.
พรรคของผม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ ฉบับวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:30:00 น.
ถ้าผมมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองเหมือนคุณบรรหาร คุณสุวัจน์ คุณทักษิณ คุณเนวิน หรือคุณสนธิ ผมจะเสนอนโยบายบางอย่างแก่ผู้เลือกตั้ง และหวังว่าพรรคของผมจะได้รับเลือกตั้งจำนวนมาก ไม่ในครั้งนี้ก็ครั้งหน้า ผมขอเสนอเพียงบางนโยบายที่ตรงกับการหาเสียงของพรรคการเมืองเวลานี้
1.พรรคของผมจะไม่ลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่การผ่อนรถคันแรก แต่กลับมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวัน โดยทำให้การขนส่งสาธารณะมีความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น และเพื่อจะทำอย่างนั้นได้ ไม่ใช่การทุ่มเงินลงไปสร้างรถไฟเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขจัดรถส่วนบุคคลออกไปจากท้องถนนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย ฉะนั้นในระยะยาวแล้ว พรรคของผมจะทำให้การใช้รถยนต์มีต้นทุนสูงขึ้นตลอด นับตั้งแต่ที่จอดรถซึ่งหาได้ยากขึ้น ห้ามนำรถขึ้นจอดบนทางเท้าอย่างเด็ดขาด เปิดพื้นที่ถนนแก่รถสาธารณะเป็นพิเศษ ฉะนั้นรถส่วนบุคคลจะเดินทางได้ช้าลงกว่ารถสาธารณะอย่างเทียบกันไม่ได้
2.พรรคของผมจะไม่ลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่การซื้อบ้านหลังแรกเหมือนกัน เพราะต้นทุนของบ้านและที่อยู่อาศัยซึ่งแพงมากขึ้นทุกขณะนั้น เกิดจากการปล่อยให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าเก็งกำไร ที่ดินกลายเป็นต้นทุนของบ้านมากกว่าตัวเรือนหลายเท่าตัว หากมีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง ราคาที่ดินก็จะลดลงเพราะถูกคายออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ราคาของบ้านก็จะลดลงตามไปด้วย พรรคของผมจะสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่จะทำให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำลง เช่น การใช้วัสดุที่เอามาเชื่อมต่อกันได้ง่าย (pre-fabricated) ลดค่าใช้แรง และลดราคาของวัสดุลงไปพร้อมกัน
เรื่องนี้ไม่ต้องกินเวลานานนัก เพียงแค่ประกาศอัตราภาษีทรัพย์สิน (รวมที่ดิน) ในอัตราก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่อที่ดินที่มีปริมาณเกินกว่ากำหนด ภายในปีเดียว ก็จะมีผู้คายที่ดินออกมาจำนวนมากจนทำให้ราคาที่ดินลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
3.หากพรรคของผมจะรับประกันหรือรับจำนำพืชผลการเกษตร ก็จะเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น เราไม่มีกำลังพอจะยกพืชผลการเกษตรของไทยให้พ้นไปจากกลไกราคาของตลาดโลกได้
ปัญหาหลักของเกษตรกรรมไทยไม่ได้อยู่ที่ราคาพืชผลซึ่งอาจตกต่ำในบางปี แต่อยู่ที่สองเงื่อนไข คือต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป และการที่เกษตรกรเข้าไม่ถึงตลาดที่เสรีและเป็นธรรมต่างหาก
นอกจากการปฏิรูปที่ดินจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้อย่างมากแล้ว ยังต้องทำลายการผูกขาดปัจจัยการผลิตในรูปต่างๆ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นต้น ในส่วนการเข้าไม่ถึงตลาดที่เสรีและเป็นธรรม ความขาดแคลนทุนทรัพย์ของเกษตรกร ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง เป็นเพียงปัจจัยเดียว แต่ปัจจัยนี้ก็สามาถแก้ได้อีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เกษตรกรตกเป็นเหยื่อ สำหรับการขูดรีดของทุนแต่เพียงอย่างเดียว เช่น ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สนับสนุนแหล่งเงินกู้ไม่ใช่เพื่อการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด เช่น เพียงมีเงินดำรงชีพได้อีก 3 เดือน ก็จะสามารถต่อรองราคาได้อีกเป็นเท่าตัว เงินกู้ระยะสั้นเช่นนั้นอาจไม่คิดดอกหรือคิดในอัตราต่ำมากๆ ก็ได้
ที่สำคัญกว่านั้นคือการผูกขาดตลาดส่งออกพืชผลการเกษตร ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างขวางกว่าท้องถิ่นให้ได้ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น ตลาดกลางข้าว (ท่าข้าว) เปิดโอกาสการต่อรองแก่เกษตรกรได้มากกว่าการจำนำข้าวผ่านโรงสี เพราะโรงสีต้องแข่งราคากันเอง หรือการทำสัญญาการผลิตระหว่างผู้บริโภคในต่างประเทศกับผู้ผลิตในประเทศไทย (ซึ่งทำกับผลผลิตบางอย่างในประเทศไทยมานานแล้ว)
โดยสรุปก็คือ เป้าหมายระยะยาวของพรรคคือ ปฏิรูปเงื่อนไขการผลิตและตลาดด้านเกษตรกรรม ไม่ใช่เอาเงินภาษีมาเปิดให้นักการเมืองโกงกินในนามของการประกันราคาหรือจำนำ ซึ่งไม่บังเกิดผลจีรังยั่งยืนอะไร หากดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็จะเริ่มเห็นผลบางส่วนในเวลาเพียงปีสองปีเท่านั้น
4.เช่นเดียวกับราคาของพืชผลการเกษตร พรรคของผมจะค่อยๆ เลิกการควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค กระทรวงพานิชย์ไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า แต่มีหน้าที่กำกับดูแลให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรมต่างหาก ฉะนั้นพรรคของผมจะถือว่า การทำลายอำนาจเหนือตลาดเป็นเป้าหมายหลักในการทำให้สินค้ามีราคาเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น ราคาของไก่และหมูไม่ได้ขึ้นลง เพราะความโลภของผู้เลี้ยงไก่และหมู แต่ขึ้นลงตามความโลภของทุนผูกขาด ซึ่งผูกขาดนับตั้งแต่ลูกไก่และลูกหมู ไปถึงอาหารสัตว์ ตลาดส่งออกไข่และเนื้อสัตว์ จนแม้แต่ร้านค้าที่วางจำหน่าย อำนาจเหนือตลาดเช่นนี้แหละที่รัฐบาลของพรรคผมจะต้องบั่นรอนให้ได้
5.พรรคของผมจะให้สัญญาว่า ตัวแทนฝ่ายรัฐในคณะกรรมการไตรภาคีจะร่วมกับตัวแทนฝ่ายแรงงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวเอง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูประบบแรงงานทั้งระบบ
จุดมุ่งหมายหลักคือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งในเวลานี้ทำได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่ของแรงงานต้องทำงานนอกเวลาเพื่อให้พอกิน จึงไม่มีเวลาเหลือสำหรับการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมใดๆ ทั้งสิ้น ที่ต้องเพิ่มค่าแรงเป็นเบื้องต้นก็เพื่อปลดปล่อยแรงงานให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการพัฒนาตนเอง
แต่ระบบค่าตอบแทนต้องแยกจากกันระหว่างรายได้สำหรับดำรงชีพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพพอสมควร กับค่าตอบแทนประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้าน
รัฐบาลของพรรคผมจะตั้งสถาบันอิสระ ที่มีหน้าที่และความชำนาญในการประเมินฝีมือแรงงาน (โดยการปฏิบัติจริง ไม่ใช่จากประกาศนียบัตร) และออกหนังสือรับรองมาตรฐานขั้นต่างๆ ให้แก่ผู้ผ่านการประเมิน ส่วนนี้ควรได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นต่างหากออกไปจากค่าตอบแทนพื้นฐาน
ในขณะเดียวกันกรมการศึกษานอกโรงเรียนและเอกชน จะได้รับการอุดหนุนให้สร้างกระบวนการเรียนรู้ชนิดต่างๆ ในแหล่งโรงงาน พร้อมกันไปนั้นโรงงานที่พร้อมลงทุนพัฒนามาตรฐานการผลิตก็จะได้รับการสนับสนุน อาจเป็นด้านภาษี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการเปิดตลาดใหม่สำหรับสินค้าคุณภาพเป็นต้น
ในขณะเดียวกันกับที่เพิ่มค่าตอบแทนของแรงงาน ก็ควรลดรายจ่ายของแรงงานไปพร้อมกัน เช่น มีที่พักราคาประหยัดในแหล่งอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนในบริเวณใกล้โรงงาน มีสหกรณ์ผู้บริโภคซึ่งอาจมีสัญญากับผู้ผลิตโดยตรง และแน่นอนต้องมีโรงเรียนสำหรับลูกของคนงานในทุกระดับ อันจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับตัวคนงานเองด้วย
6.พรรคของผมจะไม่ให้สัญญาเรื่องเรียนฟรี เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากสิทธินี้ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่กระทรวงศึกษาในรัฐบาลของพรรคผมจะกวดขันให้ฟรีจริงๆ ไม่มีการเก็บเงินแฝงทุกชนิด (เพราะถ้าปล่อยให้ทำอย่างนี้ต่อไป อาจต้องเก็บเงินค่าชอล์กจนได้)
พรรคผมจะดึงกระทรวงศึกษามาทำงานด้านอื่นที่กระทรวงน่าจะถนัดกว่าการบริหารจัดการโรงเรียน เช่น การช่วยอำนวยความสะดวกให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนควรบริหารจัดการโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น (ซึ่งจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก) หรือเอกชน กระทรวงศึกษาเป็นเพียงผู้ควบคุมมาตรฐานที่มีลักษณะยืดหยุ่นสูง
พรรคผมสนับสนุนทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ แต่ทั้งสองอย่างนี้ต้องสามารถเชื่อมโยงกันได้โดยสะดวก ผู้คนสามารถไต่เต้าด้านการศึกษาไปได้โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียน หรือเข้าๆ ออกๆ ตามแต่เงื่อนไขในชีวิต โดยวิธีนี้เท่านั้นที่ครอบครัว โรงงาน ไร่นา สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่บุคคล ฯลฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาได้จริง
เป้าหมายคือขยายการศึกษา (ซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยนานาชนิดในสังคม) และพัฒนาคุณภาพของการศึกษา ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษามากกว่านี้ไปอีกหลายปี เพราะความจริงแล้ว ไทยใช้เงินเพื่อการศึกษาต่อหัวเด็กสูงมาก (กว่าประเทศอื่นที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับเดียวกัน) แต่การศึกษาไทยกลับมีคุณภาพต่ำกว่าประเทศที่ลงทุนน้อยกว่า
7.พรรคของผมจะไม่สัญญาเพียงแต่เพิ่มส่วนแบ่งงบประมาณให้ท้องถิ่นเท่านั้น แต่จะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองได้จริง เรารวมศูนย์การปกครองไว้ที่ส่วนกลางมานานและมากเกินไป ดังนั้นการบริหารจัดการในท้องถิ่นจึงไม่ตอบสนองประชาชน จำเป็นต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในทุกระดับ อำนาจสำคัญคือ อำนาจในการบริหารจัดการและตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรในท้องถิ่น และการพัฒนาของท้องถิ่น
ดังนั้นส่วนแบ่งของงบประมาณที่น่าจะเป็นสิทธิของท้องถิ่นจึงมีสูงมากกว่า 25-35% อย่างที่สัญญากัน
แต่ในขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการบริหารท้องถิ่น ให้ประชาชนมีอำนาจเข้ามาตรวจสอบ กำกับ และควบคุมได้โดยตรง ในขณะที่หน่วยงานของรัฐบาลกลางยังมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ตามเดิม
เอาแค่ 7 เรื่องนี้ก็น่าจะพอแล้วเพื่อใช้ในการหาเสียง (ทั้งๆ ที่มีเรื่องที่น่าจะต้องปรับเปลี่ยนมากกว่านี้อีกแยะ) ถามว่าพรรคของผมจะได้รับเลือกตั้งพอจัดตั้งรัฐบาลเองได้หรือไม่
คำตอบคือไม่หรอกครับ ในการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่หากพรรคของผมสามารถผลักดันประเด็นเหล่านี้ต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้า อย่างต่อเนื่องและอย่างแข็งขัน ผมมั่นใจว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะสังคมไทยในปัจจุบันกำลังต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่อาจหาคำตอบได้จากพรรคการเมือง แค่นี้ก็ยังไม่เป็นไร หากสังคมเข้มแข็งและมองแนวทางการเปลี่ยนแปลงได้ชัด ก็อาจร่วมกันกดดันและกำกับให้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนบ้านเมืองไปได้
ปัญหามาอยู่ที่ว่า สังคมก็ไม่พร้อมเท่าๆ กับพรรคการเมือง ฉะนั้น แทนที่จะตั้งพรรคการเมือง ผมคิดว่าเรามาช่วยกันผลักดันสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่มีผลดีอย่างยั่งยืนดีกว่า
++
พื้นที่สาธารณะ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 30
แม้ใครๆ ก็อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่เอาเข้าจริง เราทุกคนต่างใช้ชีวิตกว่าครึ่งอยู่นอกบ้าน และเกือบครึ่งของชีวิตนอกบ้านนั้นใช้อยู่ในพื้นที่สาธารณะ
นี่ว่าเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพนะครับ หากรวมพื้นที่อันเป็นนามธรรมเข้าไปด้วย เกือบทั้งชีวิตเราล้วนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่
เรยา ทำให้เราร่วมกันวิพากษ์ถกเถียงถึงความดี-ความชั่ว มาตรฐานกุลสตรีไทย, ความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ เราร่วมกันระทึกว่าประชาธิปัตย์จะกลับมาหรือไม่ แม้ระทึกกันไปคนละทางก็ตาม เราร่วมกันไขว่คว้าหาและแสดงตัวตนของเราด้วยการส่งเอสเอ็มเอสไปบอกทีวีว่า บ้านเราอากาศดี
ปราศจากพื้นที่เชิงนามธรรมเหล่านี้ อย่าว่าแต่ชาติไทยเลย สังคมไทยก็ไม่มี
แต่ในที่นี้ผมขอพูดถึงพื้นที่ทางกายภาพเป็นหลัก เพราะเห็นได้ชัดดี
ในหมู่บ้านสมัยโบราณสืบมาจนไม่นานมานี้เอง มีพื้นที่สาธารณะอยู่ทั่วไป วัด, บ่อน้ำ, ป่าใกล้บ้าน, ศาลปู่ตา, โรงเรียน (สมัยเริ่มแรกมี), ท้องนาหลังเก็บเกี่ยว, ฯลฯ
ว่ากันที่จริงแล้ว พื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวในหมู่บ้านสมัยโบราณคาบเกี่ยวกันอย่างมาก เช่น ใต้ถุนเรือนมักเปิดให้คนเดินผ่านได้ ท้องนาหลังเก็บเกี่ยวแล้ว คนอื่นอาจเอางัวควายมาเลี้ยงหรือต้อนผ่าน เด็กๆ ขุดหากบเขียดและแมงอีนูนได้ เป็นต้น
แม้ใครๆ ก็มีสิทธิ์ใช้พื้นที่สาธารณะได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้อย่างอิสระเสรีตามใจตัวเอง เพราะทุกพื้นที่สาธารณะ (รวมพื้นที่สาธารณะที่เป็นนามธรรมด้วย) ล้วนมีกฎเกณฑ์กำกับอยู่ทั้งสิ้น ในสมัยโบราณผู้กำกับอาจเป็นผีซึ่งพอจะเจรจาต่อรองกันได้บ้างเป็นกรณีๆ ไป ( เช่น 'ขอษมาลาโทษ' ) แต่ในสมัยปัจจุบันเป็นกฎหมาย, ระเบียบข้อบังคับ, ประเพณี, การลงทัณฑ์ทางสังคมที่รุนแรง (เช่น รุมประณามผ่านสื่อ) อันเป็นผีที่มีอำนาจมากกว่าผีโบราณมาก เพราะหมายตัวไม่ได้ จึงไม่รู้ว่าจะไปประกอบพิธีขอขมากับใคร
กฎเกณฑ์เหล่านี้ใครตั้งขึ้น?
คำตอบก็คือ ทุกฝ่ายที่ร่วมใช้พื้นที่สาธารณะนั้น ซึ่งอาจออกมาในรูปของจารีตประเพณีในสมัยโบราณ เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนอย่างช้าๆ สิ่งที่ตกลงกันมาในอดีตก็ยังใช้ได้สืบมาอีกนาน แต่ในขณะเดียวกัน ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองด้วย อาจไม่ใช่ในรูปที่มานั่งโต๊ะเจรจากัน แต่ความจำเป็นทำให้ต้องมีการฝ่าฝืนบ่อย ในที่สุดก็อาจปรับเปลี่ยนกฎโดยประนีประนอมความต้องการอย่างใหม่เข้ามาระดับหนึ่ง
ผมขอยกตัวอย่างบ่อน้ำซึ่งทุกคนในหมู่บ้านใช้อาบกิน มักมีกฎเกณฑ์กำกับเพื่อความสะอาด เช่น ห้ามลงไปในบ่อ หรือทิ้งสิ่งโสโครกลงบ่อ หากใครฝ่าฝืนก็มีโทษตามประเพณี เช่น ต้องล้างบ่อและเสียค่าปรับ เป็นต้น ถึงไม่ระบุไว้แน่ชัด แต่ทั้งบ่อน้ำและท่าสาธารณะ มักจะแยกเวลาอาบน้ำระหว่างหญิง-ชาย เช่น ผู้หญิงอาบก่อนตอนบ่ายแก่ๆ ผู้ชายอาบเอาเย็นๆ เป็นต้น เพื่อสะดวกในการขัดสีฉวีวรรณได้ทั่วถึงของทั้งสองเพศ ทั้งหญิงและชายอายที่จะไปอาบน้ำผิดเวลา เพราะส่อเจตนาที่ก่อให้เกิดการนินทาว่าร้ายได้
แต่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ก็หายไปเมื่อประเทศผ่านการพัฒนามากขึ้น วัดซึ่งเคยเป็นของชาวบ้าน ถูกองค์กรศาสนาซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐยึดเอาไป อำนาจของชาวบ้านที่จะเข้าไปตั้งกฎเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่วัดค่อยๆ ลดลงจนไม่เหลืออยู่เลย ศาลปู่ตาและป่าถูกทำลายลง ในเขตเมืองบ่อน้ำสาธารณะถูกทิ้ง เพราะน้ำประปามาถึงบ้าน และต่างนิยมแก้ผ้าอาบน้ำในห้องน้ำส่วนตัวมากกว่า ฯลฯ
ความสัมพันธ์ในเชิงชุมชนลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความสัมพันธ์เชิงสังคมมีความสำคัญมากขึ้น นับวันคนรู้สึกตัวว่าเป็นสมาชิกของสังคมไทยมากกว่าของชุมชนใกล้บ้าน พื้นที่สาธารณะซึ่งชุมชนเคยร่วมกันตั้งกฎเกณฑ์ จึงหายไปหรือหมดความสำคัญลง
พื้นที่สาธารณะใหม่เข้ามามีบทบาทแทน เช่น โรงเรียน (ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดและเสาธง), ศาลาประชาคมซึ่งเป็นสมบัติของรัฐ ภายใต้ความดูแลของกำนันหรือนายอำเภอ, ร้านกาแฟซึ่งเป็นของโก, รับรู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์หรือทีวีวิทยุซึ่งเป็นของเสี่ยต่างๆ เช่นเดียวกับช็อปปิ้งในร้านโกดังหรือร้านสะดวกซื้อ, เดินไปตามถนนของเทศกิจ ฯลฯ
พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ล้วนมีกฎเกณฑ์กำกับอยู่ทั้งสิ้น ไม่ต่างจากพื้นที่สาธารณะในหมู่บ้านโบราณ แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้ร่วมกันตั้งขึ้นเอง อีกทั้งไม่เหลืออำนาจต่อรองกับกฎเกณฑ์ที่ตัวไม่ได้ตั้งขึ้นเอาเลย
ผู้ที่ตั้งกฎเกณฑ์พื้นที่สาธารณะในปัจจุบันก็คือรัฐและทุน ต่างมีอำนาจล้นเหลือในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ตนตั้งขึ้นไว้ในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้
ดังที่ผมกล่าวเป็นนัยยะไว้ในตอนต้นแล้วว่า ชุมชนก็ตาม สังคมก็ตาม เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีพื้นที่สาธารณะ ทั้งพื้นที่ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม เพราะปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่ล้วนเกิดในพื้นที่สาธารณะ ถึงนั่งดูข่าวทีวีในบ้านตัวเอง แต่ที่จริง กำลังมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมอยู่ ทีวีหรือสื่อจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นพื้นที่ซึ่งถูกรัฐและทุนควบคุมกำกับอย่างหนาแน่น ประชาชนเป็นเพียงผู้ดูที่มีบทบาท ได้แค่เพียงส่งเอสเอ็มเอสไร้สาระให้วิ่งใต้จอเท่านั้น
ที่ว่าคนไทยมองการเมืองเหมือนดูมวย ก็..ในชีวิตจริงเราเป็นได้แค่ผู้ดูเท่านั้นจริงๆ นี่ครับ ไหนๆ จะดูกันแล้ว ก็อยากให้มันต่อยกันให้ดูมากกว่า เพราะสนุกดี ตัวการเมืองเองก็เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีรัฐและทุนกำกับอย่างหนาแน่นไม่ต่างจากทีวี
แม้ว่ารัฐและทุนเข้ามากำกับควบคุมพื้นที่สาธารณะมานานแล้ว แต่เราก็อยู่กันมาได้โดยไม่เดือดร้อนนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุผลสองอย่างเป็นอย่างน้อย
อย่างแรกก็คือ พื้นที่สาธารณะแบบเก่าซึ่งเรามีส่วนในการกำหนดกฎเกณฑ์ยังพอเหลืออยู่บ้าง โดยเฉพาะในชนบท เช่น ตลาดไม่ใช่ที่ของพ่อค้าแม่ค้าไว้ขายของเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านยังใช้ตลาดทำอะไรอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น เรี่ยไรเงิน, พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและนินทา, และทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการซื้อขายได้อีกมาก วัดก็ยังเป็นที่จัดงานรื่นเริงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง และแม่งานก็ยังเป็นชาวบ้านมากกว่าผู้ที่สัมปทานการจัดงานไปจากวัด
อย่างที่สองก็คือ พื้นที่สาธารณะซึ่งเกิดใหม่ยังไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ เช่น ทีวีจะรายงานข่าวอะไรก็ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านเองยังมีเวทีสำหรับการต่อรองอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทีวีอีกแยะ
แต่บัดนี้สังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่สาธารณะแบบเก่าที่ชาวบ้านมีส่วนในการวางกำหนดกฎเกณฑ์และกำกับได้ อันตรธานไปเกือบหมดแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไป ผู้คนเข้ามาอยู่ในตลาดกลาง นับตั้งแต่ขายแรงงานไปจนถึงขายสินค้าบริการต่างๆ จำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ตัวสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง
ทำให้ต้องเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะในเงื่อนไขที่อาจจะขัดกับกฎเกณฑ์ซึ่งรัฐ และทุนวางเอาไว้ เช่น ระดมคนไปซื้อน้ำมันพืชเกินกำหนดที่ร้านวางเอาไว้ ก็เมื่อต้องใช้ในการขายอาหารจะให้ซื้อแค่สองขวดได้อย่างไร
การแหกกฎ, การดื้อแพ่ง, การหลบเลี่ยงกฎ, การประท้วงกฎ ฯลฯ ในพื้นที่สาธารณะจึงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เพราะคนไทยหัวดื้อนะครับ แต่เพราะกฎเกณฑ์ที่กำกับการใช้พื้นที่สาธารณะล้วนเป็นกฎเกณฑ์ที่รัฐและทุน ตั้งขึ้นตามอำเภอใจ เพื่อประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น
สิ่งที่เราคาดหวังว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์การใช้พื้นที่สาธารณะ และการเปิดกว้างให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์การใช้ร่วมกันให้มากขึ้น
แต่กลับเป็นตรงกันข้าม เรากลับเห็นความพยายามของรัฐและทุนที่จะกีดกันคนอื่นออกไปจากการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้พื้นที่สาธารณะ ..กทม. จะยกคนเดินถนนขึ้นไปลอยฟ้า เพื่อทำให้ตลาดของหาบเร่แผงลอยเล็กลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนทางเท้าซึ่งอยู่นอกกฎเกณฑ์ไม่สามารถทำได้ ..กทม. ห้ามใช้สนามหลวงสำหรับการอื่นใด นอกจากฉลองพระชนมายุครบ 7 รอบ ทั้งๆ ที่สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐและทุนเข้ามาใช้จำนวนมาก
..สี่แยกราชประสงค์ถูกสมมติว่าเป็นพื้นที่สำหรับทุนโดยเฉพาะ แม้แต่การชุมนุมเพื่อเริ่มขบวนระลึกครบรอบ 1 ปี การล้อมปราบของรัฐก็ไม่ควรทำ
รัฐออกกฎหมายการชุมนุม เพื่อทำให้การใช้พื้นที่สาธารณะทางการเมืองเป็นอำนาจอนุมัติของรัฐ ไม่ใช่สิทธิพลเมือง
สื่อทุกชนิดโดยเฉพาะสื่อออนไลน์กำลังถูกแทรกแซงควบคุมอย่างหนัก เพราะนี่เป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ที่รัฐและทุนยังเข้าไปยึดหมดไม่ได้ เช่นเดียวกับทีวีทั้งออนไลน์และดาวเทียม
กล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีพื้นที่สาธารณะก็ไม่มีสังคม สังคมไทยกำลังเปลี่ยนมาสู่จุดที่ต้องการพื้นที่สาธารณะ อีกอย่างหนึ่งคือพื้นที่สาธารณะที่ทุกฝ่ายเข้าไปร่วมกำหนดกฎเกณฑ์การใช้ร่วมกัน ถ้าพื้นที่อย่างนี้ไม่เกิด สังคมไทยก็จะพบความสมานฉันท์ได้ยาก
เพราะสมานฉันท์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่เป็นผลมาจากการประนีประนอม การประนีประนอมก็เกิดขึ้นได้จากการมีพื้นที่สาธารณะสำหรับการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย