http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-19

วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

.

วิกฤตการเมืองไทยกับบทบาทของกองทัพ
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ มติชนรายวัน
ในมติชนสุด ออนไลน์ ฉบับวันพุธที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:30:05 น.


วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีความยุ่งยากมาก ประการหนึ่ง เพราะปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือกลุ่มผู้ต้องการรักษาระเบียบสังคมและการเมืองแบบเดิม สามารถอิงสัญลักษณ์อำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีอำนาจด้านกายภาพจากกองทัพ บวกแรงสนับสนุนจากบางส่วนของสังคมและชนชั้นกลางในเมืองเป็นตัวหนุนช่วย

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ คือ ทำให้ขบวนการทางการเมืองของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการระเบียบใหม่ ไร้ความชอบธรรม เช่น สร้างวาทกรรมว่า ไร้การศึกษา คิดเองไม่เป็น ถูกชักจูงหรือถูกซื้อได้ง่ายๆ

แต่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น จากกลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต่างจังหวัด และที่อพยพมาทำงานในเมือง มีความตื่นรู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ

ความตื่นรู้นี้ได้บังเกิดและสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 พวกเขาสามารถคิดเอง ทำเองได้ หาทางเข้าถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ หลายรูปแบบด้วยตัวเองด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงรู้เรื่องเมืองไทย และรายละเอียดเกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมือง มากกว่าที่ชนชั้นกลางในเมืองจะรู้เกี่ยวกับพวกเขาเสียอีก ประชาชนที่ตื่นรู้เหล่านี้ ต้องการเปลี่ยนระเบียบสังคมและการเมืองเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย และให้พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นพลเมืองไทยที่ทัดเทียมกับชนชั้นกลางในเมือง

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นรายหนึ่ง หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์และสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จึงมีข้อสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ความยุ่งเหยิงทางการเมืองปัจจุบัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย ประเทศไทยกำลังประสบกับความเจ็บปวดของการเกิดใหม่ เมื่อระบบการเมืองของไทยพร้อมที่จะก้าวขั้นต่อไปข้างหน้า"

แต่เมืองไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ลำบาก ถ้าไม่มีการยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว และสถาบันต่างๆ ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย



สถาบันหนึ่งที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และยังมีบทบาททำให้การก้าวไปข้างหน้า หยุดชะงักได้ด้วยการทำรัฐประหาร การใช้ความรุนแรง และการต่อต้านหลายรูปแบบ ก็คือ สถาบันกองทัพ

นับจากรัฐประหาร 2549 ห้าปีผ่านมานี้แล้ว กองทัพไทยได้ขยายบทบาทในสังคมมากขึ้นมาก จนกล่าวกันหนาหูว่า ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากกองทัพจะอยู่ไม่ได้

แต่กระนั้น ก็ไม่มีใครถกเถียง หรือตั้งคำถามว่า การที่ทหารมีบทบาทสูงขึ้นดีหรือไม่ดี ? มีผลพวงต่อพัฒนาการของสังคมและการเมืองอย่างไร? และแนวโน้มในอนาคตคืออะไร ?

ที่ว่ากองทัพมีบทบาทสูงขึ้นและขยายขอบเขตนั้น มีอะไรเป็นรูปธรรม ?

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง คือ งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ระหว่างปี 2550 ถึงปี 2552

หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ โดยดูสัดส่วนของงบทหารเป็นร้อยละของ GDP สหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของโลก สูงถึงร้อยละ 4 ไทยก็สูงคือร้อยละ 1.8 เทียบเคียงได้กับจีนที่ร้อยละ 2.0 มากกว่าเยอรมนีพี่ใหญ่ของ EU ที่เพียงร้อยละ 1.3 อินโดนีเซียที่ร้อยละ 1.0 และญี่ปุ่นที่เพียงร้อยละ 0.9

หากดูอัตราส่วนของจำนวนทหาร 1 คน ต่อประชากร 1,000 คน (ตัวเลขรวมทหารนอกประจำการและกลุ่มไม่เป็นทางการที่เรียกว่า militia) ของสหรัฐ คือ ทหาร 7.9 คนต่อประชากร 1,000 คน สหราชอาณาจักร 6 คน เยอรมนี 5 คน อินโดนีเซีย 4.1 คน ญี่ปุ่น 2.2 คน

แต่ของไทย ทหาร 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน นับว่าสูงมาก จำเป็นอะไรหนักหนาที่จะต้องมีอัตราส่วนทหารถึง 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน ?


ประการต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังปี 2549 เรื่องกระบวนการโยกย้ายภายในเหล่ากองทัพ ก่อนปี 2549 โผทหารจะถูกพิจารณาโดยนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย นับจากปี 2551 พ.ร.บ. กระทรวงกลาโหมมีการแก้ไข ทำให้โผทหารประจำปี อยู่ในกำกับของกองทัพอย่างสิ้นเชิง บทบาทของนายกฯกระทำผ่าน รมต.กลาโหม ซึ่งถ้า รมต.กลาโหมมาจากฝ่ายทหาร (เช่น อดีตนายพล) หมายความว่าการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี รวมทั้งการแต่งตั้ง ผบทบ. เหล่าทัพต่างๆ จะเป็นเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น โดยเป็นเอกเทศจากรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง

อดีตนายพลท่านหนึ่งอธิบายว่า นายกฯจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนองพระบรมราชโองการเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสวนทางกับแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยพัฒนาแล้วอย่างสิ้นเชิง ที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำกับโผทหาร


ประการต่อมา ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป บทบาทของผู้นำฝ่ายทหารมีจำกัด แต่ของไทยผู้นำฝ่ายทหารมีบทบาทสูง และใส่หมวกหลายใบ

มีรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 4-5 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผบ.ทบ. แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบ่อยมากในหลายเรื่อง (The Nation, April 24, 2011) เช่น เสนอความเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับกัมพูชา ไปทางไหน

ให้คำแนะนำแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า เลือกตั้งเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ และออกมาเลือกตั้งมากๆ จะช่วยปกป้องพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย

ออกคำสั่งให้มีการปิดเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง รวมทั้งให้ทหารในสังกัดแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ



เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นี้เอง ผบ.ทบ.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. เสนอให้ยกระดับ กอ.รมน. เป็นทบวงด้านความมั่นคงภายในเหมือนกับ Homeland security department ที่สหรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Bangkok Post, May 16, 2011) ซึ่งเมื่อดำเนินการไปในขณะนี้กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้งบฯมากเกินความจำเป็น ในการแสวงหาข้อมูล หรือดำเนินการเพื่อป้องกันการก่อการร้าย ได้ใช้วิธีการขัดกับหลักการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่ง อาจเปิดจดหมายของใครก็ได้ ด้วยเหตุผลของความมั่นคง

ในรายงานกล่าวว่า ผบ.ทบ.ไทยต้องการขยายขอบข่ายงานของ กอ.รมน.ทั้งบุคลากร และงบประมาณด้วย เพื่อจัดการกับการที่ประเทศถูกคุกคามแบบใหม่ๆ และทบวงนี้จะดูแลปัญหาด้านภัยพิบัติจากธรรมชาติ ปัญหาภาคใต้ และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ.ได้เสนอความคิดเห็นนี้กับอดีตนายกฯ (อภิสิทธิ์) แล้ว และอดีตนายกฯก็แสดงความเห็นชอบ


ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษาวางแผน และเตรียมเสนอโครงการนี้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง

ทำไมจึงจะต้องขยาย กอ.รมน. รวมทั้งบุคลากร และงบประมาณ ถึงขนาดจะตั้งเป็นทบวงใหม่ ซึ่งขณะนี้งบฯทหารเองก็มากเกินความจำเป็นแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีควรจะมีบทบาทรับรู้และอภิปรายเรื่องนี้ จะมาตกลงกันระหว่าง ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯแบบนี้ใช้ได้หรือ ?



เป็นที่ชัดเจนว่าทหารเป็นองค์ประกอบของผู้รักษาระเบียบเก่า ได้ประโยชน์จากระเบียบเก่า อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบของความยุ่งยากในการแสวงหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมไทยจะต้องมีการอภิปรายกันถึงการขยายบทบาทของทหารในสังคมไทยว่าดีหรือไม่ดี ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไร ? อำนาจของ ผบ.ทบ. ที่ดูเหมือนล้นฟ้าขณะนี้ ควรถูกจำกัดให้อยู่ระดับใด?


.