.
หนังสือพิมพ์ในสังคมที่เปลี่ยนไป
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1623 หน้า 28
หนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับล่าสุด นำเอาข้อเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาลงไว้ที่ปกรอง
"การเสาะแสวงหาความเป็นจริงมาเสนอแก่ประชาชน นี่แหละเป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้แสดงความเห็น อันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล หนังสือพิมพ์จะต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญนี้ เหตุการณ์ตามความเป็นจริงที่หนังสือพิมพ์นำเสนอนั้นอาจไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้นั้นผู้นี้หรือแก่คณะนั้นคณะนี้ แต่ไม่ใช่กิจกังวลของหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อที่จะทำความพอใจให้แก่ท่านผู้นั้นผู้นี้ หนังสือพิมพ์จึงไม่ต้องไปพะวงถึงใครผู้ใดทั้งนั้น หนังสือพิมพ์จะพะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น"
อาชีวปฏิญาณของนักหนังสือพิมพ์ที่คุณกุหลาบได้กล่าวไว้อย่างงดงามนี้ กลายเป็นมโนภาพหรือภาพพจน์ที่นักหนังสือพิมพ์ใช้ ในการต่อรองอำนาจกับรัฐและทุนสืบมาอีกนาน จนแม้แต่ในปัจจุบันเมื่อสถานการณ์ของรัฐและทุนแตกต่างไปจากเดิมมากแล้ว นักหนังสือพิมพ์ก็ยังใช้เป็นอาภรณ์สำหรับการแสดงตัวต่อสังคมต่อไปเหมือนเดิม
ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้กันหมดแล้วว่า หนังสือพิมพ์และนักหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันไม่ได้ "พะวงอยู่แต่หน้าที่ของตนเท่านั้น" และหากอยากรู้ความเป็นจริง "เพื่อได้แสดงความเห็น อันประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผล" ก็ต้องไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่หนังสือพิมพ์ (หรือสื่อกระแสหลักอื่นๆ)
ผมไม่อยากให้มองสิ่งที่พูดข้างต้นนั้นเป็นการประเมินว่าบุคคลในวงการหนังสือพิมพ์ปัจจุบันเลวลง แต่ผมอยากจะพยายามเข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญสองอย่างที่หนังสือพิมพ์สมัยคุณกุหลาบกับสมัยปัจจุบันต่างกัน
ประการแรก คือทุนอย่างที่พูดกันมามากแล้ว แต่ผมอยากให้เข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เพราะเจ้าของหนังสือพิมพ์ปัจจุบันมีทุนมหาศาลกว่าเจ้าของสมัยนั้น ที่สำคัญกว่าก็คืออำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับเจ้าของลดลงอย่างมากต่างหาก
ในสมัยคุณกุหลาบ หนังสือพิมพ์ขายได้เพราะชื่อของคุณกุหลาบ ไม่ใช่หัวหนังสือ หากเจ้าของบังคับให้นักหนังสือพิมพ์ทำอะไรที่ขัดกับอาชีวปฏิญาณของตน คุณกุหลาบก็จะลาออกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น
ไม่ใช่คุณกุหลาบคนเดียวนะครับ แต่นักหนังสือพิมพ์เด่นๆ ในฉบับนั้นทั้งหมด ก็จะยกพวกตามออกไปด้วย เพราะต่างก็เป็นศิษย์, มิตร, คนที่คุณกุหลาบปั้นมากับมือ ฯลฯ ทั้งนั้น ก็สมัยนั้นไม่มีคณะนิเทศศาสตร์นี่ครับ การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นเดอะไปยังรุ่นหลังย่อมทำได้ง่าย เพราะรุ่นหลังพร้อมเรียนรู้ ในขณะที่คนจบนิเทศศาสตร์มาแล้ว นึกว่าตัวเดอะมาตั้งแต่วันรับปริญญา จึงไม่พร้อมจะเรียนรู้ จนรุ่นเดอะตัวจริงเวลานี้ ได้แต่ใช้ปากด่ามึงมาพาโวยกับลูกน้อง ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากปั้นความเกลียดชังให้
ดังนั้น ในสมัยของคุณกุหลาบ ถึงเจ้าของจะได้หัวหนังสือไว้ แต่ก็หากำไรได้ยาก เพราะผู้อ่านไม่ได้ติดหัว แต่ติดคณะสุภาพบุรุษ จึงย้ายไปอ่านฉบับใหม่ที่มีคณะสุภาพบุรุษประจำการอยู่
อำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับทุนจึงมีสูง พอจะรักษาหนังสือพิมพ์ไว้ให้ทำ "หน้าที่สำคัญ" ของตนต่อไปได้
ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่งด้วยว่า นักหนังสือพิมพ์คนสุดท้ายที่สามารถทำอย่างนั้นได้คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่บังเอิญคุณชายเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียเอง จึงไม่มีเหตุต้องยกพวกออก สยามรัฐขายดิบขายดีได้ก็เพราะชื่อของคึกฤทธิ์ คุณชายจึงต้องบากบั่นเขียนทุกวัน ไม่ต่างจากคุณกุหลาบหรือครูมาลัย
สมัยนี้ ไม่ใช่ไม่มีนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังๆ นะครับ แต่ผมเชื่อว่าถึง คุณซูม, คุณกิเลน ประลองเชิง, คุณลมเปลี่ยนทิศ ฯลฯ จะลาออก ก็คงไม่มีใครตามไปด้วย หรือยิ่งไปกว่านั้น ถึงไปเขียนในหัวอื่น ก็อาจไม่ดังเท่ากับที่อยู่กับไทยรัฐด้วยซ้ำ ในขณะที่ไทยรัฐก็ยังขายดีเหมือนเคย
อำนาจต่อรองของนักหนังสือพิมพ์กับเจ้าของเวลานี้จึงแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่อย่าเพิ่งด่าฝ่ายนายทุนฝ่ายเดียว
อำนาจของนายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์ไม่ได้มาจากเงินเพียงอย่างเดียว ทุกคนได้ลงทุนทั้งทรัพย์และหัวสมอง ในการสร้างหัวหนังสือพิมพ์ของตนให้ติดตลาด ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่เป็นซูเปอร์ บ.ก. เท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจอีกนานาชนิด นับตั้งแต่จัดการขนส่งให้กว้างไกลและรวดเร็ว สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับเอเย่นต์ในแต่ละจังหวัด เชื่อมต่อกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเพื่อเข้าถึงแหล่งข่าวและแหล่งโฆษณา ทำซีเอสอาร์ (ซึ่งที่จริงคือพีอาร์) ให้ประชาชนรู้สึกเป็นมิตรกับหัวหนังสือ ฯลฯ
ยกพวกออกจากไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, คมชัดลึก, ฯลฯ เจ้าของจึงไม่ค่อยเดือดร้อนนัก เพราะยกไปได้แต่คน ไม่สามารถยกอะไรอีกพะเรอเกวียนที่ติดมากับหัวหนังสือไปได้ด้วย
ท่านผู้อ่านอาจนึกว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ปัจจุบันก็ไม่ได้ขายแต่เนื้อหาล่ะสิ? ใช่ครับ มีสินค้าอะไรในโลกปัจจุบันที่ขายแต่เนื้อหาบ้างล่ะครับ มีหรือครับเบียร์ที่ขายแต่น้ำเบียร์ โดยไม่สนใจสร้างคุณค่าความหมายให้แก่ยี่ห้อ
ครับ ผู้บริโภคในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนผู้บริโภคสมัยของคุณกุหลาบ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมาถึงปัจจัยที่สองซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์สมัยคุณกุหลาบกับสมัยนี้ต่างกัน
นั่นคือปัจจัยทางสังคมการเมือง
สังคมการเมืองสมัยก่อนแคบมาก ผมหมายถึงคนที่สำนึกว่าตัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวงกว้าง จึงต้องรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในวงกว้างบ้าง รู้สึกตัวว่ามีสิทธิ์มีส่วนในคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องโน้นเรื่องนี้ของคอลัมน์หนังสือพิมพ์ แล้วก็อาจเข้าไปมีส่วนร่วม (หรือพูดให้ฟังเป็นวิชาการคือปฏิบัติการทางสังคม) ในร้านกาแฟตอนเช้า คนเหล่านี้มีน้อยมากในสังคมวงกว้างของไทย และมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
จำนวนที่จำกัดของสังคมการเมืองไทยในตอนนั้น ทำให้นักหนังสือพิมพ์มี "ลูกค้า" ที่เหนียวแน่นของตัว พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีอิทธิพลต่อผู้อ่านมาก ถึงจะล่ามโซ่แท่นพิมพ์ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนักหนังสือพิมพ์ย่อมย้ายไปทำงานฉบับอื่นได้ เพราะฉะนั้น ในสมัยก่อน นักหนังสือพิมพ์เป็นคนๆ ไปนี่แหละที่ถูกรัฐคุกคามมาก...มากกว่าตัวหนังสือพิมพ์แต่ละหัว...เสียอีก
ตรงกันข้ามกับปัจจุบันนะครับ ที่หนังสือพิมพ์แต่ละหัวต่างหากที่ถูกผู้มีอำนาจคุกคาม มากกว่าตัวนักหนังสือพิมพ์
แต่ถึงแม้จะมีอันตรายมากกว่า แต่นักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมีอำนาจต่อรองกับทุนได้สูงเพราะเหตุนี้
อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อรองที่เกิดจากความแคบของสังคมการเมืองก็ค่อยๆ หมดไป เพราะคนที่มีสำนึกทางการเมืองขยายตัวขึ้น และไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ด้วย ประกอบด้วยคนที่มีปูมหลังแตกต่างกันอย่างยิ่ง ถึงนักหนังสือพิมพ์บางคนยังอาจมี "ลูกค้า" ประจำของตัว ไม่ว่าจะมีจำนวนมากแค่ไหน แต่เมื่อเทียบโดยสัดส่วนแล้วก็นิดเดียวเท่านั้นในบรรดาผู้อ่านทั้งหมด ถึงจะลาออกจากหนังสือพิมพ์ฉบับใด แม้ว่าน่าเสียดาย แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ล่มจม
ไทยรัฐเป็นฉบับแรกที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ก่อนหน้านักวิชาการทั้งไทยและเทศ และได้ทุ่มทุนขยายตลาดของตนออกไปทั่วประเทศก่อนใคร กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ยากจะมีใครมาแทนที่ได้สืบมาถึงวันนี้
อันที่จริงตลาดใหม่ของไทยรัฐคือ "เสื้อแดง" รุ่นแรกๆ ที่ไม่ได้สวมเสื้อแดงเท่านั้น ขณะที่ทักษิณยังเสิร์ฟโอเลี้ยงอยู่ น่าอัศจรรย์ที่จนถึงทุกวันนี้นักวิชาการจำนวนมากยังมองไม่เห็น ทั้งๆ ที่ป๊ะกำพลเห็นมาตั้งหลายสิบปีแล้ว
เมื่ออำนาจต่อรองหดหายไปเรื่อยๆ เช่นนี้ นักหนังสือพิมพ์ไทยก็เหลือทางเลือกอยู่สองทาง ซึ่งล้วนทำให้หนังสือพิมพ์ไม่ได้ทำ "หน้าที่สำคัญ" ไปเสียทั้งคู่
ทางแรกคือสร้าง "เส้นสาย" กับแหล่งข่าว แต่ระบบการเมืองไทยกระจุกอำนาจไว้กับนักการเมือง (ทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านการเลือกตั้ง) กับข้าราชการ แหล่งข่าวที่นักหนังสือพิมพ์จะไปสร้าง "เส้นสาย" เกาะเกี่ยวไว้ จึงมีอยู่จำกัด ได้แก่ผู้มีอำนาจทั้งหลาย
ฟังดูก็ดีนะครับ แต่เพื่อจะได้ "เส้นสาย" ที่ต้องการตามอาชีพ ต้องแลกกับอะไรบ้าง หลายอย่างนะครับ เริ่มต้นก็คือถ้าไหวไม่ทัน ตัวก็จะกลายเป็นแหล่ง "ปล่อยข่าว" และแหล่งโฆษณาชวนเชื่อให้แก่ผู้มีอำนาจไป เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติหนังสือพิมพ์ไทย หนักไปกว่านั้น ก็คือใช้อิทธิพลที่ตัวพอมีกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ หรือในสำนักพิมพ์ ห้ามปรามขัดขวางข่าวและความเห็นที่ขัดผลประโยชน์ของ "ท่าน" ทีแรกอาจคิดว่าเพื่อรักษาแหล่งข่าวเอาไว้ แต่ทำนานๆ เข้าก็ไม่ได้ชั่งตวงวัดว่า คุณค่าของแหล่งข่าวกับอาชีวปฏิญาณของตนอย่างไหนสำคัญกว่ากัน หนักไปกว่านั้นก็ทำมาหากินกับแหล่งข่าวให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย เรื่องนี้ก็เกิดในวงการมานาน จนเรียกคนประเภทนี้ว่า "แปดอรหันต์" บ้าง "สิบแปดเซียน" บ้าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "อรหันต์" และ "เซียน" เหล่านี้ย่อมมีอำนาจต่อรองกับนายทุนเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง
อีกทางหนึ่งที่นักหนังสือพิมพ์สร้างอำนาจต่อรองก็คือ เกาะกลุ่มกัน หรือตัวคนเดียวโดยเอกเทศก็ตาม เข้าไปหาประโยชน์จากนักการเมืองบ้าง ธุรกิจบ้าง วงการกีฬาบ้าง และแน่นอนวงการบันเทิงบ้าง
ในที่สุดก็มั่วจนกลายเป็นกลุ่มเดียวกัน "หน้าที่สำคัญ" กลายเป็นการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มที่ตัวเข้าไปมั่วด้วย
ผมคิดว่าเมืองไทยได้เปลี่ยนไปจนเกินกว่าที่หนังสือพิมพ์จะสามารถทำ "หน้าที่สำคัญ" อย่างที่คุณกุหลาบได้สร้างเอาไว้เสียแล้ว แต่ถ้าเรายังต้องการหนังสือพิมพ์อย่างที่คุณกุหลาบมุ่งหวังต่อไป ผมคิดว่าเราต้องการมากกว่าการจัดองค์กรให้หนังสือพิมพ์ดูแลกันเอง (แม้แต่องค์กรเหล่านี้เองก็กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ ที่มีนักหนังสือพิมพ์อยู่กลุ่มเดียวที่เวียนกันเข้าไปเก็บเกี่ยว) แต่ต้องทำอะไรอื่นที่จะทำให้
1.มีการถ่ายโอนความรู้และประสบการณ์ระหว่างรุ่นเดอะกับรุ่นรอง อย่างเป็นระบบ
2.กลุ่มผู้บริโภคต้องจัดตั้งตนเอง ให้เกิดความหลากหลาย เข้าไปกำกับควบคุมหนังสือพิมพ์ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์ หรือองค์กรอื่นๆ อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคเพียงกลุ่มเดียวจับจองการกำกับควบคุมไว้ในมือแต่ผู้เดียว
3.ต้องมีการจัดตั้งสหภาพของคนหนังสือพิมพ์ที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองกับนายทุน รวมทั้งจัดตั้งสหภาพรวมเพื่อมีอำนาจต่อรองกับรัฐและทุนขนาดใหญ่ด้วย เพราะสมาคมต่างๆ ที่มีอยู่ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ตรงนี้
4.ช่วยกันคิด
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นักหนังสือพิมพ์จะมีอำนาจต่อรองที่จริงจังอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนักในสังคม และ หนังสือพิมพ์เละอย่างไรในสภาพนี้ ก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว
++
บทความของปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2553 )
วัฒนธรรมคนเสื้อแดง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1563 หน้า 20
ความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงระหว่าง มีนาคม-พฤษภาคมในปีนี้ ทำให้พูดกันถึงความขัดแย้งระหว่างคนชั้นล่างในชนบทกับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเมือง บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง, บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งของชนชั้นทางเศรษฐกิจ, บางคนชี้ไปที่ความขัดแย้งระหว่างภาคในประเทศไทยเอง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ มีส่วนถูกทั้งสิ้น แต่ก็มีข้อยกเว้นที่นำขึ้นมาแย้งได้ในแทบทุกมิติ แปลว่าความขัดแย้งนั้นสลับซับซ้อนเกินกว่าจะชี้ลงไปที่มิติใดมิติหนึ่งได้อย่างง่ายๆ
แต่ยังมีความแตกต่าง (จนถึงขั้นที่เป็นความขัดแย้ง) อีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีผู้พูดถึงมากนัก นั่นคือความแตกต่างด้านวัฒนธรรม
มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมของขบวนการเสื้อแดง ที่ทำให้แตกต่างจากเสื้อสีอื่นอย่างเห็นได้ชัด ความแตกต่างตรงนี้ อาจดึงทั้งการสนับสนุนและต่อต้านจากผู้คนในสังคมไทย
โดยปราศจากการศึกษาอย่างเป็นระบบและดีพอ ผมอยากจะพูดถึงความแตกต่างหรือถึงขนาดเป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ของขบวนการเสื้อแดงไว้ในที่นี้
ที่เห็นได้ชัดและมีคนพูดถึงมามากพอสมควร คือความเป็นชนบท ที่แสดงออกให้แตกต่างจากความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ
ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงมาจาก"เขตเมือง" แม้เป็น "เขตเมือง" ในชนบทก็ตาม นอกจากนี้ แม้พวกเขาอยู่ใน "เขตเมือง" ขนาดใหญ่ เขาก็มีความสัมพันธ์กับชนบทค่อนข้างสูง เช่น แท็กซี่ในกรุงเทพฯ เป็นต้น ดังนั้น ความเป็นชนบทจึงเห็นได้ชัดในขบวนการเสื้อแดง
อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ส่วนหนึ่งของความเป็นชนบทของคนเสื้อแดงเป็น "การแสดง" หมายความว่าตั้งใจเน้นย้ำมันให้เกินกว่าพื้นฐานจริงของตัวเอง เพื่อขับประเด็นทางการเมืองของตน เช่น "คนบ้านนอก" ย่อมมีมากกว่าคนกรุง การเป็น "บ้านนอก" จึงเป็นพลังทางการเมืองของระบอบที่เคารพผลการเลือกตั้ง
แม้แต่ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นประเด็นหลักของการต่อสู้ระหว่างเสื้อต่างสี ที่จริงแล้ว ก็มีมิติทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองและชนบทแฝงอยู่ด้วย
คนเสื้อเหลืองและเหล่าชนชั้นนำเรียกร้องหารัฐ "ธรรมาภิบาล" ซึ่งเน้นประสิทธิภาพ, ความซื่อสัตย์สุจริต, และความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ เหนือกว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่คนเสื้อแดงและเหล่าคนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมาก เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง เหนือกว่าอื่นใดทั้งสิ้น
การมีส่วนร่วมนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตชนบทตามอุดมคติ ในสังคมเกษตรขนาดเล็ก ผู้คนต่างมีอำนาจต่อรองในเรื่องการใช้ทรัพยากร แม้ไม่เท่าเทียมกันเป๊ะ แต่ก็ใกล้เคียงกัน เพราะทุกคนยังเหลืออำนาจในการแทรกแซงการตัดสินใจได้บ้าง นับตั้งแต่การนินทาไปจนถึงการกล่าวหาว่าเป็นปอบ
ผมจึงรู้สึกว่า การที่เสื้อแดงเรียกร้องการมีส่วนร่วม จึงเป็นทั้งการเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องการกลับไปหาอุดมคติของสังคมชนบทไปพร้อมกัน
อีกด้านหนึ่งที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว ก็คือสิ่งที่ปรากฏบนเวทีในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดง ก็สะท้อนวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับกลางในเมืองอย่างมาก
บางคนพูดถึงการปราศรัยของเสื้อแดงว่า "ถ่อย", "สถุล", หรือใช้คำพูดหยาบคาย ในฐานะผู้ฟังคนหนึ่งที่ติดตามฟังทางวิทยุอย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น แม้จะยอมรับว่ามีการใช้คำที่คนกรุงเทพฯ เห็นว่าไม่สุภาพอยู่บ้างก็ตาม (เช่น กู-มึง - ซึ่งเวทีของคนเสื้อเหลืองก็ใช้เหมือนกัน)
แต่สิ่งที่ระคายหูแก่คนชั้นกลางที่สุด น่าจะเป็นภาษาที่ไร้ช่วงชั้นทางสังคมมากกว่า ภาษาสุภาพของไทยกรุงเทพฯ คือภาษาที่คำนึงถึงช่วงชั้นของบุคคลที่เป็นผู้พูด, ผู้ฟัง, ผู้ถูกกล่าวถึง อย่างละเอียดซับซ้อน ภาษาของคนเสื้อแดงลบเลือนสำนึกของช่วงชั้นทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงคู่ปรปักษ์ที่มีสถานภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี, ผู้พิพากษา, กกต., ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหาร, ตำรวจ และพลเรือน
(ในหมู่ "ผู้ดี" ที่มีการศึกษาสมัยก่อน หากจำเป็นต้องพูดกันโดยคำนึงถึงช่วงชั้นทางสังคมให้น้อยลง มักหันไปใช้ภาษาอังกฤษ เพราะหากพูดเป็นภาษาไทยแล้วจะฟังดูหยาบคาย)
ยิ่งไปกว่าถ้อยคำที่ใช้ หากใครขยันศึกษา ก็จะพบความต่างที่ลึกกว่าถ้อยคำ นั่นคือความเปรียบ, นัยะประวัติของคำ, หรือแม้แต่ความหมายในการผูกประโยค ฯลฯ ก็มีความต่างจากการปราศรัยของเวทีการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปอย่างมาก
ผมฟังคำปราศรัยทางวิทยุแล้วสังเกตเห็นความต่างในแง่นี้อยู่บ่อยๆ แต่ไม่ได้จดเอาไว้จึงไม่สามารถยกเป็นตัวอย่างให้ดูได้
ภาษาถิ่น (ทั้งเหนือ, อีสาน, และใต้) ถูกใช้บนเวทีปราศรัยอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถพูดภาษากรุงเทพฯ ได้คล่อง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผู้ปราศรัยบางคนเริ่มปราศรัยด้วยภาษาถิ่นอีสาน แต่พูดๆ ไปกลับกลายเป็นภาษากรุงเทพฯ เสียอย่างนั้น ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ และบ่อยกว่าแปรจากภาษากรุงเทพฯ ไปเป็นภาษาถิ่นเสียอีก
ภาษาถิ่นจึงเป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้าง "ความเป็นปึกแผ่น" (solidarity) กับผู้ชุมนุม และผู้ฟังวิทยุอยู่ที่บ้าน
เราต้องกลับมาคิดถามตัวเองว่า ในการสื่อสารด้วยการพูดในที่สาธารณะในประเทศไทยนั้น ภาษาถิ่นใช้พูดกับเนื้อหาอะไร และไม่ใช้พูดกับเนื้อหาอะไร ผมออกจะรู้สึกว่าการพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองอย่างที่เสื้อแดงพูดบนเวที วัฒนธรรมไทยมักไม่ใช้ภาษาถิ่น
พร้อมกันไปกับภาษาถิ่น เวทีปราศรัย ก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างนักปราศรัยด้วยกันเอง และนักปราศรัยกับผู้ชุมนุมในเชิงเครือญาติเสมอ ทุกคนถูกเอ่ยถึงในฐานะพี่, น้อง, น้า, ลุง, ป้า, ตา ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา คำนับญาติคือสรรพนามบุรุษที่สองและสามในภาษาไทย (และทุกภาษาของอุษาคเณย์) มาก่อน
ดังนั้น คำนับญาติและภาษาถิ่นจึงเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเสมอภาค ต่อต้านสังคมช่วงชั้นในวัฒนธรรมชั้นสูงของไทยไปพร้อมกับความเป็นกันเองเพื่อความเป็นปึกแผ่น
เวทีเสื้อแดงก็มี "กวี" เหมือนกัน แต่กวีนิพนธ์ของเขาเป็นมุขปาฐะ เพราะมีผู้แสดงพื้นบ้าน เช่น หมอลำออกมาลำเนื้อหาทางการเมืองเป็นครั้งคราว เพลงพื้นบ้านของภาคกลางก็เคยแสดงบนเวทีเหมือนกัน แม้แต่โคลงกลอนที่เขียนมาอ่านก็ออกจะตรงไปตรงมามากกว่า "ภาษากวี" ของกรุงเทพฯ อย่างเทียบกันไม่ได้
กลอนของ คุณวิสา คัญทัพ ในฐานะกวีของเสื้อแดง แตกต่างอย่างไรจากกลอนของ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีของเสื้อเหลือง ก็คงพอจะเป็นตัวอย่างให้เข้าใจได้
ดนตรีของเสื้อแดงก็ดูเป็นชาวบ้านกว่ากันมาก นอกจากมีดนตรีพื้นบ้านเป็นครั้งคราวแล้ว ก็มีเพลงลูกทุ่ง เพลงแต่งใหม่ โดยนักร้องสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ผู้ปราศรัยมักจะจบการปราศรัยด้วยเพลงหนึ่งเพลงเสมอ
วงดนตรีที่เล่นประกอบก็เล่นกันอย่างง่ายๆ บางครั้งเพียงแต่ให้จังหวะกลองเท่านั้น เพราะนักดนตรีไม่รู้จักเพลงที่ผู้ร้องนำมาร้อง
สิ่งที่การปราศรัยเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาคือความยุติธรรม แล้วผู้ปราศรัยก็ผูกความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเข้ากับความยุติธรรมและประชาธิปไตย
บางคนถึงกับพูดว่าหากเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราก็จะมั่งคั่งเหมือนญี่ปุ่น
จริงหรือไม่จริงก็ยกไว้ก่อนนะครับ แต่นี่เป็นเรื่องของวิธีคิดหรือวัฒนธรรมโดยตรง
ตั้งแต่คณะราษฎรมาโน่นแหละที่มีวิธีคิดอย่างนี้ คือประชาธิปไตยกับความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน หลังจากนั้นมา เราก็ไม่ได้ยินนักการเมืองไทยและปัญญาชนไทยผูกสองอย่างเข้าด้วยกันอีก แต่ไปผูกความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจเข้ากับความชำนาญการ, กับความมีประสิทธิภาพ, หรือบางครั้งกับอำนาจเด็ดขาดของผู้นำด้วยซ้ำ
การเรียกร้องความยุติธรรมอย่างนี้ จึงกระเทือนอุดมการณ์ทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างถึงรากถึงโคน
ในสังคมช่วงชั้นอย่างสังคมไทย วัฒนธรรมหรือระบบความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบต่างๆ ก็ถูกจัดช่วงชั้นไว้เหมือนกัน
การชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ นอกจากแสดงความต้องการทางการเมืองแล้ว ยังประกาศหรือยืนยันความเสมอภาคทางวัฒนธรรมของคนชั้นล่างอีกด้วย แม้ไม่ถึงกับพลิกกลับช่วงชั้นของวัฒนธรรมคนชั้นล่างให้ขึ้นมาอยู่ข้างบนสุด ดังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2517 แต่ก็แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของคนชั้นล่างอย่างเปิดเผย และประกาศความเท่าเทียมของวัฒนธรรมนั้นกับวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ถูกจัดไว้เหนือกว่ามานาน
บางคนวิจารณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดงในครั้งนี้ว่า ไม่พยายามที่จะแสวงหาการสนับสนุนหรือความทนได้ของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ ซ้ำยังผลักให้พวกเขาไปสนับสนุนฝ่ายปรปักษ์ทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ
ผมก็เห็นจริงด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็สงสัยว่ามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างผู้ชุมนุมกับคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งขวางกั้นการรับฟังหรือการได้ยินของคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ ไว้อย่างหนาแน่นด้วย
คนเสื้อแดงกลายเป็น "ไอ้ควาย" หรือ "แมลงสาบ" เพราะเขามองเห็นความดีและความงามที่แตกต่างจากคนชั้นกลางระดับกลางในกรุงเทพฯ อย่างยากที่จะเข้าใจได้
+ + + +
บทความที่เกี่ยวข้อง น่าอ่านประกอบ
มาม่ากับเสื้อแดง และ ละครน้ำเน่ากับคนชั้นกลางเอเชีย
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post.html
ชี้เสื้อแดง-พหุลักษณ์ข้ามชนชั้น โดย"ปิ่นแก้ว", สัมภาษณ์"ภควดี"เรื่องประชานิยม
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/redpop.html
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย