.
การเมืองเรื่องเลือกตั้ง ก้าว"ถอยหลัง" หรือ "ตั้งหลัก"
โดย เทศมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 102
ตอนที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีแถลงทางโทรทัศน์ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้นั้น หลายคนถอนหายใจโล่งอก ในที่สุดเลือกตั้งที่ "ต้องมี" ก็มีกำหนดวันเวลาที่แน่ชัดแล้ว
ผมเป็นหนึ่งในจำนวนหลายคนที่คิดอย่างนั้น คิดว่าเมืองไทยเรา "ต้องการ" การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมาก อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อ "ตั้งหลัก" ทางการเมืองให้ได้ แล้วจะว่ากันอย่างไร จะก้าวไปในทางไหน เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป
ผมรู้สึกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรายังไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้แม้แต่น้อย เศรษฐกิจอาจขยายตัว ธุรกิจกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง แต่ยังคงเป็นไปอย่าง "แกนๆ" เดินไปตามเรื่องตามราว ยังไม่สามารถ "เชิดหน้าอย่างองอาจ" ก้าวไปอย่างกล้าหาญ อย่างน้อยก็บอกกับใครต่อใครได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คือหนทางที่คนไทย "เลือกแล้ว"
ความรู้สึกที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่อง "คิดไปเอง" ลองทอดสายตาไปรอบตัว สดับตรับฟังข่าวสาร แล้วจะพบว่า ประเด็นสำคัญ เรื่องหลักๆ ที่เราพูดถึงกันอยู่นั้น ยังคงเหมือนเดิม เหมือนที่ผ่านๆ มา ย้อนหลังไป 6 เดือน 1 ปี หรือ 5 ปี เราก็เคยพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ประเด็นเหล่านี้กันมาแล้ว
เมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เซธ มายแดนส์ แห่ง นิวยอร์ก ไทม์ส กับ ไซมอน มอนต์เลก แห่งซีเอสมอนิเตอร์ เขียนถึงการเมืองเรื่องเลือกตั้งในไทย ลองไปอ่านดูเถอะครับ ประเด็นหลักๆ ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือน-วนเทปกลับไปหาที่เดิมไม่มีผิด
ข้อเขียนสั้น-สั้น ของมายแดนส์บอกว่า เลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความคาดหมายว่าจะ "สูสี" ไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดจากจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง
นั่นสะท้อนถึงความจำเป็นในการ "ผสม" เพื่อ "จัดตั้ง" รัฐบาลอีกครั้งระหว่างพรรคการเมือง
ในทำนองเดียวกับที่มอนต์เลกใช้คำว่า "ผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นมากที่สุด" ของการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ การจับขั้วร่วมกันเป็นพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ข้อสังเกตอีกประการของมายแดนส์ก็คือ "แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำความแตกแยกในประเทศนี้จากท้องถนนไปสู่เวทีการเมือง กระนั้นนักวิเคราะห์ก็ยังเตือนว่า การเลือกตั้งเองก็อาจสามารถจุดประกายให้เกิดการประท้วงต่อเนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนของฝ่ายที่พ่ายแพ้ได้อีกครั้ง"
หรือในข้อเขียนของมอนต์เลกก็แทบไม่แตกต่าง เขามองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยามที่ประชาธิปไตยของเมืองไทย "ง่อนแง่น" เต็มที ถ้าอุปมาเป็นใครสักคนก็คงอยู่ในสภาพ "แข้งขาสั่นเทา" ยากแม้แต่จะยกเท้าก้าวเดินออกไปข้างหน้า
"เดิมพัน" ในการเลือกตั้งครั้งนี้ในความเห็นของเขาจึง "สูงอย่างยิ่ง" ไม่เพียงสำหรับฟากฝ่ายทางการเมืองที่ปักหลักยืนอยู่คนละข้างอย่างไร้ประนีประนอมเท่านั้น หากยังเป็น "เดิมพันสูง" สำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคมไทยอีกต่างหากด้วย
"นักสังเกตการณ์บอกว่า ความเป็นปฏิปักษ์ที่ขมขื่นระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ และความเสี่ยงต่อการที่ไม่มีฝ่ายไหนยอมรับความพ่ายแพ้ ทำให้เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมากยิ่งขึ้น"
มอนต์เลกพูดถึงความคาดหวังของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่บอกเอาไว้ว่า ต้องการให้ประเทศชาติ "ก้าวไปข้างหน้า" จึงจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ขึ้น พูดถึงความพยายามของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพอย่าง โคทม อารียา ในการจัดทำ "ปฏิญญาหาเสียง" ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความหวังลมๆ แล้งๆ และอิดหนาระอาใจว่า ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะมีใครนำไป "ปฏิบัติ" หรือไม่
ทุกอย่างล้วนสะท้อนให้เห็นถึงภาวะย่ำอยู่กับที่ ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง การโหยหาแย่งชิง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง "อำนาจ" ในทางการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงก้าวย่างของสังคมและประเทศชาติเหมือนที่ผ่านๆ มาไม่ผิดเพี้ยน
รับฟังแล้วสะทกสะท้อน เหนื่อยหน่ายไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
แต่อย่างที่บอกละครับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จำเป็นต้องมี ไม่เพียงมีเพื่อเตือนให้ทุกคนรำลึกได้ว่า "กลไกปกติทางการเมือง" ว่าด้วยเรื่อง "อำนาจ" นั้นยังมีอยู่เท่านั้น หากแต่สำคัญอย่างยิ่งต่อการแสดงให้เห็นว่า กลไกที่มีอยู่นั้น "ทำงาน" ได้
ผมไม่บังอาจคาดคิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มี "อนาคตของชาติ" เป็นเดิมพันหรอกครับ มันดูใหญ่โตโอฬาริกเกินไปสักนิด แต่ถ้าหลับตานึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกหากการเลือกตั้งครั้งนี้ล้มเหลวในการทำหน้าที่เป็น "กลไกปกติ" ของมันแล้ว อดบอกไม่ได้ว่า "เลือกตั้ง" ครั้งนี้มีความหมายมากเหลือเกินกับสังคมไทย
เราจะตั้งหลักทางการเมืองได้หรือไม่ หรือเราจะถอยหลังกรูดลงคลองครั้งใหญ่อีกหน
ผมว่าคำตอบอยู่ที่การเลือกตั้งหนนี้ครับ
++
"เลือกตั้ง 2011" เลือกไปเพื่ออะไร?
โดย เทศมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 102
เพื่อนต่างชาติรายหนึ่งของผมปรารภว่า เคยถามคนไทยหลายต่อหลายคน ได้ความเห็นที่น่าทึ่งตรงกันประการหนึ่งว่า "ไม่รู้จะเลือกตั้งไปเพื่ออะไร"
เขาบอกว่า คนไทยพูดคำนี้บ่อยมาก จนเหมือนจะติดอยู่ที่ริมฝีปากเลยทีเดียว
คนไทยหมดหวังกับการเลือกตั้งแล้วหรือ? คือคำถามที่น่าคิดทีเดียวครับ
ปกติการเลือกตั้ง คือกลไกหนึ่งในการแสดงออกถึง "ความพอใจ" หรือ "ไม่พอใจ" ต่อการบริหารงานของฝ่ายบริหารถูกเลือกเข้าไปในห้วงระยะเวลาหนึ่ง นัยของการเลือกตั้งทำนองนี้เห็นได้ชัดเจนในการเลือกตั้งของประเทศที่ "พัฒนาแล้วทางการเมือง" หลายประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือชัยชนะถล่มทลายของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ที่โค่นตัวแทนพรรครีพับลิกันเสียขาดลอยในการเลือกตั้งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ แน่นอนส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวผู้สมัคร
แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะความไม่พอใจในแนวนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายบริหารของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่อยู่ในตำแหน่งมาก่อนหน้านั้น
เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง ลี กวน ยิว ก็ตระหนักถึงการแสดงออกที่ว่านี้ จนต้องประกาศวางมือทางการเมืองกลายๆ ไปในที่สุด
ประเด็นก็คือว่า การเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในหลายประเทศได้ แต่การเลือกตั้งไม่เคยเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทางการเมืองในไทยได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในทางที่ผู้มีสิทธิออกเสียงหลายคนคิด
กัลยาณมิตรต่างชาติรายนี้บอกว่า หลายคนคาดคิดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พอผ่านพ้นไป ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม
ในทางหนึ่ง รัฐบาลก็จะยังคงเป็นรัฐบาลผสม ที่กลายเป็นข้ออ้างในการไม่แสดงความรับผิดชอบ เป็นข้ออ้างในการไม่ทำตามแนวนโยบาย เป็นข้ออ้างในอีกหลายๆ เรื่องได้อยู่ต่อไป
ในอีกทางหนึ่ง หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะมีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ บรรยากาศทางการเมืองก็จะอึมครึม จะออกหัวก็ไม่ได้ จะออกก้อยก็ไม่ยอมกันอยู่อย่างนี้ต่อไป
ผมฟังแล้วก็อึ้ง ไม่อยากบอกให้เพื่อนแตกตื่นตกใจมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า มีบางคนคิดไปไกลถึงกับว่า เมืองไทยเราไม่เหมาะกับการเลือกตั้ง ไม่เหมาะกับประชาธิปไตย แต่เหมาะกับระบอบการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่า
คิดอย่างนั้น แต่ก็ยังอดถามไม่ได้ว่า แล้วเขาคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งหนนี้?
เขาบอกว่า เขาเห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว แล้วก็เห็นใจและเข้าใจที่คนไทยเกิดความคิดเห็นทำนองนี้ขึ้น แต่เขาเชื่อว่า คนไทยจะปฏิเสธและหมดหวังกับการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้มีคนใช้วิธีการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ซึ่งเขาเห็นว่า แม้อาจจะสวยหรูในตอนแรก แต่สุดท้ายแล้วจะย่ำแย่ยิ่งกว่าการเลือกตั้ง
เลือกแล้วได้รัฐบาลแย่ๆ เหมือนๆ เดิมแล้วจะทำยังไง?
ก็เลือกต่อไป เลือกตั้งกันต่อไป เขายกตัวอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกตั้งกันแทบจะปีเว้นปี เพราะได้รัฐบาลแล้วก็มีปัญหา ไม่สามารถบริหารงานได้อย่างที่คาดหมายไว้ ก็ยุบสภา ไปเลือกตั้งกันใหม่
"ผมเชื่อว่า การเลือกตั้ง เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองอย่างสำคัญ ยิ่งเลือกตั้งบ่อยยิ่งเรียนรู้บ่อยและมากขึ้น ถ้าเลือกโดยไม่ดูนโยบาย เราก็ได้รับบทเรียนว่านโยบายพรรคเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจเลือก ถ้าเลือกแล้วได้บุคคลอื้อฉาว คอร์รัปชั่น หรือไม่มีความสามารถ เราก็ได้บทเรียนว่าด้วยการศึกษาประวัติความเป็นมาของตัวบุคคล"
"สำคัญก็คือ กระบวนการต้องต่อเนื่องและต้องก่อให้เกิดการเรียนรู้ว่า ทุกอย่างที่เราตัดสินใจลงไปในวันเลือกตั้ง ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเราในอีกหลายปีต่อไปข้างหน้า"
เขาเห็นด้วยกับข้อสังเกตของผมที่ว่า สำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้วการเลือกตั้งเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ไม่ใช่เรื่องระยะยาว นั่นทำให้ผลประโยชน์จำเพาะบางอย่างมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งนอกเหนือจากนโยบายที่ส่งผลต่อผู้ออกเสียงในระยะยาว
เขายืนยันว่า ในหลายประเทศก็เป็นไปในทำนองนี้ แม้แต่ในประเทศที่หลายๆ คนบอกว่าเป็น "ต้นแบบ" อย่างสหรัฐอเมริกาก็ตามที
แต่พวกเขามี "บทเรียน" พวกเขาเรียนรู้ และจดจำ และพร้อมที่จะใช้การเลือกตั้งแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในแง่นี้การเลือกตั้งก็คือ "อำนาจ" ของประชาชนทั่วไป
ถ้าคิดว่าตัวเองมีอำนาจ-อย่างน้อยที่สุดก็สามารถแก้ไขเรื่องผิด-ถูกในเขตเลือกตั้งของตนได้
คงไม่มีใครคิดจะปฏิเสธเลือกตั้ง ไม่อยากเลือกตั้ง หรือหมดหวังกับการเลือกตั้งแน่-เขาเชื่ออย่างนั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย