http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-09

ทุนไทยกับประชาธิปไตย, การเมืองเชิงอุดมการณ์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ทุนไทยกับประชาธิปไตย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 หน้า 30


ฝิ่นในฐานะยาเสพติดคงเริ่มเข้ามากรุงเทพฯ ในปลายสมัย ร.1 แล้วก็เริ่มระบาดมากขึ้นจนรัฐบาลเห็นเป็นปัญหา ในพ.ศ.2372 จึงมีประกาศห้ามสูบฝิ่น ห้ามนำเข้า และห้ามซื้อขาย

เหมือนกฎหมายประเภทเดียวกันในรัฐที่อ่อนแอแหละครับ กล่าวคือรัฐได้แต่แสดงเจตจำนง แต่ไม่มีกึ๋นจะบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผลตามเจตจำนง ฉะนั้น ประกาศฉบับนี้ย่อมเป็นบ่อเงินบ่อทองแก่ขุนน้ำขุนนาง โดยเฉพาะที่มีหน้าที่ตรวจจับสินค้านำเข้า และตรวจจับผู้ลักลอบซื้อขายและเสพ ฝิ่นจึงยังหลั่งไหลเข้ามายิ่งกว่าเดิม ในขณะที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรวยเอาๆ

ในขณะเดียวกัน เพื่อจะสร้างระเบียบของการค้าท่ามกลางความทุจริตฉ้อฉลของราชการ พ่อค้าฝิ่นย่อมต้องรวมตัวกันจัดองค์กรลับ เพื่อต่อรองราคา "เก๋าเจี๊ยะ" ให้มีมาตรฐานแน่นอนพอที่จะตั้งราคาขายส่ง-ขายปลีกได้



ในระยะแรก องค์กรลับเหล่านี้ไม่ได้คิดจะแข็งข้อกับรัฐหรอกครับ แต่เป็นธรรมดาของการทำการค้าที่จะต้องเท่าทันกับกลไกตลาด และการจัดองค์กรภายในเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ในรัฐที่อ่อนแอ

แม้กระนั้น ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ว่า พ่อค้าอื่นนอกองค์กรอาจรวมตัวกันจัดองค์กรของตนเอง เพื่อลักลอบค้าฝิ่นก็ได้อีก แต่แทนที่จะจ่ายเงิน "เก๋าเจี๊ยะ" ให้ขุนนางกลุ่มเดิม ก็อาจไปจ่ายให้ขุนนางกลุ่มใหม่ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า หรือส่งไปถวายเจ้านายที่มีอำนาจสูงๆ ก็ได้ เกิดการแข่งขันในระบบผูกขาดซึ่งเป็นอันตรายต่อการค้าที่ต้องเสีย "ส่วนเกิน" สูงๆ อย่างยิ่ง

องค์กรลับเหล่านี้จะรักษาการผูกขาดได้อย่างไร คำตอบก็คือตีกันสิครับ เพราะการคอร์รัปชั่นก็ต้องการ "ระเบียบ" เหมือนกัน เมื่อรัฐรักษา "ระเบียบ" ของการคอร์รัปชั่นไม่ได้ องค์กรลับก็ต้องรักษาเอง

ถึงตอนนี้ แม้ไม่ได้ตั้งใจจะแข็งข้อกับรัฐ ก็จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองเพื่อรักษาประโยชน์การค้าของตนไว้ องค์กรลับสั่งสมผู้คนติดอาวุธและยกพวกตีกัน รัฐที่อ่อนแอย่อมสะดุ้งหวั่นไหว เพราะนอกจากละเมิดกฎหมายอย่างออกหน้าแล้ว องค์กรลับยังมีศักยภาพที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจทางการเมืองได้โดยตรง

วิธีที่รัฐบาลสมัยนั้นทำมีอยู่สองอย่างคือปราบปรามอย่างรุนแรงโหดร้าย เช่น ปราบการประท้วงการขึ้นภาษีน้ำตาลที่นครไชยศรีและฉะเชิงเทราในสมัย ร.3 กุลีจีนตายกันเป็นเบือมากกว่าราชประสงค์และผ่านฟ้าเสียอีก แต่ก็เป็นวิธีเดียวกันซึ่งรัฐอ่อนแอมักเลือกใช้ คือ เชือดไก่ให้ลิงดู

(อีกกรณีที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบก็คือ การฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด ตัวเลขที่น่าตกใจของผู้เสียชีวิต ไม่ใช่จุดอ่อนของมาตรการ แต่เป็นเป้าหมายเลยทีเดียว)

วิธีที่สองก็คือ รัฐผนวกเอาการกระทำที่รัฐเคยถือว่าผิดกฎหมายมาเป็นกิจกรรมของรัฐเสียเอง

รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ทำอย่างนั้นในปีแรกของ ร.4 โดยให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการค้าฝิ่นเสียเอง รัฐเป็นผู้รับซื้อฝิ่นที่นำเข้าทั้งหมด แล้วขายต่อให้พ่อค้าฝิ่นเพื่อเอากำไรอีกทอดหนึ่ง แน่นอน รัฐย่อมอ้างว่าวิธีการนี้จะทำให้สามารถควบคุมปริมาณการใช้ฝิ่นในประเทศให้พอเหมาะพอสมได้

แต่รัฐที่อ่อนแอจะควบคุมปริมาณได้อย่างไร ในเมื่อหากตลาดมีความต้องการสูง ก็เป็นธรรมดาที่จะมีผู้ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านกรมฝิ่นของรัฐ หรือที่เรียกว่าฝิ่นเถื่อน ในที่สุดข้ออ้างดังกล่าวก็ถูกลืมไป เพราะกำไรที่รัฐได้จากฝิ่นนี้มีสูงมาก ทั้งยังนำเข้าสู่พระคลังหลวงทั้งหมด เป็นแหล่งรายได้สำคัญของท้องพระคลัง

และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลกลางสืบมาอีกนาน ควบคู่กับภาษีสุราและภาษีโรงหญิงนครโสเภณี



อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า การต่อสู้กับฝิ่นนั้นไม่ได้อาศัยแต่กฎหมายและการบังคับใช้อย่างเข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องหมายถึงมาตรการทางบวกอีกหลายอย่างซึ่งรัฐและสังคมต้องร่วมมือกันทำ เช่น การศึกษา, การบำบัดผู้ติด, และลึกลงไปกว่านั้นก็คือการป้องกันมิให้ผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบเกินไป เพราะฝิ่นคือยาระงับปวดให้แก่ผู้ใช้แรงงานมากเกินกำลังมนุษย์

รัฐไทยทำไม่ได้หรอกครับ ทำมาตรการเชิงลบได้ครึ่งเดียว คือไม่มีสมรรถนะที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการทางบวกไม่ได้ทำเลย เพราะเกินกำลังของรัฐสมัยนั้นจะทำได้ และเกินกำลังของรัฐสมัยนี้ในหลายเรื่องด้วยเหมือนกัน ผมจึงเรียกว่ารัฐอ่อนแอมาตลอดไงครับ

ในส่วนขุนน้ำขุนนาง เคยได้ส่วนเกินจากฝิ่นเถื่อนอย่างไร ก็ยังคงเก็บส่วนเกินจากฝิ่นเถื่อนได้ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนนิยามของความเถื่อนของฝิ่น จากที่ไม่เคยให้นำเข้าเลย มาเป็นส่วนที่นำเข้าโดยไม่ผ่านรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่นับค่าน้ำร้อนน้ำชาที่พ่อค้าฝิ่นต้องจ่าย ในการขายหรือซื้อฝิ่นกับรัฐ

แต่ปริมาณของ "ฝิ่นเถื่อน" ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะชาวเขาซึ่งปลูกฝิ่นป้อนตลาดจีนบนทิวเขาตอนใต้ของจีน ถูกขับไล่จากกองทหารจีนในปลายราชวงศ์แมนจู จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ในทิวเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นอาณาบริเวณที่ต่อกันกับทิวเขาในตอนใต้ของจีน ฉะนั้นจึงมีฝิ่นที่ปลูกทางตอนเหนือของประเทศ ที่พร้อมจะไหลไปสู่ตลาดใดก็ได้ที่มีความต้องการ

จะกันฝิ่นไว้ที่ท่าเรืออย่างเดียวไม่ได้เสียแล้ว รวมทั้งอังกฤษเองก็ถูกนานาชาติกดดันจนต้องเลิกค้าฝิ่นไป แหล่งที่มาของฝิ่นย้ายไปอยู่ทางเหนือของประเทศ ฝิ่นทั้งที่จะขายแก่รัฐหรือเถื่อนจึงไหลลงมาผ่านทั้งทางน้ำ, บก, หรือแม้แต่อากาศในภายหลัง

ข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นเถื่อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหน่วยที่มีหน้าที่จับกุมผู้ค้าเถื่อนทั้งหลาย การค้าฝิ่นกลายเป็นฐานรายได้สำคัญในทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ แย่งกัน และเกือบจะปะทะกันหลายครั้ง ระหว่างตำรวจที่ไปจับฝิ่นเถื่อน แต่พบว่าทหารเป็นผู้ขน หรือทหารช่วยเหลือราชการจับฝิ่นที่ตำรวจขน เพื่อตัดกำลังศัตรูทางการเมือง

แน่นอนว่า ผู้ค้าอิสระก็มีไม่น้อย แต่จะค้าฝิ่นเถื่อนอย่างอิสระจริงๆ นั้นแทบไม่มี (นอกจากกระป๋องสองกระป๋อง เช่นเพื่อนชั้นมัธยมของผมคนหนึ่ง เป็นชาวลำปาง จะขนมาหนึ่งกระป๋องบุหรี่ทุกเปิดเทอม เพื่อเอามาเสียค่าเทอมและค่ากินอยู่หลับนอนในฐานะนักเรียนประจำ) จำเป็นต้องสังกัดกับข้าราชการ หรือร่วมหุ้น หรือเสียส่วนแบ่งเพื่อเปิดทาง



ผมควรพูดถึงชาวเขาผู้ปลูกฝิ่นบนดอยไว้ด้วย ฝิ่นเป็นพืชที่ให้คำตอบอย่างดีที่สุดแก่ชีวิตของชาวเขา ซึ่งมีแรงงานจำกัดและอาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะกับการเกษตรนัก ฝิ่นจึงเป็นพืชเงินสด (cash crop) อย่างเดียวที่ทำให้เขาอยู่รอดในภูมิประเทศที่ทุรกันดารอย่างนั้นได้

อยู่รอดเท่านั้นนะครับ ไม่ได้รวยอะไรขึ้นมาเหมือนพ่อค้าฝิ่น เพราะการค้าที่ต้องเสีย "ส่วนเกิน" มากขนาดนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องกดราคารับซื้อจากผู้ผลิตให้ต่ำที่สุด ซ้ำผู้ซื้อรายใหญ่กับผู้ผลิตก็ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรง ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางนับตั้งแต่รายย่อยในหมู่บ้านไปจนถึงกองคาราวานของผู้มีอิทธิพล (เช่น จีนฮ่อ หรือพ่อเลี้ยง) แต่ละทอดของการซื้อขายก็ต้องกินกำไรกันไปเรื่อยๆ เงินที่ตกถึงมือผู้ผลิตจริงๆ จึงมีนิดเดียว

แต่เวลาเราจะขจัดการปลูกฝิ่น เรากลับไม่ค่อยพูดถึงชะตากรรมของชาวเขา ซึ่งที่จริงแล้วเป็นคนที่ยากแค้นแสนสาหัสกลุ่มหนึ่งในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอีกหลายกลุ่มซึ่งล้วนผูกพันเชื่อมโยงไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับรัฐทั้งสิ้น

เรื่องของสุราก็คล้ายกัน เมื่อรัฐคุมไม่อยู่ก็หาเงินกับมันดีกว่า ในสมัย ร.2 มีหลักฐานว่าเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รัฐเก็บภาษีสุราได้ถึงปีละ 72,200 บาท แต่พอถึงต้นรัชกาลที่ 3 ก็ได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 104,900 บาท คงไม่ต้องพูดนะครับว่ารัฐไทยทำเงินกับเหล้าเบียร์มาจนถึงทุกวันนี้มหาศาลแค่ไหน

พร้อมกันไปนั้น พ่อค้าเหล้าเบียร์ก็ไม่ได้จนลง แต่รวยหนักอัครฐานกันทั่วหน้าทุกราย



ในประเทศไทย การสะสมทุนนับตั้งแต่เริ่มแรกสัมพันธ์กับรัฐอย่างแนบแน่น โดยรัฐสร้างเงื่อนไขที่เป็นการผูกขาดขึ้น บางครั้งก็เป็นการผูกขาดโดยรัฐ แต่รัฐไม่ทำเอง เป็นแต่เสือนอนกิน ขายสัมปทานให้พ่อค้าเป็นผู้ทำ สัมปทานสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้นะครับ คือไม่ได้แข่งกันที่เงื่อนไขกลางอย่างเดียว แต่แข่งกันที่เงินใต้โต๊ะ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่พ่อค้าต้องสร้างขึ้นกับผู้ถืออำนาจรัฐ

บางครั้งรัฐไม่ได้เป็นผู้ผูกขาด แต่ตั้งตัวเป็นผู้คุมตลาด เช่น คุมปริมาณบ้าง คุมคุณภาพบ้าง คุมไม่ให้ตลาดขยายใหญ่เกินไปบ้าง กลายเป็นเงื่อนไขที่ผู้เล่นในตลาดมีอำนาจผูกขาดระดับหนึ่งขึ้นมา

และดังที่ผมกล่าวมาแต่แรก ในบางกรณีก็ไม่ใช่เพราะรัฐอยากหาเงินอย่างเดียว แต่เป็นเพราะอ่อนแอเกินกว่าจะไปคุมพ่อค้าด้วยวิธีอื่นได้ เกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ฉะนั้น ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว หารายได้ให้รัฐเสียเลยดีกว่า

ทุนไทยจึงเติบโตมากับรัฐที่อ่อนแอและฉ้อฉล ไม่เคยมีความคิดที่จะหาระบอบปกครองซึ่งจะทำให้ตัวสามารถเข้าไปควบคุมรัฐได้ ที่จ่ายค่า "เก๋าเจี๊ยะ" อยู่ ก็เป็นการควบคุมรัฐที่ให้ผลกำไรเพียงพอแล้ว ไม่รู้จะไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายต่อสู้กับความไม่เที่ยงธรรมและฉ้อฉลของรัฐทำไม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุนไทยไม่เคยเป็นหัวหอกของระบอบประชาธิปไตย



ถามว่าในอนาคต ทุนไทยจะกลายเป็นผู้ผลักดันประชาธิปไตยในบ้านเราหรือไม่ คำตอบในนาทีนี้คือน่าจะยัง โดยเฉพาะในหมู่ทุนระดับใหญ่

คุณสฤณี อาชวานันทกุล ยกตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์มาแสดงในหนังสือ "ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา" ว่า

ใน พ.ศ.2553 บริษัทจดทะเบียนใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 20 บริษัทมีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 70% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ 16 บริษัทในจำนวนนี้ทำธุรกิจที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ, โทรคมนาคม, สถาบันการเงิน หรือมีรายได้หลักจากการสัมปทาน มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ทำธุรกิจที่เปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรี

ทุนใหญ่คืออำมาตย์ด้วยประการฉะนี้



+++

การเมืองเชิงอุดมการณ์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไปด้วยอุดมการณ์ ส่วนอีกเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด ไปด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ นับตั้งแต่ยังมองหาคนถูกใจหรือพรรคที่ถูกใจที่สุดอยู่ ไม่แน่ว่าวันที่ 3 ก.ค.จะว่างหรือไม่ แล้วแต่อารมณ์ ไปเรื่อยจนถึงราคาของการขายเสียง

เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีผู้ตัดสินใจเลือกตั้งโดยอุดมการณ์สูงถึงเพียงนี้

ทั้งนี้เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเมืองเชิงอุดมการณ์เข้ามาครอบงำการเมืองไทยอย่างกว้างขวางกว่าที่เคยเกิดมาแล้วในช่วง 2516-2519 เพราะความก้าวหน้าของการสื่อสาร และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งไม่เคยเกิดในเมืองไทยมาก่อน


อุดมการณ์คืออะไร

อุดมการณ์คือคำอธิบายถึงหลักการอันเป็นเงื่อนไขสำคัญสุด ในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ อันก่อให้เกิดปรากฏการณ์นานาชนิด โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางสังคม ลึกลงไปถึงชีวิตและความคิดของคนในสังคม ว่าล้วนสะท้อนเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่อุดมการณ์ได้อธิบายไว้ ในแง่นี้อุดมการณ์จึงแทบไม่ต่างอะไรจาก "ทฤษฎี" ที่นักปราชญ์หรือนักวิชาการคิดขึ้นมา สำหรับอธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนต่างๆ ในปรากฏการณ์ทั้งทางสังคมและทางธรรมชาติ

ความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์และทฤษฎีอยู่ตรงที่ว่า ทฤษฎีอธิบายได้เฉพาะในบริบทเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง จะนำไปใช้อธิบายเรื่องที่ต่างบริบทไม่ได้ทั่วไป และด้วยเหตุดังนั้น ทฤษฎีจึงไม่อาจอ้างความเป็นสากล และไม่เป็นอกาลิโก ในขณะที่อุดมการณ์อ้างว่าสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนได้ทุกเงื่อนไข นับตั้งแต่ความรู้สึกในใจของตนเอง ไปจนถึงความรักระหว่างเพศ, การศึกษา, แฟชั่น และระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ครอบงำสังคมทั้งสังคม อุดมการณ์จึงอ้างความเป็นสากลและอกาลิโก

เพราะอุดมการณ์มีลักษณะที่ผนวกได้รอบทิศทางเช่นนี้ อุดมการณ์จึงแบ่งแยก "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ได้ชัด ผมจำได้ถนัดว่าในช่วงปี 2518-19 นั้น แม้แต่ทรงของกางเกงที่ผู้ชายนุ่ง ก็สามารถแยก "พวกเรา" ออกจาก "พวกเขา" ได้แล้ว


ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงทรรศนะที่มีต่อประชาธิปไตย, สถาบันพระมหากษัตริย์, กองทัพ, ตุลาการ, อภิสิทธิ์ (ทั้งเวชชาชีวะและอภิสิทธิ์เฉยๆ), ฯลฯ ความต่างของเสื้อจึงไม่ได้อยู่ที่สี แต่อยู่ในทรวงอกที่เสื้อสีคลุมเอาไว้ต่างหาก

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือลักษณะผนวกรวมเอาไว้รอบด้านของอุดมการณ์ทำให้ "พวกเขา" กลายเป็นศัตรู เป็น "อมนุษย์" เป็น "สิ่ง" ที่ต้องล้างผลาญทำลายให้สิ้นซาก การเมืองเชิงอุดมการณ์จึงนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และความรุนแรงก็มักนำไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเช่นกัน ดังที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนับตั้งแต่การล้อมปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อนที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นต้นมา


การเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม มีได้แต่ความสมานฉันท์หรือความปรองดอง (ซึ่งให้ความหมายถึงอะไรที่เหมือนกันไปหมด) แต่การประนีประนอมเป็นเงื่อนไขหลักของการอยู่ร่วมกัน ทุกฝ่ายได้แต่ไม่หมด เพราะต้องยอมให้ฝ่ายอื่นได้บ้าง การเมืองที่ก้าวหน้าและสงบเรียบร้อย คือการเมืองที่กอปรด้วยการประนีประนอมเสมอ ในขณะที่การเมืองแบบปรองดองสมานฉันท์มักมีการกำกับด้วยอำนาจอยู่เบื้องหลังเสมอ

การเมืองเชิงอุดมการณ์ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมที่ผู้ปกครองอ้างอุดมการณ์เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้เสมอ ประชาชนก็ได้แต่จำนนต่ออำนาจ หาได้สมาทานอุดมการณ์นั้นมาจัดการโลกและชีวิตของตนตามไปด้วย ดังเช่นกัมพูชาสมัยเขมรแดง "ประชาชนมูลฐาน" (คือเป็นชาวนามาก่อนการปลดปล่อย) ย่อมพอใจกับอภิสิทธิ์ที่ผู้ปกครองมอบให้ (เช่น ได้ข้าวกินประจำวันมากกระป๋องนมกว่า) แต่ก็พร้อมจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกับประชาชนใหม่ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเขตเมือง (แน่นอนอย่างเอาเปรียบ) และในหลายกรณีก็ปฏิบัติต่อประชาชนใหม่เหล่านี้อย่างเพื่อนมนุษย์

แต่ในเมืองไทยเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในการเมืองเชิงอุดมการณ์-อย่างน้อยในหมู่ผู้จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเกือบครึ่ง-แต่เป็นการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่กลับตาลปัตรกับเขมรแดง เพราะการเมืองเชิงอุดมการณ์ครอบงำประชาชน ไม่ได้ครอบงำนักการเมืองเอาเลย

ผมย้อนกลับมาคิดว่า เหตุใดอุดมการณ์จึงไม่เคยมีอิทธิพลในเชิงแบ่งแยกสังคมไทยมากเท่านี้ในอดีต จะว่าคนไทยไม่เคยมีอุดมการณ์เลย ก็ออกจะเกินไปหน่อย อย่างน้อยก็ว่ากันว่าคนไทยมองโลกและชีวิตจากจุดยืนของพุทธศาสนาแบบไทย เช่น อธิบายทุกเรื่องได้ด้วยกรรมเรื่องเวร เป็นต้น มองเข้าไปในวรรณกรรมโบราณ ก็พบลักษณะที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอในเรื่องนี้จริงเสียด้วย

แต่แม้คนไทยโบราณเคยมีพุทธศาสนาแบบไทยเป็นอุดมการณ์ "ร่วมกัน" แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีความแตกต่างในพุทธศาสนาแบบไทยสูงมาก จนแทบจะหาอะไร "ร่วมกัน" จริงได้ยาก นอกจากชื่อ แม้เมื่อรัฐเข้ามาปฏิรูปศาสนาเพื่อให้เกิดมาตรฐานร่วมกันบางอย่าง การปฏิบัติพุทธศาสนาแบบไทยก็ยังมีความหลากหลายอยู่นั่นเอง และทุกฝ่ายก็รู้ว่าคนอื่นปฏิบัติไม่เหมือนตน แต่ก็มีขันติธรรมพอจะปล่อยให้เขาปฏิบัติไปตามความเชื่อของเขา

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้มีอุดมการณ์ แต่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่เรียกร้องความเป็นสากล

วิธีเลือกผู้แทนของคนไทยนั้นใช้ฐานการวินิจฉัยที่ต่างกันมานมนานแล้ว และต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าคนอื่นเลือกใครเพราะเหตุใดไม่เหมือนกับตน ผมโตมาในประเทศที่คนไทยแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นปัญหาแต่อย่างไร



คนบ้านนอกทรงเจ้าเข้าผี ผู้ดีกรุงเทพฯ ก็อาจบอกว่านั่นไม่ใช่พุทธ แต่ก็ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของเขา ไม่มีใครคิดว่าต้องรวมกลุ่มกันไปเผาหรือยิงทิ้งคนทรงเจ้าเข้าผี

ผมไม่ทราบหรอกว่าจะเรียกความไม่ยี่หระต่อกันเช่นนี้ว่า "ขันติธรรม" ได้หรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าที่มันดำรงอยู่ได้ก็เพราะเราอยู่ในสังคมแห่งสถานภาพที่ลดหลั่นกันอย่างชัดเจน พวกทรงเจ้าเข้าผีคือคน "บ้านนอก" ที่ไร้การศึกษา ค่อนข้างยากจน และยังไม่ได้ "พัฒนา" ผู้ดีกรุงเทพฯ อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้ ก็เพราะเขาคือ "เด็ก" จึงเป็นธรรมดาย่อมเลือกตั้งแบบเด็กๆ แต่งกายแบบเด็กๆ พูดแบบเด็กๆ วิ่งขอขนมแบบเด็กๆ ฯลฯ

ถ้าจะเป็นขันติธรรม ก็เป็นขันติธรรมที่ตั้งอยู่บนความไม่เสมอภาค และตราบเท่าที่ทุกฝ่ายยอมรับความไม่เสมอภาคนี้ จะแตกต่างกันอย่างไรก็ไม่เป็นไร

การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง โดยเฉพาะใน พ.ศ.2553 ทำให้ "ขันติธรรม" ประเภทนี้หมดไปในสังคมไทย เพราะการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เรียกร้องความเสมอภาคอย่างชัดเจนและกึกก้องที่สุด (ไพร่-อำมาตย์) พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจเลื่อนไหลไปตามแต่สถานการณ์หรือสถานภาพของบุคคลอีกต่อไป เป็นประชาธิปไตยที่มีความหมายอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องยึดถือความหมายขั้นพื้นฐานนี้เหมือนกัน

อุดมการณ์ไทยกลายเป็นสากล และการเมืองเชิงอุดมการณ์จึงถูกปลุกปั่นจนกลายเป็นการนองเลือด ต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังที่มีออกมาเผชิญหน้ากัน แม้การเผชิญหน้าบนท้องถนนจะสุดสิ้นลง แต่การเผชิญหน้ากันในคดีความ, ในสื่อ, ในห้องสัมมนาและอบรม, ในพิธีกรรมชนิดต่างๆ ฯลฯ ยังดำเนินต่อไป

และบัดนี้ก็ได้โอกาสที่จะขยายลงมาถึงการเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งเชิงอุดมการณ์เป็นครั้งแรกของไทย อย่างน้อยเกือบครึ่งของผู้ลงคะแนนเสียงเข้าคูหาด้วยอุดมการณ์ และดังที่กล่าวแล้วว่าการเมืองเชิงอุดมการณ์ เป็นการเมืองที่ไม่มีการประนีประนอม โอกาสที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นจากการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นได้ยาก

หากสังคมไทยจะกลับมาสู่ความสงบที่ขัดแย้งกันได้ภายใต้กติการ่วมกัน เราต้องกลับมาคิดถึงอุดมการณ์ที่ไม่เป็นสากล แต่กติกาที่ยอมรับร่วมกันนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วว่าต้องประกอบด้วยหลักความเสมอภาค ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทุกฝ่ายต้องพร้อมจะประนีประนอมภายใต้กติกานี้ ใครจะยึดถืออุดมการณ์ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์อย่างเหนียวแน่นอย่างไรก็ได้ แต่สถาบันทั้งสามนี้ต้องดำรงอยู่ภายใต้สำนึกถึงความเสมอภาคที่แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวางให้ได้ เช่น เราจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างไร จึงจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งกับคติความเสมอภาค

เราจะรักษาชาติไว้อย่างไร โดยไม่ปล่อยให้กองทัพมีอภิสิทธิ์แทรกแซงการเมืองได้เหนือกว่าพลเมืองอื่นๆ



.