http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-08

101 ปี วันสตรีสากล โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
101 ปี วันสตรีสากล ผู้หญิงก็เป็นคน...เป็นนักสู้ทุกแนวรบ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 20


8 มีนาคม 2554 ในวาระครบรอบ 101 ปี วันสตรีสากล ผู้เขียนและทีมงานตั้งใจให้บทความนี้เป็นเกียรติแก่สตรีนักต่อสู้ทุกท่าน

ปัจจุบัน มีการจัดงานวันสตรีสากลอย่างกว้างขวางในคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นเพราะสหประชาชาติรับรองให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการมากว่า 50 ปีแล้ว

ที่จริงแล้ว วันนี้ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นเพียงแค่เพราะมีผู้หญิงอยู่ในโลกนี้ แต่กำหนดขึ้นเพราะการต่อสู้ของผู้หญิงที่ไม่ยอมแพ้ชะตาชีวิต ชีวิตที่ต้องถูกกดขี่ขูดรีดอย่างแสนสาหัส เป็นการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตเหมือนมนุษย์ในยุคเสรีชน ไม่ใช่ยุคทาส

เมื่อสตรีชาวปารีสพากันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ในช่วงการปฏิวัติ ฝรั่งเศส 1789 เราก็เห็นภาพผู้หญิงถือธงยืนอยู่แถวหน้าตั้งแต่วันนั้นแล้ว

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ลุกฮือประท้วงเรียกร้องสิทธิให้เพิ่มค่าจ้าง สามารถลาคลอดโดยไม่ต้องถูกออกจากงาน และทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

แต่สุดท้าย กลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่



8 มีนาคม 1910 มีการประชุมนักสังคมนิยมสตรีนานาชาติขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน มีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้รับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซตคิน ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล" จนกระทั่ง ค.ศ.1957 สหประชาชาติจึงรับรองให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการ

คลาร่า เซตคิน ไม่ได้เป็นเพียงนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีสากล เธอยังเป็นนักต่อต้านสงคราม และต้องต่อสู้กับระบบเผด็จการของฮิตเลอร์ยาวนานถึง 12 ปี สุดท้ายถูกกวาดล้างจนต้องหนีไปลี้ภัยและเสียชีวิตในประเทศรัสเซีย แต่ผลงานของเธอได้สร้างดอกผลต่อจนมาถึงทุกวันนี้

ดูเหมือนเธอจะรู้ว่า ต่อให้เวลาผ่านไปร้อยปี การต่อสู้ของแรงงานหญิงก็ยังมีอยู่ และเพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

การรวมตัวของคนงานที่เธอพยายามสร้างขึ้น ถึงวันนี้ยังเป็นอาวุธสำคัญ แต่การต่อสู้ก็มิอาจได้รับชัยชนะง่ายๆ มาดูตัวอย่างการต่อสู้ของคนรุ่นหลัง


บริษัทไทรอัมพ์ มีคนงานประมาณ 5,300 คน แรงงานเกือบทั้งหมดเป็นสตรี สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ฯ ก่อตั้งขึ้น "อย่างหลบๆ ซ่อนๆ" โดยแกนนำ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 และได้ทำหน้าที่เรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการจากนายจ้างตลอดมา

แม้การต่อสู้จะไม่ได้รับความสำเร็จในทุกครั้ง แต่สิ่งที่ได้คือ การรวมตัวกันของแรงงาน ทำให้การต่อสู้เรียกร้องในเวลาต่อมามีพลังมากยิ่งขึ้น

บริษัทฯ มีวิธี สร้างกำไรสูงสุดจากคนงาน ด้วยระบบแรงจูงใจ คือกำหนดการทำงานเป็นนาที ทำงานมากก็จะได้เงินมาก จึงเห็นคนงานทำงานหนักขึ้น ไม่กินน้ำ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้าทำงานก่อนเวลา จนป่วยเป็นโรคไตกับปวดหลังกันมาก

ต่อมามีการเสนอให้เพิ่มความเร็วในการทำงาน เช่น จากเดิม 40 ชิ้นในเวลา 10 นาที เป็น 40 ชิ้นใน 8 นาที โดยใช้ประเทศไทยนำร่อง ถ้าได้ผล จะนำไปใช้ในฐานการผลิตอื่น

สหภาพแรงงานฯ จึงออกมาคัดค้าน ทำให้บริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขากล่าวหาโดยสรุปว่าน่าจะเป็นระบบการจ้างที่ขูดรีดแรงงานมากที่สุดในโลก นอกจากมีบทบาทในสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยอีกด้วย เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 และในปี 2548 ได้เป็นทัพหน้าออกมาเรียกร้องสิทธิทำแท้งให้ผู้หญิง

ปี 2549 เป็นปีแรกที่สหภาพไทรอัมพ์ฯ กำหนดให้ประธานสหภาพแรงงานมาจากเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ คณะกรรมการสหภาพชุดใหม่ มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพฯ ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น นายจ้างที่ออกใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้อง คนงานอายุมากและความปลอดภัยในโรงงาน คนงานประท้วงโดยการหยุดทำงานล่วงเวลาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงาน

จิตรา คชเดช คือประธานสหภาพฯ ที่มีส่วนทำให้สหภาพแข็งแกร่งที่สุด เธอคือกรวดในรองเท้าที่นายทุนต้องกำจัดออกไปจากบริษัทให้ได้

จิตราเล่าว่า เธอถูกเล่นงานหลายครั้ง แต่ผ่านมาได้ เช่น มีใบปลิวโจมตีในโรงงาน และแจกทั่วนิคมอุตสาหกรรม ติดตามเสาไฟในย่านนิคมฯ โทร.มาขู่ฆ่า ถูกลอบทำร้าย ถูกกลั่นแกล้งด้วยการให้นั่งเฉยๆ นาน 6 เดือน

เมื่อไม่ได้ผลก็ให้ไปช่วยงานแผนกต่างๆ ที่เป็นงานยากๆ ที่เธอไม่เคยทำ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะถอดใจลาออกจากสหภาพ หรือลาออกจากบริษัท โดยการยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว แต่เธอยังยืนหยัดทำงานในสหภาพฯ ต่อไป

ในที่สุด ก็มีการไปยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานอย่างลับๆ เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างจิตรา ด้วยข้ออ้างที่เธอสวมเสื้อมีข้อความรณรงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ ขณะไปออกรายการโทรทัศน์เรื่องการทำแท้งเสรี ทำให้เสียชื่อเสียงบริษัท

เธอไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีคำตัดสินลับหลังเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 อนุญาตให้บริษัทเลิกจ้างจิตราได้

แต่บริษัทปล่อยเวลาให้ล่วงเลยระยะอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 จึงเรียกเธอไปรับทราบ และขอให้เขียนใบลาออกเพื่อแลกกับเงินชดเชย 11 เดือน เมื่อเธอปฏิเสธ บริษัทจึงเลิกจ้าง

ทำให้พนักงานเกือบ 3,000 คนหยุดงานและชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างรับเธอกลับเข้าทำงานตามเดิม พนักงานคิดว่านี่เป็นการคุกคามเสรีภาพและเป็นแผนทำลายสหภาพแรงงาน

แต่การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึง 45 วันทำให้คนงานไม่อาจทนสภาพเศรษฐกิจได้ จึงตัดสินใจกลับเข้าทำงาน เก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตราเป็นที่ปรึกษาของสหภาพและต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

แต่พนักงานคิดผิดเพราะบริษัทได้ทำการรุกต่อโดยหลังจากนั้นประมาณ 9 เดือนก็ประกาศเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน เพื่อปลดคนงานที่มีอายุมาก ซึ่งมีกรรมการสหภาพรวมอยู่ 13 คน ใน 18 คน เพื่อขุดรากถอนโคนสหภาพแรงงาน

จิตรากับเพื่อนคนงานได้ข้อสรุปที่เจ็บปวดว่า สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไร พวกเธอจึงใช้องค์กรในต่างประเทศช่วย การรณรงค์ในยุโรป เลือกใช้องค์กร OECD ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้บีโอไอ เป็นตัวกลางเจรจากับนายจ้าง ใช้ศาลแรงงาน แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง

เมื่อยกขบวนไปหน้าทำเนียบ หน้ารัฐสภา แกนนำก็ถูกจับ ฐานมั่วสุมเกิน 10 คน ทำให้บ้านเมืองได้รับการเดือดร้อน

พวกเธอจึงร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน และในที่สุดก็ใช้การเข้ายึดใต้ตึกกระทรวงแรงงานและชุมนุมยืดเยื้อเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ ว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาไม่ได้ และได้ใช้ที่นั่นเป็นที่ผลิตสินค้า เพื่อหาทุนต่อสู้อยู่นาน 8 เดือนจึงถอยออกมาเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ใหม่

พวกเธอได้รับบทเรียนของการต่อสู้ด้วยตนเอง ได้เข้าใจระบบทุนและอำนาจรัฐอย่างลึกซึ้ง

ณ วันนี้ จิตราและเพื่อนจำนวนหนึ่งยังร่วมต่อสู้และยังชีพด้วยการผลิตสินค้าด้วยตนเองออกมาขายในยี่ห้อ ทราย อาร์ม (TRY ARM -www.tryarm.org) ปัจจุบันได้รับออเดอร์พอสมควร แต่จิตราและแกนนำบางคนยังต้องขึ้นศาล เพื่อสู้คดีที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอีกหลายคดี

แต่เธอยืนยันว่า ไม่ท้อ สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจสู้มาถึงขณะนี้ เพราะเชื่อในการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าคนเท่ากัน เชื่อว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการรวมตัว และตัวพวกเราเองคือกำลังใจที่สำคัญ

การต่อสู้ ณ วันนี้ คือการรวมตัว เสรีภาพการแสดงออก และประชาธิปไตยที่กินได้

การต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันซับซ้อนกว่ายุคก่อนมาก แต่ จิตรา คชเดช สรุปว่า "การต่อสู้ของคนงานคนจนไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด และอำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกัน ก็จะไม่มีโอกาสคว้าอำนาจรัฐไว้ในมือ"



เมื่อพูดถึงสหภาพแรงงานในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยในวันนี้ ไม่รู้ว่าสหภาพแรงงานหายไปไหนกันหมด โดยเฉพาะสหภาพแรงงานที่นำโดยผู้ชายอกสามศอก มีผู้ให้ความเห็นว่า ถ้าไม่เป็นเพราะกลัว ก็คงกินอิ่มจนเกินไป

หากมองออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่รั้วติดกัน ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกคือ อองซาน ซูจี ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากักบริเวณภายในบ้านพักของเธออย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

ล่าสุดในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 เธอได้รับการปล่อยตัวจากรัฐบาลทหารพม่า ไม่มีใครตอบได้ว่า เธอจะถูกรัฐบาลเผด็จการหาเหตุสั่งจำคุกในบ้านของเธอเองอีกหรือไม่ วันนี้เธอกำลังปรับวิธีการต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่า ซึ่งแปลงกายเป็นนักการเมืองในสภา ต้องดูกันต่อไปว่าเธอจะเล่นบทฝ่ายค้านนอกสภาได้ดีแค่ไหน

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อองซาน ซูจี คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อให้พม่ามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

วันนี้ที่น่าเป็นห่วงคือหญิงนักสู้เพื่อประชาธิปไตยแถวแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ระยะเปลี่ยนผ่านช่วงนี้รุนแรงมาก นั่นหมายถึงพวกเธออาจต้องแลกชีวิตกับอุดมการณ์

ได้แต่หวังว่า 8 มีนาคมปีหน้า คงมีแสงสว่างของประชาธิปไตยส่องสว่างในหลายประเทศให้คุ้มกับการเสียสละของพวกเธอ



สําหรับการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยยังดำเนินต่อไป ผู้นำของกลุ่ม นปช. ปัจจุบันคือสตรีนามว่า ธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยลี้ภัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เข้าไปอยู่ในป่า

ด้วยสภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความ "แดง" หลายกลุ่ม หลายระดับ บางกลุ่มอาจมีความเห็นว่า สถานการณ์การเมืองภายหลังการนองเลือดเดือนพฤษภาคม ผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดงควรมีบุคลิกท่วงทำนองที่เด็ดขาด ถึงลูกถึงคน และแน่นอน ควรเป็นผู้ชาย แต่ผู้เขียนกลับเห็นต่าง

นปช. ภายใต้การนำของ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มีภารกิจหลักคือ รณรงค์ให้ปล่อยตัวแกนนำ นปช. และเสื้อแดงทุกคน, ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบาดเจ็บ เสียชีวิต และเตรียมสู้คดีในศาล, ยกระดับการต่อสู้ของ นปช .โดยการให้ความรู้ความเข้าใจ การต่อสู้ที่เน้นสันติวิธีเป็นแนวทางการต่อสู้ เรียกร้องประชาธิปไตย ทวงถามความยุติธรรม

อาจจะขัดอกขัดใจเสื้อแดง "ฮาร์ดคอร์" แต่นี่คือการเอาชนะทางการเมืองและดึงคนกลางๆ ให้เข้าร่วมมากขึ้น เราจึงเห็นจำนวนคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมทุกครั้งค่อยๆ เพิ่มขึ้น

วันนี้รัฐบาลยอมให้ประกันตัวแกนนำคนเสื้อแดงแล้ว คาดว่าอีกไม่กี่วันผู้ถูกคุมขังทางการเมืองคงได้รับการประกันตัวออกมาจนหมด

การต่อสู้แบบนี้ไม่มีปืน แต่เป็นเหมือนการเดินหมากรุก เดินทีละตา รุกทีละก้าว ตาต่อไปคือสนามเลือกตั้ง อีกตาหนึ่งคือศาลยุติธรรม

การดำรงความสามัคคีเป็นปัจจัยพื้นฐานขององค์กรแนวร่วม ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องปกติ การรักษาแนวร่วมและขยายให้ใหญ่ขึ้นจึงเป็นภารกิจสำคัญ

สุดท้ายของบทความนี้ ต้องขอยกย่องจิตใจที่กล้าหาญและเสียสละของสตรีนักสู้ทุกคน และขอเก็บความทรงจำที่งดงามด้วยภาพผู้หญิงนักต่อสู้ที่ถือธงยืนอยู่ในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ในอดีต กับภาพใหม่ในปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา คือ The Last Red Shirt...เสื้อแดงคนสุดท้าย

เธอเป็นผู้หญิงที่นั่งนิ่งตัวตรงบนเก้าอี้อยู่คนเดียว หน้าเวทีราชประสงค์ ใส่เสื้อแดงถือธงแดง ในขณะที่ทหารหลายกองร้อยบุกเข้ามาควบคุมพื้นที่แม้ทุกคนจะจากไปหมดแล้ว เธอก็ยังนั่งอยู่ตรงนั้นเพื่อบอกกับทหารและนักข่าวที่มาพบว่า เธอและพรรคพวกไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย

10 วันหลังจากนั้น เราจึงรู้ว่า นักสู้สตรีนิรนามคนนั้น เป็นอดีตพยาบาลอายุ 54 ปี ชื่อว่า ผุสดี นาคคำ ...เสื้อแดงคนสุดท้ายในวันสลายการชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553

.