http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-18

รัฐประหารในวัฒนธรรมการเมืองไทย และ รัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

รัฐประหาร ในวัฒนธรรมการเมืองไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1609 หน้า 25


รัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทยหลัง 2475 เป็นรัฐประหารดุ่ยๆ เกิดขึ้นใน พ.ศ.2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาร่วมมือกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกา "ปิดสภา"

ปิดสภานะครับ ไม่ใช่ยุบสภา ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะทำอย่างนั้นได้ แม้อาศัยพระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์ก็ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะทำอย่างนั้นได้เหมือนกัน

พูดง่ายๆ การกระทำเช่นนั้นก็คือ นายกรัฐมนตรีกลายเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนอีกต่อไป เพราะรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว... จบ

แต่การรัฐประหารครั้งแรกก็ไม่มีผลยั่งยืนอะไร เพียงไม่กี่เดือนกองทัพส่วนที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะราษฎรก็ทำรัฐประหารซ้อน และนำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ใหม่ คณะราษฎรเลือกหัวหน้าคณะ คือพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

การรัฐประหารโดยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ไม่มีกำลังอำนาจอะไรหนุนหลัง นอกจากบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ความล้มเหลวของการรัฐประหารพิสูจน์ให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมประจักษ์ชัดว่า บารมีของสถาบันฯ เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะยึดอำนาจได้

(และทำให้ความพยายามจะทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง-ที่เรียกกันว่ากบฏบวรเดช-ต้องอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในแง่อื่นๆ ด้วย)



ความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งแรกคงให้บทเรียนแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การยึดอำนาจโดยขาดกำลังกองทัพส่วนกลางสนับสนุนย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมมีกำลังในกองทัพสนับสนุนอยู่ไม่น้อย แต่ล้วนเป็นทหารหัวเมือง คณะรัฐประหารของพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้สับเปลี่ยนโยกย้ายกำลังให้ฝ่ายของตน เข้ามาคุมกำลังที่ส่วนกลาง

ทำไม การบังคับบัญชาจากส่วนกลางและเอกภาพของส่วนกลางของกองทัพจึงมีความสำคัญในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปดูประวัติของกองทัพไทย อาจกล่าวได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในน้อยประเทศของภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่กองทัพปัจจุบันสืบเนื่องมาจากกองทัพ "อาณานิคม" (หากถือว่าไทยผ่านประสบการณ์ความเป็นกึ่งอาณานิคมเหมือนเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ) ในขณะที่กองทัพของเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, ลาว, เขมรแดง เกิดจากกองทัพประชาชนกู้เอกราช ซึ่งทำสงครามกองโจรในสภาพที่จะมีเอกภาพของการบังคับบัญชามากนักไม่ได้

และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า กองทัพอาณานิคมย่อมรวมศูนย์ เพื่อปกป้องคุ้มครองระบอบอาณานิคม ดังนั้น เครื่องจักรของกองทัพจะทำงานได้ดี ก็ต่อเมื่อส่วนกลางเข้ามาบริหารโดยตรง

เกมของอำนาจ (หรืออิทธิพล) จึงอยู่ที่การคุมส่วนกลางของกองทัพให้ได้ การเป็น ผบ.ทบ. และ/หรือ ผบ.สูงสุด จึงเป็นหัวใจสำคัญของการมีอำนาจ ส่วนใครหรือสายไหนจะได้เป็นขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนทางการเมืองทั้งภายในกองทัพ และนอกกองทัพ และส่วนที่เป็นการเมืองนอกกองทัพนี่แหละครับที่มีความสำคัญมากขึ้น จนทำให้ต้องใช้กำลังเข้ามาจัดการกันอยู่บ่อยๆ จัดการกันด้วยรัฐประหารหรือด้วยการแทรกแซงวิธีอื่นก็ตาม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กองทัพจะเป็นเครื่องมือทางอำนาจของใคร นับวันก็มีความสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังมากขึ้น เพราะมี "ผู้เล่น" หลากหลายขึ้นทุกที อย่าได้นึกเป็นอันขาดว่า ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ชี้ขาดแต่ผู้เดียว ถึงดูภายนอกเหมือนมีใครเป็นคนชี้ขาด แต่เบื้องหลังย่อมมีการต่อรอง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ของคนอีกหลายฝ่าย ทั้งจากภายในกองทัพและนอกกองทัพ

สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ "ผู้เล่น" ฝ่ายต่างๆ ที่เข้าไปต่อรองนั้น ไม่มีสักฝ่ายเดียวที่สนับสนุนประชาธิปไตย เพราะเกมแห่งอำนาจที่เล่นกันอยู่นั้น ไม่ใช่เกมประชาธิปไตย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ประชาธิปไตยคือการกวาดล้าง "ผู้เล่น" เหล่านั้นลงจากเวทีทั้งหมด ฉะนั้น จึงปิดทางต่อรอง เพราะมันทำให้กองทัพไม่เป็นเครื่องมือทางอำนาจการเมืองของใครอีกต่อไป

ในการรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งที่เรียกกันว่า "เมษาฮาวาย" นั้น การที่ฝ่ายก่อรัฐประหารซึ่งกำลังพ่ายแพ้ ปลุกระดมประชาชนด้วยประชาธิปไตย ผมคิดว่ายิ่งทำให้ฝ่ายครองอำนาจต้องต่อสู้ปราบปรามอย่างเด็ดขาดยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ



แม้ว่ากองทัพเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการทำรัฐประหาร แต่กองทัพไม่ใช่ "ผู้เล่น" แต่ฝ่ายเดียว มีผู้ร่วมเล่นด้วยอีกหลายฝ่าย ดังนั้น รัฐประหารในเมืองไทยจึงไม่ใช่การยึดอำนาจโดยกองทัพ แต่เป็นการยึดอำนาจโดยคนหลายฝ่าย ซึ่งต้องจัดสรรอำนาจกันให้ลงตัว

หลังยึดอำนาจได้แล้ว บางครั้งผู้นำกองทัพได้อำนาจไปมาก บางครั้งฝ่ายอื่นได้อำนาจไปมากกว่า

รัฐประหารจึงไม่ใช่พฤติกรรมทางการเมืองที่มีแบบแผนตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของคนฝ่ายต่างๆ ที่เข้ามาเป็น "ผู้เล่น" ร่วมกับกองทัพ

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า รัฐประหาร 2490 ซึ่งนำกองทัพกลับเข้าสู่การเมืองใหม่นั้น ที่จริงแล้วเป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งกษัตริย์นิยม และพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าในที่สุดแล้ว กองทัพจะมีเสียงเด็ดขาดกว่าฝ่ายอื่น เลือกคนที่กองทัพยอมรับคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกฯ แต่ภายในกองทัพเองก็มิได้เป็นเอกภาพ กองทัพบกต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะควบคุมกองทัพเรือได้

ในขณะที่นายกฯ และอเมริกันสร้างตำรวจขึ้นมาเป็นกองกำลังใหญ่แข่งกับกองทัพบก

หลังการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรามีจอมพลเป็นนายกฯ สืบเนื่องกันมาอีก 16 ปี สะท้อนให้เห็นอำนาจที่แข็งแกร่งขึ้นของกองทัพ แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ

หลัง 14 ตุลา อำนาจของกองทัพลดลงอย่างมาก ไม่อาจปฏิบัติการทางการเมืองโดยอิสระได้อีก จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายอื่นๆ แม้แต่ริเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองเองก็อาจทำไม่ได้ ดังที่มีข่าวลือว่า ในการรัฐประหารบางครั้ง มีการลงขันของฝ่ายทุนกันล่วงหน้า เป็นต้น ทั้งนี้ ยังไม่นับข่าวลือในเรื่องอื่นๆ ซึ่งล้วนแสดงว่าการริเริ่มอาจไม่ใช่ของกองทัพ หรือไม่ใช่ของกองทัพฝ่ายเดียว

ในขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา "ผู้เล่น" ในการเมืองไทยมีความหลากหลายมากขึ้น จากทุนใหญ่ ไปสู่ทุนท้องถิ่น สู่คนชั้นกลางที่มีการศึกษา และในที่สุดก็ไปสู่คนชั้นกลางระดับล่างดังในปัจจุบัน



พลวัตของการเมืองไทย ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ความหลากหลายของ "ผู้เล่น" เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่ประเด็นทางการเมืองด้วย เช่น สิทธิสตรี, สิทธิมนุษยชน, แนวทางการพัฒนา, สิทธิคนพิการ, สิ่งแวดล้อม, แผนพลังงาน, วัฒนธรรม "ไทย", โลกาภิวัตน์, ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐเป็นผู้ป้อนให้สังคม แต่เป็นประเด็นที่ผลักดันมาจากสังคม โดยรัฐมีสมรรถนะในการกำกับควบคุมประเด็นได้น้อยมาก ความหลากหลายของประเด็น สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของ "ผู้เล่น" ไปพร้อมกัน

ผมอยากให้นึกเปรียบเทียบกับประเด็นเด็กปัญญาอ่อน ประเด็นนี้ถูกนำเข้าสู่สังคมโดยเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตรงกันข้ามกับประเด็นทางสังคมและการเมืองที่มีอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ ล้วนเกิดขึ้นโดยรัฐไม่ได้เป็นฝ่ายนำเข้าทั้งสิ้น รัฐเป็นฝ่ายสนองตามมากกว่า

แม้ว่าการรัฐประหารยังเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมือง แต่สัดส่วนของกองทัพในการ "ทำรัฐประหาร" กลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าการรัฐประหารจะทำเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร นับตั้งแต่เถลิงอำนาจไปจนถึงปรับเปลี่ยนการบริหาร หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนการแบ่งปันจัดสรรทรัพยากร ก็ไม่อาจทำได้สักเรื่องเดียว เพราะเมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ฝ่ายต่างๆ ก็เข้ามาต่อรองทางการเมืองอย่างหนัก และเพื่อจะทำให้อำนาจรัฐประหารยังคงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องประนีประนอมกับฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งไม่อาจดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ได้สักอย่างเดียว

นี่คือเหตุผลที่รัฐประหารแล้ว หัวหน้าคณะไม่ได้เป็นนายกฯ ถึงพยายามจะเป็น ก็ก่อให้เกิดพฤษภามหาโหด (ครั้งแรก) แม้แต่ผลักดันให้คนสยบยอมต่อกองทัพขึ้นเป็นนายกฯ แทน ก็ก่อให้เกิดพฤษภามหาโหด (ครั้งที่สอง) อีก และในที่สุดก็ต้องนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป



มาดูประวัติของการรัฐประหารในประเทศไทย ก็จะเห็นได้ว่า นับวันการรัฐประหารกำลังกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในระบบเข้าทุกที ไม่ว่าอำนาจจะอยู่ในมือใคร และด้วยวิธีใด ในที่สุดจะรักษาอำนาจนั้นได้ก็ต้องต่อรองและประนีประนอมจนได้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ที่เคยต่อรองกันหลังฉาก กลับต้องมาต่อรองกันหน้าฉาก ซึ่งอาจนำไปสู่เดือน "มหาโหด" อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ประเทศไทยมีพลังจะรับกับเหตุการณ์ "มหาโหด" กลางเมืองได้ไม่บ่อยนัก

จริงที่ว่า รัฐประหารเคยเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมการเมืองไทย แต่ก็เหมือนวัฒนธรรมด้านอื่นๆ กล่าวคือ ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ตลอดมา วัฒนธรรมการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่จุดที่การรัฐประหารไม่คุ้มเสียแล้ว

"ผู้เล่น" ซึ่งเคยใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือสำคัญ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเล่นของตนเองเสียใหม่ เพราะเกมเปลี่ยนไปแล้ว หากยังขืนใช้เครื่องมือเก่านี้ อาจไม่สามารถรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนไว้ในซากปรักหักพังได้เลย ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการต่อรองใหม่ในเงื่อนไขที่ปราศจากการรัฐประหารเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนไว้ได้ อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง

เชื่อเถิดว่า "ผู้เล่น" เหล่านี้มีทุน-ทั้งทุนทางวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคม-มากพอจะเข้าไปต่อรองในเกมใหม่อย่างได้เปรียบกว่าแน่นอน



++

รัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11377 หน้า 6


เหมือนรัฐสมัยใหม่ทั่วไปในโลก รัฐไทยย่อมเป็นรัฐรวมศูนย์ แต่แตกต่างจากรัฐรวมศูนย์ของโลกสมัยใหม่ตรงที่ว่า เราเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์

ผมหมายความว่า เราไม่มีกลไกที่จะกำกับควบคุมให้เป็นไปตามนโยบาย จากหัวลงไปถึงหางล่างสุด นโยบายนั้นมีได้ แต่ปฏิบัตินโยบาย (implement)ไม่ได้ เช่นเดียวกับมีรัฐบาล (government)ได้ แต่ปกครอง (govern)จริงๆ ไม่ได้

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะวิถีปกครอง (governance) ของเราไม่ดี แต่เพราะโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของเรา ไม่อำนวยให้รวมศูนย์ได้ในความเป็นจริง

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่นโยบายของรัฐจะถูกนำไปปฏิบัติอย่างลักลั่น, ไม่ตรงเป้า, ไม่มีประสิทธิภาพ, หรือแม้แต่ถูกเพิกเฉยเมยอยู่เป็นประจำ บริการใดที่นโยบายของรัฐมุ่งจะให้แก่ประชาชน คนที่ควรได้รับบริการนั้นที่สุดกลับเข้าไม่ถึง (เช่น จนเกินกว่าจะเสียค่ารถไปใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกโรค, ยืมเงินกองทุนหมู่บ้านไปใช้หนี้ ธ.ก.ส. และยืมเงิน ธ.ก.ส.มาใช้หนี้กองทุน, อยากงดขายเหล้าในวันสงกรานต์ก็ทำได้แค่คิด ฯลฯ)

เหตุอย่างหนึ่งที่พูดกันมามากก็คือ ระบบราชการของเราไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็จริง แต่ระบบราชการนั่นแหละเป็นตัวอย่างอันดีของกลไกรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์ เพราะอำนาจที่จะควบคุมข้าราชการไม่ได้มาจากระบบราชการเพียงอย่างเดียว แต่มาจากอำนาจอื่นๆ นอกระบบราชการอีกมาก นับตั้งแต่นักการเมือง, ทุนใหญ่ๆ, เสี่ยประจำอำเภอ, หัวคะแนน, สินบนที่ไม่ได้ให้แก่เขาโดยตรง แต่ให้แก่นายของเขาอีกทีหนึ่ง ฯลฯ

ข้าราชการก็ไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหน เขาย่อมปฏิบัตินโยบายในลักษณะที่ประนีประนอมกับอำนาจนอกระบบซึ่งเขาต้องยอมจำนนเป็นธรรมดา

ไม่เฉพาะแต่กลไก แม้แต่ศูนย์ของรัฐเอง ก็มาจากการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของคนหลากหลายกลุ่ม ข้อนี้ไม่แปลกอะไร และในรัฐรวมศูนย์ที่ไหนๆ ก็ควรเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น แต่ที่แปลกก็คือกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มที่มีโอกาสเข้าไปไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ กันนั้น แม้จะหลากหลาย แต่ก็เป็นคนจำนวนไม่มากนัก (เมื่อเทียบกับสังคมไทยโดยรวม) ประกอบด้วยกลุ่มทุนหลากหลายประเภท, เทคโนแครต, นักการเมืองหลายระดับ, ทหาร, ผู้ดีเก่า, และสื่ออันเป็นตัวแทนของคนชั้นกลาง ทั้งหมดนี้รวมกันอาจเรียกว่าเป็นชนชั้นนำ (elite) ของสังคมไทย

ศูนย์ของรัฐไทยจึงเป็นเวทีที่เปิดให้ชนชั้นนำจำนวนน้อยเหล่านี้เท่านั้นเข้าถึงได้ เพื่อใช้เวทีนี้ในการต่อรองนโยบาย ส่วนวิธีการเข้าถึงเวที จะผ่านระบอบเลือกตั้งหรือระบอบรัฐประหารก็ไม่สำคัญ เพราะทั้งสองระบอบย่อมเปิดให้ชนชั้นนำหลากกลุ่มเหล่านี้เข้าถึงรัฐได้ เหมือนๆ กัน

ด้วยเหตุดังนั้น แม้แต่นโยบายที่ศูนย์วางไว้ ก็มีช่องให้ปฏิบัตินโยบายอย่างลักลั่นมาแต่แรกแล้ว เช่นเราจะรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ยกเว้นเหมืองตะกั่วของเพื่อนนักการเมือง หรือโรงเหล็กที่ชนชั้นนำเป็นกรรมการบริษัท หรือเราจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนให้มาก ยกเว้นต้องเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้แก่บริษัทของกลุ่มชนชั้นนำได้สัมปทานก่อน

รัฐไทยจึงเป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีเวทีแคบๆ ไว้สำหรับชนชั้นนำจำนวนน้อย กีดกันคนส่วนใหญ่อยู่นอกเวที เป็นรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์

เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการนั่งนับวันรอว่า เมื่อไรคนอื่นเขาจะฟื้นตัวพอที่จะดึงเราขึ้นไปด้วยได้ ถึงอย่างไรก็ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้

วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 10 ปีก่อน เราคิดกันถึงการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) เมื่อต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เครือข่ายดังกล่าวก็ยังไปไม่ถึงไหนในรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์นี้


ทางออกจากความเป็นรัฐรวมศูนย์ที่ไม่มีศูนย์นี้มีอยู่สองอย่างเท่านั้น หนึ่งคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ และสองคือประชาธิปไตย

เผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ใช่สิ่งที่กองทัพไทยทำได้ และประเทศไทยไม่เคยผ่านเผด็จการเบ็ดเสร็จเลย ยกเว้นในช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระหว่างสงครามโลก แต่จอมพล ป.ไม่มีกลไกที่จะทำให้เผด็จการของท่านเบ็ดเสร็จไปได้ มีเครื่องมืออยู่อันเดียวคือวิทยุกรมโฆษณาการ ก็กระจอกเกินกว่าจะสร้างเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

เผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นได้ ต้องมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน มีการจัดตั้งมวลสมาชิกที่เกิดขึ้นจากการปลูกฝังให้ยึดมั่นในอุดมการณ์นั้น อย่างกว้างขวางพอสมควร เถลิงอำนาจแล้วก็ต้องมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพรองรับ หากไม่มีก็ต้องจัดองค์กรให้สมาชิกตามไปกำกับควบคุมระบบราชการได้อย่างรัดกุม

กองทัพไทยทำไม่ได้หรอกครับ

ในเมืองไทย ผมเห็นว่าคนที่จะทำได้มีเพียงสองกลุ่มเท่านั้น คือ พคท. ซึ่งก็แพ้ราบคาบไปแล้ว และสันติอโศก ซึ่งหากทำได้เมื่อไร มหาอำนาจทุนนิยมก็จะกล่าวหาว่าเป็น "ทาลิบัน 2" อย่างแน่นอน และก็คงบ่อนเซาะให้พังโดยเร็ว


ทางเลือกเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ จึงเหลือทางเลือกอยู่ทางเดียวคือประชาธิปไตย

ผมไม่ได้หมายถึงวิธีการ (เช่นมีการเลือกตั้ง, มีรัฐสภา, มีศาลที่เป็นอิสระ, ฯลฯ) ทั้งๆ ที่วิธีการก็มีความสำคัญอย่างที่ละเลยไม่ได้ แต่ผมหมายความว่า เป้าหมายคือการเปิดเวทีของรัฐรวมศูนย์ให้กว้าง เพื่อให้ทุกคน ทุกสถานภาพ สามารถเข้ามาเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน จนเกิดนโยบายที่พอรับได้แก่ทุกฝ่าย

เพียงแต่มีนโยบายที่เห็นพ้องต้องกันในวงกว้างแค่นี้ การปฏิบัตินโยบายก็มีทางจะมีประสิทธิภาพ โดยไม่ลักลั่น ได้ง่ายขึ้น

เวทีดังกล่าวนั้นไม่ใช่รัฐสภาเพียงแห่งเดียว เพราะหากเปิดที่รัฐสภาเพียงแห่งเดียว ก็เท่ากับต้องพึ่งการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเต็มตัวเท่านั้น

และการเลือกตั้งที่ "บริสุทธิ์ยุติธรรม" ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มนั้นไม่เคยเกิดที่ไหนในโลก ก็จะเป็นเหตุให้ถูกกลุ่มที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งทำลายความชอบธรรมได้เสมอ



เวทีที่เปิดกว้างของระบอบประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนั้น ประกอบด้วยสองส่วนคือเวทีท้องถิ่นระดับต่างๆ หนึ่ง และเวทีสื่ออีกหนึ่ง

เวทีท้องถิ่นที่จะเปิดกว้างพอและทำงานได้ผลนั้น ต้องหมายถึงมีอำนาจอย่างชัดเจนในขอบเขตหนึ่ง เช่นคณะกรรมการป่าชุมชนที่มีอำนาจออกระเบียบการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ป่า ได้จริง, คณะกรรมการน้ำของชุมชนซึ่งมีอำนาจในการจัดการน้ำของชุมชน, คณะกรรมการขยะระดับชุมชนไปถึงระดับจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ซึ่งต้องวางนโยบายร่วมกันและมีอำนาจในการจัดการขยะในความรับผิดชอบได้จริง, ฯลฯ เป็นต้น แน่นอนเวทีท้องถิ่นย่อมรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วย แต่ต้องเป็นองค์กรที่ปราศจากเงาอำมหิตของมหาดไทย และเป็นองค์กรที่ประชาชนอาจตรวจสอบได้ โดยผ่านกระบวนการทางสังคมและการเมือง

การตัดสินใจขององค์กรท้องถิ่นต่างๆ เหล่านี้จะผูกมัดมิให้เวทีกลางของศูนย์ของรัฐละเมิดได้ในระดับหนึ่ง ยกเว้นการตัดสินใจนั้นละเมิดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจพิพากษาให้เพิกถอนได้ ฉะนั้นแม้ว่า ส.ส.และพรรคการเมืองไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนระดับล่างในชุมชน (เพราะซื้อเสียงหรือเพราะอะไรก็ตามที) อำนาจในการออกกฎหมายของ ส.ส.ก็จะถูกจำกัดลง และต้องไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กับกลุ่มคนระดับล่างๆ ที่ไม่มีตัวแทนในสภาด้วย

หลายเรื่องที่สำคัญและเป็นไปได้ ควรตัดสินกันด้วยประชาธิปไตยทางตรง คือการลงมติของประชาชนทุกคน โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน อย่างที่พวกเสื้อเหลืองว่าแหละครับ ถึงเวลาจะต้องใช้ประชาธิปไตยทางตรงกันให้มากขึ้น แต่ประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้หมายถึงท้องถนน หรือหมายถึงการชุมนุมของคนในสถานภาพเดียว (ซ้ำยังเป็นได้แค่ผู้ชม) ท้องถนนเป็นเวทีสาธารณะแน่ การเรียกร้องของคนเพียงบางสถานภาพก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมแน่ แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการต่อรองของประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด


เวทีสำคัญอีกอย่างของประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็คือสื่อ แต่สื่อไทยก็คล้ายกับรัฐไทย กล่าวคือไม่ได้เปิดให้คนทุกสถานภาพเข้าถึง จะต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่สื่อเปิดให้คนชั้นกลางเข้าถึงได้มากกว่ารัฐ แม้กระนั้นก็ไม่ใช่คนไทยส่วนใหญ่อยู่ดี นอกจากนี้คนชั้นกลางก็แตกตัวออกไปหลายกลุ่มหลายทรรศนะ ฉะนั้นคนชั้นกลางที่เข้าถึงสื่อก็ไม่ได้รวมคนชั้นกลางอีกหลายกลุ่มไว้ด้วย

และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดสื่อชนิดใหม่หรือสื่อทางเลือกขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชนหรือทีวีดาวเทียม หรือสื่อออนไลน์ชนิดต่างๆ แต่รัฐ (สมัยรัฐประหาร คมช.) ก็ออกกฎหมายคอมพิวเตอร์มากีดกันจำกัดเสรีภาพบนสื่อทางเลือกชนิดนี้ (กฎหมายฉบับนี้ต้องยกเลิกทั้งฉบับ จำเป็นก็เขียนขึ้นใหม่ หากต้องการใช้ประชาธิปไตยเพื่อสร้างรัฐรวมศูนย์ที่มีประสิทธิภาพ) ซึ่งในอนาคตจะเป็นเวทีกลางสำหรับการเข้าถึงรัฐอย่างสำคัญ

ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกต้องที่ออกแบบให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง อันที่จริงรัฐรวมศูนย์ที่ไหนๆ ก็ต้องการฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ผิดตรงที่ไปเข้าใจว่าความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารมาจากการควบคุมสภา ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร (หรือรัฐ) ต้องมาจาก การเปิดเวทีที่กว้างขวางสำหรับให้คนทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมต่อรองเชิงนโยบาย และร่วมได้ในหลายรูปแบบต่างหาก


.