http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-17

รัฐประหาร...ฆ่าคน...เผาเมือง..ฯ..ในวงจรอุบาทว์ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

รัฐประหาร...ฆ่าคน...เผาเมือง...เรื่องหุ้น กับดักคะแนนเสียงในวงจรอุบาทว์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1608 หน้า 20


การหาเสียงเลือกตั้งมีบรรยากาศโดยส่วนใหญ่พอใช้ได้ แต่ก็มีการปล่อยข่าว และเดินเกมสกัดดาวรุ่ง เช่น เรื่องหุ้น แผนบันได 4 ขั้น ฯลฯ เพื่อหวังให้ผู้ที่จะลงคะแนนเกิดลังเล

นี่เป็นแค่ลูกไม้เก่าซึ่งไม่ควรไปทำตาม เพราะถ้ามีคนหาเรื่องมาฟ้องร้องหรือไปขุดคุ้ยคดีต่างๆ ที่มีผู้ฟ้องร้อง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ คนใน ครม. จะยิ่งวุ่นวายกันใหญ่

เรื่องต่างๆ ที่เป็นคดีทางกฎหมายจะมีเส้นทางเดินของมันเอง แต่ต้องเข้าใจว่าหลังจากการรัฐประหาร 2549 มาตรฐานของความยุติธรรม สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับใคร หรือเพื่ออะไรก็ได้

การเคลื่อนไหวของบางคนในวันนี้เกิดจากความกลัวของกลุ่มคนที่เคยเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร กลัวการแก้แค้น จากโจทก์จำนวนมาก ในยามที่ตนเองและพรรคพวกหมดอำนาจ จึงพยายามหาเรื่องที่จะทำลายคะแนนเสียงเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้เลือกตั้ง

แต่เรื่องหนึ่งที่พูดแล้ว จะมีผลกระทบต่อการปรองดอง คือเรื่องการเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งประชาธิปัตย์ (ปชป.) พูดถึงบ่อยมาก

เรื่องนี้เมื่อพูดแล้วก็ต้องให้ครบทั้งวงจร เพราะนี่เป็นวงจรอุบาทว์สำหรับการเมืองไทย



รัฐประหารและเผาบ้านเผาเมือง
อยู่ในวงจรอุบาทว์

เมื่อมีการรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎ กติกา สร้างมาตรฐานความยุติธรรมขึ้นใหม่ ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม (สมัยก่อนก็ใช้เพียงแค่ประกาศคณะปฏิวัติ ก็จับไปขังคุกได้แล้ว ปัจจุบันมียางอายมากหน่อยก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความผิด)

จากนั้น ผู้ที่มีอำนาจก็ปกครอง และร่วมกันทำมาหากินกับโครงการ 1,000 ล้าน 10,000 ล้าน หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็จะมีประชาชนมาต่อต้าน ทวงอำนาจคืน


ในการต่อสู้ มีประชาชนถูกฆ่า มีการเผาบ้านเผาเมือง เมื่อเหตุการณ์สงบลงก็จะมีการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ บริหารดีบ้าง โกงบ้าง ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งก็จะเกิดรัฐประหารขึ้นอีก วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์อยู่อย่างนี้

การรัฐประหาร ฆ่าคน เผาเมือง จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อยู่คนละบท


เมื่อมีคนพูดถึงเรื่อง เผาบ้านเผาเมืองเพื่อหวังคะแนนเสียง ก็จำเป็นต้องอธิบายและยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า รัฐประหาร ฆ่าคน เผาเมือง เป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร คนที่มีส่วนในการรัฐประหารคือผู้สร้างวงจรอุบาทว์เหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย 3 ครั้งแล้ว

ผู้เขียนเคยพบเรื่องแนวนี้ 3 รอบจึงได้เห็นทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ทั้งใน เดือนตุลาคม ปี 2516, พฤษภาคม 2535 และ เมษายน-พฤษภาคม 2553



เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์คือวันที่ 13, 14, 15 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร ครองอำนาจมานานจนถึงปี 2514 ก็ยังมีการรัฐประหารเพื่อยุบสภาที่เพิ่งตั้งมาแค่ 2 ปี ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะร่างรัฐธรรมนูญมาเกือบสิบปีแล้วก็ยังไม่เสร็จ

เดือนตุลาคม 2516 นักศึกษา ประชาชนเคลื่อนไหวทวงอำนาจอธิปไตยกลับคืน นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

13 ตุลาคม 2516 มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 5 แสนคนการเดินขบวนเริ่มตอนเที่ยงวัน การปะทะกันเริ่มในตอนเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม บริเวณถนนหน้าสวนจิตรลดา จากนั้นก็ลุกลามไปทั่วถนนราชดำเนิน ถึงสนามหลวงและธรรมศาสตร์ ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทั้งตำรวจและทหาร รถถัง เฮลิคอปเตอร์ การต่อสู้ดุเดือดตลอดทั้งวัน

ฉากที่คนกล่าวขวัญถึงก็คือ ฉากที่ฝ่ายประชาชนขับรถเมล์พุ่งชนรถถังและถูกยิงจนเสียชีวิต การยิงกราดลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ และเมื่อเวลาบ่าย 2 โมงของวันที่ 14 ตุลาคม ตึก กตป. บนถนนราชดำเนินซึ่งเป็นสำนักงานของรัฐบาลที่ทำหน้าที่คล้าย ป.ป.ช. ในปัจจุบันก็ถูกเผา ในเวลาใกล้เคียงกัน ตึกกองสลากก็ถูกเผา ตึกกรมประชาสัมพันธ์ถูกเผาด้านหลัง

เย็นวันที่ 14 ตุลาคม จอมพลถนอมสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมที่ยังคงอยู่บนถนนราชดำเนินประมาณ 3 หมื่นคน โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เผาบ้าน เผาเมือง ทำลายสถานที่ราชการ การปะทะกันยังมีตลอดคืนวันที่ 14 ตุลาคม จนถึงกลางวันวันที่ 15 ตุลาคม จุดปะทะหนักคือกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งตั้งอยู่ที่ผ่านฟ้า ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประจำอยู่ที่นั่นจำนวนหนึ่ง

ฝ่ายประชาชนที่บุกเข้าไปเผาถูกยิงเสียชีวิตหลายคน การปะทะใช้เวลาหลายชั่วโมง

ในที่สุด อาคารแห่งนี้ก็ถูกเผาจนราบในตอนเย็น แต่สงครามกลางเมืองก็จบลงใน 2 วัน เมื่อจอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร ถูกหลายฝ่ายกดดันจนยอมเดินทางออกนอกประเทศ ในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม

หลังเหตุการณ์ คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมืองก็กลายเป็นวีรชน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพใหญ่โตที่สนามหลวง

หลังจากนั้นประมาณปีกว่า ก็มีการจัดเลือกตั้งใหม่ จำได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. มากที่สุด



เหตุการณ์ที่ 2 พฤษภาทมิฬ 2535
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ 17-20 พฤษภาคม 2535

เรื่องเดิมเกิดขึ้นในปี 2534 ระหว่างการบริหารงานของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยคณะ รสช. หลังจากยึดอำนาจได้ 1 ปี การต่อต้านจึงเกิดขึ้นในกลางเดือนพฤษภาคม

17 พฤษภาคม 2535 ขบวนผู้ชุมนุมในนาม สมาพันธ์ประชาธิปไตย มี พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำเผชิญหน้ากับแนวตั้งรับของทหารบริเวณผ่านฟ้า แต่ที่สถานีตำรวจนางเลิ้ง มีกลุ่มชายฉกรรจ์ไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าไปเผาสถานีตำรวจ โดยตำรวจและผู้ต้องขังถูกย้ายออกไปหมดแล้ว คืนนั้นรัฐบาลออกข่าวว่าผู้ชุมนุมเผาสถานที่ราชการ พลตรีจำลอง ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมปฏิเสธ

18 พฤษภาคม กลุ่มผู้ชุมนุมยังอยู่บนถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รัฐบาลใช้แผนไพรีพินาศ กดดัน ปิดล้อม สกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมมาเพิ่มจำนวน เวลาประมาณบ่ายสามโมง ก็เปิดฉากยิงปืนข่มขวัญ จนผู้ชุมนุมแตกหนีไปส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงบุกเข้าไปจับแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเหลือประมาณ 3 พันคน จำลองถูกจับ แกนนำบางคนหนีไปได้ ประชาชนถูกจับขึ้นรถทหาร รัฐบาลประกาศว่าได้สลายการชุมนุมแล้วโดยไม่เสียเลือดเนื้อ

แต่ 6 โมงเย็นวันนั้นผู้ชุมนุมกลับมาอีก คราวนี้มีถึง 5 หมื่นคน การชุมนุมที่ไร้แกนนำจึงเริ่มขึ้น มีการปะทะกับทหารที่มาขับไล่ มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตหลายคน มีการยึดรถเมล์ รถน้ำมัน การเผาเริ่มขึ้นประมาณ 4 ทุ่มที่กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนตึกกองสลาก ถูกเผาในเวลา 4 ทุ่มเศษ

วันที่ 19 พฤษภาคม เวลาเที่ยง กรมสรรพากรก็ถูกเผา การปะทะมีตลอดทั้งคืนวันที่ 18 พฤษภาคม ต่อไปถึงคืนวันที่ 19 พฤษภาคม อาคารทั้ง 3 ถูกเผาจนเป็นซาก เช้าวันที่ 20 พฤษภาคม ทหารก็เข้าเคลียร์พื้นที่แนวถนนราชดำเนิน จับประชาชน 2 พันคนมัดมือไพล่หลังต้อนไปไว้หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์และบุกเข้าไปในโรงแรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยพยาบาล คนที่หลบเข้าไปอยู่ในนั้น รวมทั้งหมอและพยาบาลอาสาถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า

หลายคนถูกเหยียบพร้อมเสียงตะโกนว่า ไอ้ตัวแสบพวกนี้ เผาบ้าน เผาเมือง

บ่าย 3 โมง รัฐบาลแถลงทางโทรทัศน์ว่าการชุมนุม การก่อวินาศกรรมเผาบ้าน เผาเมือง มีนายทหารที่มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง การชุมนุมที่ถนนราชดำเนินแม้สลายไป แต่การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม มีผู้หนีตายมาร่วมชุมนุมหลายหมื่นคนในวันที่ 20 พฤษภาคม

แต่การปะทะครั้งที่สองที่รามคำแหงยังไม่ทันเริ่มขึ้นก็มีการตกลงกันได้ เมื่อเหตุการณ์จบลง พลตรีจำลองก็ไม่ต้องติดคุก พลเอกสุจินดา คราประยูร พ่ายแพ้แต่ก็ไม่ต้องไปลี้ภัยในต่างประเทศ มีการเลือกตั้งใหม่ พรรค ปชป. ชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 (หลังจากนั้นก็ไม่เคยชนะอีก)


ทุกครั้งจะไม่เคยมีใครติดคุกทั้งผู้ที่ทำการรัฐประหาร, คนที่สั่งการ, คนยิง และคนเผา



เหตุการณ์ที่ 3 คือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เมษายน-พฤษภาคม 2553

ที่บอกว่ามีทั้งความเหมือนและความแตกต่างมีดังนี้

มีการรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณในปี 2549 เมื่อเลือกตั้งใหม่ปลายปี 2550 พรรคของทักษิณก็ยังชนะเหมือนเดิม จึงถูกโค่นโดยกลุ่มพันธมิตรฯ และตุลาการภิวัฒน์ จากนั้นการต่อต้านของคนเสื้อแดงจึงเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2552 และก็สงบลงไป ในเดือนมีนาคม 2553 จึงเกิดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภา

10 เมษายน 2553 การปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมกับทหารเริ่มตั้งแต่ตอนบ่ายถึงตอนค่ำ ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิตไปประมาณ 20 คน บาดเจ็บนับพันคน ฝ่ายทหารเสียชีวิตหกคน บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ผู้ชุมนุมยึดรถหุ้มเกราะ รถลำเลียงพล และอาวุธ ได้จำนวนหนึ่ง มีทหารถูกจับและยึดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง 7-8 ชั่วโมงของการต่อสู้กัน ผู้ชุมนุมโดนทั้งกระสุนยาง กระสุนจริง และแก๊สน้ำตา

หลังจากความตายได้เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายยุติการต่อสู้ ไม่มีการเผาใดๆ ทั้งสิ้น รถหุ้มเกราะถูกดูดเอาน้ำมันออกจนหมด เพราะแกนนำกลัวว่าจะมีคนจุดไฟเผารถ และที่อื่นๆ ทหารที่ถูกจับก็ถูกปล่อยตัว อาวุธที่ยึดได้ก็นำไปคืนกองทัพ

ต้องยอมรับเลยว่าแกนนำกลุ่มนี้เป็นอหิงสาของแท้ ควรปฏิรูปและเลือกตั้งอย่างเดียว ห้ามคิดปฏิวัติเด็ดขาด วันนั้นช่วงที่มีคนตาย 20 คน ยึดได้ทั้งรถทั้งปืนและน้ำมัน ถ้ามีแกนนำที่บ้าเลือดเพียง 2-3 คน ราชดำเนินคงกลายเป็นทะเลเพลิงไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ทำ ในการต่อสู้ช่วงวิกฤติ พวกเขายังสามารถเปิดเพลงและร้องเพลงได้

19 พฤษภาคม 2553 หลายคนเห็นภาพเสื้อแดงคนสุดท้าย, การมอบตัวของแกนนำ, การถอยออกจากสี่แยกราชประสงค์ของคนเสื้อแดง

เหตุการณ์ทำท่าว่าจะจบลงอย่างง่ายดาย ภายใต้การควบคุมของกำลังทหารจำนวนมาก

แต่อยู่ดีๆ เย็นนั้นก็มีไฟไหม้ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ และโรงภาพยนตร์สยาม คำว่าเผาบ้านเผาเมืองน่าจะเกิดจากสองจุดนี้


ถ้าวิเคราะห์เรื่องการเผาบ้าน เผาเมือง จะเห็นว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคมและพฤษภาคมทมิฬ เมื่อประชาชนถูกยิงเสียชีวิต อาคารที่ทำการของรัฐบาลก็จะเป็นเป้าหมายในการเผา และในแต่ละครั้งที่มีการเผา ไม่มีแกนนำมาควบคุมการชุมนุม

แต่เหตุการณ์ในปี 2553 โอกาสที่จะมีการเผาสูงสุดอยู่ที่คืนวันที่ 10 เมษายน ซึ่งแกนนำยังห้ามมวลชนไว้ได้ควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งที่คนเจ็บมาก เจ็บน้อยยังมีความโกรธแค้นและต้องการลุยต่อ ยังมีอีกเป็นพันๆ คน ในที่สุด พวกเขาก็ทำเพียงแค่เอาคนตายใส่โลงศพสีแดง

การเผาอาคารใหญ่ในวันที่ 19 พฤษภาคม จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้จะต้องไปทำเพราะไม่ใช่อาคารของรัฐบาล ซ้ำยังเป็นที่ให้ร่มเงา เป็นที่ใช้ห้องน้ำห้องท่า จนถึงวันนี้ทั้งเจ้าของอาคาร หน่วย รปภ. และหน่วยดับเพลิง ซึ่งมีหลายร้อยคน ไม่มีใครบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผา

แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดว่าผู้ใดเผาเและทำไมถึงดับไฟไม่ได้ เรื่องนี้จะได้รับการพิสูจน์ในโอกาสต่อไป

วันนี้ทั้งสองฝ่ายต่างก็ชี้ไปที่ฝ่ายตรงข้าม เพื่อผลทางการเมือง

ที่เขียนเรื่องนี้ยาวมากเพราะรู้ว่าจะไม่จบแค่เลือกตั้ง แต่จะเป็นเกมการเมือง และเรื่องในศาล ในวันข้างหน้า

การตัดสินใจเลือกตัวแทนของประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เกิดจากจุดยืนทางการเมืองของผู้ลงคะแนน และจากความต้องการความปรองดองเพื่อให้สังคมสงบสุข ต้องการความยุติธรรม และต้องการชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาจะฟังสิ่งที่นักการเมืองพูด ทบทวนสิ่งที่พรรคและคนเคยทำ ดูผลงานเก่า ดูนโยบายใหม่ ดูคนที่เป็นผู้นำ และผู้สมัคร ส.ส.

ดังนั้น ในวันนี้หลายคนก็ได้ตัดสินใจไปแล้ว การพูดบางเรื่องอาจเป็นผลเสีย ถ้าหากประชาชนเห็นว่าคนพูดจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในวันข้างหน้า การหาคะแนนเพิ่มวันนี้ จึงควรเสนอสิ่งใหม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตมีความหวัง สังคมมีความหวัง


กับดักคะแนนเสียง
...เกมใต้ดินของนักเลือกตั้ง

ในอดีต เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งสงบลงและมีการเลือกตั้งใหม่ พรรค ปชป. มักจะได้คะแนนสูงสุด เพราะพรรค ปชป. ไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้ง แต่สภาพการเมืองวันนี้ ปชป. กลายเป็นคู่ขัดแย้งหลัก การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ จึงไม่มีโอกาสทำได้เหมือนเก่าอีกแล้ว

วันนี้การหาเสียงผ่านไปครึ่งทาง สถานการณ์ล่าสุด เพื่อไทย นำทั้งกระแสทั่วไปและนโยบาย แต่ด้วยความจัดเจนในเกมการเมือง ฝ่ายที่เป็นรองวางกับดักไว้หลายจุดเพื่อไม่ให้คะแนนไหลทิ้งขาด เป็นภาระของยิ่งลักษณ์และเพื่อไทยที่ต้องฝ่าไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว, เรื่องหุ้น, นอมินี, เผาบ้านเผาเมือง, กองกำลังติดอาวุธ แผนบันไดสี่ขั้นที่จะนิรโทษกรรมให้ทักษิณ

ฝ่ายตรงข้ามหวังว่าเรื่องนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ และทำให้เพื่อไทยต้องเสียเวลาแก้เกม

ต้องยอมรับว่าเรื่องแบบนี้เป็นปกติของการเล่นการเมืองแบบใต้ดิน แต่ที่ชาวบ้านได้เห็นคือนิสัยและจิตใจของแต่ละฝ่าย และถ้าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่านางเอกถูกรุมรังแก ผลอาจจะเป็นตรงข้าม


สถานการณ์ที่ถูกรุมวันนี้ยังดีกว่าการเลือกตั้งปี 2550 มาก เพราะครั้งนั้นทักษิณโดนกระหน่ำสารพัดข้อหาจาก คตส. พรรคถูกยุบ แกนนำถูกตัดสิทธิ์ ไม่มีเสื้อแดง มีแต่เสื้อเหลือง พอตั้งพรรคใหม่ได้ก็ต้องเลือกตั้งท่ามกลางอำนาจรัฐที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม สื่อก็อยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามเยอะมาก เพียงแต่ประชาชนเชื่อมั่นฝีมือและสงสารที่ถูกรุม ดังนั้น แม้จะไม่ได้เฝ้าหีบเลือกตั้งทุกใบ ก็ยังชนะได้ กับดักคะแนนเสียงจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะฝ่าข้ามไป

ที่น่าหนักใจไม่ใช่เรื่องเลือกตั้ง แต่เป็นมาตรฐานของความยุติธรรม เพราะถ้าใช้แบบการยุบพรรคหรือ การตัดสินคดีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช สอนทำกับข้าว ก็จะทำให้เรื่องการรัฐประหาร, ฆ่าคน, เรื่องหุ้น, เผาบ้านเผาเมือง เป็นเรื่องพวกใครพวกมัน ในการเลือกตั้งก็เช่นกัน เสียงประชาชนอีกหลายสิบล้านเสียงก็ไม่มีความหมาย เพราะเราเปิดโอกาสให้มีอำนาจของกรรมการที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เฉพาะคน จนถึงยุบพรรคที่มีสมาชิกเป็นล้าน แม้กระทั่งยกเลิกการเลือกตั้งของคน 30 ล้าน พวกสายเหยี่ยวจึงบอกอยู่เสมอว่า ไม่มีความยุติธรรมจะสามัคคีและปรองดองได้อย่างไร

ยิ่งเล่นเกมกันมาก โอกาสปรองดองยิ่งน้อยลง คนที่เกี่ยวข้องอย่ากลัวจนเกินเหตุเพราะจะบีบทุกฝ่ายเข้าสู่ทางตัน

ความผิดของทักษิณในเรื่องต่างๆ อาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับการรัฐประหาร การยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน การใช้อาวุธสงครามฆ่าคนตาย ถ้าจะสู้กันต่อไปคงไม่มีใครกลัวใครจะสู้กันอีก 10 ปีก็ได้

แต่ถ้าสงบศึกก็ดีกับประเทศ


...วันนี้มีคนรอให้เกิดความอยุติธรรมมากๆ รอให้สถานการณ์ถึงจุดเดือด มีทั้งพวกปฏิวัติและพวกรัฐประหาร เรื่องแบบนี้เริ่มได้ไว ขยายได้เร็ว เพราะบ้านเราเชื้อเพลิงเยอะ คาดว่าการต่อต้าน การฆ่า การเผา และสงครามจะรวมอยู่ในบทเดียวกัน อยากรู้ว่าเป็นยังไง ก็ให้ดูสถานการณ์ประเทศเยเมนและลิเบีย


.