http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-12

อาจารย์ชาญวิทย์ฯ และ ครูเบ็นฯ (1) (2) โดย เกษียร เตชะพีระ

.
อาจารย์ชาญวิทย์กับวิกฤตการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.


(เรียบเรียงจากคำกล่าวเกริ่นนำปาฐกถาของผู้เขียนในงาน "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ที่หอประชุมศรีบูรพามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 7 พฤษภาคม ศกนี้)

*อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ถึงแม้จะเหนื่อยล้าจากเพิ่งตรวจข้อสอบปลายเทอมเสร็จ แต่พอคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่ง นิตยสารฟ้าเดียวกัน ออกปากเชิญชวนให้มาร่วมปาฐกถาในโอกาสอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อายุครบ 70 ปี ผมก็ตอบรับทำให้โดยไม่ลังเล

ทั้งนี้เพราะอาจารย์ชาญวิทย์เป็นครู 1 ใน 4 ท่าน ที่เปลี่ยนวิธีมองโลกของผม

ยิ่งกว่านั้นในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอันดุเดือด แหลมคม รุนแรงรอบหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ชาญวิทย์ยังเป็นหลักยึด-ที่พึ่ง-และแบบอย่างของอาจารย์นักวิชาการและปัญญาชน รุ่นลูกศิษย์หลานศิษย์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสังคมไทยที่กว้างออกไป

ที่อาจารย์เป็นเช่นนั้นได้ในขณะที่ครูบาผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยพากันเขว ผมเห็นว่า เพราะมีหลัก 3 ประการที่ท่านยึดไว้มั่นคง

กล่าวคือ: -

1) เป้าหมายทางการเมืองที่สุดโต่งนั้นทำลายมากกว่าสร้างสรรค์

เราอาจสกัดกลั่นข้อเขียนคำอภิปรายและสัมภาษณ์หลายครั้งในระยะหลังของอาจารย์ชาญวิทย์ที่เน้นความสำคัญของการประนีประนอมปรองดอง "เกี๊ยะเซี๊ยะหรือสมานฉันท์" แทนการแตกหัก (อาทิ www.prachatai.com/journal/2009/08/25534 และ www.prachachat.net/ view_news.php?newsid=02pol01270553§ionid=0202&day=2010-05-27) ได้ว่า....

ต่อให้เป็นเป้าหมายการเมืองที่ดี แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นเอาไว้แต่เพียงเป้าเดียว โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายการเมืองอันดีงามอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด เช่น

จะเอาแต่ประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ

จะเอาแต่ต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยไม่คำนึงถึงประชาธิปไตย

จะปกป้องสถาบันหลักของบ้านเมือง แต่ไม่คำนึงถึงสิ่งดีงามอื่นๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่ระเบียบการเมืองหนึ่งๆ พึงมี ...เสียแล้ว

สุดท้ายมันจะส่งผลทำลายเสียหายต่อบ้านเมือง มากกว่าจะสร้างสรรค์สิ่งดีงามขึ้นมา เพราะลักษณะของชีวิตทางการเมืองที่เป็นจริงนั้นมันเป็นพหูพจน์

การเมืองจึงเป็นเรื่องของการพยายามหาจุดประนีประนอมที่ลงตัวระหว่างเป้าหมายการเมืองต่างๆ อันหลากหลาย แทนที่จะสะวิงสุดโต่งสุดขั้วแตกหักไปทางหนึ่งทางเดียว


2) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย

ในระยะที่ผ่านมา พลังการเมืองบางฝ่ายไม่เลือกวิธีการที่ใช้ ไม่ว่ารัฐประหาร, ใช้ความรุนแรง, ก่อการร้าย, โกหกหลอกลวงใส่ร้ายป้ายสี, ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างจากตัว เพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตนเห็นว่าถูกต้องดีงาม

แต่ในที่สุดแล้วการณ์กลับตาลปัตรเป็นว่าวิธีการอันเลวร้ายนั้นได้ไปทำลายเป้าหมายดังกล่าวลงหมด ยกตัวอย่างเช่นรัฐประหาร 19กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค.

คปค. กล่าวอ้างว่าที่ก่อรัฐประหารก็เพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น, เพื่อรักษาความรู้รักสามัคคีในหมู่คนไทย, และเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ทว่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา คอร์รัปชั่นหมดไปจากวงการรัฐบาลหรือ?

คนไทยรักสามัคคีกันมากขึ้นหรือ?

สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร? ด้วยวิธีการรัฐประหาร


สำหรับอาจารย์ชาญวิทย์การยึดมั่นสันติวิธีและการเจรจาหาทางออกด้วยความรู้และเหตุผล ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งในประเทศเราเอง จึงเป็นสาระสำคัญกว่าเป้าหมายเรื่องดินแดนหรือ "อำนาจอธิปไตย"ใด ๆ (อาทิ http://matichon.co.th/mtc-flv-window.php?newsid=1297138809 และ www.oknation.net/blog/piggylin/2011/02/18/entry-4)


3) คำโกหกใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นไม่ยั่งยืน

ในระยะที่ผ่านมานักวิชาการผู้พยายามยึดหลักวิชา ตั้งตนอยู่ในความเที่ยงธรรม มักถูกด่าว่า โจมตีใส่ร้ายป้ายสีจากพลังการเมืองที่ขัดแย้งกันฝ่ายต่างๆ อย่างดุเดือดเลวร้าย รุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยผ่านสื่อสารมวลชนที่อยู่ในมือของพวกเขา ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี เว็บไซต์ หรือบนเวทีชุมนุมอภิปรายต่างๆ จากข้างถนน, ห้องประชุมไปจนถึงกลางรัฐสภา (อาทิ www.prachatai.com/journal/2006/11/10711, www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000054643)

ในฐานะอาจารย์อาวุโสและอดีตอธิการบดีผู้มีฐานะบทบาทสำคัญ อาจารย์ชาญวิทย์จึงค่อนข้างโดนโจมตีหนักหน่วงเป็นพิเศษ (อาทิ www.prachatai3.info/journal/2007/05/12828, www. prachatai.com/print/18167 และ www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000023205)


ท่ามกลางสรรพศัพท์สำเนียงระเบ็งเซ็งแซ่ดังกล่าว ผมพบว่าวิธีอยู่กับมันก็คือทำใจเสียว่า
ถ้าอะไรจริง แม้ไม่มีใครพูดถึงเขียนถึง มันก็จริง
แต่ถ้าอะไรไม่จริง ต่อให้เอาไปพูดไปเขียนกันเลอะเทอะวุ่นวาย มันก็ไม่จริงขึ้นมาได้
หากมองเช่นนี้ได้ ใจเราก็จะค่อยสงบเยือกเย็นลง
และปล่อยให้ความจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ในท้ายที่สุดว่า ระหว่างอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการ และเจ้าพ่อสื่อผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายนั้น ประวัติศาสตร์จะพิพากษาว่าอย่างไร?


ผมคิดว่าบทเรียนที่เราพอสรุปได้จากบทบาทและประสบการณ์ของอาจารย์ชาญวิทย์กับวิกฤตการเมืองไทยรอบหลายปีที่ผ่านมาก็คือ

พลังการเมืองใดละทิ้งหลักการ 3 ข้อข้างต้นนั้น
ถึงชนะใหญ่โตก็ชั่วครู่ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน
รังแต่จะพ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ เสื่อมถอย แตกแยก หดเล็กลงในระยะยาว (www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1297584699&grpid=no&catid=04, http://news.mthai.com/ headline-news/112145.html และ www.bangkokpost.com/print/234122/)

ดังที่เราเห็นกันอยู่ว่าถึงขั้นใช้วิธีการอันเลวร้ายที่เคยทำกับคนอื่นมาเล่นงานทำลายพวกพ้องเดียวกันเองแล้วตอนนี้ (www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304654083&grpid=no&catid=&subcatid=)

และน่าเชื่อว่าสุดท้ายวิธีการเลวร้ายดังกล่าวก็จะย้อนมาทำลายตัวผู้ใช้เองในที่สุด!



++

ครูเบ็นมองไทยศึกษา ( 1 ) : หลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงก่อน 14 ตุลา
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น


วารสาร Philippine Studies สังกัด Ateneo de Manila University ปีที่ 59 ฉบับที่ 1 (ค.ศ.2011) ได้ลงบทสัมภาษณ์ขนาดยาวกว่า 30 หน้าของครูเบ็น หรือเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านนานาชาติศึกษา คณะการปกครองและเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยลูกศิษย์ลูกหานักวิชาการชั้นนำชาวฟิลิปปินส์ได้แก่ Filomeno Aguilar, Caroline Hau, Vicente Rafael, และTeresa Tadem ร่วมกันเขียนคำถามส่งไปแล้วครูเบ็นตอบมาทางอี-เมล ภายใต้ชื่อเรื่อง เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, กล่าวโดยเปรียบเทียบ:ว่าด้วยอาณาบริเวณศึกษา, ทฤษฎี และวิวาทะ "ฉันสุภาพชน" หน้า 107-139


ในฐานะนักวิชาการชั้นนำเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ชาตินิยมและไทยศึกษา ผู้ติดตาม สังเกตค้นคว้าสังคมการเมืองและวัฒนธรรมไทยมาร่วม 4 ทศวรรษ อีกทั้งมีลูกศิษย์หลานศิษย์ พรรคพวกเพื่อนฝูงกระจายเกลื่อนวงวิชาการบ้านเรา จึงน่าสนใจว่าครูเบ็นกลั่นทรรศนะและประสบการณ์ของครูเกี่ยวกับแวดวงวิชาการและสังคมการเมืองไทยออกมาว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งผมขอนำบางประเด็น ที่น่าสนใจมาถ่ายทอดดังต่อไปนี้: -


อาณาบริเวณศึกษา, กรณีประเทศเดียวต่างๆ

ประเทศไทย/สยาม ผมคิดว่าในกรณีนี้เรื่องมันเป็นไปในทิศทางกลับตาลปัตรตรงข้ามกับอินโดนีเซียศึกษา ความจริงที่ว่าประเทศนี้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นโดยตรงได้ก่อปัญหาหลายอย่างให้พวกนักวิจัย (ต่างชาติ) รุ่นแรกๆ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาจดหมายเหตุของประเทศนี้ในกรณีที่พอจะเข้าถึงได้ส่วนใหญ่ก็มักเป็นภาษาไทยและเขียนด้วยอักขระวิจิตรพิสดารที่ไม่เป็นระบบระเบียบแน่นอน ซึ่งไม่ใช่อักษรโรมัน ไม่มีจดหมายเหตุกองมหาศาล "จากยุคอาณานิคม" ให้ค้นได้ โดยง่ายในฮอลแลนด์, ฝรั่งเศส, อังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาเหมือนประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จึงแทบนึกไม่ออกว่าจะมีนักวิชาการไทยคดีศึกษาชาวต่างชาติซึ่งมีผลงานเทียบเคียงได้กับหนังสือดีที่สุดเกี่ยวกับอินโดนีเซียอยู่ที่ไหนบ้าง

ยกเว้นงานที่ทยอยตีพิมพ์ออกมาไม่ขาดสายของ อิฌิอิ โยะเนะโอะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้เพิ่งล่วงลับไป ซึ่งเขียนงานออกมาทั้งในภาษาไทยและญี่ปุ่น


ระหว่างช่วงสงครามเย็นเมื่อระบอบอำนาจนิยมต่างๆ ในสยามเป็นพันธมิตรที่อ้าขาผวาปีก ของทางการวอชิงตัน ความที่นักวิชาการต่างชาติส่วนใหญ่กลัวจะไม่ได้วีซ่าเข้าไทย ก็เลยมักเลือกเขียนเรื่องที่จืดชืดไม่ชวนทะเลาะกับใคร

ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ยกมาข้างต้น จึงพอกล่าวได้โดยชอบว่า "ไทยศึกษา" ที่อยู่นอกประเทศไทยนั้นไม่เคยเข้มแข็งเลย และการพัฒนา "ไทยศึกษา" ก็เลยตกเป็นภาระของคนไทยเอง

ตรงนี้เองที่เกิดสภาพปฏิทรรศน์ย้อนแย้งกันเมื่อเปรียบเทียบกรณีสยามกับอินโดนีเซีย กล่าวคือจนกระทั่งปี ค.ศ.1965 นั้น พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่โตมโหฬารที่สุดนอกค่ายสังคมนิยม มีผู้สนับสนุนหลายล้าน ทว่ากลับไม่ยักผลิตนักวิชาการที่จริงจัง ออกมาได้เลยสักคน

เมื่อเปรียบกับสยามแล้วกลับแตกต่างตัดกัน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งเล็กกระจ้อยร่อย อยู่ในฐานะผิดกฎหมายและก่อตั้งทีหลังนั้น กลับดึงดูดมันสมองที่เฉียบแหลมที่สุดของประเทศมาไว้ในแวดวงของตนได้อย่างน้อยสองรุ่น

รุ่นแรกแห่งคริสต์ทศวรรษที่ 1950 นั้นรวมถึงคนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ อัจฉริยะสมัยใหม่คนแรกของสยาม ผู้ผลิตชุดผลงานที่มีลักษณะปฏิวัติ (แบบมาร์กซิสต์) อันน่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, วรรณคดีไทย, ความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านในสมัยก่อน,ภาษาไทย, รวมทั้งสภาพการเมืองร่วมสมัยออกมาในเวลาอันสั้นยิ่ง ก่อนที่เขาจะถูกคุมขังและต่อมาภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วก็ถูกสังหารโดยกองกำลังรัฐบาลเมื่อปี ค.ศ.1966

หนังสือเล่มโด่งดังที่สุดของเขาตั้งชื่อเอาไว้อย่างอาจหาญว่า "โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน"


งานเหล่านี้ทั้งหมดถูกสั่งห้ามโดยระบอบทหารของจอมพลสฤษดิ์และทายาท ทว่ามันก็เริ่มรั่วไหลออกมาหลัง ค.ศ.1970 เมื่อระบอบดังกล่าวเสื่อมทรุดลง ตลกร้ายสะใจก็คือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นตัวการหลักปล่อยหนังสือต้องห้ามเหล่านี้ให้รั่วไหลออกมาได้แก่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์

วารสารภูมิปัญญาฉบับนี้ก่อตั้งโดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนความเรียง นักวิจารณ์สังคมและกบฎโดยธาตุแท้ผู้ขึ้นชื่อลือเลื่องเป็นตำนาน มันถูกมุ่งหมายให้ออกมาเป็นคู่แฝดกับวารสาร Solidaridad ของ แฟรงกี้ โฮเซ่ ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยอเมริกันหนุนหลังให้ก่อตั้งวารสารทั้งสองขึ้น และมองว่ามันล้วนต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม สุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้รับช่วงวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ สืบต่อจากสุลักษณ์ ก็ได้ประโยชน์ใหญ่หลวงจากแหล่งสนับสนุนทางภูมิปัญญาที่เหนือความคาดหมาย

กล่าวคือตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้จัดแจงให้หนุ่มสาวชาวไทยหลายร้อยคน ไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งต่างๆ โดยคิดจะทำให้พวกเขากลายเป็นแบบอเมริกันและสนับสนุนการครองโลกของอเมริกา

ทว่าจังหวะไม่ค่อยดีเนื่องจากในคริสต์ทศวรรษที่ 1960 สหรัฐกลับตกอยู่ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายใหญ่ทางการเมืองและสังคม เนื่องจากมาร์ติน ลูเธอร์ คิง กับคนอื่นๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวแอโฟร-อเมริกัน, คลื่นใหม่อันทรงพลังของคตินิยมสิทธิสตรี, การปฏิวัติความสัมพันธ์ทางเพศในบางลักษณะ,และเหนือสิ่งอื่นใดคือสงครามอันวินาศสันตะโรในเวียดนามซึ่งประเทศไทยถลำลึกเข้าไปพัวพันด้วย

หนุ่มสาวชาวไทยมากหลายจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในกระแสอันคึกคะนองเร้าใจนี้ แถมยังเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะปริมาณมหาศาลเกี่ยวกับสงครามเวียดนามซึ่งได้มาจากการไต่สวนของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาของวุฒิสมาชิกฟุลไบรท์, พวกผู้สื่อข่าวใจกล้าและแหล่งอื่นๆ มิช้านานพวกเขาก็เริ่มส่งเอกสารและเขียนบทความจากสหรัฐซึ่งเป็นแหล่งพักพิงอันปลอดภัยกลับมายังเมืองไทย เพื่อต่อต้านระบอบทหารและการสยบยอมต่อทางการวอชิงตันอย่างโง่เขลาของระบอบนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนิกสันกับเหมาทำข้อตกลงกันอย่างสบายใจโดยไม่ปรึกษาหรือบอกกล่าวรัฐบาลไทยล่วงหน้า มันสำคัญด้วยเหมือนกันที่ที่นี่เป็นช่วงซึ่งหนังสือมาร์กซิสต์ที่ตีพิมพ์ในสหรัฐ ไม่ใช่ในมอสโกหรือปักกิ่ง ท่วมทะลักเข้ามาในเมืองไทย และส่งผลกระทบจริงจังด้วยอีกทางหนึ่ง

งานเขียน "ของนักศึกษา" เหล่านี้ส่วนใหญ่ไปลงเอยอยู่ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ต่อจากนั้น ครูอาจารย์ ผู้สื่อข่าวและนิสิตนักศึกษาวัยหนุ่มสาวก็เริ่มประพันธ์บทความอันละเอียดพิสดารเกี่ยวกับอาชญากรรมของทหาร, ผลสืบเนื่องทางสังคมของการที่เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐ 48,000 นาย มาอยู่บนแผ่นดินไทย, การทิ้งระเบิดลับในลาวและกัมพูชา, ธุรกิจโสเภณีที่ขยายตัวออกไปอย่างไพศาลและกลายเป็นแบบอุตสาหกรรม, การกดขี่ชนส่วนน้อยเผ่าต่างๆ ฯลฯ

อนึ่ง พึงเข้าใจว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์ นั้นไม่ใช่วารสารวิชาการ แต่เป็นวารสารสาธารณะ "สำหรับใครก็ได้" โดยแท้ และมันส่งอิทธิพลมหาศาลต่อนักศึกษาสมัยนั้น

ปัญญาชนสาธารณะผู้มีชื่อเสียงในช่วง ค.ศ.1980-2010 เกือบทั้งหมดล้วนก่อตัวขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1968-1976 อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้มีลักษณะต้นแบบเริ่มแรกที่สุดของประเทศ, เกษียร เตชะพีระ "นักรัฐศาสตร์" ฝีปากคม, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้จัดพิมพ์งานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์อันดับหนึ่ง, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาและนักวิจารณ์สังคมและคนอื่นๆ อีกมากมาย

(ยังมีต่อ)


+

ครูเบ็นมองไทยศึกษา ( 2 ) : จาก14ตุลาฯถึงปัจจุบัน
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


{ * ครูเบ็นหรือศาสตราจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน
* คัดสรรเรียบเรียงจากบางตอนของบทสัมภาษณ์ "Benedict Anderson, Comparatively Speaking: On Area Studies, Theory, and Gentlemanly? Polemics", Philippine Studies, 59: 1 (20), ( 107 - 139 ) ต่อจากตอนต้นเมื่อสัปดาห์ก่อน: - }


ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1973 ระบอบทหารก็พังทลายลงเบื้องหน้าการชุมนุมแสดงพลังขนาดยักษ์ และสองปีครึ่งถัดจากนั้นประเทศไทยก็ได้ประสบพบกับประชาธิปไตยจริงๆ เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย พรรคสังคมนิยมสองพรรคชนะเลือกตั้งเข้าสภาด้วยจำนวนที่นั่งมากพอควร เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน สหภาพแรงงานและองค์การชาวนาแพร่ขยาย สื่อสิ่งพิมพ์ ค่อนข้างเสรี ฯลฯ

แต่แล้วถึงปลายปี ค.ศ.1976 หลังสหรัฐพ่ายหนีจากเวียดนาม และสามชาติอินโดจีนตกอยู่ใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ นักศึกษาหลายคนถูกฆ่าอย่างสยดสยอง และอีกมากหลายกว่านั้นหนีเข้าไปอาศัยการคุ้มครองของพคท.ใต้ดิน หรือในป่าเขา

แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะเวียดนามรุกรานกัมพูชาและโค่นระบอบพอลพตลง แล้วจีนก็แก้เผ็ดโดยพยายามรุกรานเวียดนามบ้าง (แต่ไม่สำเร็จ) ทางการปักกิ่งจึงต่อรองตกลงกับทางการกรุงเทพฯ และหยุดสนับสนุน พคท.อย่างจริงจัง


จังหวะเดียวกันนั้น พคท.ก็พลอยถูกถีบส่งออกจากฐานที่มั่นในลาวและกัมพูชาด้วย ส่งผลให้ พคท.ถึงแก่แตกสลายและระบอบทหารใหม่ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างชาญฉลาดให้แก่บรรดาผู้ยอมวางอาวุธ

ฉะนั้นเอง ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 นักศึกษาเอียงซ้ายรุ่นเยาว์จำนวนมากจึงออกเดินทางไปเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาในยุโรป,ออสเตรเลีย, และสหรัฐอเมริกาเพื่อเลียแผล และครุ่นคิดหาสาเหตุของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับตน เกษียรกับเสกสรรค์ซึ่งเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ทั้งคู่ได้ผลิตวิทยานิพนธ์ที่เป็นต้นแบบแรกเริ่มออกมา



เสกสรรค์ศึกษาการเงินการคลังของในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็นพระมิ่งขวัญของฝ่ายนิยมอนุรักษ์ และสามารถแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจร่วมกับจักรวรรดิอังกฤษลึกซึ้งเพียงใด ขณะที่พวกต่อต้านทุนนิยมอังกฤษอย่างจริงจังนั้น กลับมาจากชนชั้นพ่อค้า "นายหน้า" เจ๊กที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ว่าไม่ใช่ไทยแท้

ส่วนเกษียรก็เขียนงานศึกษาแฝงนัยอันหลักแหลม (ตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา) เกี่ยวกับนักเขียนและผู้พิมพ์หนังสือมาร์กซิสต์ในประเทศไทยช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 และ 1950 ที่ออสเตรเลีย ธงชัย วินิจจะกูล เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้น ซึ่งไประบือลือเลื่องเมื่อตีพิมพ์ (ที่สหรัฐ) ในเวลาต่อมาภายใต้ชื่อ Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation

ธงชัยเองเคยถูกไต่สวนคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายหลังเหตุปราบปรามนองเลือด 6 ตุลาคม ค.ศ.1976 ไม่นาน

(ในตอนท้ายธงชัยย้ายไปสอนที่สหรัฐอเมริกา ทว่าไม่อาจทำอะไรเพื่อไทยศึกษาที่นั่นได้มากนัก ส่วนเสกสรรค์กับเกษียรกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเขียนหนังสือ บทความ ความเรียง ไหลหลากออกมามากมายตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับต่างๆ ถึงทุกวันนี้)


ภายหลังวิกฤตการเงินตกดิ่งในปี ค.ศ.1997 อันส่งผลกระทบอย่างมหันต์ต่อชนชั้นผู้มีทรัพย์ในประเทศไทย วิกฤตความชอบธรรมที่ใหญ่โตกว่าก็เริ่มพัฒนาขึ้นมา ซึ่งยังคงลุกลามลุ่มลึกยิ่งขึ้นในขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ นับเป็นบุคลิกแบบฉบับของสังคมวัฒนธรรมไทย ที่วารสารน่าสนใจที่สุดสองฉบับในประเทศทุกวันนี้ ได้แก่ ฟ้าเดียวกัน (ว่าด้วยการเมืองและประวัติศาสตร์เป็นหลัก) และอ่าน (ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรมและสังคม) ซึ่งต่างก็ไม่ใช่วารสารวิชาการ หากพุ่งเป้าไปที่สาธารณชนผู้รอบรู้ โดยหลีกเลี่ยงภาษาเฉพาะวงวิชาการ ไม่ว่าอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ต่างก็ไม่มีวารสารประเภทนี้ซึ่งสืบทอดโดยตรงจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์

สุดท้ายที่ควรต้องเอ่ยถึงคือทีมคู่สามีภรรยาผู้ปราดเปรื่อง อันได้แก่ คริส เบเกอร์ (นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ) กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร(นักเศรษฐศาสตร์ไทยแหวกแนวหัวก้าวหน้า) ผู้ได้ตีพิมพ์บรรดาหนังสือดีที่สุดหาใครเทียบมิได้ในภาษาอังกฤษเกี่ยวกับประเทศไทยยุคหลัง 1997


จุดอ่อนของไทยศึกษายุคปัจจุบัน

จุดอ่อนที่เห็นชัดที่สุดได้แก่ผลของกฎหมายที่มุ่งเอาโทษอย่างเข้มงวดกวดขันในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้แต่นักเขียนที่มีทรรศนะเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนที่สุด ก็ยังต้องระมัดระวังมากเมื่อเขียนถึงพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทฐานภาพนักการเมือง

หนังสือเพียงเล่มเดียวที่ว่าด้วยเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงต้องเขียนขึ้นโดยผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล

ระบอบปกครองไทยทุ่มแรงกดดันมหาศาลให้ทางมหาวิทยาลัยเยลเลิกพิมพ์หนังสือเล่มนี้เสีย

แต่เป็นโชคเคราะห์ที่ทางเยลขัดขืนไม่ยอมตาม หนังสือเล่มนี้ต้องห้ามในเมืองไทย แม้ว่าจะมีฉบับภาษาไทยเผยแพร่ใต้ดินอย่างกว้างขวางรวมทั้งทางอินเตอร์เน็ต


.