.
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ
โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 8
จากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถา เนื่องในงานครบรอบ "100 ปีวันสตรีสากล" แล้วมีอดีตแรงงงานหญิงของบริษัทไทรอัมพ์ ทราบชื่อต่อมาว่า ชื่อ "จิตรา คชเดช" ได้ชูป้ายคำว่า "ใครมือเปื้อนเลือด" ทำลายสมาธิ และ บรรยากาศการปาฐกถา จน "อภิสิทธิ์" ต้องดึงจังหวะพูดปรารภต่อหน้าผู้ฟัง เพื่อสื่อสารว่า ความขัดแย้งทางการเมืองให้ไปพูดกันข้างนอกห้อง เรื่องที่ข้องใจในเหตุการณ์ ให้เตรียมฟังคำชี้แจงในสภาช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ "ผู้หญิงคนนั้น" ชูป้ายที่เตรียมไว้ขึ้นมาอีกแผ่น ความว่า "ดีแต่พูด" ส่งผลให้ "อภิสิทธิ์" แสดงอาการวิตกกังวลออกมาอย่างเห็นได้ชัด
การชูป้ายของสาวโรงงาน ดึงดูดความสนใจของบรรดาช่างภาพและสื่อมวลชน ตลอดถึงผู้ร่วมฟังคำบรรยาย ของ "อภิสิทธิ์" ไปยัง "จิตรา" และเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งที่ทำให้ หน่วยรักษาความปลอดภัย ไม่สามารถจัดการกับป้ายเสียดสีเหล่านั้นได้ และกลายเป็นที่ไปที่มาของ "ข่าวใหญ่" ชักส่งให้อดีตสาวโรงงานทอผ้าคนนั้น โด่งดังในเช้าตรู่ของวันถัดไปกระทั่งทุกวันนี้
เหตุการณ์ทำนองเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะหลังๆ เกิดขึ้นค่อนข้างถี่มาก ภาพ-ข่าวผู้ประท้วงด้วยเงื่อนไขต่างๆ บุกประชิดหวุดหวิดจะถึงตัว "อภิสิทธิ์" ที่เป็นถึงนายกฯ ทยอยเกิดเหตุเกือบจะรายวัน ก่อนหน้านี้เหตุทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร และวัดบัวแก้วเกษร จังหวัดนนทบุรี
และส่อแนวโน้มว่าขบวนการชูป้ายด่าและไล่ "อภิสิทธิ์" จะระบาดเป็นแฟชั่น คำและเทคนิคที่นำมาใช้ซิกแซก และที่น่าหวั่นไหวยิ่งคือ "รุนแรง" หยาบกระด้างมากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินขึ้นมาโดยด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยให้กับ "อภิสิทธิ์" มากยิ่งขึ้น
"ข่าวกรอง" ได้รับรายงานด้วยว่า สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งใหญ่ "ไม่น่าไว้วางใจ" มีสัญญาณอันตราย
มีข่าวบางกระแสระบุว่า จะมี "มือที่สาม" ปั่นกระแส ด้วยการ "ลอบสังหารบุคคลผู้มีชื่อเสียง" โดยมีผู้ที่ตกอยู่ในเป้าหมายเป็นระนาบหัวแถวมีอยู่ 3 คนด้วยกัน
"หนึ่งในสาม" คาดว่าคงต้องมีชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ไม่เช่นนั้นแล้ว "ศอ.รส." คงไม่ออกมาตรการรักษาความปลอดภัย "อภิสิทธิ์" แบบคุมเข้ม และ "ฉุกเฉิน"
ด้วยการออกประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 4/2554 ห้ามใช้เส้นทางการคมนาคม หรือการใช้พาหนะในเส้นทางถนนสุขุมวิท จากปากซอยสุขุมวิท 39 - ปลายซอยสุขุมวิท 39 ตัดถนนเพชรบุรี บริเวณถนนสุขุมวิท 33 ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 31 ตั้งแต่ปากซอย - ปลายซอยสวัสดี และทางลัดซอยสุขุมวิท 39 ตั้งแต่แยกพร้อมศรี - แยกโรงเรียนสวัสดี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการประกาศ "ควบคุมพื้นที่บ้านพัก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
"ศอ.รส." ได้รับข้อมูลที่สอดรับกับ "ข่าวกรอง" ถึงแผนลอบสังหารบุคคลสำคัญ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ภาวะวิกฤตรุนแรงขึ้นในประเทศ และสุดท้ายแล้ว เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในสภาพโกลาหล ไม่มีใครคุมได้ "ทหาร" ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องออกมา "ปฏิวัติ-รัฐประหาร" ไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขภาวะวิกฤติ
ศึกเลือกตั้งใหญ่ ที่ส่อเค้าว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" จะชิงยุบสภา หลังญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 10 รัฐมนตรี เสร็จสิ้น ก็ต้องยุติลงไปโดยอัตโนมัติ
"สมศักดิ์ เทพสุทิน" หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา ของพรรคภูมิใจไทย เปรยๆ ดุจนกรู้ในที่ประชุมลูกพรรคเมื่อกลางสัปดาห์ก่อน ว่า "ขณะนี้บรรยากาศดูแปลกๆ คล้ายๆ กับเมื่อก่อนปฏิวัติเมื่อปี 2549 ขอให้ทุกคนระวังตัว"
แสดงว่า "กลิ่นปฏิวัติ" ที่ลือสะพัดมาก่อนหน้านี้ ก็ยังมีความเพียรพยายามกันอยู่
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" คงได้รับข้อมูล "แปลก-แปลก" เช่นเดียวกับ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" จึงค่อนข้างจะเร่งรัด "ยุบสภา" เร็วกว่าปกติ
ทั้งๆ ที่ว่า "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้จัดการรัฐบาล และ "ขาใหญ่พรรคร่วม" ต้องการจะให้ลากยาวไปจนครบเทอมในเดือนธันวาคม
แต่ศูนย์ยุทธศาสตร์ของประชาธิปัตย์ คำนวณแล้ว "ยิ่งนานยิ่งเหนื่อย"
เนื่องเพราะเวลานี้เกิดโรคระบาดว่าด้วย "การชูป้ายประท้วง" ไล่-ด่า มาร์ค ถี่แบบรายวัน และจะมี "มือรับจ้าง" ตามอาละวาดอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป
ภาพ-ข่าวที่ปรากฏ ล้วนติดลบต่อ "อภิสิทธิ์" ทั้งสิ้น
และเหนือสิ่งอื่นใด คือ เวที "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่สะพานมัฆวานฯ ที่เปิดเวทีด้วยเงื่อนไข ปัญหาชายแดนไทย-เขมร
ตอนนี้ แปรสภาพเป็นเวทีเปิดโปง มิต่างอะไรกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ "นอกสภา"
มีการหยิบยกปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น มาต่อยอดคืนละเรื่องสองเรื่อง
เวที "คนเสื้อเหลือง" แม้ว่าโดยสภาพของการชุมนุม ผู้คนจะมาร่วมน้อย ระดับ "หลักร้อย"
แต่คนฟังเอเอสทีวี แฟนคลับของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ระดับ "หลักล้าน"
และที่สำคัญยิ่ง คือ ผู้ฟัง "พธม." ร้อยละ 80 เป็นฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์
เวลาเดือนกว่าๆ มี พธม. เปิดฉากถล่มประชาธิปัตย์ แบบ "ต่อยข้างเดียว" ส่งผลให้กระแสนิยม "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ตกลงอย่างน่าใจหาย
ขืนลากยาวไปยุบสภาในช่วงกลางปี หรืออยู่ครบเทอมถึงเดือนธันวาคม "กระแสมาร์ค" ก็ย่อมไม่เหลืออะไร
นี่คือเงื่อนไขใหญ่ที่ "อภิสิทธิ์" ตัดสินใจชิงยุบสภา หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น คาดว่าในเดือนเมษายนน่าจะเรียบร้อย
เพราะในเดือนพฤษภาคมจะเป็นเดือนมรณะ เนื่องจาก "ม็อบเสื้อแดง" ต้องนัดรวมพลกันครั้งใหญ่ในวาระครบ 1 ปี แห่งการสังหารหมู่ 91 ศพ
เท่ากับประชาธิปัตย์ เปิดสงคราม 2 ด้าน ทั้ง "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง"
++
มุมมอง สมเด็จ ฮุนเซน พุ่งเป้า"ผู้อาวุโส"ของไทย วางแผน"สถานการณ์"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 8
การพบกันระหว่าง ท้าวทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว กับ สมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554
น่าจับตา
น่าจับตาไม่เพียงเพราะ ท้าวทองสิง ทำมะวง จะกล่าวกับ สมเด็จ ฮุนเซน ระหว่างเข้าเยี่ยมคารวะว่า
"กัมพูชาได้ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการณ์ภายในของประเทศไทย และรัฐบาลลาวกำลังติดตามสถานการณ์กัมพูชา-ไทยอย่างใกล้ชิด ขอชมเชยรัฐบาลกัมพูชาที่ได้แสดงจุดยืนที่ถูกต้องชอบธรรม เคารพกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลลาวจะพยายามช่วยคลี่คลายสถานการณ์ระหว่างกัมพูชากับไทยด้วย"
หากที่น่าจับตายังอยู่กับคำกล่าวของ สมเด็จ ฮุนเซน ต่อ ท้าวทองสิง ทำมะวง
"การรุกรานของไทยเข้าไปในดินแดนของกัมพูชาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นแผนการของผู้นำระดับอาวุโสของไทย กัมพูชาไม่ต้องการทำสงครามกับประเทศใด แต่เป็นหน้าที่ของกัมพูชาจะต้องต่อต้านการรุกราน"
น่าจับตา 1 คือ บทสรุปของนายกรัฐมนตรีลาวที่ว่า "กัมพูชาได้ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการณ์ภายในของประเทศไทย"
น่าจับตา 1 คือ บทสรุปของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ว่า "การรุกรานของไทยเข้าไปในดินแดนของกัมพูชาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
"แต่เป็นแผนการของผู้นำอาวุโสของไทย"
ที่นำมาถ่ายทอดข้างต้น เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี อันเป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการของกัมพูชา
อ้างคำแถลงของ นายเขียว กันหะริด รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารกัมพูชา
เมื่อปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับประจำวันอังคารที่ 8 มีนาคม ต่อความเห็นของ สมเด็จ ฮุนเซน ใช้คำว่า
"เป็นแผนการของผู้นำอาวุโสของไทย"
ขณะที่เมื่อปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับประจำวันพุธที่ 9 มีนาคม ใช้คำว่า "เป็นแผนของผู้นำระดับสูงของไทย"
ขณะที่เมื่อปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับประจำวันพุธที่ 9 มีนาคม ใช้คำว่า "เป็นแผนการของผู้นำอาวุโสของไทย"
ไม่ว่าจะแปลออกมาว่า "ผู้นำอาวุโส" ไม่ว่าจะแปลออกมาว่า "ผู้นำระดับอาวุโส" ไม่ว่าจะแปลออกมาว่า "ผู้นำระดับสูง" จากมุมมองของ สมเด็จ ฮุนเซน ไม่น่าจะหมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แม้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะถือว่าเป็น "ผู้นำระดับสูง"
กระนั้น นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ก็มิอาจจัดได้ว่าเป็น "ผู้นำอาวุโส" หรือ "ผู้นำระดับอาวุโส" ของประเทศไทย
ตรงนี้ต่างหากคือ "ความนัย" อันซ่อนเร้นอยู่ระหว่าง "ถ้อยคำ"
หากพิจารณาความเห็นของ สมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประสานเข้ากับความเห็นของ ท้าวทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว
ย่อมตระหนักได้ว่า 2 นายกรัฐมนตรีนี้มองสถานการณ์ได้ทะลุ
ทะลุว่าปัญหาพิพาทระหว่างกัมพูชา-ไทย มิได้เป็นปัญหาอย่างธรรมชาติหรือเป็นไปเอง หากแต่เป็นปัญหาอันมาจากวิกฤตการเมืองภายใน
และ "เป็นแผน" อันมีการจัดวางโดย "ผู้นำอาวุโส" ของไทย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย