http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-03-25

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : ปัญหาความมั่นคงใหม่ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : ปัญหาความมั่นคงใหม่
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 หน้า 36


"เราไม่สามารถหยุดยั้งพลังอำนาจของธรรมชาติได้เลย
แต่เราสามารถหยุดยั้งพลังอำนาจดังกล่าวต่อการก่อให้เกิดภัยพิบัติ
ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจได้"
โคฟี อันนัน
เลขาธิการสหประชาชาติ (1999)


โดยปกติแล้ว นักความมั่นคงไม่เคยถือเอาประเด็นเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด

ยิ่งย้อนกลับไปสู่อดีตในโลกของ "ความมั่นคงเก่า" ปัญหาความมั่นคงเป็นเรื่องของภัยคุกคามทางทหาร ธรรมชาติจึงไม่เคยถูกพิจารณาว่าเป็นแหล่งของภัยคุกคามแต่อย่างใด

แม้ในช่วงของสงครามเย็น จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็ดูจะไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของประเด็นทางธรรมชาติในบริบทความมั่นคง

แต่ดูเหมือนเราเริ่มตระหนักจริงๆ ว่า ธรรมชาติเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงก็เมื่อเกิดสึนามิขึ้นในมหาสมุทรอินเดียในปี 2004 และในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นสถานการณ์ไม่แตกต่างกันในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งก็คือการตอกย้ำว่า สำหรับนักความมั่นคงใหม่แล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงใหม่ที่สำคัญ

ดังนั้น คงไม่แปลกอะไรนักที่จะมีผู้ใช้คำว่า ภัยคุกคามทางธรรมชาตินั้นเป็น "การกระทำของพระเจ้า" ที่บ่งบอกว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจต้านได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญกับภัยคุกคามเช่นนี้ มนุษย์อยู่ในสภาพที่รับมือไม่ได้ และปัญหาทางธรรมชาติเช่นนี้ ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์แต่อย่างใด


หากเปรียบเทียบกับปัญหาทางธรรมชาติในประวัติศาสตร์ จะเห็นถึงความรุนแรงและความเสียหายสูงสุด 10 รายการ

1) แม่น้ำฮวงโห ปี 1931 ลักษณะ น้ำท่วม ความสูญเสีย 3.7 ล้านคน
2) แม่น้ำฮวงโห ปี 1959 น้ำท่วม 2 ล้านคน
3) อียิปต์ส่วนเหนือและซีเรีย ปี 1201 แผ่นดินไหว 1.1 ล้านคน
4) แม่น้ำฮวงโห ปี 1887 น้ำท่วม 9 แสนคน
5) จีน ปี 1887 แผ่นดินไหว 8.3 แสนคน
6) แม่น้ำฮวงโห ปี 1887 น้ำท่วม 5 แสนคน
7) จีน ปี 1939 น้ำท่วม 5 แสนคน
8) บังกลาเทศ ปี 1970 พายุไซโคลน 3 แสนคน
9) จีน ปี 1976 แผ่นดินไหว 2.4 แสนคน
10) มหาสมุทรอินเดีย ปี 2004 สินามิ 2.3 แสนคน


ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงนั้น ปรากฏใน 8 ลักษณะ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1) สึนามิ (Tsunamis)

คำว่า "สึนามิ" มาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหากแปลตามตัวอักษรมีความหมายว่า "harbor wave" แต่ในปัจจุบัน คำคำนี้หมายถึง "คลื่นขนาดมหึมาในมหาสมุทร" หรือบางคนอาจจะเรียกคลื่นเช่นนี้ว่า "คลื่นยักษ์"

ความแตกต่างระหว่างคลื่นชนิดนี้กับคลื่นปกติในทะเลก็คือ คลื่นสึนามิ ไม่ได้เกิดจากกระแสน้ำ และความยาวของคลื่นอยู่ระหว่าง 100-150 กิโลเมตร หรือประมาณ 100 เท่าของคลื่นปกติ และที่สำคัญก็คือ ความเร็วของคลื่นอยู่ระหว่าง 640-960 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ตัวอย่างของคลื่นสึนามิ เห็นได้ในกรณีมหาสมุทรอินเดียในปี 2004 ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกระหว่างอาเจะห์ของอินโดนีเซียกับหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในประเทศต่างๆ ที่มีแนวชายฝั่งด้านมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย หมู่เกาะมัลดีฟส์ และโซมาเลีย


2) แผ่นดินไหว (Earthquakes)

แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สังคมรับรู้กันเป็นอย่างดี และความรุนแรงที่เกิดขึ้นถูกวัดเป็นแรงสั่นสะเทือนโดยเทียบเป็นริกเตอร์ พื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเกิดแผ่นดินไหวมักจะอยู่ในแถบที่เป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลก

ภัยคุกคามของแผ่นดินไหวก่อให้เกิดการพังทลายของอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในกรณีที่มีอัตราการไหวรุนแรง ก็จะนำมาซึ่งการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างเช่นกรณีแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์และญี่ปุ่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ การเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว ยังเกิดจากการที่แผ่นดินไหวดังกล่าวก่อให้เกิดไฟไหม้ การไหลทะลักของน้ำ ตลอดรวมถึงปัญหาที่เกิดจากดินถล่ม


3) อุณหภูมิสูงผิดปกติ (Extreme Temperatures)

ไม่ว่าจะเป็น "คลื่นความร้อน" หรือ "คลื่นความเย็น" สามารถทำลายชีวิตของผู้คนได้เสมอ

ตัวอย่างของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปในฤดูร้อนของปี 2003 ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 50,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในฝรั่งเศสและในอิตาลี)

ซึ่งการเสียชีวิตเกิดจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงอย่างมาก และเกิดอาการเป็นไข้จนตาย อันเป็นผลจากอากาศร้อน หรือที่เรียกอาการนี้ว่า "heat-stroke"

ในกรณีของคลื่นความเย็นก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ผู้เสียชีวิตมักมาจากการถูกหิมะกัด หรือเกิดอากาศหนาวจัดจนผิวหนังเป็นแผลเรื้อรังหรือเกิดจากสภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายของผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างมาก


4) น้ำท่วม (Floods)

ในประวัติศาสตร์ น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาภัยคุกคามใหญ่ทางด้านความมั่นคง อาจจะยกเว้นก็แต่ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในจีน เช่นกรณีแม่น้ำฮวงโห

แต่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาน้ำท่วมกลายเป็นปัญหาที่ทำลายชีวิตและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และถือเป็นภัยคุกคามอันดับ 4 ทางธรรมชาติในระหว่างปี 2000-2006

ปรากฏการณ์ที่รุนแรงของน้ำท่วม ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะเกิดจากปัญหาฝนที่ตกลงมาอย่างมากและรวดเร็ว จนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เสียชีวิตจากปัญหานี้มักจะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมจากแม่น้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งตลิ่งพังจากความแรงของกระแสน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

ตัวอย่างของแม่น้ำฮวงโหในจีน ถือเป็นปัญหาน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพราะในครั้งที่รุนแรงนั้น ผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูงถึงหลักล้านคน


5) พายุที่มีความเร็วลมสูง (Windstorms)

พายุที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ได้แก่ พายุเฮอร์ริเคนซึ่งเกิดในทวีปอเมริกาเหนือ หรือพายุไต้ฝุ่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลมพายุนี้มักจะตามมาด้วยฝนตกอย่างหนัก ก่อให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็วในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และยังก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ในทะเลอีกด้วย

ตัวอย่างของความเสียหายอย่างรุนแรงของพายุเช่นนี้ ได้แก่ การสูญเสียชีวิตของประชาชนถึง 3 แสนคนในบังกลาเทศในปี 1970

พายุอีกชนิดหนึ่งที่รุนแรงได้แก่ พายุทอร์นาโดซึ่งเป็นพายุที่เกิดขึ้นบนบกมากกว่าจะเกิดในทะเลเช่นเฮอร์ริเคนหรือไต้ฝุ่น ตัวอย่างของปัญหาเช่นพายุทอร์นาโดในบังกลาเทศในปี 1989 ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 1,300 คน เป็นต้น


6) ดินถล่ม/หิมะถล่ม (Landslides/Avalanches)

ปรากฏการณ์ดินถล่มเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากทั้งการกระทำของมนุษย์ หรือจากปัญหาทางธรรมชาติ เช่น การสะสมของดินหรือหินบนยอดเขาและเคลื่อนตัวลงสู่พื้นล่าง ซึ่งมักจะมีตัวเร่ง ได้แก่ การตกของฝน

ตัวอย่างเช่น พายุเฮอร์ริเคน Mitch ในปี 1998 ก่อให้เกิดฝนตกอย่างหนัก จนทำให้ดินจากภูเขาไฟคาสิตาถล่มใส่เมือง 2 แห่งในนิการากัว และมีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 คน

ในอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันคือ การถล่มของหิมะหรือน้ำแข็งจากภูเขา ซึ่งสามารถก่อความเสียหายขนาดใหญ่ได้ หรือในอีกแบบหนึ่งได้แก่ หิมะที่ละลายในฤดูใบไม้ผลิเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เช่น ในปี 1970 ได้เกิดปรากฏการณ์ในเปรูเมื่อมีแผ่นดินไหว ทำให้แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่เคลื่อนตัวลงจากภูเขาสูงเข้าทำลายบ้านเรือนและชีวิตผู้คนมีจำนวนมากถึง 20,000 กว่าคน เป็นต้น


7) ไฟป่า (wildfires)

ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วไปในฤดูร้อน ความแห้งแล้งและลมร้อน เป็นปัจจัยโดยตรงที่ก่อให้เกิดไฟป่า และยิ่งเมื่อมีลมแรงด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้การลุกไหม้นี้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว

ไฟป่าในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

ตัวอย่างสำคัญเช่น ในปี 1871 ได้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในพื้นที่รัฐวิสคอนซินและมิชิแกนต่อเนื่องกัน และทำลายชีวิตผู้คนถึง 1,500 คน หรือไฟป่าในออสเตรเลียในปี 1974-1975 ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่ถึงร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่าไฟป่าควรจะถูกจัดอยู่ในปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือไม่ เพราะประมาณว่าร้อยละ 80 ของปัญหาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มากกว่าเกิดจากปัญหาทางธรรมชาติ

แต่แม้กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไฟป่าเป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดการสูญเสียขนาดใหญ่และดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศ


8) ภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Eruptions)

การระเบิดของภูเขาไฟเป็นอีกภัยพิบัติทางธรรมชาติหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ในหลายพื้นที่ภูเขาไฟอาจจะดับลง แต่ในบางพื้นที่ ภูเขาไฟยังคงมีอาการที่อาจจะเกิดการระเบิดขึ้นได้ ความเสียหายจากการระเบิดของภูเขาไฟ เกิดจาก

- การไหลของลาวา อาจจะทำลายบรรดาบ้านเรือน แต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตไม่มากนัก เพราะการเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้นไม่รวดเร็ว จึงมีเวลาในการอพยพ

- การไหลของโคลนภูเขาไฟ อันเกิดจากการหลอมละลายของหินภูเขาไฟและน้ำ ซึ่งสามารถเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น โคลนภูเขาไฟทำลายชีวิตผู้คนในโคลอมเบียถึง 23,000 คนในปี 1985

- ระเบิดภูเขาไฟ เกิดจากแรงดันของการระเบิด ทำให้หินและของเหลวต่างๆ ถูกขับออกจากภูเขาไฟ เสมือนการทิ้งระเบิด และเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก เช่น ภูเขาไฟพินาตูโบในฟิลิปปินส์ในปี 1991 ได้ก่อให้เกิด "ระเบิดภูเขาไฟ" และทำลายชีวิตผู้คนถึง 200 คนในคราวเดียวกัน

- ก๊าซพิษ การระเบิดของภูเขาไฟมักจะก่อให้เกิดก๊าซพิษ ซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อมนุษย์และสัตว์ เช่น ภูเขาไฟในแคเมอรูนในปี 1986 มีประชาชน 1,700 คนเสียชีวิตจากก๊าซพิษที่เกิดจากกลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภูเขาไฟ เป็นต้น



สรุป

ตัวแบบของภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้ง 8 ประเภทเช่นที่กล่าวแล้ว ได้กลายเป็น "ภัยคุกคาม" ในโลกยุคปัจจุบันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะภัยทั้ง 8 ประการนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง

จนทำให้นักความมั่นคงร่วมสมัยยอมรับว่าวันนี้ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของปัญหาความมั่นคงใหม่!

.