.
จาก "พิมพาพิลาป" ถึง "มะเมียะ" ตำนานการสยายเกศาเช็ดฝ่าบาท
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1606 หน้า 77
ในบรรดาใบสีมาแกะสลักด้วยหินทราย ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นนั้น ไม่มีชิ้นไหนโดดเด่นมากเท่ากับชิ้นที่มีชื่อว่า "พิมพาพิลาป" เหตุเพราะแสดงภาพการสยายเส้นผมของนางพิมพาหรือยโสธราที่ประจงเช็ดแทบเบื้องบาทเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งกลายสภาพเป็นสมณเพศแล้วอย่างอ้อยสร้อย
ภาพนี้ชวนให้นึกถึงนิยายรักรันทดของ "มะเมียะ" ที่ "จรัล มโนเพ็ชร" คีตกวีล้านนา จำลองฉากและชีวิตจริงของเธอมาร้อยเรียงเป็นบทเพลงแนวบาลาดชื่อก้องท่อนที่ว่า
"มะเมียะ ตรอมใจอาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเช็ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วชาตินี้"
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อิสตรีเช่นยโสธรา แม้กระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จนถึงมะเมียะ จำต้องก้มกรานศีรษะลงแทบเบื้องบาทของชายที่ตนรักสุดชีวิต ทั้งๆ ที่สตรีทุกนาง รู้อยู่แก่ใจว่าความรักนั้นต้องลงเอยด้วยการพลัดพราก
สุเมธดาบส หน้าแรกแห่ง "เกศัญชลี"
การคารวะสูงสุดด้วยเกศา
ย้อนกลับไปมองปรากฏการณ์การคารวะอย่างสูงสุดด้วยเกศาหรือ "เกศัญชลี" (เกศา + อัญชลี) ว่าเริ่มขึ้นมีครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือเป็นวัฒนธรรมของชนชาติใด ได้พบเรื่องราวทำนองนี้อยู่ในชาดกที่กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันว่า ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ชื่อ "สุเมธดาบส" ตรงกับยุคสมัยที่มีพระพุทธเจ้าองค์แรกของโลกอุบัติขึ้น พระนามว่า "ทีปังกร"
สุเมธเป็นนักพรตผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้พบและบูชาพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อได้รับทราบว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จผ่านเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองที่ตนอาศัย จึงรีบเดินทางไกลไปรอรับ พร้อมตระเตรียมเสาะหาดอกไม้กำใหญ่ด้วยความยากลำบาก
ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมา สุเมธได้เอากลีบบุปผาโปรยปรายเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า เมื่อก้มลงมองยังพื้นดินอันแฉะน้ำฉ่ำโคลน สุเมธจึงสยายมวยผมที่ยาวนั้นปูลงกับพื้นเสมือนพรม เพื่อให้พระพุทธทีปังกรเดินเหยียบผ่านไป
พระพุทธทีปังกรทรงตรัสพยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตอันยาวไกลสุเมธจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และเป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนี ตามอานิสงส์แห่งการถวายเส้นผมต่างสะพาน
การพบกันระหว่างสุเมธดาบสกับพระพุทธทีปังกรครั้งกระโน้น ได้ก่อให้เกิดตำนาน "เกศัญชลี" ขึ้นครั้งแรกในนิทานชาดก
และดูเหมือนว่าแม้นสุเมธจักน้อมทอดกายสยายเกล้าให้พระพุทธเจ้าได้ย่างเหยียบ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกยาวนานหลายร้อยชาติทีเดียว ในการพัฒนาระดับจิตเพื่อบรรลุโพธิญาณ กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลำดับที่ 28
วัดหัวขัว หัวใครอยู่ใต้สะพาน
อิทธิพลของชาดกเรื่องสุเมธดาบสที่ถวายเศียรเกล้าเป็นพุทธบูชานี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงให้แก่ชาวล้านนาหลายชนเผ่านำไปใช้ในการตั้งเป็นชื่อวัดว่า "วัดหัวขัว" ซึ่งในภาคเหนือมีกระจายอยู่หลายแห่ง เฉพาะที่ลำพูนเองมีวัดหัวขัวทั้งในอำเภอเมืองซึ่งสร้างโดยชาวไทยอง กับที่อำเภอทุ่งหัวช้างเป็นของชาวลัวะและกะเหรี่ยง
คำว่า "ขัว" ภาษาเหนือหมายถึงสะพาน คนทั่วไปมักแปลความหมายของวัดหัวขัวตรงตัว ว่าคงหมายถึงวัดที่ตั้งอยู่ริมหัวสะพาน คือเรียกตามทำเลกระมัง แต่เมื่อได้สัมภาษณ์ปราชญ์ท้องถิ่นทั้งชาวยองและชาวกะเหรี่ยงที่เป็นศรัทธาดูแลวัดหัวขัวทั้งสองแห่งนั้น พวกเขากลับอธิบายตรงกันด้วยความหมายอันลึกซึ้ง
แท้จริงแล้วนัยแห่ง "หัวขัว" นั้นคือสัญลักษณ์ของ "การเอาหัวแทนขัว หรือการอุทิศเศียรไว้ต่างสะพานให้พระพุทธเจ้าได้ก้าวข้ามตามที่สุเมธดาบสเคยกระทำไว้ด้วยแรงปรารถนาพุทธภูมิ"
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้ซึ่งตลอดชีวิตของท่านถูกคณะสงฆ์สยามใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานาจนต้องอธิกรณ์ ถูกคณะกรรมการมหาเถรสมาคมกุมตัวไปสอบสวนเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งที่กรุงเทพฯ หลายครั้งครา และเมื่อผลของการตัดสินคดีขั้นสุดท้าย โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรณาณวโรรส ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชในยุคนั้น ได้ลงความเห็นว่าท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยพ้นผิดปราศจากมลทินทุกข้อกล่าวหา
ชาวกะเหรี่ยงที่มาแห่แหนต้อนรับพระครูบาขณะลงรถไฟกลับสู่สถานีลำพูนนั้น ต่างก็น้อมตัวลงเอาศีรษะและร่างกายทอดให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินเหยียบย่างเป็นแถวยาวเหยียดกว่าสองร้อยชีวิต
ถือว่าเป็นการกระทำอันบริสุทธิ์ของชาวเขาชาวดอยเพื่อถวายเป็น "สังฆบูชา" มิได้ถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ก้มกราบกรานผู้มีบารมี โดยอำนาจรัฐทั้งในและนอกระบบเหมือนกับปัจจุบัน
"พิมพาพิลาป" หักสิเนหา อนุโมทนาลัย
หันกลับมาพินิจภาพแกะสลักบนใบสีมา ที่ได้จากเมืองโบราณ "ฟ้าแดดสงยาง" (คนมักเขียนผิดเป็นฟ้าแดดสูงยาง) อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ขอนแก่นนั้น เป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ในอดีตดินแดนแถบอีสานก่อนที่ขอมจะเข้ามาปกครอง เคยเป็นเขตอารยธรรมมอญมาก่อน
เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่ค้นพบใบสีมาแกะสลักภาพเล่าเรื่องจำนวนมาก นอกจากผลงาน Masterpiece พิมพาพิลาปแล้ว ใบสีมาชิ้นอื่นๆ ก็ล้วนแต่จำหลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติจากนิทานชาดกต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพระราหุล หรือโปรดพุทธมารดา เป็นต้น
พิมพาพิลาป เป็นเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์ภายหลังจากที่ทรงออกผนวชโดยมิได้ร่ำลา ในภาพพระนางพิมพาหรือยโสธรานั่งครวญคร่ำพิไรรำพันปิ่มว่าจะขาดใจพร้อมกับสยายเกศาเช็ดฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า อันเป็นสัญลักษณ์ของการคารวะอย่างสูงสุดในวัฒนธรรมมอญที่รับอิทธิพลมาจากอินเดีย
บรรยากาศแบบ "พิมพาพิลาป" ถือเป็นจุดไคลแมกซ์ของพุทธประวัติเลยก็ว่าได้ เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนต่างเฝ้าลุ้นอยู่ว่าการกลับมาของสิทธัตถะภายหลังจากที่ทรงตัดสินพระทัยให้นายฉันนะควบม้ากัณฐกะเสด็จออกมหาภิเนษกรมนั้น หากพิมพาผู้ระทมทุกข์ปฏิเสธที่จะพบหน้าหรือไม่ยอมให้อภัย สถานการณ์จะพลิกผันเป็นอย่างไรต่อไป?
ถือว่าภาพแกะสลักชิ้นนี้ ศิลปินสามารถถ่ายทอดอารมณ์ที่ขัดแย้งของยโสธราออกมาได้อย่างหมดจด ใจหนึ่งยังคงเจ็บปวดแทบกระอักอกอยากตัดพ้อต่อว่าในฐานะผู้ถูกทิ้ง
แต่อีกใจหนึ่งจำต้องยอมหักห้ามสิเนหา แปรค่าความขมขื่นมาสู่การร่วมอนุโมทนา ในฐานะเทวีหม้ายผู้เสียสละ เมื่อสวามีคนรักมุ่งมั่นมรคาแห่งธรรม
เจ้าดารารัศมี เกศีนี้มีตำนาน
อีกหนึ่งตำนานของ "เกศัญชลี" ได้เกิดขึ้นจริงในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่ทูลลาเสด็จกลับไปเยี่ยมนครพิงค์เชียงใหม่เป็นการชั่วคราว หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ในวังหลวงอย่างทรมานมานานเกือบสามทศวรรษ
ครั้งนั้น เจ้าดารารัศมีประจงแก้มัดปอยผมที่ยาวเหยียดเลยบั้นเอวมาเช็ดพระบาทของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลลา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งในธรรมเนียมของคนมอญ-ม่าน-ล้านนา ถือว่าเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุดเท่าที่ลูกผู้หญิงคนหนึ่งจักยอมลดศักดิ์ศรีพลีให้
เจ้าดารารัศมีเป็นราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ ถูกนำลงมาถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาเมื่อ พ.ศ.2429 ในวัยเพียง 13 ปี ด้วยเหตุผลทางการเมือง และหลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 28 ปี ชีวิตของเจ้าหญิงเมืองเหนือ พานพบแต่บททดสอบคล้ายละครน้ำเน่าในสมัยนี้ ถูกกลั่นแกล้งจากเหล่าสนมนางในที่ริษยา โดนดูถูกตราหน้าว่าเป็น "สะใภ้ลาว" เหม็นปลาร้า อู้เมือง นุ่งซิ่น กินเมี่ยง ไว้ผมมวย เพราะมิได้ตัดผมสั้นทรงดอกกระพุ่มเหมือนสตรีสยามที่คิดว่าตนศิวิไลซ์กว่า
ทั้งๆ ที่เจ้าดารารัศมีประสบกับความยากลำบาก ขัดเคืองพระทัยมาตลอด น่าจะเป็นสัญญาณแห่งการไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนาเท่าใดนัก ไหนจะกรณีที่อังกฤษกำลังเล่นเกมลับๆ กับเจ้าเมืองเชียงใหม่เพื่อขอต่อรองรวมเอาล้านนาเข้ากับพม่า
ชีวิตของเจ้าดารารัศมีก็ยิ่งเหมือนกับถูกวางเดิมพันไว้บนเส้นเชือกอันเปราะบาง ระหว่างสยามกับพม่า
เส้นเชือกนั้นถูกแทนภาพด้วยเส้นผมที่สยายลงแทบพระบาทพระเจ้าแห่งกรุงสยาม ผู้เป็นพระราชสวามี จะใช่เส้นผมแห่งความรักความภักดีอันยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือการเมือง หรือเป็นเพียงการแสดงอัตลักษณ์ตอกย้ำจารีตของสตรีล้านนาก็สุดจะคาดเดา
ทว่า เส้นผมของเจ้าดารารัศมี ได้กลายเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าที่ช่วยเกี่ยวร้อยรัดสายสัมพันธ์อันหมิ่นเหม่ อย่างน้อยที่สุด อาณาเขตของสยามที่เหลืออยู่น้อยนิด ก็ไม่ถูกเฉือนออกไปมากกว่านี้
"มะเมียะ" สยายผมข้ามพรมแดนสยาม
เรื่องราวของ "มะเมียะ" (อ่าน "หมะเมียะ") เริ่มต้นในปี พ.ศ.2441 เหตุที่เจ้าอุปราชแก้ว (ต่อมาคือเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) ได้ส่งราชบุตรนาม "เจ้าน้อยศุขเกษม" วัย 15 ปี ไปเรียนที่โรงเรียน St. Patrick"s School โรงเรียนกินนอนชายของคาทอลิกในเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า
จนเมื่อหนุ่มน้อยศุขเกษมวัย 19 ปี ไปเที่ยวตลาด "ไดวอขวิ่น" ได้พบและหลงรักสาวน้อยวัย 15 ปี นาม "มะเมียะ" ซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าเธอมีเชื้อสายอะไร พม่า มอญ หรือ ไทใหญ่
หลายคนเชื่อว่าเธอเป็นชาวมอญ เพราะเมืองเมาะละแหม่งเป็นถิ่นที่มีประชากรชาวมอญอาศัยอยู่มากถึง 80% อีกทั้งคำว่า "มะเมียะ" ก็เป็นภาษามอญแปลว่า "มรกต"
สาวมะเมียะ ขายบุหรี่เซเล็ก (ยามวน) ก็ตกหลุมรักและมีใจให้เจ้าชายจากเชียงใหม่เช่นกัน เมื่อความรักผลิบานพูนพอกกลายเป็นความผูกพัน วันหนึ่งทั้งสองชวนกันขึ้นไปกราบพระเจดีย์ไจ้ตาหล่านอันเป็นที่เคารพสูงสุดของชาวเมาะละแหม่ง สาบานว่าจะครองรักกันไปตราบสิ้นลม หากใครผิดคำสาบานก็ขอให้มีอันเป็นไป!
เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมอายุ 20 ปี เรียนจบก็กลับบ้านพร้อมมะเมียะวัย 16 ที่ปลอมตนเป็นชายร่วมเดินทางมาด้วย เจ้าน้อยศุขเกษมพบว่าบิดาได้หมั้นหมายตนกับธิดาเจ้านายเชียงใหม่องค์หนึ่งไว้รอท่าแล้ว
ส่วนฝ่ายเจ้าอุปราชแก้วครั้นทราบว่าลูกชายไปพบรักและได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยากับสามัญชนชาวม่านมานานกว่า 2 ปี ก็แทบอกแตกตายรับไม่ได้ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้หนุ่มสาวเลิกรากัน
การที่เจ้าอุปราชแก้วไม่มีทางเลือกอื่น นอกเสียจากส่งตัวมะเมียะกลับพม่าเพียงสถานเดียว ทั้งนี้ ก็เพราะตระหนักซึ้งว่าตนเองนั้นทำไม่ถูกตั้งแต่แรก ที่ส่งลูกชายไปเรียนเมืองพม่า ทั้งๆ ที่ขณะนั้นสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศเริ่มคับขัน สยามกำลังจะยกเลิกฐานะเมืองขึ้นของล้านนาและเตรียมผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม
หรือว่าลึกๆ แล้วเจ้านายฝ่ายเหนือหลายคนไม่พอใจอำนาจท้องถิ่นที่ถูกสยามลิดรอน ดังเช่นกรณีที่เจ้าอุปราชแก้วกล้าส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนหนังสือที่พม่าโดยมิได้แจ้งหรือปรึกษาขออนุมัติจากสยามก่อน หรือแท้จริงแล้วก็อยากจะท้าทายอำนาจของสยามอยู่เหมือนกัน
ปัญหาคือเมื่อเรียนจบแล้วกลับพาหญิงสาวต่างด้าวกลับมาด้วยนี่สิ เจ้าอุปราชแก้วยิ่งต้องแสดงให้สยามเห็นว่าแม้ตนเองได้ทำผิดที่ส่งลูกชายไปเรียนเมืองพม่าโดยไม่เลือกที่จะส่งไปเรียนกรุงเทพฯ แต่ต่อจากนี้ไปล้านนาจะต้องไม่มีสัมพันธ์ใดๆ กับพม่าอีก ความรักระหว่างลูกชายกับสาวเมาะละแหม่งจักต้องขาดสะบั้นลงโดยไร้ข้อแก้ตัว
ฉากพิศวาสอาวรณ์ระหว่าง 2 หนุ่มสาวเกิดขึ้นยามเช้าตรู่วันหนึ่งของเดือนเมษายน พ.ศ.2446 ด้วยภาพการที่มะเมียะสยายผมเช็ดเท้าของชายคนรัก จงใจแสดงออกถึงความรักความเสน่หาอาลัยอย่างหมดจิตหมดใจ ในวันที่ถูกพรากตัวส่งกลับบ้าน
เพลง "มะเมียะ" อาจโอดครวญว่า "นั่นเป็นเรื่องของกรรมของเวรเขา" แต่ก็อาจมองความใต้บรรทัดอื่นได้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม อีกทั้งไม่ใช่ศักดินาที่ต่างชั้น และไม่ใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์หรือประเพณีที่แตกต่าง ทว่า เป็นแรงกดดันจากอำนาจนอกระบบในยุคล่าอาณานิคมต่างหาก
การเมืองที่สยามกำลังขีดเส้นทางเดินใหม่ให้ล้านนา และเจ้าอุปราชเลือกที่จะเป็นฝ่ายยอมจำนน การเมืองที่พ่อส่งลูกไปเรียนด้วยหวังว่าจะมีความรู้ภาษาอังกฤษแตกฉาน รู้ทันสถานการณ์การเมืองในพม่าและนโยบายของอังกฤษ เพื่อจะได้กลับมามีบทบาทในการปกครองดินแดนล้านนาต่อไป แต่แล้วลูกกลับพบรักในจังหวะและเวลาที่ไม่เหมาะสม รักนั้นจำต้องพ่ายแพ้ต่อเกมการเมืองไปในที่สุด
ผลกระทบอย่างรุนแรงที่เจ้าอุปราชแก้วได้รับจากเหตุการณ์ที่ส่งลูกไปเรียนเมืองพม่า ก็คือการชวดเชยบัลลังก์ของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับถัดไป
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว ก็น่าจะถึงโอกาสของเจ้าอุปราชแก้ว ผู้เป็นโอรสและมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาต่างมารดากับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี แต่กรุงสยามกลับเลื่อนเจ้าอุปราชแก้วให้เป็นเพียงเจ้าราชบุตร และสถาปนาเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน
เจ้าน้อยศุขเกษมแต่งงานกับเจ้าหญิงสูงศักดิ์ พิธีสมรสจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นประธานดำเนินการ ฝ่ายมะเมียะร่ำไห้จนน้ำตาท่วมฟ้า ซมซานหนีไปบวชชีที่วัดใหญ่ในเมืองเมาะละแหม่ง ครองเพศพรหมจรรย์จวบจนสิ้นลมหายใจอีก 59 ปีหลังจากนั้น
แต่สำหรับเจ้าน้อยศุขเกษมแล้ว การเมืองได้ทำลายความรักจนเขาต้องละเมิดคำสาบานที่ให้ไว้กับมะเมียะ หลังสมรสเพียง 10 ปี ก็เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
ส่วนเจ้าดารารัศมีผู้เป็นสักขีในการมงคลอันแสนเศร้าให้เจ้าน้อยศุขเกษม ภายหลังจากที่มะเมียะได้ฝากตำนานการสยายผมเช็ดเท้าชายคนรักอันลือลั่นนั้นแล้ว อีกหนึ่งทศวรรษถัดมา กงล้อเกวียนได้หมุนย้อนมาฉายซ้ำภาพเดิมให้เจ้าดารารัศมีต้องกลายมาเป็นผู้ปิดตำนานเกศัญชลีนั้นเสียเอง
ตํานานการสยายเกศาเช็ดฝ่าบาททั้งหมดนี้ได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมามิรู้จบ
เริ่มจากไฟศรัทธาอันยิ่งใหญ่แห่งการถวายเป็นพุทธบูชา กลายมาเป็นพลังของจารีต ประเพณี และความจงรัก...
อำนาจในเรื่องเล่าเหล่านี้ยังมีความหมายนัยยะอันใดซุกซ่อนอยู่อีกหรือไม่ในสังคมไทย ที่เกิดการแปรค่าพลังศรัทธาของมวลชน (จัดตั้ง) มาเป็นอำนาจแห่งการสร้างภาพปรุงแต่งให้ดูสวยงาม ด้วยการสถาปนาความจงรัก...
ทั้งๆ ที่ความรักที่เคยคิดว่าได้รับตอบกลับคืนมานั้น แท้จริงล้วนคือภาพลวงตา
++
พระธาตุเจ้าดอยตุงเปลี่ยนไป ผ่าตัดเปลือกนอกให้เห็นเนื้อใน!
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1607
เชื่อว่าใครที่ได้มีโอกาสไปเห็นพระธาตุเจ้าดอยตุงที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คงรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย ที่จู่ๆ รูปโฉมของพระธาตุเจ้าดอยตุงทั้งสององค์เปลี่ยนไปจากเดิม
คนที่เพิ่งมาเป็นครั้งแรกอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่มีภาพความทรงจำเก่าให้เปรียบเทียบ
แต่แฟนพันธุ์แท้ที่เคยไปหลายหนย่อมนึกโมโหโกรธากรมศิลปากรอยู่ตะหงิดๆ
ก็ไหนอ้างตัวว่าเป็นต้นตำรับของนักอนุรักษ์ที่เชื่อถือได้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ แล้วไยอุกอาจมาบูรณะพระธาตุดอยตุงด้วยรูปแบบใหม่เสียจนผิดเพี้ยน เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นคนละองค์เลย
หากสถาบันที่เป็นเสาหลักด้านศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยไร้จุดยืน นึกจะทำอะไรก็ทำ ถ้าเช่นนั้นเมื่อชาวบ้าน-พระสงฆ์เขารื้อวิหารหรือซ่อมเจดีย์ใหม่ครอบทับของเก่า กรมศิลป์จะเอาเครดิตจากไหนไปต่อว่าต่อขานใครได้
ช้าก่อน ขอได้โปรดสดับรับฟัง ก่อนที่เลือดจะพุ่งขึ้นหน้ามากไปกว่านี้
ปริศนาของรูปลักษณ์พระธาตุเจ้าดอยตุงที่แปลกเปลี่ยน เรื่องนี้มีที่มาที่ไป...
พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง
เจดีย์องค์แรกของล้านนา?
พระธาตุเจ้าดอยตุงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง" อันคำว่า "ตุง" ก็คือคำเดียวกันกับ "ธุง" หรือ "ธง" เนื่องจากเมื่อแรกสร้างได้มีการปักธงผืนใหญ่ไว้บนยอดดอยคู่กับเจดีย์
ปัญหาที่ชวนให้ขบคิดก็คือว่าพระธาตุเจ้าดอยตุงเป็นพระสถูปที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินล้านนาจริงหรือ?
ก่อนหน้านั้นหลายคนเคยเชื่อว่าพระธาตุหริภุญไชยที่ลำพูน คือพระเจดีย์องค์แรกในภาคเหนือ เนื่องจากสร้างตั้งแต่ยุคหริภุญไชยราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ นั้นล้วนแล้วแต่สร้างตามมาภายหลังในสมัยล้านนาไม่เกิน 700 ปีทั้งสิ้น ไม่ว่าพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุจอมทอง พระธาตุช่อแฮ และคงรวมไปถึงพระธาตุเจ้าดอยตุงด้วยกระมัง
แต่ครั้นเมื่อไปพลิกตำนานสิงหนวัติ กลับพบว่ากรณีของพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงนั้นมีอายุเก่าแก่กว่าพระธาตุหริภุญไชยอย่างน่าพิศวง ไม่ใช่ตัวเลขที่สูสี แต่อายุห่างกันลิบลับนับเป็นพันปีเลยทีเดียว
ตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุงเล่าว่า เมื่อพุทธศักราช 561 ในสมัยพระญาอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (สันนิษฐานว่าเมืองนี้อยู่แถวอำเภอแม่จัน ปัจจุบันเป็นเวียงหนองล่มจมหายไปภายใต้บึงน้ำขนาดใหญ่) พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ถวายมอบให้พระญาอชุตราช และเลือกหาสถานที่มงคลอันสมควรเพื่อสร้างมหาสถูป ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์ไว้ ณ ดอยดินแดง หรือดอยสามเส้า อันมีลักษณะเป็นดอย 3 ลูกเรียงกันตั้งแต่ใต้ไปทางทิศเหนือ
ดอยลูกแรกนั้นคือ "ดอยปู่เจ้า" (ดอยตุง) ถัดไปเป็น "ดอยย่าเจ้า" และ "ดอยทา" อยู่เหนือสุด ถิ่นฐานนี้เป็นของชนเผ่าลัวะ โดยมีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า
เมื่อพระญาอชุตราชทรงรับมอบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระมหากัสสปะก็อธิษฐานคันตุง (ธง) ยาว 1 โยชน์ กับผืนตุงที่ทอด้วยผ้ายาว 7,000 วา กว้าง 5,000 วา กางบูชาพระธาตุเจ้า ณ ทิศตะวันออกทางขวา และเมื่อผืนตุงปลิวไปถึงจุดใด ให้กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น
ครั้นคนทั้งหลายเห็นตุงทิพย์โบกสะบัดจึงพากันเรียกว่าพระธาตุเจ้าดอยตุง
ปริศนามีอยู่ว่า ใครคือพระญาอชุตราช มีตัวตนจริงหรือไม่ พระมหากัสสปะองค์ไหนเสด็จมา แคว้นโยนกนาคพันธุ์มีอยู่จริงหรือเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน นำไปสู่คำถามสุดท้ายที่ต้องครุ่นคิดกันอย่างหนักว่า ยังมีแคว้นใดในภาคเหนือที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่าอาณาจักรหริภุญไชยของพระนางจามเทวีอีกล่ะหรือ
คำถามร้อยแปดพันเก้านี้ ยังไม่มีคำตอบ เหตุเพราะตำนานทิ้งนัยยะไว้แต่เพียงว่าแคว้นโยนกนาคพันธุ์นี้ ได้ถล่มจมหายไปในหนองน้ำ
เหตุเพราะแม่ม่ายกินปลาไหลเผือกเสียแล้ว ดูจากศักราชก็รู้ว่าเนิ่นนานเพียงใด
เหตุฉะนี้ เมื่อมีใครถามว่าพระธาตุเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนาคือองค์ไหนกันแน่ ระหว่างพระธาตุหริภุญไชยกับพระธาตุเจ้าดอยตุง ก็คงยากที่จะตอบ เพราะองค์หนึ่งปรากฏอยู่จริงอย่างเป็นรูปธรรม แต่อีกองค์เป็นการกล่าวอ้างไว้ในตำนาน
พระธาตุเจ้าดอยตุง
บนเส้นทางการบูรณะและปรับเปลี่ยนโฉม
คงเป็นการยากเกินจะคาดเดาได้ว่า รูปแบบดั้งเดิมสุดของพระธาตุเจ้าดอยตุง ในยุคที่สร้างโดยพระญาอชุตราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัตินั้น มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะหากสถูปองค์นี้มีอยู่จริงตามตำนาน ก็ย่อมมีอายุเก่าแก่เกือบสองพันปี แล้วจะมีร่องรอยอะไรเหลือให้เห็น
อย่าว่าแต่จะให้สันนิษฐานรูปทรงดึกดำบรรพ์ของพระธาตุเจ้าดอยตุงยุคสิงหนวัติซึ่งไม่เคยมีใครรู้ว่าศิลปกรรมแห่งแคว้นโยนกนาคพันธุ์นั้นมีลักษณะอย่างไรเลย เอาแค่ยุคสมัยที่ตำนานระบุไว้ชัดว่าพระญากือนากษัตริย์เชียงใหม่แห่งราชวงศ์มังรายได้ฟื้นฟูพระธาตุเจ้าดอยตุงขึ้นมาใหม่ราว พ.ศ.1920 นั้นก็ยังยากที่จะจินตนาการรูปแบบได้
เหตุเพราะกษัตริย์ล้านนาอีกหลายพระองค์ได้มาบูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงอย่างต่อเนื่อง นับแต่พระญาแสนเมืองมา พระเมืองแก้ว จนกระทั่งพระเมืองเกษเกล้า แต่ละองค์เสริมนู่นนิด ขยายนี่หน่อยจนมาสำเร็จในยุคพระเมืองเกษเกล้า ที่ได้ฝากผลงานรูปโฉมของพระธาตุเจ้าดอยตุงองค์ที่เราเห็นในปัจจุบัน
รูปแบบดังกล่าวนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ศิลปกรรมล้านนาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งนิยมปรับมุมขององค์ระฆังจากทรงกลมให้กลายเป็นหลายเหลี่ยม ตั้งแต่แปดเหลี่ยมไปจนถึงสิบสองเหลี่ยม เช่น พระธาตุดอยสุเทพก็มีมุมมากถึงสิบสองเหลี่ยม
สำหรับส่วนยอดนั้น อาจได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า ประกอบด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลีทรงกรวยยาว
ต่อจากนั้นมา ก็ได้มีการบูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงอีกหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือโดยพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปี พ.ศ.2470 แต่ยังคงมีรูปแบบใกล้เคียงกับของโบราณ เพียงแต่ใช้ปูนโบกครอบทับหุ้มองค์เดิมไว้ภายใน
กระทั่งการบูรณะครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ.2516 กระทรวงมหาดไทยได้มาสร้างเจดีย์ทรงปราสาทยอดครอบทับพระธาตุองค์เดิม ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกระทรวงมหาดไทยจึงเข้ามาก้าวก่ายงานของกรมศิลปากรได้ในยุคนั้น?
กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ อาจารย์จิตต์ บัวบุศย์ นามเดิม ประกิต บัวบุศย์ ศิลปินใหญ่ผู้บุกเบิกโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบ
ถือเป็นการปฏิสังขรณ์พระธาตุเจ้าดอยตุงครั้งสำคัญยิ่ง เพราะได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมมาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด รูปทรงที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐสยามที่ใช้กดข่มท้องถิ่น ช่วงปลายกระแสรัฐราชาชาตินิยมที่กำลังแผ่วโรยก่อนที่จะผลิบานสะพรั่งอีกครั้งในปี 2519
อาจารย์จิตต์ บัวบุศย์ นำรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดนี้มาจากไหน เป็นการผสมผสานกันระหว่างรัตนโกสินทร์กับล้านนา กล่าวคือ นำเจดีย์สี่เหลี่ยมประดับซุ้มจระนำสี่ทิศตามอย่างกลุ่มเจดีย์ที่เมืองเชียงแสน เช่นวัดป่าสักมาใช้เป็นส่วนฐาน
แต่รายละเอียดของส่วนยอดที่มีปล้องไฉนซ้อนสามชั้น กับปลียอดประกอบฉัตรตอนบนนั้น ทำตามรูปแบบรัตนโกสินทร์
การบูรณะครั้งนั้นใช้วัสดุสมัยใหม่ที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องโมเสก แล้วนำไปประกอบสวมทับพระธาตุองค์เดิม โชคดีที่การครอบครั้งนั้นยังคงรักษาสภาพพระเจดีย์องค์เดิมไว้ภายใน
ให้ประชาชนตัดสินใจ
เลือกรูปแบบไหน "ใหม่"-"เก่า"
เมื่อกรมศิลปากรมีดำริจะบูรณะพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงราวปี พ.ศ.2551 ได้เปิดเวทีถามใจประชาชนชาวเชียงรายว่าต้องการให้บูรณะอย่างไร ระหว่างรูปแบบเดิมสมัยพระเมืองเกษเกล้า หรือจะเอารูปแบบใหม่ของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ อาจารย์จิตต์ บัวบุศย์ ออกแบบ
กล่าวอีกนัยหนึ่งชัดๆ ก็คือ ให้ชาวเชียงรายตัดสินใจเอาเองระหว่าง "เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม" กับ "เจดีย์ทรงปราสาทยอด" หรือแท้ที่จริงแล้ว หากถามกันแบบเปิดใจให้ถึงแก่นก็คือ ขอให้เลือกว่าจะเอาจิตวิญญาณแบบใด "ล้านนา" หรือ "รัตนโกสินทร์"?
คำตอบที่ได้รับอย่างเป็นเอกฉันท์ของการทำประชามติชาวเชียงรายในวันนั้นคือ ขอรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนาที่เคยถูกครอบทับในยุคเผด็จการแบบมัดมือชกไม่เคยถามชาวบ้าน กลับคืนมา
นำมาซึ่งการใช้เลื่อยไฟฟ้ารื้อถอนคอนกรีตประดับโมเสกออกเป็นชิ้นๆ โดยไม่กระทบกระเทือนกับองค์ใน พลันภาพเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมปรากฏขึ้นมาแทนที่ จากนั้น ทำการปฏิสังขรณ์เสริมความแข็งแรงตั้งแต่ส่วนฐานจรดยอด
ขั้นสุดท้าย ได้นำแผ่นทองจังโกอันสุกปลั่งมาปิดหุ้มโดยรอบองค์เจดีย์ตามความนิยมของศิลปกรรมล้านนา
กรณีศึกษาระหว่างเปลือกนอกกับเนื้อใน
ต้องขอปรบมือดังๆ ให้ชาวเชียงรายในกรณีที่ยินยอมให้บูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงด้วยรูปแบบเก่า ทั้งๆ ที่คนรุ่นหลังปี 2516 ไม่เคยเห็นเจดีย์องค์เดิมมาก่อนในชีวิต นับว่ามีความอาจหาญและใจถึงยิ่ง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ยินดีลบภาพพระธาตุองค์สูงใหญ่ตระหง่านที่คุ้นตามานานกว่าห้าทศวรรษให้เหลือขนาดเล็กลงเกือบเท่าตัวโดยไม่ได้สนใจในเรื่องความอลังการของสัดส่วน
มาย้อนดูกรณีศึกษาเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้กับชุมชนอื่นๆ อีกหลายแห่งในภาคเหนือ ทุกครั้งที่มีโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ ไม่ว่าจากพายุถล่มแผ่นดินทลาย หรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ก่อนจะบูรณะ กรมศิลป์มักถามความสมัครใจของชุมชนว่าอยากได้องค์ที่อยู่ด้านในซึ่งเป็นศิลปกรรมโบราณกลับคืนมาไหม อุตส่าห์ลงทุนร่างแบบสเก๊ตช์ให้ดู แต่แล้วแทบไม่มีชุมชนไหนกล้าเสี่ยง มันเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจินตนาการหรือเช่นไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่าอย่าเปลี่ยนเลย ใจหาย เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เคยเห็นแต่รูปแบบนี้เท่านั้น
การที่คนในอดีตนิยมครอบเจดีย์องค์ใหม่สวมทับองค์เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เหตุเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเปลือกนอกที่มองเห็นด้วยตาเนื้อเท่ากับแก่นแท้ของพระธรรมหรือตัวองค์พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในผอบ เมื่อเห็นว่าพระเจดีย์ทรุดโทรมก็ย่อมเอาปูนพอกทับเป็นธรรมดา บ้างก็สร้างองค์ใหม่ครอบบนพื้นฐานของความศรัทธา
นี่คือความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างการที่ชาวบ้านมองสถูปวิหารเป็น "ปูชนียสถาน" แต่กรมศิลป์กลับมองเป็น "โบราณสถาน"
คำว่า "อนุรักษ์" ตามความหมายแบบ Conservation นี้เป็นคำใหม่ที่ชาวตะวันตกโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส นำมาสถาปนาในอินโดจีน ชาวสยามเพิ่งรู้จักกันในช่วงไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง เทียบเท่ากับอายุของกรมศิลปากรที่เพิ่งครบรอบ 100 ปีพอดี ก่อนหน้านั้น ประเทศแถบอุษาคเนย์ทั้งหมดไม่เคยให้ความสำคัญต่อเปลือกนอก เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของแต่ละยุคสมัย
เห็นได้จากชาวพม่าทุกวันนี้ยังคงเอาน้ำปูนขาวลูบไล้โบกทับพระเจดีย์ให้ดูใหม่เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีอย่างยับเยิน
ด้วยเหตุนี้ ในยุคก่อนที่จะมีกระแสอนุรักษ์โบราณสถานตามความหมายของ Conservation นั้น คงต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยทั้งหมด กรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งคือ กรณีของครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อท่านจาริกธุดงค์ไปพบเห็นสถูปวิหารที่ไหนใกล้จะพังทลาย ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ท่านก็อนุรักษ์ไปตามกำลังในยุคที่ยังไม่มีกรมศิลป์ให้ปรึกษา
มุมหนึ่งในแง่พระศาสนา ท่านคือนักอนุรักษ์ผู้เสียสละ แต่เมื่อมองจากอีกมุม ท่านเองก็อาจมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ไม่น้อย แต่ดังที่ได้บอกแล้วว่า กระบวนการอนุรักษ์แบบครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีมาก่อนกระบวนการอนุรักษ์แบบตะวันตก เราคงต้องมองข้ามและยกไว้เหนือข้อวิจารณ์
ว่าแต่ว่า คนในยุคสมัยของเราหลังจากที่มีกรมศิลปากรเกิดขึ้นแล้วตั้ง 100 ปีนี่สิ ไยจึงไม่ตีความคำว่า "อนุรักษ์" กันให้ถูกต้องตามหลักสากล
เจดีย์บางแห่งที่ฟ้า (อุตส่าห์) ผ่าฟาดให้เห็นเนื้อในรูปทรงเดิมสมัย 500 ปีก่อน ซึ่งถูกครอบทับในยุคหลังเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา ตอนจัดประชามติก็กลับโนโหวตไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปิดเปลือกนอกเอาเนื้อในกลับคืนมา
ส่วนบางกรณี เจดีย์องค์ที่มองเห็นโดยตาเนื้อซึ่งยังไม่เคยถูกครอบมาก่อน วันดีคืนดีก็ยัง (อุตส่าห์) เอาเปลือกนอกใหม่ไร้หัวนอนปลายเท้าจากไหนก็ไม่รู้มาครอบปิดตำนานเดิมเสียอีก
มันอะไรกันนักหนา นานๆ ทีจะมีกรณีประทับใจเหมือนกับพระธาตุเจ้าดอยตุง ซึ่งยอมเป็นหนังหน้าไฟรายแรก แต่เชื่อว่าตอนนี้ไม่มีใครบ่นหรือต่อว่าต่อขาน ว่าพระธาตุเจ้าดอยตุง "เปี๊ยนไป๋" อีกแล้ว
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย