http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-09-03

ละคร, +หนังที่ควรได้รับการสนับสนุน โดย คำ ผกา

.

ละคร
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 90


แปลกใจว่าทำไมคนจึงแตกตื่นกับการฉายคลิปบ่อนกลางกรุงของ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กันนักหนา แปลกใจพอๆ กับที่เมื่อหลายปีก่อน โทรทัศน์ไอทีวีในสมัยนั้นติดกล้องลับแอบถ่ายตำรวจรับเงินจากคนขับรถที่ทำผิดกฎจราจรหรือกฎหมายอะไรจำไม่ได้ชัด

เหตุที่แปลกใจเพราะไม่เข้าใจว่า คนไทยทุกคนต่างก็รู้ดีว่ามีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างสามัญที่สุด และเผลอๆ เราก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนที่เคยยกมือไหว้บอกพี่จราจรว่า "ขอโทษจริงๆ ครับ ไม่ทันระวัง ไม่ว่ากันนะพี่นะ" ก่อนจะ "ตอบแทนน้ำใจ" กันในเรตที่เป็นรู้กันดีอีกนั่นแหละว่าเท่าไหร่ โดยปราศจากความโกรธเกลียดหรือแม้กระทั่งเห็นว่านี่คือการคอร์รัปชั่น แต่มองว่าเป็นการ "ช่วยกัน" ต่างตอบแทน พนักงานเหล่านี้เงินเดือนก็น้อย งานก็หนัก นิดๆ หน่อยๆ และไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ส่วนด้านที่ต้องส่งส่วยกันอย่างเป็นระบบก็ยิ่งรู้สึกว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการ "บริหารจัดการ" ที่ขาดเสียไม่ได้ไปแล้ว

ส่วนเรื่อง "บ่อน" ก็เหมือนกับ "ซ่อง" เหมือนกับ "คลินิกทำแท้งเถื่อน" เหมือน "หวยเถื่อน" เหมือน "น้ำมันเถื่อน" และเหมือนอะไรที่ "เถื่อนๆ" อีกหลายประเภทเหลือเกินในประเทศนี้ที่พวกเราต่างก็รับรู้ว่ามันมีอยู่

หรือคุณคิดว่า น้องๆ ที่พัฒน์พงศ์ ที่นานา เค้าแค่ออกมาเต้นๆ และนั่งดริ๊งก์เป็นเพื่อนแขกเท่านั้นจริงๆ

แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์ประเภทแอบถ่ายมาแฉ (ซึ่งไม่เหมือนกับการเขียนแฉ หรือเล่าให้ฟัง) คนจำนวนมาก (รวมทั้งคนที่เคยทำ เคยใช้บริการ เคยเห็นสิ่งหรือพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยตาของตนเอง) ก็ยังรู้สึกว่า เราต้องตื่นเต้น เราต้องประโคมข่าว เราต้องกดดันให้รัฐ ให้ตำรวจจัดการกับเรื่องนี้ไห้เด็ดขาดเสียที



เป็นดังนี้ ทำให้ฉันคิดว่าหรือสังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการ "แสดง" (perform) ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของการ "แสดง" และการ "จัดฉาก" และการแสดงหรือ performance อันนี้สำคัญกว่าข้อเท็จจริงทุกประการ และเราอาจจะขาดใจตายเสียก็ได้หากชีวิตนี้ปราศจากซึ่ง "งานแสดง"

โรงละครโรงใหญ่ที่ชื่อว่า "ประเทศไทย" นี้เล่นละครเรื่อง "ประเทศไทยที่น่าอยู่งดงามไม่เหมือนใครในโลก"

ละครเรื่องนี้เล่นตามบทที่เขียนเอาไว้ว่า

"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรม วัฒนธรรมเก่าแก่ดีงาม เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ในอดีตเหนือกว่าอาณาจักรอื่นๆ ในภูมิภาค อาณาจักรอื่นๆ นั้นหากไม่สวามิภักดิ์ต่อเราด้วยเกรงกลัวในความเก่งกล้าสามารถก็มักใช้เล่ห์กล การหักหลัง การไม่สำนึกในบุญคุณอย่างน่าขยะแขยงมาทำให้เราพ่ายแพ้ในการศึก"

"อาณาจักรไทยของเรา แม้จะเคยเพลี่ยงพล้ำในการสงครามแต่ก็กอบกู้เอกราชมาได้เสมอด้วยความสามัคคีของคนในชาติ การเสียสละชีวิตของคนที่รักชาติยิ่งกว่าชีวิตของตน ด้วยปรีชาสามารถของผู้ปกครองที่มีทั้งคุณธรรมและความกล้าหาญ อัจฉริยะ จนนำพาประเทศชาติให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่ยอมสูญเสียที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วให้แก่ใคร ยินดีปกป้องเชิดชูศักดิ์ศรีของประเทศชาติไว้เหนือสิ่งอื่นใด"

"ใครก็ตามที่เห็นว่าอาณาจักรไทยมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าหลัง เช่น การมีภรรยาหลายคน การดูถูกสตรีเพศ คนเหล่านั้นเข้าใจผิด เพราะนั่นเป็นวัฒนธรรมจีนและอินเดียที่ผสมปนเปอยู่ในวัฒนธรรมไทย แต่วัฒนธรรมไทยแท้บริสุทธิ์นั้นเป็นวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวและให้เกียรติผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่อย่างสูงส่ง หรือหากมีใครมาว่าคนไทยกินเนื้อหมา เราจะรีบเถียงว่า ไฮ้ อย่ามามั่ว พวกคนกินเนื้อหมาในเมืองไทยไม่ใช่คนไทย นู่น เป็นแกว เป็นลาว "


ละครเรื่องนี้ใช้ตรรกะเช่นนี้ตลอดเรื่องนั่นคือ อะไรที่ดีๆ เราจะบอกว่าเป็นไทย อะไรที่ไม่ดีเราจะรีบโยนให้คนอื่น

ลูกเมียเช่า ถ้าโตขึ้นเป็นเด็กจรจัด ข้างถนนเป็นอาชญากรเราจะเรียกลูกเมียเช่า ถ้าบังเอิญได้เป็นคนดังระดับโลกเราจะรีบเรียกเข้ามารับปริญญากิตติมศักดิ์พร้อมมอบสัญชาติไทย และมีพิธีมอบกุญแจเมืองกันได้อย่างเอิกเกริก เด็กไทยที่ไประหกระเหินอยู่เมืองนอก หากตกต่ำ เป็นปัญหาของสังคม เราจะบอกว่า "อ๋อ มันได้อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก" แต่ถ้าเขาได้ดิบได้ดีมีชื่อเสียง กลายเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก เราจะบอกว่า "นี่ไงคนไทยมีความสามารถ มีพรสวรรค์ มีเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็สร้างความภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ"

ในละครเรื่องนี้ประเทศไทยต้องมีโขน มีปี่พาทย์ ระนาดเอก มีผ้าไหม มีสาวไทยนั่งบนตั่งแกะสลักผลไม้ มีรำไทย มีตลาดน้ำ มีชาวนาผู้เบิกบานและควายที่อ้วนท้วน สมบูรณ์ แข็งแรง

ในละครเรื่องนี้ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งความเมตตาและไมตรีจิต ท่ามกลางความมลังเมลืองของศิลปะ จิตรกรรมในวัด เจดีย์สีทอง และผู้คนที่แต่งตัวแบบไทยๆ นั่นคือผ้าฝ้าย ผ้าถุง เดินเข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญกับพระสงฆ์ที่ดูเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว สำรวม ไม่เป็นกะเทย ไม่เล่นหวย ไม่เล่นยา และมีใบหน้าเปื้อนยิ้ม หากไม่ใช่ฉากนี้อาจตัดสลับไปที่ฉากความเป็นพุทธสายปฏิบัติอยู่อย่างสมถะในป่าลึก

โอ้ เมืองไทยเมืองพุทธ ไม่มีที่ไหนจะดีไปกว่าการได้อยู่ในเมืองแห่งพุทธศาสนาอันลึกซึ้งเช่นนี้แล้ว

ในละครเรื่องนี้จะให้ตัวละครออกมาบอกว่า ไม่ว่าจะมีความทันสมัยในสังคมแค่ไหน เราจำต้องรักษาวิญญาณแห่งความเป็นพุทธ และรัฐบาลต้องแบ่งงบประมาณมาให้เหล่าสถาปนิกเชิงพุทธมาสร้างสถาปัตยกรรมหรือสวนแห่งจิตวิญญาณกันให้มาก มิเช่นนั้นมันจะถึงกาลเสื่อมแห่งวิถีทางจิตวิญญาณแบบไทย

ส่วนจะมีคนจน หรือปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศที่ต้องการใช้งบประมาณอีกมากนั้นช่างหัวมัน จะมีอะไรมาสำคัญไปกว่าจิตและปัญญาแบบไทยเล่า และจะให้ดีเราต้องช่วยกันสร้างห้องนิพพานจำลองกันให้มากๆ เพื่อคนจะได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์แห่งการเข้าถึงนิพพานแล้วจะได้ไม่ต้องกินแวเลี่ยม เอ๊ย จะได้ไม่ต้องไปหมกมุ่นกับปัญหาแบบโลกย์ๆ ให้มากนัก

ในละครเรื่องนี้ ภาพของครอบครัวไทยจะเป็นภาพของความรักความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีภาพยายกับหลาน ปู่กับหลาน ภาพคนแก่ที่มีความสุขท่ามกลางลูกหลานยอดกตัญญู เป็นคนแก่อารมณ์ดี เราจะไม่มีวันเห็นภาพคุณปู่คุณตาคุณย่าคุณยายเจ้าอารมณ์หรือหงุดหงิดเลย หาไม่จะเป็นภาพคนแก่โศกเศร้าที่ลูกหลานทิ้งไป เป็นการกระตุ้นให้เรารีบมารักษาวัฒนธรรมไทยด้วยความรักความอบอุ่นในครอบครัวอย่างไร้เงื่อนไข

ผู้หญิงไทยในละครเรื่องประเทศไทยยังเป็นแม่พลอยหรือหญิงกล้าหาญแบบแม่มณีในทวิภพ พ้นจากนี้แล้วไม่ใช่ผู้หญิงไทย เร็วๆ นี้ฉันถูกนักปราชญ์ราชบัณฑิตท่านหนึ่งอบรมด้วยความปรารถนาดีว่า "การนั่งไขว้ขามิใช่สิ่งที่คนไทยทำ" สาธุ

ดังนั้น จึงสันนิษฐานต่อไปว่าในละครเรื่องนี้ผู้หญิงไทยคงไม่ "บ๊วบ" ไม่ "คราง" ไม่เป็นเกย์ ไม่ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก และอีกหลายต่อหลายไม่ที่เดียว



ละคร "ประเทศไทย" แสดงต่อเนื่องไปอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า ไม่เคยปรับพล็อต ไม่เคยปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย มีแต่จะเสริมความดราม่าให้เข้มข้น ไร้เหตุผล ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมากขึ้น ทว่า ละครเรื่องนี้สมจริงเสียจนมีคนไทยจำนวนมากเชื่อว่าหากปราศจาก "ละคร" เรื่องนี้แล้วตนเองจะไร้ที่พึ่งทางจิต เคว้งคว้าง สับสน อ้างว้าง และอาจสิ้นชีวิตได้

การเสพติด "ละคร" นี้ทำให้คนไทยจำนวนมากหลับตาเสียหนึ่งข้างกับ "ความเป็นจริง" คนไทยจำนวนมาก ร้องไห้กับหมาจรจัด เสียใจกับหมาที่ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร

แต่ไม่รู้ไม่ชี้กับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อดอยาก ยากจน ถูกกดขี่ให้ตกต่ำซ้ำซากอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ฉ้อฉล หลอกลวง

คนไทยจำนวนมากจึงไม่ยอมรับความจริงที่ว่าประเทศนี้มีทุกอย่างเท่าที่เมืองของมนุษย์พึงจะมีนั่นคือ บ่อน ซ่อง หวย ทำแท้ง incest พระตุ๊ด เณรกะเทย แม่ชีทอม มีการร่วมเพศระหว่าง คน สัตว์ สิ่งของ มีเซ็กซ์ทอย มีการรับสินบน มีหมอชั่ว มีครูปลิ้นปล้อน มีพระสร้างภาพจนกลายเป็นดารา มีนักเขียนลวงโลก มีหญิงสำส่อน (เช่น คำ ผกา เป็นต้น) มีคนโดนขังฟรี มีคนจ้างเด็กไปติดคุกแทนตัวเอง

มีและมีอะไรอีกหลายร้อยพันประการเป็นความอัปลักษณ์อันต่างจากภาพฝันที่ "ละคร" มอบให้แก่เรา



ความอัปลักษณ์ใดๆ ก็ตามจะไม่ได้รับการเยียวยาเลย หากเราไม่เริ่มต้นที่การยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็น เช่น ภาษาไทยก็ไม่ได้เก่าแก่อะไรนักหนา ประเทศเราก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ คนไทยก็เหมือนปุถุชนพลเมืองโลกทั่วๆไป ไม่ได้เก่งหรือโง่เป็นพิเศษ ปัญหา บ่อน ซ่อง และอีกหลายๆ ปัญหาเรื่องความดี หรือ ศีลธรรม หรือความซื่อสัตย์เคร่งครัดของตำรวจ แต่เป็นปัญหาเรื่องการ "บริหารจัดการ" ล้วนๆ

เอาอย่างหยาบที่สุด เพียงยอมรับว่าการพนันมีอยู่จริง คนชอบเล่นการพนันมีอยู่จริง แทนการห้ามการปิด เราน่าจะมีวิธีการบริหารจัดการบ่อนและซ่อง ให้ยังผลประโยชน์แก่คนทุกฝ่าย และปลอดภัยสำหรับคนทุกฝ่าย เช่น ปลอดภัยพอที่จะไม่เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองของประเทศติดการพนันจนไม่ทำมาหากิน ซึ่งไม่น่าจัดการยาก แค่ดูตัวอย่างการจัดการของประเทศอื่นๆ ที่มีบ่อนถูกกฎหมาย

ภาษีจากบ่อน อาจจะได้นำไปเพิ่มเงินเดือนแก่ตำรวจให้มีเงินเดือน รายได้มากพอจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์มีศรี มีรายได้มากพอจะพยุงเกียรติยศของตน เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วคงไม่มีตำรวจคนไหนอยากรับเงินเจ้าพ่อหรือลดตัวไปรับเงินร้อยสองร้อยข้างถนนจากผู้ทำผิดกฎจราจร

การตื่นเต้นตกใจกับคลิปบ่อนเถื่อนของสังคมไทยก็ยังเป็นแค่อาการ "ตกใจ" เพื่อจะไปเรียกร้อง "ศีลธรรม" เรียกร้องการย้ายตำรวจที่รับผิดชอบ ซึ่งเราทุกคนก็รู้กันอยู่เต็มอกว่า มันไม่ได้ช่วยอะไร ต่อให้ย้ายเอาตำรวจที่ดีที่สุดในโลกมาคุมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาระดับตัวบุคคล ไม่ใช่ปัญหาของระดับศีลธรรม แต่เป็นปัญหาของสังคมที่ถูกกล่อมให้หลับใหลด้วยแวเลี่ยมทางอุดมการณ์จนหมดซึ่งศักยภาพในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกทั้งหมดความสามารถที่จะมองเห็นโลกตามความเป็นจริง

สังคมเช่นนี้เชื่อว่าปัญหาใดๆ ก็ตามจะถูกทำให้หายไปด้วยการมี "คนดี" มาดูแล แทนที่จะมุ่งสร้างระบบคะคานอำนาจ ตรวจสอบ ถ่วงดุล ในการบริหารงานราชการและการเมือง

สังคมเช่นนี้จึงมองเห็นปัญหาบ่อนซ่อง เป็นปัญหาทางศีลธรรมแทนที่จะมองเห็นว่าเป็นปัญหาในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ

สังคมเช่นนี้จึงคับแคบตื้นเขินพอที่จะจับคู่ เหล้า บุหรี่ บ่อน ซ่องไปเท่ากับความเลว และความเสื่อมศีลธรรมเท่านั้นไม่มีทางเป็นอื่น แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงการเอารัดเอาเปรียบ ความหลอกลวง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่อาจมาพร้อมกับชุดความดีตื้นเขิน สำเร็จรูป

สังคมเช่นนี้จึงเป็นบ่อเกิดของนักบุญจอมปลอมที่เสพกินความโง่เขลา ตื้นเขินของมวลชนเป็นอาหาร



คนที่นำเอาคลิปออกมาแฉคือ คุณชูวิทย์นั้นคือคนที่รู้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ดีกว่าใครในฐานะเป็นผู้อยู่ในแวดวงและมีประสบการณ์เชิงประจักษ์

คุณชูวิทย์ย่อมรู้ว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ได้แก้ด้วยการเรียกร้องให้ย้ายตำรวจ หรือการ alert ให้ประชาชนแตกตื่นว่า เฮ้ย แม่ง มีบ่อน และประชาชนก็แตกตื่นเพราะชินที่ต้องเล่นตามบท จนลืมถามตัวเองว่า "เฮ้ย กูก็รู้อยู่แล้วนี่นา" เช่นกับที่เราเห็นภาพ "ละคร" อีกหลายต่อภาพโดยไม่เคยเอะใจว่า "เฮ้ย นี่มันไม่จริงนี่หว่า"

ทว่า การ alert นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่นละครไปตามบท เหมือนที่ไอทีวีไปแอบถ่ายตำรวจรับส่วย เพราะคนที่เล่นบทนี้จะได้รับเสียงปรบมือ ชื่นชมจากคนดูในฐานะผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ตงฉิน ขณะเดียวกัน การสาปแช่ง ด่าทอความชั่วร้ายก็ช่วยเพิ่มระดับทางศีลธรรมในจินตนาการของคนดูให้มีกำลังใจเพิกเฉยต่อความโหดร้ายตามที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ในละครเรื่องนี้คุณชูวิทย์ก็แค่เล่นบท หนุมาน "ซุกซนแต่ทรงคุณธรรม" เป็นแค่ทางเลือกของคนดูที่อกหักจากพระราม

และแล้วสังคมไทยคนไทยก็มีชีวิตรอดกันไปอีกวันด้วยหนทางการแก้ปัญหาแบบละคร และทิ้ง "ความจริง" ให้ดำเนินต่อไปอย่างไม่ไยดี



++

บทความของปีที่แล้ว

หนังที่ควรได้รับการสนับสนุน
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1552 หน้า 91


มีข่าวคนในวงการภาพยนตร์ไทย และผู้กำกับฯ หนังไทยยื่นหนังสือทักท้วงการให้ทุนโดยกระทรวงวัฒนธรรมแก่หนังเรื่องนเรศวรเรื่องเดียวถึง 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 200 ล้านบาท

ยังไม่นับว่าหนังเรื่องนเรศวรได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงพานิชย์มาแล้ว 330 ล้าน ในขณะที่หนังเรื่องถัดมาได้รับเงินสนับสนุน 8 ล้านบาท และเรื่องอื่นๆ ก็รับลดหลั่นกันไป

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ทุกคนกังขาคือ ทำไมนเรศวรเรื่องเดียวจึงได้งบถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด?

ฉันดีใจที่ผู้กำกับหนังหลายๆ คนยอมเสียเวลาไปยื่นหนังสือ และไปประชุมพูดคุยกับตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วมันจะเกิดประโยชน์และความเปลี่ยนแปลงอันน้อยนิด ทั้งจะต้องไปนั่งฟัง "สำนวนข้าราชการ" ที่มักจะพูดแล้วเหมือนไม่ได้พูด หรือการพูดกับการถ่มน้ำลายลงกระโถนนั่นมีความหมายเท่าๆ กัน เช่น

"การที่ตำนานสมเด็จพระนเรศวรได้รับทุนสร้างจากรัฐ 2 ทาง ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้สร้างที่จะขอและได้รับทุน ซึ่งต้องว่าไปตามกติกา กฎหมาย และระเบียบราชการ ผู้ที่มาคัดค้านการจัดสรรทุนให้หนังเรื่องนี้อาจจะเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของตนเอง แต่ก็ต้องเคารพในสิทธิ์ของคนอื่นเช่นกัน ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเองทำงานในแวดวงภาพยนตร์ ก็ประเมินว่าตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค 3 และ 4 น่าจะมีรายได้สูงมากและคืนทุนให้รัฐได้"

"เมื่องบประมาณอุดหนุนภาพยนตร์ของรัฐบาลต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง การจัดสรรงบประมาณจึงมุ่งหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องมีหนังที่ได้รับเงินอุดหนุนซึ่งสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลได้ เพราะการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้จะต้องผ่านการประเมินผลในระบบราชการถ้าหากหนังที่ได้รับทุนสนับสนุนได้รับรายได้น้อย โครงการนี้ก็จะได้งบประมาณในปีต่อไปลดน้อยลงไปด้วย"



ฉันอ่านคำชี้แจงสองประเด็นนี้แล้วลงไปหัวเราะกลิ้งไปกลิ้งมา แบบว่า จะมีอะไรชวนขำขันมากไปกว่านี้อีกไหมเนี่ยะ

วันหลังกระทรวงวัฒนธรรมเอาคนของท่านจัดทอร์คโชว์เน้นความตลกโปกฮา บรรดาตลกคาเฟ่น่าจะตกงานกันเป็นแถว

แบบว่าพูดไปได้เนอะว่า การขอทุน และการ "ได้รับทุน" นั้นเป็นสิทธิเสรีภาพที่มิพึงหมิ่นแคลน

(ดังนั้น การออกมาทักท้วงว่าทำไมหนังเรื่องหนึ่งถึงได้เงินสนับสนุนมากกว่าเรื่องอื่นๆ มากอย่างมีนัยสำคัญจึงเท่ากับการไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น ! )

จากนั้นท่านก็คายปมออกมาว่าหลักเกณฑ์ที่มอบทุนให้นเรศวรก็เพราะมีแนวโน้มว่าหนังจะดัง จะทำเงิน และจะคืนเงินให้กับรัฐได้

ส่วนฉันคนนอกวงการอ่านแล้วต้องตบหัวเข่า อุบ๊ะ ถ้าใช้หลักการดูว่า หนังเรื่องใดมีแนวโน้มที่จะทำเงินแล้วเอาเงินมาคืนรัฐได้จึงอนุมัติวงเงินกู้ เอ๊ย เงินทุนให้มากกว่าเรื่องอื่น

โถๆๆ ท่านเจ้าคะ ถ้ามาอีหรอบนี้ มันไม่น่าจะใช่งานของกระทรวงวัฒนธรรม แต่น่าจะโอนไปให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเลยดีไม๊นั่น

หรือไม่ก็ควรยกไปให้เอสเอ็มอีแบงก์ทำ เพราะมีหลักการเดียวกับการเข้าไปขอกู้เงินมาลงทุนค้าขายหรือลงทุนปลูกหอม กระเทียม ลำใยแบบแถวบ้านอีชั้นเปี๊ยบ

แต่ธนาคารยังมีหน่วย "ประเมิน" หลักทรัพย์ และ ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจชัดเจน จับต้องได้ คำถามของฉันคือ แล้วคณะกรรมการพิจารณาการให้ทุนหนังนั้นใช้มาตรวัดอันใดมาประเมินว่าหนังเรื่องไหนน่าจะมีโอกาสหาเงินมาคืนรัฐบาลมากที่สุด

เพราะฉะนั้น รูปแบบการสนับสนุนเงินทุนแบบนี้ควรจะเรียกว่า "เงินกู้" มากกว่า "เงินสนับสนุน"



คําถามต่อไป ถ้านเรศวรเป็นหนังที่ศักยภาพ ในการทำเงิน แถมยังจะโกอินเตอร์ เพราะคนไทยชอบเชื่อว่า "คนต่างชาติ" หรือ "ฝรั่ง" ชอบดูงานมหรสพ อลังการ เอาช้างมาวิ่งๆ สู้รบ สงคราม ฝุ่นตลบ แบบ...ลืมตัวชั่วขณะนึกว่าใครๆ ก็ต้องรู้จักพระนเรศวร และยุทธหัตถีเหมือนที่รู้จักสงครามเมืองทรอย

คำถามสุดท้าย ถ้านเรศวรมีศักยภาพของตนเองสูงส่งปานนั้นคำถามคือ แล้วทำไมรัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุนหรือสนับสนุนอีกเล่า?

ทำแบบนี้มันก็เหมือนเอาเงินไปแจกเศรษฐีหรือซื้อวีลแชร์ไปให้คนที่เดินได้

บอกได้คำเดียวว่า งง

การพูดถึง Popular culture นั้นเก๋ การแสดงซึ่งความสนใจต่อศิลปะ วัฒนธรรมร่วมสมัยก็เก๋ กระทรวงวัฒนธรรมคงอยากจะลงมาทำอะไรเก๋ๆ กับเขาบ้าง

อย่างเช่นการอุดหนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ร่วมสมัย แต่แทนที่จะสนับสนุนผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ที่ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนทางสังคม ต้น

ทุนทางวัฒนธรรมยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หรือ ให้ทุนกับงานหนังทดลองแปลกๆ หนังที่ไม่ขายในตลาดกระแสหลัก แต่ปรากฏว่าหนังที่กระทรวงวัฒนธรรมอยากสนับสนุนยังเป็นหนังที่เล่นกับมุขเก่าๆ เช่นมุขรักชาติ ศาสนา มุขรักแผ่นดินเกิด มุขรักบ้านเก่า มุขรักคนจน ห่วงใยธรรมชาติ มุขต่อต้านยาเสพติด มุขเกษตรผสมผสาน มุขชาวนายากจนแต่มีความสุขกับกุ้งหอยปูปลา มุขลูกตัญญู ฯลฯ ซึ่งจะให้บอกอีกกี่ครั้งก็คงไม่เข้าใจว่า "มันเชย"

(ถ้า คุณอภิชาติพงศ์ หันมาทำหนังที่เล่นกับมุข "รักชาติ" ประมาณนี้มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนในจำนวนที่ใกล้เคียงกับนเรศวร)

เอาเข้าจริงๆ กระทรวงวัฒนธรรมก็แอบอิงหาผลงานคำว่า "ร่วมสมัย" แค่พอให้คนรู้ว่า "พวกเราไม่ใช่ไดโนเสาร์เต่าล้านปี เราไม่ได้มีแต่โขน แต่ลิเก เราไม่ใช่พวกที่ดีแต่วิ่งไล่จับเด็กนุ่งสายเดี่ยว หรือเซ็นเซอร์หนังสือโป๊ แต่เราส่งเสริม ศิลปะร่วมสมัย ทำงานกับศิลปินร่วมสมัย และพร้อมจะให้การสนับสนุนงานศิลปะทุกแขนง"

(ตัวอย่างของความพยายามจะ ทันสมัย และร่วมสมัย เข้าใจวัยรุ่นก็คือ โปสเตอร์รณรงค์ MOSO ของ กอรมน. ที่เอาเปลือกของความกิ๊บเก๋ มาห่อหุ้มเนื้อหาแสนล้าหลังตกยุค)

หันมามองวงการศิลปะไทยที่ได้รับการยอมรับนับถือก็มีอยู่ไม่กี่สกุล คือถ้าไม่เล่นเรื่องความเป็นไทยอันงดงาม สูงค่า ก็ต้องมาแนวพุทธปรัชญา เขียน บรรยายผลงานกันให้ฟังดูกำกวม หละหลวม เป็นนามธรรมกว้างๆ แล้วบอกว่า "ทิ้งช่องว่างไว้ให้คนคิด และตีความเอาเอง"

หรือไม่ก็ต้องเอาข้าวไปปลูกเสียที่เยอรมัน ยากดี เป็นงานศิลปะ!

กระทรวงวัฒนธรรมลืมไปว่า ถ้าอยากจะเล่นกับงาน "ร่วมสมัย" จริงๆ กระทรวงฯต้องกล้าพอที่แหกออกมานอกไวยากรณ์ "ไทยๆ" ที่คุ้นเคย

และถ้าจะให้เก๋จริง ต้องกล้าเสียดสี เย้ยหยันตัวเอง งานของตัวเอง เจ้านายตัวเอง ชนชั้นของตนเอง ไปจนถึงระบบคุณค่าหลักที่ตนเองยึดถือ ทำได้ ดังนี้ จึงจะซื้อใจประชาชน นักวิจารณ์ และผู้สนใจศิลปะ วัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงวัฒนธรรมยังมีหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริมศิลปะที่ไม่ใช่ศิลปะแบบตลาด ศิลปะที่ไม่ทำเงิน ทั้งที่เพื่อเป็นการยกระดับ "รสนิยม" ของมวลหมู่มหาชนคนในชาติอันเป็นงานที่ประเทศศิวิไลซ์ทั้งหลายพึงทำ งานเช่นนี้ไม่หวังผลกำไร แต่หวังผลทางชื่อเสียงและเป็นหน้าเป็นตา เป็นการสร้าง reputation ที่ดีให้แก่กระทรวงของตน



หนังที่ใครๆ บ่นว่าไม่บันเทิง ดูไม่รู้เรื่อง แต่วิพากษ์วิจาณ์ "วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย" อย่างหนังของ คุณอภิชาติพงษ์ นั้นควรอย่างยิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะยื่นจมูกมาสนับสนุน เพราะมันจะเป็นหน้าเป็นตาของกระทรวงอย่างแท้จริงว่า เออ กระทรวงนี้มันไม่ไดโนเสาร์เต่าล้านปีแฮะ เออ...มันใจกว้างแฮะ เออ...มันแนวดีโว้ย... ฯลฯ

(ตรงกันข้าม หนังของเขาโดยเซ็นเซอร์จนย่อยยับด้วยข้อหาสุดปัญญาอ่อน เช่น ทำให้ศาสนาพุทธศาสนามัวหมอง นำเสนอภาพของพระในทางที่ไม่เหมาะสม shit!)

วัฒนธรรมร่วมสมัยของเรามีเรื่องให้พูดถึงที่มากไปกว่า ภาพพระพุทธรูป แก่นพุทธศาสนา มีมากกว่าเรื่องการทำนา ปลูกข้าว หรือ ความพยายามที่จะ "รื้อฟื้น" ปลูกผีแห่งความเป็นไทยขึ้นมาใหม่โดยอ้างว่า "มันเคยมีอยู่มาก่อน"

ทว่า ศิลปะร่วมสมัยควรได้พูดถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากการเกิดสำนึกใหม่เกี่ยวกับชนชั้นและตัวตนของตนเอง การปะทะกันของสังคมก่อนสมัยใหม่ สมัยใหม่ และหลังสมัยใหม่ที่คลุกเคล้าเป็นแกงโฮะอยู่ในสังคมไทยตอนนี้ ฯลฯ

การตัดสินมอบทุนถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดให้แก่หนังเรื่องนเรศวรเพียงเรื่องเดียว ชี้ให้เห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมยังไม่สามารถหลุดพ้นจากมาตรฐานการประเมินคุณค่างานศิลปะอันแขวนติดไว้กับไวยากรณ์ความเป็นไทยแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปี

นั่นคือ เชื่อว่า ถ้าผู้กำกับดังหนังต้องดี เชื่อว่า ถ้าเป็นหนังอิงประวัติศาสตร์แล้วต้องดีกว่าหนังรักโรแมนติก เชื่อว่าถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับการเชิดชูมหาบุรุษต้องดีกว่าหนังว่าด้วยชีวิตประจำวันของพนักงานเอ็มเคสุกี้ เชื่อว่าถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับเกย์แล้วจะทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

(ใครช่วยเอาประโยคนี้ไปใส่หม้อปิดด้วยใบหนาดแล้วถ่วงน้ำทิ้งที)

เชื่อว่าถ้าเป็นหนังที่พูดถึงพระกะเทยแล้ววงการสงฆ์ไทยจะย่อยยับอับปางลงไปในบัดดล



สุดท้าย ที่ฉันบอกว่าฉันขอบคุณผู้กำกับหนังกลุ่มนั้นที่อุตส่าห์เข้าไปคุยกับตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เขาไม่ได้พูดด้วย "ภาษาเดียว" กันกับเรา

และเขาจะไม่มีวันเข้าใจว่า หนังเรื่องอื่นๆ มันจะมายิ่งใหญ่ สูงค่ากว่านเรศวรได้อย่างไร ในเมื่อนเรศวรกำลังจะทำหน้าที่ปลุกใจคนไทยให้ตื่นตะลึง อึ้ง ทึ่ง เสียวกับความเกรียงไกรของมหาชาติไทย และวีรกษัตริย์ของไทย

หนังเรื่องนี้จะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวง มันจะช่วยกอบกู้ วิญญาณคนไทยที่กำลังตกต่ำด้วยถูกผี "ประชาธิปไตย" เข้าสิง ให้กลับเนื้อกลับตัวมารักชาติแบบหน้ามืดตามัวกันต่อไป

เขาไม่ได้สนใจว่า พระนเศวรมีชีวิตอยู่ในสมัยใด และสมัยนั้น สิ่งที่เรียกว่า "ชาติไทย" ยังไม่อุบัติขึ้นมาเลยในโลกใบนี้ หรือ เขาอาจจะสนใจ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือความต้องการที่จะสร้าง "การรับรู้" เกี่ยวกับชาติไทยที่บิดเบี้ยวตลอดไป และจะได้มีคนรักชาติ (แบบบิดบี้ยว) จนโงหัวไม่ขึ้นอีกเยอะๆ

(อุ๊ย เขียนถึงตอนนี้ทำไมหน้าของหมอตุลย์ลอยมาเนี่ยะ)

รักชาติ ศาสนา มันยังเป็นคาถาที่คุ้มครองเราให้พ้นจากภยันตรายนานา และฉันคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมก็เห็นเช่นเดียวกัน

บรรดาผู้กำกับฯ หนังไทยที่อยากจะยกระดับคุณภาพของหนังไทยให้มันเก๋กู๊ด เทียมหน้าเทียมตาประชาคมโลก และรับไม่ได้ที่จะให้สร้างแต่หนัง "ส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและความสามัคคีของคนในชาติ" คงต้องทิ้งกระทรวงวัฒนธรรมให้หากินกับเปลือกของความร่วมสมัย ไว้ข้างหลัง

และทุกครั้งที่ได้เอาหนังไปฉายในเวทีของโลกก็ช่วยประกาศให้ชัดๆ ไปเลยว่า "ที่ประเทศไทย หนังของผม/ดิฉัน รัฐบาลของเราถือว่าเป็นหนังที่ไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าไรนัก เพราะไม่มีช้าง ไม่มีการเชิดชูมหาบุรุษ ไม่มีทุ่งนา และชนบทอันงดงาม"

และคงอีกนานกว่า รัฐบาลของเราจะสามารถสลัดตัวเองหลุดจาการแอบอิงหาความชอบธรรมจากโลกทัศน์ไดโนเสาร์


.