http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-02

ยุทธการ 10 ต่อ 1 ในเลือกตั้ง "54ฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
ยุทธการ 10 ต่อ 1 ในเลือกตั้ง "54 วิเคราะห์ 3 แนวรบ...ใครเหนือกว่า
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 20


การเลือกตั้งปี 2554 เป็นการยุทธ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ แม้จะเคยเปรียบเทียบไว้ว่าเป็นมวยยกที่เจ็ดและจะต้องมีต่ออีกหลายยก แต่ก็เป็นยกที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการต่อสู้ ทั้งกระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งจะชี้ออกมาว่าแนวทางรัฐสภาจะได้รับการยอมรับหรือไม่

ถ้ากระบวนการเลือกตั้งยุติธรรม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐสภาจะได้การยอมรับมากกว่าการใช้ความรุนแรง

ส่วนผลการเลือกตั้งจะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร จะวิเคราะห์ได้ก็ต่อเมื่อเห็นผลการเลือกตั้งแล้ว



อุปสรรคขวางเส้นทางรัฐสภายังมีอยู่

สถานการณ์วันนี้ดูคล้ายจะราบเรียบ เพราะทุกฝ่ายได้พากันเดินมาจนถึงหน้ารัฐสภาแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้น

เรื่องแรกคือมีการร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้แข่งขัน คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้ร้องเรียนคงกลัวจะแพ้ ที่จริงแล้วคู่ต่อสู้คนนี้ไม่ใช่ตัวเก่ง ตัวเก่งถูกจับไปขังคุกการเมืองตั้ง 111 คน เมื่อไม่มีคนก็ต้องส่งน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่คิดว่าเก่งขึ้นมาสู้

พอฝ่ายตรงข้ามเห็นฟอร์มดีมีคนเชียร์เยอะก็ไปบอกกรรมการว่าเธอใส่กางเกงผิดสี ขอให้ไล่ลงจากเวที ระวังคนดูจะโห่ไล่ล้มเวที

การต่อสู้แบบนี้ต้องใจกล้าหน่อย แค่ผู้หญิงหน้าขาวคนเดียวยังไม่กล้าสู้ จะเอาชนะฟาวล์โดยให้กรรมการช่วยทุกครั้งไม่รู้สึกอายบ้างหรือไง? ระวังจะไม่มีใครเชียร์

เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องความขยันของหน่วยงาน DSI ที่ออกมาแจ้งจับ นปช. โดยโยงเข้ากับแผนผังล้มเจ้า วันนี้ก็โชว์แผนผังล้มเจ้าเหมือนเมื่อปีที่แล้ว แต่ทำไมเพิ่งมาคิดเรียกตัวไปสอบสวนตอนที่กำลังหาเสียงเลือกตั้ง

อย่างนี้ใครๆ ก็ต้องหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน

กลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยต้องอดทนต่อปัญหาต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบในช่วงเวลานี้ ต้องทำตามกติกามารยาทในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ที่ผ่านมา แม้จะถูกยิงถูกจับถูกรังแกแต่เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะตอบโต้ จะไปเที่ยวยกป้ายประท้วงขับไล่คู่แข่งเพราะเคยไล่ยิงเราก็จะเป็น

การผิดมารยาท การแข่งขันเริ่มแล้วต้องทำตามกติกา

เหมือนชกมวยสากลอยู่บนเวที ต่อให้โกรธคู่แข่งขันขนาดไหนเราก็ไม่เตะหรือถีบคู่ต่อสู้ มีแต่ต้องใช้หมัดอย่างเดียว ถึงต่อยให้น็อกได้ ก็ไม่ผิดกติกา

การกระทำนอกกฎเกณฑ์กติกาของทุกฝ่ายล้วนไม่เป็นผลดี เช่น การทุบป้าย เผาป้ายหาเสียง เรื่องแบบนี้ไม่มีใครได้คะแนนเสียงเพิ่ม เอาเวลาไปช่วยเดินหาเสียงขอคะแนนดีกว่า

การแข่งขันทางการเมืองวันนี้ ผู้สมัครต้องมีสปิริต ผู้สนับสนุนต้องมีสปิริต การพัฒนาประชาธิปไตยจึงจะเดินหน้าต่อไปได้

การกระทำนอกกติกา การกลั่นแกล้งกัน การใช้อำนาจรัฐให้มีผลกระทบต่อบางคน บางพวกในวันที่ยังมีความแค้น อาจเหมือนการจุดไฟในปั๊มน้ำมัน อันตรายเกินไป ไม่ควรทำ



ยุทธการกลุ่ม 10 กับ กลุ่ม 1

10 และ 1 ในที่นี้ ไม่ใช่เบอร์ของพรรคการเมือง เพราะคู่ต่อสู้หลักทางการเมืองวันนี้มี 2 กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่ม 10 กับ กลุ่ม 1 แต่มีหลายพรรค หลายองค์กร ที่น่ายินดีคือทุกกลุ่มหนุนการเลือกตั้ง

โครงสร้างกลุ่ม 10 ประกอบด้วย 10 ทัพ กองหน้ามี 3 ทัพมาจาก 3 พรรคการเมือง คือประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

กองกลางมี 4 ทัพคือ เสื้อเขียวบางส่วน สื่อบางกลุ่ม กลุ่มคนสีกากี หลายกระทรวง ทั่วประเทศและหน่วยงานเพื่อความมั่นคงบางหน่วย

กองหลังประกอบด้วยมือที่มองไม่เห็น กลุ่มทุน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญชุดดำ ข้อดีคือมีสายงานหลากหลาย มีการกระจายกำลัง แต่มีสายบังคับบัญชาที่แน่นอน

ข้อเสียคือมีบางคนที่สั่งบางกลุ่มได้เท่านั้น มีความแตกต่างทางความคิด การนำไม่รวมศูนย์ มีความขัดแย้ง


โครงสร้าง กลุ่ม 1 มีทัพหลักคือพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียวแต่มีแนวร่วมเสื้อแดงเข้ามาผูกติดกับพรรค จึงทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด เปิดแนวรบได้ไม่หลากหลาย

แต่กลุ่ม 1 มีมิตรและผู้สนับสนุนแฝงตัวอยู่ในทุกองค์กรของกลุ่ม 10

ส่วนสื่อของกลุ่ม 1 ก็เป็นสื่อขนาดเล็กที่เอาไปผูกไว้กับพรรคด้วยเช่นกันทำให้การกระจายเป็นวงแคบ ในสภาพแบบนี้ก็ต้องอาศัยสื่ออิสระช่วยประชาสัมพันธ์

โครงสร้างแบบนี้คงเป็นเฉพาะกิจ ต้องปรับปรุงต่อไป ข้อดีคือรวมศูนย์ แต่ถ้ามีปัญหา ต้องแก้ให้ได้ มิเช่นนั้นจะพัง

ถ้าพิจารณาจากโครงสร้าง ขบวนรบกลุ่ม 1 ไม่มีทางชนะกลุ่ม 10 ได้เลย แต่ปีนี้สถานการณ์ทางเสรีภาพและพัฒนาการทางเทคโนโลยีของสื่อสูงกว่าช่วงการเลือกตั้งปี 2550 มาก ดังนั้น กลุ่ม 10 จึงมี 3 พรรคที่เป็นกองหน้าสามารถทำงานได้เต็มที่ ถูกต้องตามกติกา แต่ทัพอื่นๆ ขยับตัวช่วยได้ไม่ง่ายเพราะทั้งสื่อและประชาชนเฝ้าจับตาดูอยู่ กลุ่มชุดเขียวเข้าไปช่วยพื้นที่ก็ไม่ง่ายเหมือนเก่าแล้ว

ชุดกากีจะเข้าไปช่วยพื้นที่ก็กลัวจะถูกฟ้อง สภาพการเมืองวันนี้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทุกคนมีกล้องมีโทรศัพท์ ถ้าใครทำผิดกฎกติกาอาจตกงานได้ง่ายๆ

พิจารณาจากทุนรอนและเสบียงกรังคิดว่า 2 ฝ่ายคงสู้กันได้ กลุ่ม 1 น่าจะพอมีเหลืออยู่และอาศัยกระแสก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปเยอะ ส่วนกลุ่ม 10 สามารถสะสมเสบียงในช่วงหลังได้เยอะพอสมควร

เรื่องนี้คิดว่าทั้งสองฝ่ายอยู่ในระดับที่สูสีกัน



เจาะลึกแนวรบ

แนวรบการเลือกตั้ง ปี 2554 แบ่งเป็นสามแนวคือ

1. การโฆษณาด้านกว้าง

2. การเข้ายึดกุมพื้นที่

3. สงครามใต้ดิน และเทคนิคการรักษาชัยชนะ



แนวรบแรก การโฆษณาด้านกว้าง

เป็นการสร้างความนิยมและสร้างกระแสทางการเมืองผ่านนโยบายพรรค ตัวผู้นำพรรค ผลงานพรรค วิธีการกระจายข่าวสารในปัจจุบัน ใช้ผ่านสื่อทุกรูปแบบ ทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์วิทยุ ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต ฯลฯ แนวรบนี้เปรียบเหมือนแนวรบทางอากาศ

กลุ่ม 10 มีเครื่องบินเยอะมาก แต่นักบินและอาวุธมีประสิทธิภาพต่ำ ยิงไม่ตรงเป้าหมาย เสนาธิการก็ยังวางแผนไม่เป็น เช่น โฆษณาว่าสามารถทำได้ทันทีในวันแรก คนฟังก็คิดไปถึง สัญญาที่จะทำใน 99 วันแล้วก็หัวเราะพร้อมสรุปว่า ต่อให้ 99 เดือนก็ทำไม่ได้ เปิดช่องให้ชูวิทย์ย้อนได้ว่า เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว วันนี้ก็ทำเลยสิ ไม่ต้องรอเป็นรัฐบาลใหม่

ฝ่ายที่เป็นรัฐบาล จะถูกตั้งคำถามย้อนอยู่เสมอว่า ที่ผ่านมาทำไมไม่ทำ ทำไมปล่อยให้เกิดปัญหา เช่น น้ำมันพืช ไข่ ยาเสพติด นี่ยังไม่นับปัญหาการเมืองซึ่งไม่เพียงยังไม่ได้แก้ไขแต่กลับเพิ่มความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นอย่างมากมาย

แนวโฆษณาที่แสดงว่ากลุ่ม 10 ยังไม่เข้าใจสถานการณ์คือเรื่องของทักษิณ กลุ่ม 10 ย้ำอยู่ทุกวันว่าพรรคเพื่อไทยทักษิณจะกลับมา เพราะคิดว่าการโฆษณาให้คนเกลียดทักษิณในปี 2549-2550 ยังใช้ได้ผล เหมือนยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์

วันนี้ คนที่เห็นด้วยกับกลุ่ม 10 ยังไงก็ไม่ลงคะแนนให้เพื่อไทยอยู่แล้ว (แต่วันนี้จะลงคะแนนให้พรรคทั้งสามหรือไม่ยังไม่แน่) แต่การย้ำอย่างนั้น ไปกระตุ้นความรู้สึกให้คนรักทักษิณฮึดสู้ขึ้นมาและทำให้คนกลางๆ เริ่มคิดเปรียบเทียบว่าทักษิณที่จากไปกับอภิสิทธิ์ที่ยังอยู่ ใครเก่งกว่ากัน ใครดีกว่ากัน ผลงานของสองรัฐบาลแตกต่างกันอย่างไร

ล่าสุด สุเทพ เทือกสุบรรณ บอกว่าไม่เชื่อผลสำรวจว่าคนจะเลือกเพื่อไทยเกินครึ่ง เพราะคนไทยเข้าใจประชาธิปไตย ก็เพราะเข้าใจและไม่โง่ คนส่วนใหญ่จึงรู้เรื่องทั้งหมดตั้งแต่ รัฐประหาร 2549 จนถึงการประชุม ครม. 211 วาระ คนกินข้าวเหมือนกันพอรู้ทันกัน

วันนี้ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องโฟนอินเข้ามา เพราะกลุ่ม 10 ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทุกวัน

จุดอ่อนที่กลุ่ม 10 ยังแก้ไม่ตกคือประชาชนไม่เชื่อว่ากลุ่ม 10 จะคิดเป็น ทำเป็น ในขณะที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่ากลุ่ม 1 คิดเป็น ทำได้จริง

ดังนั้น กองทัพอากาศของกลุ่ม 10 ซึ่งมีเครื่องบินเยอะแต่อาวุธที่ปล่อยออกไปลอยไปตามลมทั้งหมด จึงไม่สามารถกุมความได้เปรียบทางสงครามโฆษณาได้



แนวรบที่สอง การคุมพื้นที่

ในสนามรบจริง การทำคะแนนมาจากพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีคนเกาะติด มีความสัมพันธ์ ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน จึงจะสามารถเปลี่ยนความนิยมมาเป็นคะแนนได้

สำหรับกลุ่ม 1 จุดแข็งอยู่ที่ภาคอีสานและภาคเหนือ จุดอ่อนอยู่ที่ภาคใต้ ส่วนกลุ่ม 10 จุดแข็งอยู่ที่ภาคใต้และภาคกลาง

การต่อสู้ในเขตเลือกตั้ง ตัวบุคคลที่ลงสมัคร ส.ส. มีความสำคัญมาก รองลงไปคือการจัดตั้งและการสนับสนุน กระแสพรรคมีส่วนช่วยเสริม ในความหมายนี้คือพื้นที่แย่งชิง

แต่ถ้าเป็นเขตที่กระแสสูง เช่น จังหวัดอุดรฯ ของพรรคเพื่อไทย หรือนครศรีธรรมราชของ ปชป. สุพรรณบุรีของพรรคชาติไทยพัฒนา

เขตเลือกตั้งเหล่านี้ถูกกระแสพรรคกลบไปหมดแล้ว การรบในพื้นที่จึงไม่มีความหมาย ทำไปเป็นพิธีเท่านั้น เพื่อใช้เก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์

แต่ในเขตแย่งชิง มีความซับซ้อนและชัยชนะไม่ได้มาง่ายๆ

ตัวอย่างเช่น เราเห็นคนเสื้อแดงยกขบวนมาสนับสนุนให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย 3-4 พันคน ในการปราศรัยซึ่งหลายจังหวัดเป็นอย่างนี้แต่ผู้ชนะต้องทำคะแนนให้ได้ถึง 4 หมื่นคะแนน ถ้าผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงทำได้เพียง 3 หมื่นก็จะต้องพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะแพ้ 300 คะแนน หรือหมื่นคะแนนก็แพ้เหมือนกัน

ในอดีต พรรคพลังธรรมเคยได้รับบทเรียนนี้มาแล้ว เพราะมองเผินๆ มีคะแนนนิยมทุกจังหวัด แต่พอนับคะแนนออกมาจริง ก็ทำได้แค่เกือบชนะ สงครามในพื้นที่จึงไม่ง่าย ต้องใช้ทั้งทหารราบ ทหารม้า และปืนใหญ่

นี่คือเหตุผลที่ เนวิน ชิดชอบ ยังมีความหวังว่าเขาจะได้ถึง 70 เสียง วันนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายยุทธการประจำพื้นที่และเป็นการวัดฝีมือของฝ่ายเสนาธิการว่าแน่แค่ไหน


การปราศรัยซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในพื้นที่ ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีส่งข้ามพื้นที่ ไม่จำกัดขอบเขต การปราศรัยแต่ละครั้งสามารถถ่ายทอดไปได้เป็น 7-8 เวที และกลายเป็นการโฆษณาระดับกว้างไปแล้ว

บุคลากรของทั้งสองกลุ่มมีความสามารถพอกัน แม้ จตุพร พรหมพันธุ์ นักพูดตัวเอกของกลุ่ม 1 ถูกจับไปขังแล้ว แต่ถึงอย่างไร กลุ่ม 1 ก็ได้เปรียบ เพราะรัฐบาลมีแผลทั้งตัว ต่อยถูกตรงไหนก็เจ็บ การปราศรัยจะยังคงเป็นสีสันของการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่

ความยากของ ส.ส. เขตที่สังกัดกลุ่ม 10 คือจะต้องพูดเรื่องนโยบายสำหรับคนชั้นล่างแข่งกับนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ยังพอถูไถเอานโยบายใหม่ๆ ที่ทั้งแจกทั้งแถมมาโชว์ได้

แต่ที่เป็นปัญหาอันใหม่คือ วันนี้คนค้าขายไม่ยอมรับผลงานของกลุ่ม 10 พวกเขาคิดว่า บริหารไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว

แถมปัญหาคอร์รัปชั่นก็เยอะทั้งปริมาณ และคุณภาพที่พุ่งไปถึง 30% นี่จะเป็นโจทย์ข้อใหญ่

ถ้าแก้ไม่ได้ คะแนนเสียงจากพ่อค้าชั้นกลางและชั้นล่างจะหายไป



แนวรบที่สาม สงครามใต้ดิน

เป็นแนวรบด้านเทคนิค และการข่าว เพื่อการทำคะแนน รักษาคะแนนและรักษาตัวให้รอดจากใบเหลือง ใบแดง ดูแลป้องกันการทุจริต ตั้งแต่การใช้ใบเหลืองแทนบัตรประชาชน การลงคะแนนล่วงหน้า การเฝ้าหีบบัตรคะแนน การตรวจสอบและเฝ้าดูการนับคะแนน

กลุ่ม 1 ไม่ได้กุมอำนาจรัฐ จะต้องระมัดระวังสุดขีด เพราะมีบทเรียนจากการเลือกตั้ง 2550 มาแล้ว ถ้าการเตรียมการในคราวนี้ มีความพร้อม ก็จะสามารถควบคุมไม่ให้มีการทุจริตได้ดีพอสมควร เพราะครั้งนี้ประชาชนตื่นตัวมาก มีอาสาสมัครที่เฝ้าสังเกตการณ์จำนวนมาก มีแนวร่วมที่เฝ้าจับตาดูทุกจุด

สถานการณ์วันนี้ ไม่มีความแน่นอนว่าใครจะเป็นรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทุกระดับไม่กล้าขยับตัวให้ผิดกติกา เพราะอาจทำให้อนาคตจะต้องดับวูบลงในทันที การรักษาความเป็นกลาง จะปลอดภัยที่สุด

แนวรบด้านเทคนิค มีตัวแปรที่สำคัญคือกรรมการทุกระดับ แม้คะแนนนำมาแล้วก็อาจถูกจับแพ้ฟาวล์ได้



วิเคราะห์ทั้งสามแนวรบแล้ว ผู้เขียนยังไม่สามารถสรุปเป็นตัวเลขออกมา แต่ทุกคนพอจะประเมินได้ว่า แนวรบทางอากาศคือการโฆษณาและกระแสของกลุ่ม 1 เหนือกว่ากลุ่ม 10

แนวรบทางภาคพื้นดินดูแล้วจะสูสีกันหลายเขต ต้องรอดูจนถึง 3 วันสุดท้ายจึงจะสรุปได้

ส่วนแนวรบใต้ดินและด้านเทคนิค กลุ่ม 1 ยังไงก็เสียเปรียบ ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับจนกว่าจะประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ

โดยรวมแล้ว จึงยังมีข้อสรุปว่า ทั้งกลุ่ม 10 และกลุ่ม 1 ยังมีโอกาสพลิกเข้าเส้นชัยได้ตลอด

สำหรับประชาชน โอกาสดีในวันนี้คือเมื่อไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะเลือก ส.ส. ได้ 1 คน เลือกพรรคได้ 1 พรรค ถ้าเลือกแม่น เลือกดี ก็เหมือนกับเลือกนายกฯ ไปด้วย แต่ถึงไม่ได้นายกฯ ก็จะได้ฝ่ายค้านที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน

คราวนี้มีโอกาสที่จะมีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 75% และถ้ากลุ่ม 1 ได้คะแนนมากพอ เราอาจได้นายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งน่าจะบริหารไปจนถึงกลางปี 2555 คนในบ้านเลขที่ 111 ก็จะมีสิทธิ์ ออกมาช่วยงานการเมืองหลายคน เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ฯลฯ

อีกด้านหนึ่งถ้ากลุ่ม 10 ชนะมากพอ นายกฯ อภิสิทธิ์ กับสุเทพ ก็จะได้บริหารงานต่อ พอถึงกลางปี 2555 ก็จะได้ เนวิน ออกมาช่วยงานเช่นกัน และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลชุดนี้อาจสามารถอยู่ยาวไปถึงกลางปี 2558

พิจารณาให้ดียังมีเวลาอีกเป็นเดือน กว่าจะเลือกตั้ง


.