http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-07

ทางถอยของ"มาร์ค" และ บทความเปิดผนึกฯเรื่อง"รอยตำหนิ"ในระบอบประชาธิปไตย โดย สรกล อดุลยานนท์

.
ทางถอยของ "มาร์ค"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีความคิด
ในมติชนออนไลน์ ฉบับวันเสาร์ที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.


แม้จะรู้ว่าเป็น "บ่อ" ที่ เนวิน ชิดชอบ ขุดล่อไว้

แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับตัดสินใจโดดลงไป

"เนวิน" นั้นทำนายว่าถ้า "ประชาธิปัตย์" แพ้การเลือกตั้ง "อภิสิทธิ์" จะแสดงสปิริตออกซ์ฟอร์ดลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เหมือนจะเป็น "คำทำนาย"

แต่ที่แท้คือการกดดัน

เรื่องแบบนี้ถ้า "อภิสิทธิ์" จะเล่นสำนวนโวหารพลิกตัวออกจากมุม เขาทำได้ไม่ยาก
แต่ "อภิสิทธิ์" กลับประกาศว่าถ้าแพ้ยับเยิน เขาก็ไม่อยู่ในตำแหน่งอย่างแน่นอน
นั่นคือ คำสัญญาครั้งแรก

เมื่อวาน "อภิสิทธิ์" ให้สัมภาษณ์ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา อีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้
เขาตอบว่า หากทำให้พรรคเสียหายก็ต้องแสดงความรับผิดชอบอยู่แล้ว
"ถ้าทำให้พรรคถดถอยก็ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นมาบริหาร"
นั่นคือ คำสัญญาครั้งที่สอง


แม้จะมีคนไม่แน่ใจว่า "อภิสิทธิ์" ใช้มาตรฐานไหนในการประเมินว่า "ถดถอย" หรือ "แพ้ยับเยิน"

จะเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 หรือเปล่า

พลังประชาชน 232 คน ประชาธิปัตย์ 165 คน ห่างกัน 67 คน

ถ้าได้ ส.ส.ต่ำกว่า 165 คน ถือว่า "ถดถอย"

หรือถ้าแพ้ "เพื่อไทย" เกิน 67 คน จึงถือว่า "ยับเยิน"

แต่ถ้าได้ ส.ส.เกิน 165 คน และแพ้น้อยกว่า 67 คน ถือว่าไม่ถดถอยและไม่ยับเยินหรือเปล่า

ไม่มีใครรู้!!!

"อภิสิทธิ์" อาจมีเกณฑ์อยู่ในใจ แต่เวลาที่แข่งขันในสนามเลือกตั้ง คงไม่มีใครอยากพูดเรื่องนี้เพราะเหมือนเป็นการยก "ธงขาว" ยอมแพ้


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไม "อภิสิทธิ์" เลือกโดดลง "บ่อ" ที่ "เนวิน" ขุดล่อไว้
หรือว่าจริงๆ แล้วเส้นทางนี้เป็น "ทางถอย" ที่ "อภิสิทธิ์" คิดไว้แล้ว
เตรียมใจสำหรับจุดที่เลวร้ายที่สุด
ถ้าชนะได้จัดตั้งรัฐบาลเป็น "นายกรัฐมนตรี" ต่อไป

แต่ถ้าแพ้ก็พร้อมจะลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ถอยจากการเมืองไปเลย
เพราะคิดแบบนี้ เขาจึงพยายามฝืนเดินหน้าสู่การยุบสภา ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลและ "มือที่มองไม่เห็น" คัดค้านอย่างเต็มที่
"อภิสิทธิ์" อาจจะคิดว่าเขายอมพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งดีกว่ายอมแพ้ "ม็อบเสื้อแดง"


เส้นทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะเดินไปได้ด้วยดี
ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ถ้าเขาไม่ก้าวเดินพลาดครั้งใหญ่ที่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ยอมให้กระทรวงใหญ่กับพรรคขนาดกลาง เพื่อจะได้เป็น "นายกรัฐมนตรี"

เหมือนจะคิดถึง "ตัวเอง" ก่อน "ประเทศชาติ"
รอยตำหนินี้เองที่ทำให้ "อภิสิทธิ์" ขาดความสง่างามในเส้นทางประชาธิปไตย


มีคนเคยบอกว่าเราไม่สามารถเลือกเกิดได้
แต่เราเลือกที่จะเป็นได้

"อภิสิทธิ์" ได้เป็น "นายกรัฐมนตรี" ก็จริง
แต่เขามี "รอยตำหนิ" สำหรับความเป็น "นักประชาธิปไตย"



++

บทความเปิดผนึกถึง“พรรคประชาธิปัตย์” เรื่อง“รอยตำหนิ”ในระบอบประชาธิปไตย
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีความคิด
ในมติชนออนไลน์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 22:32:54 น.


นึกไม่ถึงจริงๆว่าจะได้รับเกียรติจากพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงบทความเรื่อง“ทางถอยของมาร์ค”ในเว็ปไซต์ของพรรค

“ประชาธิปัตย์”ตั้งชื่อว่ามติชนคืออะไร?”

อ่านจบแล้วรู้สึกงงๆ สงสัยว่า“ประชาธิปัตย์”แยกแยะไม่ออกหรือว่าข้อเขียนของคอลัมนิสต์คนหนึ่งคือทัศนะส่วนบุคคลเป็นความเห็นของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับ “องค์กร”


ถ้าไม่เข้าใจก็น่าจะถามนักหนังสือพิมพ์เก่าในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีอยู่หลายคน เขาจะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี

ที่แปลกใจก็คือตามปกติพรรคการเมืองมักจะจำกัดวงความขัดแย้ง ด้วยการเอ่ยชื่อคนเขียนไปเลย ไม่ขยายวงสู่องค์กร
แต่การชี้แจงของ“ประชาธิปัตย์”ครั้งนี้ตั้งใจที่จะเหวี่ยงแหไปที่องค์กร ทั้งที่เป็นทัศนะส่วนตัวของคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่เขียนใน”มติชน”รายวัน 1 ชิ้นต่อสัปดาห์
ไม่อยากจะตีความว่าประชาธิปัตย์”มีเป้าหมายลึกๆอะไรหรือเปล่า??
จึงตั้งใจ”ขยายวง”


และเพื่อให้เข้าใจความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ ผมขอนำข้อความทั้งหมดมาตีพิมพ์โดยไม่ตัดทอน

จากการที่บทความ “สถานีคิดเลขที่ 12” เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2554 ได้กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคร่วมรัฐบาลว่า เป็นการกระทำเพื่อ “ตัวเอง” ก่อน“ประเทศชาติ” เพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้กล่าวหาว่าเป็น “รอยตำหนิ” สำหรับการเป็น นักประชาธิปไตย” นั้น

พรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้ง หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกครั้ง โดยการเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นได้เสนอคุณสมัคร และคุณสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์ก็เคารพมติสภาฯในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยการปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาฯ ตามหน้าที่ที่พึงมี พึงปฏิบัติ

การกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤติว่าเป็น“รอยตำหนิ”ในขณะที่อีกพรรคการเมืองยังคงดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อที่จะคงอำนาจรัฐโดยการเสนอบุคคลอื่นที่ไม่ได้มาจากพรรคของตนเอง และเป็นพรรคที่สมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี พฤติกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็น “รอยตำหนิ” สำหรับความเป็น “นักประชาธิปไตย” ในมุมมองของมติชนหรือ ?

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมือง ยินดีที่จะรับคำวิพากษ์ วิจารณ์ หากเป็นไปโดยบริสุทธิ์ และเป็นกลาง แต่สื่อมวลชนเองในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในสังคมไม่น้อยไปกว่ากัน หากปราศจากความสำนึกต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขาดความเป็นกลาง หรือไม่มีความเป็นธรรมต่างหาก ที่เป็น “รอยตำหนิ” ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


จากคำชี้แจงดังกล่าวทำให้รู้ว่า“เนื้อหา”ที่“ประชาธิปัตย์”ไม่พอใจนั้นน่าจะมาจากช่วงท้ายของบทความ

“.....เส้นทางการเมืองของ“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”น่าจะเดินไปได้ด้วยดี
ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง
ถ้าเขาไม่ก้าวเดินพลาดครั้งใหญ่ที่ยอมรับการได้มาซึ่งอำนาจจากการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ยอมให้กระทรวงใหญ่กับพรรคขนาดกลาง เพื่อจะได้เป็น“นายกรัฐมนตรี”

เหมือนจะคิดถึง“ตัวเอง”ก่อน“ประเทศชาติ”
รอยตำหนินี้เองที่ทำให้“อภิสิทธิ์”ขาดความสง่างามในเส้นทางประชาธิปไตย

มีคนเคยบอกว่าเราไม่สามารถเลือกเกิดได้
แต่เราเลือกที่จะเป็นได้
“อภิสิทธิ์”ได้เป็น“นายกรัฐมนตรี”ก็จริง
แต่เขามี“รอยตำหนิ”สำหรับความเป็น“นักประชาธิปไตย”.....



คำถามเชิงเปรียบเทียบของพรรคประชาธิปัตย์ว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดินเป็น“นายกรัฐมนตรี”
ในทัศนะของผม ยังไม่ถึงขั้นรอยตำหนิ”เรื่องนักประชาธิปไตย”ครับ
แต่เป็นเรื่องการคิดถึงตัวเองก่อนประเทศชาติ”
เพราะถึงขั้นอยากเป็นรัฐบาลจนยอมยกเก้าอี้“นายกรัฐมนตรี”ให้พรรคการเมืองอื่น


ถ้าไม่อยากได้“อำนาจ”จนขาสั่น คงไม่มีพรรคการเมืองไหนทำกัน
เหมือนกับในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะให้พิชัย รัตตกุล”หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
แต่พอชนะเลือกตั้งก็อ้างข้อมูลใหม่” แล้วเซ็นชื่อสนับสนุนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี


เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่“ประชาธิปัตย์”ยอมให้กระทรวงใหญ่กับพรรคขนาดกลางโดยไม่คิดว่าจะบริหารประเทศได้หรือไม่
นี่ก็คือ การคิดถึง“ตัวเอง”ก่อน“ประเทศชาติ”

“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันก่อนว่ารัฐบาลชุดนี้ขยับอะไรไม่ได้เพราะปล่อยให้พรรคเล็กบริหารกระทรวงใหญ่
การเมืองที่ผ่านมามันเพี้ยน กระทรวงใหญ่ไปอยู่ในมือพรรคเล็ก พรรคใหญ่ที่เป็นนายกฯไม่มีกระทรวงใหญ่แล้วจะเดินหน้าไปได้อย่างไร
ถ้าคิดถึงความรับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ ไม่คิดเพียงว่าจะเป็น“รัฐบาล”ให้ได้
พรรค 165 เสียงอย่าง“ประชาธิปัตย์”คงไม่ยอมปล่อยกระทรวงมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ ให้พรรคขนาด 30 เสียง(ในวันร่วมรัฐบาล)


ส่วนเรื่อง“รอยตำหนิ”ของความเป็นนักประชาธิปไตยนั้น เรื่องใหญ่คือ“วิถี”ในการจัดตั้งรัฐบาล
ข้ออ้างเรื่องใช้มือส.ส.ในสภาเลือก“อภิสิทธิ์”เป็นนายกรัฐมนตรีเป็น“คาถา”ที่“ประชาธิปัตย์”ใช้มาตลอดเมื่อมีคนกล่าวหาว่า“จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”
“ประชาธิปัตย์”ไม่เคยยอมเปิดปากพูดเรื่องเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ไม่เคยปฏิเสธว่า“ไม่มีจริง”
แต่จะอ้าง“สภา”ทุกครั้ง

อย่าลืมว่าสมญานาม“รัฐบาลเทพประทาน”ไม่ได้มาจากสายลม
แต่มาจาก“ข้อเท็จจริง”ที่นักข่าวการเมืองทุกคนรู้กันดี
เช่นเดียวกับสมญานามว่ารัฐบาล“เส้นใหญ่ผัดซิอิ๊ว

.......................................................

ย้อนอดีตกลับไปวันที่ 6 ธันวาคม 2551
พรรคประชาธิปัตย์นัดแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลที่โรงแรมสุโขทัย เวลา 18.00 น.
ก่อนจะเลื่อนมาเป็น 18.45 น.
เพราะการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่สิ้นสุด

นายเทพไท เสนพงศ์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น ตอนประมาณ 16.00 น.ว่ากำลังประชุมร่วมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ แต่บอกสถานที่ไม่ได้
เหตุที่บอกสถานที่ไม่ได้ เพราะสถานที่นั้นคือบ้านหลังหนึ่งในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ตามข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับระบุว่าเวลา 16.00 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้เข้าไปประชุมร่วมกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

คนที่ร่วมประชุมประกอบด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ นายเทพไท เสนพงศ์ นายเนวิน ชิดชอบ นายสุชาติ ตันเจริญ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

มีรายงานข่าวว่านักการเมืองหลายคนไป“ห้องประชุม”ไม่ถูก ทุกคนจึงต้องจอดรถส่วนตัวที่ปั๊มปตท. หน้าค่ายทหาร แล้วขึ้นรถตู้ของทหารเข้าไปด้วยกัน
อย่าแปลกใจที่“ชุมพล ศิลปอาชา”หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาปราศรัยที่สุพรรณบุรีเมื่อวันก่อนว่า“พรรคชาติไทยถูกกลั่นแกล้งให้ถูกยุบพรรค เพราะมีความต้องการให้ไปร่วมรัฐบาลกับอีกพรรคหนึ่ง แบบนี้ไม่มีความชอบธรรม”

คำว่ามี“ความต้องการให้ไปร่วมรัฐบาลกับอีกพรรคหนึ่ง”อธิบายเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี



หรือล่าสุดที่“ราเชล ฮาร์วีย์” ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยเพิ่งเขียนรายงานเรื่อง "Thai military?s political past looms over elections" (บทบาททางการเมืองในอดีตของกองทัพไทย ปรากฏอยู่อย่างลางๆ เหนือการเลือกตั้ง)
เขาระบุชัดเจนเลยว่า“2 ปีภายหลังการรัฐประหาร กองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง โดยมีหลักฐานระบุว่ากองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลชุดที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี”

หรือการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตของ“ไพโรจน์ สุวรรณฉวี”ก็พุดถึงการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
การยอมให้“กองทัพ”เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย“ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้”ของพรรคประชาธิปัตย์ คือ “รอยตำหนิ”ในระบอบประชาธิปไตย
นักการเมืองคนไหนที่ยอมรับการรัฐประหาร ไม่ใช่“นักประชาธิปไตย”

นักการเมืองคนไหนที่ยอมรับให้“กองทัพ”มามีบทบาทจัดตั้งรัฐบาล
ก็ไม่ใช่“นักประชาธิปไตย”เช่นกัน

.......................................................


เป็นความจริงที่การยกมือในสภาฯเพื่อเลือก“นายกรัฐมนตรี”เป็นกติกาตามรัฐธรรมนูญ
เหมือนกับการประมูลโครงการก่อสร้างว่าใครการเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะ
เป็น“กติกา”เหมือนกัน
แต่การทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิด“บนโต๊ะ”

การคอรัปชั่นเกิดจากกระบวนการ“ก่อน”การยื่นซองประมูล
ถ้ามีการใช้ผู้มีอิทธิพลข่มขู่คู่แข่งเพื่อให้“ฮั้ว”หรือไม่ให้ยื่นซองประมูลสู้
การประมูลนั้นถือว่าไม่โปร่งใส ต่อให้ยื่นซองราคาต่ำสุดตาม“กติกา”ก็ตาม
การจัดตั้งรัฐบาลก็เช่นกัน


“โทนี่ แบลร์”อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยบอกว่าศิลปะการเป็นผู้นำไม่ได้อยู่ที่การพูดคำว่า“ใช่”
แต่อยู่ที่การพูดคำว่า“ไม่”
หรือที่“สตีฟ จ็อบส์”เคยบอกว่าการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่คุณจะทำอะไร แต่เป็นการตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไร
“อำนาจ”นั้นเป็นสิ่งที่เย้ายวนที่สุด
คำถามที่สำคัญสำหรับ“นักการเมือง”ทุกครั้งที่"อำนาจ"ลอยมาใกล้มือ ก็คือ “วิถี”ที่ได้มานั้น“ถูกต้อง”หรือไม่


ในอดีต ตอนที่“อภิสิทธิ์”เป็นโฆษกรัฐบาล เพียงแค่“ชวน หลีกภัย”นายกรัฐมนตรีดึงพรรคชาติพัฒนาเข้ามาเสียบแทบพรรคความหวังใหม่
เขายังยอมรับกับการฉีกสัตยาบรรณของพรรคชาติพัฒนาไม่ได้เลย
วันนั้น“อภิสิทธิ์”เลือกที่จะตอบว่า“ไม่”

แต่ในปี 2551 เมื่อมี“อำนาจนอกระบบ“เข้ามาช่วยจัดตั้งรัฐบาลให้“ประชาธิปัตย์”
และถ้าสำเร็จ “อภิสิทธิ์”จะได้เป็น“นายกรัฐมนตรี”
ไม่มีคำว่า“ไม่”หลุดจากปากของเขาเลย
นี่คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”



“อภิสิทธิ์”เคยบอกว่า“การมีรัฐประหารทุกครั้งเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”
ดังนั้น การปล่อยให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารทุกครั้ง
...จึงเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารครั้งต่อไป
และนี่คือ คำอธิบายอย่างละเอียดเรื่อง “รอยตำหนิ”สำหรับความเป็น“นักประชาธิปไตย”ของ“อภิสิทธิ์”


.