกัน ผลสุดท้ายการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นในกลางปี 2554 เป็นไปตามที่มุ่งหวังและคาดการณ์ไว้
มีหลายคนอาจไม่พอใจที่ไม่ยอมเสนอแนวทางอื่น เช่น การปฏิวัติ การรัฐประหาร ขอยอมรับว่าเป็นจริง เพราะการปฏิวัติในช่วงเวลาแบบนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ มีแต่จะถูกปราบซ้ำ ทำให้ประชาชนเสียหาย ประเทศชาติพินาศมากขึ้นไปอีก
ส่วนการรัฐประหารที่บางกลุ่มสนับสนุน ก็เป็นการสนับสนุนแนวทางเผด็จการ ที่ทั้งโลกไม่มีใครยอมรับ
ถ้าทำไปก็เหมือนเป็นการย้อนยุค ประเทศไทยจะกลับไปคล้ายประเทศพม่าเมื่อในอดีต ในขณะที่วันนี้พม่ายังต้องดิ้นรนหนีออกจากสภาพเก่าของตนเอง
ความเป็นกลาง
บทความหลายสิบชิ้นที่ผ่านมา มีหลายคนคิดว่าไม่มีความเป็นกลาง
ก็คงจะจริงอีกนั่นแหละ เพราะผู้เขียนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการ เลือกเข้าข้างผู้ถูกยิงมากกว่าจะเห็นใจคนที่เอาสไนเปอร์มายิง
และที่จะต้องเลือกต่อไปคือ ต้องช่วยคนที่ถูกจับไปขังเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากกว่าคนที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผู้เขียนไม่เรียกร้องให้หนังสือพิมพ์หรือข้อเขียนต่างๆ ให้เป็นกลาง หลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ามีการประกาศจุดยืนแล้วว่าใครสนับสนุนการรัฐประหาร ใครคัดค้าน ใครหนุนตุลาการภิวัตน์ ใครไม่เห็นด้วย
นี่เป็นจุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ความเป็นกลางทางการเมืองจึงเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ความเชื่อและการตัดสินใจของผู้คน ก็จะเกิดจากความเห็นที่ไม่เป็นกลางทั้งหลายนี่แหละ ความเห็นเหล่านี้จะมีหลายด้าน เมื่อผ่านการวิเคราะห์ ถ่วงดุลกันด้วยเหตุผลต่างๆ ก็จะมีผลสรุป ซึ่งขึ้นอยู่กับความโง่ ความฉลาด จุดยืนของคนและข้อเท็จจริงของข่าวเป็นหลัก ส่วนเรื่องเทคนิคการนำเสนอ จะมีส่วนเพียงเล็กน้อย
ปัจจุบัน ทุกข่าว ทุกประเด็น ไม่ได้มีผู้เสนอเพียง 1 หรือ 2 ราย แต่มีเป็นสิบรายขึ้นไป โดยเฉพาะระบบสื่อสารยุคใหม่ซึ่งได้พัฒนาไปจนถึงขั้นที่คนธรรมดาก็สามารถเสนอข่าวและความคิดเห็นได้อย่างรวดเร็ว โดยผ่าน เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ฯลฯ ซึ่งมีคนอ่านจำนวนมาก บางครั้งก็มากกว่าหนังสือพิมพ์เสียอีก
หนังสือพิมพ์ครอบงำความคิดคนไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ถ้าหากไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
ไม่เชื่อทดลองบิดเบือนข่าวธรรมดาที่ไม่ใช่ทางเลือกทางการเมือง เช่นข่าวอาชญากรรม ถ้าข่าวนั้นผิดพลาดและไม่ตรงความจริง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็จะถูกตอบโต้ทันที
ปัจจุบันถ้าสื่อสามารถเสนอภาพหรือข่าวแล้วครอบงำ ชี้นำความคิดของคนในสังคมได้จริง รัฐบาลชุดเก่าคงชนะเลือกตั้งถล่มทลายไปแล้ว เพราะคุมสื่อได้สารพัดชนิด
แต่โลกปัจจุบัน สัจธรรมปรากฏได้รวดเร็วมาก ขอแต่มีคนคิดออกเพียงคนเดียว และกล้านำเสนอออกมา คนส่วนใหญ่ก็จะขานรับ บางเรื่องอาจจะรวดเร็วมาก แต่เรื่องที่ซับซ้อนอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง
การต่อสู้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แนวรบทางด้านการสื่อสารเป็นแนวรบทางการเมืองที่สำคัญ สามารถทำลายและส่งเสริมกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้หดตัวหรือขยายตัวได้ ให้ประสบความสำเร็จหรือพ่ายแพ้ได้
วันนี้ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการสนับสนุนจากสื่อหลายค่าย หลายชนิด ก็ด้วยความเห็นใจและความคาดหวังว่าจะมาสร้างผลงานดีๆ ให้ประชาชน
แต่จุดยืนของรัฐบาลนี้จะต้องไม่เปลี่ยน
รัฐบาลใหม่ต้องทำอย่างไร
จึงจะถือว่าทำหน้าที่ดีที่สุด
การทำหน้าที่ให้ดีที่สุดของรัฐบาล คือการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งก็จะส่งผลให้การต่อสู้ทางการเมืองได้รับชัยชนะไปด้วย
ช่วงเวลาที่เริ่มต้นการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ใช่การลงวิ่งแข่งร้อยเมตรของนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ คนเดียว แต่เป็นการแข่งฟุตบอลที่เล่นเป็นทีมที่มีผู้เล่นในสนาม 11 คน ข้างสนามมีโค้ช ตัวสำรอง และผู้จัดการทีม
วันนี้ความสำคัญของการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีปัญหาหลายด้านเกิดขึ้นในประเทศพร้อมกัน นี่จึงเป็นวันที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะต้องพิสูจน์ฝีมือการบริหาร เพราะการบริหารประเทศมีขอบเขตที่ใหญ่กว่าการบริหารงานบริษัทมากมาย
ที่ผ่านมา คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ปล่อยให้การทำงานเป็นไปตามสายงานประจำแบบเช้าชามเย็นชาม ปัญหาต่างๆ จึงสะสมมากขึ้นทุกวัน
วันนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใหม่จะต้องโชว์วิสัยทัศน์และฝีมือการบริหารว่าแตกต่างกับรัฐบาลเก่าอย่างไร
ยกตัวอย่างสถานการณ์โดยรวมปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายจังหวัดภาคเหนือมีน้ำท่วมอยู่ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านเกษตรและที่อยู่อาศัย
ในขณะเดียวกัน ปัญหายาเสพติดก็ระบาดขึ้นมาอย่างหนักใน 5 ปีนี้ สามารถพัฒนาเครือข่ายจากชายแดน จนสามารถเข้ามาตั้งศูนย์ค้าขายในคุก มีคนเสพ คนค้ายาบ้าระบาดไปทั่วทั้งปะเทศ เกิดเหตุฆาตกรรมจากคนเมายาครั้งแล้วครั้งเล่า
ขอทานเต็มบ้านเต็มเมือง อพยพเข้ามาอยู่ได้อย่างเสรี มีการค้ามนุษย์เพื่อผลประโยชน์ ยอมทำแม้กระทั่งขโมยลูกคนอื่นมาบังคับให้เป็นขอทาน ค่าครองชีพก็พุ่งขึ้นสูงในขณะที่ค่าแรงยังไม่พอกิน จะต้องเพิ่มค่าแรงโดยเร็ว
ความขัดแย้งในเรื่องความยุติธรรมก็ยังดำรงอยู่ มีคนถูกจับกลางถนนเพราะทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเคอร์ฟิว ถูกตัดสินภายใน 12 ชั่วโมงหลังจับกุม แล้วส่งเข้าคุกถูกขังอยู่ปีกว่า แต่กลุ่มคนที่ยึดสนามบินกลับได้รับการยกเว้น ยังอยู่นอกคุกได้ทุกคน
ต้องมีวิธีแก้ปัญหาพร้อมกันหลายด้าน
ในเมื่อรัฐบาลมีทีมงานขนาดใหญ่ มีกลไกข้าราชการหลายแสนคน จึงมีขีดความสามารถที่จะทำงานพร้อมกันได้หลายด้าน นี่จะเป็นการวัดความสามารถในการบริหารของนายกฯ หญิง ว่าจะทำได้สมราคาคุยหรือไม่
การแก้ปัญหาแบบบูรณาการจะต้องไม่เป็นเพียงแค่คำพูด ถึงเวลาที่ต้องนำทุกหน่วยงานออกมาประสานงานให้ได้จริงๆ รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาอื่นมีความสำคัญอย่างไร สามารถทำพร้อมกันได้อย่างไร ใช้กลไกอะไรในการแก้ปัญหา เช่น...
เรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาสังคมขนาดใหญ่ที่จะต้องแก้ไข ถ้าผู้ค้ายาเห็นว่าการติดคุกเป็นเรื่องสบาย สามารถทำงานอยู่ในนั้นได้ เห็นคุกเป็นสโมสรของผู้ค้ายา รัฐบาลก็ต้องคิดถึงมาตรการใหม่ๆ ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะลงโทษให้เด็ดขาด
ผู้ที่ทำความผิดซ้ำซ้อนก็ควรถูกกำจัดทิ้งไปจากสังคมโดยใช้ทางกฎหมายไม่ใช่ศาลเตี้ย
กรณีขโมยเด็กไปบังคับให้ขอทานก็เช่นกัน เรื่องแบบนี้คุณยิ่งลักษณ์ไม่เพียงแต่จะไปอุ้มเด็กถ่ายรูปและจับคนขโมยเด็กมาลงโทษ แต่จะต้องถือโอกาสโฆษณารณรงค์ทางสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายที่เกิดจากการให้ทาน ว่าเงินทุกบาทที่หย่อนลงขัน คือการขโมยความเมตตา ความสงสารไปจากเรา และยังย้อนกลับมาทำลายสังคมของเรา
เมื่อมีข่าวว่าคนจับสุนัขไปขาย ผู้คนยังสงสาร ช่วยกันบริจาคเงินเกือบ 20 ล้าน ทุกวันนี้มีเด็กหาย เด็กถูกนำไปเป็นสินค้าปีละมากมาย ทำไมจะรณรงค์ให้สำเร็จไม่ได้ เมื่อไม่มีคนให้เงิน ขอทานก็จะหมดไป การบังคับเด็กขอทานจะหมดไป นายกฯ ไม่ต้องลงมาทำเอง แต่จ่ายงานได้และให้ทำเป็นระยะยาว
ส่วนเรื่องการแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ก็ต้องอธิบายให้ผู้คนเข้าใจว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ โดยไม่ปรับพื้นฐานความยุติธรรม เพราะจะเกิดความขัดแย้งจนกระทั่งเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาพังลงมาอย่างในอดีต และบางทีอาจจะขยายเป็นความรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธเช่นในลิเบีย
เศรษฐกิจในลิเบียไม่ได้ตกต่ำจนผู้คนจะอดตาย แต่เป็นเพราะผู้คนอยากได้เสรีภาพ อยากได้ความยุติธรรม
เมื่อความขัดแย้งหาเส้นทางปรองดองผ่านกฎหมายไม่ได้ ก็ต้องวัดกันว่าใครมีพวกมากกว่า ใครมีปืนมากกว่า และก็จะได้ผลอย่างที่เห็นในโทรทัศน์ คือมีคนเป็นหมื่นๆ ถืออาก้า แห่กันเข้ามายึดตริโปลี เมืองหลวง ประเทศเราคงไม่อยากให้เป็นอย่างนี้
ส่วนข้อเรียกร้องให้ทำทันทีบางอย่างก็ทำได้ เช่นลดราคาน้ำมัน แต่กรณีรถไฟฟ้า แม้เริ่มทำวันนี้อีก 4-5 ปีถึงจะเสร็จ อย่างนี้เข้าใจง่าย
กรณีแจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน อาจต้องมีขั้นตอนที่เหมาะสม เช่นทดลองซื้อมาจำนวนน้อยก่อน เพื่อจะได้ทดสอบคุณภาพของหลายๆ ยี่ห้อและเพื่อทดลองแจกเด็กหลายระดับชั้น อีกทั้งยังมีปัญหาความพร้อมของครูผู้สอน ซึ่งก็มิได้เชี่ยวชาญการใช้แท็บเล็ตทุกคน ปัญหาการเตรียมข้อมูลทางวิชาการ ความรู้ต่างๆ ที่จะบรรจุลงไปในแท็บเล็ตซึ่งก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเตรียมความพร้อมทุกอย่างให้เหมาะสม ผลงานที่ออกมาจะมีประโยชน์คุ้มค่ากว่าการรีบๆ ทำ
กรณีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็เช่นกัน ต้องทำไปแก้ปัญหาไป เพราะอุปสรรคและปัญหามีหลากหลาย ถ้าต้องเดินอ้อมบ้าง ก็ต้องทำ กลไกทางตลาดและการขาดแคลนแรงงานกำหนดทิศทางให้ต้องเดินมาทางนี้อยู่แล้ว
ต้องมุ่งมั่นทำงานอย่างสุจริต
และมั่นใจต่อการสนับสนุนของแนวร่วมและประชาชน
ในการทำงานต้องยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องมีความแน่วแน่ในนโยบาย ฟังคำแนะนำของมิตร ฟังคำท้วงติงของคนกลางๆ
อย่าไปหลงเชื่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งคำค้านและคำชม คนเหล่านั้นคิดแต่จะชิงอำนาจ ในทางคำพูดก็ต้องการโจมตีและทำให้แตกแยก ในทางปฏิบัติ ถ้าทำได้พวกเขาจะใช้ทั้งกฎหมายและกำลังอาวุธมาแย่งชิง กล้าทำแม้กระทั่งฆ่าประชาชนเพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจต่อไป
จึงสมควรเก็บความเห็นของพวกนี้ไว้ลำดับสุดท้าย ถึงอย่างไรพวกเขาก็สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อยู่แล้ว
ในกรณีที่ไม่สามารถเดินไปได้ในทางตรง ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนฟังว่าอุปสรรคเกิดจากอะไร ทำไมต้องเดินอ้อมไปอ้อมมา เรื่องเหล่านี้ประชาชนเข้าใจได้ เหมือนตัดถนนข้ามภูเขา ซึ่งจะต้องมีเส้นทางวกวนตามไหล่เขา ค่อยๆ ไต่สูงขึ้นไปจนถึงจุดหมาย เพราะไม่สามารถทำสะพานข้ามทุกหุบเหวไปได้
ในกรณีที่ต้องใช้เวลา ก็สามารถอธิบายต่อประชาชนให้เข้าใจเหตุผล ว่างานบางอย่าง แม้ทำทันทีแต่ก็จะไม่สำเร็จในทันใด เพราะมีกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ทางงบประมาณ
การตั้งคนเสื้อแดงมาช่วยงานในตำแหน่งการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องปกติ คนเหล่านี้เข้าใจนโยบาย เคยช่วยงานเลือกตั้ง และสามารถช่วยได้ทั้งรุกและรับในหน้าที่ต่างๆ แต่ผู้ที่รับตำแหน่งต้องจำคือ เวลาถูกปลด ถูกเปลี่ยน อย่าโกรธกัน เพราะตำแหน่งคือภาระหน้าที่ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว
สิ่งที่ประชาชนรอคอยคือผลสำเร็จที่จะตกถึงมือพวกเขา ไม่ใช่วิธีการ แม้ไม่ได้ผลเต็มร้อย ก็ยังพอใจและพร้อมจะร่วมพัฒนาให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป ถ้าสอบผ่านเพียงเกินครึ่ง ประเทศก็จะไหลลื่นไปตามระบบ ด้วยแรงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
จุดยืนและหน้าที่ของรัฐบาลในวันนี้คือ หาวิธีฝ่าอุปสรรคเพื่อสร้างผลงานที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริง ในระยะเวลาที่เหมาะสม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย