http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-26

ประวัติศาสตร์ อำนาจ และความทรงจำในวาระครบรอบ 79 ปี "24 มิ.ย. 2475"

.

ประวัติศาสตร์ อำนาจ และความทรงจำ ในวาระครบรอบ 79 ปี "24 มิ.ย. 2475"
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 09:30:00 น.


24 มิถุนายน พุทธศักราช 2554 79 ปีให้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร นิสิตกลุ่มเล็กๆ ในนาม "ชมรมประวัติศาสตร์" คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “24 มิถุนา: ประวัติศาสตร์ อำนาจ และความทรงจำ” โดยมี ดร. ณัฐพล ใจจริง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมด้วย นายณัฐวร ตรีพรชัยศักดิ์ นิสิตกลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน เป็นผู้ร่วมเสวนา ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



ดร. ณัฐพล กล่าวว่า ภาพทิวทัศน์ทางประวัติศาสตร์ไทยในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ถูกบิดเบือนให้กลายเป็น "ทัศนะอุจาด" บนภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม โดยชนชั้นนำจากระบอบเก่า

นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฏรยังได้ถูกความพยายามที่จะฝังกลบความทรงจำดังกล่าวโดยกลุ่มรอยัลลิสต์ เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในนวนิยายเรื่องโด่งดังอย่าง "สี่แผ่นดิน" ซึ่งเป็นนวนิยายที่สะท้อนให้เห็นถึงความ "มลังเมลือง" ของชีวิตในวังในสมัยการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีกลิ่นอายของความ "ถวิลหาอดีต" ซึ่งในที่นี้หมายถึงการปกครองในระบอบเก่า

นอกเหนือไปจากกลุ่มรอยัลลิสต์แล้ว กลุ่มมาร์กซิสต์ ก็ร่วมด้วยช่วยกันในการฝังกลบความทรงจำดังกล่าว ด้วยการโจมตีว่า การปฏิวัติ 2475 นั้น "เป็นการปฏิวัติของพวกกระฎุมพี" เป็นต้น การปฏิวัติแบบครึ่งๆกลางๆ หรือการให้ภาพว่าการปฏิวัติ 2475 เป็นการปฏิวัติของทหารบ้าง เป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" บ้าง

แต่ภายหลัง พ.ศ. 2520 หรือหลังสมัย "ป่าแตก" ได้มีการขุดแต่งบูรณะประวัติศาสตร์ 2475 เสียใหม่ มีการเริ่มพูดถึงการปฏิวัติ 2475 ในแง่บวกมากขึ้น มีการเริ่มโจมตีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ 2475 ของมาร์กซิสต์ มีการจัดงาน "ฉลอง 50 ธรรมศาสตร์" และการจัดงาน "วันเกิด" ให้กับการปฏิวัติ 2475 รวมทั้งมีการท้าทายงานประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบเดิม ซึ่งจะเห็นได้ในงานของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือธงชัย วินิจจะกูล

ต่อมาในปัจจุบัน การปฏิวัติ 2475 ได้ถูกนำมาขยายต่อและถูกฟื้นฟูให้มีสถานะที่สูงขึ้น โดยการปฏิวัติ 2475 ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และกลายเป็นภาพสกรีนบนเสื้อยืดที่ขายและสวมใส่กันในการชุมนุมของคนเสื้อแดง การปฏิวัติ 2475 ได้ปรากฏขึ้นบนถนนราชประสงค์ และตามหัวเมืองใหญ่น้อยในอีสานและภาคเหนือ และหลังรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 กลุ่มที่ต่อต้านและประชาชนที่ไม่พอใจการรัฐประหารได้หันมาให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 มากยิ่งขึ้น



ดร. เกษม กล่าวว่า จากการที่ตนไปสำรวจ "เรื่องเล่า" การปฏิวัติ 2475 ในเวอร์ชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาฯ หรือตามเว็บไซต์อื่นๆ ก็ดี ตนพบว่า ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้านั้นมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไทยทุกอย่าง ยกเว้นแต่ ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 หรือในตำราเรียนหรือในเว็บไซต์ส่วนใหญ่นั้น เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวจะจบแบบ "ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อ และบ้านเมืองต้องได้รับความเสียหาย อีกทั้งพระองค์เองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ทรงขัดความปรารถนาของคณะราษฎรที่ได้กราบบังคมทูลเชิญเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ"

ซึ่งจากเรื่องเล่าดังกล่าวที่ว่ามาทำให้เห็นว่า การสร้างความรับรู้และความเข้าใจในการ 2475 ในปัจจุบันนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป โดยวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นถูกลดทอนคุณค่าและไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ หากแต่วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่พระปกเกล้าฯทรงพระราชธรรมนูญฉบับถาวรกลับถูกหยิบยกมาให้ความสำคัญแทน นอกจากนี้ ตัวเอกในเรื่องเล่าดังกล่าวก็มิใช่กลุ่มคณะราษฎรแต่อย่างใด

ดร. เกษม ยังได้พูดถึงประเด็นทางวัฒนธรรมบนถนนราชดำเนิน ว่าสถาปัตยกรรมเชิงกายภาพของการปฏิวัติ 2475 นั้นได้ถูกไล่รื้อและเปลี่ยนแปลงไปเป็น "ศิลปะแบบจารีต" แทน เช่น ความพยายามทำให้ถนนราชดำเนินกลายเป็นถนน "ชองป์เซลิเซ่" รวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนวันชาติในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ดร. เกษม กล่าวปิดท้ายในตอนหนึ่งว่า "ผมคิดว่า ความเข้าใจในวันที่ 24 มิถุนาและคณะราษฎร เป็นความเข้าใจที่ถูกจัดวางให้เป็นผู้ร้ายในการเมืองไทย"



นายณัฐวร นิสิตจุฬาฯ กล่าวถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสายตาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า การรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่นั้นมีช่องทางหลักอยู่ที่ตำราที่ใช้ในห้องเรียน และจากสถาบันการศึกษา ซึ่งการเรียนในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยก็มิใช่การเรียนประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์ หากแต่เป็นการเรียนแบบท่องจำตามตำราประวัติศาสตร์ของทางราชการ และแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเองก็ตาม จนทำให้เกิดความสงสัยว่า บางที มหาวิทยาลัยก็ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งที่รับใช้อุดมการณ์ของฝ่ายอำนาจนิยมเองด้วยซ้ำ

อนึ่ง แม้ว่าหลายคนจะไม่ค่อยแน่ใจนักว่า "หมุดคณะราษฏร" ที่ฝังอยู่กับพื้นลานพระบรมรูปทรงม้า คือสัญลักษณ์ของวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือจะเป็นเพียง "ฝาปิดท่อน้ำ" อย่างที่นิสิตคนหนึ่งกระทบกระเทียบไว้หรือไม่ก็ตาม แต่ภายในห้องสัมมนาเล็กๆบนอาคารเรียนชั้น 5 คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ก็ได้พยายามที่จะหยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์ดังกล่าวขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง

ท่ามกลางความเงียบงันของประวัติศาสตร์ ที่กำลังถูกกาลเวลาและอำนาจทางการเมืองลบเลือนหายไป


+ + + +

บทความช่วงรำลึก 79 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกำเนิดรัฐธรรมนูญไทย 2475

ผังล้มเจ้า โดย ฐากูร บุนปาน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306847208&grpid=no&catid=02&subcatid=0207
นโยบายสาธารณะเพื่อความสุข...สิ่งที่ขาดหาย ! โดย ดร. เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308731306&grpid=&catid=02&subcatid=0200
รู้จัก "พระยาสุริยานุวัตร" ผู้เขียน "หนังสือต้องห้าม" และผู้ปฏิเสธสินบนจากรัสเซีย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308645366&grpid=&catid=02&subcatid=0202
สโลแกน ดีแต่พูด ความสำเร็จทาง "สังคม" ในการจุดกระแส
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308916362&grpid=&catid=02&subcatid=0207
นายกรัฐมนตรีที่หายไป โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308915736&grpid=no&catid=02&subcatid=0207

.