http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-01

เลือกตั้ง-เลือกอะไร และ จากเส้นถึงซื้อ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
เลือกตั้ง-เลือกอะไร
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ในฤดูหาเสียง ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า ประเด็นของการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ นั้น ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง แต่มาจากสื่อ

ถามว่าสื่อเอาประเด็นเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบก็คือจากในมุ้ง เพราะสื่อไม่ได้ออกไปสัมผัสประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริง ได้แต่คาดเดาเอาเอง (และตามอคติส่วนตนของสำนักข่าว) ว่า ประเด็นนี้ต่างหากที่มีความสำคัญทางการเมือง ฉะนั้นจึงควรถามนักการเมืองว่า เรื่องนี้ละ คุณจะแก้อย่างไร เรื่องโน้นละ คุณจะแก้อย่างไร

ตามบทบาทที่สื่อตั้งให้ตัวเองว่า "เป็นปาก เป็นเสียง ของประชาชน" เป็นแต่ปากเสียง ไม่ได้เป็นหูด้วยนี่ครับ จึงไม่ต้องฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร และอยากได้อะไร

ผมยอมรับว่า การเป็นหูนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งประชาชนไม่ได้จัดองค์กรเพื่อการส่งเสียงที่เป็นไปโดยปรกติ ถึงแม้ว่าสมัยนี้มีการสำรวจโพลจากหลายสำนักอยู่บ่อยๆ แต่โพลมักไม่สนใจถามความเห็นในชีวิตประจำวันของผู้คน เท่ากับถามเพื่อทำนายการเมือง

เช่นระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับคุณยิ่งลักษณ์ ใครจะแน่กว่ากัน พรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งในจังหวัดหรือภาคต่างๆ มากกว่ากัน ล้วนเป็นคำถามที่ได้พาดหัวบนสื่อทั้งนั้น เปิดโอกาสให้สำนักโพลได้รับการว่าจ้างให้ทำโพลสำรวจตลาดและอื่นๆ



ดังนั้นผลของโพลจึงไม่ค่อยช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้ว่า อะไรคือปัญหาของประชาชน และประชาชนคิดว่าต้องแก้อย่างไร

ยิ่งถ้าคิดว่า ประชาชนแต่ละกลุ่มย่อมมองปัญหาและทางออกต่างกัน
สื่อเป็นปากเสียงของประชาชนกลุ่มไหน


อย่างไรก็ตาม เฉพาะคำถามที่สื่อคิดเอาเองว่า เป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องถามจากพรรค ผมพบว่ามีสามคำถามหลักที่สื่อมักจะตั้งเป็นปัญหาให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองตอบเสมอ 1) คือปัญหาปากท้อง 2) ความปรองดอง และ 3) ปัญหาเฉพาะในพื้นที่ และทุกพรรคการเมืองก็มักมีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับสามคำถามนี้ จนสื่อสรุปว่าทุกพรรคมีนโยบายไม่สู้จะต่างกันนัก

ทำไมสื่อจึงคิดว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญสุดในทรรศนะประชาชน ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าคิดว่านี่เป็นยุคข้าวยากหมากแพง ก็อาจจะใช่ แต่ถ้าดูการเพิ่มขึ้นของจีดีพี ประชาชนก็น่าจะพอรับกับการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและน้ำมันได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ได้ในคนกลุ่มหนึ่ง เช่นน้ำมันแพงไม่ได้ทำให้รถติดน้อยลง

แต่ปัญหาอาจไม่ใช่ข้าวยากหมากแพงโดยตรง แต่ไปอยู่ที่ว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศไปกระจุกอยู่ที่คนจำนวนน้อย ไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง ข้าวของที่แพงขึ้นทำให้ต้องประหยัด กำลังซื้อภายในประมาณ 42% ซึ่งมาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศหดตัวลง กระทบถึงรายได้ของคนอีกมากที่หากินอยู่ในตลาดนี้ นับตั้งแต่แท็กซี่, ตุ๊กตุ๊ก, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, อาหารริมทาง, ธุรกิจห้องแถว ฯลฯ ก็ยังพอจะอยู่ได้นะครับ แต่ต้องกระเบียดกระเสียนมากขึ้น และไม่แน่ใจว่าจะส่งลูกเรียนหนังสือต่อไปได้ไกลสักเพียงไร

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือที่เรียกว่าปัญหาปากท้อง ที่จริงแล้วคือปัญหาเรื่องกระจายรายได้ แต่ไปถามพรรคการเมืองเรื่องปากท้อง พรรคการเมืองจึงคิดแต่ว่าจะหาทางเพิ่มรายได้ให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างไร โดยไม่ต้องไปแก้ปัญหาโครงสร้างที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้เลย

และวิธีที่พรรคการเมืองเสนอก็คือ การผลักทรัพยากรส่วนกลาง โดยเฉพาะงบประมาณลงไปยังคนที่ขาดแคลน เช่น เบี้ยเลี้ยงคนชรา, เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ, รักษาพยาบาลฟรี, เรียนฟรี, ไฟฟ้าฟรี, รถเมล์ฟรี ฯลฯ อันเป็นนโยบายที่มักเรียกกันว่า "ประชานิยม"



การแข่งขันของพรรคการเมืองก็คือโครงการประชานิยมของใครจะตื่นตาตื่นใจกว่า หรือมีความเป็นไปได้มากกว่า

คนที่ตั้งตัวเป็น "ปากเสียง" ประชาชนอีกจำพวกหนึ่งคือนักวิชาการ ก็จะพร่ำเตือนว่า นโยบายประชานิยมที่พรรคต่างๆ ใช้แข่งขันกันนั้น จะทำให้ประชาชนง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่คิดจะช่วยตัวเอง เอาแต่เรียกร้องจากรัฐอย่างเดียว ประชาชนในทรรศนะของนักวิชาการก็ยังเป็นเด็ก 5 ขวบเหมือนเดิม

ความจริงแล้ว การผลักทรัพยากรกลางโดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินให้ถึงมือคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง แต่งบประมาณเป็นเพียงส่วนเดียวของทรัพยากรที่ผู้คนควรจะเข้าถึงได้อย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน ปัญหามาอยู่ที่ว่าจะจัดการบริหารงบประมาณอย่างไรดี จึงจะทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้จริง


การเอาไปเที่ยวแจกเฉยๆ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่างบประมาณจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จริง

สรุปก็คือประชานิยมนั้นไม่เป็นไร แต่ขอให้ประชาเป็นผู้ตัดสินว่าจะนิยมในเรื่องอะไรบ้างต่างหากที่สำคัญกว่า

และถ้ามองให้กว้างกว่างบประมาณ ยังมีทรัพยากรอีกหลายประเภทที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง นับตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน, น้ำ, ฯลฯ ไปจนถึงทรัพยากรทางสังคม เช่น การศึกษา, ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง, การคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย, หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาด, ค่าแรงที่เป็นธรรม, ฯลฯ


ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้อย่างไร จึงจะทำให้ทรัพยากรไม่กระจุกตัวอยู่ในมือคนส่วนน้อย หรือที่มักเรียกกันว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง

และนี่คือปัญหาที่พรรคการเมืองไม่เคยตอบ เพราะไม่เคยถูกถาม สื่อลดปัญหาใหญ่ขนาดนี้ให้เหลือเพียง "ปากท้อง" เมื่อเป็นเรื่องปากท้อง ก็หย่อนอาหารลงไป จบ

อย่างเดียวกับปัญหาเฉพาะของท้องถิ่นต่างๆ คำถามและคำตอบก็เป็นเรื่องง่ายๆ ไปหมด เช่น ไม่มีถนนก็สร้างถนน น้ำในคลองเน่าก็ทำให้หายเน่า ฯลฯ แต่งบประมาณแผ่นดินมีจำกัด ฉะนั้นจึงต้องเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพราะจะทำให้มีกำลังแย่งงบประมาณมาลงพื้นที่ได้มากกว่าเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน

แต่การกระจายความเจริญที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือการกระจายความเจริญที่เป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม หากเกิดผลเสียแก่คนส่วนใหญ่ ฯลฯ เป็นเรื่องของกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในมือของนักการเมืองส่วนกลาง ทำอย่างไรคนในท้องถิ่นจึงจะมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมด้วยได้จริง นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ มากกว่าสร้างถนน, สร้างแหล่งน้ำ, หรือขจัดมลพิษ เป็นเรื่องๆ ไป

อันที่จริงเรื่องของความปรองดองก็เป็นเรื่องเดียวกัน โครงสร้างทางการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางอย่างหนาแน่นเกินไป ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องได้ก็ได้หมด เสียก็เสียหมด เดิมพันของแต่ละฝ่ายมีสูงมาก ต่างฝ่ายระดมสรรพกำลังทุกชนิดเข้าห้ำหั่นกัน

รวมทั้งความรุนแรงด้วย



ตราบเท่าที่โครงสร้างทางการเมืองยังมีลักษณะเช่นนี้ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง โดยไม่ต้องมีกติกา ก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ ถึงหมดเสื้อสีต่างๆ ไปแล้ว ก็อาจเกิดในลักษณะอื่นได้อีก การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ไร้กติกาจึงอยู่ที่ต้องปรับโครงสร้างทางการเมือง มิให้เกิดการกระจุกตัวที่ส่วนกลางเช่นนี้ กระจายอำนาจการจัดการบริหารทรัพยากรนานาชนิดไปสู่ท้องถิ่น พร้อมทั้งเสริมสร้างกติกาแห่งความขัดแย้งในท้องถิ่นให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาด การต่อสู้ทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นได้ในเวทีระดับท้องถิ่น

ไม่มีใครได้ทั้งหมด และไม่มีใครเสียทั้งหมด

เป็นผลให้การต่อสู้ทางการเมืองในส่วนกลางเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะยิงหัวใคร เพราะได้ไม่คุ้มเสีย


จริงอย่างที่นักวิชาการให้สัมภาษณ์สื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีสาระสำคัญนัก เพราะการเลือกตั้งหนนี้ เราจะเลือกเพียงระหว่างรัฐบาลใหม่ กับรัฐบาลเก่า บนเงื่อนไขทางโครงสร้างอันเดิม

เราไม่ได้เลือกระหว่างการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเงื่อนไขทางโครงสร้าง

ระหว่างเส้นทางใหม่ที่มีความเป็นธรรม ซึ่งจะปลดปล่อยพลังการผลิตของคนไทยทุกคนให้พัฒนาไปจนถึงที่สุดของศักยภาพของเขา กับเส้นทางเก่าซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และพลังการผลิตของเขาถูกจำกัดไว้เพื่อจรรโลงโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมนั้นตลอดไป



++

จากเส้นถึงซื้อ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1543 หน้า 25


เมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว "ครู" อเมริกันคนแรกของผม ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาเชี่ยวชาญประเทศไทย รำพึงกับผมในวันหนึ่งว่า คนไทยมีเส้นทุกคน

ตอนนั้นผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะผมนึกถึงคนยากไร้ในชนบทว่า เขาไม่มีเส้น จึงมักถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือแม้แต่ถูกรังแกอยู่เสมอ "ครู" ยอมรับว่านั่นก็จริง แต่คนยากไร้ในชนบทไม่ได้ยอมแบหงายให้เอาเปรียบหรือรังแก เพราะเขาจะวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือจากเส้นสายที่เขามีอยู่ เพื่อให้ตัวรอดพ้น เช่นผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, สมภาร, หลานนายอำเภอ, ยายของจ่าตำรวจ ฯลฯ

บางครั้งก็สำเร็จ, บางครั้งก็สำเร็จเพียงบางส่วน, บางครั้งก็ไม่สำเร็จ แต่ทุกคนมีเส้น และรู้ว่าจะต้องวิ่งเต้นกับเส้นไหน รวมทั้งวิ่งเต้นกับเส้นของเส้นด้วย เส้นเพียงเส้นเดียวจึงขยายออกไปได้ไม่รู้จะกี่เส้น


อันที่จริง ตอนนั้นผมรู้จักชนบทไทยน้อยกว่า "ครู" ฝรั่งของผม และรับฟังคำอธิบายของ "ครู" อย่างลังเลใจ แต่เมื่อได้รู้จักชนบทไทยมากขึ้นในภายหลัง ก็พอจะมองเห็นความจริงในวิธีอธิบายของ "ครู"

หลายปีต่อมา ท่านอาจารย์ อคิน รพีพัฒน์ ก็ทำวิทยานิพนธ์อันลือลั่นทั้งปริญญาโทและเอก ของท่านออกมา ด้วยเรื่องที่ผมคุยกับ "ครู" นั่นเอง แต่ท่านไม่ได้เรียกว่า "เส้น" ท่านใช้ศัพท์วิชาการว่า "ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์"

ข้อดีของศัพท์วิชาการนั้น ไม่ได้อยู่ที่มันฟังดูโก้ แต่เพราะมันให้คำอธิบายได้กว้างกว่า และสามารถนำไปเปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ได้ ในขณะที่ศัพท์ชาวบ้านเช่น "เส้น" เป็นเพียงส่วนเดียวของความสัมพันธ์ และให้ความหมายว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มากกว่าระบบความสัมพันธ์ทั้งระบบ

เพื่อนคนหนึ่งของผม เคยรับราชการในกระทรวงมหาดไทย เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่เขาเป็นนายอำเภอนั้น เมื่อเข้ากระทรวงแต่ละครั้ง นายอำเภอก็จะต้องหาของฝากจากต่างจังหวัดไปเยี่ยมท่านอธิบดี แล้วแต่ใครจะคิดหาของฝากอะไรที่จะทำให้ท่านอธิบดีประทับใจ

บางคนอาจอุ้มพระบูชางามๆ ในท้องถิ่นไปสักองค์ โดยเฉพาะหากรู้ว่าท่านอธิบดีชอบเล่นพระ แต่ก็มีบางคนหิ้วชะลอมบรรจุกะปิ, กระเทียม หรือแตงโม ไปฝาก เพราะไม่ชำนาญกับ "การเมือง" ของกระทรวง เป็นที่ขบขันแก่เพื่อนข้าราชการด้วยกัน

ผมมาเข้าใจเอาเองในภายหลังว่า กระเทียม, กะปิ, แตงโมนั้น แม้จะดูน่าขบขัน แต่มีความหมายในทาง "การเมือง" เหมือนกัน แม้ว่าท่านอธิบดีอาจไม่ประทับใจก็ตาม เพราะนั่นคือ การประกาศว่านายอำเภอเหล่านั้น ยอมรับความสัมพันธ์เชิงอุปภัมภ์ที่มีท่านอธิบดีเป็นศูนย์กลาง เป็นนายอำเภอที่น่าเอ็นดู แม้จะไม่ส่งเสริมให้ได้เป็นรองผู้ว่าฯ แต่ก็คงไม่สั่งย้ายไปอยู่แม่ฮ่องสอนหรือนราธิวาส

แม้ไม่หวังถึงกับจะได้ท่านอธิบดีเป็นเส้น แต่ก็ไม่คิดจะเหยียบเส้น



ในทำนองเดียวกัน ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ ที่ผมรู้จักคุ้นเคยท่านหนึ่ง แม้ท่านเป็นคนใจซื่อมือสะอาดตลอดมา แต่ทุกครั้งที่ท่านขึ้นมาธุระที่เชียงใหม่ ก็จะมีครูบาอาจารย์จากโรงเรียนและวิทยาลัยในเชียงใหม่ไปต้อนรับกันมากมาย มากเสียจนผมไม่แน่ใจว่าท่านได้เห็นหน้าทุกคนหรือไม่

จนถึงทุกวันนี้ เมื่อข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นมาเชียงใหม่แต่ละครั้ง สนามบินก็จะคลาคล่ำไปด้วยข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมนั้นๆ พากันมารับ-ส่งท่านเต็มไปหมด ยิ่งหากเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็จะยิ่งคลาคล่ำหนักขึ้นไปอีก ผู้กำกับฯ ที่อยู่ไกลขนาดแม่แจ่ม, อมก๋อย หรือแม่อาย และฝาง ก็ต้องขับรถกันมาเป็นร้อยกิโลฯ เพื่อมายืนตะเบ๊ะท่านเมื่อเดินออกจากท่าอากาศยาน

กรณีอย่างนี้ ผมแน่ใจเลยว่า ท่านไม่ได้เห็นหน้าทุกคนอย่างแน่นอน ระดับผู้กำกับฯ นั้นคงได้เห็นหน้า แต่นายร้อยซึ่งต้องยืนอยู่ห่างลิบลับนั้น จะมาหรือไม่มาก็คงมีค่าเท่ากัน เพราะท่านไม่ได้เห็นแน่ อย่าพูดถึงรับคำนับเลยครับ

แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่านายร้อยนายดาบที่มานั้นก็คงไม่หวังให้ท่านเห็นหน้าหรือทักทาย ที่ต้องมาก็เพื่อให้ผู้กำกับของตนเห็นหน้าต่างหาก ว่ามาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของความพร้อมพรั่งในการต้อนรับ ที่ผู้กำกับฯ จะแสดงต่อท่านผู้บัญชาการ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการแสดงให้เพื่อนๆ เห็นว่า ตัวยอมรับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มีท่านผู้กำกับฯ เป็นศูนย์กลาง

การมาต้อนรับผู้ใหญ่ที่สนามบินจึงมีความสลับซับซ้อนในตัวมันเอง มากกว่ามาให้ผู้ใหญ่เห็นหน้า เป็นเรื่องของเส้นก็จริง แต่เป็นเส้นที่พัวพันนัวเนียกันจนเป็นระบบ กำกับพฤติกรรมของคนตั้งแต่เล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เช่นนี้ เราพบได้ทั่วไปในทุกสังคม ทั้งในสังคมปัจจุบันและสังคมอดีต นักการเมืองฝรั่งนั้น เราก็ได้อ่านพบเสมอว่าคนนี้เป็น protege ของคนนั้น ก็คือเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์ของคนนั้นนั่นเอง เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ อาจไม่ใช่ระบบความสัมพันธ์หลักอย่างในสังคมไทยเท่านั้น

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้น ที่จริงก็คือการแลกเปลี่ยนกันชนิดหนึ่ง แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนในตลาดตรงที่ไม่ได้ใช้มูลค่าเป็นเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น หากใช้ "ผลประโยชน์" ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่ทั้งสองฝ่ายคาดหวังจากกัน เป็นเกณฑ์แทน


นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ยังต้องอาศัยอุดมการณ์บางอย่างเพื่อช่วยค้ำจุนให้การแลกเปลี่ยนที่ไม่สมดุลนี้มีคุณค่าทางจิตใจด้วย เช่น ความจงรักภักดี, "ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย", คุณข้าวแดงแกงร้อน, หรือในทางตรงกันข้าม คืออุดมการณ์ที่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อผู้ใต้อุปถัมภ์

การแลกเปลี่ยนในตลาด ก็มีอุดมการณ์เหมือนกันนะครับ แต่ไม่สู้จะมากนัก นอกจากความซื่อตรงต่อกัน เพราะการแลกเปลี่ยนในตลาดนั้น ทั้งสองฝ่ายต่อรองกันได้เสรี

อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนทั้งสองชนิดนี้ แม้ว่าต่างกันแต่ก็ใกล้กันมาก เงื่อนไขทางสังคมบางอย่างจึงอาจทำให้การแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่งเลื่อนไปเป็นการแลกเปลี่ยนอีกชนิดหนึ่งได้เสมอ หรือก้ำกึ่งกันจนแยกไม่ออกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนชนิดไหนกันแน่

เช่นในสังคมไทยปัจจุบัน เงื่อนไขทางสังคมทำให้การแลกเปลี่ยนในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เคลื่อนมาเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงตลาดไปเสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพียงแต่อาจทำในนามของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เพื่อกลบเกลื่อนการแลกเปลี่ยนที่ไม่ชอบธรรม หรือผิดกฎหมายให้ดูดีขึ้น

ด้วยเหตุดังนั้น การแลกเปลี่ยนที่ใช้เส้น จึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการแลกเปลี่ยนที่ใช้เงิน หรือซื้อ



"เส้น" สลับสับเปลี่ยนเป็น "ซื้อ" เกิดขึ้นมาแล้วในหลายสังคม รวมทั้งสังคมไทยเองด้วย (แม้แต่ในสมัยอยุธยาก็มีหลักฐานว่าตำแหน่งเจ้าเมืองห่างไกลนั้น บุคคลอาจได้มาด้วยการ "วิ่งเต้น") โดยเฉพาะตำแหน่งสาธารณะของรัฐ เพราะรัฐไม่ได้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างในชุมชนขนาดเล็ก ตำแหน่งสาธารณะจึงไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยความยินยอมพร้อมใจของผู้คนทั่วไป

เหตุดังนั้น นอกจากใช้ "เส้น" แล้ว ก็ยังอาจใช้เงิน "ซื้อ" ได้ด้วย ในอาณาจักรโรมันบางยุคบางช่วง ตำแหน่งวุฒิสมาชิกก็ขายกันได้เป็นปรกติ ในอังกฤษก่อนการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ตำแหน่งนายอำเภอ (magistrate) เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์แต่งตั้ง บางยุคบางสมัยที่กษัตริย์ถูกสภาตัดงบประมาณ กษัตริย์ก็อาจยกตำแหน่งนี้แก่ผู้ "ซื้อ" ที่ให้ราคาดีที่สุด เพียงแต่ไม่ได้ทรงทำใต้โต๊ะ หากประกาศออกมาชัดๆไปเลย คนรวยๆ ในชนบทของจีนโบราณนั้น "ซื้อ" ฐานะทางสาธารณะให้แก่ตนเองอยู่เสมอ เช่น มีป้ายทองจากราชสำนักประจำตระกูล จะถูกจับกุมได้ก็ต้องขออนุมัติจากราชสำนักเสียก่อน เป็นต้น

หนทางจาก "เส้น" ถึง "ซื้อ" ในการแต่งตั้งตำแหน่งสาธารธารณะนั้น เป็นหนทางปรกติธรรมดาที่หลายสังคมได้เคยเดินมาแล้ว เพราะที่จริงแล้ว ก็คือการเคลื่อนคลายของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มาสู่ความสัมพันธ์เชิงตลาดนั่นเอง


และดังที่กล่าวแล้วว่า "เส้น" มีในทุกสังคม (และด้วยเหตุดังนั้น "ซื้อ" จึงมีในทุกสังคมด้วย) ปัญหาอยู่ที่ว่าในกิจการสาธารณะของรัฐสมัยใหม่ "เส้น" และ "ซื้อ" ไม่ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ

ในเมืองไทยปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่ "เส้น" และ "ซื้อ" ยังปรากฏให้เห็นในการตัดสินใจกิจการสาธารณะทุกระดับ นับตั้งแต่การฟอร์ม ครม. ลงมาถึงการแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน

การซื้อขายตำแหน่งในบางหน่วยงานก็เป็นที่อื้อฉาว แต่ยอมรับกันโดยดีมานาน เช่น ตำรวจและการส่งส่วยไม่ใช่เพิ่งเกิดในปีนี้ แต่รู้ว่ามีกันมานานแล้ว บัดนี้กำลังอื้อฉาวไปยังหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้นตามลำดับ เช่น กระทรวงศึกษาฯ และมหาดไทย เป็นต้น และผมจะไม่ประหลาดใจเลยที่จะไปอื้อฉาวในกระทรวงอื่นๆ มากกว่านี้

นักการเมืองบางคนนั้นเลวจริงๆ แต่จะป้องกันมิให้คนเลวได้ทำเลว ไม่ใช่ไปลิดรอนสิทธิเสมอภาคของคนที่เลือกเขามา เพราะคนที่มาจากการแต่งตั้งหรือจากการรัฐประหารก็อาจเลวได้เท่ากันหรือมากกว่า จะป้องกันได้ก็โดยการทำให้ระบบการบริหารถูกตรวจสอบและถ่วงดุลมากขึ้น ไม่ใช่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากคนใน "ระบบ" เท่านั้น แต่ต้องหมายถึงคนนอก "ระบบ" ด้วย

เช่น นายกฯ คนเดียวไม่อาจตรวจสอบถ่วงดุลรัฐมนตรีเลวๆ ได้หรอกครับ เพราะนายกฯ อยู่ใน "ระบบ" เดียวกัน จึงต้องรักษา "ระบบ" ให้รอดก่อนขจัดคนเลว


การบริหารที่รวมศูนย์เกินไปต่างหากที่ทำให้การซื้อขายตำแหน่งทำได้สะดวก เนื่องจากไม่มีใครที่อยู่นอกระบบบริหารสามารถเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลได้ เช่น จะตัดสินใจให้ใครได้เป็นผู้ว่าฯ ก็อาศัยแต่ข้อมูลที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไม่มีข้อมูลที่ได้จาก อบจ., อบต., นายอำเภอ, องค์กรทางสังคม, เจ้าคณะจังหวัด, และประชาชนทั่วไป ฯลฯ สำหรับประกอบการตัดสินใจแต่อย่างใด

จะให้น้ำหนักแก่ข้อมูลภายนอกเหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องเถียงกันได้ แต่ต้องมีข้อมูลภายนอกเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจ รวมทั้งต้องเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและเปิดเผยได้ด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ จะป้องกันมิให้ "เส้น" พัฒนามาเป็น "ซื้อ" ได้ ก็ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หาก "เส้น" ยังกลายเป็น "ซื้อ" อยู่อีก ก็แสดงว่าเป็นประชาธิปไตยไม่พอ ต้องขยายประชาธิปไตยให้มากขึ้นกว่าการเลือกตั้ง ....ไปสู่การทำให้เกิด "อาญาสิทธิ์" ที่หลากหลาย เข้ามามีบทบาทในการบริหารร่วมไปกับนักการเมือง


.