http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-24

ทบทวนประวัติศาสตร์: บนถนน 2475 ฯ โดย ณัฐพล พึ่งธรรม

.

เวทีอภิปราย “1 ปี เหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. 53 ความยุติธรรมที่หายไป
วันเสาร์ที่ 25 มิ.ย. 54 ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://ilaw.or.th/node/1025
www.facebook.com/event.php?eid=218672168164831


ทบทวนประวัติศาสตร์: บนถนน 2475 : ก่อนวันนั้นจะมาถึง

โดย ณัฐพล พึ่งธรรม


24 มิ.ย. 2554


บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อฉายภาพเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ คณะราษฎรได้ร่วมกันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จึงขอร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้ในวาระครบ 79 ปี การปฏิวัติ 2475 มา ณ โอกาสนี้

*****

ศตวรรษที่ 19 คลื่นจักรวรรดินิยมพร้อมทั้งกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงโลกตะวันออก สยามในฐานะ“รัฐกษัตริย์”ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เริ่มสั่นคลอนและจำต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถทัดทานกระแสทุนนิยมอันเป็นวิวัฒนาการของสังคมตะวันตกได้ก้าวไปถึงแล้ว

รัฐบาลสยามยอมเสียเปรียบลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในปี 2398 และได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกอีก 13 ประเทศ เข้ามาเจรจาทำสัญญาในแบบเดียวกัน นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สยามต้องรับมือกับคลื่นจักรวรรดินิยมและกระแสทุนนิยมที่ถาโถมเข้าใส่

ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 5 อธิปไตยของสยามถูกท้าทายอย่างมาก จนราชสำนักได้ตระหนักถึงความด้อยกว่าทั้งความรู้และความคิด จึงได้พยายามปรับตัวโดยจัดรูปแบบของรัฐใหม่ตามแบบแผนตะวันตกและไม่ลืมที่จะผสานจารีตการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำเอาไว้บางอย่าง

ในรัชสมัยนี้เองที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเข้าสู่สังคมสยามอย่างค่อนข้างชัดเจน เริ่มจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนางที่ไปศึกษาและปฏิบัติราชการในยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกในร.ศ.103(พ.ศ.2427) คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 5 มีสาระสำคัญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยเห็นว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นภัยคุกคามจากตะวันตกได้ และเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวว่า “แผ่นดินสยามเป็นของชาวสยามทั้งหมด”


รัชกาล ที่ 5 ทรงปฏิเสธและตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะหวงแหนอำนาจไว้เลย แต่ติดขัดที่สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะขาดคนมีความรู้ความสามารถและความกล้าที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อถ่วงดุลกับอำนาจบริหารที่ของกษัตริย์

ทว่าหลังจากนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามแนวทางของพระองค์เอง กล่าวคือ การสถาปนาอำนาจส่วนกลางภายใต้รัฐบาลแบบสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด มีอำนาจสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ คงสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชนเช่นเดียวกับยุคศักดินา และในสมัยนี้นอกจากกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังมีสามัญชนหัวก้าวหน้าอย่าง “เทียนวรรณ” และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิ ความเสมอภาค คนทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน ดังที่เทียนวรรณ ได้แต่งบทประพันธ์ขึ้นตอนหนึ่งว่า

“...ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย...”

แม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง แต่ก่อนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชดำรัสอันเปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาว่า "จะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์...จะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"



ถึงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จขึ้นครองราชย์ กล่าวได้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มิได้มีปรากฏการณ์ใดที่จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริง ทรงมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับรัฐตามแนวทางชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม ทรงริเริ่มตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้มีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวด้วย มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นของกษัตริย์และไม่ได้ตั้งใจก่อตั้งรูปการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง

ก่อนหน้านั้นช่วงต้นรัชกาลมีเหตุปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ขึ้นในจีน ตุรกีและโปรตุเกส เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลมาถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในสยาม นั่นคือ เหตุการณ์ รศ.130 กลุ่มนายทหารและปัญญาชนวางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้กษัตริย์พระราชทาน รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อนจึงถูกจับกุมเสียก่อน

หลังการก่อการครั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ยังทรงยืนยันหนักแน่นว่า ราษฎรยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “ระบอบกษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดนั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยามเพราะราษฎรไม่มีความรู้” พร้อมกับทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น “การปฏิวัติทั้งในจีนและโปรตุเกส เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะนำมาซึ่งความวุ่นวาย”


เหตุการณ์ปฏิวัติจีน ปี 1911 (พ.ศ.2454) ขบวนการปฏิวัติภายใต้การนำของดร.ซุน ยัตเซ็น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้เคยเดินทางเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเทศรวมทั้งสยาม ได้ปฏิวัติโค่นล้มอำนาจการปกครองระบอบจักรพรรดิของราชวงศ์ชิงได้สำเร็จและ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

ปี 2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังจากนั้นก็มีเหตุปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นอีกหลายประเทศ ทั้งในรุสเซีย เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่ภายในประเทศก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อสามัญชนเริ่มตื่นตัว และแสดงออกทางการเมืองกว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเสง ที่เผยแพร่โฆษณาความคิดเชิงประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลไม่พอใจถึงกับออกกฎหมายควบคุมและให้รัฐมีอำนาจสั่งปิดได้ นับเป็นกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย



ห้วงเวลาสู่วิกฤต

สถานการณ์ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ย่ำแย่ลงเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองที่รุมเร้าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และราชสำนักยิ่งซับซ้อนมากขึ้น สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของชาติตั้งแต่ พ.ศ.2465เป็นต้นมา งบประมาณแผ่นดินขาดดุลอย่างหนัก ต้นพ.ศ.2467 ใกล้สิ้นรัชกาล สถานการณ์ยิ่งทรุดหนัก และคนจำนวนหนึ่งได้พุ่งเป้าไปที่การใช้จ่ายเงินเกินตัวของราชสำนักเวลานั้น จนกระทั่งเงินคงคลังเหลือน้อยจนรัฐบาลเกือบอยู่ในสภาพล้มละลาย วิกฤตการณ์ในรัชสมัยนี้มีส่วนสำคัญต่อสถานะของระบอบกษัตริย์ที่กำลังสั่นคลอน

พันธบัตรที่รัฐบาลรัชกาลที่ 6 ออกจำหน่ายในตลาดยุโรป ปี 1922 (พ.ศ.2465) เพื่อกู้ยืมเงิน 2 ล้านปอนด์ มาใช้คืนเงินคงคลัง แก้ปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง ท่ามกลางภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนักช่วงปลายรัชกาล


เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสถียรภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มวิกฤต ดังเห็นได้จาก"บันทึกเรื่องการปกครอง" (23 กรกฎาคม-1สิงหาคม 2469) ที่ รัชกาลที่ 7 ทรงเขียนถึง ดร.ฟรานซิส บี แซร์(พระยากัลยาณไมตรี)อดีตที่ปรึกษาราชการต่างประเทศฯสมัยรัชกาลที่ 6 เนื้อความที่ปรากฏในบันทึกนี้สะท้อนถึงสถานะของราชสำนักสยามในเวลานั้นได้อย่างชัดเจน

"..ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด(รัชกาลที่ 6) หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายไปมาก เนื่องจากเหตุหลายประการซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเล่า ด้วยท่านเองก็ทราบดีแก่ใจเพียงพอแล้ว พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของข้าราชการบริพารคนโปรด ข้าราชการทุกคนถูกเพ่งเล็งมากบ้างน้อยบ้างในด้านฉ้อราษฎรบังหลวง หรือเล่นพรรคเล่นพวก ยังนับเป็นโชคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์ยังเป็นที่เคารพยกย่องว่า เป็นคนซื่อสัตย์ สิ่งที่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งคือ พระราชสำนักของพระองค์เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง และในตอนปลายรัชสมัยก็ถูกเลาะเลียนเยาะย้อย กำเนิดของหนังสือพิมพ์ฟรีเพสทำให้สถานการณ์ในขณะนั้นขยายตัวเลวร้ายมากขึ้น ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ระยะเวลาของระบอบเอกาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที..."

และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลสยามแก้ปัญหาขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมีการลาออกของเสนาบดี รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้าดุล จึงต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการพร้อมกับเก็บภาษีในรูปใหม่ซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรชาวนาก็อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ราคาข้าวและราคาที่ดินตกต่ำอย่างมาก ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรังและเกิดอัตราว่างงานสูง

แม้ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่ถึงกระนั้นเจ้านายและชนชั้นสูงยังคงดำรงสถานะที่สูงส่งเช่นเดิม ด้วยแนวคิดของระบบเจ้านายต้องผดุงไว้ซึ่งขัตติยะ เพราะหากมีเรื่องใดเสื่อมเสียมากระทบชนชั้นเจ้านาย ย่อมส่งผลต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ด้วย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานเงินให้แก่ชนชั้นเจ้าอย่างเพียงพอ


สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงมากขึ้น “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่คุ้นเคยกันทั่วไปอย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชน เวลานั้นมีกระแสข่าวว่า รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดก็มิได้เกิดขึ้น พระองค์ทรงแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีเดิม คือ “การปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะทรงเห็นว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบฉบับพระบิดานั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด”

ถึงปี 2474 รัชกาลที่ 7 ทรงมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาร่างเค้าโครงธรรมนูญเพื่อเตรียมไว้ว่า อาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ในโอกาสครบ 150 ปีราชวงศ์จักรี หากแต่เค้าโครงธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์และขุนนางเสนาบดีเช่นเดิม เพราะไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปจากสถาบันกษัตริย์ มิใช่ธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม ดังเห็นได้จากที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของร่างฯฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์" แต่แล้วการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปพร้อมๆกับโอกาสของสยามที่จะมีระบอบรัฐสภา


ขบวนการคณะราษฎร

ทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในยุโรป มีเจตนาตรงกันคือต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้เริ่มประชุมกันครั้งแรกตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2469 ณ กรุงปารีส และตกลงกันใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นแผนการที่หลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คืออังกฤษและฝรั่งเศส

หลังการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาประเทศสยาม ก็พยายามเสาะหาสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิวัติ จนได้สมาชิกจากหลากหลายอาชีพ

สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
สายทหารเรือ นำโดย น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย
สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม
และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา

เมื่อจัดตั้งขบวนการสำเร็จเป็นรูปร่าง คณะราษฎรได้ประชุมเตรียมการหลายครั้ง แต่ได้ล้มเลิกแผนการบางแผน เช่น การยึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 16 มิถุนายน เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะปฏิบัติการในรุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนในกรุงเทพ ทำให้สามารถเข้ายึดอำนาจโดยหลีกเลี่ยงการปะทะที่เสียเลือดเนื้อได้ เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้น



ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475

ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบกและทหารเรือประมาณ 2,000 ชีวิต มารวมตัวกันรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ด้านสนามเสือป่า ดังปรากฎในทุกวันนี้มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน เป็นหลักฐานติดตรึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ มีข้อความจารึกว่า

"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"


คณะราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัยไปอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้เสด็จนิวัติพระนคร โดยเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปได้ แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ที่ตามเสด็จและได้ตัดสินพระทัยตกลงตามเงื่อนไขของคณะราษฎร

เมื่อเสด็จกลับถึงวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร 7 คน ได้เดินทางนำเอกสารสำคัญไปกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ที่เป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของราษฎร ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า

"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"


--------------------------------
ฯลฯ



.