http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-24

ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy) โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

.


ประชาธิปไตยแบบอารยะ (Civilized democracy)
โดย ธเนศวร์ เจริญเมือง
17 กันยายน 2551 ( และมีการโพสต์ในเว็บไซต์ประชาไท Thu, 2008-09-18 03:14 )


หลายสิบปีมานี้ ประชาธิปไตยมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมหนึ่งจะแถลงว่าระบอบการปกครองของตนเองนั้นเป็นแบบใด แต่เนื่องจากประชาธิปไตยเป็นคำที่ฟังดูไพเราะเพราะแปลว่าอำนาจเป็นของประชาชน สังคมไหนก็อวดอ้างตนเองเป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นจริงแค่ไหน และหากทนซ่อนเร้นบางอย่างไม่ได้ ก็จะต้องเติมสร้อยไว้ด้านหลังหรือเติมคำคุณศัพท์ไว้ข้างหน้า เพื่อให้คนในสังคมนั้นได้รู้ว่า นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็ม 100 หรอกนะ แต่ต้องดูที่คำข้างหน้าหรือที่ต่อท้ายเป็นสำคัญ เพราะนั่นแหละคือตัวจริงเสียงจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมเองก็ต้องเดินตามแฟชั่นดังกล่าวด้วย นั่นคือ ขอมีคำสร้อยต่อท้าย แต่จะขอย้ำว่าคำสร้อยที่เพิ่มเข้ามาจะไม่บิดเบือนหรือลดคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย มีแต่จะตอกย้ำความสำคัญของระบอบนี้


วิชารัฐศาสตร์มักพูดเสมอว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นทั้งอุดมการณ์ (คือความอยากที่จะเป็น) เป็นทั้งสถาบัน (คือมีสถาบันต่างๆในทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง ศาลยุติธรรม ฝ่ายบริหารที่โปร่งใส สภาผู้แทนที่ยึดมั่นในหลักการไม่ใช่พวกมากลากไป สื่อมวลชนที่เสนอข่าวรอบด้าน ไม่ใช่เลือกเสนอข่าว และนำเอาความเห็นส่วนตัวไปปะปนกับเนื้อหาของข่าว มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการเลือกตั้ง และมีกิจกรรมการเมืองของประชาชนที่หลากหลาย ไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้ง ฯลฯ) และเป็นทั้งวิถีชีวิต (คือสังคมมีค่านิยม และพฤติกรรมต่างๆแบบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบอภิสิทธิ์ ไม่มีนอกกติกา ฯลฯ)

3 อย่างนี้ปรากฏในสังคมไหน ประชาธิปไตยก็ย่อมรุ่งเรืองและมั่นคง ไม่มีใครบิดเบือน หรือถูกฉีกทิ้งทำลายง่ายๆ แถมมีคนร่วมยินดีปรีดาอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบางประเทศ

สำหรับผม วิชารัฐศาสตร์ต้องไปให้ไกลกว่านั้นอีก นั่นคือ ประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นทั้งจุดหมายและวิธีการ ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาระบอบการเมืองในห้วง 2000 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่ยุคกรีก ประชาธิปไตยคือเส้นทางการเดินของมนุษยชาติ บนเส้นทางสายนั้น จึงมีทั้งส่วนที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็น มีทั้งประชาธิปไตยที่ถูกทำลายไปบางส่วนหรือมากส่วน หรือถูกบิดเบือนไปทั้งเนื้อหาและถ้อยคำ กระทั่งแต่งเติมคำข้างหน้าและข้างหลังเพื่อให้คุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยถูกลดทอนลงไป

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประชาธิปไตยก็ยังจะเดินไปข้างหน้า เพราะตัวของมันเป็นทั้งเส้นทางและจุดหมายของมนุษยชาติ มันอาจจะหกล้มบ้าง แต่มันก็ลุกขึ้น ปัดฝุ่น ดึงเสี้ยนหนามออก ซับน้ำตา ปาดเหงื่อ ล้างหน้าตา หายใจลึกๆ แล้วก็เดินหน้าต่อไป



ในการอภิปรายที่คณะรัฐศาสตร์ มช. (16 กันยา 51) คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้พูดถึงความขมขื่นของตนเองที่ได้เห็นนักการเมืองไทยแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงและต่อรองเพื่อตำแหน่งและงบประมาณ ทุจริตคอรัปชั่น และไม่เห็นหัวประชาชนมาปีแล้วปีเล่า

คำถามมีอย่างน้อย 2 ข้อ 1. มีแต่นักการเมืองเท่านั้นหรือที่ทุจริต อาชีพอื่นๆไม่มีหรือที่ทุจริตในสังคมไทย และ 2. อะไรเล่าที่ทำให้นักการเมืองเป็นเช่นนั้น

คำตอบก็คือในสังคมที่เป็นอำนาจนิยมและอภิสิทธิชนนิยมมานาน ผู้มีอำนาจไม่ว่าอาชีพใดก็ฉ้อฉลอำนาจทั้งนั้น และวัฒนธรรมอำนาจนิยมดังกล่าวได้แพร่เข้าไปในหมู่ประชาชนด้วย การก่นด่าว่าแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงเป็นการมองด้านเดียว คนด่าด้านเดียวแบบนี้ไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวว่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนิยม

อีกข้อหนึ่ง ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองอ่อนแอ ด้อยคุณภาพ หรือชอบทุจริตคอรัปชั่นนั้น ข้อเท็จจริงก็ต้องมี ที่ใส่ไข่ใส่นมเพื่อหาเหตุทำรัฐประหารก็ย่อมมี แต่ที่ควรเป็นประเด็นคือ ก็เพราะประชาธิปไตยของไทยถูกทำลายบ่อยครั้งโดยรัฐประหาร และรัฐประหารแต่ละครั้งมิได้ลงโทษนำนักการเมืองที่ทำผิดขึ้นศาล แต่ได้ทำเพียงไล่เขาออกจากตำแหน่ง ยุบพรรค และฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พอมีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็กลับมาอีก เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง

การที่สภาล่มในวันที่ 12 กันยา เหตุผลหนึ่งก็คือ มีพรรคการเมืองมากเกินไป ทำให้เกิดการต่อรอง การช่วงชิงจากฝ่ายต่างๆทั้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มนอกระบบ ทำไมมีพรรคการเมืองมาก ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ กลัวรัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป

รัฐธรรมนูญ 2540 มาถูกทางแล้ว คือสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีจุดอ่อนบางข้อเช่น ปิดกั้นพรรคขนาดเล็กมากเกินไป แต่แทนที่สังคมไทยจะแก้ไขปัญหารัฐบาลเข้มแข็งเกินไปด้วยการถ่วงดุลรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กลับใช้วิธีรัฐประหาร ล้มรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถอยหลังไปอีก การเมืองไทยจึงเวียนกลับไปที่เก่า


ประชาธิปไตยที่หวนคืนแต่ละครั้งมีลักษณะอารยะเล็กๆที่เผยให้เห็น และควรจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเพื่อให้การก้าวเดินไปข้างหน้ามีสิ่งที่ดีๆเก็บไว้เป็นประเพณี

เช่น คืนวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคการเมืองที่พ่ายแพ้แสดงอาการฮึดฮัด ต้องการจัดตั้งรัฐบาลสู้กับพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ในที่สุด ก็ถูกสอนมวยว่าต้องรู้จักเคารพกติกา ยอมรับผลการแข่งขัน ต้องแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และแสดงความเต็มใจที่จะร่วมงานด้วยเพื่อรักษาและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย

สายวันพุธที่ 17 กันยายน 2551 ทันทีที่นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เขาไม่ได้เสียเวลาขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อยู่ข้างๆ แต่เดินอย่างรวดเร็ว ฝ่ากลุ่ม ส.ส. ไปยังฝั่งตรงข้าม ไปจับมือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯเช่นกัน จับมือกันเพื่อให้รู้ว่าความแตกต่างคือลักษณะธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย เราต้องเคารพความแตกต่าง เราต้องเคารพคะแนนเสียงของคนส่วนใหญ่ แล้วเราก็ร่วมมือกันทำงาน คนอยู่ฝ่ายค้านก็ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป หลังจากนั้น นายสมชายจึงเข้าไปกราบขอบคุณนายบรรหาร และพลตรีสนั่น และ ส.ส. คนอื่นๆ ที่สนับสนุนตน

นี่ต่างหากที่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยะ

จะชอบนายสมชายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ จะออกเสียงเลือกนายสมชายหรือนายอภิสิทธิ์ก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือเราต้องเคารพกติกาของระบอบที่กำหนดขึ้น หากไม่ชอบ ก็ไปหาคะแนนเสียงมามากๆเพื่อแก้ไขระบอบดังกล่าว

นายสมชายเป็นนอมินี เป็นญาติ เป็นน้องเขยของนายกฯในอดีต แล้วยังไง ถ้าพ่อของผมเป็นนักโทษประหาร เพราะปล้น 10 ธนาคาร ฆ่าคนตาย 100 กว่าศพ แล้วสังคมจะต้องลงโทษผมที่ไม่ได้มีส่วนเหล่านั้นด้วยหรือ

นายสมชายจะเป็นอะไร ประเด็นที่สังคมไทยจะต้องพิจารณาก็คือเขาจะทำอะไรต่อไปนี้ เขาจะทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือของครอบครัว หรือญาติและพวกพ้อง

วิธีการตัดสินคนจากการเป็นญาติ การเกี่ยวดอง ก็คือวิธีคิดแบบอำนาจนิยมของสังคมเก่า ไม่ได้ดูคุณค่าของความเป็นคนที่แต่ละคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน ไม่ได้ดูคนที่ผลงานของเขา แต่กลับไปดูถูกคนเหนือคนอีสานที่ตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งว่าเพราะพวกเขาขายเสียง

เป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ คือคิดว่าตนเองเก่ง พรรคที่ตนเองชอบจะต้องได้เป็นรัฐบาล ใครคิดไม่เหมือนตนเอง เป็นคนโง่ เป็นพวกขายเสียง ถูกครอบงำ ตนเอง พรรคพวกของตัวเองก็ดี ญาติพี่น้องของตนเองก็ดี แต่อะไรที่เป็นของคนอื่นเลวหมด

การเมืองใหม่จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกๆคน ต้องเคารพกฎหมายเหมือนกันหมด ถ้าศาลตัดสินว่านายสมัครเป็นลูกจ้างต้องออกจากตำแหน่ง คนอื่นๆเช่น นายจรัล หรือคุณหญิงจารุวรรณ ที่ทำงานเป็นลูกจ้างแบบนายสมัครก็ต้องออกจากตำแหน่งเหมือนกันด้วย

หากกลุ่มของนายกฯ ทักษิณถูกฟ้องและถูกลงโทษครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คนอื่นๆ ที่มีการกระทำคล้ายๆกันกลับลอยนวลอยู่เช่นนี้ เมื่อไหร่ บ้านเมืองนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม?


การเดินไปหาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอย่างรวดเร็วเป็นก้าวๆ หนึ่งในสังคมที่มีประชาธิปไตยเล็กๆและโหยหาประชาธิปไตยแบบอารยะตลอดมาเช่นสังคมไทย

จะให้ดี เป็นก้าวใหญ่อีกก้าวหนึ่ง ถ้าผู้แพ้ในการลงคะแนนควรจะก้าวเร็วกว่าไปหา เพื่อแสดงความยินดีและเสนอตัวร่วมมือกันหาทางทำให้สภาผู้แทนที่มาจากประชาชนทำงานรับใช้ประชาชนมากขึ้น

ที่สำคัญควรจะคิดให้มากๆ ว่าส.ส. คนหนึ่งไปเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตร นำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลได้ไม่กี่วัน กระทั่งนำเรื่องราวการประชุมสภาไปเล่าแบบเย้ยหยันทุกค่ำคืนหน้าทำเนียบนั้น คนๆนี้กำลังทำอะไรให้กับการเมืองในสภาฯ ถ้าเขาชิงชังสาหัสขนาดนั้น เขายังรักษาสมาชิกภาพไว้เพื่อสิ่งใด รับเงินเดือนจำนวนมากไปทำไม และพรรคการเมืองที่บอกว่ายึดมั่นกับระบบรัฐสภามาตลอดนั้นคิดอะไรในใจที่ปล่อยให้เกิดภาวะทวิมาตรฐานเช่นนี้

นี่ถ้ามี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งออกเสียงเลือกนายสมชายเป็นนายกฯ ในวันนี้ คนพวกนั้นยังจะได้เป็นสมาชิกของพรรคนี้ต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่าเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวเช่นเดียวกับ ส.ส. คนหนึ่งที่นำประชาชนส่วนหนึ่งไปยึดครองทำเนียบรัฐบาล



การเมืองใหม่-รัฐบาลใหม่และทางเลือกใหม่ของสังคมไทย

อย่าลืมว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมา 61 ปี (พ.ศ. 2490-2551) เป็นผลพวงของอำนาจฝ่ายความมั่นคงและความคิดเก่าในสังคมที่จะต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านและการพยายามเก็บการเมืองเก่าเอาไว้ มันเนิ่นนานมากจนเกิดความเคยชินว่ายึดอำนาจได้แล้ว ทุกอย่างก็จบ มันเนิ่นนานจนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดการพัฒนา นักการเมืองไม่เคยต้องคำพิพากษา ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารก็ไม่เคยต้องคำพิพากษาใดๆในการทำลายระบอบประชาธิปไตยแต่ละครั้ง ทั้งสองจึงสะสมนิสัยบางอย่างที่ไม่เคยมีการแก้ไขตลอดมา

ในห้วง 61 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มการเมืองอำนาจนิยม กลุ่มการเมืองแบบประชาธิปไตยตัวแทน ( พรรคการเมือง) และกลุ่มประชาธิปไตยฝ่ายประชาชน สองกลุ่มแรกต่อสู้กันมา 60 กว่าปีแล้ว(อย่างน้อย)ยังไม่ยุติ กลุ่มที่ 3 ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นต้นมา

100 กว่าวันมานี้ มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาโจมตีกลุ่มประชาธิปไตยแบบตัวแทน แล้วเรียกหาการเมืองใหม่ แต่วิธีการทำงานหลายอย่างของพวกเขากลับสร้างความสงสัยเพิ่มขึ้น เช่น การเมืองใหม่เพื่อประชาชนใยจึงเลือกเคารพกฎหมาย แต่ไม่เคารพระบอบการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law) เช่น ดีใจตัวสั่นเมื่อคุณหญิงพจมานติดคุก ไม่พอใจที่นายกฯทักษิณหนีศาล เรียกร้องให้กลับมาฟังศาล เฮลั่นเมื่อสมัครหลุดจากตำแหน่ง ไชโยเมื่อจักรภพและนพดลก็หลุดจากตำแหน่ง แต่กลับเงียบเมื่อถูกหมายจับกรณียึดทำเนียบ หรือฝ่ายนปก.เจ็บกับตาย แต่พันธมิตรไม่เป็นอะไร หรือกรณียึด NBT หรือกรณีคนในศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นลูกจ้าง ฯลฯ


สังคมไทยต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยแบบอารยะ

แน่นอนที่สุด ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองคืออำนาจนอกระบบแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนตลอดมาเป็นเวลานานถึง 6 ทศวรรษ (ขนาดทั่วทั้งโลกนึกว่าเมืองไทยจะไม่มีรัฐประหารแล้ว ยังกลับมาอีกในปี 2549 แล้วยังสร้างกลไกทิ้งไว้อีกมาก)

ประชาธิปไตยแบบตัวแทนย่อมมีจุดอ่อนหลายด้าน ยิ่งนักการเมืองจำนวนมากถูกตัดสิทธิถึง 5 ปี บุคลากรการเมืองก็ยิ่งขาดแคลนหนัก

การสัมผัสมือกันระหว่างนายกฯคนใหม่กับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าชื่นชมมาก

ที่ต้องปรบมือให้อย่างยิ่งก็คือคำยืนยันของแม่ทัพบก และนายทหารสำคัญๆ ที่จะไม่ทำรัฐประหารอีกเพราะว่าหมดสมัยแล้ว

หนทางที่เหลืออยู่ก็คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ในสภา และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) นอกสภา จะเรียกว่าการเมืองใหม่ให้ฟังดูตื่นเต้นก็ได้ แต่ในความเป็นจริง นั่นก็คือ ประชาธิปไตยแบบอารยะที่หลายประเทศก็ยอมรับแล้วว่า เมื่อประชาชนตื่นตัวทางการเมือง มีความเป็นพลเมืองที่เอาการเอางาน (Active citizenship) ไม่หลงติดอยู่แต่การเลือกตั้ง แต่สนใจและมีบทบาทในกิจการสาธารณะทุกๆด้าน โดยเฉพาะการกำหนด
นโยบาย การออกกฎหมาย การบริหารงานของภาครัฐ การติดตามพฤติกรรมและการทำงานของส.ส. และการถอดถอนนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพและทุจริต ฯลฯ

สังคมสมัยใหม่มีความหลากหลาย ต้องเคารพความหลากหลายและไม่ใช่ดึงดันจะเอาชนะให้ฝ่ายอื่นๆพ่ายแพ้หมด มีแต่ฝ่ายของตนเองชนะเท่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะมีแต่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า เกิดความตึงเครียด การลงทุนหดหาย เศรษฐกิจฟุบ ประชาชนเดือดร้อนทั้งประเทศ การต่อสู้ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ ต้องมีการหยุดเพื่อให้ส่วนรวมอยู่ได้

ในสังคมสมัยใหม่ที่มีประชากรจำนวนมาก ประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความจำเป็น แต่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็ไม่อาจขาดได้ ในความเป็นจริง คนที่ไปจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่งที่วุฒิสภานั่นเองก็คือตัวแทนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆที่ต่อไปควรปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนก็สามารถขยายบทบาทไปจัดการประชุมร่วมกับภาคประชาชน การเมืองภาคประชาชนสามารถจัดตั้งสภาของตนเองขึ้นได้ สามารถรวบรวมเงินกันเองหรือของบประมาณมาสร้างที่ทำการเอง ไม่ใช่ไปแย่งทำเนียบรัฐบาลมาเป็นของตน

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จริงก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน นำมาปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทเสียใหม่

ประชาธิปไตยแบบอารยะที่ควรจะเกิดขึ้นนับจากวันนี้เป็นต้นไปควรเป็นการพบปะเจรจาภาคส่วนต่างๆ ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะจากฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน ด้วยการถอยจากจุดเดิม

บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ถอยแล้ว เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว กองทัพก็ประกาศแล้วว่าจะไม่แทรกแซงระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการเจรจา

บัดนี้ ประชาธิปไตยแบบอารยะใกล้จะมาถึงแล้ว รอแต่ว่ากลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ด้วยการถอยเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ

17 กันยายน 2551



.