http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-06

เอกชนเอือม"คอร์รัปชั่น"ฯ, และ ดัชนีทุจริต คอร์รัปชั่นไทยฯ

.

เอกชนเอือม"คอร์รัปชั่น" ลุกฮือปลุกกระแสร่วมต้าน
คอลัมน์ เศรษฐกิจ มติชนออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 22


การประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านคอร์รัปชั่น" ของเครือข่าย 21 องค์กรเอกชนไทย และก่อตั้งภาคีเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จัดทำครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยต่อต้านการทุจริต ที่มีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นโต้โผใหญ่ โดยหวังจะมีบทบาทสำคัญต่อการล้างปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น กระตุ้นการตื่นตัวให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และร่วมมือกันปราบปรามให้การทุจริตคอร์รัปชั่นหมดไปจากประเทศไทย

กำลังเป็นที่จับตามองของทุกภาคส่วน ถึงการรวมตัวครั้งนี้จะสัมฤทธิผลได้จริงแค่ไหน

ในเจตนารมณ์ระบุถึงเหตุผลไว้ว่า "ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงในอันดับต้นๆ ของโลก จากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2553 ของประเทศไทยสูงขึ้นมาก จากอันดับ 178 ประเทศทั่วโลก มาอยู่ที่ 78

สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากกว่า 50% สูงขึ้นมากจากในอดีตช่วง 20-30 ปี

การจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือค่าตอบแทนเพียง 2-3% และเพิ่มเป็น 30-40% ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และกำลังเป็นปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกยาวนานในสังคมไทย ไม่ต่างกับโรคร้ายที่คอยกัดกร่อนและบ่อนทำลายประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติในอนาคต

สิ่งที่เลวร้ายลงไปอีกคือ คนไทยส่วนใหญ่กลับมองว่าเรื่องคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมและสามารถยอมรับได้"



เจตนาที่จะล้างขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการเปิดโปงปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องใหม่

ภาคเอกชนและทางวิชาการ มีการตีแผ่ออกมาเป็นระยะๆ และที่ผ่านมาการตื่นตัวและรับรู้ก็เกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ช่วงที่มีการนำเสนอเท่านั้น เหมือนคลี่นกระทบฝั่ง และสะท้อนให้เห็นว่าการจะพึ่งพากฎหมายหรือองค์กรที่มีหน้าที่ดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้นกระทำได้ยากแล้ว

ในรอบนี้ภาคีเครือข่าย จะถือฤกษ์ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ประกาศจุดยืนของภาคเอกชนทุกคน ที่อยู่ในภาคียุติการให้ การจ่ายใต้โต๊ะ หยุดการติดสินบน เลิกการจ่ายส่วย


เขาเหล่านี้เชื่อว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกจากหวังกระตุ้นการตื่นตัว ล้มเลิกการจ่ายสินบนหรือยุติการเรียกร้องผลประโยชน์ต่างตอบแทนแล้ว จะอาศัยช่วงการเลือกตั้งส่งสัญญาณเตือนถึง "นักการเมือง" และ "รัฐบาลใหม่" ว่า ต่อจากนี้จะเรียกร้องอะไรไม่ได้แล้ว และหยุดพฤติกรรมคอร์รัปชั่นเสียที

และ ในวันนั้นก็คาดหวังว่าจะได้เห็นกรณีศึกษาและต้นแบบความสำเร็จของการปราบปราม คอร์รัปชั่น จากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปราบปรามการคอร์รัปชั่น (Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และอัพเดตสถานการณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทย



ก่อนหน้านี้ ทางวิชาการหลายสำนัก เคยลงพื้นที่ทำการสำรวจและรวบรวมการทุจริตคอร์รัปชั่นตามหน่วยงานต่างๆ ไว้หลายครั้ง แม้แต่ละครั้งจะไม่ระบุ "ข้อเท็จจริง" ทั้งหมด ว่าหน่วยงานใดที่เรียกรับผลประโยชน์ และไม่มีการประจานถึงผู้กระทำผิด

แต่ก็มักโชว์ตัวเลขการเรียกรับเงินหรือเรามักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า "จ่ายส่วย" ในอัตราที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และขั้นตอนของการจ่ายส่วยกว้างขวางมากขึ้น

ตัวเลขในแต่ละครั้งก็พบว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จนล่าสุดที่มีการหยิบยกมาโจมตีกันในสภาผู้แทนราษฎรถึงการจ่ายส่วยต่อโครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้าง มีอัตราสูงถึง 30% ต่อชิ้นงาน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท

แม้หลายรัฐบาลที่ผ่านมา เลือกใช้การประมูลแบบอีออคชั่น (เสนอประมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์พร้อมกัน) ก็ยังพบการฮั้วประมูล พอจับได้ก็ทำได้เพียงล้มประมูล

ในข้อศึกษาทางวิชาการที่ระบุไว้เป็นเบื้องลึก จะพบเห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมากอันดับต้นๆ คือหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการอนุมัติและอำนวยความสะดวกในภาคเอกชน ซึ่งไม่พ้นการตรวจสอบอนุมัติการส่งออกและนำเข้าสินค้า เช่น ท่าเรือ ด่านตรวจคน ตรวจสินค้า ตรวจรถยนต์

รองลงมาคือ ธุรกิจก่อสร้าง และการประมูลงานภาครัฐระดับชุมชน แม้จะมีมูลค่าต่อครั้งไม่สูง แต่ก็เป็นการจ่ายแบบน้ำซึมบ่อทราย หรือการจ่ายแบบไม่มีที่สิ้นสุด จ่ายต่อเนื่องทุกครั้งที่ต้องผ่าน

ธุรกิจด้านสาธารณสุข สุขภาพ การแพทย์ การศึกษา การเกษตร จัดซื้อจัดจ้าง ด้านงานประชาสัมพันธ์ ก็กำลังเป็นธุรกิจทำเงินให้กับกลุ่มทุจริตคอร์รัปชั่นที่โดดเด่นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา



เมื่อได้มีโอกาสสอบถามเจ้าของธุรกิจและ นักวิชาการบางส่วนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคีเครือข่ายข้างต้น ก็ได้คำตอบเดียวกัน คือ เป็นเรื่องยากที่การทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงหรือหมดไปจากประเทศไทย

เหตุผลสำคัญ คือ

ประเด็นแรก ประเทศไทยยังเป็นสังคมอุปถัมภ์ พื้นฐานกลุ่มประเทศอาเซียนไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย ทั้ง เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา หรือแม้แต่ประเทศนอกอาเซียน อย่างจีน หรืออินเดียที่มีขนาดธุรกิจและเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ยังต้องอาศัยคอร์รัปชั่นต่อการได้รับเลือก การชนะประมูล หรือได้สิ่งที่ต้องการ

"ไทยยังถูกสอนถูกฝังในจิตสำนึกว่า การเกรงกลัวผู้มีอำนาจ พวกศักดินา ลูกน้องต้องเคารพทำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง จึงเป็นช่องโหว่ต่อการรับจ่ายส่วย แม้จะไม่เต็มใจบ้างก็ไม่มีการคัดค้านจนออกนอกหน้า"

อีกประเด็นคือ กฎหมายไทยและการบังคับใช้กฎหมายไทยยังไม่แรงพอและยังมีช่องโหว่ ผู้ใช้กฎหมายก็ถูกมองถึงสองมาตรฐาน จึงขาดความเชื่อมั่นต่อการเข้าร้องเรียนและฟ้องร้อง ทั้งที่เกิดความผิดต่อองค์กรและประเทศชาติแล้ว ซึ่งรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา จะไม่เห็นถึงการยกร่างหรือการปรับปรุงกฎหมายดูแลปัญหาคอร์รัปชั่น

ข้าราชการที่เรียกรับสินบนทั้งทางตรงและทางอ้อมเลยได้ใจ ไม่กลัวเกรงกฎหมาย พฤติกรรมนี้จึงลุกลามเหมือนโรคระบาดร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นโรคที่ดื้อยาและไม่อาจเยียวยารักษาให้ทุเลาหรือหายขาดได้



ประเด็นสำคัญที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการทุจริตคอร์รัปชั่นไทย อาจเป็นปัญหาจุกอกไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา คือ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ที่กำลังเกิดการแข่งขันแย่งจ่ายส่วยหรือสินบน เพื่อให้ได้รับอนุมัติให้นำเข้า หรือได้มาซึ่งใบอนุญาตต่อการได้รับสิทธิต่อโครงการต่างๆ

เพราะการได้เปรียบจากเงินทุนที่มากกว่า และสายป่านทางธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจในไทย จึงทำให้ธุรกิจต่างชาติ หรือนอมินี (จ้างคนไทยถือหุ้นแทน) กำลังเข้ามามีบทบาทต่อการเข้าประมูลงานที่กำลังเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่

เพราะจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นการประชานิยม ให้ความหวังต่อการได้งบประมาณเพื่อการพัฒนาทั้งในระดับโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ และโครงการระดับท้องถิ่น มูลค่าไม่น้อยกว่า 4-5 แสนล้านบาท

รวมจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปอีก 3-4 แสนล้านบาท หักค่านายหน้าแค่ 30% ก็จะเกิดความสูญเสียต่อธุรกิจและประเทศชาติถึง 3 แสนล้านบาท

หากเฉลี่ยถึง 50% อย่างที่ภาคีต้านคอร์รัปชั่นระบุ มูลค่าก็สูงถึง 5 แสนล้านบาท เท่ากับประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเราแบกรับภาระกันเอง

แม้หลักการที่ว่าการคอร์รัปชั่นจะหมดไปก็เพียง "ไม่จ่าย"

แต่ในสภาพความเป็นจริง ที่การแข่งขันทวีความรุนแรงและการมุ่งเป้าหมายเปิดประเทศรับเสรีการค้า การลงทุน เพื่อหวังออกไปค้าขายและลงทุนนอกประเทศ เพื่อให้ได้งาน

ที่ผ่านมา มักจะได้ยินกันว่า เหตุที่ต้องจ่าย เพราะเขาจ่ายกัน จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ความพยายามที่จะหยุดพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ภาคเอกชนในฐานะผู้ให้ ต้องหยุดจ่ายได้จริงเสียก่อน



++

ดัชนีทุจริต คอร์รัปชั่นไทย จาก พ.ศ.2549 ถึง 2553 ทะยานสูงระหว่าง 1 ถึง 2 แสนล้าน
คอลัมน์ รายงานพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 101


ที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทย อันมีพื้นฐานจากการสำรวจข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชน 1,200 ตัวอย่าง

ปรากฏว่า การคอร์รัปชั่นของไทยโดยรวมอยู่ระดับที่รุนแรงมาก

โดยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นของไทยรวมเท่ากับ 3.5 จาก 10 จำแนกเป็นข้าราชการ 4.0 นักธุรกิจ 3.2 ประชาชน 3.4

โดยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบัน คะแนนรวมเท่ากับ 3.2 จาก 10 จำแนกเป็นข้าราชการ 3.7 นักธุรกิจ 2.9 ประชาชน 3.1

โดยดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยรวมเท่ากับ 3.8 จาก 10 จำแนกเป็นข้าราชการ 4.3 นักธุรกิจ 3.6 ประชาชน 3.7



นายธนาวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เสนอความเห็นว่า

ในแง่ของการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกของคนในสังคม ดัชนีอยู่ที่ 2.9 ถือว่าต่ำที่สุด แสดงว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการในการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกต่อเรื่องคอร์รัปชั่นเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว ถือว่าแย่ลง อาจเป็นเพราะบางคนยอมรับค่านิยมว่าถ้าคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานถือว่ารับได้

ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง



ขณะเดียวกัน นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า

สาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.2 เห็นว่าเกิดจากมีการแทรกแซงทางการเมืองและเกิดจากวัฒนธรรมเงินใต้โต๊ะร้อยละ 12.2 เท่ากัน

อีกร้อยละ 11.6 เห็นว่าเกิดจากการขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบในกระบวนการทางการเมือง

และร้อยละ 11.4 เห็นว่าเกิดจากระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย

สำหรับการจ่ายเงินพิเศษให้กับข้าราชการหรือนักการเมืองนั้น ผู้ประกอบการต้องจ่ายมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 โดยมีการจ่ายเงินกันมากกว่าร้อยละ 25 ของรายรับ มากที่สุดถึงร้อยละ 30 ของผู้ประกอบการที่ตอบทั้งหมด

และถ้าประเมินความเสียหายจากการคอร์รัปชั่นในปี 2553 ที่มีงบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท จะมีความเสียหาย 1.69 แสนล้านบาทในกรณีที่ต้องจ่ายร้อยละ 25 หรือความเสียหาย 2 แสนล้านบาทในกรณีที่ต้องจ่ายร้อยละ 30

นี่ย่อมเป็นปัญหาระหว่างนักธุรกิจ ข้าราชการและนักการเมือง



นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวด้วยว่า

จะเห็นว่า ความตระหนักของสังคม ถือว่าต่ำมากๆ ทั้งที่มีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร

โดยในปี 2554 หอการค้าไทยและพันธมิตรจะเดินหน้ารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้น ในไตรมาสที่ 1 จะเชิญหน่วยงานอิสระต่อต้านการคอร์รัปชั่น หรือ ไอซีเอซี ของฮ่องกงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้คำแนะนำ

ไอซีเอซีถือเป็นหน่วยงานที่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ



.