http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-03

พรมแดนแห่งความพร้อม และ ทวิลักษณ์ของคลื่นและฝั่ง โดย วิษณุ โชลิตกุล

.
พรมแดนแห่งความพร้อม
โดย วิษณุ โชลิตกุล huato@gmail.com คอลัมน์ กลับสู่อนาคต
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1591 หน้า 63

ถึง huaklom, hualaem, hoaliam,huakuay, chihuahua, huayik
จาก ก.ม. 891


ผมนั่งอยู่ที่ร้านอาหารที่เป็นเพิงเล็กๆ ริมห้วยแม่สายที่กั้นพรมแดนเหนือสุดกับเมียนมาร์ รอพลพรรคที่ร่วมเดินทางซึ่งข้ามไปซื้อของฝั่งท่าขี้เหล็ก ซึ่งคงใช้เวลานานพอสมควร ระหว่างรอก็นั่งทบทวนประเด็นบางอย่างที่หัวกลมและหัวเหลื่ยมยกขึ้นมา เพราะมันคล้ายคลึงกับที่ผมเผชิญมาหยกๆ

เดินทางมาเชียงรายครั้งนี้ ตั้งใจพอสมควรเพื่อมาผจญความหนาวกับน้ำค้างแข็งหรือแม่ขะนิ้งบนภูดอย แต่อากาศปีนี้ร้อนกว่าที่คาดทำให้ความหนาวเย็นที่สื่อโทรทัศน์และบริษัทที่หวังทำซีเอสอาร์ช่วยกันประโคมกลายเป็นเรื่องที่ชาวเหนือเรียกว่า "จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย" ไปเสียฉิบ

ผมตั้งคำถามว่า เสื้อผ้ากันหนาวที่ถูกรื้อค้นจากตู้เก็บ แล้วขนเอามาเตรียมสู้ความหนาวอย่างเปล่าประโยชน์ เป็นความโง่ของคณะเราเอง หรือ เป็นแค่ความผิดคาดเพราะถูกอากาศเล่นตลกเข้าให้เท่านั้น เพราะมันโยงเข้ากับโจทย์ใหญ่ว่าด้วยความพร้อมหรือไม่พร้อม

เจ้าความพร้อมหรือไม่พร้อมนี้แหละ เป็นโจทย์ทางสังคมที่ทำให้คนในสังคมของเรากลายเป็นพวกสอบตกประชาธิปไตย ก้าวไม่ข้ามปัญหาที่ทับถมต่อเนื่องว่าด้วยเสรีภาพและยุติธรรม สร้างพฤติกรรมพายเรือในอ่างที่หาทางออกไม่ได้

หรือว่า กับดักของความไม่พร้อม คือคำสาปอันศักดิ์สิทธิ์ที่อภิสิทธิ์ชนสร้างขึ้นมาด้วยรหัสลึกลับจนยากกว่าปมกอร์เดี้ยน ที่แม้กระทั่งอเล็กซานเดอร์ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ มีแต่พวกวีรชนจอมปลอมเที่ยวป่าวร้องคำทำนายอันโป้ปดด้วยสำบัดสำนวนอันโง่เขลาเกลื่อนกลาด



ผมไม่ใช่นักทำโพลรับจ้างแบบบูดเบี้ยวเยี่ยงอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างที่ทำกันเป็นแฟชั่นมากว่าทศวรรษแล้ว แต่เคยตั้งโจทย์ถามกับบรรดาเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน และรุ่นหลังที่สนิทสนมมากเป็นพิเศษ ทั้งหญิงและชายที่ครองความเป็นโสด (แม้จะไม่สดบ้าง) ว่า ทำไมถึงไม่ยอมแต่งงาน ทั้งที่เลยวัยมาแล้ว

คำตอบที่เค้นมาได้ก็คือ ส่วนใหญ่จะตอบว่าตอนที่ยังหนุ่มสาวอยู่นั้น คิดเสมอว่า ตัวเองยังไม่มีความพร้อม และยังไม่มั่นใจว่าเจอคนที่ใช่หรือไม่ ยังมีเวลาเลือกอยู่

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความไม่พร้อมถูกขจัดไปจากชีวิตแล้ว ก็พบว่าความไม่มั่นใจว่าเจอคนที่ใช่กลับผกผันเป็นสัดส่วนตรงข้าม และเมื่อคิดว่าเจอคนที่ใช่ พวกเขาเหล่านั้นก็ขวานบิ่นกันเสียหมดแล้ว

ความไม่พร้อมก็เลยกลายเป็นแค่ข้ออ้างสำหรับความลังเลใจ หรือ การกล่าวโทษตนเอง เพื่อจะหา "แพะรับบาป" สำหรับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตนเอง และเป็นข้ออ้างสำหรับความหวาดกลัวที่จะสูญเสียการควบคุมปัจจัยภายนอก

หรือว่า ข้ออ้างที่ประชาธิปไตยไม่สามารถลงรากลึกกลายเป็นฐานรากของสังคมเราได้ เพราะมันถูกทำให้เป็นมายาคติของอำนาจเผด็จการในการครองอำนาจให้ยาวนานที่สุด เพื่อโยนบาปให้กับมวลชนที่พยายามลุกขึ้นสู้เพื่อทวงสิทธิเสรีภาพและยุติธรรมให้กับตนเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้อีก

เพียงแค่รู้จักมองย้อนไปข้างหลัง และเลิกคิดแบบ "อดีตคือประเทศอื่น" เราจะพบได้ทันทีว่า ประเด็นความไม่พร้อม ได้ถูกยกขึ้นมาประดิษฐ์สร้างวาทกรรมทางการเมืองของชนชั้นปกครองมาตั้งแต่ข้อเสนอ 7 ข้อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 ของคนรุ่นหัวก้าวหน้า ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบเปิดกว้างในรูปของประชาธิปไตยฟ้าประทานแล้ว

เพราะปฏิกิริยาตอบโต้ของอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยามนั้นไม่เพียงแต่ทำให้ผู้เสนอในอดีตต้องตกระกำลำบากเท่านั้น หากยังทำให้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คิดค้นกระบวนวิธีอธิบายความชอบธรรมทางอุดมการณ์ของตนเองเสียใหม่ในรูปของลัทธิชาตินิยมที่มีกษัตริย์เป็นแกนกลางของอำนาจ

จะมียกเว้น "พักร้อน" อยู่ก็เพียงแค่ช่วงหลัง คณะราษฎรยึดอำนาจในกลางปี พ.ศ.2475 เป็นเวลาประมาณ 25 ปีเท่านั้นเอง

ประดิษฐกรรมว่าด้วยความไม่พร้อมของชนชั้นอภิสิทธิ์ที่ถูกรื้อฟื้นมาใหม่พร้อมกับความคุ้นเคยของอำนาจเผด็จการทหารเริ่มแต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลผ้าขะม้าแดงสมุนรับใช้อเมริกา ที่นำไปเข้าสู่สงครามรุกรานเพื่อนบ้านในอินโดจีน ภายใต้คำขวัญต่อต้านคอมมิวนิสต์และความรักชาติจนน้ำลายไหลทุกรูปแบบ

เปิดทางให้กับบรรดาอีกาขี้ขโมยผลัดเวียนกันเอาสีขาวบริสุทธิ์และสีทองอร่ามตา ทาย้อมขนของตนเองให้สะอาดน่าเลื่อมใส ระหว่างการใช้อำนาจเผด็จการผูกขาดอำนาจนำทางด้านเศรษฐกิจการเมืองอย่างสมคบคิด เพื่อปล้นชิงเสรีภาพและยุติธรรมจากมือมวลชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ของพลวัตทางปัญญาของมวลชน ผ่านนิยายน้ำเน่าทางการเมืองที่มีแกนหลัก 4 แกน

เป้าหมายสำคัญคือผดุงความไม่พร้อมของมวลชน เป็นเครื่องมือสร้างกลไกเผด็จการ ในนามของประชาธิปไตยจอมปลอมที่บงการและผูกขาดจากเบื้องบน

แกนหลักของข้อกล่าวอ้างเริ่มตั้งแต่มายาคติเรื่อง การเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎร 2475 ว่า เป็นการชิงสุกก่อนห่ามบ้าง เป็นการเอาความคิดฝรั่งที่ไม่เหมาะกับสังคมไทยมาใช้บ้าง เป็นการกระทำของกลุ่มขุนนางที่ขัดแย้งกันโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม

แล้วท้ายสุด กษัตริย์ทุกพระองค์ซาบซึ้งและทะนุถนอมการปกครองประชาธิปไตยไทยยิ่งกว่าพวกคณะราษฎรและนักการเมือง เป็นสาระของอคติทางปัญญาที่เราทุกคนแสนจะคุ้นเคยอย่างยิ่งจนเสมือนสัจจะสังคมไปแล้ว ทั้งที่ยังหาข้อพิสูจน์อะไรไม่ได้แม้แต่น้อย


จากแกนหลักข้างต้น เราก็ได้เห็นพล็อตเสริมที่ประดับตกแต่งให้แกนหลักอะร้าอร่ามมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยบทประพันธ์ในลักษณ์ประณามพจน์แบบ "ยอยศพระลอ" ในท่วงทำนองอันพิสดารผ่านเครือข่ายสื่อสอพลอที่พร้อมจะสมคบคิดอำนาจเผด็จการหลากรูปยึดครองพื้นที่จินตกรรมโดยไม่อนุญาตให้กับการวิวาทะเพื่อพัฒนาปัญญาให้กับมวลชนเอาเสียเลย

การโหมประโคมอย่างอึงคนึงว่า ชาติไทยและสังคมไทยไม่อาจดำรงอยู่ได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์ เพราะเสมือนดวงวิญญาณปลิดปลิวจากร่าง กลายเป็นซอมบี้ที่หมดอนาคต ตัวอย่างเช่น ชาติที่เคยมีกษัตริย์แล้วถูกล้มล้างไปจำนวนมาก พากันอิจฉาคนไทยไปทั่วโลก

การพร่ำเพ้อถึงความรักและปรองดองทางสังคมว่าเป็นทางออกเดียวของการยุติความขัดแย้งใดๆ ทางสังคม บนฐานความเชื่อที่ปลูกฝังว่า ความสามัคคีปรองดองของชาติ คือสันติภาพที่อยู่เหนือกว่ายุติธรรมระหว่างผู้คน

กลไกรัฐที่ครอบงำสังคมอย่างรวมศูนย์ พร้อมเสมอจะสร้างมติจอมปลอม ไม่อั้นกับการยกระดับความมั่นคงของชาติ อยู่เหนือประชาชน เป็นการแยกชาติออกจากมวลชน ด้วยเหตุผลว่า ผลประโยชน์ของรัฐไม่ใช่ผลประโยชน์ของมวลชน ทั้งที่เป็นความมั่งคั่งที่ปล้นชิงจากมวลชน

รัฐชาติที่ดี คือรัฐชาติที่โพธิสัตว์ ปกครองเยี่ยงนิทานชาดกทั้งในนิบาตและนอกนิบาตเป็นต้นแบบ ดังนั้น รัฐบาลที่แต่งตั้งและผ่านฉันทามติโดยคนดีเยี่ยงโพธิสัตว์ ย่อมมีฐานะเหนือกว่ารัฐบาลเลือกตั้งสามานย์ เพราะส่วนใหญ่มาจากกระบวนการซื้อเสียงของกลุ่มทุนสามานย์ที่หวังผูกขาดถอนทุนคืน ดังนั้น การที่ทหารและกองทัพ ซึ่งตีความตนเองว่าเป็นกลุ่มคนเดียวที่จะพิทักษ์ราชบัลลังก์ และชาติ จะดำรงฐานะอิสระเป็นทหารของพระราชาที่โดดเด่นในฐานะเสาค้ำยันหรือผู้แสดงหลักในอำนาจจึงเป็นประชาธิปไตยด้วย

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีเป้าหมายหลักที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย ว่าต้องการสร้างชุดของข้อสรุปที่อีกาขี้ขโมยกำหนดเอาไว้ให้เกิดโมหาคติว่า มวลชนคือความวุ่นวาย มวลชนคือบาป และเจตจำนงของมวลชนในเรื่องเสรีภาพและยุติธรรม เป็นสิ่งจอมปลอมและฟุ่มเฟือยสำหรับรัฐไทยอันมีเอกภาพภายใต้อุ้งมือเผด็จการสมคบคิด



มายาคติอันเสกสร้างขึ้นมาเพื่อปฏิเสธความชอบธรรมของเจตจำนงมวลชนเช่นนี้ กลายเป็นสัจจธรรมจอมปลอมที่โหมประโคมความไม่พร้อมที่เราต้องสมยอมรับสภาพไปไม่สิ้นสุดหรืออย่างไร

หรือว่า สามัญชนอย่างเราต้องทนยอมให้เกิดรัฐบาลหุ่นเชิดที่เลือกแสดงบทบาทแค่เป็น "ตลกหน้าม่าน" แบกรับความผิด รับความบกพร่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้กระบวนการสมคบคิดจัดสรรผลประโยชน์จากการผูกขาดของเครือข่ายอภิสิทธิ์ไปนิรันดร

โดยไม่ต้องใส่ใจกับยุคสมัยของ "ชาวพิไร" ที่กล่าวเอาไว้ในปริศนาพยากรณ์อังโด่งดังที่เพื่อนๆ ย่อมรู้ดีกว่าผมหลายเท่า โดยเฉพาะนักอ่านระดับเซียนอย่างหัวเหลี่ยม

ไม่มีใครใส่ใจกับตั้งคำถามกันเลยหรือไรว่า ความไม่พร้อมที่จะย่างก้าวสู่ประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยเสรีภาพและยุติธรรม แท้จริงแล้ว เป็นความไม่พร้อมของใครกันแน่ ที่หวังสร้างรัฐซ้อนรัฐเอาไว้อย่างเหนียวแน่น บนความไม่ชอบธรรม แต่อ้างว่าชอบธรรมอย่างสาไถย

แล้วอะไรคือพรมแเดนที่แยกความพร้อมและความไม่พร้อมออกจากกัน



ในทฤษฎีความรู้เรื่องการจัดการสมัยใหม่ ความพร้อมหรือไม่พร้อม ดำรงอยู่ในสองระดับให้พิจารณาด้วยกัน คือระดับวางแผนระยะยาว กับระดับรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดมาก่อนอย่างยืดหยุ่น

ความพร้อมในการวางแผนระยะยาว หรือ การเตรียมความพร้อม เกิดจากเจตจำนงที่จะทำสิ่งที่ป้องกันความผิดพลาดในอนาคตมิให้เกิดขึ้น เป็นการเตรียมการล่วงหน้าที่เกินเลยกว่าภาวะปกติ เวลาที่พูดถึงเตรียมการเกินร้อย ก็เป็นเช่นนี้ เหมือนอย่างที่ผมและพวกเตรียมชุดกันหนาวมาเชียงรายคราวนี้นั่นแหละ

ส่วนความพร้อมในระดับรับมือสถานการณ์ฉุนเฉินอย่างยืดหยุ่น หรือการเตรียมตัวให้พร้อม คือการบริหารวิกฤตอย่างมีสติและไม่ยึดติดในทำนองเดียวกับกฎของเมอร์ฟีอันโด่งดัง "หากทุกอย่างดูปกติไปทั้งหมด นั่นแหละคือความผิดปกติ" โดยไม่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด อย่างหลังนี้ ไม่สามารถกระทำได้ด้วยความกลัวและหวาดระแวง

นักกู้ยืมเงินแก้ขัดทั้งหลายในโลก รวมทั้งผมเข้าใจสัจจะเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้วล่ะ

ความไม่พร้อมอย่างหลังนี้แหละ คือปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นจากกรณีของเหตุร้ายของหัวทื่อซึ่งทำให้เพื่อนๆ และผมตกตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก นอกจากปล่อยเลยตามเลย และช่วยกันไปตามแกนอย่างสะเปะสะปะมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วก็ความไม่พร้อมอย่างหลังที่ผสมโรงกับอย่างแรกนี่แหละ ทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มต่างๆ ต้องพายเรือในอ่างพร้อมกับปล่อยให้คนชั่วลอยนวลอย่างอหังการ จนเกิดเผด็จการที่ชอบธรรมขึ้นมา

เช่นเดียวกัน การขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น และความเครียดจากพลวัตที่รุนแรง ทำให้สำนึกของชนชั้นสูงและกลางในเมืองที่เริ่มหวั่นกลัวอนาคตที่ไม่สะดวกเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งของพวกเขาจึงหันกลับไปให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติที่กำลังจะล่มสลาย ซึ่งก็ได้กลายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาเชิงสัญญะ

ดังที่ปรากฎออกมาในรูปของความนิยมในการใช้ชีวิตในชนบทอย่างฉาบฉวย ทุ่งหญ้า พื้นนาและป่าเขา เป็นต้น

แล้วก็เรียกมันว่า ความสุขอย่างเรียบง่าย ทั้งที่ว่าไปแล้ว นั่นเป็นแค่การหลบหนีเพื่อไถ่บาปให้ตัวเองชั่วคราว เพื่อจะหวนกลับมาทำบาปต่อไปอีกด้วยความละอายใจที่ลดต่ำลง

พฤติกรรมเหล่านี้แหละ ที่ทำให้พวกเขาปฏิเสธข้อเรียกร้องหาเสรีภาพและยุติธรรมของมวลชนด้วยการวางเฉยในลักษณะปลีกวิเวกอันอำมหิต



ผมรู้ดีว่า การขจัดมายาคติเรื่องความไม่พร้อม ไม่ใช่เรื่องง่าย มันอาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่เราต้องมีชีวิตอยู่กับความหวัง แบบเดียวกับกาลิเอโลและคอเปอร์นิคัส ไม่ใช่ด้วยจิตสำนึกแบบ สตีเฟ่น เดดาลัส ตัวละครของ เจมส์ จอยส์ หรือ ฌอง บัปติสต์ กลามองต์ ตัวละครของกามูส์

มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะกล่าวหาใครอื่นรอบตัว แล้วโยนบาปให้พวกเขาทำนองเอาดีเข้าตัว แต่การไม่ยอมวิพากษ์หรือกล่าวหาใครเลยเพราะเราไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ก็ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการยกตนเพื่อวางเฉยอย่างสามานย์ ก็ยิ่งไม่ถูกต้องมากกว่า

หากว่าเราล้มเหลวที่จะก้าวข้ามความไม่พร้อมในการวิพากษ์เพื่อยกระดับความคิดและปัญญาของเรา โมหะคติต่างๆ ที่ครอบงำเราไว้ ก็จะกลายเป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ ผมอยากถามว่า คำตอบที่เหมาะสมจะค้นพบได้อย่างไรกัน เพราะหากจะรอให้คนปัญญาลึกแบบหัวกลม หรือกว้างแบบหัวแหลมช่วยตอบ ก็กลัวจะถูกคำถามใหม่ย้อนกลับมาให้ว้าวุ่นกันอีก

จะทำอย่างไรดีหนอ ผมอยากชิงสุกก่อนห่ามเต็มทีแล้ว

หัวโต ชั่งกิโลเหมือนไข่ไก่


++

ทวิลักษณ์ของคลื่นและฝั่ง
โดย วิษณุ โชลิตกุล huato@gmail.com คอลัมน์ กลับสู่อนาคต
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1593 หน้า 63

ถึง huaklom, hoaliam, huakuay, chihuahua, huayik, huato
ริมหาดเจ้าสำราญ


แม้อยู่ไกลจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกิโลเมตรบนเส้นทางแรลลี่กับพรรคพวกที่ลากถูกันมา แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงคลื่นสัญญาณของการรัฐประหารส่งเข้ามาพร้อมกับเสียงเพลงแต่งใหม่ "ไอ้หน้าหล่อ" อย่างปิดไม่มิด

แม้จะเป็นไปในลักษณ์โยนก้อนหินถามทาง แต่ในยุคที่คนเสื้อเขียวพร้อมจะแปลงบทบาทตนเป็นคนเถื่อนถือปืนได้ตลอดเวลาโดยอ้างความชอบธรรมของจิ๊กโก๋ปากซอยเพื่อปล้นเสรีภาพของมวลชน

มันก็สะท้อนความสามานย์ของอภิสิทธิ์ชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การก่อหวอดรุกเพื่อโค่นรัฐบาลโดยปล่อยข่าวลือว่า "เบื้องบน" ไม่เอานายกรัฐมนตรีรูปหล่ออีกต่อไปแล้ว อาศัยประเด็นคลั่งชาติหลอกคนปัญญาอ่อนเรื่องแผนที่ชายแดนกัมพูชา-ไทยที่ยังไม่ยุติชัดเจน หวังสร้างเกมอำมหิตทางอำนาจ ด้วยสาเหตุกะจิริดเพียงแค่ว่า อดีตทหารแก่ผิดเพศบางคนที่ยึดติด เกิดไม่พอใจกับโผโยกย้ายในเดือนกันยายนที่ผ่านมาของอดีตทหารบางคนที่นั่งในตำแหน่งการเมือง ซึ่งทำให้คนของอดีตทหารแก่คนนั้นไม่ได้รับอานิสงส์ตามเจตนา

สะท้อนถึงเกมและวัฒนธรรมสามานย์ของพวกอำมาตย์ที่ถนัดกับการแปรเรื่องส่วนตัวให้กลายเป็นสาธารณ์อย่างสีข้างเข้าถูได้ชัดเจน ยิ่งกว่าน้ำกลั่นในห้องทดลองเคมี

เรา หมายถึงผมและเพื่อนที่ยังตาสว่างอยู่ จึงได้เห็นภาพของหมาไนไฮยีนา ที่ส่งเสียงกรรโชกประโคมข่าวการใช้กำลังอาวุธล้มล้วง เพื่อบีบคั้นให้สภาพของรัฐบาลต้องเป็นหุ่นเชิดของผู้นำกองทัพเสื้อเขียวไปตลอดกาลในฐานะตัวแทนบังหน้า โดยไม่ใส่ใจว่าจะมีคนยอมรับแค่ไหน

สภาพที่เกิดขึ้น ทำให้ผมต้องขอท้วงติงโจทย์ของหัวโตเรื่องพร้อมหรือไม่พร้อมว่า อาจจะหลงประเด็นในลักษณะแยกแยะหลักรองใหญ่เล็กและก่อนหลังไม่เหมาะสม เพราะหลงในกับดักแบบที่คิปลิ้ง คอนราด และไนพอล เคยพลาดในประเด็นแอฟริกา

เนื่องจากการให้ความสำคัญกับกระบวนทัศน์ทางสังคมแบบเอกนิยมที่มองความขัดแย้งเป็นความไร้ระเบียบจนมองข้ามความสำคัญของทวิลักษณ์ของสิ่งคู่กันตามกระบวนทัศน์ที่ก้าวหน้ากว่าของทวินิยม

ผมตรองไม่ตกเลยว่า คนที่เชื่อและลุ่มหลงในกระบวนทัศน์แบบเอกนิยม จะให้เข้าใจสาระของการวิเคราะห์เรื่องความรู้ กับการคิดของ จอห์น ล็อก ได้อย่างไรกัน หรือว่าเพื่อนๆ มีคำตอบที่ดีกว่าการสีซอให้ควายฟัง



กระบวนทัศน์แบบเอกนิยมนับแต่สังคมยุคพระเวทย์และไอยคุปต์โบราณ จนถึงปัจจุบัน เป็นกระบวนทัศน์เพ้อฝันแบบอภิปรัชญาที่กอดรัดจิตสำนึกของมนุษย์ต่อเนื่อง และทำการต่อสู้กับกระบวนทัศน์ทวินิยมอย่างเข้มข้นเสมอมาไม่ว่างเว้น แฝงเร้นแม้กระทั่งในบรรดากลุ่มคนที่ต้องการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคตก็ตามที

เผลอเมื่อใดก็เข้าครอบงำอย่างแนบเนียนไร้รอยตะเข็บ

ข้อสรุปที่เป็นปัญหาของเอกนิยมทุกสำนักก็คือ เน้นความสงบนิ่งเหนือกว่าพลวัต

มองเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นความวุ่นวาย อลหม่าน

มองเห็นความขัดแย้งเป็นความแตกแยก

มองผู้ที่ขัดแย้งกับตนเป็นศัตรู

และมองความก้าวหน้าเป็นความไร้ระเบียบ

เมื่อตอนที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการอันลือลั่นทางชีวิตวิทยาออกมาที่ทำให้ศาสนจักรตะลึงงัน ภายใต้ข้อสรุปว่า สิ่งมีชีวิตพัฒนาการจากรุ่นสู่รุ่นภายใต้การคัดเลือกเพื่อความอยู่รอดยกระดับสูงขึ้นเรื่อยจากสัตว์หรือพืชชั้นต่ำ ก็มีกลุ่มหนึ่งนำเสนอทฤษฎีไร้ระเบียบหรือ เอ็นโทรพี ออกมาตอบโต้ เพื่อทำให้ข้ออ้างของศาสนจักรดูมีน้ำหนักเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ทฤษฎีความไร้ระเบียบจากพลวัตของสรรพสิ่ง มีรากฐานจากความรู้เรื่องเธอร์โมไดนามิกส์ ที่ว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างพลังงานกลกับการสูญเสียความร้อน ถือว่า การเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลสรรพสิ่งทำให้พลังงานสะสมที่สะสมอยู่ภายในสูญเสียออกไป เฉกเช่นเดียวกับเชื้อเพลิงที่ถูกเผาผลาญและสูญสลายระหว่างที่เกิดการเผาไหม้

ทำนองเดียวกับ "เปลวเทียนละลายแท่ง เพื่อเปล่งแสงอันอำไพ" แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับพลังทางสังคม ที่มองเห็นว่า พลวัตที่รุนแรงเพราะความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ภายใน จะนำมาซึ่งความอ่อนแอลงถึงภาวะล่มสลายในตัวเองขึ้นได้ หมดสมรรถนะในการทำให้องคาพยพทำงานต่อไป

การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติบางสาขามาใช้เป็นกฎทั่วไปทางสังคมอย่างยัดเยียดเพื่อสร้างมุมมองแบบสถิตเช่นนี้ มีลักษณะกลไกทางปัญญาและเป็นมายาคติอย่างยากจะยอมรับได้

เพราะแม้ในการศึกษาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติรุ่นหลังต่อมาถึงปัจจุบัน ยอมรับกันว่า ความเป็นไปได้ของทฤษฎีไร้ระเบียบย้อนศร (เน็กเอ็นโทรพี หรือ ซินโทรพี) ซึ่งนำเสนอโดยนักไบโอฟิสิกส์ออสเตรีย แอร์วิน ชโรดิงเจอร์ (คนที่ทดลองแก๊สพิษกับเจ้าแมวเคราะห์ร้ายเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีฟิลิกส์อันลือลั่นที่หัวโตเองเคยชื่นชอบน่ะแหละ) ที่นำเสนอว่า สรรพสิ่งสามารถถ่ายโอนหรือส่งออกภาวะไร้ระเบียบไปให้กับสรรพสิ่งอื่นรอบข้างได้ในระหว่างพลวัต

เพราะพลวัตได้สร้างกระบวนการผลิตใหม่ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าเดิมสร้างพลังงานใหม่เข้ามาแทนที่ เสมือนน้ำที่ไหลเวียนทำให้ไม่เน่าเหม็น ผลลัพธ์คือ การสร้างใหม่จะกลบฝังการสูญเสียไปได้

ถ้าผมเป็นผู้ชื่นชมลูกไม้ตื้นเขินของมุมมองเอกนิยม เวลาที่ผมนั่งริมหาด มองไปที่คลื่นกระทบฝั่ง ผมก็คงจะสร้างมุมมองว่า คลื่นจะแรงอย่างไรเสีย ท้ายสุด ก็คงต้องสยบยอมให้กับฝั่ง แล้วก็พยายามทำใจให้ลืมเสียงตะโกนอันโด่งดังของนักรบรับจ้างกรีก" ทะเล! ทะเล!" ใน อะนาเบซิส ของซีโนฟอน

แล้วก็คำรหัส "เซซามี่ จงเปิด!" ของอาลีบาบาในนิทานอาหรับราตรี

แล้วก็ "ยูเรก้า" ของอาร์คีมีดีส เมื่อค้นพบวิธีถอดความลับผ่านการคำนวณแรงโน้มถ่วงของเทหวัตถุ

บังเอิญผมเป็นสาวกของป๋าชุมปีเตอร์ ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนทัศน์ตรงกันข้าม ไม่อาจปลีกตัวออกจากมุมมองในเรื่องความสำคัญของทวิลักษณ์ หรือ สิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้าม ซึ่งตอลสตอยเคยเอามาเป็นแกนหลักของเรื่อง สงครามและสันติภาพ มาแล้ว

ซึ่งว่าไป ก็เป็นทำนองเดียวกับหยินหยาง แต่ขาดดุลยภาพซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนพลวัต

ดังนั้น หากไม่เข้าใจอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เป็นคู่ ก็จะไม่เข้าใจหรือเข้าถึงอีกด้านหนึ่งได้ เช่น คนที่ไม่เคยยากจน จะไม่เคยรู้ถึงความหอมหวานของความมั่งคั่ง คนที่ไม่เคยเจ็บป่วย จะไม่เคยรู้ถึงสุขภาพที่แข็งแรง คนที่ไม่เคยรักจะไม่รู้ว่าตอบสนองรับคนอื่นทำอย่างไร

แล้วคนที่เคยมีแต่อภิสิทธิ์อยู่บนความทุกข์ของผู้อื่นยาวนาน จะตีขลุมว่าตนเองเข้าใจถ่องแท้ถึงอยุติธรรมว่าเจ็บปวดเพียงใดโดยไม่ต้องเสแสร้งได้จริงหรือ



ในประวัติศาสตร์ของความคิดมนุษย์ การต่อสู้ระหว่างกระบวนทัศน์ทางปัญญาระหว่าง เอกนิยม กับ ทวินิยมในศาสนาต่างๆ รวมทั้งของพุทธเองระหว่างมหายานกับหีนยาน ดำรงอยู่มีต่อเนื่อง

ความเข้าใจในทวิลักษณ์ที่ขาดดุลยภาพ จะช่วยให้เข้าใจถ้อยคำลือลั่นของอันโตนิโอ กรัมชี่ที่ว่า "โลกเก่ากำลังจะตาย แต่โลกใหม่ก็ไม่พร้อมจะเข้ามาแทน ผลลัพธ์คือสัตว์ประหลาดตัวร้าย" และถ้อยคำของจ๊อยส เกี่ยวกับ อัมพฤกษ์ทางศีลธรรม (ถอยหลังก็ไร้พื้นที่ หนีก็ไม่ได้ ก้าวข้ามก็ไม่พ้น) ได้ง่ายดายขึ้น

คลื่นลูกสุดท้ายกระทบฝั่ง ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถบอกความพ่ายแพ้หรือชัยชนะได้ ขณะเดียวกัน ฝั่งก็ไม่สามารถประกาศอ้างชัยชนะเหนือคลื่นได้เต็มปาก ในขณะที่ความแรงของคลื่นที่กระแทกฝั่ง ก็มิใช่เกณฑ์ตัดสินว่า น้ำจะขึ้นหรือลงในทันที เพราะต้องการมิติของเวลาพิสูจน์เสียก่อน

บนวิถีของพลวัตทางสังคม การต่อสู้หลักของมนุษย์ในทางความคิดอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างเหตุผลกับศรัทธา ซึ่งพบได้ในการต่อสู้ของศาสนจักรกับนักค้นคว้าวิทยาศาสตร์นับแต่ปลายยุคกลางเป็นต้นมาในยุโรป จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยได้ทำให้ใครล่มสลาย แต่กลับกัน กลับทำให้เกิดการพัฒนาในทางบวกมากมาย ท่ามกลางการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ

โลกของความคิดและจิตสำนึกดูเหมือนจะถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว ขั้วเหตุผลนิยมชูคำขวัญ "ความรู้คืออำนาจ" ส่วนขั้วศรัทธาบอกว่า "จิตวิญญาณคือด้านหลักของความเป็นมนุษย์ หากขาดไปก็เป็นดิรัจฉาน" จนดูเหมือนมนุษย์แต่ละคนถูกผลักเข้าสู่การเลือกที่คับแคบของตรรกะเทียมที่ต้องก้าวกระโดดให้ข้ามไปได้

คำถามอยู่ที่ว่า มันยากสำหรับปฏิบัติเกินความสามารถของมนุษย์หรือไม่ คำถามนี้เกอเธ่เคยติดกับมาจนย่ำแย่มาก่อนเมื่อเขาให้เฟาสต์ค้นหาคำตอบว่า จะทำได้อย่างไร โดยไม่ต้องทำข้อตกลงกับปีศาจ



บนเส้นทางทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของสังคมไทยยามนี้ ผมมีกรณีให้ต้องนั่งหัวร่อปนสมเพชครั้งแล้วครั้งเล่ากับการเดินอยู่ในเขาวงกตของบรรดาคนที่อ้างตนว่าเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และยุติธรรม ที่ติดกับดักของกระบวนทัศน์แบบเอกนิยม แต่อ้างนามของสันติวิธีอย่างพล่อยๆ

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการคารวะอย่างลึกซึ้งให้กับมวลชนและแกนนำมวลชนชาวตูนีเชียที่เริ่มต้นปรากฏการณ์ที่อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ ถึงกับกู่ร้องว่าเป็น "การปฏิวัติอาหรับครั้งที่สอง" ที่ห่างหายไปนาน หลังจากครั้งแรกที่นำโดย ชารีฟ ฮุสเซ็น บิน อาลี แห่งเมกกะเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ที่ทำให้เกิดการล่มสลายของระบบมิลเล็ต ของจักรวรรดิออตโตมานมาแล้ว

หลังจากความพ่ายแพ้ของการลุกฮือจนนำมาซึ่งการสังหารหมู่เดือนพฤษภาคม 2553 แกนนำมวลชนเสื้อแดงบางคน เริ่มออกมาเคลื่อนไหวรอบใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ขโมยมาจากพวกสังคมนิยมเฟเบียนที่คร่ำครึ

ซึ่งผมขอสารภาพว่า ยอมรับไม่ได้เอาเสียเลย เพราะนี่คือการเดินถอยหลังลงคลองในเขาวงกตเต็มรูปอย่างมืดบอด

อาศัยความเร่าร้อนของมวลชนที่มุ่งหวังต่อสู้เพื่อทวงคืนเสรีภาพและยุติธรรม เพื่อตีความแนวคิดอย่างเถรตรงว่าด้วย passive revolution ของกรัมชี่

ซึ่งโดยสาระและเจตจำนงดั้งเดิม หมายความถึง การปฏิวัติแบบอ่อนนอกแข็งใน กินข้าวทีละคำ ยึดกุมชัยชนะในสงครามอุดมการณ์ แล้วไปเอาชนะในสงครามขับเคลื่อน เพื่อยึดกุมโครงสร้างหลักของอำนาจรัฐ สร้างสังคมที่ดีขึ้น จนกระทั่งสามานย์ลง กลายเป็นกรอบความคิดที่นำเสนอการเคลื่อนไหวอย่างซุ่มซ่อนยาวนานและรอคอยโอกาส ทำทองไม่รู้ร้อนกับจิตสำนึกของมวลชน

เพิกเฉยกับการใส่ใจสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในลักษณ์เดียวกับที่คนอย่าง ไอดรี้ส์ ชาห์ แห่งนิกายซูฟีใหม่เคยถากถางว่า เป็นความฉลาดของคนงี่เง่า

พวกเขายอมสยบต่อพื้นฐานความคิดของสังคมนิยมเฟเบียน และ ฟาบิอุส นักถ่วงเวลาในยุคโรมัน ที่ยึดถือลัทธิค่อยเป็นค่อยไป หรือ การปฏิรูปสังคมแบบฟ้าประทาน และต่อเนื่องบนพื้นฐานของการสั่งสมทางปัญญาจากเบาสู่หนัก

อำพรางตัวเองอย่างขี้ขลาดแบบ "ตาบอดนำทางตาดี" ดังที่ผมหรือหัวกลมเคยตอกย้ำมาหลายครั้งแล้ว แถมบางครั้งยังเผลอไผลถึงขนาดมองการต่อสู้ที่มิใช่สันติวิธีเป็นเส้นทางสู่ระบอบที่ "มนุษย์ทุกคนได้รับอนุญาตให้ยากจนเสมอภาคกัน"

หากคนพวกนี้มีปัญญาอยู่บ้างที่จะอวดอ้างให้สมกับเป็นผู้ชี้นำมวลชน พวกเขาก็ควรรู้ถึงคำวิพากษ์อันรุนแรงที่เคยมีต่อสังคมนิยมเฟเบี้ยนในอดีต เกี่ยวกับพฤติกรรมเล่นบทตีหลายหน้าให้กับนโยบายจักรวรรดินิยมของอังกฤษและยุโรปเพื่อนำเสนอ "มนุษยธรรมจอมปลอม" ของนักล่าเมืองขึ้น กดขี่ชนพื้นเมืองทั่วโลกอย่างหฤโหด

แล้วหันกลับมามองตัวเองว่า พฤติกรรมและกระบวนทัศน์ของพวกเขาในยามนี้ ไม่เพียงแต่ล้าหลังมวลชนเท่านั้น หากยังมีลักษณ์หวาดระแวงและปฏิเสธที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนระดับรากหญ้าที่ถูกกดขี่เต็มตัว แม้ว่ามนุษยธรรมอาจจะทำให้เขารู้สึกเห็นใจเพียงใด เพราะกล่าวให้ถึงที่สุด ความยุติธรรมและเสรีภาพ อย่างไรเสียก็สำคัญน้อยกว่าจิตสำนึกทางชนชั้นที่ซ่อนตัวไม่มิดในจิตใต้สำนึกอยู่ดี

คณาธิปัตย์ที่ถูกตั้งฉายา "อำมาตย์" จากบรรดาไพร่ผู้ขุ่นเคืองหยิบยืมท่าทีของโพธิสัตว์มาใช้สร้างภาพหลอกลวง เพื่อบรรลุเป้าหมายในลดรอยอำมหิตแม้จะเลวร้ายเพียงใด ก็ยังไม่สามานย์เท่ากับคนที่เชื่อหรืออ้างว่าตนเองเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพและยุติธรรม แต่มีกระบวนทัศน์ทำนองเดียวกันเพื่อนำมวลชนเดินเวียนมะงุมมะงาหราอยู่ในเขาวงกตที่ไร้ทางออกไปสู่การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์อันพึงปรารถนา

ตอบผมหน่อยสิ คนที่เที่ยวป่าวร้องเจตนาดีเพื่อทำชั่ว ต่างอะไรกับคนที่สร้างประตูสวรรค์จอมปลอมเพื่ออำพรางท่าเรือแห่งนรกภูมิที่ซ่อนในหมอกควัน

หัวแหลม บนกองทราย

.