http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-11

สงครามฯ..ไทย-กัมพูชา-อาเซียน, การเมืองนำการทหาร..สยามวันวาน โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สงครามและประชาคม : ไทย-กัมพูชา-อาเซียน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 36


"ในความเป็นองค์กรอาเซียนในปี ค.ศ.2000 ดูจะอ่อนแอลง มากกว่าจะแข็งแรงขึ้น
ความผูกพันและความสามัคคีของประเทศสมาชิกมีน้อยลง...
นักสังเกตการณ์มองว่า อาเซียนในปัจจุบันมีความยุ่งเหยิง
แม้จะไม่ใช่อยู่ในภาวะวิกฤตก็ตาม แต่บางคนก็ตัดสินอย่างรุนแรงและสรุปว่า อาเซียนล้มเหลว"
Hadi Soesastro
"ASEAN in 2030" (2001)


ฮาดี โซแซสโตร นักวิชาการด้านอาเซียนชาวอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำการศึกษาเรื่องของอาเซียนมาอย่างยาวนาน ได้ตั้งข้อสังเกตในงานเขียนของเขาในปี 2544 (ค.ศ.2001) ถึงความอ่อนแอที่กำลังเกิดกับอาเซียน

ว่าที่จริงหลายคนอาจจะกล่าวว่า การกล่าวถึงความอ่อนแอของอาเซียนในเชิงองค์กรไม่ใช่เรื่องใหม่ มีบทความทางวิชาการเป็นจำนวนมากที่กล่าวถึงปัญหาเช่นนี้

หากย้อนกลับไปสู่อดีตในระยะที่ไม่ไกลนัก ก็จะเห็นได้ว่า ข้อวิจารณ์ถึงความอ่อนแอและ/หรือความไม่มีประสิทธิภาพของอาเซียนสะท้อนผ่านเหตุการณ์สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 3 กรณี

ได้แก่

1) วิกฤตเงินเอเชีย

อาเซียนไม่ได้ล้มหายตายจากจากกรณีวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญของภูมิภาค แต่ผลที่เกิดขึ้นก็ทำให้อาเซียนถูกวิจารณ์อย่างมากถึงความอ่อนแอและการขาดการเตรียมตัวที่ดีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใน

วิกฤตเงินครั้งนี้กลายเป็นภาพสะท้อนที่บ่งบอกว่า อาเซียนในฐานะของความเป็นองค์กรนั้นยังอ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาภายในของตนเองได้

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า คำวิจารณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เป็นธรรมกับอาเซียนมากนัก เพราะปัญหาของวิกฤตดังกล่าวที่เริ่มจากประเทศไทยในการประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะใหญ่และส่งผลอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งรัฐบาลอเมริกันก็คิดว่าเป็นเพียงวิกฤตในระดับภูมิภาคเท่านั้น

2) ปัญหาไฟป่าในอินโดนีเซีย

แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นข้อวิจารณ์หลักต่อปัญหาสถานะของอาเซียน แต่กรณีของไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียในปี 2540-2541 ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ข้อวิจารณ์โดยตรง แต่ก็สะท้อนถึงความกังวลในประสิทธิภาพต่อการจัดการปัญหาของอาเซียน

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปเป็นวงกว้างในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อให้เกิดมลภาวะไปทั่วทั้งภูมิภาค

แต่อาเซียนก็ดูจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

3) วิกฤตการณ์ในติมอร์ตะวันออก

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่บ่งบอกถึงสถานะของอาเซียนในการจัดการปัญหาภายในภูมิภาคก็คือ ปัญหาการสู้รบระหว่างขบวนการเรียกร้องเอกราชกับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออก

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการประกาศเอกราชของติมอร์ตะวันออกแล้ว ได้เกิดวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่และต้องการการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม (humanitarian operations) เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

แต่ดูเหมือนอาเซียนก็ชักช้าและลังเลต่อการเข้าไปปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจาก "ความเกรงใจ" ต่ออินโดนีเซีย

จนในที่สุดชาติตะวันตกจึงได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซง



ถึงจะมีคำวิจารณ์อื่นนอกเหนือจากปัญหาทั้ง 3 ประการในข้างต้น โดยเฉพาะกรณีการขยายอาเซียนด้วยการรับสมาชิกใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และพม่า ว่าจะทำให้เกิดปัญหาในเชิงองค์กร และจะทำให้อาเซียนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

แต่หากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ก็อาจจะต้องยอมรับว่าการรับสมาชิกใหม่เช่นนั้น แม้ว่าจะก่อให้เกิดปัญหา แต่ก็เป็นหนทางของการนำเอาประเทศในภูมิภาคให้เข้ามาอยู่ร่วมกันภายในองค์กรเดียวกัน


ในวิกฤตการณ์ที่อาเซียนต้องเผชิญนั้น ดูเหมือนว่าในที่สุดแล้ว ทุกอย่างจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะในกรณีของวิกฤตเศรษฐกิจ พอล่วงเข้าปี 2543 (ค.ศ.2000) เศรษฐกิจของอาเซียนก็อยู่ในอาการฟื้นตัว

ถ้าจะบอกว่าวิกฤต 2540 คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า "ASEAN Miracle" (ความมหัศจรรย์ของอาเซียน) สิ้นสุดลง และสถานการณ์ในปี 2543 ก็คือการบ่งบอกว่า "อาเซียนฟื้นแล้ว" (ASEAN Recovery) นั่นเอง

นอกจากนั้น ไฟป่าในอินโดนีเซียก็ค่อยๆ มอดลง อาจจะเป็นเพราะฝนที่ตกลงมา แม้จะมีมลภาวะดำรงอยู่ แต่ก็อยู่ในวงจำกัดมากขึ้น

ส่วนปัญหาสมาชิกใหม่ก็มีการปรับตัวอยู่พอสมควร อาเซียนในปี 2543 ดูจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถเดินไปข้างหน้าได้ใหม่

ผลจากวิกฤตการณ์เหล่านี้ก็ทำให้หลายคนเชื่อว่า ในที่สุดแล้วอาเซียนก็กลับมาเดินแบบเก่า ก้าวไปข้างหน้าด้วยความคิดเดิมๆ

แต่บางส่วนก็เชื่อว่า ผลดังกล่าวดูจะทำให้อาเซียนตระหนักถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่องค์กรอาจต้องเผชิญในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ กับการเปิดระบบเศรษฐกิจเสรี กระแสประชาธิปไตย และปัญหาความมั่นคงโดยเฉพาะจากการขยายบทบาทของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในภูมิภาค พร้อมๆ กับการขยายนโยบายของสหรัฐอเมริกาในปัญหาสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดรวมถึงการขยายตัวของปัญหาความมั่นคงใหม่ในภูมิภาค เป็นต้น



แต่ดูเหมือนในสภาพเช่นนี้ อาเซียนอาจจะไม่ตระหนักว่า ปัญหาความมั่นคงเก่าในรูปแบบของความขัดแย้งระหว่างรัฐในบริบทของเส้นเขตแดนนั้น สามารถปะทุกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตของอาเซียนได้ไม่ยากนัก

ดังจะเห็นได้ว่า นักวิชาการด้านอาเซียนศึกษาจากชาติสมาชิกแทบจะไม่ได้เคยกล่าวถึงปัญหาเช่นนี้แต่อย่างใด

นักวิชาการเหล่านี้อาจจะมองว่า ปัญหาความมั่นคงของอาเซียนในอนาคตจะอยู่กับรูปแบบของปัญหาใหม่ๆ (ในลักษณะที่เป็น "non-traditional security") และหากเกิดความขัดแย้งขึ้นก็ไม่น่าที่ชาติสมาชิกของอาเซียนจะหันกลับมาใช้มาตรการทางทหารในการแก้ปัญหา

แน่นอนว่าความขัดแย้งเช่นนี้อาจจะไม่ขยายตัวเป็นสงครามขนาดใหญ่ แต่ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนก็พร้อมที่จะทำให้รัฐคู่กรณีก้าวเข้าสู่บริบทของการใช้กำลังต่อกันได้โดยง่าย

ซึ่งดูเหมือนว่าอาเซียนจะไม่ได้เตรียมตัวมากนักกับการต้องเผชิญปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐในลักษณะของ "สงครามชายแดน"

แม้จะมีผู้โต้แย้งว่า อาเซียนอาจจะไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องเช่นนี้ แต่ก็เป็นหลักการอยู่ในตัวเองแล้วว่า รัฐจะต้องแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างสันติ และก็หวังเป็นอย่างยิ่งด้วยหนทางของการเจรจาจะทำให้ความขัดแย้งไม่ขยายตัวไปสู่รูปแบบของการใช้อาวุธ

ดังนั้น เมื่อความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาจากกรณีปราสาทพระวิหารเกิดขึ้น และดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีรากฐานสำคัญมาจากปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง ที่กลุ่มชนชั้นนำและผู้นำปีกขวาดำเนินการยุทธ์โดยอาศัยกระแสชาตินิยมและปัญหาความหวาดระแวงผู้นำประเทศเพื่อนบ้านเป็นแรงขับเคลื่อน

พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการต่อสู้ทางการเมืองภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโค่นล้มรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็น "นอมินี" ทักษิณ

และยิ่งเมื่อรัฐบาลพนมเปญประสบความสำเร็จในการนำเอาปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยแล้ว ก็ยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีของการก่อกระแสชาตินิยมไทย และยิ่งขับเคลื่อน ก็ยิ่งมีอาการ "สุดโต่ง" จนพวกเขาสามารถเขียนประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องนำพาต่อข้อมูลข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใหม่ของกลุ่มขวาไทยทำให้นโยบายต่างประเทศไทยในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา อยู่ในสภาพ "ติดกับ" ตัวเอง

แม้กลุ่มนี้จะพยายามก่อเหตุด้วยความหวังว่า การสู้รบตามแนวชายแดนจะทำให้คณะกรรมการมรดกโลกยอมยุติการตอบรับกรณีปราสาทพระวิหาร หรืออย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรั้งรอต่อการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือความหวังว่าการสู้รบจะเป็นปัจจัยหน่วงรั้งไม่ให้ปราสาทพระวิหารกลายเป็นมรดกโลก

ทั้งที่ในความเป็นจริง ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเรียบร้อยหมดแล้ว คงเหลือแต่เรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่



ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เมื่อเกิดการสู้รบขึ้น รัฐบาลกัมพูชาสามารถนำเอาปัญหานี้ขึ้นสู่เวทีสหประชาชาติ

และขณะเดียวกันสหประชาชาติก็ผลักเรื่องนี้กลับมาไว้ในมือของอาเซียน ด้วยความหวังว่าอาเซียนในฐานะองค์กรหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นกลไกของการแก้ไขปัญหาสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

แต่การณ์กลับเป็นว่า ไทยพยายามยืนด้วยท่าทีที่แข็งขืนว่า กระบวนการการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวต้องใช้กรอบที่เป็น "ทวิภาคี" เท่านั้น แม้ในความเป็นจริงเมื่ออาเซียนโดยความเห็นของสหประชาชาติได้เข้ามาเป็น "คนกลาง" นั้น จะถือว่าเป็นทวิภาคีที่เป็นการเจรจาแบบสองฝ่ายคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

อีกทั้งท่าทีไทยเองยังไปสุดโต่งมากขึ้นด้วยการไม่ยอมรับ "ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ" อันทำให้กลายเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาของอาเซียน

ผลจากความแข็งขืนจากท่าทีของไทยเช่นนี้ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสถานะของอาเซียน เพราะในด้านหนึ่ง ถ้าปัญหานี้ยังยืดเยื้อต่อไป

เครดิตของอาเซียนในฐานะความเป็นองค์กรหลักในภูมิภาคก็จะค่อยๆ ถูกทอนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะเห็นถึงความพยายามของอาเซียนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนที่พยายามอย่างมากต่อการเป็น "คนกลาง" ในกรณีนี้



ในอีกด้านหนึ่ง ต้องยอมรับอย่างมากด้วยว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคกำลังมีความคาดหวังว่าในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) อาเซียนจะยกระดับขึ้นเป็น "ประชาคม" ภายใต้ความเชื่อว่า ภูมิภาคจะกลายเป็นหนึ่งเดียว

แต่ผลของความขัดแย้งจนกลายเป็นการใช้กำลังแก้ไขข้อพิพาททำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า ความเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นความหวังนั้น จะเป็นเพียง "ฝันกลางแดด" หรือไม่

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ ดูเหมือนสมาชิกอาเซียนมองว่า อุปสรรคของการแก้ปัญหาอยู่กับฝ่ายไทยเป็นด้านหลัก โดยเฉพาะแนวคิดแบบสุดโต่งในนโยบายต่างประเทศยุคปัจจุบันที่เป็นผลจากการเมืองภายในของไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ไม่เกิดความคืบหน้า เพราะในปัจจุบันหลายๆ ประเทศล้วนต่างกังวลว่า สงครามไทย-กัมพูชา แม้จะไม่ทำให้อาเซียนล้มลง แต่ก็ทำให้โอกาสของความเป็นประชาคมกลายเป็นเพียงฝันที่ไม่เป็นจริง

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องยอมรับว่า ถ้าอาเซียนผ่านพ้นอุปสรรคจากวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาไปได้ ก็อาจจะถือว่าเป็นการสร้างเสริมวุฒิภาวะอย่างสำคัญให้กับองค์กร

และทั้งยังจะเป็นดังการสร้างสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทภายในภูมิภาค (เช่นที่อาเซียนได้ถูกวิจารณ์ถึงความอ่อนแอในการแก้ไขวิกฤตการณ์ก่อนหน้านี้ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น)

ดังนั้น คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า วิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ปัจจุบัน คือบททดสอบสำคัญสำหรับอาเซียนก่อนการก้าวสู่ความเป็นประชาคมนั่นเอง!



++

การเมืองนำการทหาร : ความสำเร็จของสยามวันวาน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607 หน้า 36


"ในการสงคราม คนจะถามถึงผล ไม่ถามถึงเหตุ"
เซเนคา
นักปรัชญาชาวโรมัน


หากพิจารณาย้อนอดีตจะเห็นคุณลักษณะประการสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทยก็คือ รัฐบาลไทยในยุคก่อนๆ มีความพยายามในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศค่อนข้างสูง

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นโยบายของไทยดำเนินไปในลักษณะ "ยืดหยุ่น" และมีความ "อ่อนตัว" อยู่ตลอดเวลา

ลักษณะเช่นว่านี้ทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยถูกวิจารณ์ว่าเป็นเสมือน "สนลู่ลม" (bend with the wind) ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามแรงลม เพื่อประคับประคองสถานะของประเทศไม่ให้ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ

แน่นอนว่า เราอาจจะไม่พอใจต่อคำวิจารณ์เช่นนี้ เพราะเป็นดังคำบอกว่ารัฐบาลไทยไม่มีหลักการอะไร แต่ใช้วิธีการเอาตัวรอดด้วยการยอมปรับตัวกับสถานการณ์และ/หรือภัยคุกคาม

หากแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า สำหรับประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีแสนยานุภาพขนาดใหญ่แล้ว การจะทำตัวเป็น "ไม้ใหญ่ฝืนแรงลม" ก็คงจบลงด้วยประวัติศาสตร์ชุดใหม่เช่นกัน



ถ้าเราลองย้อนกลับไปสู่อดีต จะเห็นได้ว่าหากพระมหากษัตริย์ของสยามไม่ยอมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์แล้ว ประวัติศาสตร์ของรัตนโกสินทร์น่าจะลงเช่นเดียวกันกับกรุงแตกของหงสาวดี

ดังตัวอย่างที่ชัดเจนในยุคสมัยอาณานิคม เมื่ออังกฤษพยายามขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประสบความสำเร็จในการยึดครองอินเดียแล้ว

อังกฤษรุกเข้ายึดครองพื้นที่ด้านตะวันตกของสยาม (ซึ่งในปัจจุบันคือพม่า) ทั้งในส่วนล่างและส่วนบน (คือพื้นที่ที่ในทางภูมิศาสตร์เรียกว่า "Lower Burma" และ "Upper Burma") ซึ่งก็ทำให้อิทธิพลของอังกฤษขยายตัวอย่างมากในทางภูมิภาคนี้

กล่าวคือ อังกฤษครอบครองดินแดนจากพื้นที่รอยต่อกับอัฟกานิสถานผ่านตลอดแนวพื้นที่ของอินเดีย จนกินเข้าสู่บริเวณของพม่าในปัจจุบัน อันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ และถูกเรียกว่าเป็น "อินเดียของอังกฤษ" (British India)

พระมหากษัตริย์สยามตัดสินใจกระทำการแตกต่างจากพระมหากษัตริย์หงสาวดีโดยไม่ยอมตัดสินใจสู้กับภัยคุกคามของอังกฤษด้วยการทำสงครามแตกหัก

เราไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนในกระบวนการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ของราชสำนักสยามในขณะนั้นว่า สยามตระหนักหรือไม่ว่ากองทัพที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่ได้เป็นกองทัพที่แตกต่างมากนักจากสงครามป้อมค่ายประชิดของยุคกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด แม้จะมีอาวุธใหม่ๆ บางประการเกิดขึ้นก็ตามที ซึ่งกองทัพหงสาวดีก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่แตกต่างกันเท่าใดนัก

ดังนั้น การเอากองทัพโบราณของหงสาวดีเข้าทำการรบแตกหักกับกองทัพของมหาอำนาจตะวันตกที่ประเทศได้ผ่านขั้นตอนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว จึงไม่ต่างอะไรกับการ "ฆ่าตัวตาย" ในสนามรบ เพราะยุทโธปกรณ์ของกองทัพตะวันตกได้รับการพัฒนาอาวุธยิงในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น กองทัพแบบเก่า (เช่น ที่หงสาวดีเคยใช้ทำการรบกับรัตนโกสินทร์ในยุคสงครามเก้าทัพ) จึงกลายเป็นเพียง "สิ่งที่ไร้ค่า" ในทางยุทธการ เพราะไม่อาจต้านทานอำนาจการยิงของอาวุธสมัยใหม่ได้แต่อย่างใด

นอกเหนือจากชัยชนะของกองทัพอังกฤษต่อหงสาวดีในปี พ.ศ.2368 แล้ว ชัยชนะของอังกฤษต่อจีนในยุคสงครามฝิ่นก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันในปี พ.ศ.2383

ซึ่งผลของชัยชนะทางทหารที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของหงสาวดีนั้น มีส่วนโดยตรงต่อทัศนะของผู้นำสยามต่อตะวันตก โดยเฉพาะทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ถึงเรื่องราวของประเทศมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้น

ซึ่งลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็น "จุดเริ่มต้น" ของความพยายามในการปรับตัวของสยาม เพราะตระหนักดีว่า คู่สงครามเก่าของสยามในอดีตนั้นจบลงด้วยการถูก "ฝรั่ง" ยึดครอง หรือแม้แต่จีนซึ่งเป็นจักรวรรดิใหญ่ในเอเชียก็ถูกฝรั่งเข้าคุกคามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และถ้าสยามจะ "แข็งขืน" โดยดำเนินนโยบายแบบไม่ประนีประนอม และคิดเอาง่ายๆ ว่า กองทัพแบบเก่าของสยามสามารถสู้ศึกกับกองทัพสมัยใหม่ของเจ้าอาณานิคมได้แล้ว อนาคตของรัตนโกสินทร์ก็คงจบลงในทำนองเดียวกับหงสาวดีอย่างแน่นอน



ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้นำของสยามตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการขยายอำนาจของมหาอำนาจตะวันตก

เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 4) ในขณะที่ทรงผนวช ได้พยายามอย่างมากในการเรียนรู้วิทยาการของตะวันตก หรือแม้แต่พระสงฆ์อย่างพระอมรมุณี เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศ์ก็สนใจเรื่องราวของชาติตะวันตกอย่างมากเช่นกัน

เจ้านายพระองค์หนึ่งที่อาจจะขอยกเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ได้แก่ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าจุฑามณี) ซึ่งเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

พระองค์ค่อนข้างชื่นชอบวัฒนธรรมตะวันตก เช่น ทรงโปรดเสวยพระกระยาหารแบบฝรั่ง และในพระราชวังของพระองค์มีสิ่งของและสิ่งประดิษฐ์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษหลายอย่าง

สิ่งสำคัญก็คือ พระองค์ทรงโปรดให้มีการฝึกทหารแบบตะวันตก และทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบทหารอย่างฝรั่งด้วย อีกทั้งพระองค์ทรงเป็นเจ้าของสารานุกรมบริทานิกาตั้งแต่ พ.ศ.2382 เป็นต้น (ก่อนการทำสนธิสัญญาเบาริง)

เรื่องราวอย่างสังเขปในข้างต้นเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าชนชั้นนำสยามมี "โลกทัศน์เปิด" พร้อมที่จะปรับตัวกับโลกภายนอก แต่ก็มิได้หมายความว่าชนชั้นนำทุกคนของสยามจะมีทัศนะเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่สยามต้องเผชิญกับการขยายตัวของมหาอำนาจตะวันตกตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 เป็นต้นมานั้น ชนชั้นนำอีกส่วนก็เป็นกลุ่มอนุรักษนิยม

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อก้าวเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการเปิดรับความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก และไม่มีอะไรจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากเท่ากับการที่พระมหากษัตริย์ของสยามยอมทำความตกลงที่ไม่เสมอภาคกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเริ่มต้นจากความตกลงที่ทำกับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 (ค.ศ.1855) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ "สนธิสัญญาเบาริง" โดยมีต้นแบบมาจากสนธิสัญญานานกิงที่อังกฤษใช้บังคับกับจีน

น่าคิดเล่นๆ ว่า ถ้าสยาม "แข็งขืน" ไม่ยอมทำความตกลงกับอังกฤษ และใช้วิธี "ปิดประเทศ" ด้วยการไม่เปิดรับการเข้ามาของอังกฤษแล้วอะไรจะเกิดขึ้น? มหาอำนาจตะวันตกจะใช้วิธีเดียวกับกรณีของหงสาวดีด้วยการทำสงครามหรือไม่ หรือจะใช้วิธีบังคับให้เปิดประเทศด้วย "เรือปืน" ในแบบที่รัฐบาลโชกุนของญี่ปุ่นต้องเผชิญ

เว้นเสียแต่เราจะคิดอีกแบบว่า ความ "แข็งขืน" และหันมาจับอาวุธต่อสู้กับฝรั่ง ด้วยการปลุกกระแสต่อต้านตะวันตก (หรือใช้ในภาษาสมัยใหม่ว่ากระแสชาตินิยม) เหมือนเช่นที่กลุ่มอนุรักษนิยมในหลายประเทศทำ แม้จะต้องจบลงด้วยการ "เสียเมือง" เพราะแพ้สงคราม แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเราได้ต่อสู้แล้ว หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่ามีข้อดีที่เราจะตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

และที่สำคัญก็คือ พวกเราคงจะพูดและสอบภาษาอังกฤษกันได้ดีกว่านี้



เมื่อสยามตัดสินใจเปิดประเทศด้วยความสมัครใจเอง ก็ทำให้การค้าและการลงทุนขยายตัวเข้ามาในประเทศ และส่งผลอย่างสำคัญให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ.2406 ปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินสกุลอเมริกันสูงถึง 335,000 ดอลลาร์ต่อวัน เป็นต้น แต่เราก็อาจจะพูดหรือสอบภาษาอังกฤษกันได้ไม่ค่อยจะดีนัก (เช่นที่เห็นในปัจจุบัน)

การไม่ดำเนินนโยบายแบบแข็งขืนของรัฐบาลสยาม ไม่ได้หมายความว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่การปรับตัวด้วยการดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่นเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้ผลประโยชน์แห่งชาติของสยามได้รับการรักษาไว้ (หรืออาจเทียบเคียงได้กับกรณีการตัดสินใจเปิดประเทศของรัฐบาลโชกุนของญี่ปุ่นในช่วงเวลาต่อมา)

ภาพของการปรับตัวต่อการขยายบทบาทของชาติมหาอำนาจตะวันตกเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนอีกครั้งในยุคที่ระบอบอาณานิคมมีท่าทีคุกคามต่อสยามอย่างจริงจังในสมัยของรัชกาลที่ 5

เช่น ในวิกฤตการณ์ปากน้ำ หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของ "วิกฤตการณ์ ร.ศ.112" ในปี พ.ศ.2436 (ค.ศ.1893) เป็นความท้าทายครั้งสำคัญต่อราชสำนักสยาม

แน่นอนมีข้อถกเถียงในปัญหา 2 แนวทางว่า สยามควรรบหรือควรประนีประนอมกับฝรั่งเศส แม้จะต้องถูกคุกคามอย่างหนักก็ตาม

ถ้าจะใช้คำในภาษาสมัยใหม่ว่า หากรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายด้วยวิสัยทัศน์แบบอนุรักษนิยมสุดขั้ว หรือเดินไปในแบบ "นักชาตินิยมเก่า" ที่เชื่อว่าจะต้องทำสงครามเท่านั้น และไม่ต้องคิดถึงอนาคตว่าผลของสงครามจะนำพาสยามประเทศไปในทิศทางใดแล้ว วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จะไม่นำไปสู่การเจรจาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอย่างแน่นอน

และโต๊ะเจรจาทางการทูตจะถูกปรับเป็น "โต๊ะเจรจาสงบศึก" ที่จะจบลงด้วยการที่สยามกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "อินโดจีนฝรั่งเศส"

ถ้าเชื่อว่าสยามทำสงครามกับฝรั่งเศสได้จริง ก็คงไม่ผิดอะไรนัก แต่จะชนะหรือไม่ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รูปธรรมจากการหยุดยั้งการเข้ามาของเรือรบฝรั่งเศสในเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ป้อมปืนชายฝั่งที่ถูกสร้างเตรียมไว้ภายใต้แผนการยุทธ์ที่เชื่อว่าสยามจะถูกบุกจากทางปากน้ำอย่างแน่นอน

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นจริง ป้อมปืนชายฝั่งทั้งหลายกลับไม่สามารถขัดขวางเรือรบเหล่านั้นได้ จนเรือรบหลักของฝรั่งเศส 2 ลำสามารถเข้ามาจอด "แสดงกำลัง" หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ (ตรงบริเวณโรงแรมโอเรียนเต็ล)

ซึ่งก็คือคำตอบที่ชัดเจนว่า ถ้าตัดสินใจเข้าสู่สงครามแล้ว สยามไม่มีทางที่จะชนะเจ้าอาณานิคมได้เลย!



การปรับตัวด้วยการใช้นโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ไม่ใช่ "การทหารนำการเมือง" แม้ทำให้สยามต้องสูญเสียพื้นที่ในความปกครองภายใต้สนธิสัญญาสยาม - ฝรั่งเศส ค.ศ.1893 ไปก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้สยามต้อง "เสียเมือง" ในลักษณะของการตกเป็นอาณานิคมเช่นที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครองดินแดนในประเทศเพื่อนบ้าน

มิเช่นนั้นแล้วพวกเราคงจะต้องทักทายกันด้วยคำว่า "บองชู" (Bonjour) และรับประทานขนมปังแท่งยาวๆ กันในตอนเช้าแทนข้าวแกง

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน คุณลักษณะสำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยกลับแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้วไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำหัวเก่า ผู้นำทหารหัวแข็ง (hardliners) หรือพลเรือนหัวทื่อทั้งหลาย ล้วนอาศัยการปลุกกระแส "ต่อต้านทักษิณ" จนนำไปสู่รัฐประหาร 2549 ได้สำเร็จ

ผลที่ตามมาในอีกด้านหนึ่งก็คือ พวกเขาขยายความเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปสู่ความเกลียดชังผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน จนกลายเป็นวิกฤตความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2551

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในที่สุดแล้วก็ขยายตัวเป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงได้ ปัญหาไม่ใช่ประเด็นว่าใครยิงก่อน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือท่าทีของการแก้ปัญหาต่างหาก ดูเหมือนว่ากลุ่มขวาจัดทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มพลเรือนล้วนเดินไปในทิศทางของ "การทหารนำ" อย่างชัดเจน จนทำให้อดคิดถึงความสำเร็จของสยามในอดีตไม่ได้

เรื่องราวเช่นนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า ชัยชนะของสยาม ไม่ได้เกิดจากการใช้สงครามเป็นเครื่องมือ หากแต่ใช้มาตรการทางการเมืองต่างหาก เว้นแต่เรามีคำตอบอีกชุดว่า

สยามยอมประนีประนอมกับตะวันตกเสมอ แต่ไม่มีวันประนีประนอมกับเพื่อนบ้านเป็นอันขาด!



.