http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-26

รำลึก9/11 10 ปีแห่งความท้าทาย, 5 ปีแห่ง..ร้าวฉานในกองทัพ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

รำลึก 9/11 10 ปีแห่งความท้าทาย !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 36


"สำหรับฝ่ายที่แข็งแรง การเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะยุติการต่อสู้
แต่สำหรับฝ่ายที่อ่อนแอ การเสียชีวิตของพวกเขาเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ "
Martin van Creveld
The Changing Face of War (2008)


เหตุการณ์การก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 9/11 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกร่วมสมัย

เราคงต้องยอมรับกันว่าโลกหลัง 9/11 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยเฉพาะในบริบทของความมั่นคง ไม่ว่าเราจะกล่าวถึงในระดับโลก ระดับรัฐ หรือระดับสังคมก็ตาม

ดังนั้น คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกหลัง 9/11 ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

ฉะนั้น จึงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า โลกหลัง 9/11 ถูกขับเคลื่อนจากยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

และเมื่อรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐขับเคลื่อนแล้ว ประเทศต่างๆ ในโลกก็ถูกดึงเข้าสู่เวทีการต่อสู้นี้

และการต่อสู้เช่นนี้ก็นำพาประเด็นใหม่ๆ มาสู่รัฐและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย



ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่อาจจะต้องคิดทบทวนก็คือ สถานะของรัฐในบริบทด้านความมั่นคงและความท้าทายที่เกิดขึ้น

รัฐถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2191 (ค.ศ. 1648) ในยุโรป พัฒนาการของรัฐเกิดขึ้นอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ จนกลายเป็น "ตัวแสดงเดียว" ในการเมือง (state actors)

จากพัฒนาการเช่นนี้ได้ถูกสร้างเป็นหลักการว่า รัฐเป็นผู้ควบคุมเครื่องมือของความรุนแรงเพียงผู้เดียว โดยออกใบอนุญาตให้กองทัพเป็นผู้ใช้เครื่องมือดังกล่าว

และในทำนองเดียวกันก็จะไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นใดภายในรัฐเป็นผู้ครอบครองเครื่องมือนี้เพื่อใช้ในการท้าทายรัฐหรือต่อต้านรัฐ

การกระทำดังกล่าวจะถูกถือว่าเป็นการกบฏต่อรัฐ และรัฐก็พร้อมที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามกับการกระทำเช่นนี้

แต่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกรั้งที่ 2 แล้ว ก็เริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นถึงการขยายตัวของสงครามภายในรัฐ มากกว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัฐ พร้อมๆ กับเห็นถึงบทบาทของผู้ท้าทายรัฐ ที่ไม่ใช่รัฐข้าศึกในสงครามแบบเก่า หากแต่เป็น "ตัวแสดงภายใน" ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐ หรือเราอาจจะเรียกว่าเป็น "ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ" (non-state actors)

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ความเป็นตัวแสดงเดียวที่เป็นผู้ควบคุมอาวุธในสังคมถูกท้าทายโดยตรง



ในยุคหลังสงครามเย็น สถานะเช่นนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปอีก

ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐกำเนิดและมีพัฒนาการของความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของความมั่นคงแล้ว ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในรูปแบบของขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการก่อความไม่สงบ ล้วนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับยุคสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนสนับสนุน ความสามารถทางเทคโนโลยี ตลอดรวมถึงการจัดตั้งในรูปแบบใหม่ๆ และพัฒนาการของอาวุธและวัตถุระเบิด เป็นต้น สภาพเช่นนี้ก็คือ การตอบว่ารัฐไม่ใช่ตัวแสดงเดียวในเวทีการเมืองและความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว

ความแข็งแกร่งและความท้าทายของขบวนการเหล่านี้ในฐานะของการเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ปรากฏให้เห็นผลอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ 9/11 เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวมีขนาดใหญ่และเป็นสิ่งที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อนในระดับของการก่อการร้าย

และที่สำคัญก็คือ ผู้ก่อเหตุร้ายไม่ได้ต้องการมีชีวิตรอดหลังปฏิบัติการ พวกเขาเดินหน้าเข้าหาความตายอาจจะไม่แตกต่างจากนักบินกามิกาเซ่ของราชนาวีญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

สภาพเช่นนี้บ่งบอกอีกประการหนึ่งว่า การก่อการร้ายแบบเก่าของยุคสงครามเย็นได้ยุติลง พร้อมๆ กับการกำเนิดของการก่อการร้ายใหม่

โดยมีลักษณะใหม่ๆ ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในการต่อสู้กับรัฐทั้งสิ้น

ดังจะเห็นได้ดังนี้

1)การก่อการร้ายใหม่มีความรุนแรงขนาดใหญ่ (mega violence) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความรุนแรงแบบสุดโต่ง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มุ่งเอาการทำลายล้างเป็นหลัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรุนแรงเป็นจุดจบในตัวเองมากกว่าจะเป็นวิถีของการนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมือง

2) การก่อการร้ายในปัจจุบันสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางการเงินและแหล่งทุนสนับสนุน กล่าวคือ ขบวนการมีแหล่งทุนภายในเป็นของตนเอง เช่น อาจจะผ่านกระบวนการทำธุรกิจทั้งแบบปิดและแบบเปิดเพื่อใช้สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของตน

3) การก่อการร้ายปัจจุบันพึ่งพาต่อรัฐน้อยลง หรืออาจจะไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐเลยก็ได้ อันทำให้แนวคิดในเรื่องของ "การก่อการร้ายจากการสนับสนุนของรัฐ" (state-sponsored terrorism) ไม่ใช่แบบแผนหลักในโลกร่วมสมัย ดังได้กล่าวแล้วว่า ขบวนการนี้มีแหล่งเงินสนับสนุนเป็นของตนเอง จึงทำให้ปฏิบัติการของพวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับผลประโยชน์ของรัฐที่ให้การสนับสนุน (ดังเช่นในยุคสงครามเย็น) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปฏิบัติการของพวกเขาเป็นอิสระจากรัฐ

4) ขบวนการก่อการร้ายสมัยใหม่มีขีดความสามารถในลักษณะของความชำนาญเฉพาะด้าน (functional specialization) มากขึ้น แต่เดิมขบวนการเช่นนี้ต้องพึ่งพารัฐ รัฐจึงอยู่ในฐานะผู้อุปถัมภ์ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของทุน ที่พักพิง และการจัดหาอาวุธ แต่เนื่องจากปัจจุบันขบวนการนี้สามารถพึ่งพาตนเอง จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถเฉพาะด้านให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดองค์กรแบบใหม่ที่สะท้อนถึงการเน้นขีดความสามารถเฉพาะด้าน

5) การก่อการร้ายในอดีตมักจะจำกัดขอบเขตอยู่กับปฏิบัติการภายในประเทศ แต่ในปัจจุบันขบวนการเหล่านี้มีลักษณะของปฏิบัติการข้ามชาติ ซึ่งก็อาจจะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กิจกรรมต่างๆ มีความเป็นข้ามชาติมากขึ้น หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โลกเป็นโลกาภิวัตน์ฉันใด การก่อการร้ายก็เป็นโลกาภิวัตน์ฉันนั้น

6) การก่อการร้ายในแบบเก่าพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่มากนัก แต่การก่อการร้ายในปัจจุบันมีลักษณะของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

หรือเทคโนโลยีสมรรถนะสูงมากขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์ดาวเทียม การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น กล่าวคือ แม้พวกเขาอาจจะดูเป็นพวกจารีตนิยม ต่อต้านความเป็นสมัยใหม่ แต่พวกเขากลับใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

7) การก่อการร้ายใหม่มีลักษณะของการพลีชีพมากกว่าการสงวนชีวิตของผู้ปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ก่อเหตุรุนแรงพร้อมที่จะสละชีวิตของตนเองไปพร้อมกับปฏิบัติการที่เกิดขึ้น แตกต่างอย่างมากจากปฏิบัติการแบบเดิมที่ผู้ก่อเหตุพยายามที่จะรักษาชีวิตของตนเอง อย่างน้อยพวกเขาก็ต้องการเป็น "วีรบุรุษที่ยังมีชีวิตอยู่" มากกว่าจะเป็น "วีรบุรุษที่ตายแล้ว"

ลักษณะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ผู้ก่อเหตุไม่มีความจำเป็นต้องรักษาชีวิตของตนเองแต่อย่างใด ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องสงวนชีวิตของผู้อื่น เพราะปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมุ่งประสงค์การทำลายเป็นหลัก และก็เป็นการทำลายล้างขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งการทำลายล้างเช่นนี้จะประสบความสำเร็จได้ก็มีความจำเป็นอยู่เองที่ผู้ก่อเหตุอาจจะไม่สามารถรักษาชีวิตของตนเองได้

8) ถ้าการก่อการร้ายแบบเดิมมีความพยายามที่จะรักษาภาพลักษณ์ทางการเมือง ด้วยการมุ่งทำลายเป้าหมายที่มีความจำกัดและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในทางการเมืองกับขบวนการของตน แต่การก่อการร้ายใหม่อาจจะไม่ได้คำนึงผลกระทบทางการเมืองจากปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

ในทางตรงข้ามพวกเขามุ่งหวังผลของความรุนแรงในฐานะของอำนาจการทำลายล้างต่างหาก และหวังว่าการทำลายล้างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจะสร้าง "ความกลัวขนาดใหญ่" ให้แก่โลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการส่งสัญญาณถึงการทำสงครามโดยตรงกับรัฐ

9) การก่อการร้ายในโลกปัจจุบันส่งผลกระทบต่อนโยบายในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งการก่อการร้ายแบบเดิมมักจะหวังผลกระทบในทางยุทธวิธี หรือผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในวงแคบๆ เช่น การเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลของฝ่ายตนหรือการตอบแทนในลักษณะของการให้เงิน เป็นต้น

ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมักจะไม่ใช่เรื่องในขอบเขตทางยุทธศาสตร์ และรัฐเป้าหมายก็ไม่เคยถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนนโยบายของตนจากปัญหาที่เกิดขึ้น

แต่การก่อเหตุในปัจจุบันอาจทำให้รัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ เช่น รัฐบาลสเปนหลังจากการก่อการร้ายที่สถานีรถไฟในเมืองหลวงของตน ได้ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายโดยการถอนทหารออกจากอิรัก เป็นต้น อันเท่ากับบ่งบอกว่าการก่อการร้ายร่วมสมัยสามารถส่งผลกระทบในทางยุทธศาสตร์ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐได้

10) การก่อการร้ายสมัยใหม่มีลักษณะเป็น "เครือข่าย" โดยเป็นการเชื่อมต่อของเครือข่าย (network) ในรูปแบบต่างๆ ว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างจากเครือข่ายของระบบอาชญากรรม ซึ่งทำให้การเฝ้าตรวจและการระวังป้องกันเป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะเครือข่ายโดยเฉพาะการใช้ระบบสารสนเทศสมัยใหม่เช่นนี้เอื้อให้พวกเขาทำงานในลักษณะปกปิดได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นได้ง่ายเช่นกัน

11) การก่อการร้ายในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนจากมิติทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม มากกว่าจะเป็นการขับเคลื่อนจากอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นในยุคสงครามเย็น ดังจะเห็นได้ว่าขบวนการก่อการร้ายมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา และในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าผู้ก่อการร้ายมักจะเป็นพวกจารีตนิยม แต่ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าพวกจารีตนิยมไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอไป

12) การก่อการร้ายร่วมสมัยมีลักษณะเปิดกว้างให้แก่ผู้เข้าร่วม เช่น บทบาทของผู้ก่อการร้ายหญิง เป็นต้น ซึ่งในอดีตจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงไม่ได้ถูกดึงตัวเข้ามาเป็น "ผู้ปฏิบัติการ" เว้นเสียแต่จะใช้ในรูปแบบของแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันอาจจะเห็นได้ทั้งในกรณีเด็กและผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การก่อการร้ายมี "ความใหม่" และแตกต่างจากการก่อการร้ายในยุคสงครามเย็น ซึ่งถูกถือว่าเป็นการก่อการร้ายเก่า ดังนั้น การก่อการร้ายใหม่ที่เปิดให้เห็นจากปรากฏการณ์ 9/11 จึงเป็นความใหม่ของโลกความมั่นคง

และอาจจะถือว่าเป็นความใหม่ของยุคสมัย แต่ที่สำคัญก็คือ การแสดงให้เห็นถึงการท้าทายต่อรัฐจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ จนถึงขั้นมีขีดความสามารถในการทำสงครามกับรัฐได้

ปัญหาก็คือขบวนการก่อการร้ายใหม่และความท้าทายเช่นนี้จะดำรงอยู่ไปอีกนานเท่าใด และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะสามารถเอาชนะสงครามเช่นนี้ได้หรือไม่ แม้จะถือเอาว่าการสังหารชีวิตของ อุสซามะห์ บิน ลาดิน เป็นปัจจัยเชิงบวกของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ใครเล่าจะเชื่อว่าการสิ้นสุดชีวิตของ บิน ลาดิน คือ การสิ้นสุดชีวิตของการก่อการร้ายใหม่ !



++

5 ปีแห่งความแตกแยกและร้าวฉาน ในกองทัพ !
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1622 หน้า 37


"เราเชื่อกันว่า นายทหารในสังคมประชาธิปไตยควรเป็นกลางทางการเมือง
...นายทหารไม่ได้รับอนุญาตให้มีอิทธิพลเหนือผู้ใต้บังคับบัญชาในทางการเมือง
เขาจะทำได้มากที่สุดก็คือ การบอกผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทหารทำสงครามก็เพื่อปกป้องเสรีภาพ "
Martin van Creveld
The Training of Offices (1990)


รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย แม้ในช่วงต้นผู้นำทหารและบรรดาชนชั้นนำจะกังวลอย่างมากกับการต่อต้านของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็เป็นไปตาม "กฎแห่งการยึดอำนาจ" เมื่อผู้นำกองทัพตัดสินใจใช้กำลังทหารล้มรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือนที่ไหนก็ตามไม่อาจจะต้านทานได้

และแม้จะกังวลว่าผู้นำพลเรือนดังกล่าวจะใช้สถานะของความเป็นรัฐบาลที่ถูกโค่นประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลพลัดถิ่น" เพื่อต่อสู้กับการรัฐประหารนี้ แต่ในท้ายที่สุด แนวคิดเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่นก็ไม่ได้เกิดขึ้น...

รัฐประหาร 2549 จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งของความสำเร็จของผู้นำทหารในการใช้กำลังเข้าควบคุมการเมืองไทย แล้วการยึดอำนาจในวันนั้น

ก็จบลงไม่ยากอย่างที่คิด!

และที่สำคัญก็คือ พวกเขาได้ลิ้มรสแห่งอำนาจอย่างแท้จริง

เป็นอำนาจที่ครั้งหนึ่ง ผู้นำทหารเคยมีไว้ในครอบครอง

แต่เรื่องราวของอำนาจเช่นนี้ก็กลายเป็นเพียงตำนานของกองทัพในยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535



การเมืองไทยในปี 2549 และหลังจากนั้น ไม่ใช่การเมืองในอดีตที่ผู้นำทหารจะสามารถสำแดงพลังในการควบคุมระบบการเมืองไทยได้โดยง่าย

แม้จะมีพลังสนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่พลังดังกล่าวก็มิได้เข้มแข็งจนไม่ถูกต้านทานและคัดค้าน

หรือแม้รัฐบาลทหารและผู้นำกองทัพจะมีแรงสนับสนุนเช่นในแบบเดียวกับรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ทั้งในบริบทของการเมืองไทยและการเมืองโลกแล้ว พลังดังกล่าวก็มิใช่จะเป็น "หลังพิง" ให้กับผู้นำทหารได้ในทุกเรื่อง

แม้ผู้นำทหารจากการรัฐประหาร 2549 ดูเหมือนจะมีอำนาจอย่างมาก แต่การใช้อำนาจก็มีความจำกัดจากการต่อต้านที่เกิดขึ้น และแรงต่อต้านทวีความรุนแรงขึ้นจากการปราบปรามทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบในเทศกาลสงกรานต์ 2552 และต่อมาในสงกรานต์ 2553 และการสังหารใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2553

ตลอดรวมถึงการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการเมืองในรูปแบบต่างๆ

อย่างน้อยการเปลี่ยนขั้วการเมืองจากการถูกยุบพรรคของรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทแอบแฝงของทหาร จนถึงกับมีการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในค่ายทหาร

และยังสะท้อนให้เห็นได้อีกจากอำนาจของทหารในกระบวนการด้านงบประมาณ ที่กองทัพได้งบทุกอย่างตามต้องการ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกให้เห็นสถานะของทหารในการเมืองไทยอย่างชัดเจน กองทัพยังจะต้องมีบทบาททางการเมืองต่อไป แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาลทหาร

การไม่มีรัฐบาลทหารทำให้กองทัพสามารถลดทอนแรงกดดันในทางการเมืองลงได้อย่างมาก และการเล่นบท "ผู้กำกับหลังฉาก" ก็ทำให้ผู้นำกองทัพได้อำนาจและทรัพยากร (งบประมาณ เป็นต้น) ตามความปรารถนาได้โดยไม่จำเป็นต้องตกเป็นเป้าโดยตรง

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแล้ว อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของผู้นำทหารที่กองบัญชาการกองทัพบก มากกว่าจะอยู่กับผู้นำการเมืองในทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ผลจากการประมาณการณ์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก กล่าวคือ

คณะรัฐประหารเชื่อว่าทหารสามารถควบคุมระบบการเมืองได้ จึงตัดสินใจยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปลายเดือนธันวาคม 2550

ผู้นำทหารบางส่วนเชื่อว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถดำเนินการด้วยกรรมวิธีต่างๆ จากความเป็นรัฐบาลที่คุมการเลือกตั้ง และจะทำให้พรรคการเมืองในปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยมที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในทางความคิด ได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน

แต่ก็แพ้!



สถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่แนวคิดแบบสุดโต่งในการโค่นล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา ด้วยการระดมพลครั้งใหญ่ของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ล้มลงจากการกระทำดังกล่าว

หากถูกล้มโดยกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" โดยการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการในทางการเมือง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้จากการล้มของรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เกิดจากอำนาจ "ค้อน" มากกว่าอำนาจ "ปืน"

ตัวแบบจากการใช้อำนาจเช่นนี้ทำให้บทบาทของสถาบันตุลาการในทางการเมืองเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่ก็ดูจะ "เนียน" กว่าการใช้อำนาจของทหาร เพราะอย่างน้อยผู้นำทหารก็ไม่ต้องใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลสมัคร และไม่ต้องยึดอีกครั้งจากรัฐบาลสมชาย

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิด "รัฐประหารเงียบ" ในการเมืองไทยอย่างน้อย 3 ครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ได้แก่ คำตัดสินในกรณีทำกับข้าวในรายการโทรทัศน์และส่งผลให้ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

คำตัดสินยุบพรรคในสมัยรัฐบาลสมชาย ทำให้รัฐบาลในปีกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหมดสภาพไป

และการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำภายใต้การสนับสนุนของผู้นำกองทัพ และกดดันให้พรรคการเมืองบางส่วนเข้าร่วมกับรัฐบาลนี้

รัฐประหารเงียบเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยหลังจากรัฐประหาร 2549 มีอยู่สูงมาก และสูงมากจนกลายเป็น "พันธนาการ" สถาบันทหารไว้กับการเมือง และไม่อาจตอบได้ว่าถ้าต้องถอยออกแล้ว กระบวนการถอนตัวทางการเมืองของทหารไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

เพราะตราบจนปัจจุบัน ก็ไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการที่จะ "กลับกรมกอง" เกิดขึ้นแต่อย่างใด อันทำให้หลายๆ ฝ่ายกังวลว่า กระบวนการถอนตัวจากการเมืองอาจจะเกิดจากสภาพบังคับมากกว่าจะเป็นสภาพอาสา

ดังตัวแบบของ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535



นอกจากนี้ "โซ่ข้อใหญ่" ที่ผูกผู้นำกองทัพไทยไว้อย่างแน่นหนาก็คือ ปัญหาการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

กรณีนี้จะยังคงตามหลอกหลอนผู้นำทหารรุ่นนี้ต่อไป ไม่ว่าจะในบริบททางการเมืองและในชีวิตจริง

แต่หากกรณีดังกล่าวกลายเป็นคดีในชั้นศาลเมื่อใดก็ตาม เมื่อนั้นเราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในกองทัพได้ไม่ยากนักเช่นกัน

และก็แน่นอนว่า พวกเขาไม่ยินยอมเป็นอันขาดที่ไทยจะเป็นภาคีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) และหากเข้าเป็นสมาชิกเมื่อใด รัฐประหารก็จะตามมาทันทีเช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งการขยายบทบาทของกองทัพในการเมืองก็ทำให้ผู้นำทหารกลายเป็น "ผู้นำทางการเมือง" ไปโดยปริยาย เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กองบัญชาการกองทัพเป็น "ศูนย์กลางอำนาจรัฐ" ที่แท้จริง การตัดสินใจทางการเมืองยุติลงด้วยการตกลงใจสุดท้ายของผู้นำทหาร

หากจะแตกต่างจากในอดีตก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่านั้น

ในสถานการณ์ปัจจุบันพวกเขาดูจะยังไม่พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องกล่าวว่า พวกเขายังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากเวทีสากล

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในโลกปัจจุบัน โอกาสที่รัฐบาลต่างประเทศจะให้การรับรองต่อการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลทหารใหม่ของไทยนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

ยิ่งคิดคู่ขนานกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตะวันออกกลางแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่า รัฐประหารครั้งใหม่จะเป็นความสุ่มเสี่ยงขนาดใหญ่ที่อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในการเมืองไทยได้ไม่ยากนัก



ปัญหาไม่ใช่แค่เพียงแรงกดดันจากภายนอกและแรงต้านจากภายในเท่านั้น หากแต่ผลกระทบในเชิงสถาบันที่เป็นปัญหาใหญ่ของทหาร

ก็คือ ความแตกแยกและความร้าวฉานภายในกองทัพอย่างรุนแรง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลพวงใหญ่ของรัฐประหาร 2549 ก็คือ เกิดการแบ่งฝ่ายแยกข้างในกองทัพอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากชื่อเรียกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น บูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ และทหารแตงโม เป็นต้น

คำเรียกขานเหล่านี้เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของความแตกแยกของทหาร แม้จะกล่าวว่าในความเป็นจริง กองทัพก็แตกแยกทุกยุคทุกสมัย จากปัญหาการแก่งแย่งและแข่งขันในเรื่องตำแหน่งและการปรับย้าย

หากแต่ผลจากรัฐประหารที่นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่ม "บูรพาพยัคฆ์" ซึ่งมีพื้นฐานเดิมจากกรมทหารราบที่ 21 และต่อมาก็ขยายความถึงทหารจากกองพลทหารราบที่ 2 ปราจีนบุรี

การขยายบทบาทของกองทัพผ่านกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ย่อมทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้เกิดการ "เบียด" กลุ่มอำนาจเดิม โดยเฉพาะในกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งถูกขนานนามโดยสื่อว่าเป็นพวก "วงศ์เทวัญ" ให้ต้องหลุดออกจากตำแหน่งสำคัญๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งหลักในการกุมกำลังของหน่วยรบของกองทัพภาคที่ 1

ดังนั้น คงสรุปได้ว่า แม้รัฐประหาร 2549 ได้เปิดโอกาสให้แก่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ทั้งในทางการเมืองและการทหาร แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นจากแรงเสียดทานภายในกองทัพเอง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่ปัญหากับบรรดาวงศ์เทวัญเท่านั้น หากแต่ยังมีกลุ่มทหารบางส่วนที่ไม่ได้ตอบรับแนวคิดกับกลุ่มอำนาจในกองทัพ และยังมีใจไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้บรรดานายทหารเหล่านี้จะถูกผลักออกจากการคุมตำแหน่งสำคัญ แต่เครือข่ายและเส้นสายของพวกเขายังอยู่ในแวดวงทหาร

ทหารเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่าเป็น "ทหารแตงโม" ซึ่งก็ไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มนี้มีขนาดใหญ่มากน้อยเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธกับการดำรงอยู่ของพวกเขาไม่ได้ อย่างน้อยการประชุมของรัฐบาลกับผู้นำทหารหลายๆ ครั้งในช่วงการปราบปรามในเดือนพฤษภาคม 2553 นั้น ก็ได้เห็นเอกสารการประชุมดังกล่าวออกสู่เวทีของผู้ชุมนุมฝ่ายเสื้อแดงหลายฉบับ

ซึ่งก็คืออีกภาพสะท้อนหนึ่งของความแตกแยกครั้งสำคัญในกองทัพ

เพราะไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงความไม่มีเอกภาพของทหารเท่านั้น หากแต่ยังบอกถึงทัศนะการเมืองที่แตกต่างของกลุ่มทหารในขณะนี้อีกด้วย

อย่างน้อยผลการเลือกตั้งในหลายหน่วยทหาร ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ผู้นำทหารต้องการ ก็บ่งบอกถึงเอกภาพทางการเมืองของกองทัพเป็นอย่างดี

ในอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงมีนายทหารธรรมดาๆ ที่อาจจะไม่อยู่ในกลุ่มใดๆ เลย แล้วเราจะจัดพวกเขาไว้ตรงไหน ซึ่งก็อาจจะเป็นอีกกลุ่มในกองทัพที่นั่งดูว่าสถานการณ์ในกองทัพจะพลิกผันไปอย่างไรในอนาคต

แม้บางทีเราอาจจะบอกว่า กลุ่มนี้ไม่น่าสนใจ เพราะไม่มีทัศนคติทางการเมืองที่ชัดเจน และบางทีก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งคุมกำลังหลักที่จะต้องให้ความสนใจ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ทหารธรรมดา" เหล่านี้อาจจะมีอยู่เป็นจำนวนมากพอสมควรในกองทัพ หรือบางทีอาจจะเป็น "พลังเงียบ" ในกองทัพอีกแบบหนึ่งหากสามารถช่วงชิงเป็นพวกได้ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะเป็น "ผู้ดู" มากกว่า "ผู้เล่น" และไม่มีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลงในกองทัพเท่าใดนัก

เรื่องราวเหล่านี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า กองทัพกับการเมืองไทยไม่มีอะไรเหมือนเดิมแบบเก่าอีกต่อไปแล้ว

ความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 ได้กลายเป็นพันธนาการใหญ่จนผู้นำกองทัพเอาตัวออกจากการเมืองไม่ได้

แต่อำนาจในการเมืองที่ได้มาก็เป็นดั่ง "ไฟร้อน" ที่เผาไหม้กองทัพในขณะเดียวกันด้วย!



.