.
เอาชิพแปะหัว แล้วไปเลือกตั้งกัน (1)
โดย จอห์น วิญญู I here T.V.
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 หน้า 80
ปั้ง!!! (เสียงประตูห้องประชุมปิดอย่างแรง)
ไม่ใช่เพราะผมไม่พอใจลูกค้าแล้วทำตัวกระแทกกระทั้นหรอกนะครับ พอดีลมมันตีประตูน่ะ
แต่ใจจริงก็อยากทำอยู่เหมือนกันแหละ ฮา
ก็นะ เรื่องเดิมๆ คำถามเดิมๆ เวลาไปขายโฆษณา มักจะมีคำถามว่า "เม็ดเงินที่ลงโฆษณาไปจะวัดผลกลับมาเป็นยอดขายได้อย่างไร"
ได้ยินทีไรแล้วกุมขมับครับ มันสมองอันน้อยนิดกระจี้รี่ของผมเนี่ยมันคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะทำยังไงให้ทราบผลสะท้อนของยอดขายที่ได้รับกลับมาจากการลงทุนโฆษณาครั้งหนึ่งๆ ลองคิดดูดิครับ สมมติเจ้าของผลิตภัณฑ์ขนมยี่ห้อหนึ่งซึ่งขนมนั้นขายราคาห่อละ 10 บาท ไปซื้อสื่อโฆษณาโดยลงโฆษณาในทีวีเป็นเงิน 100 บาท มีคนเห็นโฆษณาอันนั้นจำนวน 1,000 คน แล้วหนึ่งพันคนดังกล่าวเมื่อเห็นโฆษณาจากทีวีปั๊บ ก็รีบแล่นออกไปซื้อขนมมาแดก เอ๊ย กิน ทันที นั่นหมายความว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ขายของได้เป็นเงิน 10,000 บาท
สมมติได้กำไร 50% จากยอดขาย ก็จะได้กำไรเป็นเงิน 5,000 บาท
ทําไมผมชอบคำนวณอะไรแบบนี้จัง ทั้งๆ ที่รู้ว่ายิ่งเขียนมันก็ยิ่ง งง ผมถือคำขวัญ (คิดเองเมื่อกี้)
"ล้านความงง นำซึ่งหนึ่ง ความกระจ่าง" (ดูเท่)
มา ต่อต่อ สรุปว่าลงทุนโฆษณาไป 100 บาท ได้กำไรกลับมา 5,000 บาท แน่นอน เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องคิดว่ามันคุ้มค่า และร้อยทั้งร้อยย่อมตัดสินใจได้อย่างทันทีว่าจะซื้อสื่อโฆษณานั้นต่อไป
ในความเป็นจริง คุณจะรู้ได้ไงครับว่าไอ้ 1,000 ห่อขนมที่ถูกซื้อ มาจากหนึ่งพันคนที่เห็นโฆษณาของคุณ สมมติว่าจากหนึ่งพันห่อที่ขายได้ มีแค่คนเดียวที่ออกไปซื้อขนมมากินเพราะเห็นจากโฆษณา ส่วนอีก 999 คนมาซื้อเพราะว่าหิวและไม่รู้จะกินอะไร เดินเข้าร้านไปแล้วเห็น ก็เลยหยิบๆ มา ไม่เคยดูโฆษณาในทีวีเลยด้วยซ้ำ
ถ้าคิดกันด้วยความสัตย์จริงเงินลงโฆษณา 100 บาท สร้างยอดขายได้ 1 ห่อ = 10 บาท เป็นกำไร 50% ดังนั้น กำไรคือ 5 บาทลงโฆษณา 100 บาท ได้เงินจากการขายของกลับมา 5 บาท คุ้มไหมครับ?
แถวบ้านผมเรียกขาดทุน
หลายคนบอก แหม... นายจอห์น วิญญู นายก็เว่อร์สะบึม แล้วนายไปรู้ได้ไงว่ามีคนซื้อคนเดียว เออ แล้วคุณรู้ได้ไงว่ามีคนกี่คนที่ซื้อขนมยี่ห้อนั้นจากการดูโฆษณาทีวีนั้นๆ
ใครจะไปรู้
เออ นั่นดิใครจะไปรู้ (วะ)
ในความเป็นจริงมันก็มีวิธีวัดอยู่บ้างแหละ (ตามความเข้าใจของผม) แต่มันก็ไม่น่าจะได้ผลทั้ง 100% อย่างเช่น การเก็บแบบสอบถาม ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยกันเอาเองละกันว่าจะใช้เทคนิคเทคโนแบบใดในการเก็บแบบฯ โดยการถามว่าที่มาซื้อขนมยี่ห้อนี้เนี่ย ได้ยิน ได้ฟังโฆษณามาจากไหน อย่างไร
แล้วนึกสภาพความวุ่นวายในร้านสะดวกซื้อขนาดเท่ารูตรู๊ดที่มีอยู่ทั่วไปสิครับ คนต่อคิวซื้อของจ่ายตังค์กันยาวเป็นกิโล ความวุ่นวายมหาศาลในพื้นที่กระจ้อยร่อยแค่นั้น จะให้พนักงานมาถามว่าสินค้านี้คุณมาซื้อเพราะอะไร ได้เคยเห็นโฆษณาจากไหน หรือแม้กระทั่งให้ผู้ซื้อกรอกแบบสอบถามสั้นๆ รอระหว่างพนักงานกำลังคิดเงิน
มันช่างเป็นความฝันที่สวยงาม หล่า ลา ล้า...
แต่การซื้อขายในโลกอินเตอร์เน็ต (พอจะ) ทำได้นะครับ เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีเว็บไซต์ขายของเป็นของตัวเองเขาจะมีวิธีติดตามผลความคุ้มค่าจากการลงโฆษณาที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและเชื่อถือได้เลยทีเดียว
แต่ระบบโปรแกรมของเขาก็จะซับซ้อนหน่อย คืองี้ครับ เขาจะไปซื้อป้ายโฆษณา (Banner) ตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วพอผู้เข้าชมคลิกที่ป้ายโฆษณา ก็จะถูกพามาที่เว็บไซต์ขายของของเขา ซึ่งขั้นตอนที่ป้ายโฆษณานั้นพาคนเข้ามายังเว็บไซต์จะถูกบันทึกไว้ว่าผู้ชมคนนี้มาถึงร้านนี้ได้อย่างไร และถ้าผู้ชมเข้ามาแล้ว ผู้ชมเกิดสนใจสิ่งของสินค้าในเว็บไซต์ก็จะเริ่มทำการสมัครสมาชิกเพื่อทำการสั่งซื้อของ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็จะถูกบันทึกไว้อีก
และในที่สุด พอเริ่มต้นใช้จ่าย ก็
โป๊ะเชะ!!!
การบันทึกรายได้จากการขายเพื่อนำไปวัดความคุ้มค่าจากการลงโฆษณาเริ่มที่ตรงนี้นี่เอง
นั่นแหละครับ เพราะเป็นคอมพิวเตอร์มันเลยทำได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์เวลาเชื่อมต่อเข้าไปในโลกอินเตอร์เน็ตมันจะมีหมายเลข IP Address เป็นเหมือนเลขที่บ้านแหละครับ เอาไว้บอกใครๆ ว่าขณะที่ฉันออนไลน์อยู่เนี่ย ฉันอยู่ตรงนี้นะ ที่บ้านหมายเลขนี้ ใครจะส่งข้อมูลอะไรมาให้ฉัน ก็ส่งมาที่ตรงนี้ ระบบคอมพิวเตอร์ในโลกอินเตอร์เน็ตมันจะมีการรับการส่งข้อมูลบันทึกระหว่างกันและกันตลอดเวลาขณะที่เราเชื่อมต่อใช้งานอยู่
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ถ้ามีระบบการวัดผลและการเก็บสถิติการใช้งานรองรับไว้อย่างดี จะเป็นตัวชี้วัดความคุ้มค่าในการซื้อสื่อโฆษณา และมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ค้าอย่างยิ่งยวด
เฮ้ย!!! แล้วไหนเรื่องชิพแปะหัวคนอะไรที่ว่า ยังไม่เห็นมีเรยยย
อย่าหาว่าผมกวนตีนเลยนะครับ
ยินดีด้วยจริงๆ
คุณเพิ่งอ่านบทนำจบ
++
เอาชิพแปะหัว แล้วไปเลือกตั้งกัน (จบ)
โดย จอห์น วิญญู I here T.V.
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 79
จากตอนที่แล้ว จบตรงที่ความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในการวัดผลความคุ้มค่าในการลงโฆษณาของผู้ผลิตสินค้าที่ต้องการขายของในโลกอินเตอร์เน็ต โดยวัดจากสถิติการเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ ว่าผู้เข้ามาถึงร้านค้าคนนั้นๆ มีที่มาจากการไปลงโฆษณาไว้ที่ใด และผู้เข้ามาถึงร้านค้าแล้วมีการสมัครสมาชิกหรือไม่ สมัครสมาชิกแล้วมีการซื้อของไปเท่าไหร่ แถมบางทีตามดูพฤติกรรมการเลือกชมสินค้า แล้วยังไปรู้ต่ออีกว่าสมาชิกคนนั้นๆ ชอบสินค้าอะไรเป็นพิเศษ อูววว...
บางคนเลยบอกว่าระบบ IP Address ของคอมพิวเตอร์เวลาออนไลน์นี่ดีจัง ทำให้มีการเก็บสถิติที่เกิดประโยชน์ ทำให้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร รู้ไปโหม้ดเรยยย
แต่เดี๋ยวก่อน...
มันก็มีส่วนถูกอยู่หรอก แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะยังไงก็ตาม IP Address ใช้ระบุตัวคนไม่ได้นะครับ
ถ้าเราเล่นเน็ตจากในบ้านเราเองก็พอจะระบุตัวตนได้ แต่ถ้าเราเล่นเน็ตตามร้านเน็ต หรือสถานที่อื่นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต การระบุตัวตนจะยากมากกก เพราะมีคนใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันหลายคน สมมติถ้ามีใครกระทำผิดผ่านคอมฯ ในร้านเน็ตแล้วเพิ่งลุกออกไป เก้าอี้ยังอุ่นๆ อยู่ แล้วเราที่เพิ่งเดินเข้ามาในร้านมานั่งใช้ต่อ เพิ่งจะกดคีย์บอร์ดปุ่มแรก ตำรวจเดินทางมาถึง มาจับเรา แล้ว
บอกว่าตรวจพบผู้ใช้คอมพิวเตอร์ IP Address นี้กระทำความผิดจึงได้เร่งรุดเข้ามาจับกุม
แหม โชคดีจริงกรูววว เพิ่งมานั่ง ตูดยังไม่ทันติดเบาะเร้ย
กว่าจะรู้เรื่องก็อาจจะต้องรอเปิดกล้องวงจรปิดในร้านเน็ตดูหน้าตาไอ้โจรคนก่อน หรือไม่ก็อาจจะดวงดีได้ไปให้ปากคำที่โรงพัก เสียเวลาเล่นเน็ตอีก ฮา
มันระบุตัวคนโดยใช้ IP Address ยากจริงๆ นะครับ ถ้าไม่เห็นตัวคนที่ใช้ ณ เวลานั้นๆ แบบจะจะ
พูดถึงเทคโนโลยีการระบุตัวตน ก็นึกไปถึง DNA เนาะ แล้วถ้าเป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตนแบบเครือข่ายออนไลน์ล่ะ อืมมม...ถ้าเราย่อคอมฯ ให้เล็กลง เอาแค่เป็นชิพตัวเล็กๆ ก็ได้ เล็กโคตรเล็กเลยยังได้มั้ง ก็เดี๋ยวนี้เค้ามีนาโนเทคโนโลยีกันแล้วนิ เอาชิพแปะไว้ที่ตัวเราแล้วรับค่ารหัส DNA ประจำตัวของเราจากจุดสัมผัสบนร่างกาย แปลงเป็นสัญญาณวิทยุเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่ายส่วนกลาง
ใช้รหัส DNA นี้แทน IP Address ไปเลย
แหร่มป่ะ?
ในชิพตัวเดียวกันนี้ก็ทำให้มันมีความสามารถในการอ่านคลื่นสมองแล้วแปลงส่งออกไปเป็นข้อมูลรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่แน่ต่อไปเราอาจแปะชิพตัวนี้ไว้ที่หัว แล้วออนไลน์เข้าระบบ Internet DNA ที่ว่านี้ พูดคุยกันในลักษณะโทรจิต โดยใช้ชิพตัวนี้ส่งคลื่นสมองที่เป็นคำพูดออกไปที่ระบบเครือข่ายส่วนกลางที่มีข้อมูลรหัส DNA สมาชิกคนอื่นอยู่ เพียงแค่เรานึกชื่อนามสกุลของเพื่อนพร้อมคำพูดที่ต้องการสื่อสารออกไป ระบบจะแปลงชื่อนามสกุลไปเป็นรหัส DNA แล้วส่งไปยังปลายทางอีกฝั่งซึ่งคือชิพที่แปะอยู่บนหัวเพื่อนของคุณ
เท่านี้ก็เริ่มแชตในหัวสมองกันได้แล้วล่ะ
กรี๊ดดดด!!!
จอห์น วิญญู แกเพ้อหนังไซฟายยยอารายของแก?
ไม่หรอกน่า มันเป็นจริงได้ ไม่เกินห้าสิบปี ผมว่าเผลอๆ ไม่ถึงยี่สิบ (ถ้าเกินก็อย่าว่ากันนะ เพราะผมไม่ได้เป็นคนพัฒนา ฮา)
หลายปีก่อนผมดูทีวีในบ้านเรานี่แหละ เห็นเขาใช้คลื่นสมองบังคับเกมได้กันแล้ว ดูในช่อง Discovery เขาก็เคยนำเสนอการใช้คลื่นสมองบังคับแขนกลให้ขยับ ที่ฮือฮากันมากตอนนั้นก็คงหนีไม่พ้น Honda ที่เขาโชว์การใช้คลื่นสมองของมนุษย์บังคับให้หุ่นยนต์ยกมือ *๑ หรือทำท่าทางตามคำสั่งได้
แต่ที่ผมเห็นของ Honda เครื่องรับคลื่นสมองเขาอันเบ้อเริ่ม แต่ไม่เป็นไรแป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็เล็ก ดูคอมพิวเตอร์ดิ แต่ก่อนใหญ่เป็นโรงงาน เดี๋ยวนี้อยู่ในกำมือแล้ว
เรื่องการสนทนาผ่านคลื่นสมองเหมือนโทรจิตลองไปดูผลงานของ TI (Texas Instruments)*๒ ใน youtube ได้นะครับ เขาส่งคลื่นสมองสั่งโทรเข้าโทรศัพท์มือถือของคนอื่นได้ ใช้คลื่นสมองส่งคำพูดโดยปากไม่ขยับไปออกแบบมีเสียงยังโทรศัพท์เครื่องปลายทางนั้นได้อีกต่างหาก *๓
พัฒนาการทางด้านการจำแนกและแปลงคลื่นสมองให้เป็นสัญญาณภาพ สัญญาณเสียง ยังคงดำเนินต่อไป หลายๆ คนอาจจะคิดว่าถ้าต่อไปทุกคนต้องติดชิพที่ผมเพ้อมานี่ไว้ที่หัวตลอด ก็จะขาดความเป็นส่วนตัวสินะ ทำอะไร คิดอะไร ใครก็รู้หมด ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า
ผมว่ามันน่าจะให้เลือกได้มากกว่านะครับ เหมือนคอมพิวเตอร์อ่ะแหละ เลือกได้ว่า online หรือ offline
แต่เมื่อถึงเวลานั้นภาครัฐเขาคงอยากจะให้เรา online ไว้ตลอดมั้ง เขาจะได้รู้ว่าเราคิดอะไร ทำอะไร จะได้ตามมาควบคุมได้โดยง่าย เนาะ
จะว่าไปแล้วถ้า online ชิพที่ว่านี้ไว้ตลอด แม้กระทั่งตอนเข้าคูหาเลือกตั้งก็แย่สิ ถ้าคลื่นสมองส่วนลึกมันส่งออกไปว่าเราอยากเลือกเบอร์นี้ แต่มือมันดันไปกาอีกเบอร์นึง
งี้เขาจะรู้ไหมนะว่าเราโดนซื้อเสียง
ว้า แย่จัง
แล้วถ้าเราดันนึกหน้าคนที่ซื้อเสียงของเราขึ้นมาตอนนั้น แล้วเขาจับคลื่นสมองของเราได้
เขาจะตกใจไหมนะ
ที่เห็นหน้าตัวเอง
ฮา...
อ้างอิง
๑. Honda ATR Develop Brain-Machine Interface Technology Enabling Control of a Robot by Human : http://www.youtube.com/watch?v=RuxAV0S71qU
๒. Texas Instruments (TI) is a global analog and digital semiconductor IC design and manufacturing company. : http://www.ti.com/
๓. World"s First, Live Voiceless Phone Call Made at TIDC 2008 : http://www.youtube.com/watch?v=0g_RQZ-ntSw
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย