http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-06-25

"เด็ดขาด"ไปเลย โดย สรกล และ ศึกษาอดีตฯ..มาถึง 2550

.
"เด็ดขาด" ไปเลย
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.



" ขอให้พี่น้องตัดสินใจโดยเด็ดขาดเถอะครับวันนี้ และบอกทุกคนที่พี่น้องรู้จัก ตัดสินใจให้เด็ดขาดไปเลย "

" อย่าไปคิดเป็นอย่างอื่น เลือกประชาธิปัตย์หรือเลือกเพื่อไทยให้มันเด็ดขาดกันไปข้างหนึ่ง จะได้รู้ว่าจะเดินไปทางไหน "

เป็นคำประกาศของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" บนเวทีราชประสงค์

ในเชิงกลยุทธ์ "ประชาธิปัตย์" ต้องการดึงเสียง "แฟนเก่า" ใน กทม.ที่หนีไปลง "โนโหวต-ชูวิทย์-ปุระชัย" ให้กลับมาเลือก "อภิสิทธิ์" อีกครั้งหนึ่ง

เขาปลุกกระแส "เผาบ้านเผาเมือง" และ "ผีทักษิณ" ขึ้นมา เพื่อให้คนที่เคยรัก "ประชาธิปัตย์" แต่เบื่อ "อภิสิทธิ์" กลับมาเลือกเบอร์ 10 อีกครั้ง

ใช้ความกลัวความเกลียดมาเป็น "แม่เหล็ก"

ประมาณว่า "ไม่เลือกเรา เขามาแน่"

เพราะการเปลี่ยนใจคนเสื้อแดงหรือคนที่เลือก "เพื่อไทย" ไปแล้วคงเป็นเรื่องยาก

ง้อ "แฟนเก่า" ง่ายกว่า


"บรรหาร ศิลปอาชา" นั้นฟันธงว่ากลยุทธ์นี้คือ "ไพ่" ใบสุดท้ายของ "ประชาธิปัตย์" และหวังกลุ่มเป้าหมายใน กทม.มากกว่า

เพราะในต่างจังหวัดไม่มีแรงกระเพื่อมอะไรเลย

ถ้าเป็นยุทธวิธีทางทหารก็ต้องบอกว่า "อภิสิทธิ์" ติด "ดาบปลายปืน" แล้ว

เพราะยิงกระสุน "นโยบาย" แล้วสู้ไม่ได้

ถล่มสู้กันมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ดูโพลไหน "ประชาธิปัตย์" ก็พ่ายเรียบ

"ทักษิณ ชินวัตร" นั้นพูดมาตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทยว่าการเลือกตั้งต้องสู้ด้วย "นโยบาย"

เพราะนี่คือ "จุดแข็ง" ของ "ทักษิณ"

นอกจากนั้นเขายังมั่นใจว่าผลงานในอดีตสมัย "ไทยรักไทย" ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ "เชื่อมั่น" ว่านโยบายที่ประกาศไปแล้ว ทำได้จริง

"ความเชื่อมั่น" เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเกม "นโยบาย" หรือ "การขายฝัน"

พูดเพราะ พูดเก่ง ไม่สำคัญเท่ากับ "ความเชื่อมั่น"



เมื่อสู้เรื่องนโยบายไม่ได้ "ประชาธิปัตย์" ก็งัดเอา "วิชาก้นหีบ" ที่ถนัดที่สุด มาใช้ในการหาเสียงโค้งสุดท้าย

นั่นคือ การทำลาย "คู่แข่ง"

ถามว่า มีผลไหม

ตอบได้เลยว่า "มี"

แต่มากแค่ไหน ไม่แน่ใจ


การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติที่ทุกฝ่ายจะพยายามดึงเกมให้เข้าทางของตัวเอง

ตอนนี้ "ประชาธิปัตย์" พยายามดึง "เพื่อไทย" ให้มาเล่นเกมฟื้นอดีต "พฤษภาคม 2553"

เตรียมเปิดวาทกรรม "ถอนพิษทักษิณ"

แต่ "เพื่อไทย" ก็รู้ทัน

การปราศรัยใหญ่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม "เพื่อไทย" ใช้คำว่า "ฟังปราศรัย วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020"

ไม่ใช่แค่เล่นเกมนโยบายธรรมดาแล้ว

แต่ก้าวข้ามไปถึงขั้นแสดงวิสัยทัศน์มองไปถึงปี 2020 เลย

เหมือนจะย้ำให้คนไทยรู้สึกว่าจะยังคงอยู่กับ "อดีต" หรือจะคิดถึง "อนาคต"

สนุกครับ การเลือกตั้งครั้งนี้


รักใครชอบใครก็เลือกให้ "เด็ดขาด" กันไปเลยตามคำขอร้องของคุณอภิสิทธิ์

จะได้รู้ว่าประเทศชาติจะเดินไปทางไหน




++

ศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน การแปรเปลี่ยน กรุงเทพมหานคร จาก พ.ศ.2522 มาถึง 2550
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1610 หน้า 8


ต้องยอมรับว่า พื้นที่กรุงเทพมหานครมากด้วยความแปรปรวน ยากยิ่งต่อการคาดคะแนน

เห็นได้จากเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 พรรคประชากรไทยอันเป็นพรรคเกิดใหม่ได้ 29 จากจำนวนทั้งสิ้น 32

ที่เหลือแบ่งให้พรรคกิจสังคม 2 พรรคประชาธิปัตย์ 1


จากเดือนเมษายน 2522 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 พรรคประชากรไทยยังครองฐานะนำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในลักษณะผลัดกันรุก ผลัดกันรับกับพรรคประชาธิปัตย์

แต่ที่น่าสนใจก็คือ พรรคพลังธรรม โผล่มาแย่งชิงไปถึง 10

การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 หลังสถานการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคม พรรคพลังธรรมขึ้นครองแชมป์ ได้รับเลือก 32 จากจำนวนทั้งสิ้น 35

ที่เหลือเป็นของพรรคกิจสังคม 2 พรรคประชาธิปัตย์ 1


พรรคพลังธรรมครองสถานะนำอยู่จนถึงเดือนกรกฎาคม 2538 ก็เริ่มถดถอย และเมื่อถึงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2539 พรรคประชาธิปัตย์หวนกลับมาครองแชมป์อีกวาระหนึ่งด้วยจำนวน 29 จากทั้งหมด 37

แต่เมื่อถึงการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยก็ยึดไป 28 จากจำนวนทั้งสิ้น 37 แบ่งให้พรรคประชาธิปัตย์เพียง 9

ยิ่งการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยยึดไป 32 จาก 37 ที่เหลือเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ 4 พรรคชาติไทย 1

การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 27 พรรคพลังประชาชนได้ 9



อาจกล่าวได้ว่า สถานะนำจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทยอันเป็นความต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชนเป็นรอง

มาถึงการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเชื่อมั่น

เป็นความเชื่อมั่นจากฐานเดิมเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เป็นความเชื่อมั่นเนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นฐานที่มั่นพื้นฐานของพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญเป็นอย่างมาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โตจากกรุงเทพมหานคร

กระนั้น ชะตากรรมของพรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม ก็เป็นบทเรียนอันทรงความหมายยิ่งของการพลิกผันแปรเปลี่ยน

พลิกผันแปรเปลี่ยนของคน กทม.


.