http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-08

เกมจะพลิกเพราะ"หลงโพล" และ โอกาส"ชนะน็อค"ของปชป. โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

.
เกมจะพลิกเพราะ "หลงโพล"
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15:00:00 น.


เพราะเกิดกระแสว่าโพลทุกโพลขยับมาเข้าทาง "เพื่อไทย" มากกว่าที่จะเอนเอียงไปทาง "ประชาธิปัตย์" ก็เลยเกิดการวิเคราะห์ว่า "เพื่อไทยชนะแน่"

ทั้งที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" พยายามอธิบายว่าผลของโพลนั้นแม้คะแนนนิยม "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะดีขึ้น แต่ตัวเลขรวม "อภิสิทธิ์" ก็ยังเหนือกว่า

และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" มั่นใจเต็มร้อยว่า "ประชาธิปัตย์" จะชนะการเลือกตั้ง

กระแสโดยทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่คน "เพื่อไทย" และ "เสื้อแดง" ก็เชื่อไปเต็มร้อยแล้วว่า "ยิ่งลักษณ์" เหนือกว่า "อภิสิทธิ์" และ "เพื่อไทย" จะทิ้งขาด "ประชาธิปัตย์"


มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ จากการพูดคุยกับผู้สันทัดกรณีการเมืองหลายราย คำตอบออกมาคล้ายกันว่า "อย่าฟันธง"

มีบางคำวิเคราะห์น่าสนใจ เขาบอกว่า "แม้ภาพประชาธิปัตย์จะก่อความรู้สึกว่าทำงานไม่เป็น แต่อย่าลืมบทบาทในการไล่ขยี้ ทำลายล้างคู่ต่อสู้-เป็นบทถนัดของประชาธิปัตย์"

เขาบอกว่า "การเมืองแม้จะเป็นเรื่องของใครมีภาพดีกว่าใคร แต่ก็เป็นเรื่องของภาพใครเลวกว่าใครด้วย"

"แม้ไม่เก่งในการสร้างภาพว่ามีความสามารถเหนือกว่า แต่การทำให้พรรคคู่แข่งเป็นพรรคที่เลวกว่านั้น ประชาธิปัตย์พิสูจน์มาอย่างยาวนานทุกยุคทุกสมัยว่าเหนือชั้น ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งไปฟันธงว่าเพื่อไทยจะชนะ" เขาว่า

ตอนแรกคิดว่า "พี่ก็พูดไปเรื่อย"

แต่วันก่อนคุยกับเด็กรุ่นใหม่ 2-3 คน ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างลึกซึ้ง ถามและขอร้องให้ตอบตรงๆ ว่า "เลือกพรรคไหน"

คำตอบจากเด็กทั้งสามคนตรงกัน "ประชาธิปัตย์"

"พรรคเพื่อไทยไม่ไหว เอาคนที่เผาบ้านเผาเมืองมาสมัครปาร์ตี้ลิสต์ และงานแรกที่จะทำคือนิรโทษกรรมให้ทักษิณ" คือคำตอบเมื่อถามถึงเหตุผล

เด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้ติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต จากเว็บไซต์ทั่วๆ ไป

ฟังแบบนี้ถึงได้เอะใจว่าที่ "เซียนการเมือง" วิเคราะห์ถึงพิษสงให้ฟังอย่างที่เล่า ไม่ใช่เรื่องแค่ "พี่ก็พูดไป" แล้ว แต่มันเป็นจริงได้ ในสังคมยุคใหม่

ทำไมประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" ที่ "สุเทพ" เอาออกมาถล่มเพื่อไทยซึ่งเป็นความเสียหายของ "ตึกราม บ้านเรือน" เข้าไปในใจผู้คนได้มากกว่า "91 ศพ" ซึ่งเป็นเรื่องของ "ชีวิตเพื่อนร่วมชาติ" ที่ "เพื่อไทย" พยายามหยิบขึ้นมา

เช่นเดียวกับ "นิรโทษกรรมทักษิณ" ที่ประชาธิปัตย์ใช้โจมตี เป็นประเด็นที่รับไม่ได้มากกว่า "ความยุติธรรมสองมาตรฐาน" ที่เพื่อไทยพยายามหยิบยกขึ้นมา


เมื่อมองไปในรายละเอียด สื่อที่คนรุ่นใหม่ติดตามคือ "สื่อออนไลน์" เว็บไซต์ทั่วไปดังๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าไปใช้ เสนอเนื้อหาในทิศที่เข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐมากกว่า

ส่วนเว็บที่เสนอประเด็นของ "เสื้อแดง" แบบลึกๆ มีเพียงเว็บเฉพาะกลุ่มที่คนทั่วไปเข้าถึงยาก จะเข้าไปต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษ

เช่นเดียวกับสื่ออื่น "เสื้อแดง" เสนอประเด็นความคิดได้แค่ใน "วิทยุชุมชน" และ "เคเบิลทีวี" ซึ่งเข้าถึงยาก ต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษของคนที่ตั้งอกตั้งใจจริงๆ ขณะที่ "ฟรีทีวี-วิทยุสถานีหลัก" เปิดประเด็นเนื้อหาเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองอำนาจรัฐมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้คนทั่วไปจึงรับสารเรื่องภาพความเลวร้ายของเพื่อไทย ตอกย้ำสู่ความรู้สึกมากกว่า

ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่สุด เป็นตัวกำหนดกระแส

การสำรวจในช่วงหลัง คะแนนนิยมของประชาธิปัตย์จะอยู่ที่ร้อยละ 16-18 ขณะที่เพื่อไทยอยู่ที่ร้อยละ 20 คนส่วนใหญ่ มีพรรคอื่นอยู่นิดหน่อยรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 เกินครึ่งคือประมาณร้อยละ 50 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร

คุณสมบัติของคนส่วนใหญ่ที่ว่าคือ ไม่ค่อยติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง รับจากสื่อทั่วๆ ไปแบบผิวๆ ไม่เห็นว่าชีวิตมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องติดตามข่าวสารให้ลึกลงไป

การตัดสินใจเลือกใครจะตามกระแสในโค้งสุดท้าย

เป็นกลุ่มคนที่ชี้เป็นชี้ตายว่าจะให้ใครชนะ


เห็นหรือยังว่าทำไม "อภิสิทธิ์" ถึงเชื่อมั่นว่าจะชนะ "ยิ่งลักษณ์" ทำไม "สุเทพ" ถึงมั่นอกมั่นใจว่า "ประชาธิปัตย์" จะชนะเพื่อไทย

ถ้ายังไม่เห็นให้ลองคิดถึงอำนาจในการควบคุมกลไกรัฐของพรรคประชาธิปัตย์ที่รักษาการรัฐบาล

ถ้ายังมั่นใจเต็มร้อยอยู่อีก ลองถามตัวเองหน่อยว่า "เพื่อไทย" เปิดเกมรุกอะไรไปสู่คนกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้ชี้ขาดนี้บ้าง

ทุกวันนี้ที่เห็นคือแกนนำของพรรคไประดมกันอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงเพื่อไทย อยู่กับคนที่เลือกเพื่อไทยอยู่แล้ว

กิจกรรมที่จะมาสร้างความคิดให้กับคนกลุ่มใหญ่สุดที่สัมผัสข่าวสารการเมืองแบบผิวๆ แต่เป็นผู้ตัดสินผลเลือกตั้งยังไม่เห็นเพื่อไทยทำอะไร



++

โอกาส "ชนะน็อค" ของปชป.
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 17:00:00 น.


อีกหนึ่งเดือนเต็มๆ จึงจะถึงวันเลือกตั้ง กว่าจะรู้ผลแพ้ชนะต้องหลังวันที่ 3 กรกฎาคมโน่น แต่กลายเป็นว่า "พรรคเพื่อไทย" เริ่มเดินเกมล็อบบี้เพื่อนพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

ที่สำคัญคือเพื่อนพรรคการเมืองดูท่าจะเอาด้วยกับเกมของพรรคเพื่อไทย เปิดทางให้มีการเจรจากันตั้งแต่ยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการฟอร์มรัฐบาลที่เคลียร์ใจกันตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่เช่นนี้

ความเป็นไปเช่นนี้แม้จะดูแปลก แต่ก็พอเข้าใจได้ พรรคเพื่อไทยถูกกดดันหนักว่าแม้ชนะเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จะถูกกลไกอำนาจลึกลับเตะสกัดไม่ให้พรรคเล็ก พรรคกลาง เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อเป็นที่ยอมรับกันว่าผลการเลือกตั้งชัยชนะน่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ใครเป็นพรรคเพื่อไทยก็ต้องเล่นเกมนี้ ล็อคคอพรรคร่วมไว้ก่อน ใครเปิดตัวเป็นพันธมิตรเร็ว จะได้เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลที่ดีกว่า

ใครเล่นกั๊ก ก็เงื่อนไขอีกอย่าง

ยิ่งผลโพลที่ทำออกมาทำให้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะถล่มทลาย ยิ่งทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กต้องรีบตัดสินใจ เพราะขืนเล่นท่ามากโอกาสร่วมรัฐบาลจะหลุดลอย


เจอเกมแบบนี้เข้า พรรคประชาธิปัตย์ก็สะอึก

เมื่อดูท่าจะหยุดกระแสเพื่อไทยไม่อยู่ ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคจะต้องหาทางพลิกเกม

โอกาสชนะคะแนนไม่มี หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือต้องเล่นเกมให้ "ชนะน็อค"

โป้งเดียวจอด อะไรทำนองนั้น

ลองวิเคราะห์เกมว่าอะไรจะทำให้เพื่อไทยถูกน็อคได้บ้าง

หนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่ เพื่อไทยเปิดคางให้ประชาธิปัตย์สอยร่วง คือไปพูดไปทำอะไรที่พลาดขนาดเป็นประเด็นชี้เป็นชี้ตายให้ประชาชนลำบากใจที่จะเลือก

ทางนี้เกิดขึ้นได้แต่นับวันจะยากขึ้นเรื่อย เพราะขณะนี้ภายในพรรคเพื่อไทยบอกต่อกันเป็นยุทธศาสตร์ไปแล้วว่า เล่นเกม "ถีบถอย" ให้มากที่สุด อย่าไปเล่นแบบแลกหมัด ที่จะเปิดโอกาสให้ถูกสอยร่วงด้วยหมัดเดียวได้ พูดเฉพาะเรื่องที่จำเป็น เน้นนโยบายเป็นหลัก อย่าไปทำอะไรที่เสี่ยงต่อการเปิดประเด็นให้คู่ต่อสู้ถล่ม

สอง กลไกอำนาจรัฐเล่นกลเลือกตั้ง เกมนี้กลายเป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งว่า การเลือกตั้งเที่ยวนี้จะถูกกลโกงสารพัดเพื่อเปลี่ยนแปลงผล

แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องที่พูดกันไป เพราะทุกฝ่ายทั้ง กกต. และแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ไม่เล่นเกมที่สกปรกแบบนั้น

ที่สำคัญคือ "เสื้อแดง" ส่งระดมกำลังมหาศาล ตรวจสอบการดำเนินการการเลือกตั้งถี่ยิบทุกขั้นตอน ที่ไหนมีพิรุธจะถูกเปิดโปงทันที ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อส่งข่าวให้พลพรรคเสื้อแดงได้รับรู้

หากหนักหนาสากรรจ์ขนาดทำให้ "เพื่อไทย" พ่ายแพ้การเลือกตั้งโดยไม่เป็นธรรม ที่น่าอึดอัดใจคือต้องปราบปรามม็อบกันครั้งใหญ่อีกหน

ดังนั้นทางนี้แม้จะเชื่อกันกว้างขวางว่าเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติโอกาสที่จะทำได้จริงมีน้อย เพราะจะตามมาด้วยความยุ่งยาก

หนทางเดียวที่จะ "น็อคเพื่อไทย" ได้ จะต้องพยายามอย่างที่สุดที่ไม่ให้ "เพื่อไทย" เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการล็อบบี้ไม่ให้พรรคไหนเข้าร่วม

เกมนี้ถ้าเพื่อไทยชนะไม่ถึงครึ่งโอกาสก็มีสูงที่จะเป็นไปได้

เพียงแต่ว่าอย่างที่บอกไว้ข้างต้น "เพื่อไทย" เดินเกมไปล่วงหน้าแล้ว ที่จะไม่ให้การล็อบบี้แบบนี้สำเร็จได้



แม้นักการเมืองจะเป็นพวกที่รู้กันอยู่ว่า "พร้อมเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ทุกเวลา"

แต่การเดินเกมป้องกันไว้ก่อนของเพื่อไทยแบบนี้ก็ใช่จะไม่ได้ผลเสียทีเดียว

สัญญาที่ว่ากันไว้ หากมีการเบี้ยวแล้วถูกเปิดโปงขึ้นมา

อาการเสียผู้เสียคนจะเกิดขึ้นได้

เมื่อวางเกมป้องกันกันทุกขั้นทุกตอนแบบนี้

โอกาสที่ "เพื่อไทย" จะ "ถูกน็อค" ดูท่าจะยาก

ยกเว้นเสียแต่ จะถูกคนข้างเวทีส่องด้วย "สไนเปอร์" หรือกรรมการยกฉวยไม้หน้าสาม หวดกบาลสลบคาเวที

โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านร้านตลาดจะคิดอย่างไร

แบบ "ข้าจะเอาอย่างนี้ เอ็งมีอะไรหรือเปล่า"

ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้

เพราะที่ผ่านมาก็ทำมาครั้งแล้ว ครั้งเล่า


.