.
คอร์รัปชั่น
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1624 หน้า 89
นั่งดูและอ่านข่าวเรื่องการเดินแสดงพลังเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่ได้แปลกๆ ที่เห็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ยิ้มหวานให้กัน แต่ไม่เข้าใจว่าการเดินแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชั่นจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร?
บ้างอาจจะบอกว่าการแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์เป็นเรื่องจำเป็น แต่ฉันคิดว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จะมีพลังก็ต่อเมื่อเป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของเสียงที่ถูกกดทับ เสียงที่ไม่มีพื้นที่จะให้พูด เสียงของคนที่ถูกบังคับให้ต้องเงียบและจำนน เช่น การออกไปประท้วงของเกย์ โสเภณี คนจน ของผู้หญิงที่อยากทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย ฯลฯ หรือ การออกมาเต้นแอโรบิกที่นี่มีคนตายในช่วงที่ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น
ทว่า เรื่องของการคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกกดทับหรือเป็นหัวข้อที่แหลมคม สั่นสะเทือนสังคม น่าตื่นตะลึง
ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่สังคมออกจะเห็นพ้องต้องกัน ปราศจากการถกเถียงว่า การคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำที่รับไม่ได้ ผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ และแทบจะเป็นเหตุผลเดียวที่สังคมไทยใช้เป็นยาครอบจักรวาล เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่ว่าทำไมเมืองไทยไม่เจริญก้าวหน้า ตั้งแต่ ป. 1 ไปจนถึงคนแก่ ก็มักจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "อ๋อ เพราะมีคอร์รัปชั่นในทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการเมือง"
นี่ยังไม่พูดถึงว่า การคอร์รัปชั่นยังเป็นเหตุผลคลาสสิคตลอดกาลที่ทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร
พูดง่ายๆ ว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่ได้ลึกลับเสียจนต้องมาเดินปลุกพลังให้คนตื่นตัวออกมาต้านคอร์รัปชั่น
แต่คำถามคือ เราจะต้านคอร์รัปชั่นอย่างไร ?
ถ้าเราจับนักการเมือง ข้าราชการทั่วประเทศไปดื่มน้ำสาบาน ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา สาบานตนว่าหากข้าพเจ้าคอร์รัปชั่น ขอให้มีอันเป็นไปเจ็ดชั่วโคตร จากนั้นพานักการเมืองไปเดินธรรมยาตรา บริกรรมคาถาสะกดจิตตนเอง ว่า "ข้าพเจ้าจะไม่คอร์รัปชั่นๆ ๆ ๆ ๆ" ต่อด้วยเข้าคอร์ส กินเจ ภาวนา วิปัสสนา นั่งสมาธิ อมรมศีลธรรม สัก 3 เดือน - ทำดังนี้แล้วปัญหาคอร์รัปชั่นจะหมดไปหรือไม่?
ถามมาอย่างนี้ทุกคนก็คงตอบได้ตรงกันหมดอีกเช่นกันว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ปัญหาของศีลธรรมระดับบุคคล แต่เป็นปัญหาในโครงสร้าง
ทุกวันนี้เราคนไทยเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไรบ้าง?
- การเรียกเงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการเพื่อเร่งกระบวนการการทำงานให้เร็วขึ้น คนไทยทุกคนคงคุ้นเคยกับการไปนั่งรอเข้าคิวเพื่อรับบริการจากหน่วยงานราชการตั้งแต่เช้าจรดเย็น และฝ่าฟันกับการทำขั้นตอนต่างๆ ให้ยากขึ้นกว่าปกติ เช่น เอกสารไม่ครบ เขียนผิดที่ เอกสารหน้านั้นไม่ตรงกับหน้านี้ กลับบ้านไปเอาหลักฐานเพิ่มแล้วกลับมาเข้าคิวใหม่ หรือปล่อยให้รอโงกเงก ไร้ความหวัง นั่งดูข้าราชการถักโครเชต์ กินมะม่วงดอง และดูโทรทัศน์ที่ติดไว้ในสำนักงาน ..อ้าปากหวอ..
แต่คุณจะไม่มีวันเผชิญหน้ากับเหตุการณ์แบบนี้เลย ถ้าคุณมีเส้น รู้จักผู้ใหญ่ หรือคุณเป็นใครสักคนของสังคมที่เข้าไปติดต่อหน่วยงานเหล่านี้พร้อม "ผู้อำนวยความสะดวกที่นายสั่งให้มาดูแล"
- การซื้อตำแหน่ง ข้าราชการทุกคนคงรู้ดีกว่า หากอยากไต่เต้า เป็นใหญ่เป็นโต นอกจากจะต้องคอย "เอาใจ" และ "รับใช้" นายและครอบครัวอย่างสุดหัวใจแล้ว ยังต้องเตรียมเงินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อตอบแทนสำหรับตำแหน่งที่จะบำเหน็จมา ผลที่ประชาชนอย่างเราได้รับคือ ต้องรอแทงหวยว่าคนที่รับใช้นายเก่งๆ และมีเงินแลกตำแหน่งมาทำงานนั้น เป็นคนมีความรู้สามารถในการทำงานจริงหรือไม่
- การคอร์รัปชั่นทางอ้อม เช่นการล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น ราคาที่ดิน รู้ว่าจะตัดถนนไปไหน ควรไปซื้อที่ดินตรงไหนเก็บไว้ การได้ใช้อำนาจ เครือข่าย เพื่อลงทุนหรือผูกขาดธุรกิจ การรับงานสัมปทานจากรัฐ และอื่นๆ
- การกินหัวคิว เช่น สร้างสะพานด้วยงบสองล้านบาท ราคาสะพานจริงอาจจะห้าแสนบาท งบสร้างถนนพันล้าน ราคาถนนที่สร้างจริงอาจจะห้าร้อยล้าน เป็นต้น ที่เหลือก็เป็นการ "กิน" กับตามรายทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคนไทยรู้และเห็นเป็นเรื่อง "ธรรมดา" อย่างยิ่ง การกินหัวคิวเช่นนี้มีอยู่ในทุกระดับ และตัวเลขก็สูงขึ้นเรื่อยตามแต่หน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ
หากจะบอกว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็อาจจะเป็นการมักง่ายเกินไป แต่จากประเภทของการคอร์รัปชั่นที่เขียนมาข้างต้น จะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
การคอร์รัปชั่นจาก "อำนาจ" อันสะท้อนให้เห็นในภาษาที่คนไทยคุ้นเคยและใช้กันอยู่เป็นประจำเช่น "ดูแล", "ฝากฝัง" หรือ "อำนวยความสะดวก"
ส่วนประเภทที่สอง เป็นการคอร์รัปชั่นแบบกินค่าคอมมิสชั่น
สําหรับฉัน ปัญหาการคอร์รัปชั่นแบบกินค่าคอมมิสชั่นนั้นแก้ไม่ยาก เพราะเราสามารถออกแบบระบบที่โปร่งใส และตรวจสอบได้มาตรวจสอบการกินค่าคอมมิสชั่น เพราะเป็นการคอร์รัปชั่นที่ไม่ซับซ้อน แม้จะมีวงเงินการคอร์รัปชั่นสูง เช่นว่ากันว่าบางรัฐบาลกินในเรต 30%
บางรัฐบาลตะกละมูมมามล่อไป 50-60% อย่างนี้เป็นต้น
นอกจากออกแบบระบบให้ตรวจสอบได้แล้ว ยังอาจทำให้การให้คอมมิสชั่นมาอยู่บนดิน นั่นคือทำให้งานล็อบบี้และนักล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลายเป็นงานที่เปิดเผย ยิ่งเปิดเผยเท่าไหร่ก็ยิ่งตรวจสอบง่ายเท่านั้น แน่นอนว่า ไม่อาจทำให้เกิดระบบที่ "ผุดผ่อง" ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะคดีฟ้องร้องการล็อบบี้เหล่านี้ยังปรากฏให้เราได้ศึกษาอยู่เนืองๆ ในหลายๆ ประเทศ แต่ที่เกิดการฟ้องร้องแบบนั้นได้ก็เพราะมันเป็นระบบที่ประชาชน หรือ สื่อมวลชน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทั้งหลายสามารถเข้าไปตรวจสอบได้มิใช่หรือ
แต่การคอร์รัปชั่นที่แก้ยากที่สุดน่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นที่โครงสร้างของ "อำนาจ" ในสังคมไทย ดังที่บอกไว้ว่ามันอยู่ในถ้อยคำประเภท "รับใช้" "ดูแล" "อำนวยความสะดวก" "(เจ้า)นาย"
และที่ซับซ้อนกว่านั้นยังปรากฏในบันทึกของอดีตนักข่าวบางกอกโพสต์ ที่เขียนเล่าประสบการณ์ของเธอในกรณีที่โดนฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทหลังจากตีพิมพ์บทความที่ไปกระทบกระเทือนข้าราชการ "ผู้ใหญ่" คนหนึ่ง
และในบันทึกของเธอได้สะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นในระบบโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยที่บัดซบเหลือจะบรรยายความตอนหนึ่งบอกว่า
"คดีส่วนใหญ่ในเมืองไทยนั้นจบลงด้วยการตกลงนอกศาล เพราะว่ามันอาจใช้เวลานานมาก และมันยังเหมาะกับวิถีของคนไทยที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หากแต่ก็รักษาชั้นอำนาจไว้อยู่ การตกลงดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยอ้อมอย่างจงใจ กล่าวคือ เพื่อนที่เป็นคนสำคัญมากของเพื่อน จะติดต่อเพื่อนที่เป็นคนใหญ่คนโตของเขาที่รู้จักกับคนของเพื่อนที่สำคัญอีกที ซึ่งใกล้ชิดกับปู่ของเจ้าหน้าที่ หรือหัวหน้า หรืออีกคน ที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่คนสำคัญ ผู้ซึ่งคอร์รัปชั่นอย่างเปิดเผย หากแต่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเพื่อให้ทำข้อตกลงได้ในที่สุด วิถีดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าขยะแขยงและไร้หลักการในการจัดการสิ่งต่างๆ แต่นี่ก็คือประเทศไทย..."
http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37082
การยัดเงินใต้โต๊ะเพื่ออำนวยความสะดวก การซื้อ-ขาย ตำแหน่ง การ "ดูแล" การใช้เส้นสายในการติดต่อหน่วยงานราชการในทุกลำดับชั้น การไม่สามารถทำอะไรได้เลยในประเทศนี้ หากว่าคุณ "ไม่รู้จักใคร" และในประเทศนี้ คุณภาพชีวิตของคุณนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณนามสกุลอะไร เป็นลูกใคร หลานใคร เพื่อนใคร เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเดียวกันกับใคร เพื่อน วปอ. รุ่นไหน? เพื่อนอนุบาลหมีน้อยจังหวัดใด
เป็นเตรียมอุดมฯ เป็นวชิราวุธ และเป็นอื่นๆ อีกมากเหลือจะกล่าว ล้วนแต่จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยในชีวิตการคอร์รัปชั่นในระบบเส็งเคร็งนี้แม้จะไม่มีเงินมาเกี่ยวข้องมากมายเหมือนการกินค่าคอมิสชั่น แต่เลวร้ายและเป็นเหมือนมะเร็งของสังคมที่จะค่อยๆ กัดกร่อนประเทศชาติให้เดินไปสู่หลุมฝังศพอย่างน่าสะอิดสะเอียน แต่กลับถูกตั้งคำถามน้อยกว่าการโกงค่ากล้อง หรือการกินค่าถนน
มะเร็งในโครงสร้างทางอำนาจแบบนี้เกิดจากการที่สังคมไทยไม่ยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ให้ค่ากับความเสมอภาคของมนุษย์ที่เรียกร้องให้เรามีความสัมพันธ์กันในแนวดิ่งมากกว่าแนวราบ แถมยังจำนนสยบยอมต่อพิธีกรรมทุกประการในอันที่จะผดุงประเพณีแบบเจ้าขุนมูลนายเอาไว้ในสังคม
ระบบริหารราชการทีมีลำดับชั้นต่ำสูงในแนวดิ่งประหนึ่งยังอยู่ในระบบมูลนายไพร่สม อาการแห่แหนขบวนของ "นาย" ที่จะไปไหนต่อไหนต้องมีลูกน้องตามสักหนึ่งหรือสองพรวน การให้ลำดับชั้นต่ำสูงกันที่รถประจำแหน่ง จำนวนผู้ติดตาม
(เคยเห็น ส.ส.เยอรมันใส่สูทอย่างเท่ เดินมาจากรถไฟใต้ดินเพื่อเข้าไปในรัฐสภาแล้วอยากจะร้องกรี๊ด มันเท่อะไรอย่างนั้น ไม่ดูล้าหลังไดโนเสาร์เหมือน เอิ่ม...)
ระบบเจ้าขุนมูลนายที่แฝงฝังอยู่ในทุกอนุภาคของสังคมไทย โดยเฉพาะในหน่วยงานราชการที่ไม่เคยสะกดคำว่า "เท่าเทียม" ได้อย่างถูกต้อง ไม่เว้นแม้แต่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัย ที่สังคมคาดหวังความเป็นผู้นำทางปัญญาสมควรจะหัวก้าวหน้ากว่าหน่วยราชการอื่น ทว่าระเบียบ พิธีกรรมการนั่ง ยืน เดิน กิน ยังคงเคร่งครัดอยู่ในการจัดลำดับชั้นแบบแนวดิ่ง มีงานอะไรขึ้นมาสักงาน เราจะเห็นเก้าอี้วีไอพี มีแก้วน้ำ มีพรม เก้าอี้หนาๆ นุ่มๆ อันนั้นของผู้ใหญ่ ระดับความนุ่มของเก้าอี้จะค่อยๆ ลดหลั่นกันไปจนกลายเป็นเก้าอี้เหล็กแข็งๆ เป็นที่นั่งของบรรดา "ผู้น้อย" ทั้งหลายอยู่แถวหลัง
การคอร์รัปชั่นในโครงสร้างอำนาจเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาของสังคมที่ยังเสพติดระบอบศักดินาล้าหลัง รังเกียจความเสมอภาคของมนุษย์ จึงปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของแท้ ไม่ต้องมีสร้อยห้อยท้าย รังเกียจการปฏิรูประบบบริหารราชการให้มีขนาดเล็กลงด้วยกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง รังเกียจโครงการที่ต้องการให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง รังเกียจที่จะปรับเปลี่ยนพิธีกรรม สัญลักษณ์ เครื่องแบบ ที่พยุงเอาความไม่เท่าเทียมกันนี้เอาไว้ในสังคม
ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่อาจแก้ได้ด้วยการนำนักการเมืองมาสาบานตน แต่ต้องทำได้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในสังคมให้เป็นสังคมที่คนต้องมีความสัมพันธ์กันในแนวราบและเชื่อมั่นในความเสมอภาคของมนุษย์เป็นเบื้องต้น เพื่อเป็นการแก้ไขมิให้มีช่องทางการคอร์รัปชั่นของ "อำนาจ"
จากนั้นเราจึงสามารถออกแบบระบบมาป้องกันการคอร์รัปชั่นในแบบกินค่าคอมมิสชั่นได้
++
อาลัย
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1572 หน้า 83
ติดตามข่าวการจับกุมตัวคุณ จีรนุช เปรมชัยพร ด้วยใจที่เต้นตึกตัก ถามว่าติดตามจากไหนก็ติดตามจากจากเว็บไซต์ประชาไท ที่คุณจีรนุชเป็นเว็บมาสเตอร์ กับในมติชนออนไลน์ ส่วนสื่ออื่นๆ กล่าวถึงแต่เพียงสั้นๆ
สำหรับสื่อเหลานี้ข่าวการจับกุมตัวคุณจีรนุชมีความสำคัญน้อยกว่าข่าวแอนนี่- ฟิล์ม บวกความคิดเห็นสุดอะเมซซิ่งของคุณระเบียบรัตน์ที่ไปสั่งให้เบบี๋จำไว้จนตายว่าฟิล์มคือพ่อ!!!!
แบบเอ่อ ...งงว่าอะไรที่ทำให้คุณระเบียบรัตน์มั่นใจมากขนาดนั้น ทำยังกะได้ไปยืนดูตอนเค้าทำลูก
ไม่เพียงเท่านั้น ฉันยังค่อนข้างแน่ใจว่าถ้าหากวันเดียวกันกับที่คุณจีรนุชถูกจับหลินปิงบังเอิญหล่นจากจากต้นไม้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ มันต้องเป็นข่าวที่สำคัญระดับชาติ เบียดข่าวคุณจีรนุชตกกรอบไปเลย
สื่อมวลชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฐานันดรที่สี่ (ราวกับเป็นวรรณะพิเศษเหนือมนุษย์) มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เมื่อเจอกับข่าวการคุกคามเพื่อนสื่อด้วยกันไม่ยักจะมีใครวิ่งไปสัมภาษณ์ ไปขุดคุ้ย ไปแฉ ไปเฉือกกับเบื้องหน้าเบื้องหลัง แต่ทีดาราตั้งท้อง ดารามีลูก ดาราเอากัน ฐานันดรที่สี่ของเราแทบจะวิ่งไปสิงสู่ไปมุดใต้เตียง ส่องกล้องดูว่าพวกเค้าสอดเค้าใส่กันท่าไหน พูดจาว่ากระไร ใครเป็นมือที่สามหรือ ข่าวเมียน้อย เมียหลวงดาราก็ยังตามกระซวกกันให้ถึงที่สุด
ทั้งๆ ที่ผัวตัวเองก็ไม่ใช่ เมียตัวเองก็ไม่ใช่ ลูกตัวเองก็ไม่ใช่ แต่เรื่องเหม็นๆ คาวๆ ของคนอื่นนี่ชอบสูดดมกันเหลือเกิน-เที่ยววิ่งไล่ดม ก้น ตูด จิ๋ม ดารานี่ช่วยเสริมสร้างเกียรติยศ ศักดิ์ศรีกันมากใช่ไหม
พวกท่านที่เรียกตัวเองว่าฐานันดรที่ 4 ทั้งหลาย
ในฐานะที่คนถูกจับเป็นสื่อ สื่อไม่เห็นอยากรู้ว่าทำไมไปดักจับที่ ตม. คุณจีรนุชถูกแจ้งความตั้งแต่สามปีที่แล้ว และไม่เคยหนีไปไหน ปรากฏกายในที่สาธารณะตามปกติ แต่แล้ว วันหนึ่งนึกอยากจับก็จับ การไปดักจับที่ ตม. ทำราวกับว่าคุณจีรนุชเป็นอาชญากรข้ามชาติ ก่อคดีอุกฉกรรจ์ และกำลังอยู่ในระหว่างการหลบหนี-สื่อทั้งหลายที่แม้จะไม่ได้มีจุดยืนเช่นเดียวกันกับประชาไทจะไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกันบ้างหรือ?
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นหมายจับที่ไม่เคยมีหมายเรียก และคดีที่คุณจีรนุชโดนคือความผิดใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยเผยแพร่ข้อความที่ผิด-ฉันขอเขียนด้วยความเศร้าสร้อยว่า-พวกเราก็รู้กันดีอยู่มิใช่หรือว่า ทั้งกฎหมายความมั่นคง, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็นที่มีอยู่ในเมืองไทยตอนนี้เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายรัฐอย่างล้นเหลือในการ "ตีความ" เช่น ใครเป็นผู้วินิจฉัยว่า ข้อความนั้นอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติ?
สมมตินักเขียนชื่อ ก. เขียนว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" เขียนไปแล้วมีคนอยากกลั่นแกล้งก็ไปแจ้งความจับบอกว่าข้อความนี้อ่อนไหว มีนัยส่อเสียด ส่อให้เห็นถึงความอาฆาต มาดร้าย จากนั้น สร้างเรื่องราว คำอธิบายมารองรับ และยืนยันการส่อเสียดของข้อความนี้อย่างพิสดาร
แล้ววันดีคืนดีนาย ก. ก็โดนจับสมใจคนอยากแกล้ง หรือคนที่อยากกำจัดนาย ก.ให้พ้นทางหรืออาจจะ แต่อยากสำแดงการข่มขู่ นาย ก.ก็ตกอยู่ในสภาพไก่ที่โดนเชือดให้ลิงดู
อันตรายของกฎหมายเช่นนี้คืออำนาจในการตีความซึ่งไม่จำกัด สามารถให้คุณให้โทษทั้งโดยอคติ และฉันทาคติ และ นาย ข. อาจจะเป็นที่รักของผู้มีอำนาจ และได้กล่าววาจาเดียวกันกับนาย ก. นาย ข. อาจจะได้รับรางวัลภาษาไทยดีเด่น ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ผู้ยึดมั่นในคำสอนของพุทธศาสนา ให้มันรู้ไปว่าประเทศนี้มันไม่มีหรอก สิ่งที่เรียกว่ามาตรฐาน มีแต่ว่า ใครเป็นใคร ใครอยู่ฝ่ายไหน ถ้าคุณอยู่ในข้างที่ "ชอบ" กับฝ่ายรัฐ คุณจะไม่มีวัน "ผิด"
เว็บไซต์ประชาไทก็เป็นแค่เว็บข่าวทางเลือกที่อยู่ได้ด้วยเงินทุนอันน้อยนิด และด้วยเป็นสื่ออิสระ จึงเปิดกว้างต่อทัศนคติที่หลากหลาย
จากผู้เขียนบทความ คอลัมนิสต์อิสระ เว็บไซต์อย่างประชาไท น่าจะเป็น "สื่อ" ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากงบประมาณของกลุ่มที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่อ้างว่าสนับสนุนการ "ปฏิรูปสื่อ" กลุ่มที่เคยออกมาเรียกร้องให้เรามี "สื่อทางเลือก" -แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเงินทุนเหล่านั้นกลายเป็นทุนขององค์กรที่กลายเป็นแขนขาของรัฐ และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเอ็นจีโออำมาตย์ไปเรียบร้อย
แหล่งทุนเหล่านั้น จึงกลายเป็นขุมทรัพย์ที่เอ็นจีโออำมาตย์จะเข้าไปตักตวง กอบโกย ขอให้เขียนโครงการให้ "สอดคล้อง" และ "สอพลอ" โดยไม่ลืมคำว่า "ทุกภาคส่วน" "ประชาธิปไตยทางตรง" "การพัฒนาโดยมีชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง" "ปราชญ์ท้องถิ่น" "ความเข้มแข็งของชุมชน" "การส่งเสริมการมีส่วนร่วม" "บูรณาการ"ฯลฯ
นี่เป็นเรื่องจัญไร ขายตัว ที่นักพัฒนาทำมาหากินบนความทุกข์ และความจนของประชาชนด้วยอาชีพของ "นักเขียนโครงการ"
ประชาไทแค่นำเสนอข่าวที่ไม่มี "ราคา" สำหรับสื่อกระแสหลัก เช่น ข่าวเกี่ยวกับการเมืองในพม่า ข่าวเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ ข่าวเกี่ยวกับค่ายผู้อพยพ งานวันเด็กของเด็กไร้สัญชาติ ข่าวแรงงานไทยที่ได้รับเคราะห์กรรมในต่างประเทศ มีบทความที่แปลจากภาษาต่างประเทศที่น่าสนใจ และแน่นอน หากจะมองว่า "คนเสื้อแดง" คือ "เชื้อโรค"ในสายตาของสื่อกระแสหลัก ข่าว "เสื้อแดง" ในประชาไท ที่พยายามเสนอข่าวของอีกด้านหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาจึงมีโทนที่ "แดง" กว่า
สื่อกระแสหลักเห็นๆ ทั้งหมดนี้ ฉันยังไม่เห็นว่า ประชาไท จะมีผลเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้อย่างไร
ในขณะที่สื่อจำนวนมากมอมเมาประชาชนด้วยสารพัดการเอากัน แต่งกัน เลิกกัน ตบกันของดารา (โดยเสนอไปควบคู่กับคู่มือใช้จริยธรรมนำชีวิต มือจงถือสาก ปากจงถือศีล) ทั้งนิตยสารขายเครื่องสำอางและไลฟสไตล์คนดัง น่าจะมีผลต่อความมั่นคงของชาติอย่างลึกซึ้ง เพราะมันจะเข้าแทรกซึมทำลายต่อมฉลาดคิดของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด เราจะมีพลเมืองไทยเชื้อสายสลิ่มที่มีลักษณะเด่นคือ "เฮโลสาระพา" คิดเองไม่เป็น ตั้งคำถามไม่ได้ กระแสอยู่ที่ไหน เราจะไปที่นั่น เค้าฮิตอะไรเราจะฮิตตาม
ต่อให้เค้าฮิตในสิ่งที่เรียกว่า "นอกกระแส" เรายังต้องเฮโลไปทำตัวนอกกระแสกับเขาบ้างเลย หรือเค้าว่า พระคนนั้นฉลาด กูก็ต้องว่าฉลาดด้วย ขนาด พระอ้างคำพูดของนิตเช่แล้วบอกว่าเดการ์ตพูด สลิ่มยังหูหนวกตาบอดร้อง บันไซ บันไซ ทำอะไรก็ไม่ผิด
เค้าว่า ราษฎรคนนั้นเป็นคนดีกูก็ต้องว่าดี โดยไม่เคยอ่าน ไม่ตามข่าว ไม่ตีความ จำๆ ที่คนอื่นเค้าพูดมา แล้วเค้าว่าเรามีหน้าที่ปกป้องความดี เราก็ปกป้องไป ไม่ต้องถามว่าอะไรคือ "ดี" "ดี" สำหรับใคร ?
เค้ารักธรรมชาติ กูรักด้วย เค้าไปปาย กูไปด้วย เค้าไปอิตาลี เขาใหญ่ กูต้องไปถ่ายรูปด้วย เขาไปเพลินทวารกูไปด้วย เค้าไปถ่ายรูปป้ายรถไฟหัวหิน กูไม่รู้ว่าถ่ายทำไม แต่กูต้องถ่าย เพราะใครๆ เขาก็ถ่ายกัน เค้าให้สวนกาแฟเข้าตูดบอกว่าล้างพิษกูก็สวนด้วย เค้าเอาหญ้ามาปั่นให้กินบอกเป็นน้ำคลอโรฟิลด์ขายจอกละร้อยกูก็กินตามเค้า เค้าให้ไปดูหิ่งห้อยอัมพวากูก็ไป เค้าไห้ไปตื่นเต้นกับตลาดร้อยปี กูก็ตื่นเต้น
เวลาจะแสดงความคิดอะไร เห็นว่าทำไมสิ่งนี้จึงชอบ ทำไมสิ่งนี้จึงดี ทำไมสิ่งนี้น่ายกย่อง ก็จงไปจำคำพูดเก๋ๆ คำพูดดีๆ ของคนดี คนดัง ที่พูดตามๆ กันมานั่นแหละมาอธิบาย ไม่ต้องคิดมาก เพราะพูดตามกันไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็น ความดี ความงาม ความจริง ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสอากาศให้พวกเราได้สูดดมกันจนสมองด้านชา เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นคือสัจธรรมจริงแท้แน่นอน
หากสมองของพวกเราไม่ถูกรมควันผสมยาสั่งกล่อมประสาท เราย่อมรู้สึกถึงความผิดปกติของการคุกคามสื่อ การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด การคิด การเขียน ตอนที่ สุภิญญา กลางณรงค์ ถูกทักษิณฟ้อง-อันแปลว่ายังไม่ได้ใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือมาจับสุภิญญาไปขังคุก-พวกเรายังเต้นเร่าๆ ราวกับว่าเสรีภาพของสื่อดับดิ้น นักข่าวสาวตัวเล็กๆ กำลังถูกทุนใหญ่รังแก ทุนมันชั่ว ทุนมันสามานย์-แต่นี่ ไม่ใช่แค่การฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่เป็นการออกหมายศาล จับกุม ควบคุมตัวโดยตำรวจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเพิกเฉย และคนจำนวนไม่น้อยได้แสดงความคิดเห็นว่า "สมควรแล้ว" "สมน้ำหน้า" "ประชาไท ไม่ใช่สื่อ" หนักที่สุดคือ นายกฯ ของเราเองที่เอา ประชาไทไปเปรียบกับอัลกอร์อีดะห์-คุณจีรนุชไม่ถูกจับไปประหารชีวิตก็บุญแล้วกระมัง!
และประทานโทษ ไม่มีนักวิชาการด้านสื่อหน้าไหน ไม่มีนักต่อสู้ด้านสื่อหน้าไหน ไม่มีบอกอ ที่เคยออกมาก่นด่าเรื่องสื่อถูกรัฐรังแกไม่ขาดปาก (ดูเหมือนว่าตอนนี้พวกเขามีความสุขกับสวนพลัมจนวางอุเบกขาต่อเรื่องราวเหล่านี้ได้แล้วกระมัง) ออกมาวิจารณ์ตรรกะผิดฝาผิดฝั่งหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "แถ" อย่างไร้ยางอายของนายกฯ แม้แต่คนเดียว
การสังหารหมู่เกิดขึ้นกลางเมือง ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของคนไทยจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางน้ำตาของผู้รักและอาลัยห้างสรรพสินค้าและโรงหนังอีกจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางศิลปิน นักร้อง นักเขียน กวีที่ออกมาสร้างสรรค์ผลงาน "เราจะกอบกู้ความสุขของคนกรุงเทพฯ กลับคืนมา" จำนวนหนึ่ง ท่ามกลางคนที่ออกไปกวาดถนนเพื่อล้างเลือดไพร่ และเสนียด จัญไรของคนบ้านนอกที่บังอาจบุกเมืองหลวงจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางผู้คน "อินดี้" ที่คิดว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับกูและเพิกฉย เย็นชา ไม่รู้สึกรู้สาต่อชีวิตเพื่อนร่วมชาติอีกจำนวนหนึ่ง
และตอนนี้ เมื่อสื่อมวลชนเกือบทั้งหมดเลือกที่จะเม้มริมริมฝีปากปิดสนิทเมื่อเพื่อนร่วมอาชีพของพวกเขาถูกคุกคามอย่างอุกอาจที่สุด ภาวะนิ่งเฉย ภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาว ภาวะของการไม่ give a fuck กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณจีรนุช ของสื่อไทยนั้น ได้บอกเราว่า เมืองไทยเดินมาถึงจุดที่ตกต่ำที่สุดทางปัญญา และประกาศความสำเร็จของรัฐในการครอบงำทางอุดมการณ์การเมืองที่มีต่อชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาอย่างหมดจด
คงต้องทบทวนกันอีกครั้งว่า "การมีขันติธรรมต่อความแตกต่างหลากหลายความความคิดเห็นทางการเมือง" นั้น มิใช่ประโยคสำเร็จรูปที่มีไว้เขียนใน Proposal ขอทุนปฏิรูปสื่อจาก สสส. แต่มันคือสิ่งที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยพึงให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน
ข้อความหมิ่นประมาท หรือการให้ร้ายผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในสื่อ หากมันเกิดขึ้นก็เอาผิดกันด้วยการฟ้องร้อง ต่อสู้คดีกันในศาล มิใช่ด้วยการออกหมายจับ หมายศาล หรือส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมตัว-ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจใส่กุญแจมือ
โปรดถามตนเองอีกครั้งว่า พวกท่านนั่งดูฝ่ายรัฐจับคนไปกักตัวไว้ในค่ายทหารโดยไม่มีข้อกล่าวหาที่ชัดแจ้งใดๆ พวกท่านนั่งดูการเซ็นเซอร์ข่าว หนังสือ บทความในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เว็บไซต์ การสั่งปิดนิตยสาร วารสาร การสอดส่อง การ "เฝ้าระวัง" การสอดแนมประชาชนตามเว็บบอร์ด ถามกันอีกครั้งว่า พวกท่านรู้สึกอย่างไรกับการมีชีวิตอยู่ภายใต้การ "จับจ้อง" ของ Big Brother ตลอดเวลา
ถามว่า พวกท่านรู้สึก "สบายดี" กับภาวะเหล่านี้หรือ ??
หากพวกท่านรู้สึกสบายดี นั่นคงเป็นเพราะว่า ท่านได้เข้า ได้ถูกสลายกลายพันธุ์เป็นเซลล์เดียวกันกับ Big Brother นั่นแสดงว่าท่านไม่ใช่ผู้ถูกจับจ้อง แต่ท่านกลายเป็นสาขาของดวงตาที่ทำการจับจ้องผู้อื่นและทำหน้าที่รายงานผลให้ Big Brother ด้วย
ขอไว้อาลัยให้กับความเสื่อมวิบัติอัปยศบรรลัยทางจรรยาบรรณของสื่อมวลชน และนักวิชาการด้านสื่อ นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชนของไทยทุกผู้ทุกคน และขอไว้อาลัยให้กับประเทศไทยล่วงหน้า อาเมน
++
โรงทาน
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1570 หน้า 89
คุณยายคนหนึ่งที่ฉันเจอที่จังหวัดหนึ่งในภาคอิสานถามฉันว่า "ถามจริงๆ เถอะหนู ทำไมคนกรุงเทพฯถึงถูกหลอกกันง่ายจัง รัฐบาลพูดอะไรก็เชื่อ เค้าว่าคนไปประท้วงเพราะถูกจ้างให้ไปก็เชื่อ แล้วคนแบบยายเนี่ยะนะเป็นผู้ก่อการร้าย ? "
ฉันเจอคำถามคุณยายก็อึ้งๆ ข้อแรกอยากจะบอกคุณยายว่าหนูไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่คิดดูอีกที คำว่า "คนกรุงเทพฯ" ของยายคงหมายรวมถึง "คนในเมืองที่มีการศึกษา" หรือใครก็ตามที่ไม่ใช่คนบ้านนอกแบบยาย กำลังจะบอกยายว่า "คนกรุงเทพฯ เค้าก็อยากถามเหมือนกันว่าคนบ้านนอกแบบยายทำไมถูกทักษิณกับแกนนำเสื้อแดงอีกทั้งนักการเมืองหลอกอยู่เรื่องตลอดปีตลอดชาติ"
เพื่อนๆ ของยายก็พูดแทรกขึ้นมาว่า
"อย่าไปว่าคนกรุงเทพฯเขาเลย คนกรุงเทพฯ น่าสงสาร เพราะต้องทำงานหนัก ข้าวของมันแพง ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานเพราะรถติด ตอนเย็นกว่ากลับถึงบ้านก็ค่ำก็เหนื่อย เพราะรถติดอีกนั่นแหละ คนกรุงเทพฯ เลยไม่มีเวลาจะมานั่งอ่านข่าว ดูข่าว เยอะๆ เหมือนพวกเรา ไม่มีเวลาจะมานั่งคุยกันเหมือนพวกเรา พวกเค้ารู้เท่าที่ข่าวในสื่อกระแสหลักพูดนั่นแหละ "
เอ่อ...เรียนท่านผู้ปฏิรูปสื่อทั้งหลายว่า ชาวบ้านหน้าดำที่ถูกตราหน้าว่าไร้การศึกษาเค้ารู้จัก "สื่อกระแสหลัก" นะ ทำเป็นเล่นไป
ฉันคงต้องบอกสักหน่อยว่า ฉากของบทสนทนานี้คือหมู่บ้านชนบทในจังหวัดภาคอิสาน พ่อเฒ่า แม่เฒ่า คนหนุ่มสาว ลูกเล็กเด็กแดง ประมาณสามสิบกว่าคน มารวมตัวกันเพื่อมานั่งดูโทรทัศน์จากช่องเคเบิ้ล เนื่องจากเคเบิ้ลทีวีไม่ได้ติดทุกบ้าน ถึงเวลาจึงมารวมตัวกันที่บ้านของคนที่มีจานดาวเทียมเพื่อจะดูข่าวและรายการอื่นๆ ที่ฟรีทีวีไม่มี ไม่เพียงแต่มาดูโทรทัศน์ ชาวบ้าน ชาวนา เหล่านี้ยังมีกิจกรรมนัดกันไปดูไปฟัง "ข่าว" ที่ไม่เป็น "ข่าว" ในสื่อปกติ ในหลายช่องทางที่พวกเขาเข้าถึง
การวิเคราะห์ และประเมิน คงมีทั้งผิด และถูก และไม่เกี่ยวกับเพราะพวกเขามีการศึกษาน้อยจึงวิเคราะห์ผิด เพราะพวกเราที่มีการศึกษามากๆ ก็วิเคราะห์อะไรต่อมิอะไรผิดอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่พื้นที่ของการวิเคราะห์พร้อมตั้งคำถามอีกทั้งจิตสำนึกทางการเมืองนั้นได้ตื่นขึ้นและกำลังมีชีวิตอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้
กลับมาที่เชียงใหม่ บนถนนที่ได้ชื่อเก๋ไก๋ที่สุดและเป็นแหล่งรวมผู้คนอินดี้อิสระ หนุ่มสาวที่ฉันรู้จักจำนวนมาก ไม่รู้จักโทรทัศน์ช่องอื่นๆ นอกจากฟรีทีวี ไม่รู้ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่างจากเคอร์ฟิวส์อย่างไร รับรู้เรื่องการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นกลางกรุงอย่างพร่าเลือน นั่นคือ งง ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น รู้ว่ามีการประท้วง-แล้วไง? มีคนตาย-เหรอ? ชีวิตได้รับผลกระทบอะไรไหม?-อือม...ไม่นะ ไม่เห็นมีอะไร
เชื่อเถอะพวกเขาแทบจะไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ส่วนโทรทัศน์ ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาได้ดูอะไรบ้าง และน่าตกใจที่พวกเขารับรู้ข่าวสารจากสื่อประเภท "เห็นเขาเล่าว่า...", "ได้ยินเขาบอกว่า...", "คนเค้าพูดกันว่า..."-จากนั้นจึงนำสิ่งที่ ใครๆ เขาเล่าให้ฟังว่ามาประมวลรวบยอดเป็นความเชื่อ ความจริงตามพื้นฐานประสบการณ์เท่าที่ตนมีซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยได้ยินคนอื่นพูดต่อๆ กันมาอยู่ดี
เช่น เลือกตั้งไปก็เท่านั้น เพราะเดี๋ยวนักการเมืองก็ซื้อเสียงเข้ามาอยู่ดี นักการเมืองก็เหมือนกันหมด ใครจะมาใครจะไปก็ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับตรู และให้ตายเถอะ เกิดมาตรูยังเคยไปเลือกตั้งกับใครเค้าเลย แม่ง ใครจะไปรู้ว่าต้องเลือกใคร คูหาเลือกตั้งคืออะไร อยู่ที่ไหนไม่เคยทราบ แบบว่า ไปลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้งเนี่ยะ ไม่ค่อยอินดี้เท่าไหร่เลย
คนมีการศึกษาดีอีกจำนวนไม่น้อยที่ฉันรู้จักพยายามอธิบายว่า "การเมืองเป็นเรื่องมายา" มันก็แค่การช่วงชิงอำนาจของฝ่ายกระหายอำนาจสองกลุ่ม ประชาชนอย่าเสือก เพราะเสือกแล้วมันเจ็บตัว (ชีวิตเป็นของจริง ออกไปจริง ตายจริง ไอ้ห่า กูบอกมึงแล้ว-แต่ไม่ยักจะตั้งคำถามว่า เฮ้ย แล้วไอ้คนที่ออกมาฆ่ามันมีความชอบธรรมในการฆ่านั้นหรือเปล่า ต่อให้ประชาชนมัน "เสือก" ออกมาก็ตามที)
คนมีการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย พยายามจะบอกว่า "การเมืองมันซับซ้อนกว่าที่เราคิด มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ประชาชนเป็นแค่หมากในเกม สุดท้ายก็เป็นเหยื่อ เพราะไม่ว่าใครเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ มันก็กลับมาเป็นอีหรอบเดิม คือไม่เห็นหัวประชาชน ดังนั้น การที่พวกเราไม่ออกความเห็นทางการเมือง มิใช่เป็นเพราะพวกเราโง่ หรือเป็นกลุ่มที่เพิกเฉยทางการเมือง แต่เป็นเพราะพวกเรารู้เท่าทันทางการเมือง
เรารู้ว่าการเมืองมันสกปรก ฉ้อฉล ใครจะขึ้นมามีอำนาจมันก็เหมือนกันไปหมด พวกที่เลือกข้างคือพวกไร้เดียงสา โวยวาย ตื่นตูม เดือดร้อน โดนจับ โดนฟ้องขึ้นมาแล้วจะรู้สึก อยากออกไปสู้ในแบบโง่ๆ ดีนัก
ไม่รู้เลยหรือว่า เมืองไทยน่ะ อยากอยู่สบาย ไร้คนเกลียดชัง อยู่ให้ทุกคนรัก ไม่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากิน พึงอยู่เฉยๆ พูดจาดีๆ ไม่มีความเห็น หรือเห็นอย่างเป็นกลาง ท่องคาถาต่อต้านความรุนแรง (โดยไม่สนใจว่าใครมีศักยภาพในการใช้ความรุนแรงมากกว่ากัน) เข้าใจทุกฝ่าย เห็นใจทุกฝ่าย สงสารคนเจ็บ เห็นใจรัฐบาล สงสารคนชั้นกลางที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ช็อปปิ้งอยู่ดีๆ กลายมาเป็นสลิ่มบ้าง กะทิบ้าง ให้พวกหัวรุนแรงไร้เดียงสาทางการเมืองมันเย้ยหยัน สงสารชาวบ้าน ทำนา มีความสุขกับชีวิตเรียบง่ายปลูกผัก หาปลา พระอาทิตย์ตกดิน ทอแสง งดงาม อยู่ดีๆ อ้าว ถูกนักการเมืองกับพวกแกนนำบ้าๆ บอๆ หลอกมานั่งตากแดดประท้วง แล้วยังต้องมาเสียชีวิต บาดเจ็บอีก "
ย้อนกลับไปที่ฉากหนึ่งในภาคอีสาน ฉันถามป้าๆ ว่า "อยากได้ไปทำไมไอ้ที่เรียกว่าประชาธิปไตยน่ะคุ้มหรือที่จะเอาชีวิตไปแลก ไปลำบากลำบนต่อสู้เรียกร้อง"
ป้าตอบว่า "ประชาธิปไตยสิคือเรารู้ว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกใครไปเป็นผู้แทนตัว เรา เราดูนโยบายพรรคไหนถูกใจเราสิเลือกพรรคนั้นเป็นตัวแทนของเรา ส่วนจะคุ้มไม่คุ้มไม่รู้ รู้แต่ว่าเราไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เราแค่ขอยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลเราก็ยอม ถ้าพรรคที่เราเลือกแพ้ เราก็รอเลือกตั้งใหม่ มันเป็นจั๋งซี่ แต่ที่ไม่เข้าใจคือว่า ทำไมเขาถึงต้องทำกับพวกเราขนาดนี้น้อ"
ตัดฉากกลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง อดีตนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาฯ นั่งพูดเรื่องความล้มเหลวของประชาธิปไตยระบบตัวแทน ทางออกคือต้องมีประชาธิปไตยทางตรง ยกตัวอย่างการเลือกผู้นำชาวบ้านในบางชุมชนที่พิจารณาจากศีลธรรม จริยธรรมของตัวบุคคลเป็นหลัก มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล กำกับดูแลโดยชุมชน (กะทิมากพี่-ฉันรำพึง)
ฉากและเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันเริ่มมั่นใจว่า ความสำเร็จของระบบการศึกษาของไทยคือกระบวนการทำให้คนมีการศึกษากลายเป็นไร้การศึกษา ส่วนคนไร้การศึกษา (ในระบบ) กลับเป็นคนที่ถูกครอบงำจากอุดมการณ์ของรัฐน้อยกว่า อยู่ในวาทกรรมกระแสหลักของสังคมน้อยกว่า
อาการไร้การศึกษาในระดับคนหนุ่มสาวที่เข้าใจว่าตนเองเป็น อินดี้ อิสระชน ที่ไร้การศึกษาเพราะนับตั้งแต่อ่านออกเขียนได้จากโรงเรียนและการฝึกฝนความรู้อย่างผิวเผินจากมหาวิทยาลัยแล้วดูเหมือนว่าคนเหล่านี้จะไม่ได้อ่านหนังสืออะไรอีกนอกจากพาดหัวในหนังสือพิมพ์อย่างเร็วๆ ลวกๆ หนังสือที่พวกเขาอ่านมักเจาะจงไปที่ความสนใจที่จำเพราะเจาะจง เช่น หนังสือเพลง กล้อง คอมพิวเตอร์ รถยนต์ นาฬิกา จักรยาน
คนเหล่านี้ ที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทั้งสีเหลืองสีแดง เพราะตรูแม่งไม่เอาทั้งสองสีและตรูก็ไม่เข้าใจว่าพวกนี้มันต้องการอะไร เพราะตรูก็เห็นว่าประเทศชาติมันไม่มีอะไรผิดปกติ หลังรัฐประหารพวกตรูก็ยังกินเหล้า ร้องเพลง สังสรรค์ ดูหนัง ทำทุกอย่างได้ตามปกติ ไม่เห็นว่าเสรีภาพของตรูมันจะมากขึ้นหรือน้อยลง การเมืองแม่ง เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องปวดหัว
มีคนตายเก้าสิบกว่าคน? คนไทยมีตั้งเจ็ดสิบกว่าล้านคน เก้าสิบกว่าคน ไม่เยอะหรอก คนถูกรถชนตายเพราะเมาเหล้าช่วงสงกรานต์เยอะกว่านี้อีก แล้วขอโทษ บังเอิญ ไม่ได้รู้จักมักจี่ ไม่ใช่ญาติพี่น้อง เอ่อ จะให้มีอารมณ์ร่วม มันมากไปหรือเปล่า?
ถามต่อว่าพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมชาติของเรามิใช่หรือ? เจอคำถามแบบนี้มีงงๆ เล็กน้อย พวกคนจนตีนหนาตัวดำพูดกันคนละ "ภาษา" กับพวกเราเหล่านั้นคือเพื่อนร่วมชาติ? พวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร เรารู้จักว่าเมืองไทยมีชาวนา ชาวไร่ มีคนขับแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก แต่ ชาวนาก็คือคนที่ปลูกข้าว แท็กซี่คือคนที่ขับรถรับจ้าง เหมือนบ้านที่มี คนสวน มีแม่บ้าน มีคนขับรถ แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่หนึ่งในสมาชิก ไม่ใช่สวนหนึ่งของครอบครัวที่หว่า เป็นแค่ "แรงงาน" ในสังคม ถึงพวกขาจะ "มีอยู่" แต่เราไม่จำเป็นต้อง "มองเห็น" ตราบใดที่พวกเขายังทำงานที่พวกเขาควรจะทำ อยู่ในที่ที่พวกเขาควรจะอยู่ พูดในสิ่งที่พวกเขาควรจะพูด เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่เคยตระหนักนับคนเหล่านี้เป็น "เพื่อนร่วมชาติ" อีกทั้งความหมายของชาติที่คุ้นชินก็ไม่เคยมีสิ่งที่มีชีวิตอยู่ในนั้น และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าชาติคืออะไร
อาการไร้การศึกษาของคนที่คิดว่าตนเองฉลาดรู้เท่ากันการเมืองที่พยายามจะบอกว่า "การเมืองเป็นเรื่องมายา" สะท้อนความสำเร็จของการล้างสมองคนไทยให้เข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องที่คนเข้า "เล่น" หาไม่แล้วเราจะไม่ใช้คำว่า "เล่นการเมือง" แต่คงใช้คำว่า "ทำงานทางการเมือง" สนามการเมืองจึงเป็นสนามของ เสือ สิงห์ กระทิง แรด คนดีๆ เขาไม่เล่นกันหรอกการเมือง อ้าว แล้วคนดีทำอะไร คำตอบคือ
"อ๋อ คนดี เค้าก็รอจะได้รับอัญเชิญเข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไงเธอ เค้าไม่มาลงสมัครเป็น ส.ส. ให้ชีวิตมันแปดเปื้อนเปลืองตัว"
ในเมื่อการเมืองเป็นเรื่องมายา ประชาชนไม่ควรไม่ยุ่งคำถามของฉันคือ "แล้วคุณจะให้ประชาชนทำอะไร?" มีรัฐประหารก็เฉย อย่าไปยุ่ง เดี๋ยวตกเป็นเรื่องมือของชนชั้นปกครอง พรรคที่เราเลือกถูกยุบแล้วยุบอีก "อย่าไปยุ่งการเมืองเป็นเรื่องมายา มันซับซ้อน คนบ้านๆ อย่างเราไม่รู้หรอกว่ามันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรบ้าง อัปรีย์ไปจัญไรมา อยู่เฉยๆ เดี๋ยวดีเอง"
ล่าสุดนอกจากความเจริญงอกงามของวาทกรรมว่าด้วยการเมืองสกปรก การเมืองเป็นมายา การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ยังมีความพยายามสร้างวาทกรรมว่าด้วยการเมืองคนไปจ่ายตลาด ทำกับข้าว ไม่มีใครจ่ายตลาดให้ใครได้ถูกใจ จะให้ดีทุกคนควรออกมาจ่ายตลาดเอง ทำกับข้าวเอง แล้วอย่ามานั่งวิพากษ์ วิจารณ์ นั่งด่าคนอื่น ชีวิตนี้ลงมือจ่ายตลาดทำกับข้าวกินเองสิ จะได้ถูกปาก ดังบทสัมภาษณ์ของอีกหนึ่งที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนผู้มีการศึกษาแต่ไร้การศึกษาว่า
"เรื่อง ปฏิรูปประเทศเยาวชนไทยอาจไม่ต้องมีส่วนร่วมก็ได้ แต่คุณต้องไม่วิจารณ์ทั้งวันโดยที่ไม่ได้ทำ คุณอาจไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่คุณเคยมีส่วนการเข้าร่วมออกแบบนโยบายประเทศไหม ถ้าจะวิจารณ์รัฐบาลนะ เราไม่ได้บอกว่า คุณวิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าคุณวิจารณ์อะไรก็ไม่ดีไปหมด สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยเหลือให้ดีขึ้น
ฉะนั้น ถ้าสิ่งใดที่พอรับได้ก็ขอให้หยุดคิดสักนิด อย่าเพิ่งวิจารณ์ออกมา สิ่งใดที่ดีก็ควรจะชมบ้างให้มีกำลังใจ ส่วนอะไรที่ไม่ดีจริงๆ ก็วิจารณ์ได้ สักหมัดสองหมัดก็ว่ากันไป อย่าลืมว่าถ้าเราไปทำเองตรงนั้น เราจะทำได้ไหม มีทางเลือกให้หรือเปล่า ไม่เช่นนั้นเราก็วิจารณ์กันอยู่อย่างนี้ อย่างน้อยเมื่อสิบปีก่อนมาถึงวันนี้ ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ก็กลัวว่าอีกสิบปีข้างหน้า อนาคตจะกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราจะไม่รู้จักเลย หรือไม่ ยุคนี้ทุกคนด่ากันได้ออกนอกหน้าโดยที่ไม่ต้องแคร์ " (สิงห์ลูกเสก วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ขีดเส้นปฏิรูปทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1284290835&grpid=01&catid=)
ฉันอยากจะเอาบทสัมภาษณ์นี้ไปให้คุณยายคนนั้นอ่านแล้วบอกว่า
นี่ไง ประชาธิปไตยของคนกรุงเทพฯ มันเป็นจั๋งซี่! ยายช่วยเข้าใจรัฐบาลเพิ่นบ้าง อย่าว่าเพิ่นหลาย มือไม่พายอย่าเอาตีนราน้ำ
คุณวรรณสิงห์พูดเช่นนี้ ลืมไปแล้วหรือว่าประชาชนมีส่วนกำหนดนโยบายรัฐบาลโดยเลือก ส.ส. นั่นแหละ ไม่ต้องมาจากบริษัทที่ไหนทำปาหี่เรื่องไอเดียประเทศไทย ปัญญาอ่อนเหมือนเด็กเล่นขายของ และตอนนี้เราไม่ได้ด่ารัฐบาลเพียงเพราะว่ารัฐบาลมันบกพร่องในหน้าที่ แต่เราวิจารณ์ และกดดันให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตยให้คืนอำนาจในการ "เลือก" รัฐบาลกลับสู่มือประชาชน และเราก็ประณามทุกท่านที่หน้าด้านไปร่วมงานกับรัฐบาลนี้
อ้อ แล้วเรื่องไปจ่ายตลาด-สองร้อยปีแล้วกระมังที่โลกนี้ค้นพบกระบวนการ "เลือกตัวแทน" ของตนไปจ่ายตลาดให้ เพราะหากคนทั้งประเทศไปจ่ายตลาดเอง ตลาดคงแน่นขนัด และคงมีเหยียบกันตายบ้าง มีตัวแทนแล้วจะมี "ทางเลือก" ในการจ่ายตลาดด้วยตนเองในตลาดทางเลือกอื่นๆ เพื่อคานอำนาจตลาดหลัก อันนั้นค่อยว่ากัน
แต่คุณหนูผู้ไร้การศึกษาคะ-เผอิญว่าตอนนี้ประเทศเราไม่มีตลาด มีแต่โรงทาน-ซึ่งเราเลือกอะไรไม่ได้เลย แถมยังถูกบังคับให้กิน
เข้าใจบ้างไหมคะ? และขอโทษด้วยที่เราแคร์
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย