http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-16

"พายเรือทวนน้ำ" และ "ตัวช่วยปากไว ใจสั่นหวิว"

.

สารพัด"โพลเลือกตั้ง" ชี้"ยิ่งลักษณ์"พุ่งแรง! "มาร์ค"พายเรือทวนน้ำ ของจริงหรือปั่นกระแส?
คอลัมน์ ในประเทศ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 10



นับจากพระราชกฤษฎีกายุบสภามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พร้อมกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 3 กรกฎาคม

ถึงวันนี้ ทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้ผ่านเวลาหาเสียงกันมาแล้วครึ่งทาง ด้วยบรรยากาศหักเหลี่ยมเฉือนคม เข้มข้น ดุเดือดมากขึ้นทุกขณะ

โดยเฉพาะการห้ำหั่นระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย

กับพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง "โคลนนิ่งทักษิณ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 เดินหน้าสู่เป้าหมายนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

ระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองนี้เอง สถาบันทางวิชาการหลายแห่งจัดทำโพลสำรวจคะแนนนิยมขึ้นมา มุ่งเน้นไปที่ 2 พรรคใหญ่ และคู่แคนดิเดตนายกฯ

ถึงผลสำรวจโพลจะไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย แต่ก็สะท้อนถึงแนวโน้มได้น่าสนใจไม่น้อย


เริ่มที่ เอแบคโพล ทำการสำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำ ระหว่าง "อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์" ต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ในทุกช่วงเวลา 15 วัน

ผลสำรวจที่ออกมา 3 ครั้ง ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าในคะแนนนิยมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะ "ก้าวกระโดด"

ขณะที่ในส่วนของนายอภิสิทธิ์ ถึงจะยังเหนือกว่าเกือบจะทุกด้าน แต่ก็เป็นความเหนือกว่าที่ "หยุดนิ่ง" และหลายตัวมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายนำหรือฝ่ายไล่กวดตามกระชั้นชิด

หากเปิดใจกว้างยอมรับผลสำรวจโพลที่ออกมา ก็จะได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่า ได้รู้ว่าอะไรคือ "จุดอ่อน"ที่ต้องปรับปรุง และอะไรคือ "จุดแข็ง"ต้องรักษาไว้ นั่นคือข้อดีของการทำโพล

แต่อีกด้านหนึ่ง ผลโพลอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะแพ้ ต้องเร่งหา "ตัวช่วย" อย่างอื่นมากอบกู้สถานการณ์ให้กลับมา"เป็นต่อ" โดยเร็ว

เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "ซึมยาว"ไปจนถึงวันเลือกตั้ง



จากการเปิดเผยผลสำรวจเอแบคโพลล์ที่ทำขึ้นระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน ต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ระหว่าง "อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์"

พบว่านายอภิสิทธิ์ ได้รับเสียงโหวตสูงกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกือบทุกด้าน ยกเว้นความสำเร็จทางธุรกิจและฐานะร่ำรวย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตั้งข้อสังเกตถึงผลสำรวจครั้งนั้นว่า "อาจเป็นเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีโอกาสมากเพียงพอในการแสดงความเป็นผู้นำให้ปรากฏต่อสาธารณชน"

ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเพิ่งแถลง "เปิดตัว"น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ด้วยการลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม

ต่อมาในการสำรวจครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม ในช่วงเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยจับได้เบอร์ 1 เป็นหมายเลขประจำพรรคในการทำศึกเลือกตั้ง

โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าที่ "แม่ทัพหญิง" เคลื่อนทัพหลวงเพื่อไทยออกตระเวนเดินสายหาเสียงอย่างเป็นทางการ

ผลการสำรวจพบว่า ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกด้านอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

ยกตัวอย่าง ด้านความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ จากร้อยละ 9.7 เป็น 16.2 การได้รับการยอมรับจากในประเทศและต่างประเทศ จาก 11.3 เป็น 17.7

ด้านความเป็นผู้นำ จาก 12.9 มาอยู่ที่ 20.4 ด้านความรู้ความสามารถ จาก 10.9 เพิ่มเป็น 16.7 ด้านจริยธรรมทางการเมือง จาก 11.0 เพิ่มเป็น 16.4 ด้านวิสัยทัศน์ เพิ่มจาก 15.2 มาอยู่ที่ 21.7 ด้านความซื่อสัตย์สุจริต จาก 10.3 เป็น 14.7

ด้านความเป็นคนรุ่นใหม่ จาก 19.6 เป็น 29.3 ความกล้าคิดกล้าตัดสินใจ จาก 19.0 เป็น 25.7 ด้านการแก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้ง จาก 14.3 เป็น 19.0 ความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา เพิ่มจาก 15.6 เป็น 21.3 เป็นต้น

ขณะที่ค่าตัวเลขฝั่งของนายอภิสิทธิ์ ถึงยังครองความเหนือกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ก็ลดลงเกือบทุกตัว โดยเฉพาะด้านความเป็นคนรุ่นใหม่ ลดจากร้อยละ 42.8 มาอยู่ที่ 36.0



ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ อธิบายค่าตัวเลขดังกล่าวว่า

ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาจากกลุ่มคนที่ไม่มีความเห็นในการสำรวจครั้งแรก และเป็นกลุ่มคนที่เริ่มตัดสินใจหลังจากได้รับข้อมูลข่าวสาร

และมีความชัดเจนของการเปิดตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะคู่ชิงนายกฯ

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ออกมาตอบโต้ผลโพลดังกล่าว

"ผมยังงงอยู่ อย่างที่พาดหัวข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พุ่งแรง ความจริงแล้วชนะผมอยู่ตัวเดียวเหมือนเดิม คือ รวยกว่า นอกนั้นไม่ได้แตกต่างจากรอบแรก"

ดูเหมือนว่าผลโพลที่ออกมา ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้นายอภิสิทธิ์ ด้วยเหตุที่ว่าตัวเลขเกือบทุกด้านยังนำอยู่ อีกทั้งยังมีคนเกือบครึ่งที่ยังไม่ตัดสินใจ

แต่แล้วผลการสำรวจเอแบคโพลล์ ครั้งที่สาม ระหว่าง 30 พฤษภาคม-4 มิถุนายน ก็ได้ตอกย้ำว่า การที่สื่อพาดหัวข่าว "ยิ่งลักษณ์พุ่งแรง" นั้น ไม่ผิดไปจากความจริงแต่อย่างใด

เนื่องจากแนวโน้มฐานสนับสนุนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งแรกอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติหลายตัว

นายนพดล ยกตัวอย่างเช่น ความอดทนอดกลั้น ควบคุมอารมณ์ จากร้อยละ 9.7 ในครั้งแรก มาอยู่ที่ 31.6 ในครั้งที่สาม ด้านการยอมรับจากในและต่างประเทศ จาก 11.3 เพิ่มเป็น 29.3 ด้านความเป็นผู้นำ จากครั้งแรก 12.9 มาอยู่ที่ 32.5

ด้านจริยธรรมทางการเมือง การมีวิสัยทัศน์ ความมีเสน่ห์น่าเลื่อมใสศรัทธา ล้วนเพิ่มขึ้นแทบทุกด้าน ถึงแม้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ จะยังต่ำกว่าหลายตัว

แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับผลสำรวจครั้งแรก จะพบว่าตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์ได้รับ ค่อนข้าง "นิ่ง" และมีแนวโน้ม "ลดลง" หลายตัว

นายนพดล ยังชี้ถึงความหมายซ่อนเร้นในผลสำรวจครั้งล่าสุดว่า แนวทางที่จะเพิ่มฐานสนับสนุนต่อนายอภิสิทธิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่น่าได้มาจากการ "ดีเบต"

แต่น่าจะมาจากการ "ลงมือทำจริง" ให้ชาวบ้านเห็น



ไม่ใช่แค่เอแบคโพลล์ที่ชี้ให้เห็นถึงความ "พุ่งแรง" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย

แต่ยังมีโพลอีกหลายสำนักที่สำรวจพบถึงแนวโน้มคล้ายๆ กันนี้

ไม่ว่า "สวนดุสิตโพล" ที่จากการสำรวจในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครั้งแรกพบว่าเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 41.22 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 36.8 ครั้งที่สอง พรรคเพื่อไทยยังคงมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ในระดับร้อยละ 43.16 ต่อ 37.45

เช่นเดียวกับ "กรุงเทพโพลล์" สำรวจความคิดเห็นคนกรุงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พบพรรคที่ได้คะแนนนิยมมากที่สุด ในระบบบัญชีรายชื่อ คือเพื่อไทย ร้อยละ 25.8 ประชาธิปัตย์ 14.7

ระบบแบ่งเขต เป็นของเพื่อไทยร้อยละ 26.3 เป็นของประชาธิปัตย์ 15.2

ส่วนบุคคลที่อยากได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 26.9 นายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 17.4

ด้าน "นิด้าโพล" ครั้งแรก สำรวจต้นเดือนพฤษภาคม พบคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย นำพรรคประชาธิปัตย์อยู่เล็กน้อย แต่ยังมีกลุ่มพลังเงียบ หรือกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจอีกเกือบร้อยละ 50

จนมาชัดเจนในการสำรวจครั้งล่าสุด ระหว่าง 1-2 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบในภาพรวมระบบแบ่งเขต เพื่อไทยมีคะแนนนิยม ร้อยละ 16.50 ส่วนประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.19

ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อไทย ร้อยละ 16.67 ประชาธิปัตย์ 9.19

การที่ผลสำรวจสารพัดโพลออกมาทิศทางเดียวกันเช่นนี้

ด้านหนึ่ง คือ การฉายให้เห็นถึงการ"จุดติด" ของกระแสยิ่งลักษณ์ ที่เหมือนการ "พายเรือตามน้ำ" ไม่ต้องทำอะไรมากกระแสน้ำก็สามารถพัดพาไปถึงเป้าหมาย

ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพการ"พายเรือทวนน้ำ"ของนายอภิสิทธิ์ ว่าถ้าหากต้องการเคลื่อนนาวาประชาธิปัตย์ไปข้างหน้า จำเป็นต้องออกแรงพายเหนื่อยหนักเป็นสองเท่า

หรือไม่ก็ต้องหาทาง "เจาะใต้ท้องเรือ" ฝ่ายตรงข้ามให้ได้

เหมือนอย่างที่บางคนในแนวร่วมของประชาธิปัตย์พยายามทำอยู่ตอนนี้



++

จับสัญญาณ ถึง "ปชป." "บิ๊กป้อม" คัมแบ๊ก ทหารพร้อม 3 ก.ค. และเรื่องของ "พี่ตู่" กับ "น้องปู ยิ่งเลิฟ"
คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 14


ท่ามกลางกระแสความแรงของ "นารี ขี่ม้าขาว" อย่าง ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยที่มีชัยชนะในการเลือกตั้งในโพลทุกสำนัก และในความรู้สึกของคนทั่วไป กับความเหิมกระหึ่มของคนเสื้อแดงเองก็ตาม

แต่ใครจะรู้บ้างว่า ในหมู่ของคนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กองทัพ และสายอำมาตย์แล้ว ยังคงมีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า ยังไงเสีย พรรค ปชป. จะต้องเป็นรัฐบาลอีกครั้งแน่นอน แม้ว่าจะไม่ได้ชนะการเลือกตั้งหรือได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดในสภาก็ตาม

ไม่มีใครรู้ว่า มีใครมากระซิบอะไรให้ทางพรรค ปชป. และคนใกล้ตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

แต่จะเห็นได้ว่าบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไม่ได้ออกอาการเดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากนักว่า หากอำนาจเปลี่ยนขั้วแล้ว ตนเองจะต้องเดือดร้อน ถูกปลดย้ายหรือไม่

ถึงขั้นที่แกนนำรัฐบาลบางคน มีการบอกเล่ากับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไว้แล้วว่า "ถ้า ปชป. กลับมาอีกครั้ง พี่ป้อมต้องมาเป็น รมว.กลาโหม ให้ผมอีกครั้งนะครับ"

อันเป็นเรื่องที่รับรู้กันวงในอยู่แล้วว่า พล.อ.ประวิตร จะมาสานต่องานของกองทัพต่อไป แม้ว่าใจจริง เขาคิดที่จะเป็นรองนายก

รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แล้วให้บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. มาเป็น รมว.กลาโหม แทนก็ตาม

"ผมไม่เล่นการเมือง แต่ถ้าจะให้ช่วยงานช่วยชาติบ้านเมือง หรือช่วยดูแลกองทัพ ก็จะพิจารณาอีกครั้ง แต่ตอนนี้ ต้องดูก่อนว่าใครจะเป็นรัฐบาล" พล.อ.ประวิตรกล่าว

"แต่ยังเชื่อว่า ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ควรยุ่งกับกองทัพ เพราะกองทัพไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ทำตามหน้าที่ที่รัฐบาลสั่งการ" บิ๊กป้อม กล่าว

ตลอดเวลาที่เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ดูแลกองทัพอย่างดีที่สุด ไม่ว่าต้องการได้อะไรที่จำเป็น ตนก็สนับสนุน แล้วก็พูดคุยกับรัฐบาลให้เสมอ

"แต่อย่ามาหาว่า รัฐบาลเอาใจทหาร ด้วยการให้ซื้ออาวุธ หรืองบประมาณให้มากมายนะ ทุกอย่างที่เสนอมีเหตุผล ความจำเป็น และขั้นตอนทุกอย่าง" พล.อ.ประวิตร กล่าว

ที่สำคัญ เขาสยบข่าวลือที่ว่า ทหารเรือไม่พอใจเพราะเหตุที่เขาไม่อนุมัติให้ซื้อเรือดำน้ำเยอรมัน 7.5 พันล้าน

"ผมดูแลทุกเหล่าทัพเท่าเทียมกัน ไม่ว่า ทบ. ทอ. หรือ ทร. ไม่ใช่ว่าเอาแต่ ทบ. เพราะผมเป็น ทบ. ไม่มีใครเป็นลูกเมียน้อย รักลูกเท่ากันหมด ทร. ก็ได้ซ่อมเรือไม่ใช่น้อยนะ ไม่ใช่ไม่ได้อะไรเลย

แต่เรือดำน้ำนี่ ท่านนายกฯ และผมเห็นว่า มันยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แล้วปลายรัฐบาลอีกด้วย ผมได้บอกกับ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ

ผบ.ทร. คุยกันล่าสุดแล้วว่าให้รอรัฐบาลหน้า ถ้าได้มาเป็นแล้วค่อยว่ากัน ผบ.ทร. ท่านก็เข้าใจ" พล.อ.ประวิตร กล่าว



ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า หากชะตาฟ้าลิขิต พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แบบไม่ต้องง้อพรรคร่วมรัฐบาล แบบที่กองทัพ ไม่สามารถแทรกแซงอะไรได้แล้ว พล.อ.ประวิตร ก็อาจจะเลือกจบชีวิตการเมือง ด้วยการสละโสด แต่งงานครั้งแรกในชีวิตเสียที กับเจ้าสาวที่คนในกองทัพรู้จักกันดี ก็เป็นได้

แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตร จะรู้ "สัญญาณพิเศษ" อะไรบางอย่าง เพราะเขาเตรียมพร้อมในการสานงานต่อ และก็ดูไม่อาทรร้อนใจอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้

"ให้รอดูแล้วกันว่าใครจะเป็นรัฐบาล แล้วตอนนั้นค่อยมาคิดมาว่ากัน" บิ๊กป้อม กล่าว เมื่อถูกถามว่า พรรคเพื่อไทยจะล้างบาง แก้แค้นกองทัพ หรือไม่

แต่การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน กองทัพจึงต้องไม่ประมาท เวลานี้ ทหารจึงถูกส่งลงพื้นที่ในหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย

บิ๊กเยิ้ม พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และบิ๊กหยอย พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนรัก เตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ รับบทหนัก เพราะรู้ดีว่าในพื้นที่สีแดงนี้ ทหารเข้าไปทำอะไรไม่ได้มากนัก

"ลงพื้นที่ไปคุมๆ กันๆ ไว้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ทหารเราไปอยู่ไปป้องปราม คุมเชิงมันไว้ ให้มันทำอะไรไม่สะดวก" สายข่าวทหารในภาคเหนือเผย



แต่พื้นที่สำคัญที่กำลังดุเดือด ก็คือ จ.ราชบุรี ที่มีบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ญาติผู้พี่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงสมัคร ส.ส. เพื่อหวังโกยคะแนนทหาร เพราะเป็นเมืองทหารช่าง ซึ่ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ก็เป็นทหารช่างที่อยู่ที่นี่มายาวนาน ภายใต้ม็อตโต้ "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ไม่บิดเบือนความจริง ไม่นิ่งดูดายในปฐพี ไม่ดีแต่พูด" ที่ยิ่งถูกใจทหาร

ความแรงของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สบายใจอย่างมาก เมื่อรู้ว่าทหารช่างและทหารในพื้นที่จำนวนไม่น้อย จะเทคะแนนให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ เพราะความเป็นนายและลูกน้องเก่า ที่เข้าถึงค่าย ถึงประตูบ้านได้

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเรียก พล.ท.นิพนธ์ ปานมงคล เจ้ากรมการทหารช่าง เข้าพบที่ บก.ทบ. ถึง 2 รอบ รอบละ 1-2 ชั่วโมง

แบบที่เจ้ากรมทหารช่าง ที่แม้จะเป็น ตท.11 รุ่นพี่ ผบ.ทบ. แต่เจอแบบนี้ก็ต้องเดินหน้าเครียดออกมาจากห้อง ผบ.ทบ. เลยทีเดียว


อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ไม่มีอะไรกัน แต่มาตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฝากคนใกล้ชิดไปบอกให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ย้ายออกจากบ้านใน ร.1 รอ. เพราะรู้ว่าใช้เป็นสถานที่ประชุมทางการเมือง จน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ต้องยอมย้ายออกไปนั้น ได้เกิดรอยร้าวขึ้น

โดย ทบ. ต้องการพื้นที่นี้ในการขยายพื้นที่บ้านหลังใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังสร้างไปราว 40% แล้ว

จนถูกมองว่า กองทัพไม่อาจยอมรับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ให้มาเป็น รมว.กลาโหมได้ แม้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ประกาศไปแล้วว่า "หากมาเป็น รมว.กลาโหม ก็จะไม่แตะต้อง ไม่โยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์"

"ทำไม ผมเคยเป็น ผบ.ทบ. เคยเป็นนายพวกเขามาหมด ถ้าผมมาเป็น รมว.กลาโหม ผมจะเข้าใจกองทัพ แล้วทักษิณเขาบอกแล้วว่า ถ้าพี่ตุ้ย หมายถึงผมเนี่ย ถ้าได้เป็น ส.ส. อยากจะเป็นตำแหน่งอะไร ก็ให้ผมเป็นหมด" พล.อ.ชัยสิทธิ์ กล่าว

"แต่ถ้ากองทัพเขาจะไม่ยอมรับผม ก็แล้วแต่เขานะ แต่กองทัพมีสิทธิ์จะเลือกด้วยหรือว่าจะเอาใครไม่เอาใคร แล้วผมก็เป็นอดีต ผบ.ทบ. ไม่เอาผมแล้วจะเอาใคร ผมเข้าใจทหารมากที่สุดแล้ว" บิ๊กตุ้ย กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ไม่มีปัญหาคาใจอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะถูกไล่บ้านก็ตาม "ผมรู้ว่าที่ผ่านมา ประยุทธ์ เขาจำเป็นต้องทำตามหน้าที่"



ขณะ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองแม้จะพยายามหนีนักข่าว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ เพราะรู้จุดอ่อนของตัวเอง ตรงที่อารมณ์เสียง่าย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อดไม่ได้ที่ต้องตอบโต้นักการเมือง และโดยเฉพาะแกนนำเสื้อแดง ด้วยคำว่า "เด็กเลี้ยงแกะ"

รวมถึงการปฏิเสธไมตรีจากน้องปู ยิ่งลักษณ์ ที่จะขอเข้าพบ เพื่อทำความเข้าใจและขอคำแนะนำ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้ตอบปฏิเสธเอง แต่ เสธ.ไก่อู พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะโฆษก ทบ. ก็อ้างว่าเพราะไม่เหมาะสม

เนื่องจากเป็นช่วงเลือกตั้ง เพราะหากพบคนหนึ่งแล้ว มีคนอื่นมาขอพบอีก คิวยาวก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว คิดหนัก และสอบถามความเห็นบิ๊กๆ ใน ทบ. หลายคน ก่อนที่จะสรุปออกมาว่า "กติกา คือ มาพบไม่ได้ใช่ไหม"

โดยมีบิ๊ก ทบ. บางคน หนุนให้คุยกับยิ่งลักษณ์ เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย แต่ให้คุยกันแบบเงียบๆ มากกว่าการให้เป็นข่าวดัง

เพราะทาง ทบ. เองก็อยากรู้จักตัวตนเธอให้มากกว่านี้ แต่ก็ติดที่กฎเหล็ก

แต่พี่ตู่ กับน้องปู นี้ก็กลายเป็นประเด็นเม้าธ์ ทั้งใน ทบ. และกองทัพ ในหมู่บิ๊กๆ เลยด้วยซ้ำ ว่า "บิ๊กตู่ไม่กินปู"

ไม่แค่นั้น ในกองทัพยังวิพากษ์วิจารณ์ความงามของน้องปู ยิ่งลักษณ์ กันไม่หยุดหย่อนในความรวย สวย ขาว ที่มีข่าวในทีวีและในหน้าหนังสือพิมพ์ให้เห็นกันทุกวัน

จนวันนี้ ทหารในกองทัพเรียกขานเธอติดปากว่าน้องปู และ "ยิ่งเลิฟ" เพราะยิ่งเห็น ยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งเลิฟ และยิ่งรัก

เพราะแม้จะต้องหาเสียงตากแดดทั้งวัน แต่ปู ยิ่งลักษณ์ วัย 44 แล้ว แต่ก็ยังคงความสวยสาวเนียนไว้ได้ เพราะเธอมีเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวต่างๆ ของ ชิเซโด้ดูแลผิว ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เลือกใช้เครื่องประทินผิว ของ "ลาแมร์" ราคาแพงลิ่ว ที่ช่วยให้หน้าใสเด้ง


ดูความสามารถรูปร่างหน้าตา คุณวุฒิแล้ว ปู ยิ่งลักษณ์ สามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงได้ แต่เสียอย่างเดียวที่เธอเป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ แถมเป็นโคลนนิ่งเสียด้วย

"ตอนนี้ไม่เหมาะสม ถ้ายิ่งลักษณ์จะมาหา ผบ.ทบ. แต่หากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ได้เสียงข้างมาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็พร้อมที่จะคุยด้วย" ขุมข่าววงในเผยความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์



อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กังวลใดๆ มากนัก เพราะเขาเปรยให้บิ๊กๆ ใน ทบ. ฟังว่า "ถึงเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้"

นี่จึงเป็นที่มาของคำสั่งภายในลับสุดยอด ให้หน่วยทหารเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนสีต่างๆ ย่อมไม่ยอมแน่ เมื่อนั้นทหารก็จะเหนื่อยอีก

ไม่มีปฏิวัติ แต่ทหารต้องดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย "พล.อ.ประยุทธ์" ห่วงเหตุการณ์ในเย็นวันที่ 3 กรกฎาคมมากที่สุด เมื่อรู้ว่าใครชนะ แล้วตั้งรัฐบาลกันได้หรือไม่

จึงไม่แปลกที่หน่วยทหารในพื้นที่ใจกลางเมือง ทั้ง ร.11 รอ. และโดยเฉพาะ พล.1 รอ. จะมีการทำรั้วรอบขอบชิดใหม่ให้สูงและหนาแน่นแข็งแรงกันในช่วงนี้

"ช่วงนี้ จะรีบไปพักผ่อนกันก็ไปนะ เพราะเดี๋ยวหลังเลือกตั้งทหารเราจะต้องเหนื่อยกันอีก"
...เสียง "นาย" บอกกับ "ลูกน้อง" ทั้งหลาย...


.