.
โพสต์เสริมก่อนบทความ
ชมคลิป http://www.youtube.com/watch?v=WIDVK65wf-M&feature=player_embedded#t=0s
http://www.youtube.com/watch?v=1wOZ_EJVsEA&feature=player_embedded#t=0s
#พลาดไม่ได้ "อานันท์ ปันยารชุน" ตอบโจทย์ "ภิญโญ" เรื่องพระบารมี-พระราชอำนาจฯ และการเมืองไทย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1307636956&grpid=&catid=02&subcatid=0202
.
ความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 21:30:00 น.
คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างจริงใจหรือไม่? คงไม่มีใครตอบได้
แต่การกระทำในนามของความจงรักภักดีของเขา ล้วนให้อำนาจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่เขาอย่างมากทั้งสิ้น
การนำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาในราชอาณาจักร ก็เพื่อสร้างกองกำลังทันสมัยไว้ปกป้องคุ้มครองตัวเขาเอง แต่เขาโน้มน้าวให้พระเจ้าแผ่นดินเห็นด้วย โดยอ้างภยันตรายจากต่างชาติ และต่อต้านแผนกบฏของขุนนาง เช่นเดียวกับการหลอกลวงกษัตริย์ฝรั่งเศสให้หลงเชื่อว่า พระมหากษัตริย์อยุธยากำลังจะเปลี่ยนศาสนา จนกษัตริย์ฝรั่งเศสส่งบาทหลวงผู้รับสารภาพบาปประจำพระองค์มาเพื่อทำพิธีรับศีลจุ่มให้สมเด็จพระนารายณ์ ก็ฝีมือของฟอลคอนอีกเช่นกัน
เขาอาจทำด้วยความจงรักภักดีก็ได้ เพราะตัวเขาเองแสดงตนว่ามีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนาคาทอลิก (หลังจากได้เปลี่ยนศาสนามา 2 ครั้งแล้ว) จึงต้องการให้ผู้ที่เขาจงรักภักดีได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน นอกจากนี้หากไม่มีเรื่องอันกษัตริย์ฝรั่งเศสจะถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ คือกลับใจกษัตริย์ในแดน "กึ่งอารยะ" ของเอเชียได้ หลุยส์ก็อาจไม่ส่งทหารมาประจำที่อยุธยา ก็สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของฟอลคอนเอง
การกระทำในนามของความจงรักภักดีเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ศัตรูของสมเด็จพระนารายณ์ ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพระนารายณ์ลงในที่สุด
หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสรูปหนึ่ง ที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่ลพบุรีในวันเกิดจลาจลรายงานว่า ประชาชนพากันออกมาชุมนุม (หลักฐานใช้คำว่า "เดินขบวน" ซึ่งคงไม่มีการจัดองค์กรถึงขนาดนั้น) เพราะพระสงฆ์ยุยงปลุกปั่นให้ออกมาปกป้องพุทธศาสนา เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินกำลังจะเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิก การจลาจลในปลายรัชกาลเปิดโอกาสให้พระเพทราชา สามารถใช้สถานการณ์ความวุ่นวายนี้ยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งใกล้จะสวรรคตบนพระแท่นบรรทมได้สำเร็จ
ฟอลคอนจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างผิดๆ หรือฟอลคอนไม่เคยจงรักภักดีต่อใครเลย นอกจากตัวเขาเองกันแน่? คงไม่มีใครตอบได้
แต่การแสดงความจงรักภักดีมักเป็นดาบสองคมเสมอ ด้านหนึ่งก็ส่งเสริมพระบารมีให้ประจักษ์ แต่อีกด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์แรงขึ้น แสดงแค่ไหนจึงจะพอดีและงดงาม จึงเป็นสิ่งที่ผู้จงรักภักดีด้วยความจริงใจต้องไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบ
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่แยกไม่ออกระหว่างความจงรักภักดี กับอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว มักจะแสดงออกจนเลยเส้นของความพอดีและงดงาม เพราะความพอดีและงดงามมักจะไม่ช่วยผลักดันอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว
ในแง่หนึ่ง คำสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในคดีที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฟ้องหมิ่นประมาทนั้นน่าตกใจ
โฆษก ผอฉ.ยอมรับว่า ผังล้มเจ้าที่แจกจ่ายสื่อมวลชนในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดงนั้น ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ (ซึ่งบางคนอาจต้องคดีละเมิดสถาบันอย่างใดอย่างหนึ่ง) นับตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ไปจนถึงความสัมพันธ์อื่นๆ
น่าตกใจอย่างแรกก็คือ เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างไม่อายว่า ประเทศนี้ถือว่า ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งหลายกรณีเราเลือกไม่ได้ เช่น พ่อ-ลูก, ครู-ศิษย์, แพทย์-คนไข้, ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา, กองทัพบก-โฆษกกองทัพบก ฯลฯ อาจเป็นอาชญากรรมได้ หากคู่ความสัมพันธ์กระทำผิดกฎหมาย ฝรั่งเรียกว่า guilt by association
ในฐานะคนไม่เคยเรียนกฎหมาย ขออนุญาตได้อธิบายปัญหาของระบบกฎหมายที่ถือว่าความสัมพันธ์เป็นความผิดไว้หน่อยว่า ความผิดประเภทนี้เป็นความผิดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสัมพันธ์กับใคร อย่างไร จึงจะถือได้ว่าเป็นความผิด ดังนั้นรัฐจึงสามารถกล่าวโทษใครก็ได้ที่รัฐไม่ชอบหน้า ว่ามีความสัมพันธ์ผิด (ไม่ใช่มีการกระทำที่ผิด)
กฎหมายหรือแบบปฏิบัติอย่างนี้มีอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพราะให้อำนาจรัฐไว้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงไม่มีใครกล้าใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อีกเลย
เช่นเดียวกับเรื่องห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะให้ใช้ย้อนหลังได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นผิดหรือไม่ ถึงไม่ผิดกฎหมายในตอนทำ แต่รัฐก็อาจออกกฎหมายมาเอาผิดในภายหลังได้ สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยก็ไร้ความหมาย
ผมอยากเห็นนักเรียนกฎหมาย, ครูสอนกฎหมาย, และคนที่ใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ วินิจฉัยกฎหมายโดยหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อย่างคนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเช่นผมบ้าง แทนที่จะใช้ "ความยุติธรรม" ลอยๆ เป็นหลักในการวินิจฉัยอย่างเดียว
อันที่จริง รัฐและสังคมไทยยอมรับความผิดจากความสัมพันธ์มานานแล้ว ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน แต่ไม่กล้ารับอย่างไม่อายถึงเพียงนี้ นี่เป็นความรุนแรงอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่รุนแรงของทุกฝ่ายในสังคมไทย นั่นคือการปฏิเสธ "กติกาอารยะ" (civility) อย่างเปิดเผย... รุนแรง ไม่น้อยกว่าการยึดสี่แยกราชประสงค์ แต่ให้ผลร้ายแรงที่ยาวนานกว่า เพราะ "ตึก" (the establishment) ทุกตึกถูกเผาลงราพณาสูรหมด
ที่น่าตกใจอย่างที่สองก็คล้ายกับอย่างแรก "ผังล้มเจ้า" เมื่อตอนประกาศเปิดเผยครั้งนั้น ไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่มาสารภาพกันในภายหลัง และเมื่อวิเคราะห์จากเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามุ่งประโยชน์ที่จะแย่งชิงมวลชน โดยนำภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แสดงด้วย "ผังล้มเจ้า") ออกมาโฆษณา เป็นการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลและกองทัพ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องปิดบังอำพรางเลย
จะว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ ที่กล้าบอกกันตรงๆ เลยว่า "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กันทางการเมือง
ในอีกแง่หนึ่ง คำสารภาพก็ไม่น่าตกใจอะไรนัก เพราะการ "ไล่ล่า" (persecute) ทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่รัฐเห็นเป็นปฏิปักษ์ เกิดขึ้นเกือบเป็นปรกติธรรมดาในเมืองไทย ถึงไม่ประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ก็รู้ๆ กันอยู่ ส่วนการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น นอกจากฟอลคอนแล้ว ก็ทำกันเป็นปรกติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
อย่าว่าอื่นไกลเลย คุณทักษิณ ชินวัตรเอง ซึ่งบัดนี้ไปมีชื่ออยู่ใน "ผังล้มเจ้า" ด้วย ในสมัยเป็นนายกฯ ก็อ้างความจงรักภักดีไม่ขาดปาก ไม่ต่างอะไรจาก คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปัจจุบัน หากปฏิปักษ์ของคนเหล่านี้ยึดอำนาจได้เมื่อไร ข้ออ้างหนึ่งที่ใช้กันอยู่เสมอก็คือ "หมิ่นเหม่" ถึงจะแสดงความจงรักภักดีให้ล้นเกินขีดที่พอดีและพองามแค่ไหน ก็ "หมิ่นเหม่" ได้ทั้งนั้น
การแสดงความจงรักภักดี กลายเป็นความชอบธรรมเพียงประการเดียวที่จะถืออำนาจ หรือยึดอำนาจ ทำอะไรก็ได้หมดโดยไม่ต้องแสวงหาความชอบธรรมใดๆ แม้แต่สังหารหมู่คนกลางถนนเป็นร้อยก็ยังมีความชอบธรรมอยู่ เพราะแสดงความจงรักภักดี ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยกำลังที่มาจากภาษีประชาชนก็ยังชอบธรรม เพราะได้แสดงความจงรักภักดี
การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ อย่างล้นเกินพอดีและพองาม กลายเป็นใบอนุญาตให้ไม่ต้องยึดถือความชอบธรรมจากแหล่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง, ความสุจริตโปร่งใส, ความมีประสิทธิภาพ, ความมีสัจจะ, การใช้งบประมาณที่ตรวจสอบไม่ได้, การเที่ยวข่มขู่คุกคามปรปักษ์, การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ
ผลที่เกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว, อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี, หรือถูกจับกุมและอยู่ระหว่างกระบวนการทำคดี, และหนีคดี รวมกันทั้งหมดเกือบ 500 คดี ในขณะที่ประเทศไทยก่อนหน้านี้เคยมีคดีประเภทนี้เพียงปีละไม่เกิน 10 ราย
และใน 500 คดีนี้ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา, จำเลย, หรือนักโทษ ประกอบด้วยคนไทยหลายสาขาอาชีพและสถานภาพ มีตั้งแต่ทหารในราชการ, ชาวบ้านอายุกว่า 60 ปี, ผู้หญิงนักเคลื่อนไหว, ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา, นักวิชาการที่มีชื่อเสียง, นักการเมือง และผู้คนอีกนับไม่ถ้วน
หากทุกคนมีญาติมิตรที่อาทรต่อชะตากรรมของเขาเพียง 4 คน ก็หมายความว่ามีผู้เดือดร้อนร่วม 2,000 คน รวมคนอื่นที่อาทรต่อผู้ตกทุกข์ได้ยากซึ่งอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย, คนที่ยืนยันหลักการสิทธิและความเสมอภาค นับตั้งแต่อย่างเข้มข้นโดยไม่ยกเว้นใคร ไปจนถึงที่ยอมยกเว้นแต่ต้องด้วยเหตุผล คนที่เห็นภยันตรายจากความจงรักภักดีที่ล้นเกินอันจะเกิดต่อสถาบันเอง และคนที่เห็นภยันตรายต่อสังคมโดยรวม คนที่ไม่สนใจอะไรเลย นอกจากอาย ฯลฯ รวมกันทั้งหมดแล้วเป็นล้านหรือหลายล้าน
ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มุ่งจะขจัดคู่อริทางการเมืองของตน ก็ชี้ให้เห็นว่า ทรรศนะของคนไทยที่มีต่อสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจรัฐกำลังจงรักภักดี เพื่อ "ใช้" สถาบันฯ ปกป้องผลประโยชน์ตนเองอย่างหน้ามืดตามัว
ผมเชื่อว่า คนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ โดยไม่หวังอำนาจหรือผลประโยชน์จากสถาบันฯ นั้นมีอยู่จริง จะมีมากน้อยแค่ไหนผมประเมินไม่ถูก
ที่ผมอยากทราบก็คือ ท่านเหล่านั้นไม่สะดุ้งสะเทือนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นจากความจงรักภักดีอย่างล้นเกินซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้บ้างเลยหรือ
++
ปกป้องสถาบันฯ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
กองทัพบกเชื่อว่า มีคนจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์กันมาก ฉะนั้นเพื่อปกป้องสถาบันฯ จึงพากันชุมนุมในค่ายทหาร พร้อมอาวุธยุทธภัณฑ์เพียบพร้อม ประกาศว่าจะปกป้องสถาบันฯ จนเลือดหยดสุดท้าย
ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ในระยะสัก 30-40 ปีมานี้ พื้นที่ซึ่งหวงห้ามเอาไว้สำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ใครจะล่วงละเมิดเข้าไปไม่ได้ และนับวันก็มีทีท่าว่าพื้นที่นี้ถูกขยายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
พื้นที่หวงห้ามทางสังคม หมายถึงอะไร?
คำตอบง่ายๆ ก็คือเป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งคนอื่นเข้าไปไม่ได้ เช่นเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าไปตรวจสอบ (ยังไม่พูดถึงว่า อาการที่อยากเข้าไปตรวจสอบก็ถูกถือว่าละเมิดแล้ว) พูดถึงก็ไม่ได้ นอกจากพูดไปในทางที่กำหนดไว้แล้ว ด้วยภาษาที่กำหนดไว้แล้ว เพราะกฎระเบียบของพื้นที่ประเภทนี้ไม่ได้ถูกกำหนดมาจากภายนอก แต่เป็นกฎระเบียบที่กำหนดกันขึ้นเองภายในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 4-5 ปีมานี้ พื้นที่ทางสังคมนี้กลับถูกละเมิดหรือรุกเข้าไปจากภายนอกมากขึ้น จนจะหาขอบเขตที่แน่นอนไม่ได้
แต่เท่าที่ผมได้อ่านหรือฟังมา ก็ต้องสรุปว่า แทบจะไม่มีการบุกรุกละเมิดพื้นที่ของฝ่ายใด ที่ต้องการปิดพื้นที่นี้ลงโดยสิ้นเชิง
พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น กล่าวกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ถูกคุกคามเลย
พื้นที่ทางสังคมที่หวงห้ามไว้โดยเฉพาะนั้นมีในทุกสังคม และในทุกยุคสมัย อีกทั้งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ในเมืองไทยเอง พื้นที่ทางสังคมของพระสงฆ์เคยมีอาณาบริเวณกว้างกว่าปัจจุบันมาก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ทางสังคมของพระสงฆ์ก็หดลงไปเรื่อยๆ โดยสถาบันพระสงฆ์ก็ยังอยู่ดีอย่างมั่นคงในสังคมไทย
ในสังคมอื่นๆ พื้นที่ทางสังคมที่หวงห้ามไว้โดยเฉพาะหลายพื้นที่ ก็ต้องหดแคบลงเหมือนกัน แต่ความมั่นคงของสถาบันที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นขึ้นอยู่กับสมรรถนะว่า จะปรับตัวเองให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ และได้ดีเพียงไร กำลังเพียงอย่างเดียวไม่เคยรักษาความมั่นคงให้แก่สถาบันใดๆ ได้
การแสดงพลังของกองทัพจึงไม่ได้ช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ร้ายไปกว่านั้น หากทำให้เข้าใจผิดว่าการแสดงพลังนี้ฝ่ายสถาบันฯเป็นผู้ริเริ่มหรือส่งเสริมอยู่เบื้องหลัง ก็ยิ่งทำให้สถาบันฯขาดความมั่นคงขึ้นไปอีก เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากใช้กำลัง
อย่าว่าแต่อื่นไกลเลย กองทัพไทยเองก็เป็นสถาบันที่มีพื้นที่ทางสังคมของตนเอง เคยกีดกันหวงห้ามการล่วงล้ำของคนอื่นไว้ให้ห่างได้มานาน แต่สังคมไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรเสียอำนาจที่จะหวงห้ามการล่วงล้ำกำลังลดลงไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่กองทัพมีและใช้กลวิธีเพียงอย่างเดียวในการรักษาพื้นที่ทางสังคมของตนไว้
นั่นคือพละกำลัง
สถานการณ์ในปัจจุบันก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า พละกำลังที่เคยมีและยังมีอยู่มากนั้น ไม่สามารถปกป้องการล่วงละเมิดพื้นที่ทางสังคมของตนเองได้ ขนาดมีม็อบมาร้องให้ยึดอำนาจ ยังได้แต่แหะๆ
แท้จริงแล้ว ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ที่การยอมรับของประชาชน และประชาชนได้แสดงการยอมรับนั้นผ่านรัฐธรรมนูญ ดังที่กล่าวแล้วว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่ายในเวลานี้ (ยกเว้นบางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมากๆ) ไม่มีฝ่ายใดเห็นว่าควรยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ทั้งที่ร่างโดยคณะรัฐประหารและร่างตามวิถีทางประชาธิปไตย ต่างก็ยอมรับให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ
ฉะนั้นจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ความมั่นคงของสถาบันฯอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของกองทัพ ซึ่งได้ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญไปหลายฉบับด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ทุกครั้งที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง ก็เป็นทุกครั้งที่หาความแน่นอนใดๆ แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้
เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีได้เฉพาะแต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ให้มีสถาบันนี้ ก็ไม่มีสถาบันนี้
แต่เราก็ได้ผ่านการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว โดยสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้ถูกกระทบกระเทือนไปด้วย กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
คำตอบก็คือ เกิดขึ้นได้ด้วยทฤษฎีประหลาดอันหนึ่งซึ่งผมได้ยินมาจากนักกฎหมายท่านหนึ่ง
ท่านอธิบายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็จริง แต่ครั้นเมื่อฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปแล้ว อำนาจอธิปไตยจะไปอยู่ที่ไหน
ท่านอธิบายว่าอำนาจอธิปไตยก็จะกลับไปอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ และเพราะทรงถืออำนาจอธิปไตยโดยตรงเป็นการชั่วคราวนั้น ย่อมทรงใช้อำนาจนั้นไปในทางใดย่อมได้ทั้งนั้น แต่ก็ทรงใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ก่อให้เกิดระเบียบแห่งรัฐกลับคืนมา
พร้อมทั้งคืนอำนาจอธิปไตยกลับสู่ปวงชนชาวไทยใหม่ แม้ว่าจะกลับคืนมาในลักษณะที่ไม่อาจใช้อะไรได้ก็ตาม
ผมแย้งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถือว่าไม่มีวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นในโลก ผมคิดว่าคณะราษฎรได้วางหลักเกณฑ์สำคัญสองข้อ ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ก็เท่ากับทรงรับรองพันธสัญญาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ และปวงชนชาวไทยตลอดไป และผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไปด้วยหลักการสองข้อนั้น
อาจสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้
1.ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตลอดมา ไม่ใช่เพิ่งเป็นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่มีผู้อื่นมาแย่งเอาอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปใช้ในทางมิชอบ จึงได้กลับมาทวงคืนอำนาจนั้นให้กลับมาเป็นของตนใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายน หลักการข้อนี้เห็นได้ชัดในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร
จริงอยู่ผู้นำคณะราษฎรได้ขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ใช้ถ้อยคำล่วงเกินบุรพกษัตริย์ในแถลงการณ์ฉบับนั้น และยอมรับว่าบุรพกษัตริย์ก็ได้ทรงทำคุณงามความดีนานัปการเช่นกัน แต่ผู้นำคณะราษฎรไม่ได้ขอเพิกถอนหลักการว่า อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนชาวไทยตลอดมาไม่
ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยย่อมกลับไปเป็นของประชาชนใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอำนาจอธิปไตยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป ประชาชนจะขัดขืนกับรัฏฐาธิปัตย์ที่ช่วงชิงเอามาอย่างมิชอบนั้นอย่างไรก็ได้ พระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีพระราชอำนาจจะแต่งตั้งบุคคลใดขึ้นดำรงตำแหน่งอะไรได้อีก เพราะย่อมไม่ทรงร่วมอยู่ในรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ตั้งอยู่บนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ตามพันธสัญญาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงให้ไว้กับคณะราษฎร
2.พระมหากษัตริย์ไทยหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ใช่สถาบันทางการเมืองอันเดียวกัน และไม่มีความสืบเนื่องกันในทางหลักกฎหมาย (ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริง) เพราะพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่มีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ
พระมหากษัตริย์ซึ่งมีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญคือพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย โดยผ่านทางนิติบัญญัติ, ตุลาการ และบริหาร ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย
ฉะนั้นหากฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับไม่ยอมรับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป
อย่างน้อยในทางกฎหมาย ทุกครั้งที่กองทัพยึดอำนาจ มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเกิดปัญหาทางความถูกต้องชอบธรรมด้านกฎหมายที่ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังมากๆ เสี่ยงต่อการเกิดจลาจล และเสี่ยงต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง
หากกองทัพอยากจะปกป้องสถาบันฯจริง ก็ต้องไม่ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ทฤษฎีประหลาดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยนี้ ทำให้ต้องบิดเบือนประวัติศาสตร์กันยกใหญ่ ที่สำคัญคือสร้างความสืบเนื่องระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับหลังจากนั้น ประหนึ่งว่าเป็นสถาบันทางการเมืองอันเดียวกัน และพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยไม่เกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน เลย
จริงอยู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีพระราชดำริจะประกาศใช้ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรมาตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน 2475 แต่ธรรมนูญดังกล่าว (ทั้งที่ฝรั่งร่างและคนไทยร่าง) ไม่ได้ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพียงแต่จะตั้งตำแหน่งฝ่ายบริหารขึ้นต่างหาก แยกออกไปจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อมิให้การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองกระเทือนมาถึงสถาบันฯเท่านั้น
แต่คณะบริหาร (หรือตัวอัครมหาเสนาบดี) ก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์อยู่ดี
การบิดเบือนประวัติศาสตร์นี้ลามไปถึง ร.6 และ ร.5 เพราะอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ล้วนตั้งพระราชหฤทัยจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ทั้งสองพระองค์ล้วนมีพระราชนิพนธ์ที่แสดงอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตย หรือระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่เหมาะกับประเทศสยาม
จนถึงประกาศว่าจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 คือ แมคนา คาร์ตา ของไทยก็มี
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างความสืบเนื่องที่ไม่จริงให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ดังนั้น แค่เล่าประวัติศาสตร์กันอย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้ทฤษฎีประหลาดนี้ดำรงอยู่ไม่ได้แล้ว
ถ้าเราต้องหลอกอดีต หลอกปัจจุบัน ยังจะเหลืออนาคตอะไรอีกเล่าครับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย